Saturday, 5 July 2025
NewsFeed

คณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดตัวห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ระบบอัตโนมัติแบบครบวงจร

(18 พ.ย. 67) ศ.(เชี่ยวชาญพิเศษ) นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. เป็น ประธานและกล่าวต้อนรับในพิธีเปิดแถลงข่าวสื่อมวลชน “การเปิดตัวห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ระบบอัตโนมัติแบบครบวงจร (Complete Integrated Total Lab Automation) แห่งแรกและแห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยเทคโนโลยีทางห้องปฏิบัติการสูงสุด” โดยเป็นห้องปฏิบัติการฯระบบครบวงจรไร้รอยต่อตั้งแต่การเจาะเลือด การตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการเคมีคลินิก ภูมิคุ้มกัน โลหิตวิทยา จนถึงการจัดการสิ่งส่งตรวจหลังการตรวจวิเคราะห์ เพื่อให้การบริการเป็นที่ยอมรับ สร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ผู้ใช้บริการโดยมี รศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มช. กล่าวนโยบายของคณะแพทยศาสตร์ มช. ในการสนับสนุนการเปิดห้องปฏิบัติการฯ พร้อมด้วย ผศ.นพ.ธนัฐ วานิยะพงศ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ กล่าวศักยภาพและการให้บริการ พร้อมนำเยี่ยมชม ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ระบบอัตโนมัติแบบครบวงจร แห่งแรกและแห่งเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยเทคโนโลยีทางห้องปฏิบัติการสูงสุด ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 ณ ชั้น 15 อาคารเฉลิมพระบารมี และ ห้องปฏิบัติการชันสูตร ชั้น 1 อาคารตะวัน กังวานพงศ์ คณะแพทยศาสตร์ มช.

'ไมค์ ภาณุพงศ์' เผ่นหนีออกนอก โผล่ ‘แคนาดา’ อ้างเหตุ ไม่เชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรมของไทย

เมื่อวันที่ (18 พ.ย 67) นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ อดีตแกนนำม็อบสามนิ้ว จำเลยกระทำความผิดคดีอาญามาตรา 112 ซึ่งได้หลบหนีคดีไปต่างประเทศ โพสต์ภาพบัตรประจำตัวผู้มีภูมิลำเนาถาวรที่ประเทศแคนาดา พร้อมข้อความระบุว่า คำถามที่ถูกตั้งขึ้นโดยสลิ่มว่า “ไม่ผิดแล้วหนีทำไม?”

นายภาณุพงศ์ อ้างว่า ตั้งแต่ปี 2563 ที่ตนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี ศาลกลับไม่ออกหมายเรียกพยานหลักฐานที่สำคัญให้กับตนเองและเพื่อนร่วมคดีเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ ตนจะสามารถเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมไทยได้อย่างไร? แล้วจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองได้อย่างไร?

หากตนเป็นอาชญากรจริงตามที่รัฐไทยกล่าวหาใส่ร้าย ตนก็คงไม่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในประเทศที่ได้ชื่อว่าปลอดภัยในชีวิตติดอันดับโลก อีกทั้งยังเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว

เมื่อกระบวนการยุติธรรมไทยไม่สามารถให้ความยุติธรรมได้ ตนจึงจำเป็นต้องพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองในประเทศที่มีระบบยุติธรรมที่น่าเชื่อถือและโปร่งใสมากกว่าครับ และผลพิสูจน์ก็ชัดเจนแล้วว่าผมไม่ได้เป็นอาชญากรตามที่รัฐไทยกล่าวหา #ยกเลิก112

ผู้นำอิเหนาเปิดแผนดันอินโดนีเซียเป็นชาติสมาชิก เผยอยากเข้าร่วม BRICS ตั้งแต่ 10 ปีก่อน

(19 พ.ย.67) สำนักข่าว sputnik รายงานว่า ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ปราโบโว ซูเบียนโต กล่าวต่อสื่อรัสเซียว่า เขามีแผนอยากให้ประเทศเข้าร่วมสมาชิกกลุ่ม BRICS ตั้งแต่ปี 2014 หรือเมื่อ 10 ปีก่อน ในสมัยที่เขาลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอินโดนีเซียสมัยแรก

"จริง ๆ แล้ว ผมเคยประกาศในช่วงตอนหาเสียงปี 2014 ว่าหากผมได้เป็นประธานาธิบดี ผมจะพาอินโดนีเซียเข้าร่วมกลุ่ม BRICS” ซูเบียนโตกล่าวต่อสื่อรัสเซียในระหว่างการประชุม G20 ที่ประเทศบราซิล

ซูเบียนโตย้ำถึงความตั้งใจของอินโดนีเซียที่จะเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS และเสริมว่าเรื่องนี้มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่ซูเบียนโตได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี เขาเผยว่าเขาได้แต่งตั้งคณะทำงานชุดหนึ่ง พร้อมส่งรัฐมนตรีต่างประเทศบินไปยังเมืองคาซาน เพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอด BRICS ในฐานะรัฐผู้สังเกตการณ์ ... ซึ่งแสดงเจตนารมณ์ว่าเราต้องการเข้าร่วมกับ บราซิล อินเดีย และประเทศ BRICS อื่น ๆ เราคิดว่านี่จะเป็นองค์ประกอบใหม่ที่สำคัญในเศรษฐกิจโลก” ประธานาธิบดีกล่าว 

ผลการเข้าร่วมประชุมที่คาซาน ส่งผลให้อินโดนีเซียได้กลายเป็นรัฐพันธมิตรกลุ่ม BRICSในระหว่างการประชุมสุดยอดครั้งที่ 16 ของกลุ่ม BRICS ที่เมืองคาซานของรัสเซีย

ในฐานะชาติหุ้นส่วนจะช่วยให้อินโดนีเซีย สามารถเข้าร่วมการประชุมในวาระต่าง ๆ ของ  BRICS และการประชุมระดับรัฐมนตรีกลุ่มชาติ BRICS ได้มากขึ้น อาทิ การค้าและความมั่นคงแห่งชาติ และฟอรัมรัฐสภา ซึ่งในฐานะชาติหุ้นส่วนถือว่าเป็นก้าวแรกสู่การเข้าเป็นชาติสมาชิก BRICS ได้อย่างเต็มตัว

BRICS เป็นสมาคมระหว่างรัฐบาลที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2006 รัสเซียรับตำแหน่งประธานหมุนเวียนของกลุ่มเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2024 ปีเริ่มต้นด้วยการเข้าร่วมของสมาชิกใหม่เข้าเป็นสมาชิกของสมาคม นอกจากรัสเซีย บราซิล อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้แล้ว ปัจจุบัน BRICS ยังมีชาติหุ้นส่วนคือ อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย ตามเว็บไซต์ของตำแหน่งประธาน BRICS ของรัสเซียในปี 2024 มีรายงานว่าซาอุดีอาระเบียไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการในการเข้าร่วม แต่ได้เข้าร่วมการประชุม BRICS ที่เมืองคาซานที่ผ่านมา

โอปอล สุชาตา มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2024 โพสต์เฟซบุ๊ก 18 พ.ย. 67

เมื่อวันที่ (18 พ.ย. 67) โอปอล - สุชาตา ช่วงศรี มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2024 ตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประกวดนางงามจักรวาล 2024 ครั้งที่ 73 ณ ประเทศเม็กซิโก และได้ตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับ 3 ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวภายหลังจบการประกวด ว่า  ไม่เสียดายและไม่เสียใจ มีแต่ความภาคภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนอย่างดีที่สุด 

ขอบคุณคนไทยทุกคนที่คอยสนับสนุนกันมาเสมอ โอปอลและทีมไทยทุกคนรู้สึกซาบซึ้งในพลังของพวกเราคนไทยมากๆ ค่ะ 

ในวันนี้ไม่มีอะไรที่ต้องเสียดาย ไม่มีอะไรที่ต้องเสียใจ เราได้ทำให้ทุกคนเห็นแล้วถึงความน่าภาคภูมิใจของบ้านเรา ไม่ใช่เพียงแค่โอปอล แต่มันคือพลังของพวกเราคนไทยทุกคน 

โอกาสครั้งเดียวในชีวิต โอปอลดีใจที่ได้ใช้มันร่วมกับทุกคนนะคะ และดีใจที่ได้เป็นคนสร้างความสุข ความสนุกสนานให้กับคนไทย

เราจะเก็บความทรงจำที่ดีเอาไว้ร่วมกัน ว่าครั้งหนึ่ง เรามีความหวัง มีความศรัทธาร่วมกันมา

ต่อจากนี้ไป โอปอลเชื่อว่ายังมีผู้หญิงไทยอีกมากมายที่จะสร้างความภาคภูมิใจให้กับพวกเรา ขอให้ทุกคนเชื่อมั่นต่อไป อย่าหมดหวัง เพราะโอปอลไม่เคยหมดหวังกับคำว่า Thailand เลย

เปิดเส้นทาง 'เชน ธนา' หลังถูกกล่าวหา 'อมาโด้' ฉ้อโกง

(19 พ.ย.67) 'เชน-ธนาตรัยฉัตร ภูโชคอนันต์' หรือที่รู้จักในชื่อ เชน ธนา อดีตศิลปินบอยแบนด์ยุคมิลเลนเนียมจากวง Nice 2 Meet U ได้ผันตัวจากวงการบันเทิงมาสู่วงการธุรกิจเต็มตัว ปัจจุบันเขาเป็นเจ้าของ แบรนด์อมาโด้ ที่ดำเนินธุรกิจอาหารเสริมและสกินแคร์ครบวงจร ภายใต้บริษัท อมาโด้ กรุ๊ป จำกัด

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดชื่อของเชนถูกโยงเข้าสู่คดีความ เมื่อบริษัท ไทยยินตัน จำกัด ผู้รับผลิตอาหารเสริมได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีในข้อหา ร่วมกันฉ้อโกง โดยอ้างว่า อมาโด้กรุ๊ปไม่ยอมจ่ายค่าสินค้ามูลค่ากว่า 79 ล้านบาท พร้อมระบุว่าสินค้าไม่มีคุณภาพตามที่สั่ง  

ฝ่ายไทยยินตันระบุว่าเคยส่งสินค้าตามสัญญาให้กับอมาโด้กรุ๊ป แต่กลับไม่ได้รับชำระเงิน โดยเชนอ้างว่าสินค้าไม่เป็นไปตามข้อตกลง เบื้องต้นพนักงานสอบสวนมองว่าคดีดังกล่าวเป็นข้อพิพาททางแพ่ง ทำให้ไทยยินตันต้องนำหลักฐานยื่นฟ้องต่อศาลเอง  

เมื่ออัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง พนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกให้เชนและภรรยามาพบ แต่ทั้งคู่ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนถึง 3 ครั้ง โดยอ้างปัญหาสุขภาพและติดธุระสำคัญ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องออกหมายเรียกครั้งที่สอง นัดในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมาซึ่งเชนธนา ได้เข้าให้การกับตำรวจในวันดังกล่าว

เชนเริ่มต้นธุรกิจตั้งแต่อายุ 19 ปี ด้วยการเปิดร้านขายสินค้ากิ๊ฟต์ช็อปในสยามสแควร์ ก่อนจะล้มลุกคลุกคลานในธุรกิจอื่น ๆ เช่น เสื้อผ้าที่ประตูน้ำ และการนำเข้าสินค้าออนไลน์  

กระทั่งปี 2557 เขาก่อตั้งบริษัท อมาโด้ กรุ๊ป จำกัด  ด้วยทุนจดทะเบียน 43 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและสกินแคร์เพื่อสุขภาพและความงาม ผ่านช่องทางออนไลน์  

อมาโด้เคยประสบความสำเร็จสูงสุดในปี 2564 ด้วยรายได้รวมกว่า 2,426 ล้านบาท แม้ว่าจะขาดทุนในปีนั้น แต่ในปี 2566 บริษัทกลับมามีกำไรสุทธิ 37 ล้านบาท

ชีวิตส่วนตัวของเชน ธนา สมรสกับ เจมส์ กาลย์กัลยา รองอันดับหนึ่งมิสแกรนด์ไทยแลนด์เมื่อปี 2560 ปัจจุบันมีลูกชายและลูกสาวด้วยกัน 5 คน 

ผลประกอบการของแบรนด์อมาโด้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แบรนด์ อมาโด้ ได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากลูกค้า โดยเฉพาะในปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่มียอดขายสูงสุดกว่า 2,426 ล้านบาท แม้ว่าจะประสบภาวะขาดทุนในปีดังกล่าว รายได้และกำไรสุทธิย้อนหลัง 5 ปี มีรายละเอียดดังนี้:  

- ปี 2562  
- รายได้: 694,132,838 บาท
- กำไรสุทธิ: 41,413,159 บาท  

- ปี 2563  
- รายได้: 2,199,599,901 บาท  
- กำไรสุทธิ: 81,369,124 บาท

- ปี 2564
- รายได้: 2,426,861,701 บาท 
- ขาดทุนสุทธิ: -627,036,969 บาท  

- ปี 2565  
- รายได้: 0 บาท 
- กำไรสุทธิ: 0 บาท  

- ปี 2566  
- รายได้: 1,230,153,981 บาท
- กำไรสุทธิ: 36,919,268 บาท

Apple ง้อ อิเหนา!! ทุ่มเงินลงทุนอีก 100 ล้านดอลลาร์ หวังอินโดนีเซียปลดแบนขายไอโฟน 16

บริษัทแอปเปิล (Apple) ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกาได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มการลงทุนในอินโดนีเซียเป็นจำนวนถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,400 ล้านบาท) ในช่วง 2 ปีข้างหน้า เพื่อพยายามโน้มน้าวให้รัฐบาลอินโดนีเซียยกเลิกคำสั่งห้ามขายไอโฟน 16

ตามรายงานจากบลูมเบิร์ก (Bloomberg) วันนี้ (19 พ.ย.67)  แหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อกล่าวว่า ข้อเสนอใหม่นี้มีเป้าหมายเพิ่มการลงทุนในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียน เป็นจำนวนเงิน 10 เท่าจากแผนการลงทุนเดิม

ก่อนหน้านี้ แอปเปิลเคยมีแผนการลงทุนมูลค่าเกือบ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 346 ล้านบาท) ในการตั้งโรงงานผลิตอุปกรณ์เสริมและส่วนประกอบในเมืองบันดุง ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงจาการ์ตา

อย่างไรก็ตาม หลังจากแอปเปิลยื่นข้อเสนอใหม่เพื่อเพิ่มการลงทุน กระทรวงอุตสาหกรรมอินโดนีเซียที่เคยสั่งห้ามการขายไอโฟน 16 ได้เรียกร้องให้แอปเปิลปรับแผนการลงทุน โดยให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาสมาร์ทโฟนในอินโดนีเซียมากขึ้น กระทรวงยังไม่ได้ตอบรับข้อเสนอล่าสุดจากแอปเปิล

การห้ามขายไอโฟน 16 เกิดขึ้นหลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรมอินโดนีเซียระบุว่าแอปเปิลไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในการใช้วัสดุภายในประเทศในการผลิตสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตอย่างน้อย 40 เปอร์เซ็นต์

ข้อมูลจากรัฐบาลอินโดนีเซียระบุว่า แอปเปิลลงทุนในประเทศนี้เพียง 95 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,200 ล้านบาท) ผ่านศูนย์พัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งยังไม่ถึงข้อตกลงที่กำหนดไว้ที่ 107 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,700 ล้านบาท) โดยมีกรณีเดียวกันเกิดขึ้นกับการระงับการขายโทรศัพท์พิกเซลของกูเกิล

การดำเนินนโยบายเข้มงวดของอินโดนีเซียดูเหมือนจะประสบผลสำเร็จ โดยการห้ามจำหน่ายไอโฟน 16 ได้กลายเป็นเครื่องมือหนึ่งที่รัฐบาลของประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต ใช้กดดันให้บริษัทต่างชาติลงทุนและเพิ่มการผลิตในประเทศ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

วิจัยชี้ อเมริกาโครงสร้างพื้นฐานแย่ ทำรถ EV ในสหรัฐฯ ปีนี้ชะลอตัว

(19 พ.ย. 67) คอกซ์ ออโตโมทีฟ (Cox Automotive) บริษัทวิจัยตลาดของสหรัฐฯ เปิดเผยว่ายอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในสหรัฐฯ เติบโตช้าลงในปี 2024 โดยคาดการณ์ว่ายอดจำหน่ายในไตรมาสสาม (กรกฎาคม-กันยายน) อยู่ที่ 346,309 คัน คิดเป็นเกือบร้อยละ 9 ของยอดจำหน่ายยานยนต์ทั้งหมด

ห้องปฏิบัติการแห่งชาติอาร์กอนน์ ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยที่ได้รับเงินทุนจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ระบุว่ายอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินในสหรัฐฯ ช่วงปี 2023 รวมอยู่ที่ 1.4 ล้านคัน คิดเป็นมากกว่าร้อยละ 9 ของยอดจำหน่ายยานยนต์ทั้งหมดในปีดังกล่าว และเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 จากปี 2022

เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส รายงานว่ายอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตช้าลงในปี 2024 อาจเป็นผลจากความลังเลจะซื้อขายแลกเปลี่ยนยานยนต์ที่ใช้น้ำมันของผู้ขับขี่ เพราะกังวลเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านการชาร์จ ซึ่งเพิ่มขึ้นช้ากว่ายอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้า

ขณะการวิจัยที่นำโดยนักวิจัยของโรงเรียนธุรกิจฮาร์วาร์ด (HBS) พบว่าอุปกรณ์ชาร์จที่พังเสียหายถือเป็นปัญหา โดยหนึ่งในห้าของอุปกรณ์ชาร์จไม่ทำงานเมื่อผู้ขับขี่มาถึง

ทีมนักวิจัยของห้องปฏิบัติการพลังงานหมุนเวียนแห่งชาติสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าสหรัฐฯ มีเสาชาร์จสาธารณะกว่า 2 แสนต้น กระจายอยู่ทั่วสถานีชาร์จราว 74,000 แห่ง แต่สหรัฐฯ จะต้องมีเสาชาร์จอีกมากกว่า 1 ล้านต้นภายในปี 2030 เพื่อตอบสนองได้ทันกับยอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้า

รัสเซียยินดี 'อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย' ร่วมเป็นชาติพันธมิตรกลุ่ม BRICS

(19 พ.ย.67) สำนักข่าว sputnik รายงานว่า นายอเล็กซานเดอร์ ปันกิน รองรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย กล่าวว่า แสดงความยินดีต่อ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ที่กลายเป็นชาติพันธมิตรรายใหม่ของกลุ่ม BRICS แล้ว

นายปันกิน กล่าวว่า การประชุมสุดยอดกลุ่ม BRICS ที่เมืองคาซานแสดงให้เห็นถึงความปรารถนาของกลุ่มประเทศส่วนใหญ่ในโลกที่จะสร้างระเบียบโลกที่ยุติธรรม ปฏิรูปสถาบันระดับโลก และสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียม อีกทั้งมีการบรรลุข้อตกลงชุดหนึ่งที่มั่นคงเกี่ยวกับการค้า การลงทุน ปัญญาประดิษฐ์ พลังงานและสภาพอากาศ และโลจิสติกส์

พวกเรามีเพื่อนร่วมงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) เพิ่มขึ้น ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ได้กลายเป็นหุ้นส่วนอย่างเป็นทางการของกลุ่มเราแล้ว

ทั้งนี้ กลุ่ม BRICS เป็นสมาคมระหว่างรัฐบาลที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2006 รัสเซียรับตำแหน่งประธานกลุ่มแบบหมุนเวียนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2024 ที่ผ่านมา โดยปีนี้มีสมาชิกใหม่ที่เข้าร่วมเป็นชาติพันธมิตรกับกลุ่มมากขึ้นหลายประเทศ

ญี่ปุ่นเล็งใช้รถรางไฮโดรเจนจากจีน ขึ้นภูเขาฟูจิ เมินบริษัทในประเทศ หวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม

(19 พ.ย.67) รัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดยามานาชิ เปิดเผยว่า กำลังพิจารณาใช้ระบบขนส่งพลังงานไฮโดรเจนจากบริษัท ซีอาร์อาร์ซี ฉางชุน เรลเวย์ วีฮิเคิลส์ ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐจากจีน เพื่อพัฒนาระบบขนส่งแทนการเดินเท้าขึ้นภูเขาไฟฟูจิ แทนการใช้ระบบรถรางจากบรรดาบริษัทในท้องถิ่นของญี่ปุ่น เนื่องจากบริษัทผู้วางระบบรถรางในญี่ปุ่นยังไม่สามารถตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการให้บริการของรถรางบนภูเขาไฟฟูจิได้เท่ากับระบบของทางจีน

ระบบขนส่งรถไฟอัจฉริยะไร้รางของจีน หรือ Autonomous Rail Rapid Transit (เออาร์ที) มีลักษณะคล้ายกับรถรางและรถบัส โดยเคลื่อนที่ด้วยล้อยางและวิ่งบนถนนแทนการใช้ราง ขับเคลื่อนด้วยการใช้พลังไฮโดรเจนเป็นหลัก ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบทั้งในช่วงการวางระบบ และการให้บริการ ต่างจากบรรดาผู้พัฒนารถรางญี่ปุ่นที่ส่วนใหญ่เสนอให้ใช้รถรางระบบไฟฟ้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบในช่วงการก่อสร้างและระหว่างการให้บริการ

นายโคทาโร นางาซากิ ผู้ว่าราชการจังหวัดยามานาชิ กล่าวว่า 'โครงการรถรางฟูจิ' จะช่วยลดต้นทุนในการก่อสร้างได้มาก และยังสามารถช่วยลดความแออัดในช่วงฤดูร้อน รวมถึงลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

แม้ว่าโครงการนี้จะได้รับการสนับสนุนจากจีน แต่เขาหวังว่า บริษัทญี่ปุ่นจะเข้ามามีส่วนร่วมและรับผิดชอบโครงการนี้ พร้อมเสริมว่า การตั้งฐานการผลิตของบริษัทที่ได้รับสัมปทานในจังหวัดยามานาชิจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

ทางการจังหวัดยามานาชิได้ประกาศแผนการสร้างระบบขนส่งรางเบาไปยังสถานีที่ 5 บนภูเขาฟูจิซึ่งอยู่ที่ระดับความสูง 2,305 เมตร ตั้งแต่ปี 2021 โดยปัจจุบัน นักท่องเที่ยวสามารถขับรถขึ้นทางด่วนไปยังจุดดังกล่าวแล้วเดินเท้าต่อไปยังยอดภูเขาฟูจิที่อยู่สูง 3,776 เมตร

มีการประเมินว่าต้นทุนการก่อสร้างอาจอยู่ที่ 140,000 ล้านเยน (ราว 31,000 ล้านบาท) ในขณะที่รายงานระหว่างกาลเมื่อเดือนที่แล้วได้เน้นย้ำถึงความท้าทายทางเทคนิคต่าง ๆ รวมถึงเบรกและแบตเตอรี่ที่ทำงานได้ในสภาพอากาศหนาวเย็น หากมีการเลือกใช้ระบบรถรางไฟฟ้าจากผู้ผลิตในประเทศ

โครงการนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จและเริ่มใช้งานได้ในปี 2034 โดยรถรางจะเชื่อมต่อภูเขาฟูจิกับสถานีระดับภูมิภาค และในระหว่างนี้จะมีการศึกษาความเป็นไปได้ในทุกมิติ รวมถึงการทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

‘คงกระพัน’ เผยผลประกอบการ ปตท. 9 เดือน ยังแข็งแกร่ง เดินหน้ารุกธุรกิจคาร์บอนต่ำ หนุนเติบโตรับกระแสพลังงานโลก

(19 พ.ย. 67) ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2567 ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 80,761 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,502 ล้านบาท หรือ 2 % เมื่อเทียบกับ 9 เดือนแรกของปี 2566 โดยหลักจากผลการดำเนินงานของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นตามปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากโครงการ G1/61 ที่เพิ่มอัตราการผลิตก๊าซฯ ในเดือนมีนาคม2567 มีกำไรจากการขายเงินลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และ Life Science รวมทั้งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เพิ่มขึ้น 

แม้ว่าผลการดำเนินงานโดยรวมของ ปตท. และบริษัทย่อยลดลง เช่น ธุรกิจการกลั่นที่มี Market GRM ที่ปรับลดลง รวมทั้งมีผลขาดทุนสต๊อกน้ำมันเพิ่มขึ้น ธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีผลการดำเนินงานลดลง โดยหลักจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ที่มีกำไรขั้นต้นลดลงจากต้นทุนขายที่เพิ่มขึ้น จากผลกระทบของนโยบาย Single Pool ในปีนี้ รวมถึงจากการด้อยค่าสินทรัพย์ธุรกิจปิโตรเคมี ทั้งนี้ กำไรที่มาจากผลการดำเนินงานของบริษัทในเครือ ปตท. คิดเป็น 78% และมาจากผลการดำเนินงานของ ปตท. คิดเป็น 22% แบ่งเป็นกำไรที่มาจากธุรกิจ Hydrocarbon 94% และธุรกิจ Non-Hydrocarbon 6% โดย 9 เดือนแรกของปี 2567 ปตท. และบริษัทในเครือ นำเงินส่งรัฐรวม 42,669 ล้านบาท เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยยั่งยืนอย่างสมดุล

ทั้งนี้ ซีอีโอ ปตท. ยังได้เน้นย้ำเจตนารมณ์การดำเนินธุรกิจเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนอย่างสมดุล มุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) สอดรับกับทิศทางการเติบโตของธุรกิจพลังงานโลก  ผ่านแนวทาง C3 ได้แก่ Climate Resilience Business ปรับ Portfolio ธุรกิจให้เติบโต ควบคู่กับการลดการปล่อยคาร์บอน Carbon-Conscious Asset ปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิต นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ มุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด Coalition, Co-Creation, and Collective Efforts for All 

พร้อมทั้ง ประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีในการลดก๊าซเรือนกระจก ใช้เทคโนโลยีการดักจับและการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage: CCS) รวมถึงเพิ่มการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีทางธรรมชาติ ผ่านการปลูกและบำรุงรักษาป่า ซึ่งสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. โดยศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ ได้รับประกาศเกียรติคุณจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากการจัดการขยะ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 4.848 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า อีกทั้งศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินีได้ขยายผลองค์ความรู้ในการจัดการของเสีย ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 6.848 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า สะท้อนการบูรณาการทุกภาคส่วน พร้อมส่งต่อองค์ความรู้ในการร่วมลดการปลดปล่อยคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรม 

นอกจากนี้ ปตท. ยังเร่งผลักดันธุรกิจใหม่ด้านการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) และธุรกิจไฮโดรเจน เร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการกักเก็บคาร์บอนจากกระบวนการผลิตของบริษัทในกลุ่ม อีกทั้งยังมีการลงทุนในธุรกิจไฮโดรเจนต่างประเทศ รองรับการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มเติม และมีเป้าหมายนำไฮโดรเจนเข้ามาผสมกับเชื้อเพลิงหลักเพื่อลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในอนาคต

อย่างไรก็ดี นอกจากพันธกิจหลักในการรักษาเสถียรภาพทางพลังงานแล้ว ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ได้ร่วมช่วยเหลือและดูแลสังคม เร่งบรรเทาทุกข์ในสถานการณ์วิกฤต โดยได้ส่งมอบความช่วยเหลือแก่พี่น้องผู้ประสบเหตุอุทกภัยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคม ประกอบด้วย ถุงยังชีพ 25,170 ถุง น้ำดื่ม 81,740 ขวด ยารักษาโรค ผ้าห่ม เรือพาย และก๊าซหุงต้มเพื่อใช้ในการประกอบอาหาร รวมมูลค่ากว่า 15.73 ล้านบาท อีกทั้งได้ส่งทีมปฏิบัติการ PTT Group SEALs ลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ยากแก่การเข้าถึง พร้อมสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในการมอบถุงยังชีพ อพยพประชาชน และน้ำมันเชื้อเพลิงในการฟื้นฟูพื้นที่และบ้านเรือนในจังหวัดสุโขทัย เชียงราย และเชียงใหม่อีกด้วย

“ปตท.ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ มุ่งมั่นรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโต ควบคู่กับการดูแลสังคมชุมชน และสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย พร้อมสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติและดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล มุ่งสู่การเติบโตขององค์กรในระดับโลกอย่างยั่งยืน” ดร.คงกระพัน กล่าว

พร้อมกันนี้ ดร.คงกระพัน ยังได้กล่าวถึงธุรกิจผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งบริษัทได้ร่วมมือกับ ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn Group)  ผู้นำการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลก สัญชาติไต้หวัน เพื่อดำเนินการจัดตั้งโรงงานผลิต EV ในประเทศไทย ด้วยว่า ปัจจุบันโรงงานได้หยุดดำเนินการไปก่อน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตร เนื่องจากมีความต้องการให้พันมิตรดังกล่าว เป็นผู้ดำเนินการหลัก เพราะมีความเชี่ยวชาญ โดยหากมีความคืบหน้าจะรายงานให้ทราบอีกครั้งในภายหลัง

ก่อนหน้านี้ PTT ลงนามความร่วมมือกับ ฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn Group) โดยอนุมัติให้ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (Arun Plus) บริษัทย่อย PTT จัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัท ลี่ยี่ อินเตอร์เนชั่นแนล อินเวสเมนท์ จำกัด (Lin Yin) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (Foxconn)ภายใต้บริษัท JV ชื่อ บริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด (Horizon Plus) โดย Arun Plus ถือหุ้น 60% และ Lin Yin ถือหุ้น 40%


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top