Thursday, 9 May 2024
WorldWhy

พบผู้ติดเชื้อ Covid-19 ที่ขั้วโลกใต้ สถานีวิจัย Bernardo O'Higgins Research Centre

ในที่สุด Covid-19 ก็สามารถเจาะพื้นที่สุดท้ายของโลก ทวีปแอนตาร์กติกา ดินแดนขั้วโลกใต้ที่เป็นทวีปสุดท้ายที่ยังไม่มีเชื้อ Covid -19 เข้าจนได้ เมื่อล่าสุดทางชิลีได้รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อแล้วถึง 36 ราย ซึ่งเป็นทีมงานในสถานีวิจัยแห่งหนึ่งของชีลี

การค้นพบผู้ติดเชื้อครั้งนี้ ได้รับการยืนยันจากกองทัพชิลี เมื่อมีการส่งเรือ Sargento Aldea ซึ่งบรรทุกเสบียง และอุปกรณ์ที่จำเป็นไปส่งให้เจ้าหน้าที่ ที่ประจำอยู่ Bernardo O'Higgins Research Centre หนึ่งในสถานีวิจัยของชิลีที่ตั้งอยู่ในทวีปแอนตาร์กติกา เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

โดยก่อนการเดินทาง ลูกเรือได้ตรวจร่างกายทุกคน และไม่มีใครติดเชื้อ Covid-19 แต่หลังจากที่เรือกลับมาถึงท่าเรือชิลี เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ปรากฏว่าพบลูกเรือติดเชื้อ Covid-19 กลับมาถึง 3 คน

ทางกองทัพชิลีจึงรีบจัดส่งชุดตรวจ Covid-19 ไปที่สถานีวิจัย Bernardo O'Higgins และก็ต้องตกตะลึงเมื่อพบว่าเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์วิจัยแห่งนี้ ติดเชื้อ Covid-19 แล้วถึง 36 คน จึงต้องรีบพาผู้ติดเชื้อทั้งหมดกลับมารักษาตัวที่ชิลีทันที

และเป็นการยืนยันอย่างเป็นทางการแล้วว่าเจ้าเชื้อไวรัส Covid-19 ครองโลกครบ 7 ทวีปเรียบร้อยแล้ว

หลังจากที่ทั่วโลกกำลังปั่นป่วนวุ่นวายอย่างหนักจากการแพร่ระบาด Covid-19 ดินแดนแห่งขั้วโลกใต้เป็นทวีปสุดท้ายของโลกที่ยังสงบ ปราศจาก Covid มาตลอด แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้น

ถึงแม้ว่าทวีปแอนตาร์กติก้า จะไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่อย่างถาวร มีเพียงนักวิทยาศาสตร์ และทีมสำรวจที่เข้าพื้นที่ไปศึกษาธรรมชาติ ที่จะมีประชากรชาวโลกอยู่ประมาณ 4,000 คนในช่วงฤดูร้อน และลดลงเหลือ 1,000 คนในช่วงฤดูหนาว บนพื้นแผ่นดินแช่แข็งเวิ้งว้าง กว้างใหญ่ ห่างไกลสังคมเมืองมนุษย์

แต่เมื่อไวรัส Covid-19 ได้บุกมาจนถึงขั้วโลกใต้แล้ว ก็ย่อมมีผลกระทบต่อนักวิจัยที่กำลังทำงานอยู่ ซึ่งอาจต้องระงับภารกิจ เพื่อตรวจหาผู้ติดเชื้อ ตัดวงจรการแพร่ระบาดให้ได้

เพราะสิ่งที่นักวิจัยกลัว ไม่ใช่แค่การแพร่ระบาดในทีมงานที่อาศัยอยู่ที่นั่น แต่กลัวผลกระทบที่อาจเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสู่สัตว์ป่า และสิ่งมีชีวิตอื่นที่อยู่ในพื้นที่ ที่อาจนับได้ว่าเป็นดินแดนที่บริสุทธิ์ที่สุดในโลก

และการนำเชื้อโรคชนิดใหม่เข้าไปในพื้นที่แห่งนี้ อาจนำไปสู่หายนะที่เราคาดไม่ถึงก็เป็นได้


แหล่งข่าว

https://www.bbc.com/news/world-latin-america-55410065

https://www.theguardian.com/world/2020/dec/22/covid-cases-recorded-in-antarctica-for-first-time

https://news.sky.com/story/covid-19-coronavirus-finally-reaches-antarctica-as-36-test-positive-at-chilean-base-12169876

กลายเป็นฝันร้าย ฝันสยองของชาวโลก เมื่อทั่วโลกได้รู้ข่าวการกลายพันธุ์ล่าสุดของเชื้อไวรัส Covid-19 ในประเทศอาฟริกาใต้ และไม่ใช่เชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์ของอังกฤษเสียด้วย

เชื้อไวรัส Covid-19 กลายพันธุ์ตัวล่าสุดก็ได้ชื่อแล้วอย่างเป็นทางการว่า 501.V2

เชื้อไวรัสโคโรน่า 501.V2 มีการตรวจพบครั้งแรกเมื่อราว ๆ ต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา บริเวณอ่าวเนลสัน แมนเดอร่า เป็นเชื้อ Covid ที่สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้รวดเร็วยิ่งกว่า Covid-19 สายพันธุ์เดิม และมีเอกลักษณ์คือ เป็นเชื้อกลายพันธุ์ตัวใหม่นี่ติดง่ายในกลุ่มคนวัยหนุ่ม-สาว และเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดระลอก 2 อย่างรวดเร็วยิ่งกว่าการระบาดครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้

ศาตราจารย์ ซาลิม อับดูล คาริม หัวหน้าคณะที่ปรึกษาปัญหา Covid-19 ของแอฟริกาใต้ ได้เร่งติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และใช้มาตรการล็อคดาวน์ในหลายพื้นที่ รวมถึงบริเวณหน้าหาด ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่มีรายงานว่าเป็นจุดที่พบการแพร่เชื้อสูง

ตัวเลขผู้ติดเชื้อล่าสุดในแอฟริกาใต้มียอดสะสมทั้งหมดประมาณ 930,000 ราย และเสียชีวิตแล้วถึง 24,900 คน

ตอนนี้ยังไม่รู้ว่า วัคซีน Covid-19 ที่มีอยู่ตอนนี้จะสามารถป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่นี้ได้มากน้อยแค่ไหน แต่ก็สร้างความหวั่นวิตกให้หลายประเทศ ที่ประกาศระงับเที่ยวบินจากแอฟริกาใต้แล้ว เช่น อิสราเอล ตุรกี เยอรมัน ซาอุดิอารเบีย สวิสเซอร์แลนด์ เป็นต้น

ทำให้ตอนนี้โลกต้องเผชิญหน้ากับเชื้อ Covid-19 ที่กลายพันธุ์แล้วถึง 2 ตัว และแพร่กระจายสู่คนเร็วยิ่งกว่าเดิม ได้แก่สายพันธุ์ของอังกฤษ รหัส VUI 202012/01 และ สายพันธุ์ของแอฟริกาใต้ 501.V2

เป็นเหมือนข่าวร้ายส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ที่ยังคงต้องเผชิญหน้ากับคลื่นการระบาดของไวรัสโคโรน่ากันต่อไป ที่อาจจะส่งผลกระทบร้ายแรงยิ่งกว่าเกิดสงครามโลกเสียอีก และเป็นฝันร้ายของนักวิจัยที่พยายามคิดค้นวัคซีนเพื่อต่อต้านมัน แต่ยังไม่อาจไล่ทันความสามารถในการเอาตัวรอดของไวรัสได้เลย


แหล่งข้อมูล

https://www.aljazeera.com/news/2020/12/22/south-africa-says-virus-variant-driving-resurgence

https://www.voanews.com/covid-19-pandemic/south-africa-identifies-new-virulent-strain-covid-19

https://www.africanews.com/2020/12/21/south-africa-detects-new-variant-of-coronavirus//

https://www.express.co.uk/news/world/1374779/covid-strain-latest-new-coronavirus-variant-south-africa-young-adults

เครดิต : หรรสาระ By Jeans Aroonrat

หลังจากที่ทั่วโลกเริ่มตื่นตัวกับข่าวการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส Covid-19 ถึง 2 แห่ง จากอังกฤษที่ชื่อว่า VUI 202012/01 และล่าสุดสายพันธุ์จากอาฟริกาใต้ 501.V2 ที่ล้วนแต่แพร่ระบาดสู่มนุษย์เร็วกว่าสายพันธุ์เดิม

ดังนั้นหลายประเทศจึงต้องรีบหาทางสกัดไม่ให้เชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์ใหม่แพร่กระจายเข้ามาในประเทศด้วยการระงับเที่ยวบินจากอังกฤษ และแอฟริกาใต้โดยทันทีเพื่อความปลอดภัย

แต่ดูเหมือนว่าจะเริ่มสกัดไม่อยู่ เมื่อมีรายงานด่วนว่าพบผู้ติดเชื้อ Covid-19 สายพันธุ์ใหม่ในต่างประเทศที่ต่างทวีปจากต้นกำเนิดของมันเรียบร้อยแล้ว

เริ่มที่ฮ่องกง วันนี้พบผู้ติดเชื้อ Covid สายพันธุ์ของอังกฤษแล้ว 2 เคส จากนักศึกษาชาวฮ่องกง 2 คนที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากลอนดอน

ก่อนหน้านี้ ทางการฮ่องกงแถลงว่ากำลังพิจารณาการระงับเที่ยวบินไป-กลับจากอังกฤษ เพราะกังวลปัญหาเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่ และสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิคของฮ่องกงก็ได้ลดเที่ยวบินไปลอนดอน เหลือเพียงวันเว้นวัน แต่ล่าสุดก็พบผู้ติดเชื้อเป็นนักศึกษาฮ่องกงที่เดินทางกลับจากอังกฤษจนได้ จึงอาจเป็นไปได้ว่าทางการฮ่องกงอาจต้องเพิ่มมาตรการเข้มงวดในการเข้าเมืองของผู้ที่เดินทางมาจากอังกฤษยิ่งกว่าเดิม

กระเถิบใกล้บ้านเรายิ่งขึ้น ที่สิงคโปร์วันนี้ มีรายงานพบผู้ติดเชื้อ Covid สายพันธุ์อังกฤษแล้วเช่นเดียวกันจำนวน 1 ราย เป็นนักศึกษาหญิงชาวสิงคโปร์อายุ 17 ปีที่เพิ่งกลับจากอังกฤษเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม และเก็บตัวอยู่ที่บ้านตามกฎหมายกักกันเชื้อโรคของสิงคโปร์ ต่อมาปรากฏอาการว่ามีไข้ จึงเข้าไปตรวจเชื้อและพบว่าติดเชื้อ Covid สายพันธุ์ใหม่จากอังกฤษจริง ๆ แต่ยังโชคดีที่คนในครอบครัวที่ใกล้ชิดยังไม่มีใครติดเชื้อ Covid ตัวใหม่นี้

ถึงแม้ว่าตอนนี้จะยังไม่มีการแบนเที่ยวบินจากอังกฤษ แต่สิงคโปร์ได้ออกมาตรการเข้มงวดกับผู้โดยสารทุกคนที่เดินทางมาจากอังกฤษต้องตรวจเชื้อทันทีที่มาถึงสนามบินสิงคโปร์และกักตัวที่บ้านต่ออีก 14 วันถึงแม้ว่าการตรวจเชื้อเบื้องต้นจะไม่พบก็ตาม

ส่วนที่ประเทศอังกฤษ ที่ถูกระบุว่าเป็นแหล่งที่เกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อ Covid-19 ก็ดูเหมือนจะผีซ้ำด้ำพลอย เมื่อวันนี้มีรายงานจาก แมท แฮนค็อก รัฐมนตรีสาธารณสุขอังกฤษว่า พบผู้ติดเชื้อ Covid กลายพันธุ์ของอาฟริกาใต้ในประเทศอังกฤษเข้าจนได้ เป็นชาวอังกฤษ 2 คนที่เพิ่งกลับจากการเดินทางในประเทศอาฟริกาใต้ จึงจำเป็นต้องเรียกผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับชาวอังกฤษทั้ง 2 คนนี้ กักตัวอยู่กับบ้านเพื่อดูอาการทันที เนื่องจากเชื้อไวรัสโคโรน่าที่กลายพันธุ์จากแอฟริกาใต้ มีความรุนแรงกว่าเชื้อไวรัสใหม่ของอังกฤษเสียอีก

ทำให้อังกฤษกลายเป็นประเทศแรกที่มีการพบผู้ติดเชื้อไวรัส Covid-19 ทุกสายพันธุ์ ทั้งเก่า และใหม่ ที่สร้างความปวดหัวให้รัฐบาลอังกฤษไม่น้อย และจะยิ่งถูกโดดเดี่ยวกว่าเดิมเนื่องจากสถานการณ์ Covid-19 ในประเทศและนโยบาย Brexit

เป็นข่าวที่ค่อนข้างน่าตกใจว่าอันตรายจากเชื้อไวรัส Covid-19 สายพันธุ์ใหม่ใกล้ตัวเรามากว่าที่คิด แค่สายพันธุ์เก่ายังสกัดการแพร่ระบาดไม่ได้ สายพันธุ์ใหม่ก็กำลังจะมาแล้ว และอันตรายกว่าเดิมเสียอีก ดังนั้นเราควรรีบตั้งการ์ด 2 ชั้น ประมาทไม่ได้เลยจริง ๆ


แหล่งข่าว

https://www.channelnewsasia.com/news/world/another-new-covid-19-coronavirus-variant-detected-uk-13832118

https://www.channelnewsasia.com/news/asia/uk-covid-19-variant-coronavirus-strain-hong-kong-13831164

https://www.channelnewsasia.com/news/singapore/covid-19-uk-virus-strain-b117-first-case-singapore-moh-13832090

https://www.bangkokpost.com/business/2038903/hk-may-ban-flights-from-britain-over-fears-of-new-virus-strain

เครดิต : หรรสาระ By Jeans Aroonrat

หลังจากที่ฮ่องกงตรวจพบผู้ติดเชื้อ Covid-19 กลายพันธุ์ของอังกฤษ ที่เรียกสั้น ๆ ว่า B117 เป็นนักศึกษาฮ่องกงที่เพิ่งเดินทางกลับจากลอนดอนจำนวน 2 คน

ทำให้ทางการฮ่องกงไม่รอช้า ออกคำสั่งด่วนเพิ่มระยะเวลาการกักตัวของผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ นอกเหนือจากจีน เข้าเมืองฮ่องกง ต้องถูกกักตัวเพิ่มจาก 14 วัน เป็น 21 วัน มีผลตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคมนี้เป็นต้นไป

โดยผู้ที่เข้าเมืองทั้งชาวฮ่องกง และ ชาวต่างชาติต้องถูกกักตัวในโรงแรมที่ทางการฮ่องกงกำหนดให้เท่านั้น ที่จำเป็นต้องเพิ่มระยะเวลากักตัวเป็น 21 วัน เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ที่เข้าเมืองปลอดเชื้อไวรัสโคโรน่าจริง ๆ โดยเฉพาะจากไวรัส Covid-19 กลายพันธุ์ ที่ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าจะมีระยะฟักตัวนานกว่าเดิมหรือไม่

นอกจากนี้ ทางการฮ่องกงยังแบนผู้ที่เคยมีประวัติเข้าประเทศอาฟริกาใต้ภายในระยะเวลา 21 วัน เข้าเมืองฮ่องกง และระงับทุกเที่ยวบินจากอังกฤษเรียบร้อย

นับเป็นมาตรการตั้งการ์ดสูงของฮ่องกง ที่จะไม่ยอมให้ Covid-19 สายพันธุ์ใหม่ ที่มีความสามารถในการแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าเดิมเข้ามาในฮ่องกง

ความวิตกกังวลในเรื่องเชื้อ Covid-19 กลายพันธุ์ตัวใหม่ เริ่มขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมีการพบผู้ติดเชื้อไวรัสตัวใหม่นอกประเทศที่พบการกลายพันธุ์ และล่าสุดในเยอรมันมีรายงานว่า พบผู้ติดเชื้อ Covid-19 สายพันธุ์ B117 แล้วที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต จากชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากลอนดอนเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม และเป็นผู้ติดเชื้อ B117 รายแรกในเยอรมัน

ขณะนี้ มีมากกว่า 40 ประเทศได้ประกาศแบนเที่ยวบินจากอังกฤษ หรือ แอฟริกาใต้เรียบร้อยแล้ว


แหล่งข่าว

https://www.channelnewsasia.com/news/asia/covid-19-hong-kong-21-days-quarantine-south-africa-13841170

https://www.straitstimes.com/asia/east-asia/hong-kong-imposes-21-day-quarantine-for-visitors-adds-south-africa-to-banned-list

https://www.scmp.com/news/china/science/article/3115008/what-we-know-so-far-about-new-coronavirus-strain-emerged-britain

https://www.bbc.com/thai/international-55401953

เครดิต : หรรสาระ By Jeans Aroonrat

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา ทางสภาคองเกรซสหรัฐเพิ่งลงมติอนุมัติเงินเยียวยากู้วิกฤติ Covid-19 รอบล่าสุดเพิ่มอีก 9 แสนล้านเหรียญ หรือประมาณ 27 ล้านล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากพิษ Covid-19 ที่ทำเศรษฐกิจตกต่ำ เจ็บยาวกันข้ามปีไปจนถึงปีหน้า

ซึ่งงบช่วยเหลือล่าสุดของสหรัฐก้อนนี้ จะเป็นเงินสดช่วยเหลือค่าครองชีพให้ชาวสหรัฐคนละ 600 เหรียญ + เงินช่วยเหลือแรงงานที่ว่างงานอีกสัปดาห์ละ 300 เหรียญ เป็นระยะเวลา 11 สัปดาห์

และยังอัดฉีดกองทุนสนับสนุนภาคธุรกิจขนาดเล็ก ที่เรียกว่า Paycheck Protection Program ที่สนับสนุนเงินกู้ให้กับ SME ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 รวมถึงเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้เช่าบ้านที่กำลังจะถูกไล่ที่เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าอีกด้วย

หากรวมกับเงินเยียวยา Covid-19 ที่รัฐบาลสหรัฐได้อนุมัติงบออกมาก่อนหน้านี้ในช่วงเดือนมีนาคม ภายใต้โปรเจค CARES Act และเงินทุนสนับสนุนการพัฒนาวัคซีน Covid-19 อื่นๆอีก เท่ากับว่าในปีนี้สหรัฐได้อนุมัติงบประมาณเยียวยา Covid-19 ไปแล้วเกือบ 4 ล้านล้านเหรียญ!!!

งบประมาณก้อนนี้ใหญ่ขนาดไหน?

นิตยสาร Time ได้สรุปว่า งบประมาณก้อนใหญ่นี้ เทียบได้กับมูลค่าทางเศรษฐกิจตลอดทั้งปีของบราซิล ออสเตรเลีย และ เม็กซิโก รวมกัน และมากกว่า Recovery Act 2009 กองทุนฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ของสหรัฐ ที่เป็นผลพวงของวิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ถึง 4 เท่า

แต่ถึงจะเป็นเงินก้อนใหญ่ที่ครอบคลุมเงินช่วยเหลือชาวสหรัฐหลายล้านคนทั่วประเทศขนาดนี้ แต่โดนัลด์ ทรัมพ์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ณ เวลานี้ กลับขู่ว่าเขาจะไม่ยอมเซ็น

เพราะงบก้อนใหญ่เกินไปหรือ?

เปล่า ไม่ใช่! แต่ทรัมพ์บอกว่า ควรได้งบก้อนใหญ่กว่านี้อีก และคนอเมริกันควรได้รับเช็คกระตุ้นเศรษฐกิจถึง 2,000 เหรียญ ไม่ใช่แค่ 600 เงินไม่พอครับ กลับไปประชุมกันใหม่!

หากมองว่าสหรัฐอัดฉีดงบประมาณอย่างโหด เหมือนโกรธใครมา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจขาลงในช่วง Covid-19 แต่หากเทียบกับศักยภาพทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาแล้ว เงินเยียวยาทั้งหมดที่ทุ่มลงมาให้ตั้งแต่ต้นปี คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 18% ของ GDP ใน 1 ปีของสหรัฐ

และหากมองเทียบในแง่มุมนี้ จะพบว่ามีหลายประเทศที่ยอมทุ่มงบประมาณมหาศาลยิ่งกว่าสหรัฐอเมริกา เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มีแรงพยุงเศรษฐกิจของประเทศให้ผ่านพ้นจากยุค Covid-19 ไปให้ได้

ประเทศที่นำโด่งออกมาเป็นที่ 1 ในตอนนี้คือญี่ปุ่น ที่เพิ่งอนุมัติงบประมาณเพิ่มอีกกว่า 7 แสนล้านเหรียญเพื่อสกัดการระบาดระลอกใหม่ของ Covid-19 ในประเทศ ไม่รวมกับงบที่เพิ่งอนุมัติไปแล้วก่อนหน้านี้กว่า 2.2 ล้านล้านเหรียญเมื่อตอนต้นปี ทำให้ญี่ปุ่นอนุมัติงบเยียวยา Covid-19 ไปแล้วไม่น้อยกว่า 42% ของ GDP

ประเทศสโลเวเนียมาเป็นอันดับ 2 ที่เจียดงบแล้ว กว่า 24.5% ของ GDP ในประเทศในการเยียวยาแก้ปัญหา Covid-19 ที่แจกเงินช่วยเหลือทั้งผู้เกษียณอายุ เงินช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา คนว่างงาน ครอบครัวที่มีบุตรตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ปล่อยเงินกู้เพิ่มให้ภาคธุรกิจและอื่น ๆ

ส่วนประเทศอื่นในยุโรป ทั้งสวีเดน ฟินแลนด์ และเยอรมัน ต่างควักทุนเยียวยา Covid-19 กันเกิน 20% ของ GDP ไปแล้วทั้งสิ้น

สหรัฐเพิ่งตามมาที่อันดับ 6 ด้วยมูลค่า 18.3% ของ GDP

มิน่า ที่โดนัลด์ ทรัมพ์ ของเราจะไม่ปลื้ม ด้วยนโยบาย America First ที่ต้องเป็นที่ 1 ทุกเรื่อง

ศาตราจารย์ Ceyhun Elgin อาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ได้ให้ความเห็นว่า ปริมาณของเม็ดเงินเยียวยา Covid-19 นั้นอาจไม่สำคัญเท่ากับเนื้อหาว่า จะบริหารจัดการงบประมาณอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และตรงจุดที่สุด เพราะจำนวนงบประมาณไม่ได้การันตีว่าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ผลหรือไม่

โดยศาตราจารย์ Elgin เสริมว่าสาระสำคัญอยู่ที่การเข้าถึงตลาดภาคแรงงานให้อยู่รอด ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับลักษณะ และโครงสร้างทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศด้วย ที่มีความแตกต่างกัน จึงเป็นเรื่องท้าทายของผู้ที่กำหนดนโยบายในการใช้เงินเยียวยาก้อนโตเพื่อปั๊มหัวใจกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงนี้

ส่วนประเทศไทยก็ออกมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจจากพิษ Covid-19 ด้วยงบประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท คิดเป็นประมาณ 10% ของ GDP ที่มีแผนช่วยเหลือออกมาหลากหลายรูปแบบ ทั้งจ่ายเงินช่วยเหลือแรงงาน 5,000 บาท จำนวน 3 เดือน มาตรการลดหย่อนภาษี ชิมชอปใช้ เราเที่ยวด้วยกัน หรือล่าสุด โครงการคนละครึ่ง เป็นต้น


แหล่งข่าว

https://time.com/5923840/us-pandemic-relief-bill-december/

https://www.aljazeera.com/economy/2020/12/8/japan-announces-708-bn-in-fresh-stimulus-as-covid-cases-rise

https://news.yahoo.com/trump-calls-900-billion-covid-155505344.html

https://seenews.com/news/slovenian-govt-adopts-seventh-anti-coronavirus-economic-stimulus-package-725657

https://www.channelnewsasia.com/news/asia/thailand-passes-record-stimulus-package-to-combat-covid-19-12789232


เครดิต : หรรสาระ By Jeans Aroonrat

ความเปลี่ยนแปลงของเมียนมาในปี 2020

คอลัมน์ AEC ภาคปฏิบัติ

ในช่วงเวลาที่เรามีการพูดถึงการแพร่ระบาดกันมากของโควิด-19 ในประเทศไทย โดยพุ่งประเด็นไปที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานชาวเมียนมาที่ทำงาน ณ ตลาดกุ้งในจังหวัดสมุทรสาครนั้น จะว่าไปแล้ว ปี 2020 ก็เป็นปีที่มีความตื่นเต้นไม่น้อยในเมียนมา

โดยครึ่งปีแรก ในช่วงเวลาที่มีการระบาดของโควิด-19 ในหลาย ๆ ประเทศ  เมียนมาเองกลับเป็นชาติที่มีอัตราการติดเชื้อที่ค่อนข้างต่ำ และอยู่ในอัตราที่น้อยกว่าประเทศไทยด้วยซ้ำไป   เหตุการณ์เริ่มมาพลิกผันในช่วงไตรมาสที่สามของปีที่การระบาดเริ่มเพิ่มจำนวนสูงขึ้นจากการติดเชื้อมาจากการเดินทางระหว่างพื้นที่ตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศมายังนครย่างกุ้ง และขยายไปเมืองอื่น ๆ ในระยะต่อมา

ปีที่ผ่านมา ไทยเราติดอันดับ 4 ในการเป็นผู้นำเงินไปลงทุนในเมียนมา โดยที่ผู้ลงทุนมากที่สุดได้แก่ สิงคโปร์  ตามด้วยจีน  และฮ่องกง ที่มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนมาลงทุนกันมาก กลับกันในปีนี้ ไทยเรากลับไม่ติดในTop 5 ของการลงทุน แต่กลับมีอังกฤษและญี่ปุ่นสอดแทรกเข้ามาในฐานะผู้ลงทุนรายใหญ่ในเมียนมาตามลำดับ 

เมียนมา เป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตของธุรกิจสูงขึ้นทุกปี โดยรัฐบาลมองการเพิ่มขนาดของGDP ให้โตได้เท่าตัวภายในปี 2029 รัฐบาลเองได้วาง 10 กลยุทธ์ 76 แผนปฏิบัติการภายใต้ชื่อ CERP (COVID19 Economic Relief Plan) โดยใช้ Digital economy เป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อน (Digital Trading เติบโตถึง 183% ในเมียนมา โตเป็นลำดับ 7 ในอาเซียน)

นอกเหนือจากการวางรากฐานทางการเงิน และอื่น ๆ ซึ่งได้แก่ การปรับโครงสร้างเรื่องแรงงาน   การจัดการด้านครัวเรือน ประชากรศาสตร์  และให้ความสำคัญด้านระบบสาธารณสุข ปัจจุบัน เมียนมามีเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านสาธารณสุขอยู่เพียง 130,000 คน มีหมอ 35,000 คน  พยาบาล 35,000 คน  หมอฟัน 12,000 คน และอื่น ๆ อีกไม่มาก

ซึ่งจะต้องเร่งเพิ่มปริมาณให้มีจำนวนมากขึ้นกว่านี้ ล่าสุดเมียนมาได้อัดฉีดเงินเข้าระบบสาธารณสุข โดยทำให้ยอดเงินลงทุนด้านสาธารณสุขปรับมาอยู่ที่ระดับ 5USD ต่อประชากรหนึ่งคน  และนอกจากนี้รัฐบาลยังได้อนุมัติในการกู้เงินเพื่อนำมาซื้อวัคซีนป้องกันโรคระบาด COVID-19 ไว้อีกระดับหนึ่ง  

ท่านผู้อ่านครับ ระบบโรงพยาบาลและสาธารณสุขในเมียนมายังค่อนข้างล้าหลัง และผู้คนต้องออกมารักษากันนอกประเทศปีหนึ่งถึง 250,000 คนโดยประมาณ ซึ่งเราจะพบว่า 56% ที่มาตรวจรักษาในประเทศไทย จนโรงพยาบาลเอกชนเราต้องรับชาวเมียนมา มาเป็นเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกและไปเปิดสำนักงานตัวแทนกันถึงเมียนมาในหลากหลายเมือง

ตอนต่อไปจะกลับมาพูดถึงการเติบโตของเศรษฐกิจในหมวดอื่น ๆ กันต่อครับ


จิรวัฒน์

ผู้บุกเบิกการตลาด อินโดจีน พม่า อาเซียนให้บริษัทยักษ์ใหญ่ ตั้งแต่ยุคที่อาเซียนยังไม่ได้รวมตัวกัน เอาประสบการณ์ตรงมาเล่าแบ่งปัน ในวันที่โควิด - 19 ล็อคประตูเพื่อนบ้าน เรายิ่งต้องทำงานหนักมากขึ้น

องค์การอนามัยโลกประกาศยกให้วันที่ 27 ธันวาคม เป็นวันแห่งการเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดสากล หรือ International Day of Epidemic Preparedness โดยเริ่มจากปี 2020 นี้เป็นปีแรก

หากจะมองย้อนกลับไป จะพบว่าโลกเราต้องเผชิญกับวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า ที่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ Covid-19 มาแล้ว 1 ปีเต็ม จากที่โลกเพิ่งเริ่มต้นนับ1 จากคนไข้รายแรกที่อู่ฮั่น ประเทศจีน จนถึงวันนี้มีผู้ติดเชื้อ Covid-19 ทั่วโลกเกิน 80 ล้านคน

โดยมีผู้เสียชีวิตไปแล้วถึง 1.76 ล้านราย ซึ่งผลพวงจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า ไปไกลเกินกว่าอันตรายจากตัวของมัน แต่ลามไปกระทบกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการใช้ชีวิตของมนุษย์ในระดับที่เราไม่เคยพบเห็นมาก่อน

แอนโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติได้ออกถ้อยแถลง ในวันแห่งการเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดสากลครั้งแรกของโลกว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในครั้งนี้ เราควรตระหนักได้แล้วว่าควรอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับโรคระบาดใหญ่ครั้งต่อ ๆ ไปในอนาคตข้างหน้า

และแน่นอนว่า “การเตรียมพร้อมรับมือ” เป็นการลงทุนที่สูง แต่ยังไงก็มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า “การรับมือ” เมื่อเกิดเหตุการระบาดครั้งใหญ่อย่างเทียบไม่ติด เราต้องลงทุนรับมือตั้งแต่วันนี้ เพื่อสร้างระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง ที่ครอบคลุมการรักษาพยาบาลในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ไปสู่สังคม แต่ละชุมชนต้องได้รับการสนับสนุนด้านสาธารณสุขได้อย่างรวดเร็ว ทันเวลา

รวมถึงการร่วมมือ และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับสากล เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าในครั้งนี้ แสดงให้เห็นแล้วว่าไม่มีชาติใดที่สามารถอยู่รอดได้เพียงชาติเดียว แต่ต้องร่วมมือให้รอดไปด้วยกันเท่านั้น จึงจะฝ่าวิกฤติครั้งนี้ได้

ทางองค์การสหประชาชาติได้แสดงความห่วงใยถึง ความเสี่ยงที่จะมีโอกาสเกิดโรคระบาดจากเชื้อโรคชนิดใหม่ เนื่องจากปัจจุบันพบว่า กว่า 74% ของโรคชนิดใหม่ ๆ เกิดจากการติดเชื้อจากสัตว์สู่คน ที่มักเกิดจากการบุกรุกป่า และรุกล้ำพื้นที่ทางธรรมชาติของสัตว์ป่านำไปใช้ประโยชน์ในการทำปศุสัตว์ที่เป็นอาหารของมนุษย์

โดยทางองค์การสหประชาชาติต้องการเน้นย้ำให้เกิดการตระหนักรู้ในโอกาส และอันตรายที่อาจจะเกิดการแพร่ระบาดโรคระบาดใหญ่ครั้งใหม่ขึ้นได้อีกในอนาคต จึงเป็นที่มาของการสถาปนาวันแห่งการเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดสากล ที่จะตรงกับวันที่ 27 ธันวาคมของทุกปี โดยเลือกเอาวันเกิดของ หลุยส์ ปาสเตอร์ นักจุลชีววิทยาชาวฝรั่งเศสชื่อดังระดับโลก และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการคิดค้นวัคซีนป้องกันโรคระบาดในสัตว์ ที่เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาวัคซีนเพื่อต่อสู้กับโรคระบาดในมนุษย์

และองค์การสหประชาชาติ ยังคงทำงานร่วมกับองค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการรับมือกับสถานการณ์โรคระบาด แม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะยื่นคำร้องขอถอนตัว และตัดงบช่วยเหลือไปแล้วก็ตาม

จึงทำให้โลกของเรามีวันสำคัญเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งวัน คือ วันแห่งการเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดสากล ที่องค์การสหประชาชาติเน้นซ้ำย้ำชัดว่า ไม่มีการลงทุนใดที่จะคุ้มค่า และชาญฉลาด เท่ากับการลงทุนเพื่อเตรียมพร้อม ป้องกันการเกิดโรคระบาดอีกแล้ว


แหล่งข่าว

https://reliefweb.int/report/world/international-day-epidemic-preparedness-27-december

https://www.who.int/news-room/events/detail/2020/12/27/default-calendar/international-day-of-epidemic-preparedness

เวียดนามฉลองปีใหม่ 2021 สุดคึกคัก

1 ปีที่เกิดโควิด-19 ..

แต่ไม่สามารถหยุดจิตวิญญาณของผู้คนไปร่วมตัวกันนับพัน

เพื่อรอต้อนรับปี 2021 บนท้องถนน

ในฮานอย โฮจิมินห์ และ ท้องถิ่นอื่น ๆ

ประชาชนต่างหลั่งไหลไปยังสถานที่ในตัวเมืองจำนวนมาก

เพื่อเพลิดเพลินกับคอนเสิร์ตกลางแจ้งและการแสดงพลุที่สุดยอด

ในการเฉลิมฉลองช่วงปีใหม่


เครดิต VnExpress International

เรื่องโดย: หนุ่มโคราช

โปรเจครถไฟความเร็วสูง มาเลย์-สิงคโปร์ ล่ม! เซ่นพิษโควิด-19

ในที่สุดก็ล่มจนได้ กับเมก้าโปรเจคร่วมระหว่าง มาเลเซีย และสิงคโปร์ในการสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อกันระหว่างกัลลาลัมเปอร์ด่วนตรงถึงใจกลางสิงคโปร์ เนื่องจากทั้งสองประเทศไม่อาจบรรลุข้อตกลงในการลงทุนร่วมกันในขั้นสุดท้ายได้

โปรเจครถไฟความเร็วสูง หรือ Malaysia-Singapore High-Speed Rail (HSR) เป็นโครงการที่เริ่มคุยกันมาตั้งแต่สมัยอดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นายิบ ราซัค ที่ต้องการสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อระหว่าง 2 ประเทศเศรษฐกิจหลักในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมระยะทางยาวถึง 350 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ในฝั่งมาเลเซีย 335 กิโลเมตร และในสิงคโปร์ 15 กิโลเมตร ที่จะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางด้วยรถยนต์จากเดิม 4 ชั่วโมงเหลือเพียง 90 นาทีเท่านั้น

หากโครงการนี้ตกลงเริ่มสร้างกันตั้งแต่ที่เจรจากันในช่วงแรก ก็จะสามารถสร้างให้แล้วเสร็จได้ภายในปี 2026 โดยใช้ประมาณในการก่อสร้างสูงถึง 8 พันล้านริงกิต (ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท) ซึ่งอันที่จริงมีการเซ็นข้อตกลงความเข้าใจร่วมกันไปแล้วตั้งแต่ปี 2016

แต่โครงการมาหยุดชะงักชั่วคราวเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจาก นายิบ ราซัค มาเป็นดร. มหาเธร์ มูฮัมหมัด ที่ชนะเลือกตั้งเข้ามาได้อย่างพลิกล็อคถล่มทลายในปี 2018 และก็เป็น ดร.มหาเธร์ ที่เป็นผู้สั่งระงับโครงการเนื่องจากงบประมาณก่อสร้างสูงเกินไป จึงนำรายละเอียดทั้งโครงการมาพิจารณาใหม่ ปรับงประมาณ ปรับรูปแบบสถานี ที่จะทำให้ใช้งบน้อยลง และยืดระยะเวลาการชำระเงินให้นานขึ้นให้กับมาเลเซีย

ซึ่งการเจรจาระงับโครงการอยู่ในช่วงระยะเวลา 2 ปี สิ้นสุดภายในปี 2020 นี้ ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย จาก ดร. มหาเธร์ มูฮัมหมัด เป็นนายมูห์ยิดดิน ยัสซิน จึงมีการหยิบยกโปรเจคนี้ขึ้นมาพิจารณากันใหม่

และหลังจากการประชุมร่วมกันระหว่าง นายมูห์ยิดดิน ยัสซิน กับ นาย ลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ในช่วงโค้งสุดท้าย ก็ปรากฏว่ายังตกลงที่จะเดินหน้าโครงการต่อไม่ได้ เนื่องจากงบประมาณ และผลพวง Covid-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจทั้ง 2 ประเทศอย่างหนัก มาเลเซียจึงตัดสินใจเทโปรเจครถไฟความเร็วสูง มาเลย์-สิงคโปร์ไปด้วยประการฉะนี้

เมื่อมาเลเซียไม่สานต่อโครงการที่เคยตกลงว่าจะทำร่วมกันมานานเกือบ 10 ปี ทางสิงคโปร์อาจต้องดำเนินเรื่องปรับเงินเป็นค่าฉีกสัญญา หรือที่บ้านเรามักเรียกว่า "ค่าโง่" เป็นเงินกว่า 250 ล้านเหรียญสิงคโปร์ หรือราวๆ 5.6 พันล้านบาท

แต่ทั้งนี้ ชาวมาเลเซียบางส่วนก็โล่งใจมากกว่า ที่โครงการนี้พับลงไปได้ เพราะเรื่องงบประมาณที่สูงบีบหัวใจ และคิดว่าคนมาเลเซียอาจได้รับผลประโยชน์จากเส้นทางนี้น้อย ไม่คุ้มค่าในการลงทุน เมื่อการเดินทางโดยเครื่องบินอาจเป็นทางเลือกที่สะดวกอยู่แล้ว ซึ่งค่าตั๋วโดยสารของสายการบิน Low cost ก็มีความใกล้เคียงกับตั๋วรถไฟความเร็วสูง

แต่ว่าค่าโง่ที่ต้องจ่าย อาจต้องมาคุยกันอีกยาว


แหล่งข่าว

https://news.cgtn.com/news/2021-01-01/Malaysia-Singapore-high-speed-rail-project-terminated-WH5zVeT2jm/index.html

https://www.malaymail.com/news/malaysia/2021/01/01/malaysia-to-pay-singapore-compensation-as-high-speed-rail-hsr-contract-term/1936420

https://asia.nikkei.com/Politics/International-relations/Singapore-and-Malaysia-terminate-high-speed-rail-project

สาวจีนมาเลย์เครียด! ทำไมจ่ายค่าไฟแพงมา 5 ปี พอรู้ความจริงถึงกับเงิบ!

คอลัมน์ สายตรงเคแอล

หญิงสาวชาวจีนมาเลย์รายหนึ่งได้โพสต์บน Facebook ส่วนตัวจนกลายเป็นกระแสไวรัล ซึ่งเธอเปิดเผยว่า เธอรู้สึกเครียดกับบิลค่าไฟของเธอมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากค่าไฟมันแพงเกินกว่าความน่าจะเป็นมาก ถึงแม้ว่าเธอนั้นจะพยายามลดการใช้ไฟฟ้าภายในบ้านให้น้อยที่สุด แต่จนในที่สุดเธอก็สามารถไขปริศนาคาใจนี้ได้

โดยหญิงสาวรายนี้ใช้ชื่อบนเฟซบุ๊กว่า อีฟ ลิม เธอโพสต์ระบายว่า เธอพบว่ามันแปลกมากที่บิลค่าไฟฟ้าของเธอในทุกเดือนมีจำนวนไม่น้อยไปกว่า 700-800 ริงกิต (ประมาณ 5,000 - 6,000 กว่าบาท) เธอพยายามโทรหาเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าหลายต่อหลายครั้งเพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบปัญหาบิลค่าไฟแพงแม้กระทั่งขอความช่วยเหลือไปยังรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

เธอพยายามทุกอย่างตั้งแต่การดึงปลั๊กตู้เย็นออก ไปจนถึงลองไปอาศัยอยู่บ้านเพื่อนเพื่อลองลดค่าไฟ แถมยังหมดเงินไปจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเพื่อเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าที่คิดว่ามันอาจเกิดการรั่วไหลของกระแสไฟฟ้า แต่ก็ไม่นำพา !!

“ฉันคาดหวังถึงผลลัพธ์ทุกครั้ง แต่มันไม่ได้ผลเลย ค่าไฟยังคงแพง แต่จะทำยังไงได้ ฉันไม่ต้องการให้ไฟฟ้าถูกตัด ฉันจึงต้องจำใจจ่ายต่อไป และพยายามหาวิธีแก้ปัญหาในเวลาเดียวกัน” เธอกล่าว

แต่แล้วความอดทนของเธอเริ่มสิ้นสุดลง! หลังจากที่เธอได้รับบิลค่าไฟจำนวนถึง 1,500 ริงกิต หรือประมาณหนึ่งหมื่นกว่าบาทในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา! เธอจึงตัดสินใจเรียกช่างไฟฟ้ามาตรวจสอบอีกครั้งว่าตู้เย็นนั้นเป็นสาเหตุของปัญหาหรือไม่ แต่ช่างไฟไม่พบปัญหาใด ๆ กับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ จึงขอให้เธอลองขอให้ TNB (Tenaga Nasional Berhad) ซึ่งเป็นหน่วยงานการไฟฟ้ารัฐวิสาหกิจ ลองตัดมิเตอร์ไฟแทนเพื่อดูว่ามิเตอร์ยังคงทำงานอยู่หรือไม่

และนั่นนำมาซึ่งคำตอบที่เธอพยายามไขปริศนามาโดยตลอด...

หลังจากตัดสวิตช์มิเตอร์หลักของเธอแล้ว ก็พบว่าไฟและเครื่องใช้ต่าง ๆ ของเธอยังคงทำงานอยู่ และเจ้าหน้าที่ TNB ก็หัวเราะ อีฟถึงกับงง ถามพวกเขาว่ามันเกิดอะไรขึ้น! และเขาขอให้เธอรอ เดี๋ยวคงจะมีใครสักคนออกมา!

และไม่กี่นาทีต่อมา...สาวใช้จากบ้านเพื่อนบ้านของเธอก็ออกมาถามว่า "ทำไมไม่มีไฟฟ้าอ่ะคะ"

ปรากฎว่ามิเตอร์ไฟฟ้าของเธอมีเลขที่สลับกับของเพื่อนบ้านที่คงติดสลับกันตั้งแต่ตอนทำโครงการบ้าน ซึ่งทำให้เธอต้องจ่ายค่าไฟของเพื่อนบ้านแทนเป็นเวลาถึงห้าปี! OMG!

“บางวันฉันต้องยอมไม่ใช้เครื่องทำน้ำอุ่นเพื่อประหยัดค่าไฟ…” อีฟบอกเพิ่มเติม (คนที่นี่ติดการอาบน้ำจากเครื่องทำน้ำอุ่นมาก ๆ นี่ขนาดไม่ใช่เมืองหนาวนะ 555)

เธอบอกว่า...ในที่สุดเธอก็ไม่ต้องเครียดกับเรื่องนี้อีกต่อไป และโชคดีที่ทาง TNB จะคืนเงินส่วนต่างให้เธอเป็นเงินราว ๆ 15,000 ริงกิตที่เธอต้องจ่ายเกินจริงไปให้เพื่อนบ้านโดยไม่รู้ตัว และชี้แจงว่าเพื่อนบ้านก็ไม่มีความผิด เพราะไม่ได้ตั้งใจขโมยใช้ไฟของเธอ!

ในที่สุดเราก็ดีใจกับเธอที่แก้ปัญหาที่ทำให้เธอเครียดมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา...เฮ้ออออ


Info via: Eve Wei-Jia Lim / Facebook

https://hitz.com.my/trending/trending-on-hitz/woman-pay-neighbour-tnb-bill-electric-malaysian-vi


"ผิงกั่ว"

สาวเมืองชล ตั้งรกรากอยู่ชานกรุงกัวลาลัมเปอร์ ตามสามีชาวจีนมาเลย์ ชีวิตท่ามกลางคนจีน แขกมาเลย์ และแขกอินเดีย พหุวัฒนธรรม ส่องมุมมองจากประเทศเพื่อนบ้านด้านล่างแผ่นดินแม่ มาเล่าสู่กันฟัง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top