Tuesday, 8 July 2025
PoliticsQUIZ

ส.ส.เพื่อไทย ขยี้ปม ‘นักท่องเที่ยว’ รอคิวแน่นสุวรรณภูมิ ซัด!! รัฐบาลหวังการท่องเที่ยวฟื้น แต่กลับไม่เตรียมพร้อม

(4 พ.ย. 65) จักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ และรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลังจากวันที่ 30 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ปรากฏภาพข่าวจากสื่อต่างประเทศและโซเชียลมีเดีย มีการแชร์ภาพนักท่องเที่ยวจำนวนมากรอเข้ารับการตรวจหนังสือเดินทางที่ด่านขาเข้าของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้น

จากการตรวจสอบพบว่า ขณะนี้มีการให้บริการจากสายการบิน จำนวน 76 เที่ยวบิน เฉลี่ยมีผู้ใช้บริหารชั่วโมงละ 3,000-4,000 คน คิดเป็น 40,000 - 50,000 คน/วัน ส่วนตัวมีความเห็นดังนี้

1.) ถือเป็นสัญญาณที่ดีของการท่องเที่ยวไทย ที่จำนวนนักท่องเที่ยวและจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มมากขึ้น
2.) รัฐบาลที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  ไม่มีการเตรียมแผนรองรับตั้งแต่แรก ทั้งที่รัฐบาลเองคาดหวังจะฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น การดำเนินการเป็นไปด้วยความล่าช้าในแต่ละขั้นตอน คนแน่นล้นแออัด จนนักท่องเที่ยวต้องโวยวายจนออกสื่อ จนสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อการท่องเที่ยวไทย

สำหรับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของไทย ถือว่าเป็นห้องรับแขกห้องแรกของประเทศที่ไว้คอยต้อนรับและสร้างความประทับใจแรกในการมาเยือน เคยติดอันดับที่ 5 ในปี พ.ศ. 2558 ในฐานะสนามบินที่ดีที่สุดในโลก ในหมวดสนามบินที่ให้บริการผู้โดยสาร 40-50 ล้านคนต่อปี จากการจัดอันดับและมอบรางวัลของ สกายแทร็กซ์ (Skytrax) หากไม่รีบแก้ไข อันดับสนามบินที่ดีของสุวรรณภูมิอาจจะร่วงกว่านี้ไปอีกแน่นอน

‘จิรายุ’ แซะ ‘พรรคร่วมฯ’ อย่าทะเลาะกันบ่อย อยากเห็น ‘ปรองดอง’ ทำนโยบายที่เคยโม้ไว้

(4 พ.ย. 65) ที่รัฐสภา นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ฝ่ายค้านได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาติดตามตรวจสอบการทุจริตของรัฐบาล ฉะนั้น จึงขอฝากเตือนไปยังรัฐมนตรีหลายคนอย่าคิดว่าช่วงนี้เป็นช่วงนอนหลับ เพราะฝ่ายค้านทำงานตรวจสอบตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อรวบรวมข้อมูล ซึ่งแน่นอนว่าจะนำไปสู่การเปิดเผยในสภาและเวทีนอกสภา ทั้งนี้ การตรวจสอบไม่ใช่แค่การอภิปราย ไม่ใช่แค่การใช้วาจาในสภาเท่านั้น มีการจับจริงเกิดขึ้นมาแล้วในหลายเรื่อง โดยมี 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาตนได้ยื่นเรื่องกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไป 5 สำนวน ตนไปร้องไม่ได้มีกระดาษแค่ 4 แผ่น แต่ตนไปร้องเป็นหนังสือ เอกสาร พยานหลักฐานสำคัญ 4,000 กว่าหน้า จึงขอฝากรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ท่านผู้นำประเทศอย่าได้นิ่งนอนใจ นอกจากนี้จะมีสำนวนสำคัญอีก 2-3 สำนวนส่งเข้าคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร ที่ตนเป็นประธานอยู่

“ขอเตือนไปยังรัฐบาลอย่าลักหลับในช่วง 4 เดือนสุดท้าย ไม่ว่าท่านจะวางแผนยุบสภาหรือไม่ หรือแม้กระทั่งที่ท่านบอกว่าจะครบวาระในวันที่ 23 มีนาคม ซึ่งผมไม่สบายใจอย่างยิ่งที่เมื่อวานนี้ (3 พฤศจิกายน) มีสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลพูดต่อกรรมาธิการว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะยุบสภาภายในเดือนธันวาคมนี้ โดยไม่รออยู่ครบวาระ ซึ่งผมก็บอกว่า ผมไม่รู้ ผมไม่เชื่อ เพราะผมเคยเจอพล.อ.ประยุทธ์ แต่ไม่เคยไปจับเข่าคุยกับเขา ซึ่งสมาชิกฝ่ายรัฐบาลคนนั้น ก็ยังยืนยันว่าพล.อ.ประยุทธ์อยู่ไม่ครบวาระ เนื่องจากมีเงื่อนไข 180 วัน เพราะหากยุบสภาก่อน ก็จะต้องไปใช้อีกกฎหมายหนึ่ง แต่ถ้ายุบวันที่ 23 มีนาคม ก็จะครบตามที่กฎหมายบังคับคือ 180 วัน ไม่ว่า ท่านจะยุบเร็วหรือยุบช้า เรื่องของท่าน แต่เรื่องของฝ่ายค้านคือการติดตามตรวจสอบในทุกวินาทีจนกว่าท่านจะยุบสภาหรือท่านจะอยู่ครบวาระก็ตาม” นายจิรายุ กล่าว

'ครูธัญ' ร้อง พม.รับผิดชอบกรณีมูลนิธิทำร้ายเด็ก ดักคอ!! อย่าอ้างเป็นมูลนิธิที่เปิดมายาวนานและมีประวัติดี

ธัญวัจน์ ก้าวไกล เรียกร้อง พม.รับผิดชอบกรณีมูลนิธิทำร้ายเด็ก ทำร้ายร่างกาย บังคับทำงาน และใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก 

(4 พ.ย. 65) ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวถึงประเด็นข่าวของมูลนิธิเด็กแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสงคราม ที่มีการนำเสนอข่าวประเด็นการร้องเรียน มีเด็กในความดูแลของมูลนิธิถูกทำร้ายร่างกาย เช่น ต่อยตี ใช้ไม้ไผ่ฟาด ไม้ม็อบฟาด จนเลือดออก บางรายโดนจับกดน้ำ และให้อาบน้ำคลอง รวมถึงการนำเด็กไปทำงานในรีสอร์ทแห่งหนึ่งโดยให้ค่าแรงวันละ 10 บาท รวมถึงคลิปที่มีการถือไม้เรียว ใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก 

เมื่อมีภาพเหล่านี้ออกไปพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสมุทรสงครามได้ให้ความเห็นต่อสื่อมวลชนว่า เป็นมูลนิธิที่เปิดมายาวนานและมีประวัติดี เพราะได้เข้ามาตรวจสอบ พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ และมีการสุ่มการพูดคุยกับเด็ก 

ธัญวัจน์ กล่าวว่า "ตนมีความสงสัยอย่างมากว่าท่านมีการวิธีการ ระเบียบวิธีปฏิบัติ และขั้นตอนตรวจสอบคุณภาพอย่างไร และไม่ว่าขั้นตอนจะเป็นอย่างไรคงต้องถึงเวลาทบทวนและพิจารณาระเบียบวิธีปฏิบัติในการตรวจสอบดังกล่าวทั้งหมด 

"และคำถามต่อไปที่สังคมอยากรู้ว่าระเบียบวิธีการปฏิบัติและขั้นตอนการตรวจสอบคุณภาพนั้นเป็นเช่นเดียวกับมูลนิธิเด็กทั่วประเทศหรือไม่ ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จุติ ไกรฤกษ์ ก็ควรออกมาตอบคำถามอย่างชัดเจน ว่ากระบวนการการช่วยเหลือและเยียวยาจะเป็นอย่างไรต่อไป

"สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้อย่างชัดเจน คือ ความสัมพันธ์ทางอำนาจ เพราะเมื่อเด็กพูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐนั้น ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ในทางกลับกันการที่มีกลุ่มคนจิตอาสาเข้าไปทำกิจกรรมเด็กที่อยู่ในมูลนิธิกลับพูดคุยเรื่องราวอีกด้าน ที่เป็นความรุนแรงทั้งทางกายและจิตใจ นั่นหมายถึงว่า มีบางอย่างที่ปิดปากเด็กไม่ให้พูด หรือถ้าพูดไปก็กลัวที่จะถูกลงโทษซ้ำ จึงเลือกที่จะอยู่เงียบ ๆ และเลือกพูดกับคนที่เข้ามาทำงานจิตอาสาสมัครคิดว่าพวกเขาปลอดภัยและน่าจะให้การช่วยเหลือได้

ถอดรหัส ป.ป.ช.จ่อเช็กบิล ‘นักการเมืองใหญ่’ บ่วงกรรมที่อาจเป็นหมัดเด็ดสกัดแลนด์สไลด์

ทำนักการเมืองที่มีเอี่ยวทุจริต สะดุ้งกันเป็นแถว เมื่อ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกมาเผยว่า มีคดีใหญ่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง และคดีสำคัญ 3-5 เรื่องมีไทม์ไลน์เรียบร้อย เตรียมนำเข้าที่ประชุมสิ้นเดือน พ.ย.นี้

เรื่องนี้ปูดขึ้นมา สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 พล.ต.อ.วัชรพล ได้ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล ถึงกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลนายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม แกนนำกลุ่มปากน้ำ

เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ คดีทุจริตการจัดสรรเงินอุดหนุนแก่วัดใน จ.สมุทรปราการ จนมีการตั้งข้อสังเกตว่าทำไมจึงมาพิจารณาในช่วงนี้ ซึ่ง พล.ต.อ.วัชรพล ให้เหตุผลว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไต่สวนมาเป็นเวลานาน และก่อนหน้านี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติให้ไปไต่สวนบางประเด็นให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งเขารวบรวมพยานหลักฐานเสร็จสิ้นแล้ว และเรื่องกำลังรอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.อยู่ ซึ่งวันนี้มีเรื่องรอเข้าที่ประชุมหลายร้อยเรื่อง ทุกอย่างเป็นไปตามกรอบกฎหมาย 

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์เหตุใดต้องมาทำช่วงใกล้เลือกตั้ง พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ขอยืนยันว่าไม่ใช่  โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาไปตามพยานหลักฐานอย่างแท้จริง เพราะผู้วินิจฉัยจะต้องสามารถเปิดเผยและรับผิดชอบในสิ่งที่วินิจฉัย

เมื่อถามว่า การพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ต้องดูช่วงเวลาหรือไม่ พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า หัวใจสำคัญคือ ความครบถ้วนในพยานหลักฐานมากกว่า และผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเสนอขึ้นมา มีกรอบระยะเวลาตามกฎหมาย เพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.วินิจฉัย

ข้อสำคัญคือ คนที่เป็นเจ้าหน้าที่ เมื่อทำเสร็จก็อยากให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณา หากเราไปดึงเขาก็จะมาร้องเรา หาว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่พิจารณา ระบบถูกตรวจสอบกันเองอยู่แล้ว เป็นไปตามนั้น

เมื่อถามว่า วันนี้มีคดีที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองที่จะพิจารณาอีกหรือไม่ พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า มีเรื่องสำคัญที่รอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.อยู่ 3-5 เรื่อง เป็นเรื่องใหญ่ คดีสำคัญ ซึ่งมีไทม์ไลน์เรียบร้อยแล้ว น่าจะเข้าภายในสิ้นเดือน พ.ย.นี้

เมื่อถามว่าเป็นระดับ ส.ส.หรือรัฐมนตรีใช่หรือไม่ พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า เป็นระดับนักการเมืองสำคัญ เป็นคดีสำคัญ แต่ยังไม่ขอเปิดเผย

เมื่อถามย้ำว่า มีของอดีตรัฐมนตรีหรือไม่ พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ส่วนใหญ่เป็นอดีตผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่สำคัญ

เมื่อถามว่า หากเปิดคดีออกมาอีกจะถูกกล่าวหาว่ามีการเมืองเข้ามาเอี่ยวหรือไม่ พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ถูกถามเป็นของธรรมดา เราก็ตอบไป คณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นอย่างนี้ ไปซ้ายก็โดน ไปขวาก็โดน อยู่เฉยๆ ก็โดน เรายิ่งต้องระวังตัว และต้องทำ ต้องหนักแน่น ทุกอย่างตอบได้

พลันที่ พล.ต.อ.วัชรพล แย้มข้อมูลเหล่านี้ออกมา ทำให้หลายฝ่ายคาดเดาไปถึงคดีค้างท่อที่อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลของป.ป.ช. ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นคดีสำคัญอย่าง ‘คดีทุจริตระบายข้าวจีทูจี’ ล็อตที่ 2 จำนวน 8 สัญญา ซึ่งที่ผ่านมาป.ป.ช.ได้ไต่สวนรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ เพื่อพิจารณาลงมติอย่างหนึ่งอย่างใดเท่านั้น 

เหตุที่ทำให้คนนึกถึงคดีนี้ เพราะเป็น ‘คดีสำคัญ’ และ เกี่ยวข้องกับ ‘นักการเมืองสำคัญ’

อย่างที่ทราบกันดีว่า คดีทุจริตระบายข้าวจีทูจี มีนักการเมืองสำคัญที่เกี่ยวข้องอย่าง ‘บุญทรง เตริยาภิรมย์’ ซึ่งขณะนี้อยู่ในเรือนจำจากคดีทุจริตระบายข้าวจีทูจี ล็อตแรก นอกจากนั้นยังมี ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ที่หลบหนีออกนอกประเทศทันก่อนการพิจารณาไม่กี่วันเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีบุคคลสำคัญที่คนส่วนใหญ่รู้ดีว่า ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี และ ‘เยาวภา วงศ์สวัสดิ์’ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง และป.ป.ช.น่าจะมีข้อมูลหลักฐานที่ครบถ้วนและแน่นหนา พอที่จะชี้มูลความผิด ตามที่ ประธาน ป.ป.ช. แย้มออกมา

'นิด้าโพล' เผยผลสำรวจ นายกฯ ที่คนเหนือหนุน 'อุ๊งอิ๊งค์' มาเต็ง 'พิธา' ตาม ส่วนบิ๊กตู่ รั้งอันดับ 4

(6 พ.ย. 65)  ศูนย์สำรวจความคิดเห็น 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง 'คนที่ใช่ พรรคที่ชอบ ของคนเหนือ' ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม – 2 พฤศจิกายน 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งในภาคเหนือ กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,000 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับคนที่ใช่ พรรคที่ชอบ ของคนเหนือ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ 'นิด้าโพล' สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงบุคคลที่คนเหนือจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 31.70 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊งค์) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) เพราะ เป็นคนรุ่นใหม่ ชื่นชอบพรรคเพื่อไทย นโยบายของพรรคทำได้จริง ขณะที่บางส่วนระบุว่า ชื่นชอบผลงานของตระกูลชินวัตร อันดับ 2 ร้อยละ 15.00 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) เพราะ เป็นคนรุ่นใหม่ เป็นคนมีวิสัยทัศน์

ขณะที่บางส่วนระบุว่า ชื่นชอบนโยบายและอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคก้าวไกล อันดับ 3 ร้อยละ 12.65 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 4 ร้อยละ 12.50 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะ เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบ และต้องการให้บริหารประเทศอย่างต่อเนื่อง อันดับ 5 ร้อยละ 6.55 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย) เพราะ เป็นคนมีประสบการณ์

ด้านการบริหาร ชื่นชอบนโยบายของพรรค ขณะที่บางส่วนระบุว่า ต้องการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามาบริหารประเทศ อันดับ 6 ร้อยละ 6.20 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย) เพราะ เป็นคนตรงไปตรงมา มีความซื่อสัตย์สุจริต และชื่นชอบวิธีการทำงาน อันดับ 7 ร้อยละ 3.85 ระบุว่าเป็น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว (พรรคเพื่อไทย) เพราะ เป็นคนที่พูดจริงทำจริง มีประสบการณ์ด้านการบริหาร และชื่นชอบ พรรคเพื่อไทย อันดับ 8 ร้อยละ 2.50 ระบุว่าเป็น นายกรณ์ จาติกวณิช (พรรคชาติพัฒนากล้า) เพราะ เป็นคนมีความรู้ มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ และมีประสบการณ์ด้านการบริหาร อันดับ 9 ร้อยละ 2.00 ระบุว่าเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย) เพราะ เป็นคนพูดจริงทำจริง และชื่นชอบนโยบายของพรรคภูมิใจไทย อันดับ 10 ร้อยละ 1.85 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ อันดับ 11 ร้อยละ 1.10 ระบุว่าเป็น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (พรรคประชาธิปัตย์) เพราะ มีประสบการณ์ด้านการบริหาร ชื่นชอบผลงานที่ผ่านมา และชื่นชอบพรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 12 ร้อยละ 1.05 ระบุว่าเป็น ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ (พรรคสร้างอนาคตไทย) เพราะ เป็นคนมีความรู้ มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ

ขณะที่บางส่วนระบุว่า เป็นผู้มีประสบการณ์ด้านการบริหาร และร้อยละ 3.05 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ (พรรคพลังประชารัฐ) ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา (พรรคชาติไทยพัฒนา) นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (พรรคประชาธิปัตย์) นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ (พรรคไทยศรีวิไลย์) นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม (พรรคไทยภักดี) นายเศรษฐา ทวีสิน นายเทวัญ ลิปตพัลลภ (พรรคชาติพัฒนากล้า) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (พรรครวมไทยสร้างชาติ) และนายชวน หลีกภัย (พรรคประชาธิปัตย์) เมื่อพิจารณาบุคคลที่คนเหนือจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี 5 อันดับแรก เมื่อจำแนกตามกลุ่มจังหวัดของภาคเหนือ พบว่า

1. กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 อันดับ 1 ร้อยละ 37.98 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊งค์) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) อันดับ 2 ร้อยละ 17.75 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) อันดับ 3 ร้อยละ 12.21 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อันดับ 4 ร้อยละ 6.87 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ และอันดับ 5 ร้อยละ 5.15 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย)

2. กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 อันดับ 1 ร้อยละ 30.34 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊งค์) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) อันดับ 2 ร้อยละ 15.95 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) อันดับ 3 ร้อยละ 15.06 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 4 ร้อยละ 8.31 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย) และอันดับ 5 ร้อยละ 7.19 ระบุว่าเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว (พรรคเพื่อไทย) ในสัดส่วนที่เท่ากัน

'รัฐบาล' เร่งเดินหน้าโครงการริมคลองเปรมประชากร ตั้งเป้า 38 ชุมชน 2 พันครัวเรือน ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

'รัฐบาล' เร่งเดินหน้าโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากร ตั้งเป้า 38 ชุมชน กว่า 2 พันครัวเรือน มีที่อยู่-คุณภาพชีวิตดีขึ้น

(6 พ.ย.65) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากร ว่า สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันดำเนินการในการแก้ปัญหาสิ่งรุกล้ำลำคลอง ทำให้การระบายน้ำในคลองมีประสิทธิภาพ และช่วยป้องกันน้ำท่วม และพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคงในระยะยาว สร้างความเสมอภาคเท่าเทียมกันในสังคม สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางด้านที่อยู่อาศัยให้ประชาชน

นายอนุชา กล่าวว่า ความก้าวหน้าของการดำเนินงานพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากร ใช้รูปแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวทางโครงการบ้านมั่นคง มีกลุ่มเป้าหมายการดำเนินการ 38 ชุมชน 4 พื้นที่ ได้แก่ ดอนเมือง, หลักสี่, จตุจักร 32 ชุมชน และพื้นที่เทศบาลตำบลหลักหก อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี 6 หมู่บ้าน 6,386 ครัวเรือน ความยาวคลองประมาณ 17 กิโลเมตร จากความยาวทั้งหมด 50.8 กิโลเมตร ทั้งนี้ การรับรองสิทธิ์ รวม 6,340 ครัวเรือน จตุจักร 5 ชุมชน 621 ครัวเรือน หลักสี่ 13 ชุมชน 2,248 ครัวเรือน ดอนเมือง 14 ชุมชน 2,542 ครัวเรือน และ ต.หลักหก จ.ปทุมธานี 6 หมู่บ้าน 929 ครัวเรือน ยังรับรองสิทธิไม่ครบทุกชุมชน ขณะนี้มีพื้นที่ที่สามารถดำเนินการได้จำนวน 10 ชุมชน 8 โครงการ 1,007 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 15.77 ของครัวเรือนทั้งหมด แบ่งเป็น สร้างเสร็จ 634 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 9.93 ของครัวเรือนทั้งหมด จตุจักร 356 ครัวเรือน หลักสี่ 88 ครัวเรือน และ ต.หลักหก จ.ปทุมธานี 190 ครัวเรือน ส่วนกำลังก่อสร้าง 352 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 5.51 ของครัวเรือนทั้งหมด จตุจักร 133 ครัวเรือน หลักสี่ 71 ครัวเรือน ดอนเมือง 120 ครัวเรือน และ ต.หลักหก จ.ปทุมธานี 28 ครัวเรือน

และพื้นที่พร้อมก่อสร้าง 21 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 0.33 ของครัวเรือนทั้งหมด หลักสี่ 7 ครัวเรือน และดอนเมือง 14 ครัวเรือน

โดย พอช. มีแผนดำเนินงานต่อเนื่องไปจนถึงปี 2566 รวม 17 ชุมชน หากดำเนินการได้ตามแผนงานจะสามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับชุมชนริมคลองเปรมประชากรได้ไม่น้อยกว่า 2,500 ครัวเรือน

นายอนุชา กล่าวว่า การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากร เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาตามแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานระบบคลอง และการพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากร ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 เม.ย.มีกรอบแนวคิดในการดำเนินงาน 4 ด้าน คือ...

ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งแวดล้อมของเมือง อาทิ การสร้างเขื่อนริมคลองและระบบรวบรวมน้ำเสีย / ด้านการพัฒนาชุมชนริมคลอง ซึ่งมีเป้าหมายที่การพัฒนาที่อยู่อาศัยของทุกครัวเรือนที่อยู่ริมคลอง / ด้านการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน และด้านกฎหมายและการขับเคลื่อนงาน

'ทิพานัน' ตอก 'เพื่อไทย' หยุดบูลลี่ 22 ล้านคน เป็นคนจน ชี้!! เป็นกลุ่มที่รัฐต้องการช่วยดูแลลดความเหลื่อมล้ำ

'ทิพานัน' ซัด เพื่อไทย หยุดบูลลี่ 22 ล้านคน เป็นคนจน ยก สถิติปี 60-65 เป้าหมายลดลงกว่า 7 แสนราย ยัน แก้ปัญหากลุ่มเปราะบางให้ดีขึ้น แนะ หากพบข้อมูลบัตรสวัสดิการฯ ไม่สมบูรณ์ ให้แก้ไขภายใน 17 พ.ย นี้

(6 พ.ย. 65) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลัง ปิดรับการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 แล้ว โดยจำนวนประชาชน ที่ลงทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ย.-31 ต.ค.ที่ผ่านมา 22,293,473 ราย โดยผู้ที่ลงทะเบียนแล้ว และผ่านขั้นตอนตรวจสอบสถานะแล้ว พบว่า สถานะการลงทะเบียนสมบูรณ์ ไม่ต้องดำเนินการใด ๆ ให้รอการประกาศผลการตรวจสอบคุณสมบัติในช่วงเดือนม.ค. 2566  ซึ่งการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติ ที่เข้าเงื่อนไข เพื่อให้การใช้งบประมาณในการให้ความช่วยเหลือได้อย่างประสิทธิภาพ แก้ปัญหาตรงจุดและตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น 

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ส่วนผู้ที่สถานะการลงทะเบียนไม่สมบูรณ์ สามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้ที่ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขต หากพบข้อมูลไม่ถูกต้อง ต้องติดต่อขอแก้ไขข้อมูล ที่หน่วยงานรับลงทะเบียนที่ตนเองยื่นเอกสารเท่านั้น ส่วนผู้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ สามารถติดต่อขอแก้ไขข้อมูลที่หน่วยงานรับลงทะเบียนใดก็ได้ ซึ่งต้องดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในวันพฤหัสบดีที่ 17 พ.ย. นี้เท่านั้น

“ขอย้ำว่า จำนวนลงทะเบียนหรือผู้ที่ได้รับบัตรสวัสดิการฯ ไม่ใช่จำนวนคนจนในประเทศไทย แต่เป็นกลุ่มที่รัฐบาลต้องการเข้าไปช่วยดูแลลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มเปราะบางให้ดีขึ้น เป็นหนึ่งในนโยบายในการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำที่เป็นวาระสำคัญของชาติ  ที่ไม่ใช่คนจนทั้งหมด เพราะทุกรัฐบาลมีเส้นเกณฑ์วัดความจน จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่มีการวิเคราะห์หลายมิติ ซึ่งในปี 2564  ระบุว่าประเทศไทยมีคนจนอยู่ที่ 4,404,616 ล้านคน คิดเป็น 6.32 % ของประชากรทั้งประเทศ โดยเกณฑ์ตัดสินว่าบุคคลนั้นเข้าข่ายจนหรือไม่จนในปี 2564 คือรายได้ต่อเดือนที่ต้องได้ต่ำกว่า 2,802 บาทต่อคนต่อเดือน และหากพิจารณาข้อมูลย้อนไป 10 ปีจากสถิติ ยังพบว่า ในปี 2555 ยังมีคนจนอยู่ถึง 8,441,462 คน  

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ในระหว่างปี 2560-2565 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมุ่งมั่นแก้ปัญหาคนจนโดยใช้  Big data และระบบวิเคราะห์ข้อมูลแบบชี้เป้า โดยอ้างอิงฐานข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform: TPMAP) ที่แตกต่างจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่นำข้อมูลคนที่ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรวจสอบและลงพื้นที่โดยเจ้าหน้าที่เพื่อสำรวจสอบถามถึงความรุนแรงของปัญหาตามเกณฑ์ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานของกระทรวงมหาดไทย เช่น ในปี 2560 พบมีคนจน 1,702,499 คน จากการสำรวจ 35,999,061 คน และล่าสุดคนจนเป้าหมายวันที่ 25 ม.ค. 65ในประเทศไทย ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนเหลือเพียง 1,025,782 คน  จากการสำรวจ 36,103,806 คน และเมื่อแบ่งมิติปัญหาที่ต้องช่วยเร่งด่วนพบว่า 1. ด้านสุขภาพ 218,757 คน 2. ด้านความเป็นอยู่ 220,037 คน 3. ด้านการศึกษา 272,518 คน 4. ด้านรายได้ 506,647 คน 5. ด้านเข้าถึงบริการภาครัฐ 3,335 คน

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะสถิติจากตัวชี้วัดใดทั้ง สำนักงานสถิติแห่งชาติ หรือ TPMAP จำนวนคนจนได้ลดลงต่อเนื่อง ยิ่งในช่วงการแก้ปัญหาความยากจนภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเห็นว่าจำนวนลดลงไปหลายล้านคน

'พิธา' นำทีม 'ก้าวไกล' พบปะปชช.เสนอสวัสดิการก้าวหน้า กร้าว!! ขอสร้าง ปท.ที่ 'เป็นธรรม - ปลอดภัย - เท่าเทียม'

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ธนเดช เพ็งสุข ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกลเขตลาดพร้าว พบปะประชาชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ป่วยติดเตียงในชุมชนรอบวัดลาดพร้าว เพื่อสำรวจความเดือดร้อนและสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายสวัสดิการก้าวหน้าที่พรรคเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อวันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2565

ประชาชนให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเห็นด้วยกับข้อเสนอของพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะในส่วนของสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ป่วยติดเตียง ที่ในขณะนี้ถือว่ามีจำนวนมากในชุมชน และครอบครัวเห็นว่าการดูแลจากภาครัฐในปัจจุบันนั้นยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละเดือน ทั้งยังจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือประชาชนวัยทำงานในการแบ่งเบาภาระต้องเลี้ยงดูพ่อแม่อีกด้วย

สำหรับชุดนโยบายสวัสดิการไทยก้าวหน้าที่พรรคก้าวไกลเสนอเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน แบ่งตาม 5 ช่วงวัย และมีทั้งหมด 19 นโยบาย ได้แก่...

วัยเกิด ประกอบด้วย...
(1) ของขวัญแรกเกิด 3,000 บาท ให้พ่อ-แม่ซื้อสิ่งของจำเป็นในการเลี้ยงลูก
(2) เงินเด็กเล็กเดือนละ 1,200 บาท
(3) สิทธิลาคลอด 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้
(4) ศูนย์ดูแลเด็กใกล้บ้านและที่ทำงาน

วัยเติบโต ประกอบด้วย...
(5) เรียนฟรี อาหารฟรี มีรถรับส่ง
(6) คูปองเปิดโลก ให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้นอกห้องเรียน
(7) ยกเลิกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มผ้าอนามัยและนำร่องแจกผ้าอนามัยฟรีในโรงเรียน

'รมว.เฮ้ง' พบปะลูกจ้างสหภาพเด็นโซ่ โชว์แผนวางรากฐาน-พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมเป็นเกียรติและกล่าวปาฐกถาในงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 44/2565 สหภาพแรงงานเด็นโซ่ ประเทศไทย โดยมี นายกิตติศักดิ์ อธิสกุลทรัพย์ ประธานสหภาพแรงงาน เด็นโซ่ ประเทศไทย พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดชลบุรี และผู้นำแรงงาน ให้การต้อนรับ ณ อาคารศาลาประชาคม เทศบาลเมืองบ้านสวน อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี 

นายสุชาติ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสําคัญกับการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องผู้ใช้แรงงานเพราะทุกท่านมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ ช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ทุกท่านถือเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อนและผนึกกำลังกันเพื่อก้าวข้ามจนมาถึงวันนี้ 

ซึ่งในห้วงดังกล่าว รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานได้มีมาตรการต่างๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือนายจ้างและพี่น้องแรงงานในหลาย ๆ ด้าน เช่น ในปี 2564 เปิดจุดตรวจโควิดแบบประจำจุดและตรวจเชิงรุกในโรงงาน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกจ้างเพื่อให้ภาคเอกชนยังคงดำเนินธุรกิจต่อไป ผลตรวจโควิด 409,972 คน แรงงานไม่ได้รับการฉีดวัคซีน จึงขอรับการสนับสนุนวัคซีนให้แก่ผู้ใช้แรงงานกว่า 11 ล้านคน และได้ฉีดวัคซีนให้แรงงานแล้ว 3,962,206 โดส โรงงานปิดตัวลงจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ในโรงงาน กระทรวงแรงงานจัดโครงการแฟคทอรี่ แซนบ๊อก บนฐานแนวคิดเศรษฐศาสตร์และสาธารณสุข มุ่งเป้าภาคการผลิตส่งออกสำคัญ ในอุตสาหกรรมยานยนต์ อาหาร ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ในพื้นที่ 12 จังหวัด 730 โรงงาน แรงงานเข้าร่วม 407,770 คน ตรวจ RT- PCR พบผู้ติดเชื้อ 11,298 คน โดยทั้งหมดได้เข้าสู่กระบวนการรักษา และได้ฉีดวัคซีนให้ทุกคน 

ผลสัมฤทธิ์จากโครงการทำให้โรงงานไม่มีการปิดตัวลง ภาคการผลิตส่งออกสูงสุดในรอบ 30 ปี  จัดหาโรงพยาบาล Hospitel ในเครือข่ายประกันสังคม รองรับผู้ป่วย 61,046 คน ลดเงินสมทบให้นายจ้างและผู้ประกันตนรวมกว่า 6 ครั้ง เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 146,448 ล้านบาท 

โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน ม.33 ในพื้นที่ 29 จังหวัด นายจ้าง จำนวน 192,951 ราย ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 3.75 ล้านราย รวมเป็นเงิน 32,542.27 ล้านบาท 

โครงการเยียวยาผู้ประกันตน ม.39 และ ม. 40 ม.39 จำนวน 1.37 ล้านราย ม. 40 จำนวน 7.21 ล้านราย รวมเป็นเงิน 71,214.63 ล้านบาท 

โครงการเยียวยาผู้ประกันตนในกิจการสถานบันเทิงฯ ม.33 ม.39 และ ม.40 จำนวน 147,720 ราย รวมเป็นเงิน 738.60 ล้านบาท 

การให้ความช่วยเหลือ SMEs เพื่อรักษาการจ้างงานให้ยังคงอยู่ โดยรัฐบาลอุดหนุนจำนวน 235,933 แห่ง ส่งเสริมการจ้างงานใหม่ของนายจ้าง 66,201 แห่ง ลูกจ้างได้รับการจ้างงาน มากกว่า 3.2 ล้านคน รวมเงินอุดหนุน มากกว่า 27 ล้านบาท ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคสูงขึ้น ให้พี่น้องแรงงานสามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งได้ประกาศใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยการอนุญาตให้ทำงานกว่า 174,179 คน 

นายสุชาติ ยังกล่าวถึงภารกิจที่กระทรวงแรงงานจะดำเนินการในอนาคตว่าผมยังได้วางรากฐานเพื่อความมั่นคงให้แก่พี่น้องแรงงานในอนาคต ดังนี้ 

เร่งผลักดันแก้ไขกฎหมายประกันสังคม 3 ขอ 'ขอเลือก ขอคืน ขอกู้' ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาร่างกฎหมายแล้ว และอยู่ระหว่างตรวจพิจารณาในวาระ 2 

'ชัยวุฒิ' เตรียมปั้น 'เด็กติดเกม' สู่ 'นักกีฬาอีสปอร์ต' ชี้!! คนสนใจเยอะ แถมสร้าง 'เงิน-อาชีพ' ได้ด้วย

'รมว.ชัยวุฒิ' ปั้นเด็กติดเกมเป็น 'นักกีฬาอีสปอร์ต' นำร่องโรงเรียนต้นแบบยกระดับโครงการอีสปอร์ต จ.ตาก 

วันนี้ (6 พ.ย. 65) เวลา 10.20 น. นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของไทย ได้เข้าสักการะพระบรมธาตุ และหลวงพ่อทันใจ ณ วัดพระบรมธาตุ (หลวงพ่อทันใจ) ต.เกาะตะเภา อ.บ้านตาก จ.ตาก สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวจังหวัดตากเคารพบูชา 

โดยทันทีที่นายชัยวุฒิมาถึง ได้รับการต้อนรับจากประธานนายกเทศบาลบ้านตาก, กรมการปกครองท้องถิ่น อ.บ้านตาก, ข้าราชการท้องถิ่นพร้อมทั้งประชาชน จากนั้นได้เข้าไปยังวิหารหลวงพ่อทันใจ ถวายเครื่องสักการะหลวงพ่อทันใจ และหลวงพ่อทองอยู่ พร้อมจุดเทียนสะเดาะเคราะห์ล้านนา ซึ่งเป็นประเพณีพื้นบ้านของภาคเหนือ จึงลงมาเวียนเทียนรอบพระบรมสารีริกธาตุ แล้วถวายสังฆทานกราบนมัสการพระครูพิทักษ์บรมธาตุ เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ พร้อมรับพรจากท่านเจ้าอาวาส 

หลังถวายสังฆทานเรียบร้อยแล้ว ก่อนเดินทางต่อในภารกิจต่อไปก็ได้มีตัวแทนจากต.เกาะตะเภา และชาวบ้านประมาณ 50 คน ยื่นหนังสือรายงานเรื่องโรงงานแป้งมันสำปะหลัง ก่อมลพิษทางกลิ่น สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน รมว.ชัยวุฒิหลังได้รับหนังสือร้องเรียนได้กล่าวกับชาวบ้านว่า จะช่วยเร่งแก้ไขปัญหาและดำเนินการอย่างเต็มที่ 

จากนั้นจึงรุดไปยังโรงเรียนเทศบาล 1 กิตติขจร อ.เมือง จ.ตาก เพื่อฟังบรรยายสรุปโครงการ เมืองตาก e-sport ของโรงเรียนเทศบาล 1 กิตติขจร โดยมีรำกองยาวจากนักเรียนให้การต้อนรับพร้อมคณะครูประมาณ 50 คนตั้งแถวรอต้อนรับและเข้าห้องประชุมเครือข่ายผู้ปกครอง เพื่อตรวจสอบความพร้อมโครงการเมืองตาก e-sport 

รมว.ชัยวุฒิกล่าวว่า ดีใจที่ได้มาเยี่ยมโรงเรียนเทศบาล 1 กิตติขจร โดยเห็นหลักสูตรแล้วรู้สึกดีใจ ที่โรงเรียนแห่งนี้ทันสมัย มีหลักสูตรดี ๆ ให้กับนักเรียนได้ศึกษา กีฬา e-sport เป็นกีฬาถูกที่ต้องตามกฎหมาย เป็นรายการแข่งขันที่มีคนรับชมเยอะที่สุดมากกว่ากีฬาอื่น ๆ เป็นกีฬาที่สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับเด็กไทยได้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top