'การบินไทย' ปลื้ม!! ทั่วโลกคลายล็อกลุ้นทำกำไรปีหน้า พร้อมเตรียมเปิดไฟลต์บินไปซาอุฯ กลางปีนี้

“การบินไทย” ปลื้ม! หลายประเทศผ่อนมาตรการเดินทาง แผนเปิดเส้นทางบินผลตอบรับดี เคบินแฟกเตอร์เส้นทางยุโรปเดือนเมษาฯ นี้พุ่งแตะ 75% รายได้ขยับชัดเจน ปีนี้ “ยุโรป-ออสเตรเลีย-อินเดีย” เป็นตลาดสร้างรายได้หลัก ล่าสุดจ่อเปิดบินสู่ซาอุฯ มิ.ย.-ก.ค.นี้ คาดกลับมาทำกำไรจากการดำเนินงานได้ในปี’ 66

นายสุวรรธนะ สีบุญเรือง รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนายนนท์ กลินทะ ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมกันเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่หลาย ๆ ประเทศในทุกภูมิภาคทั่วโลกผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศทุกสายการบินระดมเครื่องบินกลับมาให้บริการกันอีกครั้ง

โดยในตารางบินฤดูร้อนปี 2565 นี้ (27 มีนาคม - 29 ตุลาคม 2565) สายการบินไทยให้บริการเที่ยวบินขนส่งผู้โดยสารจำนวน 34 เส้นทางบินทั่วโลก ทั้งยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย ประกอบด้วย 

1.) เส้นทางสนับสนุนโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ จำนวน 5 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพฯ-ภูเก็ต-แฟรงก์เฟิร์ต, กรุงเทพฯ-ภูเก็ต-ลอนดอน-กรุงเทพฯ, กรุงเทพฯ-ภูเก็ต-ซิดนีย์-กรุงเทพฯ, กรุงเทพฯ-ภูเก็ต-โคเปนเฮเกน-กรุงเทพฯ และกรุงเทพฯ-ภูเก็ต-สตอกโฮล์ม-กรุงเทพฯ (27 มีนาคม - 30 เมษายน 2565)

2.) เส้นทางยุโรปและออสเตรเลีย จำนวน 10 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางไป-กลับกรุงเทพฯ สู่ลอนดอน, ปารีส, ซูริก, บรัสเซลส์, แฟรงก์เฟิร์ต, มิวนิก, โคเปนเฮเกน, สตอกโฮล์ม และเมลเบิร์น

และ 3.) เส้นทางเอเชีย จำนวน 19 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางไป-กลับจากกรุงเทพฯ สู่โตเกียว (นาริตะ), โตเกียว (ฮาเนดะ), นาโกยา, โอซากา, มะนิลา, โซล, ไทเป, ฮ่องกง, สิงคโปร์, จาการ์ตา, กัวลาลัมเปอร์, ธากา, เจนไน, เบงกาลูรู, นิวเดลี, มุมไบ, ละฮอร์, อิสลามาบัด และการาจี

นายสุวรรธนะกล่าวว่า เส้นทางที่ได้รับการตอบรับเร็วและดีที่สุดในขณะนี้คือ เส้นทางยุโรป โดยในเดือนเมษายนนี้พบว่ามีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร หรือ (cabin factor) เพิ่มขึ้นเป็น 70-75% เพิ่มขึ้นจากประมาณ 40-50% เมื่อเดือนมีนาคม และประมาณ 20% เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

เช่นเดียวเส้นทางบินสู่ออสเตรเลียที่ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 40-50% ในเดือนเมษายนนี้ เพิ่มขึ้นจากประมาณ 10-15% เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ขณะที่เส้นทางสู่ประเทศในภูมิภาคเอเชียนั้น ผลการตอบรับในด้านจำนวนผู้โดยสารยังช้า เนื่องจากหลายประเทศที่ประกาศยกเลิกมาตรการการเดินทางเข้าประเทศส่วนใหญ่ยังเปิดแบบมีเงื่อนไข และในหลายประเทศยังมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก อาทิ ญี่ปุ่น ยังไม่เปิด, ฮ่องกงและไต้หวัน ยังรอมาตรการจากจีน ขณะที่จีนยังต้องรอประเมินอีกครั้งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี เป็นต้น

“ขณะนี้เส้นทางในภูมิภาคเอเชีย ส่วนใหญ่เรายังต้องพึ่งพาเรื่องของการขนส่งสินค้า หรือคาร์โก้เป็นหลัก เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารยังมีจำนวนน้อย แต่เราก็มีความจำเป็นต้องเปิดให้บริการ ตลาดหลักที่เราพึ่งพาได้ในปีนี้น่ายังคงเป็นเส้นทางยุโรป และออสเตรเลียเป็นหลัก” นายสุวรรธนะกล่าวและว่า

ขณะเดียวกันยังพบว่าหลังจากที่ประเทศอินเดียประกาศเปิดประเทศแล้ว เส้นทางสู่อินเดียก็เป็นตลาดที่ได้รับการตอบรับที่ดี และน่าจะเป็นตลาดที่คาดหวังได้เช่นกัน

นอกจากนี้ การบินไทยยังมีแผนเปิดเส้นทางใหม่สู่ 2 เมืองหลักของซาอุดีอาระเบีย คือ เจดดาห์ และกรุงริยาด เพื่อรองรับนโยบายฟื้นความสัมพันธ์กว่า 30 ปีของรัฐบาลไทย-ซาอุดีอาระเบีย โดยคาดว่าน่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2565 นี้ (หลังเทศกาลรอมฎอน)

นายสุวรรธนะกล่าวด้วยว่า คาดหวังว่านับจากนี้เป็นต้นไป ประเทศไทยจะได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปริมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากรัฐบาลไทยยกเลิกการตรวจ RT-PCR เมื่อมาถึงในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ และยกเลิก Thailand Pass ในวันที่ 1 มิถุนายนนี้

โดยที่ผ่านมาหลังจากรัฐบาลไทยยกเลิกมาตรการตรวจหาเชื้อ RT-PCR ก่อนเดินทาง เหลือไว้เพียงแค่ RT-PCR เมื่อเดินทางมาถึง ประเทศไทยก็ได้การตอบรับจากชาวต่างชาติมากขึ้นแล้ว

สำหรับเส้นทางบินภายในประเทศนั้น ปัจจุบันสายการบินไทยสมายล์ ซึ่งเป็นสายการบินลูกกลับมาให้บริการได้ครบทุกเส้นทางบินแล้ว (เทียบกับปี 2562 ก่อนวิกฤตโควิด) เหลือเพียงแค่จำนวนเที่ยวบินที่ยังกลับมาไม่เท่าเดิม แต่ขณะนี้ก็ถือว่าการตอบรับดีกว่าปีที่แล้ว และใกล้เคียงกับช่วงปีปกติ (ปี 2562) แล้ว

นายสุวรรธนะกล่าวต่อไปว่า จากแนวโน้มดังกล่าวนี้ บริษัทเชื่อมั่นว่าจะช่วยให้การบินไทยมีรายได้จากการขายบัตรโดยสารเข้ามาในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น และช่วยให้กระแสเงินสดหมุนเวียนดีขึ้น หากสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดีเหมือนที่ผ่านมา มั่นใจว่ามีโอกาสเห็นตัวเลขกำไรได้ชัดเจนขึ้นในปี 2566

“เป้าหมายของเราคือ เราต้องมีรายได้เข้ามาในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น และควบคุมต้นทุนให้ได้โดยไม่กระทบกับมาตรฐานการให้บริการ นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องเร่งด้านการตลาดให้สอดรับกับสภาพตลาดและพฤติกรรมของนักเดินทางเป้าหมายด้วย” นายสุวรรธนะกล่าว

นายสุวรรธนะกล่าวเพิ่มเติมถึงแผนการจัดหาสินเชื่อใหม่มูลค่า 25,000 ล้านบาท ว่าตามแผนดำเนินงาน สินเชื่อใหม่ดังกล่าวควรเข้ามาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 แต่ปัจจุบันแผนดังกล่าวอาจต้องล่าช้าไปเล็กน้อย เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รุนแรงลดลง ขณะที่บริษัทมีศักยภาพในการหารายได้ที่เพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทมีเวลาในการดำเนินการกระบวนการจัดหาสินเชื่อใหม่ต่อไป


ที่มา : https://www.prachachat.net/tourism/news-904456