เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 66 เพจเฟซบุ๊ก ‘BOI News’ ได้โพสต์ข้อความ เกี่ยวกับ ‘อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์’ ในไทย ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการลงทุนตั้งฐานการผลิต ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยระบุว่า…
เมื่อพูดถึงผู้นำใน ‘อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์’ ของโลก 🌏
ประเทศไต้หวัน คือคำตอบอย่างไม่ต้องสงสัย แล้วปัจจัยใดที่ผลักดันให้ไต้หวันผงาดขึ้นเป็นผู้นำในตลาดผู้ผลิตชิปของโลก?
ย้อนไปในปี 2516 รัฐบาลไต้หวันได้จัดตั้งสถาบัน ‘Industrial Technology Research Institute’ (ITRI) โดยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตชิปขั้นสูงจากต่างประเทศ ทำให้ ITRI สามารถพัฒนากระบวนการผลิตชิปได้เป็นของตัวเอง ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ให้กับไต้หวันได้อย่างมั่นคงในระยะต่อมา
🔹 โดยในปี 2530 มีการก่อตั้งบริษัทผู้ผลิตชิป ‘Taiwan Semiconductor Manufacturing Company’ หรือ ‘TSMC’ ขึ้น ซึ่งต่อมากลายมาเป็นหนึ่งในความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่มีส่วนผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างระบบสาธารณูปโภค การสุขาภิบาล ระบบพลังงาน และการคมนาคม ในไต้หวันขึ้นอย่างรวดเร็ว ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานนี้ส่งผลให้การผลิตชิปเช็ตของไต้หวันมีคุณภาพสูง จนทำให้ไต้หวันก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำระดับโลกของอุตสาหกรรมผลิตชิป
ในช่วงเวลาดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2530-2543 ถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของไต้หวัน เนื่องจากมีการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ หรือการผลิตชิปซึ่งเป็นหัวใจของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างก้าวกระโดด 💻
กลยุทธ์ของผู้ผลิตชิปจากไต้หวันนั้นแตกต่างจากที่อื่น ๆ ตรงที่บริษัทของไต้หวันจะเป็นผู้รับจ้างผลิตสินค้าให้กับบริษัทที่จะไปขายในแบรนด์ของตัวเอง หรือเป็นที่รู้จักในรูปแบบที่เรียกว่า ‘OEM’ เนื่องจากการลงทุนในโรงงานผลิตชิปที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ทำให้หลาย ๆ บริษัทเลือกทำเพียงขั้นตอนการออกแบบชิปแล้วมอบหมายให้กับ TSMC หรือบริษัทอื่นในไต้หวันทำหน้าที่ผลิตแทน
🔹 ปัจจุบัน ไต้หวันเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของโลก โดยครองส่วนแบ่งทางการตลาดกว่า 65% ของการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ของโลก โดยมีบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Corporation (TSMC) เป็นผู้ผลิตรายใหญ่
‘เซมิคอนดักเตอร์’ เป็นส่วนสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ อีกทั้งความต้องการใช้งานชิปก็ยังเพิ่มขึ้นในอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่เน้นการผลิตยานพาหนะที่มีความสามารถด้านการเชื่อมต่อ (Connectivity) และความเป็นอัจฉริยะ (Intelligence) ส่งผลให้ความต้องการชิปขั้นสูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างไม่มีทีท่าว่าจะลดลง
ประเทศไทยขึ้นแท่น ‘คลัสเตอร์ PCB’ รายใหญ่ที่สุดในอาเซียน
ปัจจัยสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ของไทยมาจากการมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ทั้งระบบไฟฟ้าที่มีความเสถียร พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่พร้อมรองรับการลงทุนได้อีกมาก อีกทั้งบุคลากรยังมีทักษะและความเชี่ยวชาญในด้านอิเล็กทรอนิกส์ หรือการที่ไทยมี Supply Chain ของอุตสาหกรรมนี้อย่างครบวงจร รวมไปถึงการที่ภาครัฐมีมาตรการและนโยบายสนับสนุนให้ธุรกิจสามารถแข่งขันและเติบโตได้ ปัจจัยเหล่านี้เป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก โดยเฉพาะจากไต้หวัน ตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลักเพื่อส่งออกไปยังตลาดโลก
🔹 สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) ซึ่งเป็นหัวใจของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ บริษัทจากไต้หวันยังถือเป็นผู้ผลิตอันดับหนึ่งของโลกอีกด้วย โดยครองส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 35%
โดยปัจจุบัน ผู้ผลิต PCB ของไต้หวันรายใหญ่ 20 อันดับแรกของโลก ได้ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้วจำนวน 10 ราย ไม่ว่าจะเป็น WUS PCB, APEX, Dynamic Electronics, Gold Circuit, APCB และถ้ารวมกับผู้ผลิต PCB จากประเทศอื่น ๆ อย่างจีนและญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมนี้เช่นกันด้วยแล้ว ก็จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นคลัสเตอร์ PCB ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน
นี่คือสัญญาณแห่งโอกาสในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ที่ไม่เพียงแต่จะกลายเป็นฮับของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาค แต่ยังเป็นการต่อยอดสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำ ได้แก่ การผลิตเวเฟอร์ และการออกแบบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมไปถึงการพัฒนาสู่การเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ยานยนต์, ดิจิทัล, อุปกรณ์การแพทย์, ระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ ซึ่งจะช่วยยกระดับ Supplier ไทยให้ได้เข้าไปอยู่ใน Supply Chain อิเล็กทรอนิกส์ของโลกด้วยเช่นกัน
🎗️ บีโอไอพร้อมสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ หรืออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ ด้วยการให้สิทธิประโยชน์พิเศษทางภาษี และสิทธิประโยชน์และบริการด้านอื่น ๆ อีกจำนวนมาก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ตลอดจนสร้างแรงจูงใจในการวิจัยและพัฒนาให้สามารถก้าวพร้อมไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับโลกได้ต่อไป
#บีโอไอส่งเสริมการลงทุนทั้งคนไทยและต่างชาติทุกขนาดการลงทุน
📱 0-2553-8111
📧 [email protected]
🌐 www.boi.go.th
🔰ไม่มีค่าใช้จ่ายในการติดต่อ