Thursday, 10 July 2025
NewsFeed

'ท็อตแนม ฮ็อทสเปอร์' จับมือ 'ไทเกอร์' ผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการสโมสร

(20 ธ.ค.67) ไทเกอร์ แบรนด์เครื่องดื่มพรีเมียมชั้นนำในเอเชีย ขึ้นแท่นเป็นผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการของสโมสรฟุตบอลท็อตแนม ฮ็อทสเปอร์ (Tottenham Hotspur) ซึ่งนับเป็นอีกก้าวสำคัญหลังการประกาศ ความร่วมมือกับสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (Manchester United) เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยความร่วมมือในครั้งนี้เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของแบรนด์ในการเชื่อมต่อกับคอมมูนิตี้แฟนบอลทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชีย พร้อมส่งมอบประสบการณ์ที่ทำให้แฟนบอลได้ใกล้ชิดกับสโมสรโปรดมากยิ่งขึ้น

ฌอน โอดอนเนลล์ ผู้อำนวยการแบรนด์ระดับโลกของไทเกอร์ กล่าวว่า “เราเชื่อว่าความกล้าหาญของแต่ละบุคคลมีรากฐานมาจากการสนับสนุนของคนรอบข้าง โดยความร่วมมือในครั้งนี้สะท้อนถึงความเชื่อของเราที่ว่าความก้าวหน้าไม่ได้มาจากคนเพียงคนเดียว แต่เป็นผลลัพธ์จากการร่วมมือกันเพื่อสรรสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เราภูมิใจที่ไทเกอร์เป็นแบรนด์ที่พร้อมจะเฉลิมฉลองและเติมเต็มประสบการณ์เชียร์บอลของแฟน ๆ ทั่วโลก”

ด้วยฐานแฟนบอลกว่า 195 ล้านคนในเอเชีย สโมสรฟุตบอลท็อตแนม ฮ็อทสเปอร์ จึงเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งและเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับแบรนด์ไทเกอร์ ในการสร้างคอมมูนิตี้ที่เหนียวแน่นและเชื่อมโยง แฟนบอลทั่วโลกเข้าด้วยกัน

ไรอัน นอริส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงินของสโมสรท็อตแนม ฮ็อทสเปอร์ กล่าวเสริมว่า “เรารู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับไทเกอร์ แบรนด์พรีเมียมชั้นนำที่พร้อมมอบประสบการณ์สุดพิเศษให้กับแฟนบอลในเอเชีย โดยใช้ฟุตบอลเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงผู้คนและสร้างช่วงเวลาที่น่าจดจำร่วมกัน”

ไทเกอร์ ได้ทำการสำรวจกับแฟนบอลกว่า 2,000 คน และพบว่าเกือบ 3 ใน 4 ของกลุ่มแฟนบอล เชื่อว่า การที่แบรนด์มีกิจกรรมร่วมกับแฟนบอลทำให้พวกเขารู้สึกใกล้ชิดกับทีมที่เชียร์มากยิ่งขึ้น แบรนด์ไทเกอร์จึงเตรียมมอบประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นและไม่เหมือนใครให้กับแฟนบอลของสโมรสรท็อตแนม ฮ็อทสเปอร์ ด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น แฟนมีตติ้งสุดเอ็กซ์คลูซีฟ โอกาสพิเศษในการเข้าชมการฝึกซ้อมของทีม และการเข้าร่วมเวิร์กช็อปฟุตบอลกับทีมโค้ชระดับโลก

ปูตินแถลงข่าว 4 ชม. ลั่นควรบุกยูเครนเร็วขึ้น พร้อมถกทรัมป์จบขัดแย้งเคียฟ

เมื่อวานนี้ (19 ธ.ค.67) นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย แถลงข่าวสิ้นปีผ่านทางโทรทัศน์เป็นเวลานานกว่า 4 ชั่วโมง ซึ่งเป็นธรรมเนียมประจำปีที่ผู้นำรัสเซียเปิดเวทีให้ประชาชนและสื่อมวลชนซักถาม โดยมีประเด็นสงครามในยูเครนเป็นหัวข้อสำคัญ พร้อมแสดงจุดยืนเปิดกว้างต่อการเจรจากับยูเครนและว่าที่ผู้นำสหรัฐฯ

ปูตินกล่าวถึงการรุกรานยูเครนที่เริ่มเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 โดยยอมรับว่า หากย้อนเวลากลับไปได้ รัสเซียควรเปิดฉากปฏิบัติการพิเศษทางทหารให้เร็วและมีการเตรียมพร้อมที่เป็นระบบมากกว่านี้ พร้อมเสริมว่าสถานการณ์สงครามเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และรัสเซียยังคงรุกคืบและยึดครองพื้นที่ใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาที่แน่นอนได้ว่าการยึดคืนดินแดนจะเสร็จสิ้นเมื่อใด

เมื่อถูกถามถึงความสัมพันธ์กับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปูตินระบุว่าไม่ได้พูดคุยกับทรัมป์มานานกว่า 4 ปี แต่พร้อมเปิดการเจรจาทันทีหากอีกฝ่ายต้องการ พร้อมแสดงความมั่นใจว่าการสนทนาจะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ เนื่องจากทรัมป์เคยให้คำมั่นระหว่างการหาเสียงว่าจะยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครนโดยเร็ว

ปูตินยอมรับว่า สถานการณ์เงินเฟ้อและปัญหาข้าวยากหมากแพงเป็นประเด็นที่น่าวิตกสำหรับรัสเซียในปัจจุบัน โดยอัตราการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างในปี 2567 อยู่ที่ 9% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงถึง 9.3% ส่งผลให้เศรษฐกิจรัสเซียยังคงเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนักจากมาตรการคว่ำบาตรระหว่างประเทศและวิกฤตสงคราม

ปูตินยังเน้นย้ำถึงความร่วมมือที่แน่นแฟ้นกับจีน ซึ่งทั้งสองประเทศมุ่งสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเวทีโลก พร้อมระบุว่าความสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตรอื่น ๆ ยังคงพัฒนาไปในทิศทางที่ดี

ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้นำรัสเซียกล่าวว่า พร้อมเปิดกว้างต่อการเจรจาเพื่อยุติสงคราม แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าการปรองดองที่พูดถึงจะมีรูปแบบใด ทั้งนี้การเจรจาทั้งหมดต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้นำที่ชอบธรรมของยูเครนเช่นกัน

การแถลงข่าวครั้งนี้สะท้อนถึงความหวังในการหาทางออกของวิกฤตที่ยืดเยื้อ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

สตม. บูรณาการ ภ.จว.สุราษฎร์ธานี ทลายแก๊งฝรั่งเหิมค้ายาเสพติดให้นักท่องเที่ยวบนเกาะพะงัน ตั้งคนไทยเป็นนอมินี เปิดบริษัทบังหน้าฟอกเงิน พบทำมาแล้วเกือบ 2 ปี เงินหมุนเวียนกว่า 71 ล้านบาท เตรียมเพิกถอนวีซ่าผลักดันออก พร้อมลงแบล็คลิสต์ห้ามเข้าประเทศ

วันนี้ (19 ธ.ค.67) เวลา 15.00 น. พล.ต.ท.ภาณุมาศ บุญญลักษม์ ผบช.สตม. พร้อมด้วย พล.ต.ต.ทรงโปรด สิริสุขะ ผบก.ตม.6, พล.ต.ต.เสริมพันธุ์ ศิริคง ผบก.ภ.จว.สุราษฎร์ธานี, พ.ต.อ.กฤดินิธิ ทองทิพย์ รอง ผบก.ฯ รรท.ผกก.สภ.เกาะสมุย, พ.ต.อ.กันตวัฒน์ พงศ์สถาบดี รอง ผบก.ตม.6, พ.ต.อ.ภาณุภาคยณ์ จิตต์ประยูรตี รอง ผบก.สส.สตม., พ.ต.อ.ปัญญา นิรัตติมานนท์ ผกก.สภ.เกาะพะงัน, พ.ต.อ.นฤวัต พุทธวิโร ผกก.ตม.จว.สุราษฎร์ธานี ร่วมแถลงข่าวการจับกุมจับกุมนายเฟเดริโก้ หรือ MR.FEDERICO อายุ 36 ปี สัญชาติอิตาลี  ในความผิดฐาน “จำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาอี,เอ็กตาซี) และยาเสพติดให้โทษประเภท 2 (โคเคน) โดยไม่ได้รับอนุญาต, สมคบกันกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด และสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน(มูลฐานยาเสพติด)และฟอกเงิน” และข้อหาครอบครองยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาอี,เมตแอมเฟตามีน) โดยผิดกฎหมาย พร้อมของกลางอื่นจำนวน 24 รายการ 

พร้อมอายัดบัญชีธนาคาร 1 บัญชี ยอดเงิน 6.6 ล้านบาท ที่ดินในนามบริษัทพิทยาแลนด์ จำกัด เนื้อที่ 2 ไร่เศษ จำนวน 1 แปลง มูลค่า 8 ล้านบาท ยึดรถยนต์เก๋งยี่ห้อมาสด้า จำนวน 1 คัน และอยู่ระหว่างตรวจสอบที่ดินอีก 2 แปลง ซึ่งน่าจะถือครองในชื่อของบุคคลอื่น รวมทั้งธุรกิจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่นายเฟเดริโก้ ฯ เป็นกรรมการว่าเข้าข่ายมีการประกอบในลักษณะนอมินีหรือไม่

นอกจากนี้ยังสามารถขยายผลจับกุมนักท่องเที่ยวต่างชาติที่พบว่ามาซื้อยาเสพติดจากนาย เฟเดริโก้ ได้อีก 2 ราย คือ นายโรมัน หรือ MR.ROMAN อายุ 37 ปี สัญชาติฝรั่งเศส และนายแอนทอน หรือMR.ANTON อายุ 39 ปี สัญชาติรัสเซียสำหรับยาเสพติดที่ตรวจพบ เช่น โคเคน เห็ดขี้ควาย ซึ่งเป็นยาเสพติดที่แพร่หลายในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ 

พล.ต.ต.ภาณุมาศ ฯ กล่าวว่า คดีนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 1 มี.ค.67 เจ้าหน้าที่ ตม.จว.สุราษฎร์ธานี ได้ทำการจับกุม นายปีเตอร์ หรือMR.PETER สัญชาติอังกฤษ ข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครอง ฯ และศาลจังหวัดเกาะสมุย ตัดสินจำคุกเป็นเวลา 5 ปี 11 เดือน ต่อมาเจ้าหน้าที่ชุดจับกุม ได้สืบสวนขยายผลพบว่านายปีเตอร์ สั่งซื้อยาเสพติดมาจากนายเฟเดริโก้  โดยมียอดการสั่งซื้อมากกว่า 200,000 บาทในระยะเวลากว่าปีเศษ และในห้วงเวลาเดียวกันพบว่านายเฟเดริโก้ ฯ ได้รับโอนเงินจากชาวต่างชาติรายอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เกาะสมุยและเกาะพะงันอีกหลายราย ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นเงินที่ได้มาจากการซื้อขายยาเสพติดในเครือข่ายเดียวกัน โดยมีเงินหมุนเวียนในบัญชีกว่า 71 ล้านบาท 

ด้าน พล.ต.ต.เสริมพันธุ์ ฯ ผบก.ภ.จว.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การปฏิบัติการในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่ ตม.จว.สุราษฎร์ธานี และภ.จว.สุราษฎร์ธานี ตนได้สั่งการให้พนักงานสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานจนนำไปสู่การขออนุมัติออกหมายจับนายเฟเดริโก้ ฯ และเข้าตรวจค้นเครือข่ายอีก 3 จุด จนกระทั่งจับกุมผู้ต้องหาได้อีก 2 รายตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น 

พล.ต.ต.ทรงโปรด ฯ ผบก.ตม.6 กล่าวด้วยว่า นายแอนทอนได้มีจัดตั้งบริษัท เพียว เฮ้าส์ พะงัน จำกัด ขึ้นมาประกอบธุรกิจให้บริการรับทำความสะอาดวิลล่าที่พักอาศัย สวน และสระน้ำให้กับชาวต่างชาติ โดยมีลักษณะให้คนไทยเข้ามาถือหุ้นแทนหรือนอมินี เพื่อบังหน้าปกปิดการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด     

โดยบริษัทดังกล่าวมีทุนจดทะเบียน 4,000,000 บาท มีลักษณะการถือหุ้นที่ผิดปกติโดยมีคนไทยถือหุ้น ในสัดส่วน 100 เปอร์เซ็นต์ มีนายแอนทอน และภรรยาชาวรัสเซีย เป็นกรรมการพบว่ามี น.ส.มีนา บุคคลสัญชาติไทยเป็นผู้ถือหุ้นแทนนายแอนทอน เพื่อให้ได้ประกอบธุรกิจในราชอาณาจักรตามเงื่อนไขของการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทฯ ซึ่งเงินที่ใช้ในการลงทุนทั้งหมดเป็นของนายแอนทอน ฯ  

เจ้าหน้าที่จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน สภ.เกาะพะงัน ให้ดำเนินคดีกับ น.ส.มีนา ในข้อหาให้ความช่วยเหลือ หรือสนับสนุน หรือร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว อันเป็นธุรกิจให้บริการรับทำความสะอาดวิลล่าที่พักอาศัย บ้านพักตากอากาศ ดูแลสวน และสระว่ายน้ำอันเป็นธุรกิจที่กำหนดไว้ท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 บัญชี3 (21) การทำธุรกิจบริการอื่นๆ ที่ไม่ได้กำหนดไว้ในกฎกระทรวง เพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนกฎหมาย  และนายแอนทอน ฯ ในข้อหายินยอมให้คนไทยช่วยเหลือให้ตนเองได้ประกอบธุรกิจบริการรับทำความสะอาดวิลล่าที่พักอาศัย บ้านพักตากอากาศ ดูแลสวน และสระน้ำ อันเป็นธุรกิจที่กำหนดไว้ท้ายบัญชี 3 (21) การทำธุรกิจบริการอื่น ๆ ที่ไม่ได้กำหนดไว้ในกฎกระทรวง และประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 8 และมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ในส่วนผู้ถือหุ้นรายอื่นยังไม่พบข้อบ่งชี้ว่ามีการถือหุ้นแทนคนต่างชาติ
 
รรท.ผบช.สตม.กล่าวอีกว่า พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร.ได้สั่งการให้ทุกหน่วยเร่งกวาดล้างบริษัทนอมินีที่ใช้คนไทยถือหุ้นบังหน้า รวมทั้งกวาดล้างอาชญากรรมที่กระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยว ซึ่งเป็นไปตามนโยบายหลักของ น.ส.แพทองธาร ชิณวัตร นายกรัฐมนตรี และต่อจากนี้ไปจะให้ ตม.ทุกจังหวัด ประสานการปฏิบัติกับตำรวจพื้นที่เร่งตรวจสอบพฤติกรรมชาวต่างชาติ และบริษัทที่ประกอบธุรกิจในลักษณะที่เป็นมอมินี หากตรวจพบจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุดทุกราย

‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ เผย ‘บอร์ด สสว.’ เห็นชอบงบกองทุน 2,300 ล้านบาท เฟสแรกยกระดับเอสเอ็มอี พัฒนากิจการ เพิ่มขีดความสามารถ หมุนเวียนธุรกิจ 

(19 ธ.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะประธานกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ดส่งเสริมฯ สสว.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณ 2,300 ล้านบาท ในการดำเนินงานภายใต้โครงการสนับสนุน SME ผ่านกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ สสว.เคยขอจัดสรรเพิ่มเติม วงเงิน 5,000 ล้านบาท 

นายประเสริฐ กล่าวว่า งบประมาณดังกล่าว เริ่มในปีงบประมาณ 2567 ที่ สสว. ได้ขอจัดสรรงบประมาณประจำปี 2567 เพิ่มเติมจำนวน 5,000 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์ เพื่อให้เอสเอ็มอีกู้ยืมสำหรับดำเนินการก่อตั้ง ปรับปรุง และพัฒนากิจการของเอสเอ็มอีให้มีประสิทธิภาพและขีดความสามารถเพิ่มขึ้น รวมทั้งเพื่อเป็นเงินช่วยเหลืออุดหนุนหรือลงทุนใดที่เกี่ยวกับการขยายกิจการ การวิจัย พัฒนาและการส่งเสริมเอสเอ็มอีให้มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแข่งขันในปัจจุบัน สสว. จึงได้ทบทวนและปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงาน โดยได้ขออนุมัติวงเงินงบประมาณเบื้องต้นคือ จำนวน 2,300 ล้านบาท เพื่อจัดทำโครงการสนับสนุน SME ผ่านกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งแนวการดำเนินงานได้แก่ 1.การสนับสนุนเงินกู้ให้แก่ผู้ประกอบการ วงเงินงบประมาณ 2,000 ล้านบาท สำหรับดำเนินการก่อตั้ง ปรับปรุง และพัฒนากิจการของเอสเอ็มอี ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และ 2. สนับสนุนงบประมาณโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS (Business Development Service) ปีงบประมาณ 2569-2570 เพิ่มเติม วงเงินงบประมาณ 300 ล้านบาท

สำหรับ โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS คือ สสว. จะอุดหนุนค่าใช้จ่ายแบบร่วมจ่าย (Co-payment) เป็นสัดส่วนตามขนาดของธุรกิจตามนิยามเอสเอ็มอีของ สสว. คือ นิติบุคคล/บุคคลที่จดทะเบียน ภาครัฐ/วิสาหกิจชุมชน 

“ธุรกิจขนาดไมโคร วงเงินสนับสนุนไม่เกิน 50,000 บาท หรือ สสว. สนับสนุน ร้อยละ 80 MSME จ่ายร้อยละ 20 และสำหรับเอสเอ็มอีขนาดเล็ก หรือ SMALL วงเงินสนับสนุนไม่เกิน 1 แสนบาท โดย สสว. สนับสนุน ร้อยละ 80 เช่นกัน ส่วนนิติบุคคล ขนาดธุรกิจ คือขนาดกลาง สสว. สนับสนุน ร้อยละ 50 วงเงินสนับสนุน ไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้ เอสเอ็มอีแต่ละรายจะได้รับการอุดหนุนทั้งหมดไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าว

เชียงใหม่-กิจกรรมหน่วยมิตรประชากองบิน 41 ครั้งที่ 1/68 โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ 1

เมื่อวานนี้ (19 ธ.ค.67) นาวาอากาศเอก ปรธร จีนะวัฒน์ ผู้บังคับการกองบิน 41 เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมหน่วยมิตรประชากองบิน 41 ครั้งที่ 1/68 โดยมี ดร.โรจนไชย์ สมจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ 1 พร้อมด้วยผู้นำชุมชน คณะครู และผู้ปกครอง ให้การต้อนรับ หัวหน้าหน่วยขึ้นตรงกองบิน 41 ข้าราชการ และสมาชิกชมรมแม่บ้านทหารอากาศกองบิน 41 ร่วมกิจกรรม ณ โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ 1 ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

ภายในกิจกรรม ผู้บังคับการกองบิน 41 ได้มอบทุนการศึกษา ทุนอาหารกลางวัน ถุงยังชีพ และผ้าห่มกันหนาว ให้แก่เด็กนักเรียนโรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ 1 และผู้ปกครองที่มาร่วมกิจกรรม

นอกจากนี้คณะหน่วยมิตรประชากองบิน 41 ได้ให้บริการ ด้านการแพทย์ตรวจรักษา ให้คำแนะนำด้านสุขภาพ จากหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จากโรงพยาบาลกองบิน 41 และบริการตัดผม โดยแผนกสวัสดิการกองบิน 41 พร้อมทั้งได้จัดเลี้ยงอาหารกลางวัน ขนมโดนัทรวมถึงน้ำผลไม้อีกด้วย

ทีมThink Tank 'รัฐมนตรีเฉลิมชัย' เผยแนวทางขับเคลื่อนโครงการโลว์คาร์บอน ไทยแลนด์เพิ่มพื้นที่สีเขียวลดโลกร้อนพร้อมเดินหน้าพัฒนาป่าชุมชนสู่ป่าคาร์บอนเพิ่มรายได้ชุมชนทุกภาค 1.1 หมื่นแห่ง

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน)และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์เปิดเผยวันนี้หลังจากเป็นประธานการประชุมที่ปรึกษาของรมว.ทส. ว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้แต่งตั้งที่ปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆจากทุกภาคส่วนทำหน้าที่เสมือนคลังสมอง(Think Tank)เพื่อนำเสนอวิสัยทัศน์และแนวทางนโยบายรวมทั้งโครงการต่างๆภายใต้ภารกิจของกระทรวง ทส.โดยได้มีการประชุมหารือภารกิจหลัก 6 ด้าน
1.ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้และสัตว์ป่า ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
2.ด้านทรัพยากรน้ำทั้งระบบ
3.ด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ขยะ และมลพิษ 
4. ด้านยุทธศาสตร์ แผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและเมกะโปรเจค
5.ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ
6.ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ที่ประชุมมีการแลกเปลี่ยนแนวคิดและข้อเสนอใหม่ๆที่น่าสนใจหลายประเด็นเช่น
การขยายความร่วมมือกับองค์การอาหารแห่งสหประชาชาติ(FAO)ภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก องค์การยูเนสโกธนาคารโลกและ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA)ทางด้านการรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change)เช่นปัญหาความมั่นคงอาหาร ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ปัญหากรุงเทพจม ปัญหาน้ำท่วมภัยแล้ง ปัญหาความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งประเด็นBlue BondและGreen Bond นอกจากนี้ยังมีการหารือแนวทางการพัฒนาป่าชุมชน(Community Forest) สู่ป่าคาร์บอน(Carbon Forest)เพิ่มพื้นที่สีเขียวลดโลกร้อนพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนกว่า1.1หมื่นแห่งทุกภาคทั่วประเทศให้เป็นแหล่งอาหารชุมชน (Community Food Bank) แหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Bank)แหล่งคาร์บอน (Carbon Bank) แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecological Tourism)โดยใช้รูปแบบการบริหารจัดการใหม่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคีในพื้นที่ด้วยโมเดล3หุ้นส่วน ( 3‘P : Public-Private-People Partnership model) ซึ่งถอดบทเรียนจากโครงการสระบุรี แซนด์บ็อก รวมทั้งข้อเสนอโครงการ โลว์คาร์บอน ไทยแลนด์ (Low Carbon  Thailand)ประกอบด้วยโครงการย่อยเชิงโครงสร้างเช่น โลว์คาร์บอน ซิตี้ โลว์คาร์บอน แคมปัส โลว์คาร์บอน อินดัสตรีฯลฯ

“ที่ประชุมยังหารือแนวทางนโยบายการแก้ปัญหากรุงเทพจม ปัญหาPM2.5 ปัญหาขยะ การพัฒนาระบบน้ำในระดับประเทศระดับภาคและEEC การพัฒนาระบบน้ำใต้ดินการลดคาร์บอนด้วยพลังงานทดแทนเช่นโซล่าเซลล์และพลังงานลม  การแก้ปัญหาที่ดินทำกินของราษฎร การสร้างระบบเตือนภัยความร้อน (Heat Sensor) และการพัฒนาระบบความเย็นในเมืองหลวงและเมืองใหญ่ การสร้างเมืองน่าอยู่ (Liveable City) และแนวทางในการส่งเสริมสนับสนุนสถานภาพและการปฏิบัติหน้าที่ของอาสาสมัครในสังกัดกระทรวง ทส.ที่มีอยู่เกือบ3แสนคนเป็นต้น โดยจะนำเสนอต่อรัฐมนตรี ทส.เพื่อพิจารณาต่อไป“ นายอลงกรณ์กล่าวในที่สุด

สำหรับการประชุมครั้งนี้มีที่ปรึกษาที่เข้าร่วมประชุมแบบอินไซท์และออนไลน์ได้แก่ ศจ.ดร.ดุสิต เครืองาม ,รศ.ดร. ไพบูลย์ กวินเลิศวัฒนา ,ดร.ประกอบ รัตนพันธ์ ,พล.ร.อ.ดร.สมัย ใจอินทร์ ดร.มณทิพย์ ศรีรัตนา,นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท,นางกันตวรรณ ตันเถียร กุลจรรยาวิวัฒน์,พล.อ.ประชาพัฒน์ วัจนะรัตน์,ร.ต.ปรพล อดีเรกสาร,พล.อ.รักเกียรติ พันธุ์ชาติ,ดร.วสุเชษฐ์ โสภณเสถียร,นายฉัตรพันธ์ เดชกิจสุนทร,นายภานุ สุขวัลลิ ฯลฯ

'พิชัย' โชว์วิชั่นบนเวทีอาเซียน-ญี่ปุ่น ดึงดูดการค้า-ลงทุน ให้ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนเบอร์ 1 ต่อเนื่อง ย้ำไทยพร้อมเป็นฮับการผลิต PCB - Data Center - AI - ยานยนต์ยุคใหม่ ของอาเซียน

(20 ธ.ค.67) เวลา 11.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกล่าวเปิดงาน 'ASEAN-Japan Economic Co-Creation Forum 2024' ตามคำเชิญของ Mr. MUTO Yoji (นายมูโตะ โยจิ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่น เป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ มุมมองและแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน โดยมี Mr. Nguyen Hong Dien (นายเหงียน ห่ง เตี้ยน) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม เลขาธิการอาเซียน ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น(JCCI) ผู้แทนจากทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ตลอดจนคณะผู้บริหารจากบริษัทชั้นนำและผู้เชี่ยวชาญจากทั้งอาเซียนและญี่ปุ่นร่วมงานกว่า 300 ราย

นายพิชัยกล่าวว่า ไทยกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ดีกันมาอย่างต่อเนื่อง เรามีรัฐประหารในปี 2014 การลงทุนจากต่างชาติลดลงต่อเนื่อง แต่เมื่อเรากลับมามีรัฐบาลจากการเลือกตั้งการลงทุนก็กลับมา วันนี้เราอยากเห็นญี่ปุ่นกลับมาลงทุนในไทยเป็นเบอร์หนึ่งของไทยต่อไป ซึ่งไทยให้ความสำคัญกับการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อาทิ PCB เซมิคอนดักเตอร์ ดิจิทัล AI ยานยนต์ยุคใหม่ และพลังงานสะอาด 

ไทยมีความพร้อมในการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่จะเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมใหม่ โดยมีการส่งเสริมการลงทุนและการผลิตอุตสาหกรรมใหม่ ยานยนต์ยุคใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไทยยังพร้อมเป็นฮับ PCB ของภูมิภาคด้วย ที่ผ่านมาเราทำงานร่วมกับ UAE ในการทำ Intelligence center และร่วมกับบริษัท  Microsoft และ Google สร้างการลงทุนขนาดใหญ่  พร้อมที่จะเป็นฐานการผลิตและที่ตั้งของ Data Center ของอาเซียน 

“วันนี้ขอต้อนรับนักลงทุนจากทั่วโลกที่จะเข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยไทยมีแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติที่ครอบคลุมแนวทางในการพัฒนาและการรับมือต่อความท้าทายด้าน AI ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับการพัฒนาพลังงานสะอาดซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของไทย” นายพิชัย กล่าว

นายพิชัย ระบุเพิ่มเติมว่า อาเซียนและญี่ปุ่นเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนร่วมกัน จึงได้จัดทำข้อริเริ่ม “การออกแบบอนาคตและแผนปฏิบัติการสำหรับการร่วมสร้างสรรค์ด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนของความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น” เมื่อปี 2566 เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจและรับมือกับความท้าทายทางสังคมระหว่างกัน โดยเตรียมจัดทำแผนแม่บทสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ยุคต่อไประหว่างอาเซียน - ญี่ปุ่น และแผนการดำเนินการร่วมสร้างสรรค์ต่อนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2568 เพื่อให้ความเห็นชอบทั้งสองแผนดังกล่าวในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน – ญี่ปุ่น ครั้งที่ 31 ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงปลายปี 2568 อันจะนำไปสู่การพัฒนาให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกยานยนต์ยุคใหม่ รวมถึงการนำดิจิทัลและ AI มาปรับใช้ในการขับเคลื่อนการเติบโตของภูมิภาคอาเซียนและญี่ปุ่นในทศวรรษต่อไป

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ในปี 2566 การค้าระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น มีมูลค่า 241,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ของอาเซียน ขณะที่ญี่ปุ่นมีการลงทุนโดยตรงในอาเซียน เป็นมูลค่า 14,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่งถือว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ลงทุนในอาเซียนมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ขณะที่การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ในปี 2566 ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทย มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 55,789 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปญี่ปุ่น 24,594ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เครื่องจักรและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล แผงวงจรไฟฟ้า และไทยนำเข้าจากญี่ปุ่น 31,195 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์

'เผ่าภูมิ' นำ EXIM บุกแดนจิงโจ้ ถก CEO Standard Chartered และ EFA เชื่อมกลไกการเงินผลักลงทุน 2 ประเทศ หนุนกระบะไทยในออสฯ

(20 ธ.ค.67)ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยหลังจากที่ได้นำคณะธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) หารือกับนาย John Hopkins กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร องค์กรการส่งออกแห่งประเทศออสเตรเลีย (Export Finance Australia (EFA)) และนาย Jacob Berman ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคาร Standard Chartered Australia ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ว่า

การหารือกับทั้งสององค์กรได้เน้นถึงการเสริมสร้างความร่วมมือกับ EXIM BANK ในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมมือในรูปแบบ Co-financing และ Blended finance เชื่อมกลไกทางการเงินเพื่อเพิ่มช่องทางการค้าระหว่างประเทศซึ่งกันและกัน โดยการสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจหรือโครงการต่างๆ การแสวงหาโอกาสการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจด้านพลังงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะการลงทุนในภาคธุรกิจพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน (Sustainable Infrastructure)  ธุรกิจด้านอุตสาหกรรมยานยนต์โดยเฉพาะตลาดรถกระบะซึ่งออสเตรเลียเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย ธุรกิจด้านการศึกษาซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวสูงในรูปแบบ Joint Program นอกจากนั้นยังหารือแนวทางในการให้ไทยเป็นช่องทางเปิดรับการลงทุนของกองทุนบำนาญของออสเตรเลียในอนาคต

นอกจากนั้นยังได้หารือถึงการใช้กลไกทางการเงินของทั้งสองฝ่ายสนับสนุน Digital Asset ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวสูงภายใต้การนำของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ และยังหารือถึงช่องทางการนำผู้ประกอบการไทยเข้าลงทุนในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในออสเตรเลียซึ่งกำลังประสบปัญหาการขาดอุปทานของที่อยู่อาศัย

พร้อมนี้ยังได้เชิญชวนสถาบันการเงินออสเตรเลียเข้ามาลงทุนใน Financial Hub ของไทยซึ่งกำลังอยู่ในกระบวนการร่าง พ.ร.บ. ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน พ.ศ. .... ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในต้นปีหน้า

‘พีระพันธุ์’ ผุดไอเดียแปลงพลังน้ำเป็นพลังงานไฟฟ้า ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากอย่างยั่งยืน แถมชาวบ้านได้ใช้ไฟราคาถูก

‘พีระพันธุ์’ ผุดไอเดียแปลงพลังน้ำเป็นพลังงานไฟฟ้า แก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากอย่างยั่งยืน แถมประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูก

จากการลงพื้นที่ภาคใต้ของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา นายพีระพันธุ์ได้เปิดเผยถึงวิธีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืนอีกแนวทางหนึ่ง นั่นคือ การแปลงพลังงานน้ำให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งนอกจากจะช่วยชะลอกระแสน้ำไม่ให้สร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่ประชาชนแล้ว ความแรงของกระแสน้ำยังสามารถนำไปผลิตไฟฟ้าในต้นทุนต่ำเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าของครัวเรือน และยังเป็นแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับใช้ในการเกษตรได้ด้วย

นายพีระพันธุ์กล่าวว่า จากการไปตรวจเยี่ยมและพบปะประชาชนครั้งนี้ ตนเห็นว่าในบางพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำมากและไหลแรงสามารถนำกระแสน้ำมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าได้ ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางในการแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากอย่างยั่งยืน และสามารถช่วยเหลือเกษตรกรให้มีน้ำใช้ในการเพาะปลูก อีกทั้งยังช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำมีต้นทุนถูกกว่าการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติหลายเท่า โดยตนได้มอบหมายให้ทางพลังงานจังหวัดศึกษาข้อมูลรายละเอียดและประสานงานกับส่วนกลางเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ต่อไป 

“จากการที่ผมได้ไปตรวจเยี่ยมติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่ บ้านห้วยน้ำเน่า อ.สิชล ผมก็ได้แนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมอีกวิธีหนึ่ง พื้นที่ตรงนั้นมีปริมาณน้ำเยอะและไหลแรง แต่ผมไม่ได้เห็นเป็นแค่น้ำ ผมเห็นเป็นไฟฟ้า ผมเลยคิดว่าตรงนี้น่าจะทำเป็นแหล่งเก็บน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กให้ชาวบ้าน ซึ่งจะช่วยชะลอน้ำเวลาถึงฤดูน้ำหลาก และยังสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร ขณะเดียวกัน แรงของน้ำที่ไหลผ่านยังสามารถนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างน้อย 2 เมกะวัตต์ ซึ่งสามารถดูแลพี่น้องประชาชนได้ประมาณ 400 ครัวเรือน และจะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าหลัก ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยเพราะผลิตจากก๊าซ ขณะที่ต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำอยู่ที่ประมาณ 1 บาทกว่า ๆ เท่านั้น ผมกำลังให้กระทรวงพลังงานรวบรวมข้อมูลและศึกษาความเป็นไปได้เพื่อจัดทำเป็นโครงการต้นแบบในการแก้ปัญหาน้ำท่วมอีกแนวทางหนึ่ง” นายพีระพันธุ์กล่าว

เปิดกลยุทธ์เครมลิน เหตุใดตะวันตกคว่ำบาตร แต่เศรษฐกิจรัสเซียยังโต

(20 ธ.ค.67) ในช่วงหนึ่งของการแถลงข่าวความยาว 4 ชั่วโมง ปูตินได้กล่าวถึงสภาพเศรษฐกิจของรัสเซีย โดยคาดว่าในปี 2025 อัตราการเติบโตทาง GDP อยู่ที่ราว  2-2.5% และกล่าวว่าเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของรัสเซียมาจากการมี 'อธิปไตย' ของตนเอง

ปูตินกล่าวว่า "ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของรัสเซียเป็นผลมาจากการเสริมสร้างอธิปไตย ซึ่งรวมถึงการนำไปสู่เศรษฐกิจด้วย อธิปไตยมีหลายรูปแบบ รวมถึงอธิปไตยด้านการป้องกัน, อธิปไตยด้านเทคโนโลยี, ด้านวิทยาศาสตร์, การศึกษา และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญโดยเฉพาะสำหรับประเทศของเรา เพราะเมื่อเราสูญเสียอธิปไตย เราจะสูญเสียอำนาจของรัฐ นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด"

เส้นทางของรัสเซียสู่การมีอธิปไตยทางเศรษฐกิจของรัสเซียเริ่มต้นมานานหลายทศวรรษ แต่มาประสบความสำเร็จอย่างชัดเจนจากการที่ตะวันตกเริ่มคว่ำบาตรมากขึ้นตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งนักวิเคราะห์การเงินที่มีประสบการณ์ พอล กอนชารอฟ กล่าวกับสปุตนิกว่า การคว่ำบาตร 'ที่รุนแรง' เริ่มต้นขึ้นในปี 2014

"ในปี 2014 นับเป็นยุคของ 'การคว่ำบาตรที่รุนแรง' เริ่มต้นขึ้นกับรัสเซีย และในแต่ละปีที่ตามมา ปริมาณของการคว่ำบาตรก็เพิ่มขึ้น จนทำให้ปัจจุบันรัสเซียกลายเป็นไม่กี่ชาติบนโลกที่ถูกคว่ำบาตรมากที่สุด แต่ก็ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจที่สุดเช่นกัน" กอนชารอฟกล่าวในบทสัมภาษณ์กับสปุตนิก

รัสเซียสามารถเอาชนะแรงกดดันจากการคว่ำบาตรได้ด้วยการก้าวไปทีละขั้น เริ่มต้นจากการลงทุนในความพึ่งพาตนเองทางการเกษตรเพื่อ ลดการพึ่งพาการนำเข้า รวมถึง "การกระตุ้นการผลิตสินค้าทดแทนการนำเข้าที่สำคัญสำหรับเครื่องจักรและเทคโนโลยี" 

มอสโกค่อย ๆ เริ่มตระหนักว่าการมีพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่สามารถทำได้กับประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรจากตะวันตก กอนชารอฟกล่าว พร้อมชี้ว่า รัสเซียให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ดี กับประเทศในกลุ่ม BRICS การขยายตัวของกลุ่ม BRICS และการใช้สกุลเงินอธิปไตยที่ไม่ใช่ดอลลาร์สหรัฐและยูโร ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการของรัฐบาลหลายชาติที่ต้องการออกจาก 'อิทธิพล' ของกลุ่ม G7 และระบบการชำระเงินของพวกเขา

"กลยุทธ์ของรัสเซีย โดยเฉพาะหลังจากที่ถูกตัดออกจากระบบธนาคาร SWIFT ในปี 2022 ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นกลยุทธ์ที่ถูกต้อง"  กอนชารอฟ กล่าว

"รายได้จากภาษีการนำเข้าของรัสเซียในตะวันตกลดลง แต่สวนทางเพิ่มขึ้นในการนำเข้าจากประเทศแถบภูมิภาคตะวันออกหลายหมื่นล้านดอลลาร์ การส่งออกของรัสเซียเพิ่มขึ้น 31 พันล้านดอลลาร์หลังจากที่ตะวันตกดำเนินการคว่ำบาตรการค้าหลังปี 2022 ซึ่งเป็นยังเป็นผลดีต่อประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และประเทศในตะวันออกกลาง แอฟริกา และกลุ่มประเทศ Mercosur (ที่ประกอบด้วย อาร์เจนตินา บราซิล ปารากวัย อุรุกวัย และเวเนซูเอลา) ต่างได้รับประโยชน์จากการแยกตัวของรัสเซียจากตะวันตก" 

ในที่สุด รัสเซียก็สามารถหาพันธมิตรใหม่ๆ นอกกลุ่มตะวันตก โดยผูกเศรษฐกิจของตนเข้ากับประเทศกำลังพัฒนาที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง

"สินค้าจำเป็นทุกประเภทได้ถูกแทนที่โดยการผลิตในรัสเซีย หรือจากประเทศที่ตอนนี้ถูกมองว่าเป็น 'ประเทศมิตร' เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐไม่ได้ถูกใช้ในการชำระภาระทางการค้าระหว่างประเทศอีกต่อไป ประกอบกับเงินดอลลาร์ที่มีอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่อนข้างผันผวน ก็กำลังทำให้การชำระเงินในสกุลอื่นเป็นระบบที่นิยมมากขึ้น

กอนชารอฟกล่าวสรุปว่า "การแทนที่สินค้านำเข้า การค้าด้วยสกุลเงินท้องถิ่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานไปยังทิศทางกลุ่มประเทศแถบโลกใต้และโลกตะวันออก การเบนเข็มน้ำมันและก๊าซไปยังโลกใต้และโลกตะวันออก และการมีส่วนร่วมในการขยายและพัฒนากลุ่มประเทศ BRICS ในฐานะแนวหน้าทางเศรษฐกิจใหม่ ล้วนเป็นการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จ และสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของรัสเซียและชาติพันธมิตรมากขึ้นเรื่อย ๆ"


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top