Sunday, 13 October 2024
TodaySpecial

12 กันยายน พ.ศ. 2557 ‘พล.อ.ประยุทธ์’ แถลง 11 นโยบายดูแลประเทศ หลังดำรงตำแหน่ง ‘นายกรัฐมนตรี’ สมัยแรก

ย้อนไปในวันนี้ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้นำคณะรัฐมนตรีแถลงนโยบาย 11 ด้าน ต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หลังนั่งเก้าอี้นายกฯ สมัยแรก

เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้นำคณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า รัฐบาลชุดนี้มีข้อแตกต่างด้านเงื่อนไขและเวลา ต่างจากรัฐบาลชุดก่อน ๆ คือ ต้องสืบทอดสานต่อภารกิจจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาประเทศไว้ก่อนแล้วเป็น 3 ระยะ และรัฐบาลนี้ไม่ได้จัดตั้งขึ้นจากพรรคการเมืองจึงไม่มีนโยบายที่ใช้หาเสียง หวังคะแนนประชานิยม เป็นฐานทางการเมือง

สำหรับนโยบายที่แถลงนั้น จำแนกเป็น 11 ด้าน ดังนี้

1. การปกป้องเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์

2. การรักษาความมั่นคงของรัฐและการต่างประเทศ แบ่งเป็น
2.1ระยะเร่งด่วน รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน
2.2 เร่งแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้
2.3 พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพของกองทัพ และระบบป้องกันประเทศให้ทันสมัย
2.4 เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับนานาประเทศบนหลักการนโยบายการต่างประเทศ

3. การลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ

4. การศึกษาและเรียนรู้ การทำนุบำรุงศาสนา และศิลปวัฒนธรรม

5. การยกระดับคุณภาพ และบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชน

6. การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ

7. การส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในประชาคมอาเซียน

8. การพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม

9. การรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรและการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

10. การส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาลและการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ

11. การปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมระยะเฉพาะหน้า

13 กันยายน พ.ศ. 2425 วันประสูติ ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม’ ผู้ปรีชาสามารถด้านดนตรี นิพนธ์เพลงอมตะ ‘ลาวดวงเดือน’

ครบรอบ 142 ปี ประสูติกาล ‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม’ พระราชโอรสพระองค์ที่ 38 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ราชสกุลเพ็ญพัฒน เป็นผู้นิพนธ์เพลงลาวดวงเดือน

‘พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม’ พระนามเดิม พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 38 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันประสูติแต่เจ้าจอมมารดามรกฎ ในรัชกาลที่ 5 ธิดาของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ประสูติเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2425 เสด็จไปศึกษาทางด้านเกษตรศาสตร์จากประเทศอังกฤษ สำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2446 ขณะพระชันษา 20 ปี กลับมารับราชการเป็นผู้ช่วยปลัดทูลฉลองกระทรวงเกษตราธิการ

ในปี พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชวินิจฉัยให้อุดหนุนการทำไหมและทอผ้าของประเทศ โดยได้ว่าจ้าง ดร.คาเมทาโร่ โทยาม่า จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ทดลองเลี้ยงไหมตามแบบฉบับของญี่ปุ่น สอนและฝึกอบรมนักเรียนไทยในวิชาการเลี้ยงและการทำไหม พร้อมกับสร้างสวนหม่อนและสถานีเลี้ยงไหมขึ้นที่ตำบลศาลาแดง กรุงเทพ ทรงจัดตั้งกองช่างไหมขึ้นในกระทรวงเกษตราธิการ 

ต่อมา วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2446 กระทรวงเกษตราธิการได้รวมกองการผลิต, กองการเลี้ยงสัตว์ และกองช่างไหม ตั้งขึ้นเป็น ‘กรมช่างไหม’ โดยมี พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงษ์ เป็นอธิบดีกรมช่างไหมพระองค์แรก นับว่ามีพระกรณียกิจในการวางรากฐานเรื่องไหมไทย โดยตั้งโรงเรียนและโรงเลี้ยงไหมขึ้นที่กรุงเทพฯ นครราชสีมา และบุรีรัมย์

งานหลักของกรมช่างไหม คือ การดำเนินงานตามโครงการของสถานีทดลองเลี้ยงไหม เริ่มด้วยการก่อตั้งโรงเรียนสอนการทำไหมขึ้นในพระราชวังดุสิต เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2446 และเปิดโรงเรียนสอนการทำไหมขึ้นที่ปทุมวัน เรียกว่า ‘โรงเรียนกรมช่างไหม’ เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2447 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญ ศึกษาวิจัย และฝึกพนักงานคนไทยขึ้นแทนคนญี่ปุ่น ในเวลาต่อมาโรงเรียนแห่งนี้ได้พัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 

กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ทรงสนพระทัยดนตรีไทย โปรดให้มีวงปี่พาทย์วงหนึ่ง เรียกกันว่า ‘วงพระองค์เพ็ญ’ พระองค์ยังทรงเล่นดนตรีได้หลายชนิด และทรงเป็นนักแต่งเพลงที่สามารถ เมื่อครั้งเสด็จกลับจากประเทศอังกฤษ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมได้เสด็จไปนครเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2446 ทรงชอบพอกับ เจ้าหญิงชมชื่น ณ เชียงใหม่ พระธิดาใน เจ้าราชสัมพันธวงศ์ ธรรมลังกา ณ เชียงใหม่, เจ้าราชสัมพันธวงศ์นครเชียงใหม่ กับเจ้าหญิงคำย่น (ณ ลำพูน) ณ เชียงใหม่ ได้โปรดให้ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพเป็นเฒ่าแก่เจรจาสู่ขอ แต่ได้รับการทัดทาน ไม่มีโอกาสที่จะได้สมรสกัน ทำให้พระองค์โศกเศร้ามาก และได้ทรงพระนิพนธ์เพลงลาวดำเนินเกวียน (หรือลาวดวงเดือน) ขึ้น เมื่อใดที่ทรงระลึกถึง เจ้าหญิงชมชื่น ก็จะทรงดนตรีเพลงนี้มาตลอดพระชนมชีพ

วังที่ประทับของกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม เป็นบ้านของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) บิดาของเจ้าจอมมารดามรกฎ มีชื่อเรียกว่าวังท่าเตียน (เรียกชื่อตามสถานที่ตั้งวัง เช่นเดียวกับวังท่าเตียนหรือวังจักรพงษ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์) มีโรงละครอยู่โรงหนึ่ง ในสมัยนั้นเรียกกันว่า ปรินส์เทียเตอร์

วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ได้รับสถาปนาเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ทรงศักดินา 15000

กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ผู้เป็นต้นราชนิกุล ‘เพ็ญพัฒน์’ มีพระพลามัยไม่สมบูรณ์นัก อาจจะเป็นเพราะพระทัยที่เศร้าสร้อยจากความผิดหวังเรื่องความรัก จึงมีพระชนมายุสั้นเพียง 28 พรรษา สิ้นพระชนม์ด้วยโรคปอดเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452

และบังเอิญเสียเหลือเกิน ในปี 2453 เจ้าหญิงชมชื่นก็สิ้นชีพิตักษัยในวัยเพียง 21 ปีเท่านั้น

14 กันยายน พ.ศ. 2485 คนไทยร่วมใจ ‘ยืนตรงเคารพธงชาติ’ วันแรก ต้นแบบที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

“ธงชาติและเพลงชาติไทย…เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นไทย…เราจงร่วมใจกันยืนตรงเคารพธงชาติ…ด้วยความภาคภูมิใจในเอกราชและความเสียสละของบรรพบุรุษไทย…” 

นี่คือเสียงเชิญชวนให้ยืนตรง ‘เคารพธงชาติ’ ที่ฟังกันจนคุ้นหู และปฏิบัติกันจนเป็นกิจวัตร โดยเราจะยืนเคารพธงชาติเมื่อถึงเวลา 8.00 น. และ 18.00 น. โดยทำติดต่อกันเป็นจริงเป็นจังมา 82 ปีแล้ว (ตั้งแต่ปี 2485) ทั้งที่ประเทศไทยมีการใช้ธงชาติมานาน เฉพาะธงไตรรงค์ที่ใช้เป็นธงชาติในปัจจุบันก็มีอายุกว่า 100 ปีแล้ว

เหตุใดคนไทยจึงยืนเคารพธงชาติ?

ต้องย้อนกลับไปในสมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ที่ออกกฎกระทรวงมหาดไทยเรื่อง ระเบียบการชักธงชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2478 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับแรกที่กำหนดถึงระเบียบในการชักธงและการประดับธงชาติ แต่การยืนเคารพธงชาติก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก

แต่ความสำเร็จในการยืนเคารพธงชาตินั้น เกิดจากรายการวิทยุกระจายเสียง ‘นายมั่น-นายคง’ ซึ่งผู้ดำเนินการทั้ง 2 คนจะสนทนากับผู้ฟังทางบ้านในประเด็นต่าง ๆ (วิทยุเป็นเครื่องมือโฆษณาที่สำคัญของรัฐบาลในเวลานั้น) โดยการออกอากาศวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2485 ได้เชิญชวนและนัดหมายกับประชาชนให้ยืนตรงเคารพธงชาติพร้อมกันว่า…

“เวลา 8.00 น. นับตั้งแต่เช้าวันพรุ่งนี้เปนต้นไปผู้ที่มีเครื่องรับวิทยุ ก็ขอได้โปรดเปิดไห้ดัง ๆ ด้วย เพื่อเพื่อนบ้านไกล้เรือนเคียง และคนสัญจรไปมาจะได้ยินทั่ว ๆ กัน…

“สิ่งแรกฉันหยากขอไห้ยุวชนช่วยฉันไห้พร้อมเพรียง เมื่อเวลาประกาสไห้เคารพทงชาติไห้ทำทุกคนเปนการเคารพชาติที่มีคุนแก่เรา และไห้บอกคนไนบ้านทุกคนทำการเคารพด้วยบอกว่าทงชาติยังหยู่ชักขึ้นแล้ว เอกราชของไทยยังบุญมั่นขวันยืนดี เราต้องพร้อมไจกันทำการเคารพทั่วทั้งชาติ และไนเวลาเดียวกันแหละ…

“ฉันเชื่อมั่นว่าการเคารพทงชาติคราวหน้านี้จะสำเหร็ดได้ด้วยความรักชาติของยุวชนเปนสำคัน ทำตามนี้เรียกว่ายุวชนสร้างชาติ”

15 กันยายน ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันศิลป์ พีระศรี’ เพื่อรำลึกถึง ‘ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี’ บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย ผู้ก่อตั้ง ‘มหาวิทยาลัยศิลปากร’

วันที่ 15 กันยายน ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น ‘วันศิลป์ พีระศรี’ เพื่อรำลึกถึง ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทย และผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ครูผู้อุทิศตนทั้งชีวิต เพื่อนักเรียนและศิลปะ

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มีชื่อเดิมว่า CORRADO FEROCI เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2435 ในเขตซานโจวันนี (San Giovanni) เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี บิดาชื่อ นาย Artudo Feroci และมารดาชื่อ นาง Santina Feroci เมื่ออายุ 23 ปี สามารถสอบผ่านเป็นศาสตราจารย์ จากราชวิทยาลัยศิลปะแห่งนครฟลอเรนซ์ (The Royal Academy of Art of Florence)

สำหรับเรื่องการศึกษานั้น ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เข้าศึกษาในระดับชั้นประถม เมื่อปี 2441 พอจบหลักสูตร 5 ปี ก็ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยมอีก 5 ปี หลังจากนั้นก็ได้เข้าศึกษาทางด้านศิลปะในโรงเรียนราชวิทยาลัยศิลปะแห่งนครฟลอเรนซ์ จนจบหลักสูตรวิชาช่าง 7 ปี และได้รับประกาศนียบัตรช่างปั้นช่างเขียน ในขณะที่มีอายุ 23 ปี หลังจากนั้นไม่นานก็รับปริญญาบัตรเป็นศาสตราจารย์ ที่มีความรอบรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ วิจารณ์ศิลป์และปรัชญา นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ยังมีความสามารถทางด้านศิลปะแขนงประติมากรรมและจิตรกรรมอีกด้วย

เมื่อปี 2466 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้ชนะการประกวดการออกแบบเหรียญเงินตราสยามที่จัดขึ้นในยุโรป ซึ่งผลการประกวดครั้งนี้เองที่ทำให้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้เดินทางมารับราชการเป็นช่างปั้นประจำกรมศิลปากร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และในวันที่ 14 มกราคม 2466 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนวิชาช่างปั้นหล่อ แผนกศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภา

จนกระทั่งในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงปี 2484 ประเทศอิตาลียอมพ่ายแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ส่งผลให้ชาวอิตาเลียนที่อาศัยอยู่ภายในประเทศไทยตกเป็นเชลยของประเทศเยอรมนีกับญี่ปุ่น แต่รัฐบาลไทยได้ขอควบคุมตัวศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ไว้เอง ก่อนที่จะให้หลวงวิจิตรวาทการ ดำเนินการเดินเรื่องขอโอนสัญชาติจากอิตาเลียนมาเป็นสัญชาติไทย พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘นายศิลป์ พีระศรี’ เพื่อป้องกันมิให้ต้องถูกเกณฑ์เป็นเชลยศึกไปสร้างทางรถไฟสายมรณะ และสะพานข้ามแม่น้ำแคว เมืองกาญจนบุรี

สำหรับการวางรากฐานการศึกษา ในช่วงแรก ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้จัดตั้ง ‘โรงเรียนประณีตศิลปกรรม’ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง’ เมื่อปี 2480 ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้ได้มีการเปิดสอนหลักสูตรวิชาจิตรกรรมและประติมากรรม และในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้สั่งให้แยกกรมศิลปากรออกจากกระทรวงศึกษาธิการ และให้มาขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรีแทน เนื่องจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตระหนักถึงความสำคัญของศิลปะว่าเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งสาขาหนึ่งของชาติ จึงได้มีคำสั่งให้ พระยาอนุมานราชธน อธิบดีกรมศิลปากร ในขณะนั้น ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรและตราพระราชบัญญัติ เพื่อยกฐานะ ‘โรงเรียนศิลปากร’ ขึ้นเป็น ‘มหาวิทยาลัยศิลปากร’ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2486 

โดยมหาวิทยาลัยศิลปากรในขณะนั้น มีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้อำนวยการสอนและดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรก และคณะวิชาเดียวที่มีการเปิดสอน คือ คณะจิตรกรรมประติมากรรม (สาขาจิตรกรรมและสาขาประติมากรรม)

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลไทยให้ออกแบบปั้นและควบคุมการหล่อพระราชานุสาวรีย์ และอนุสาวรีย์สำคัญของประเทศไทย อาทิ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ปี 2475), อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ปี 2477), พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า (ปี 2484) และพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช (ปี 2493-2494) เป็นต้น

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ยังมีประโยคที่มักใช้สอนนักเรียนอยู่เสมอว่า "ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น" เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักว่า ชีวิตของมนุษย์ช่างแสนสั้นนัก เมื่อเปรียบเทียบกับการยืนยงคงอยู่ของศิลปกรรมที่จะยืนยงคงอยู่ยาวนานนับร้อยนับพันปี หรือประโยคที่ว่า "นายไม่อ่านหนังสือ นายจะรู้อะไร" เพื่อเตือนใจลูกศิษย์ให้หมั่นศึกษาหาความรู้ โดยเฉพาะความรู้ใหม่ ๆ 

และเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลศิริราช สิริอายุได้ 69 ปี 7 เดือน 29 วัน

16 กันยายน พ.ศ. 2465 ‘ในหลวงรัชกาลที่ 6’ พระราชทานที่ดินทรงสงวนที่สัตหีบ ก่อสร้าง ‘ฐานทัพเรือ’ เพื่อดูแลผลประโยชน์ชาติทางทะเล

วันนี้ เมื่อ 102 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานที่ดินหวงห้ามที่สัตหีบให้ใช้เป็นฐานทัพเรือ ตามที่นายพลเรือเอก กรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ได้ขอพระราชทาน

ย้อนไป เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2465 หรือ 102 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานที่ดินหวงห้ามที่สัตหีบให้ใช้เป็นฐานทัพเรือ ตามที่นายพลเรือเอก กรมหลวงชุมพร เขตอุดมศักดิ์ ได้ขอพระราชทาน และกองทัพเรือสร้างฐานทัพเรือที่สัตหีบ ตามพระราชประสงค์ของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ

ฐานทัพเรือสัตหีบ เริ่มก่อกำเนิดขึ้นมาด้วยพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.2457 ขณะที่เสด็จประพาสทางชลมารคเลียบฝั่งทะเลตะวันออกของอ่าวไทย โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี พระองค์ได้เสด็จฯ มาประทับในอ่าวสัตหีบ เพื่อทอดพระเนตรการซ้อมรบของกองทัพเรือด้วย

ในการเสด็จคราวนั้นพระองค์ได้ทอดพระเนตรหมู่บ้านสัตหีบ เห็นว่า เป็นชัยภูมิอันเหมาะที่จะตั้งเป็นฐานทัพเรือ จึงได้มีพระบรมราชโองการด้วยพระโอษฐ์ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2457 แก่พระยาราชเสนาผู้แทนสมุหเทศาภิบาล มณฑลจันทบุรี และพระยาประชาไศรยสรเดช ผู้ว่าราชการเมืองชลบุรี

ขณะทรงประทับอยู่ในเรือพระที่นั่งว่า มีพระราชประสงค์ที่ดินฝั่งตำบลสัตหีบ และที่ใกล้เคียงตลอดทั้งเกาะใหญ่น้อยบรรดาที่มีอยู่ริมฝั่งน้ำ อย่าให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้รับใบเหยียบย่ำ หรือกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดินบนฝั่ง หรือเกาะที่สงวนไว้แล้วนั้นเป็นอันขาด

ต่อมาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2465 พล.ร.อ.พระเจ้าบรมวงเธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ขณะที่ดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ ได้มีหนังสือไปกราบถวายบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานที่ดินตำบลสัตหีบที่ทรงสงวนไว้เพื่อจัดเป็นฐานทัพเรือ โดยทรงเน้นให้เห็นคุณและโทษ ของการจัดสัตหีบเป็นฐานทัพเรือไว้

ต่อมาทางกองทัพเรือจึงได้ก่อสร้างฐานทัพเรือ จนมาเป็นฐานทัพเรือสัตหีบ จวบจนถึงปัจจุบัน

17 กันยายน พ.ศ. 2403 ‘ในหลวง รัชกาลที่ 4’ ปฏิวัติระบบเงินตราครั้งใหญ่ ประกาศใช้ ‘เงินเหรียญบาท’ ครั้งแรกในสยาม

วันนี้เมื่อ 17 กันยายน พ.ศ. 2403 หรือ 164 ปีก่อน ‘สยาม’ ประกาศใช้เงินเหรียญบาทเป็นครั้งแรก โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดฯ ให้ผลิตขึ้นโดยเครื่องจักรที่สั่งจากประเทศอังกฤษ เพื่อใช้แทนเงินพดด้วง เป็นตราพระมหามงกุฎ-ช้างในวงจักร

ในรัชสมัย ‘พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4’ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ‘โรงกระสาปน์สิทธิการ’ โรงกษาปณ์แห่งแรกของไทย ภายในพระบรมมหาราชวังบริเวณที่เคยเป็นโรง ทำเงินพดด้วงเดิม ด้านหน้าพระคลังมหาสมบัติ บริเวณมุมถนนใกล้กับทางออกประตูสุวรรณบริบาลด้านทิศตะวันออก และติดตั้งเครื่องจักรผลิตเหรียญกษาปณ์ขับเคลื่อนด้วยแรงดันไอน้ำเป็นเครื่องแรก ซึ่งเป็นเครื่องจักรที่สั่งจากประเทศอังกฤษ

วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2403 รัชกาลที่ 4 ได้ออกประกาศพิกัดราคาเงินเหรียญบาทและเงินแป โดยให้นำเงินเหรียญอย่างใหม่ซึ่งเป็นเงินแบนที่ผลิตได้จากโรงกระสาปน์สิทธิการ นำออกใช้แทน เงินพดด้วง เหรียญดังกล่าวนั้น ด้านหน้าเป็นรูปพระมหามงกุฎ มีฉัตรกระหนาบทั้ง 2 ข้าง ด้านหลังเป็นรูปช้าง อยู่กลางพระแสงจักร เหรียญเนื้อเงินแท้ ราคา ๑ บาท น้ำหนัก 15.33 กรัม เส้นผ่าศูนย์กลางเหรียญ 31 มิลลิเมตร

และเหรียญชนิดต่าง ๆ ประกอบด้วยเหรียญเงินราคา 1 บาท กึ่งบาท สลึง เฟื้อง กึ่งเฟื้อง และเหรียทองพัดดึงส์อีกจำนวนหนึ่ง นับเป็นการปฏิวัติระบบเงินตราครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของไทย

อนึ่ง โรงกษาปณ์แห่งนี้ ภายหลังจากการสร้างโรงกษาปณ์แห่งที่ 2 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นโรงหมอตอนหนึ่ง และเป็นคลังราชพัสดุอีกตอนหนึ่ง และต่อมาในปี พ.ศ. 2440 เกิดไฟไหม้หมดทั้งหลัง

18 กันยายน พ.ศ. 2521 ‘ในหลวง ร.9’ ทรงมีรับสั่ง “ถ้าน้ำแรง ทำไมไม่คิดทำไฟฟ้าด้วย” จุดเริ่มต้นก่อสร้าง ‘โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านสันติ’ จังหวัดยะลา

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2521 หรือ 46 ปีที่แล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวง ร.9 พร้อมด้วยสมเด็จฯพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้ง 2 พระองค์ เสด็จฯ ไปทรงวางศิลาฤกษ์เขื่อนบางลาง ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ซึ่งจากการเสด็จฯ ในวันนี้ ได้ทำให้เกิดโครงการ ‘โรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านสันติ’ ขึ้นบริเวณเหนือเขื่อนบางลาง ในเวลาต่อมา 

ในช่วงเวลาของการก่อสร้างเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแห่งแรกของภาคใต้ตอนล่างนั้นเต็มไปด้วยความยากลำบากในการก่อสร้าง เนื่องด้วยในขณะนั้นยังมีการต่อสู้กับผู้ก่อการความไม่สงบคอมมิวนิสต์ โดยในระหว่างการก่อสร้างในหลวง ร.9 และพระราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาที่เขื่อนแห่งนี้หลายครั้ง ด้วยพระราชประสงค์จะพระราชทานกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน 

ในการเสด็จพระราชดำเนิน เมื่อ 46 ปีก่อน เพื่อมาทรงวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างเขื่อนบางลาง โดยมีนายเกษม จาติกวณิช ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในขณะนั้นร่วมรับเสด็จ พระองค์ได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรฝายละแอ ซึ่งเป็นฝายทดน้ำขนาดเล็กจากคลองละแอที่สร้างด้วยการเจาะอุโมงค์ขนาดเล็กและต่อท่อส่งน้ำไปให้ประชาชนในหมู่บ้านสันติใช้ 

พลอากาศตรีกำธน สินธวานนท์ องคมนตรี ซึ่งเวลานั้นดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กราบบังคมทูลว่า น้ำประปาไหลแรง เพราะต่อน้ำลงมาจากที่สูงทำให้ก๊อกน้ำเสียเป็นประจำ ในหลวง ร.9 จึงทรงมีรับสั่งขึ้นว่า 

“ถ้าน้ำแรง ทำไมไม่คิดทำไฟฟ้าด้วย”

จากแนวพระราชดำริดังกล่าวนั้นเอง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จึงก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำบ้านสันติขึ้นบริเวณเหนือเขื่อนบางลาง โดยติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 1,275 กิโลวัตต์ จำนวน 1 เครื่อง และติดตั้งท่อส่งน้ำยาว 1,800 เมตร สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ในเดือนตุลาคม 2525 

นับเป็นอีกหนึ่งโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็ก ที่เกิดขึ้นจากแนวพระราชดำริ เพราะทรงห่วงใยต่อพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดารหรือในพื้นที่ห่างไกล ทรงสนพระทัยสอบถามถึงความเป็นอยู่ โดยเฉพาะเรื่องน้ำบริโภคและทำการเกษตร ด้วยทรงมีพระราชประสงค์ให้แต่ละชุมชนใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด พึ่งพาตนเองได้ และทุกครั้งที่ทรงมองเห็นโอกาสในการสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน จะทรงมีแนวพระราชดำริ ให้ใช้ประโยชน์จากการก่อสร้างเขื่อนขนาดเล็ก ที่นอกจากเพื่อเก็บกักน้ำแล้วยังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ใช้ในชุมชนได้อีกด้วย

19 กันยายน พ.ศ. 2417 ‘รัชกาลที่ 5’ โปรดเกล้าฯ จัดตั้ง ‘พิพิธภัณฑสถานหอคองคอเดีย’ ถือเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งแรกของประเทศไทย

19 กันยายนของทุกปี รัฐบาลได้ประกาศให้เป็น ‘วันพิพิธภัณฑ์ไทย’ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

เมื่อปี พ.ศ. 2538 รัฐบาลได้ประกาศให้วันที่ 19 กันยายนของทุกปีเป็น ‘วันพิพิธภัณฑ์ไทย’ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงเห็นความสำคัญของพิพิธภัณฑสถาน ซึ่งพระองค์ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง พิพิธภัณฑสถานหอคองคอเดีย ขึ้นในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2417 และเสด็จพระราชดำเนินไปเปิดพิพิธภัณฑ์ด้วยพระองค์เอง

‘พิพิธภัณฑสถานหอคองคอเดีย’ หรือ ‘หอมิวเซียม’ เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งแรกของไทย โดยสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2417 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่หอคองคอเดีย หรือศาลาสหทัยสมาคม ซึ่งเป็นอาคารใหม่ภายในพระบรมมหาราชวัง จัดแสดงศิลปะโบราณ วัตถุของไทย ของพระมหากษัตริย์ และต่างประเทศ สิ่งเหล่านี้ ได้บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของคนรุ่นก่อน ผ่านกาลเวลามานับร้อยปี และได้เปิดให้ประชาชนได้เข้าชมเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2417 เพื่อได้ศึกษา ได้เรียนรู้รากเหง้าตัวของเราเองมากขึ้น

20 กันยายน ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันเยาวชนแห่งชาติ’ รำลึกวันพระราชสมภพ 2 ยุวกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี

วันที่ 20 กันยายนของทุกปี ถือเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ไทย 2 พระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 ทรงพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 

โดยพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ ได้ขึ้นครองราชสมบัติขณะยังทรงพระเยาว์ 

ทั้งนี้ ประเทศไทย โดยคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบให้กำหนดวันที่ 20 กันยายน เป็นวันสำคัญหลายเหตุการณ์ เช่น 

- ปี พ.ศ. 2528 กำหนดให้เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ ซึ่งตรงกับที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ปี 2528 เป็นปีเยาวชนสากล และเป็นวันพระราชสมภพและได้ขึ้นครองราชสมบัติขณะยังทรงพระเยาว์ของพระมหากษัตริย์ไทยทั้ง 2 พระองค์

- ปี พ.ศ. 2538 กำหนดเป็นวันอนุรักษ์และรักษาคูคลองแห่งชาติ เนื่องจากเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2537 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จประพาสทางเรือจากท่าน้ำสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ไปจนถึงประตูน้ำท่าไข่ จังหวัดฉะเชิงเทรา รวมระยะทางทั้งสิ้น 72 กิโลเมตร ใช้เวลา 5-6 ชั่วโมง การเสด็จประพาสทางเรือครั้งนี้สร้างความปลื้มปีติแก่พสกนิกรอย่างหาที่สุดมิได้ และเป็นที่มาของความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่จะสืบสานปณิธาน และพระราชดำรัสของพระองค์ที่ว่า “คลองแสนแสบเป็นคลองสำคัญในประวัติศาสตร์ ที่สมควรได้รับการดูแลรักษาต่อไป”

- ปี พ.ศ. 2544 กำหนดให้เป็นวันรัฐวิสาหกิจไทย เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงวันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

21 กันยายน ของทุกปี กำหนดให้เป็น ‘วันประมงแห่งชาติ’ สนับสนุนคนทำอาชีพประมง ตระหนักถึงความสำคัญ พร้อมสร้างขวัญกำลังใจให้ชาวประมงไทย

วันประมงแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 21 กันยายนของทุกปี เพื่อเป็นการสนับสนุนในการทำอาชีพประมง และเป็นที่ระลึก สร้างขวัญกำลังใจในการประกอบอาชีพของชาวประมงไทย

จุดเริ่มต้นของ ‘วันประมงแห่งชาติ’ เกิดจาก ‘สหกรณ์ประมงสมุทรสาคร’ ได้ทําหนังสือลงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2525 ถึงนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เสนอให้รัฐบาลกําหนดวันประมงแห่งชาติขึ้น เพื่อให้เป็นกําลังใจในการประกอบอาชีพและอาสาปกป้องประเทศทางด้านทะเล 

นายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาให้สํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้พิจารณา ซึ่งได้มอบให้ ‘กรมประมง’ เป็นผู้รับเรื่อง เนื่องจากเกี่ยวข้องโดยตรง 

นอกจากนี้สํานักเลขาธิการฯ ได้ขอให้กระทรวงศึกษาธิการ สั่งการให้ราชบัณฑิตยสถานและกรมศิลปากรร่วมกันพิจารณาความเหมาะสมอีกด้วย กรมประมงจึงได้ประสานงานกับกองทัพเรือและมีความเห็นร่วมกันให้ ‘วันสงกรานต์’ ซึ่งประชาชนชาวไทยยึดถือเสมือนเป็นวันขึ้นปีใหม่มาตั้งแต่อดีต เป็นวันที่หยุดปฏิบัติภารกิจประจําวัน ในวันดังกล่าว เพื่อไปทําบุญตักบาตร ปล่อยนก ปล่อยปลา เพื่อความเป็นสิริมงคลและในวันนี้ทางราชการได้ถือว่าเป็น ‘วันขยายพันธุ์ปลาแห่งชาติ’ โดยสนับสนุนให้ประชาชนนําพันธุ์ปลาไปปล่อย ตามแหล่งน้ำต่าง ๆ ในโอกาสที่วันนี้เป็นวันสําคัญวันหนึ่งโดยมีศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงสมควร กําหนดให้วันที่ 13 เมษายนของทุกปี เป็น ‘วันประมงแห่งชาติ’ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา 

นอกจากนี้ยังเห็นสมควรให้หยุดทําการประมง มีการปล่อยปลาในแหล่งน้ำต่าง ๆ รวมทั้งในทะเลด้วย เพื่อเป็นการชดเชยสําหรับการที่ได้ทําการประมงมาตลอดปี 

แต่ในปัจจุบันกรมประมงพิจารณาแล้วเห็นว่าสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยโดยรวมในช่วง เดือนเมษายนแล้งมากในทุกจังหวัด แหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำต่าง ๆ มีปริมาณค่อนข้างน้อย ดังนั้นการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในช่วงวันที่ 13 เมษายน ซึ่งเป็นช่วงอุณหภูมิอากาศสูงมากพันธุ์สัตว์น้ำ ที่กรมประมงเตรียมมาให้ประชาชนปล่อยมีอัตราการตายสูง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดือนกันยายน ซึ่งเป็นฤดูฝน แหล่งน้ำต่าง ๆ มีปริมาณน้ำมาก สภาพทางธรรมชาติของแหล่งน้ำเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำวัยอ่อน 

กอปรกับวันที่ 21 กันยายน เป็น ‘วันสถาปนากรมประมง’ ดังนั้นเพื่อเป็นการรําลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก ปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีพระราชโองการเมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2469 ตั้ง ‘กรมรักษาสัตว์น้ำ’ ขึ้น ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ‘กรมประมง’ ดังนั้นจึงมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2549 กําหนดให้เปลี่ยน ‘วันประมงแห่งชาติ’ จากเดิมวันที่ 13 เมษายน เป็นวันที่ 21 กันยายนของทุกปี ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยให้เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top