หลังจากคุณ กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ได้แชร์ข้อมูลเกี่ยวกับผลลัพธ์รวมธุรกิจการค้าออนไลน์ในไทย ภายใต้นโยบาย ‘คนละครึ่ง’ และรวมถึงยอดขาย ‘11.11’ ที่ผ่านมา
ผลปรากฏที่เด่นชัดมาก ๆ คือ คนไทยค่อนข้างพร้อมกับการใช้จ่ายแบบสังคมไร้เงินสดพอสมควร
สังเกตุจากโครงการคนละครึ่งที่พอมีการเปิดให้ลงทะเบียนรอบ 2 ก็ลงกันสิทธิ์อย่างรวดเร็ว มียอดการใช้จ่ายผ่านแอพลิเคชั่น ‘เป๋าตัง’ ไปแล้วถึง 13,764 ล้านบาท กระจายสู่ร้านหาบเร่แผงลอยได้กว่า 650,000 ร้าน
ที่น่าสนใจในุมมของคุณกรณ์ คือ ตอนนี้รัฐได้ทำให้คนกว่า 12 ล้านคนยอมรับและคุ้นเคยกับการใช้ Cashless (ไร้เงินสด) มากขึ้น และเช่นเดียวกันผู้ค้ากว่า 6.5 แสนรายก็เข้ามาอยู่ในระบบดิจิทัลไปเรียบร้อย (และลุงตู่ก็คงยิ้มแป้น)
แต่ก็มีคำถามตามมาว่า ทำไมประเทศไทย ไม่พัฒนาระบบ e-Commerce Platform ของตัวเองแบบเป็นจริงเป็นจังสักที
ทั้ง ๆ ที่ยอดการใช้จ่ายในโลกออนไลน์เพิ่มขึ้นทุกปี ตัวภาครัฐก็มีข้อมูล ‘Big Data’ มากมายมาตุนไว้ อุปสรรคคืออะไร? ทำไมเรายังไม่ไปถึงจุดนั้น?
ลองจินตนาการต่อไปว่าในอนาคต หากรัฐเปิดโอกาสให้คนไทยเสนอขายสินค้าโดยตรงกับผู้บริโภคตามฐานข้อมูลที่รัฐมี
รวมถึงรัฐคอยช่วยสนับสนุนด้วยโปรโมชั่นต่าง ๆ และบริการส่งของผ่านไปรษณีย์ไทย...นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของ e-Commerce Platform ของไทยที่เรารอคอยก็ได้
คำตอบหนึ่งที่ได้จากบทสรุปนี้คืออะไร
ปัญหาใหญ่ที่เด็กอมมือก็ยังรู้ คือ รัฐไทยยังทำงานกันแบบ ‘Silo’ หรือต่างคนต่างทำ อย่างกรณีโครงการ ‘คนละครึ่ง’ ตัวข้อมูลอยู่ที่กระทรวงการคลัง แต่ผู้ที่มีพันธกิจสร้าง e-Commerce Platform คือ กระทรวงดิจิทัล และกระทรวงพาณิชย์
ผลคือการทำงานแบบตัวใครตัวมัน และทำให้เกิดปัญหา ‘คอขวด’ เวลาต้องคิดโปรเจ็กต์ใหม่ ๆ ที่ล่าช้า
ว่าแต่ ‘Silo’ ที่คุณกรณ์พูดถึงนี้คืออะไร?
Silo มาจาก Siloed Organization หรือ Siloed Company มีความหมายตรงตัว คือ แผนกต่าง ๆ ในองค์กรเดียวกัน ไม่ยอมแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือองค์ความรู้ระหว่างกัน
โดยสัญญาณที่บ่งชี้ว่า Silo กำลังเข้ามาครอบงำการทำงานไม่ว่าจะเป็นองค์กรหรือรัฐบาลในตอนนี้ คือ...
1.) ภาครัฐไม่สามารถใช้เทคโนโลยีหรือช่องทางการสื่อสารเพื่อแบ่งแยกกำลังซื้อจริงของประชาชน กับกำลังซื้อแฝง ยกตัวอย่างเช่น ทีมการตลาดหรือทีมบริหารไม่คิดจะดูแลคนที่ซื้อของไปแล้ว ราวกับคนที่ยังไม่ได้ซื้อของ เพราะฝ่ายเซลล์กับฝ่ายการตลาดไม่คุยกัน สุดท้ายก็ทำลายประสบการณ์ของลูกค้า
2.) ความแปลกหน้าในองค์กร สัญญาณเตือนภัย คือ หากไม่รู้จักคนหรืองานจากนอกทีม ซึ่งไม่ได้หมายถึงให้ต้องรู้จักแบบละเอียด จะไม่มีวันเข้าใจปัญหาของแต่ละฝ่ายได้เลย ยกตัวอย่าง ถ้าเป็นบริษัทเล็ก ๆ ก็ควรรู้จักชื่อของทุกคน แต่ถ้าเป็นองค์กรใหญ่อย่างน้อยก็ควรจะรู้ชื่อและช่องทางติดต่อระดับบริหารแต่ละแผนก เพื่อให้เกิดการทำงานแบบประสานมือได้ง่ายขึ้น
3.) ภาวะ ‘เรา’ กับ ‘เขา’ ระหว่างแผนก จะทำให้เกิดภาวะการแข่งขันเชิงเห็นแก่ตัว เพราะไม่มีการแชร์ข้อมูลและขาดความร่วมมือร่วมใจ เหตุกลัวว่าอีกทีมจะได้หน้า แต่สุดท้ายจะแพ้ฝ่าย
4.) พนักงานที่ถูกเพิกเฉย หรือไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีม และถูกปฏิบัติไม่เหมือนคนอื่น อาจจะไม่มีความสุข รู้สึกไม่มีประโยชน์ และเสี่ยงต่อการแชร์หรือปั่นหัวสิ่งที่ไม่ดีกับเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ
5.) การทำงานซ้ำซ้อน เพราะไม่มีการสื่อสารกัน ไม่มีทางที่จะรู้ว่าสิ่งที่เราทำไป ได้ทำซ้ำกับคนอื่นหรือแผนกอื่นหรือไม่ ธุรกิจที่ขาดความร่วมมือจะมีคนและทีมงานที่ทำงานในโครงการที่คล้ายกัน ซึ่งนำไปสู่ความไร้ประสิทธิผลและสูญเสียประสิทธิภาพการทำงานไปอย่างน่าเสียดาย
ฉะนั้นไม่ว่าจะรัฐหรือองค์กรไหนควรสร้าง Sharing is caring และ Knowledge is power ด้วยการร่างระบบการทำงานที่ทุกคน ‘ควรรู้ในสิ่งที่ควรรู้’ และต้อง ‘ไม่ต่างคนต่างรู้’ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งของการ Move on
การทำงานของรัฐในมุมของคุณกรณ์ จึงเหมือน Silo ที่หากปล่อยไปเรื่อย ๆ ไอ้สิ่งดี ๆ ที่จะคิดสร้างสรรค์หรือทำต่อในอนาคต (ซึ่งเชื่อว่ามีอยู่มาก) จะยิ่งไกลฝั่งออกไปๆ เลยล่ะลุงตู่!!…
.
อ้างอิง: เฟซบุ๊ค กรณ์ จาติกวณิช - Korn Chatikavanij / ETDA Thailand