Wednesday, 22 May 2024
กรมอุตุนิยมวิทยา

ยอดดอยอินทนนท์หนาวจัด 4 องศาฯ ฮือฮาเจอ ‘เหมยขาบ’ โผล่ 2 วันติด 

นักท่องเที่ยวได้สัมผัสอากาศหนาวจัด 4 องศาฯ ชมปรากฏการณ์น้ำค้างแข็ง หรือ เหมยขาบ โผล่ยอดดอยอินทนนท์ 2 วันติด กรมอุตุฯ เตือนอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศาฯ

22 พ.ย. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศเช้าวันนี้ที่ยอดดอยอินทนนท์ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่อุทยานได้นำภาพและคลิป เกิดปรากฏการณ์น้ำค้างแข็ง หรือ เหมยขาบ ที่เกิดขึ้นเป็นวันที่ 2 ติดต่อกัน บริเวณยอดดอย หน่วยพิทักษ์อุทยานและจุดชมวิว กม.45 หลังมีอุณหภูมิต่ำสุดทั้งยอดดอยอินทนนท์ และจุดเช็กอินชมแสงอาทิตย์แรกวัดได้ 4 องศาเซลเซียส ส่วนที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยอิทนนท์ กม.31 วัดได้ 12 องศาเซลเซียส ถือว่าเช้าวันนี้ต่ำสุดครั้งแรกหลังจากเข้าสู่ฤดูหนาวของปี นักท่องเที่ยวที่ขึ้นไป 2,277 คนในจำนวนนี้มีชาวต่างชาติ 115 คน ต่างเก็บภาพความประทับใจของธรรมชาติท่ามกลางทะเลหมอกที่สวยงามอีกด้วย

'ชัยวุฒิ' เผย กรมอุตุฯ จับมือ LINE ไทยแลนด์ เปิดตัว LINE Alert เตือนให้รู้ ก่อนภัยพิบัติ

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมเป็นสักขีพยาน ในการลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ และ LINE (ประเทศไทย) เพื่อนำร่องแพลตฟอร์ม LINE Alert บัญชีแจ้งเตือนภัยพิบัติร้ายแรง ซึ่งเริ่มเปิดใช้งานภายในประเทศ ให้คนไทยสามารถเกาะติดสถานการณ์ภัยธรรมชาติได้อย่างทั่วถึงและทันเวลา 

โดยนางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กรมอุตุฯ มุ่งมั่นในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการแจ้งเตือนภัยพิบัติ เพื่อสอดรับกับพฤติกรรมการเปิดรับข้อมูลข่าวสาร ที่ประชาชนนิยมสื่อสารผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดียและแอปพลิเคชันต่างๆ เพื่อให้สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็ว 

ขณะที่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวเสริมว่า การแจ้งเตือนภัยพิบัติ ที่ผ่านมา ไม่ค่อยพบปัญหามากนัก ซึ่งคนไทยถือว่าค่อนข้างมีความตื่นตัว ในการรับข้อมูลข่าวสาร และเตรียมพร้อมรับมือตามคำแนะนำ โดยความร่วมมือในครั้งนี้ ของทุกหน่วยงาน ถือเป็นตัวช่วยในอีกระบบ ที่รวดเร็วและสามารถเข้าถึงประชาชนได้เป็นวงกว้าง ถือเป็นช่องทางที่อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านภัยพิบัติ ที่เป็นอีกทางเลือกให้กับพี่น้องประชาชน

ชาวแหลมฉบังตื่น หลังกรมอุตุนิยมวิทยา เตือนระวังฮีตสโตรก เตือน 'บางนา ชลบุรี' ร้อนจัด พุ่ง 49-50 องศาเซลเซียส

จากกรณี กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายค่าดัชนีความร้อนสูงสุด หรืออุณหภูมิที่คนเรารู้สึกได้ในขณะนั้น โดยพบว่าในวันนี้ (6 เมษายน 2566) มีจังหวัดที่มีค่าดัชนีความร้อนสูงสุด (°C) ได้แก่ บางนา กทม. ดัชนีความร้อนสูงสุด 50.2 องศาเซลเซียสแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ดัชนีความร้อนสูงสุด 49.4 องศาเซลเซียส

เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันที่ 6 เมษายน 2566 จากการสำรวจพบว่า พื้นที่แหลมฉบัง  อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ประชาชนตื่นตัวกันมากขึ้นในการดูแลสุภาพหลีกเลี่ยงการออกไปเผชิญกับแสงแดดและความร้อนนอกบ้าน อย่างเช่นกลุ่มคนงานรับเหมาก่อสร้าง และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง พยามไม่เจอแสงกลางแดด เพราะมีผลกระทบต่อสุขภาพคือ มีอาการตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้อง หรือไหล่ ทำให้ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดภาวะลมแดด หรือฮีตสโตรก หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน

‘กรมอุตุนิยมวิทยา’ ประกาศเตือน ‘พายุตาลิม’ 17-20 ก.ค.นี้ ชี้!! มีฝนตกหนัก เฝ้าระวัง ‘น้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก’ 

(17 ก.ค. 66) นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเรื่อง พายุโซนร้อน ‘ตาลิม’ (TALIM) ฉบับที่ 10 โดยมีใจความว่า เมื่อเวลา 04.00 น. บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนมีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 18.9 องศาเหนือ ลองจิจูด 113.4 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือค่อนทางตะวันตกเล็กน้อยด้วยความเร็วประมาณ 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำและขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 18-19 ก.ค. 66

อนึ่งในช่วงวันที่ 17-20 ก.ค. 66 ร่องมรสุมกำลังแรงจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจาก ฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

จังหวัดที่คาดว่า ‘ฝนตกหนักถึงหนักมาก’ จากผลกระทบพายุโซนร้อน ‘ตาลิม’ (TALIM) มีดังนี้

>> วันที่ 17 ก.ค. 2566
ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน น่าน ตาก และกำแพงเพชร
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดอุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง: จังหวัดอุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี ลพบุรี สระบุรี สมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
ภาคใต้ : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

>> วันที่ 18 กรกฎาคม 2566
ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก และกำแพงเพชร
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองบัวลำ ภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และ อุบลราชธานี
ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี ลพบุรี สระบุรี สมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานีนครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ตกระบี่ ตรัง และสตูล

>> วันที่ 19-20 กรกฎาคม 2566
ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก พิจิตรพิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหารขอนแก่น กาฬสินธุ์มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ตกระบี่ ตรัง และสตูล

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตรขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ประกาศ ณ วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 เวลา 05.00 น. กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับต่อไปในวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 เวลา 11.00 น.

‘กรมอุตุ’ โต้ข่าวปลอม เมืองไทยร้อน ถึงเดือนกันยาฯ แจง!! กลางเดือนพฤษภาฯ จะเริ่มมีฝนตก มาคลายร้อน 

(28 เม.ย. 67) ตามที่มีสื่อสังคมออนไลน์ ได้เผยแพร่และแจ้งเตือน วิกฤตโลกอากาศสุดขั้วไทยร้อนต่อถึงเดือนกันยายน นั้น กรมอุตุนิยมวิทยาขอชี้แจงว่า

ฤดูร้อนของประเทศไทย โดยปกติจะเริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ของทุกปี รวมระยะเวลาราว 2 เดือนครึ่ง โดยในช่วงนี้เป็นช่วงที่โลกเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ และดวงอาทิตย์จะทำมุมตั้งฉากกับเขตโซนร้อนพอดี (เนื่องจากประเทศเราอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรมาก)

โดยเฉพาะเดือนเมษายน บริเวณประเทศไทย ดวงอาทิตย์จะอยู่เกือบตรงศีรษะในเวลาเที่ยงวัน ทำให้ได้รับรังสีจากดวงอาทิตย์เต็มที่ ในช่วงฤดูร้อน ทิศทางลมมีความแปรปรวน บางวันลมมีกำลังอ่อน ประกอบกับมักมีหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมอยู่เป็นประจำ จึงทำให้อากาศค่อนข้างร้อนอบอ้าว โดยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด อุณหภูมิบางวันสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส

แต่พอเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงประมาณกลางเดือนตุลาคม ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมที่มีความชื้นพัดปกคลุมประเทศไทย ลมนี้ยังช่วยระบายอากาศร้อน และทำให้มีฝนตกเพิ่มขึ้นโดยทั่วไป ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิของอากาศคลายความร้อนลงได้

ดังนั้นเดือนกันยายน ซึ่งเป็นช่วงปลายของฤดูฝน โดยปกติจะมีฝนตกชุกเกือบทุกภาคของประเทศไทย อุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศจะไม่สูงนัก เนื่องจากมีฝนตก ความชื้นสูง มรสุมมีกำลังแรง สถานการณ์ความร้อนจะคลื่คลายลง จึงไม่เกิดวิกฤตโลกอากาศสุดขั้วไทยร้อนถึงกันยายน

หากมีสภาพอากาศที่คาดว่าจะมึความรุนแรงและมีผลกระทบ กรมอุตุนิยมวิทยา จะออกประกาศให้ทราบทันที และขอให้ติดตามข่าวพยากรณ์อากาศเป็นระยะๆ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top