Wednesday, 8 May 2024
กกท

‘พล.อ.ประวิตร’ มอบความสุขแฟนบอลชาวไทย กำชับ กกท. เร่งดำเนินการประสานงาน กสทช. ถ่ายทอดสด ‘ฟุตบอลโลก Qatar 2022’

เมื่อ (27 ต.ค. 65) พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษก รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุม 2 คณะต่อเนื่องกัน คือคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ณ ห้องประชุม มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

เวลา 09.30 น. เริ่มการประชุม คณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบ กกท.สรุปผลการจัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ ชิงแชมป์โลก รายการ ‘โมโต จีพี พ.ศ.2565’ (สนามที่ 17) ระหว่าง 30 ก.ย. - 2 ต.ค. 65 ณ สนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ โดยมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 178,463 คน มีผู้รับชมถ่ายทอดสดทั่วโลกกว่า 800 ล้านคน และสนามที่ 18 ของฤดูกาลหน้า จะจัดแข่งขันในประเทศไทยระหว่าง 27-29 ต.ค. 66 ซึ่งจะสามารถสร้างมูลค่ากีฬา ที่มีศักยภาพเพื่อการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี จากนั้นได้มีการพิจารณาเห็นชอบ 10 แผนงานพัฒนาการกีฬาของไทย ตามนโยบาย กกท. ประจำปี 66-69 ประกอบด้วย 

1) โครงการยกระดับการให้บริการของ กกท. 
2) แผนธุรกิจการกีฬา 
3) แผนการยกระดับการบริหารจัดการองค์กรทั้งระบบ สู่องค์กรสมรรถนะสูง 
4) แผนการพัฒนา ข้อมูลดิจิทัล ฐานข้อมูลประชากรกีฬาของชาติ ด้านการกีฬา 
5) โครงการพัฒนากีฬาสีขาวเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ 
6) การพัฒนาศักยภาพและยกระดับสวัสดิการบุคลากร กกท. 
7) โครงการพัฒนานักกีฬาหน้าใหม่ 
8) โครงการส่งเสริมการออกกำลังกายและเล่นกีฬา 
9) แผนการดำเนินงานศูนย์ความเป็นเลิศด้านเวชศาสตร์การกีฬา สู่กีฬาภูมิภาค 
และ 10) แผนงานยกระดับการให้บริการศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา ส่วนภูมิภาค

‘ฟีฟ่า’ ขู่ ตัดสัญญาณถ่ายสดบอลโลก หลังพบสัญญาณหลุดไปโผล่ประเทศอื่น

‘บิ๊กก้อง’ ส่งหนังสือถึง ‘กสทช.’ หลังได้รับคำเตือนจาก ‘ฟีฟ่า’ พบสัญญาณการถ่ายทอดสดศึกฟุตบอลโลก 2022 จากประเทศไทย รั่วไหลไปสู่ประเทศอื่นๆ พร้อมสั่งให้เร่งแก้ไขโดยด่วน ขู่ถ้าไม่ทำตามตัดสัญญาณ หรือ ‘จอดำ’ ทันที 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่ผ่านมา ‘บิ๊กก้อง’ ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ในฐานะผู้ถือลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ ได้ส่งหนังสือเรื่องขอความอนุเคราะห์แจ้งให้ดำเนินการเข้ารหัสสัญญาณให้เป็นไปตามข้อกำหนดของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (Federation Internationale de Football Association – FIFA) หรือ ฟีฟ่า ไปยังเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ตามที่อ้างถึง การกีฬาแห่งประเทศไทย ได้ขอความอนุเคราะห์คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แจ้งขอความร่วมมือจากกลุ่มผู้ให้บริการวิทยุโทรทัศน์ต่างๆ อันประกอบด้วย ผู้ให้บริการ Multiplexer DTT ทั้ง 5 MUX และ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ผู้ควบคุมระบบ Must Cary (มัสต์ แครี) และผู้ให้บริการกล่อง STB คุ้มครองสิทธิการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 (รอบสุดท้าย) โดยเข้ารหัสสัญญาณและดำเนินการทำ OTA ของกล่องเครื่องรับระบบโทรทัศน์ดาวเทียม นั้น 

กกท. ได้รับแจ้งจากทางสหพันธ์ฟตุบอลนานาชาติ ว่า สัญญาณออกอากาศการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 (รอบสุดท้าย) ในประเทศไทย ยังคงแพร่กระจายไปละเมิดลิขสิทธิ์ในดินแดนของประเทศอื่น นอกเหนือลิขสิทธิ์ที่ได้รับตามข้อกำหนดของสหพันธ์ฯ

ทั้งนี้ สหพันธ์ฯ ได้ขอให้ผู้ได้รับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดของประเทศไทย ดำเนินการแก้ไขการเข้ารหัสสัญญาณ (Encryption) ที่ส่งผ่านดาวเทียมให้เป็นไปตามข้อกำหนดและมาตรฐานของสหพันธ์ฯ โดยด่วนที่สุด เพื่อป้องกันปัญหาสัญญาณการออกอากาศการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 (รอบสุดท้าย) ในประเทศไทย ไปละเมิดลิขสิทธิ์ในดินแดนของประเทศอื่น ตามที่สหพันธ์ฯ แจ้งมา

กกท. ใคร่ขอความอนุเคราะห์และความร่วมมือจาก กสทช. ดำเนินการแจ้งผู้ให้บริการ Multiplexer DTT ทั้ง 5 MUX และ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ผู้ควบคุมระบบ Must Cary และผู้ให้บริการกล่อง STB คุ้มครองสิทธิการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 (รอบสุดท้าย) โดยดำเนินการดังต่อไปนี้

1. ให้ดำเนินการเข้ารหัส (Encryption) ในการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมตามมาตรฐานของ FIFA ซึ่งกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำ BISS CA Director หรือ Power/u

2. ในส่วนของ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ผู้ควบคุมระบบ Must Carry และผู้ให้บริการกล่อง STB จะต้องเข้ารหัส โดยไม่ใช่การดำเนินการในลักษณะ BISS 1 Simultcrypt เหมือนที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน

3. ในกรณีที่ผู้ให้บริการใด ไม่สามารถเข้ารหัสให้เป็นไปตามมาตรฐานที่สหพันธ์ฯ กำหนด มีความจำเป็นต้องตัดสัญญาณที่จะส่งไปเผยแพร่ผ่านผู้บริการนั้น ซึ่งต้องดำเนินการในลักษณะส่งข้อความขี้แจงข้อกำหนดการเผยแพร่ตามข้อกำหนดลิขสิทธิ์ที่ประเทศไทยได้รับ (หรือตามที่ผู้รับชมทั่วไปจะเข้าใจในลักษณะการขึ้น ‘จอดำ’)

'กสทช.' เรียกเงินคืนจาก 'กกท.' 600 ล้าน ผิดกฎ Must Carry ทำบอลโลกจอดำ

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2565 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ บอร์ด กสทช. ได้ประชุม นัดพิเศษ เรื่อง การพิจารณาการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย

โดยที่ประชุมบอร์ด กสทช.จำนวน 6 คน มีมติเอกฉันท์ ให้การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. คืนเงิน 600 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) หลังจากการกีฬาแห่งประเทศไทย ไม่สามารถดำเนินการตามกฎ “มัสต์แครี” จนทำให้เกิดปัญหาโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก หรือ IPTV จอดำ ไม่สามารถรับชมการแข่งขันเวิลด์ คัพ ครั้งนี้ได้

พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกสทช. ระบุว่า จากการประชุมล่าสุดของบอร์ดกสทช. มีมติ 6:0 ให้ส่งหนังสือทางปกครองเรียกเงินคืน 600 ล้านบาท จากทาง กกท. และให้คืนเงินภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งเป็นหนังสือ พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี (หากมี)

ก่อนหน้านี้ กสทช. ได้ส่งหนังสือถึง กกท. ขอคืนค่าสนับสนุน 600 ล้านบาท หลังจากระบบบอกรับสมาชิก IPTV จอดำ มีสาระสำคัญดังนี้ ทั้งนี้มีการเปิดเผยว่าในบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่าง กสทช. กับ กกท. เรื่องการสนับสนุนค่าใช้จ่ายซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดครั้งนี้ ระบุว่า

'บิ๊กป้อม' กำชับ 'กกท.' บริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ หนุนงบฯ ปี 67 ยกระดับนักกีฬาไทย สู่ความเป็นเลิศในสากล

(22 ก.พ. 66) พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษกรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2/2566 ณ ห้องประชุม มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์

ที่ประชุมได้มีการหารือและรับทราบ รายงานผลการติดตามการใช้จ่ายงบประมาณของ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ประจำปี 66 ซึ่งได้มีการปฎิบัติตามแผนงาน ภายใต้กฎระเบียบอย่างเคร่งครัด และรับทราบผลการดำเนินงานของคณะกรรมการตรวจสอบ กกท. ประจำปี 66 ไตรมาส 1 พร้อมข้อเสนอแนะ เพื่อการบริหารความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในไตรมาส 2 อาทิ การนำกระบวนการบริหารความเสี่ยง ไปใช้ในการพัฒนาตามเกณฑ์การประเมินสมาคมกีฬา ให้มีประสิทธิภาพและการทบทวนแนวทางการพัฒนากีฬาอาชีพ และกีฬาเป้าหมายให้มีความเหมาะสม เป็นต้น

กสทช. บีบ กกท. ซื้อลิขสิทธิ์ยิงสดซีเกมส์ ชี้ ตามกฎมัสต์แฮฟ คนไทยต้องได้ดูฟรี

กฎมัสต์แฮฟ ส่อแววพ่นพิษอีก! กสทช. บีบ กกท. ต้องซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดซีเกมส์กัมพูชาให้คนไทยได้ดูฟรี

ความเคลื่อนไหวการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ 2023 ที่ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 5-17 พฤษภาคม 2566 โดย ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เจรจากับทางกัมพูชา เพื่อให้ได้ข้อสรุปค่าลิขสิทธิ์ดำเนินการถ่ายทอดสดซึ่งตามกระแสข่าวก่อนหน้านี้คือ กัมพูชา เรียกค่าลิขสิทธิ์เป็นเงินสูงถึง 8 แสนเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 28 ล้านบาท ซึ่ง กกท. ได้เคยทำหนังสือปรึกษา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรณีนี้ไว้ก่อนหน้านี้เนื่องจากการชมการถ่ายทอดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ถูกระบุออยู่ในกฎมัสต์แฮฟ (Must Have) ที่ต้องมีการถ่ายทอดสดรับชมอย่างทั่วถึงเท่าเทียม

‘กสทช.’ ยืนยันไม่ซื้อลิขสิทธิ์ ‘ซีเกมส์ 2023’ ไม่ผิด เล็งแก้กฎ ‘มัสต์แฮฟ’ หลังเป็นมีปัญหาตามมาเพียบ

ความคืบหน้าเรื่องลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 5-17 พฤษภาคมนี้ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนั้น การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กำลังเตรียมเจรจากับเจ้าภาพกัมพูชา ให้ลดค่าลิขสิขสิทธิ์ที่ตั้งไว้สูงถึง 800,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 27.6 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. เรียกร้องให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทบทวนยกเลิกกฎ "มัสต์แฮฟ" (Must Have) 

เพราะเห็นว่าเป็นต้นตอปัญหาในการดึงภาคเอกชนร่วมลงทุนในการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดมหกรรมกีฬา 7 รายการที่คนไทยต้องดูฟรี ประกอบด้วย ซีเกมส์, อาเซียนพาราเกมส์, เอเชียนเกมส์, เอเชียนพาราเกมส์, โอลิมปิกเกมส์, พาราลิมปิกเกมส์ และฟุตบอลโลกนั้น

ล่าสุด นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. ระบุว่า กรณีของการพิจารณาประเด็นปัญญาของกฎ "มัสต์แฮฟ" ที่ขัดแย้งกับธุรกิจกีฬาโลกนั้น บอร์ด กสทช. มีความเห็นให้ตั้งคณะทำงาน 1 ชุด โดยมี น.ส.มณีรัตน์ กำจรกิจการ รักษาการรองเลขาธิการ กสทช. เป็นประธานเพื่อศึกษาข้อมูลต่าง ๆ อย่างรอบด้าน ซึ่งคณะกรรมการชุดใหญ่รอฟังข้อสรุปก่อนจะพิจารณาตัดสินใจต่อไป

ด้าน น.ส.มณีรัตน์ กำจรกิจการ รักษาการรองเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ประเด็นเรื่องที่ กกท. ระบุว่า กสทช. บีบบังคับให้ กกท. ดำเนินการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชานั้น น่าจะเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนกัน เพราะก่อนหน้านี้ กสทช. เชิญ กกท. และคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ มาหารือและชี้แจงทำความเข้าใจกฎ ‘มัสต์แฮฟ’ และ ‘มัสต์ แครี่’ 

ซึ่งทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันว่า สำหรับการบังคับใช้ของกฎ ‘มัสต์ แฮฟ’ และ ‘มัสต์ แครี่’ จะเริ่มต้นก็ต่อเมื่อ ลิขสิทธิ์ถูกซื้อมาดำเนินการในประเทศไทย แต่ตราบใดที่ไม่มีการซื้อเข้ามา กฎดังกล่าวก็ไม่ได้บังคับใช้ หรือสรุปง่ายๆ ว่า ถ้าประเทศไทยไม่ซื้อถือว่า ไม่ได้มีความผิดอะไร แต่ถ้าซื้อมาแล้ว ต้องถ่ายทอดสดให้คนไทยได้รับชมตามช่องทางต่าง ๆ ที่ระบุไว้แบบไม่เสียเงินค่ารับชม อย่างไรก็ตาม ไม่ทราบว่าทาง กกท. จะดำเนินการซื้อลิขสิทธิ์หรือไม่ เพราะเป็นเรื่องของ กกท. ซึ่งแจ้งไว้คร่าว ๆ ว่า กำลังหางบประมาณ และจะขอจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ

'กกท. ' เตรียมผลักดันการแข่งขัน 'เจ็ตสกี' นอกชายฝั่งชิงแชมป์โลก ที่ภูเก็ต

เมื่อวานนี้ (16 มี.ค.66) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (รมว.กก.) เป็นประธานในพิธีปิดการแข่งขันเจ็ตสกีนอกชายฝั่งชิงแชมป์โลก หรือ WGP#1 Water Jet Offshore World Championship 2023 พร้อมมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะ โดยมี ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. , นายทนุเกียรติ จันทร์ชุม รองผู้ว่าการ กกท. ฝ่ายกีฬาอาชีพและกีฬามวย , นางโปรดปราน สมานมิตร รองผู้ว่าการ กกท. ฝ่ายส่งเสริมกีฬา , นายชลัฐ รัชกิจประการ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมทั้งคณะผู้บริหาร  ร่วมพิธีปิด ณ บริเวณชายหาดโรงแรมอังสนา ลากูน่า จังหวัดภูเก็ต

รมว.พิพัฒน์ กล่าวว่า การแข่งขันเจ็ตสกีนอกชายฝั่งชิงแชมป์โลก หรือ WGP#1 Water Jet Offshore World Championship 2023 จัดขึ้นเพื่อผลักดันให้จังหวัดภูเก็ตเป็นหมุดหมายสำคัญของกีฬาทางน้ำระดับโลก อีกทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์เมืองกีฬาแห่งนี้ให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพของนักกีฬาไทย โดยการแข่งขันเจ็ตสกีนอกชายฝั่งฯ ในครั้งนี้ จะนำร่องด้วยการใช้เจ็ตสกีไฟฟ้าที่จะบรรจุเป็นรุ่นแข่งขันในปีหน้ามาใช้แข่งขันในครั้งนี้ และจะใช้เป็นรุ่นไฟฟ้าทั้งหมดของการแข่งขันฯ ภายใน 4-5 ปีข้างหน้า ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมและเป็นต้นแบบให้กับยานพาหนะทางน้ำอื่นๆ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ในด้านสิ่งแวดล้อมต่อจังหวัดภูเก็ต อีกด้วย

‘มวยไทย’ ยกทัพเยือน ‘ฮ่องกง’ หนุนซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่ระดับโลก พร้อมโชว์ลีลาเด็ดในงานดวลหมัด ‘อีสต์ เอเชียน มวยไทย แชมเปียนชิป’

(24 พ.ย. 66) การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.), กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ (NSDF), คณะกรรมการกีฬามวย, สมาคมกีฬามวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทยฯ, สมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทย และสหพันธ์สมาคมมวยไทยนานาชาติ (IFMA) ร่วมกันจัดโครงการประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ศิลปะมวยไทยสู่ต่างประเทศ พร้อมกับจัดการแข่งขันรายการ ‘อีสต์ เอเชียน มวยไทย แชมเปียนชิป 2023’ โดยมีนักมวยไทยจาก 9 ชาติ จากภูมิภาคเอเชียตะวันออก ร่วมขึ้นสังเวียนชิงชัย ที่ควีน อลิซาเบธ สเตเดียม เขตปกครองพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 23-26 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยให้เผยแพร่ไปสู่ระดับนานาชาติ และกำหนดมาตรฐานมวยไทย ‘One Standard Muaythai’ (OSM) นำโดย ดร.ปัญญา หาญลำยวง คณะกรรมการติดตามการใช้จ่ายงบประมาณของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ รวมทั้ง ดร.เช้า วาทโยธา ครูมวยไทยนานาชาติชื่อดัง และ ‘กัปปิตัน เพชรยินดีอะคาเดมี’ อนึ่ง คัฒมารศรี ยอดนักมวยไทยชื่อดัง และคณะ ร่วมเปิดคลินิกสอนทักษะมวยไทยให้กับผู้เข้ารับการอบรมทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ ซึ่งได้รับการตอบรับจากชมรม และสมาคมกีฬามวยไทยแห่งฮ่องกง ส่งนักกีฬามวยไทยเข้าร่วมอย่างคึกคัก

โครงการเผยแพร่ศิลปะมวยไทยสู่ต่างประเทศ จัดขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์กีฬามวยไทย ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย ส่งเสริมให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายยิ่งขึ้นในฮ่องกง โดยจะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมมวยไทยสู่นานาชาติอย่างครบวงจร และสามารถต่อยอดสินค้ามวยไทยสู่ต่างประเทศได้อย่างแพร่หลาย ทั้งในรูปแบบสินค้า และบริการด้านมวยไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม อันเป็นอัตลักษณ์ของความเป็นไทยสู่ฮ่องกง ส่งเสริมความนิยมไทย และความเป็นไทยให้เป็นที่รู้จักทุกภูมิภาคของโลก โดยสามารถต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยว การค้าการลงทุนในประเทศไทย และอาหารไทย

โครงการดังกล่าวจัดขึ้นตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับการกีฬา และนันทนาการบนพื้นฐานวิทยาศาสตร์การกีฬา เพื่อเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมพัฒนากีฬา พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างชื่อเสียง และเกียรติภูมิของประเทศ รวมถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรมกีฬา การท่องเที่ยวเชิงกีฬาเพื่อสร้างคุณค่า และมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย

ดังนั้น สมาคมกีฬามวยอาชีพแห่งประเทศไทยที่มีบทบาทหน้าที่ในการดำเนินกิจกรรมกีฬามวยอาชีพในการส่งเสริม และเผยแพร่กีฬามวยไทยอาชีพให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ รวมทั้งการส่งเสริมอุตสาหกรรมมวยไทยทั้งในรูปแบบสินค้า และบริการเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยธุรกิจอุตสาหกรรมมวยไทย สร้างรายได้ให้บุคลากรมวยไทย จึงจัดโครงการเผยแพร่ศิลปะมวยไทยในประเทศฮ่องกง ขึ้นเพื่อนำกีฬามวยไทยไปเผยแพร่ และยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

กิจกรรมที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกง แบ่งออกเป็น กิจกรรมในช่วงเช้าเป็นการจัดเวิร์กชอปเปิดคลินิกสอนทักษะมวยไทยให้กับผู้เข้ารับการอบรมทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ โดย ดร.เช้า วาทโยธา ครูมวยไทยนานาชาติชื่อดัง และ ‘กัปปิตัน เพชรยินดีอะคาเดมี’ อนึ่ง คัฒมารศรี นักมวยไทยชื่อดัง ร่วมติวเข้มทักษะแม่ไม้มวยไทยให้กับผู้เข้ารับการอบรม จากนั้นในช่วงเย็นเป็นพิธีเปิดการแข่งขัน ‘อีสต์ เอเชียน มวยไทย แชมเปียนชิป 2023’ อย่างเป็นทางการ โดยมี ‘สเตฟาน ฟ็อกซ์’ เลขาธิการสหพันธ์สมาคมมวยไทยนานาชาติ (IFMA) พร้อมด้วย ปุย ควาน เกย์ ประธานกิตติมศักดิ์ สมาคมกีฬามวยไทยแห่งฮ่องกง, ซิน ลัม ยุก ประธานสมาคมกีฬามวยไทยแห่งฮ่องกง, ตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวกับกีฬาของฮ่องกง และนักกีฬามวยไทย 9 จากชาติที่เข้าร่วมชิงชัย ประกอบด้วย บังกลาเทศ, อินเดีย, เกาหลีใต้, มองโกเลีย, มาเก๊า, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, จีน และฮ่องกง เจ้าภาพ เข้าร่วมในพิธีเปิด

พิธีเปิดการแข่งขันได้มีการแสดงศิลปะแม้ไม้มวยไทยโบราณ จากคณะลานนาไฟท์ติ้งมวยไทย นำโดย ‘ครูดิน’ นายวิทวัส ค้าสม นำคณะนักมวยไทยไปโชว์อัตลักษณ์มวยไทยที่เป็นศิลปะการต่อสู้ประจำชาติไทย รวมทั้งการแสดงคีตะมวยไทย จากทีมมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตเพชรบูรณ์ ทีมชนะเลิศจากการแข่งขันมวยไทยสมัครเล่นเยาวชนชิงแชมป์ประเทศไทย ประจำปี 2566 ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานสุดตื่นตาตื่นใจ

สำหรับ ฮ่องกง ถือเป็นหนึ่งในมหาอำนาจมวยไทยของเอเชีย และเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งสหพันธ์สมาคมมวยไทยนานาชาติ (IFMA) ได้จัดการแข่งขันรายการ ‘อีสต์ เอเชียน มวยไทย แชมเปียนชิป 2023’ ที่ควีน อลิซาเบธ สเตเดียม ซึ่งถือเป็นการแข่งขันมวยไทยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในมวยไทยสมัยใหม่ และยิ่งใหญ่ที่สุดที่จัดขึ้น ณ ฮ่องกง หลังจากรอคอยมา 3 ปี โดยจะเป็นการช่วยส่งเสริมมวยไทยให้ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออก รวมถึงการต่อสู้ และองค์ประกอบดั้งเดิม และการไหว้ครูมวยไทย

สรุปผลการแข่งขันรายการ ‘อีสต์ เอเชี่ยน มวยไทย แชมเปียนชิป 2023’ รอบแรก ดังนี้

รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 45 กก.หญิง ‘นามูอูนา อาร์เดเนบายาร์’ (มองโกเลีย) ชนะอาร์เอสซียก 2 ‘ทิเคสชวารี ซาฮู’ (อินเดีย)

รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 48 กก.หญิง ‘เพียว ลิง อึน’ (ฮ่องกง) ชนะคะแนน ‘อูรานกู โอดอนทูยา’ (มองโกเลีย)

รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 51 กก.หญิง ‘ยูริกะ จิมโป’ (ญี่ปุ่น) ชนะคะแนน ‘หลิว ซินเหอ’ (ไต้หวัน)

รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 54 กก.ชาย ‘จางฮุน ออน’ (เกาหลีใต้) ชนะคะแนน ‘ฝ่าน กวงเจ้อ’ (จีน) และ ‘บาตดอร์จ ซูมิยาซูเรน’ (มองโกเลีย) ชนะคะแนน ‘ฟาฮัด อนัคคายี่’ (อินเดีย)

รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 57 กก.ชาย ‘หลี่ หยูหง’ (ไต้หวัน) ชนะคะแนน ‘ดีพานคาร์ โบรา’ (อินเดีย)

รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 60 กก.ชาย ‘บาตโบลด์ กานซูร์คห์’ (มองโกเลีย) ชนะคะแนน ‘บิดยาชานดรา ซิงห์ ไลชาห์ม’ และ ‘กวน เว่ยเฮ’ (มาเก๊า) ชนะอาร์เอสซียก 1 ‘เฉิน เบาจอง’ (ไต้หวัน)

รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 63.5 กก.ชาย ‘อาเชม ทอนดอนบา ซิงห์’ (อินเดีย) ชนะอาร์เอสซียก 1 ‘ซู่ ยองจู’ (ไต้หวัน)

รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 67 กก.ชาย ‘ชุง เป่ยรง’ (ฮ่องกง) ชนะอาร์เอสซียก 1 ‘หวง เจิ้งฉี’ (จีน), ‘อี ซังมิน’ (เกาหลีใต้) ชนะคะแนน ‘โมรัมบ้า ซาโกลเซ็ม’ (อินเดีย) ‘หวง เหาหยวน’ (มาเก๊า) ชนะคะแนน ‘บาต-อิตเกลต์ ชิจีร์บาตาร์’ (มองโกเลีย)

รุ่นน้ำหนักไม่เกิน 70 กก.ชาย ‘ลี่ จวนเซียน’ (ฮ่องกง) ชนะอาร์เอสซียก 2 ‘เป่ง เวิ่นเบา’ (ไต้หวัน)


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top