Friday, 3 May 2024
GenZ

รู้จัก 'Quiet Quitting' การทำงานสไตล์คน 'Gen Z' ขอแค่ทำตามหน้าที่ ไม่วิ่งตามวัฒนธรรมบูชางาน

นับว่าเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงอย่างมาทั้งใน TikTok และ Twitter เลย เกี่ยวกับเรื่องพฤติกรรมการทำงานของคนรุ่นใหม่ โดยพฤติกรรมนี้มีชื่อเรียกว่า 'Quiet Quitting' หรือ 'QQ' เป็นการใช้ชีวิตเสมือน 'ลาออกแบบเงียบๆ' แต่ 'ไม่ได้ลาออกจริงๆ' โดยใช้วิธีกำหนดขอบเขตการทำงานของตัวเองอย่างชัดเจนเพื่อ 'ลดความเครียด' หรือหาทางหลีกเลี่ยงภาวะหมดไฟในการทำงานไปแบบดื้อๆ

QQ มักมาจากการที่เริ่มรู้สึกว่าความพอใจหรือภูมิใจในงานที่ตัวเองทำอยู่ลดลง ทำให้ไม่ได้รู้สึกกระตือรือร้นกับการทำงานเพื่อการเติบโตอีกต่อไป

ทว่า แม้จะไม่ได้ความสุขกับการทำงานแล้ว แต่ก็ยังไม่พร้อมที่จะลาออก จึงเลือกโฟกัสกับงานในส่วนแค่ที่ตัวเองต้องรับผิดชอบเท่านั้น เพราะไม่ได้รู้สึกว่าต้องการความเติบโตอย่างโดดเด่น แต่อยากมีความบาลานซ์ในชีวิตมากกว่า

ความน่าสนใจคือพฤติกรรมเหล่านี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะ 'Gen Z' ที่มองหา 'งานที่แฟร์' และ 'Work Life Balance' มากกว่าการเติบโตอย่างโดดเด่นในองค์กรที่ต้องแลกมาด้วยการทุ่มเทแรงกายแรงใจเหมือนคนในเจเนอเรชันก่อนๆ

หนังโป๊เป็นเหตุ!! ‘นักวิจัย’ เผย ‘หนุ่ม Gen Z’ มีแนวโน้มเป็นโสดเพิ่มขึ้น ผลจากเสพสื่อลามกมากเกินไป ในช่วงโควิด-19 

นักวิจัยชี้ หนุ่มเจน Z มีแนวโน้มเป็นโสดมากขึ้น เพราะดูหนังโป๊มากเกินไป

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้มีรายงาน บทความ และงานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นถึงอัตราความโสดที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของวัยรุ่นชาย โดยเฉพาะหนุ่มกลัดมันเจน Z จากผลการศึกษาของ Pew Research เมื่อเร็ว ๆ นี้ชี้ให้เห็นถึงตัวเลขที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงด้านการออกเดต และแนวทางชีวิตทางเพศของผู้ชายในช่วงวัยรุ่น ถึงผู้ใหญ่ตอนต้น

พวกเขาพบว่า มีผู้ชายอายุต่ำกว่า 30 ปี อัตรา 63 เปอร์เซ็นต์ เป็นโสด ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 51 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2019 ซึ่งมากกว่าผู้หญิงในกลุ่มอายุเดียวกันเกือบสองเท่า

หนึ่งในสาเหตุนั้นก็คือ พฤติกรรมการเสพสื่อลามกที่เพิ่มขึ้น ตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด-19 ครั้งใหญ่ที่ผ่านมา ทำให้วิถีชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลกจำเป็นต้องเปลี่ยนไป และการกักตัว อยู่ในบ้าน แทบออกไปไหนไม่ได้นั้น กระทบต่อกระบวนการริเริ่มสร้างความสัมพันธ์ในชีวิตจริง โดยเฉพาะการมีเพศสัมพันธ์ที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

ยืนยันอีกเสียงจาก เฟรด เรบิโนวิตซ์ (Fred Rabinowitz) นักจิตวิทยา และนักวิจัยด้านความเป็นชาย แห่งมหาวิทยาลัยเรดแลนส์ (University of Redlands) ได้ให้สัมภาษณ์กับ The Hill ไม่นานมานี้ว่า “เหล่าชายหนุ่มกำลังเสพติดโซเชียลมีเดีย รวมถึงสื่อลามกจำนวนมาก และผมคิดว่าพวกเขาได้รับความต้องการมากมายโดยไม่ต้องออกไปไหน”

จากปกติที่ผู้ชาย 76-87 เปอร์เซ็นต์ อายุ 18-29 ปีมักเสพสื่อลามกเป็นประจำอยู่แล้วยิ่งมีสถานการณ์บังคับเข้ามาจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่กลุ่มวัยรุ่นกลัดมันจะหันเข้าหาสื่อบันเทิงลามกในโลกเสมือนมากขึ้นเพื่อตอบสนองและเติมเต็มความสุขสมทางเพศที่เว้าแหว่งไปจากชีวิตประจำวันของพวกเขา

นั่นส่งผลไปถึงแนวคิดเรื่องการตามหา และพัฒนาความสัมพันธ์แสนโรแมนติกกับเพศตรงข้าม ค่อยๆ เลือนหายไปด้วย เมื่อพวกเขาสามารถเติมเต็มความสุขทางเพศได้ด้วยตัวเองแล้ว ดูเหมือนว่าการมองหา ‘คนที่ใช่’ ก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป

ขณะเดียวกันความกดดัน เมื่อผู้หญิงเลือกที่จะให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์อื่นในชีวิตมากกว่า เช่น การงาน การเงิน ตัวเอง และมิตรภาพ รวมถึงมาตรฐานการหาคู่ก็เข้มงวดขึ้น ทำให้ผู้ชายรุ่นเดียวกันไม่ได้เป็นตัวเลือกหลักด้วยเหตุผลหลายประการ ความเจ็บปวดจากการถูกปฏิเสธนี่เอง จึงเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ผู้ชายเลือกดูหนังโป๊แก้เหงา บรรเทาอาการเปลี่ยวใจทดแทน

'พงศ์พรหม' มอง!! 'คนรุ่นก่อน' หวังดี แต่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ส่วนคนรุ่นใหม่ อยากเปลี่ยนแปลง อยากเจริญ แต่ไม่อยากเหนื่อย

(22 เม.ย.66) นายพงศ์พรหม ยามะรัต ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Pongprom Yamarat' ระบุว่า...

คุยกับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ Gen X ปลาย Y ต้น แทบทุกคนบ่นเหมือนกันว่า คนรุ่นเราแม่งเหนื่อย แต่สู้ เพราะอะไรไม่รู้ที่ทำให้ทัศนคติเราดี

อาจเพราะเราโตมาด้วยการขึ้นรถเมล์ แต่ก็มีมือถือใช้บ้าง โตด้วยการกินข้าวแกงข้างถนน แต่ก็รู้จัก Starbucks ที่เมืองนอก

มันทำให้เรานั่งรถบีเอ็มก็ได้ รถเมล์ก็ดี ทำให้เรารู้จักความพอเพียง แต่ก็ไม่ปฏิเสธการว่าก็อยากจะหาเงินพันล้าน เพราะเราก็ทะเยอทะยานพอที่จะบอกว่า เราก็ต้องสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้สำเร็จด้วย

สิ่งที่คนรุ่นเราเจอปัญหามาก คือคนรุ่นก่อนเรา แม้จะน่ารัก แต่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงในโลกใบใหม่น้อยมาก เราจึงมักเจอคำพูดดีๆ แต่ขาดการปฏิบัติ ขาดการลงมือทำ ขาดการคิดนอกกรอบเพื่อการเปลี่ยนแปลง

เอาหละ!! งั้นคนรุ่นเราเปลี่ยนให้...

ตอนนี้เราโตจนเป็นผู้บริหารตามองค์กรละ ไม่ก็เป็นเจ้าของกิจการขนาดเล็กบ้าง ใหญ่บ้างละ 

เราเจอปัญหาเพิ่มเติมจากคนรุ่นใหม่ แทนที่เขาจะขยันกว่าเรา เพราะโอกาสเขามีมากกว่าเรา แต่กลายเป็นว่า...

'อยากเจริญ แต่ไม่อยากเหนื่อย'

ซึ่งวนกลับมาเรื่องเดิม ขาดการปฏิบัติ ขาดการลงมือทำ ขาดการคิดเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง แถมท้อเร็ว ท้อง่าย ขาด Global mindset ที่มีในเด็กเวียดนาม, สิงคโปร์, จีน, อเมริกา, อังกฤษ, เยอรมนี

แต่กลับบ่นเก่งกว่า...
...ทำไมไทยไม่เจริญ
...ทำไมถนนเราไม่เรียบ
...ทำไมต้นไม้ไม่เยอะๆ แบบเมืองนอก
...ทำไมไม่มีเสื้อผ้าสวยๆ เยอะๆ

ผมมักเปรียบเทียบให้คน Gen X ปลาย Y ต้นฟัง ว่าคนอายุก่อนเกษียณวันนี้ ลงล่างไปจนอายุ 30 ต้น กำลังแบกภาระใหญ่ให้ประเทศไทย

เรามีคนรุ่นก่อนเราจำนวนไม่น้อยที่หวังดีต่อประเทศ แต่ไม่เข้าใจถึงการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง (คนดีๆ เก่งๆ ก็เยอะ ตรงนี้ต้องขออภัย)

เรามีคนรุ่นใหม่ที่อยากให้ประเทศดีอย่างเมืองนอก แต่ความอดทนไม่พอ เพราะไม่เข้าใจว่า “ไม่มีความสำเร็จใดบนโลกใบนี้ที่ได้มาโดยไม่ต้องเหนื่อย”

‘เพจมาดามแป้ง’ กางผลสำรวจ การทำงานร่วมกับ ‘คน Gen Z’ พบ ร่วมงานด้วยยาก-ขาดความพยายาม-อ่อนไหวต่อคำวิจารณ์

เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 66 เพจเฟซบุ๊ก ‘Madam Pang - มาดามแป้ง - นวลพรรณ ล่ำซำ’ ของ คุณนวลพรรณ ล่ำซำ หรือ ‘มาดามแป้ง’ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ประธานสโมสรฟุตบอลการท่าเรือในไทยลีก ได้โพสต์ข้อความถึงประเด็นการทำงานร่วมกับเหล่าคน Gen Z โดยระบุว่า…

“#MuangThaiNewsUpdate

‘Resume Builder’ สำรวจความคิดเห็นของผู้จัดการมากกว่า 1,300 คน พบว่า 74% เชื่อว่า Gen Z ทำงานร่วมกันได้ยากกว่าคนรุ่นอื่นๆ ซึ่ง 12% ของผู้จัดการต้องไล่พนักงาน Gen Z ออก ตั้งแต่ภายในสัปดาห์แรก เพราะคิดว่าคน Gen Z ขาดความพยายาม และอ่อนไหวต่อการวิพากษ์วิจารณ์

#ทีมแอดมินมาดามแป้ง
#MuangThaiNews”

ผลวิจัยชี้!! วัยรุ่นไทย 'Gen Z - Millennial' ยอมลาออก หากบริษัทไม่ยืดหยุ่นให้ 'Work - Life - Balance'

ไม่นานมานี้ ผลสำรวจจาก Deloitte Global 2023 Gen Z and Millennial Survey ที่จัดทำขึ้นโดย Deloitte ต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 12 ได้ทำการสำรวจมุมมองแนวคิดเชิงลึกของคนในเจนซี และมิลเลนเนียล มากกว่า 22,000 คนจาก 44 ประเทศทั่วโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะติดตามความเปลี่ยนแปลงด้านแนวคิดและมุมมองต่าง ๆ ของกลุ่มเจนซีและมิลเลนเนียลที่เป็นกำลังสำคัญในตลาดแรงงานทั่วโลก  

ในผลสำรวจฉบับนี้ Gen Z จะหมายถึง ผู้ที่มีอายุ 19-28 ปี และ Millennial จะหมายถึงผู้ที่มีอายุระหว่าง 29-40 ปี โดยประเทศไทยนั้น Deloitte ได้ทำการสำรวจ Gen Z จำนวน 200 คน และ Millennial 100 คน ในประเทศไทย 

ผลการสำรวจสะท้อนมุมมองเชิงลึกคนในเจเนอเรชันดังกล่าวที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ เรื่องของสถานที่ทำงานและเวลาในการทำงาน ดังนี้...

>> ร้อยละ 86 ของ Gen Z และ ร้อยละ 65 ขอ Millennial ในไทย มีแนวโน้มจะเปลี่ยนงานใหม่ หากบริษัทผู้ว่าจ้างต้องการให้พนักงานกลับไปทำงานเต็มเวลาที่ออฟฟิศ 

>> และเกือบร้อย 70 ของทั้งคนไทยรุ่นใหม่ทั้งสองเจเนอเรชัน มีแนวโน้มที่จะขอให้บริษัทมีนโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่น ที่มุ่งส่งเสริมแนวคิดการสร้างสมดุลให้ชีวิตและการทำงาน (Work/life Balance) ซึ่งครอบคลุม 3 ประเด็นหลัก ได้แก่...

1) มีทางเลือกในการทำงานร่วมกันได้มากขึ้น 2) ควรหาวิธีทำให้พนักงานพาร์ทไทม์ (part-time) มีโอกาสที่จะก้าวหน้าในอาชีพ และ 3) เปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็นทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ เป็นต้น

‘พงศ์พรหม’ ห่วง!! เด็กรุ่นใหม่ ยิ่งคิดถึงตัวเองมาก ความสุขก็ยิ่งลด แนะ!! มนุษย์ต้อง ‘ห่วงใยกัน’ เพื่อป้องกันการดิ่งสู่ ‘ซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย’

ไม่นานมานี้ นายพงศ์พรหม ยามะรัต ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Pongprom Yamarat’ ระบุว่า...

1.) ขึ้น BTS ลงสถานีสยาม ทางลงบันไดเลื่อนมีวัยรุ่นยืนขวางทางลง คนต้องยืนต่อแถวยาว ลงไม่ได้ 

ลงมาอีกที เจอวัยรุ่นสาวสวยยืนขวางอีก เลยต้องบอกดีๆ ว่าน้องครับ ทางซ้ายคือเดิน ทางขวาคือยืน รบกวนยืนทางขวาครับ แล้วยิ้ม

ปรากฏว่าน้องไม่ยิ้มด้วย กลับเถียงว่า “ทำไมหนูถึงต้องหลบ?”

ผมเลยต้องสอนเรื่องมารยาทด้วยเสียงเข้มๆ กลับ

แต่ดูหน้าน้องแล้ว ‘สิทธิ ตัวตน’ ของน้องคงทำให้ไม่ฟังอะไร…

2.) ตกบ่ายที่หน้าห้องน้ำ Community Mall มีผู้สูงอายุกำลังจะเดินเข้าห้องน้ำ

วัยรุ่นคนแรกเดินสวนออกไปโดยไม่ให้ผู้สูงอายุเข้ามาก่อน และไม่เปิดประตูให้

วัยรุ่นคนที่ 2 แต่งตัวดี เนี้ยบเหมือนคนแรก เหมือนออกมาจากปกนิตยสารก็เดินสวนตามออกไป โดยให้ผู้สูงอายุที่กำลังจะเข้าห้องน้ำหลบอีก

ส่วนผม คน Gen X
ผมเดินไปเปิดประตูห้องน้ำ ค้างไว้ให้ผู้สูงอายุ แล้วพูดว่า “เชิญเข้ามาก่อนครับ” และยิ้มให้

มันคงอยู่ใน DNA คน Gen X แหละ ว่าเราต้องให้ Priority กับผู้สูงอายุ เด็ก และสตรี

3.) จอดรถไฟกะพริบอยู่ ก็มีวัยรุ่น รุ่นประมาณข้างบนเดินมาถามว่า “รถเสียรึเปล่าพี่ มีอะไรให้ช่วยไหมครับ?” ก็ตอบไปว่า “จอดรอครับ ขอบคุณมากครับ”

ยังดีครับ
ใน 8 คน ยังหามีน้ำใจได้ 1 คน
วัยรุ่นดีๆ ก็ขอชม

แต่พวก ‘Gen me, only me and myself’ ก็น่าเป็นห่วงจริงๆ และเยอะขึ้นมาก

ยิ่งคิดถึงตัวเองมาก ความสุขก็ลด

อัตราการป่วย Depression ก็สูงตาม ฆ่าตัวตายก็สูงตาม

เพราะลืมนึกว่ามนุษย์ต้องมีคำว่า ‘ห่วงใยกัน’ ครับ

ปล. รูปที่แปะมา เป็นสภาพลานจอดรถสวนเบญจกิติ วัยรุ่นที่มาถ่ายภาพกัน ทิ้งขยะเกลื่อนตั้งแต่ skywalk ยันลานจอดรถ

คนรุ่นก่อน เช่น ยุค Baby Boomer ไทย อาจล้าหลังหน่อย อันนี้เข้าใจ แต่คนรุ่นใหม่ก็อย่าล้าหลังตามสิครับ

'ม.หอการค้า' เผย 10 อาชีพ จองใจ Gen Z ปี 2567 'วิศวกรไซเบอร์-แพทย์-ยูทูบเบอร์-หมอดู' มาแรง!!

(26 ม.ค. 67) นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์และผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานการณ์ตลาดแรงงานไทยในปีนี้ ที่ขับเคลื่อนด้วยเด็ก Gen Z โดยพบว่า ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2566 ประเทศไทย มีจำนวนคนว่างงาน อยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ที่ 0.99% หรือมีผู้ว่างงาน 4.01 แสนคน ส่วนสถานการณ์ 'ผู้มีงานทำ' อยู่ที่ 40.1 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.3% จากปีก่อน

นอกจากนี้ ยังได้เปิดผลสำรวจ 10 อาชีพเด่นในฝันเด็กรุ่นใหม่ Gen Z ในปี 2567 อีกด้วย

สำหรับ 10 อันดับ อาชีพเด่นปี 2567 ได้แก่...

1. วิศวกรความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือเจ้าหน้าที่ทางเทคนิคความปลอดภัย

2. แพทย์ (ด้านศัลยกรรม ด้านผิวหนัง) 

3. นักกายภาพบำบัดนักจิตวิทยา และ ทันตแพทย์ 

4. นักวิเคราะห์ข้อมูล หรือนักออกแบบข้อมูล

5. ยูทูบเบอร์, TikToker, อินฟลูเอนเซอร์, สตรีมเมอร์, พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์, ดารานักแสดง, นักร้อง 

6. นักการตลาดออนไลน์, นักพัฒนาซอฟต์แวร์ 

7. นักวิเคราะห์การเงิน,ที่ปรึกษาทางการเงิน และนักวางแผนทางการเงิน 

8. ผู้ประกอบการ (ธุรกิจส่วนตัว) 

9. ที่ปรึกษากฎหมาย ทนายความ และกฎหมาย 

10. ติวเตอร์ และ หมอดู

ทั้งนี้ได้มีการวิเคราะห์ เหตุผล ที่ทำให้บางอาชีพมีความโดดเด่นในหมู่ Gen Z โดยมีคำอธิบาย ดังนี้...

- อาชีพเด่นอันดับ 1 อย่าง วิศวกรความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ มาจากโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่ข้อมูลมีมากมายมหาศาล ทำให้ความปลอดภัยของข้อมูลองค์กรเป็นสิ่งสำคัญ เป็นอาชีพที่มีผลตอบแทนสูง ตลาดขาดแคลนจึงมีความต้องการแรงงานสูง 

- อาชีพเด่นอย่าง YouTuber, TikToker, อินฟลูเอนเซอร์ เป็นเพราะปัจจุบันอาชีพดังกล่าวเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อธุรกิจ วัฒนธรรม การศึกษามากขึ้นทั้งในแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ ผู้คนให้ความสำคัญกับโซเชียลมีเดียมากขึ้น สามารถสร้างแบรนด์ของตัวเองและสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง สร้างรายได้และโอกาสใหม่ๆ ทำเป็นอาชีพเสริมได้มีอิสระในการทำงาน

- อาชีพเด่นอย่าง ผู้เชี่ยวชาญอี-คอมเมิร์ซ และ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ มาจาก เทรนด์การค้าผ่านออนไลน์ได้รับความนิยมมากขึ้น รวมถึงมีรูปแบบการตลาดใหม่ๆผู้บริโภคลดการใช้จ่ายผ่านหน้าร้าน เช่น ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต มาเป็นการใช้จ่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ E-commerce มากขึ้น รวมทั้งกระแสการซื้อก่อนจ่ายทีหลังช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการซื้อสินค้าได้ง่าย มีต้นทุนในการเริ่มต้นธุรกิจน้อย

ท้ายสุดกับอีกอาชีพเด่น อย่าง 'หมอดู' มาจากความต้องการดูหมอมีมากขึ้นในยุค 'มูเตลู' มีอัตราผลตอบแทนสูงสามารถต่อยอดธุรกิจด้านความเชื่อได้หลากหลาย โดยเฉพาะการจำหน่ายวัตถุมงคล เช่น กระเป๋าเงินประจำวันเกิด หรือการสร้างแอปพลิเคชัน ดูดวง/เสริมมงคล เพื่อขายผ่านสมาร์ตโฟน ฯลฯ อีกทั้งมีต้นทุนไม่มาก ไม่จำเป็นต้องมีสถานที่ดูดวงเป็นของตนเอง รวมถึงดูดวงผ่านออนไลน์ได้ 

‘โพลมะกัน’ ชี้!! นายจ้าง 40% เลี่ยงรับคน GEN Z เข้าทำงาน เหตุ!! คนเหล่านี้ไม่มีความพร้อมสำหรับชีวิตการทำงาน

ความแตกต่างระหว่างวัยในการทำงานเป็นเรื่องธรรมดาไม่ว่าจะรุ่นเบบี้บูมเมอร์ เจน-เอ็กซ์ ไปจนถึงรุ่นมิลเลเนียล แต่ในการสำรวจล่าสุดที่ไปสอบถามความเห็นนายจ้างอเมริกันนับร้อย อาจทำให้คนรุ่นใหม่นอยด์ได้ เมื่อนายจ้างต่างยกให้คนเจน-ซี (Gen Z) เป็นช่วงอายุที่ถูกยี้ในตลาดแรงงานไปเสียแล้ว

การสำรวจความคิดเห็นกรรมการและผู้บริหารจำนวน 800 คนในสหรัฐฯ ในเรื่องการรับคนเข้าทำงานในตำแหน่งงานที่ว่างอยู่ เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2023 พบว่า นายจ้างราว 40% หลีกเลี่ยงการจ้างงานผู้ที่เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัย เพราะคิดว่าคนเหล่านั้นไม่มีความพร้อมสำหรับชีวิตการทำงาน

นายจ้างที่ร่วมการสำรวจ 20% กล่าวว่า ผู้ที่เรียนจบมหาวิทยาลัยใหม่ ๆ มักจะมาสัมภาษณ์งานพร้อมกับผู้ปกครองของตน นายจ้างอีก 21% กล่าวว่า ตนต้องเจอกับผู้สมัครงานที่ปฏิเสธที่จะเปิดกล้องในระหว่างการสัมภาษณ์งานผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ บ้างก็มีปัญหาที่ไม่ยอมสบตาผู้สัมภาษณ์ บางคนแต่งกายไม่เหมาะสม และยังมีที่ใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสมอีกด้วย

ผลการสำรวจดังกล่าวไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้กับไมเคิล คอนเนอร์ส ผู้สรรหาบุคลากรด้านบัญชีและเทคโนโลยีในเขตกรุงวอชิงตัน ซึ่งเป็นผู้เตรียมความพร้อมสำหรับการสัมภาษณ์งานให้กับผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย

เขากล่าวว่า ดูเหมือนคนเหล่านี้จะขาดความจริงจังกับชีวิต ไม่แน่ใจว่าจริง ๆ แล้วพวกเขาต้องการได้งานหรือไม่ หรือว่าฝืนใจทำ เขายังไม่เคยเจอกับผู้สมัครที่ปฏิเสธที่จะเปิดกล้อง แต่เขาเจอกับนักศึกษาที่มาสัมภาษณ์งานออนไลน์ตามเวลาที่กำหนดไว้ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการสัมภาษณ์งาน อย่างเช่น ที่นอกห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

ทั้งคอนเนอร์ส และ ไดแอน เกเยสกี ศาสตราจารย์ด้านการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ที่วิทยาลัย Ithaca ในนิวยอร์ก ต่างเห็นพ้องว่าการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการเติบโตและวุฒิภาวะของผู้ที่เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัย

เกเยสกีกล่าวว่า “การเรียนมัธยมปลายปีสุดท้ายของพวกเขานั้นมีปัญหามากมาย พวกเขาไม่ได้มีงานสำเร็จการศึกษา ไม่ได้มีงานเต้นรำ หรืองานเลี้ยงสังสรรค์ต่าง ๆ อย่างที่เคยมีมา นอกจากนี้พวกเขาไม่สามารถทำงานในช่วงฤดูร้อนของปีนั้นก่อนที่จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ และแม้กระทั่งตอนที่พวกเขาเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยไปแล้ว สิ่งต่าง ๆ เช่น การมีวิทยากรรับเชิญ การฝึกงาน หรือการไปเรียนต่างประเทศ ก็ถูกระงับไปด้วยเช่นกัน”

เรื่องดังกล่าวส่งผลให้นักเรียนมีความมั่นใจเกี่ยวกับความสามารถของตนในการมีส่วนร่วมในโลกของการทำงานน้อยลง

ในส่วนของมหาวิทยาลัยที่จะสามารถช่วยให้นักศึกษามีความพร้อมสำหรับการทำงานได้ ก็คือสิ่งที่พวกเขาได้สัมผัสนอกห้องเรียน เช่น การได้พบปะพูดคุยกับผู้คนที่มีความแตกต่างจากตัวเอง การได้ทำงานในโครงการต่าง ๆ ในชุมชน และการได้ฝึกงาน ซึ่งหยุดไปในช่วงของการแพร่ระบาด

นอกจากนี้ แล้วผลสำรวจยังชี้ว่า นายจ้างอีก 38% กล่าวว่า ตนหลีกเลี่ยงการจ้างงานผู้ที่เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นการสนับสนุนคนงานที่มีอายุมากกว่า และพวกเขาก็ยินดีที่จะจ่ายเงินให้คนงานที่มีอายุมากกว่าหรือเพิ่มสวัสดิการต่าง ๆ เช่น ให้ทำงานทางไกลได้มากขึ้น

เกือบครึ่งหนึ่งของนายจ้างกล่าวว่า พวกเขาต้องไล่พนักงานที่เพิ่งเรียนจบออกจากงาน 63% กล่าวว่าพนักงานจบใหม่บางคนที่ตนจ้างมาไม่สามารถรับมือกับภาระหน้าที่ของตนได้ 61% บอกว่าพนักงานเหล่านั้นมาทำงานสายบ่อยครั้ง 59% บอกว่าพวกเขามักทำงานไม่ทันกำหนดเวลา และ 53% บอกว่าพนักงานใหม่ที่เป็นคนหนุ่มสาวมักเข้าประชุมสาย

คอนเนอร์สกล่าวว่า พนักงานจบใหม่เหล่านี้น่าจะบริหารงานที่ได้รับมอบหมายได้ดีขึ้นมากหากได้ทำงานในออฟฟิศมากกว่านี้ เพราะการทำงานจากที่บ้านในช่วงเวลาหนึ่งอาจทำให้พวกเขาทำงานล่าช้าลง และว่าพวกเขาต้องการที่ปรึกษาเพื่อที่จะได้เรียนรู้และมีความก้าวหน้าในอาชีพการงานของตน

เกเยสกีจากมหาวิทยาลัย Ithaca กล่าวด้วยว่า เธอพบว่านักศึกษามีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้น ซึ่งบรรดาครูอาจารย์ก็พยายามรับมือกับปัญหานี้ด้วยการเข้มงวดในเรื่องการเข้าเรียนให้น้อยลง และมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในเรื่องกำหนดการส่งงาน และบรรดานายจ้างเองก็รับรู้ได้ถึงระดับของความวิตกกังวลที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากนี้

คอนเนอร์สกล่าวอีกว่าแม้ว่าการเตรียมความพร้อมทางวิชาชีพของ คนรุ่น Gen Z จะแย่ลงในช่วงการเกิดโรคระบาดใหญ่ แต่เรื่องนี้เป็นเทรนด์ที่เขามองเห็นมาหลายปีแล้ว พร้อมชี้ว่า “คนรุ่นนี้คำนึงเรื่องงานอดิเรกของตนมากกว่าและมีความยืดหยุ่นในเรื่องนั้น” นอกจากนี้ความอยากมีเงินทองหรือความต้องการก้าวหน้าในอาชีพการงานก็ลดน้อยลง ดูเหมือนว่าพวกเขาจะมีชีวิตอยู่ไปวัน ๆ เท่านั้นเอง

นายจ้างครึ่งหนึ่งที่ร่วมการสำรวจกล่าวว่า นักศึกษาจบใหม่ที่พวกเขาสัมภาษณ์ได้เรียกร้องค่าจ้างที่ไม่สมเหตุสมผล ซึ่งเกเยสกีเชื่อว่าอาจเป็นเรื่องของการที่คนหนุ่มสาวมีความตระหนักรู้มากกว่าคนรุ่นก่อน ๆ และพวกเขาคงจะเคยได้ยินเกี่ยวกับวิธีการที่บริษัทต่าง ๆ เอารัดเอาเปรียบพนักงานตั้งแต่ตอนที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย และเห็นถึงความร่ำรวยเป็นพันล้านของบรรดาเจ้าของบริษัท จึงทำให้พวกเขาต้องการที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม

‘ชาว Gen Z’ เริ่มเบื่อหน่ายโลกโซเชียลมีเดีย หันไป ‘อ่านหนังสือ-กลับเข้าห้องสมุด’ มากขึ้น

เมื่อไม่นานนี้ สำนักข่าวต่างประเทศ ได้รายงานว่า ‘ชาวเจน Z’ เริ่มหันกลับมา ‘อ่านหนังสือ’ เข้าห้องสมุดมากขึ้น หลังจากเบื่อ ‘โซเชียลมีเดีย’ โดยเลือกอ่านหนังสือหลากหลายประเภท และมีเนื้อหน้าเชิงลึก ไม่ใช่แค่นิยายประโลมโลก

หมดยุคใช้เวลาไปกับ ‘โลกออนไลน์’ แล้ว ในตอนนี้ ‘เจน Z’ คนที่เกิดระหว่างปี 1997-2012 แทนที่จะใช้นิ้วไถหน้าฟีด มาใช้นิ้วพลิกหน้าหนังสือแทน เปลี่ยนความคิดอ่านหนังสือเป็นเรื่องน่าเบื่อ และมีแต่พวกเด็กเนิร์ดทำกัน

‘ไกอา เกอร์เบอร์’ นางแบบวัย 22 ปี ผู้รักการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ เพิ่งเปิดตัวชมรมหนังสือออนไลน์ของตัวเองชื่อ ‘Library Science Gerber’ เพื่อเป็นเวทีสำหรับการแบ่งปันหนังสือของเหล่านักเขียนหน้าใหม่ ให้ผู้อ่านได้พบปะนักเขียน และทำหน้าที่สร้างชุมชนของคนที่รักการอ่านแบบที่เธอเป็น

“หนังสือเป็นความรักที่ยิ่งใหญ่ที่ฉันมีมาตลอดชีวิต การอ่านหนังสือเป็นสิ่งที่เซ็กซี่สำหรับฉันมาก” เกอร์เบอร์กล่าวกับ The Guardian

เกอร์เบอร์ไม่ใช่คนเดียวที่รักการอ่าน ในปี 2023 สหราชอาณาจักรมีการขายหนังสือได้ 669 ล้านเล่ม ซึ่งเป็นยอดสูงสุดที่เคยบันทึกไว้ ขณะที่รายงานจาก Nielsen BookData เน้นย้ำว่า คนเจน Z ชอบซื้อหนังสือแบบเล่ม โดยชาวเจน Z เป็นลูกค้ารายใหญ่ของอุตสาหกรรมหนังสือ เพราะ 80% ของยอดขายหนังสือตั้งแต่ พ.ย. 2021-พ.ย.2022 มาจากคนรุ่นใหม่

อีกทั้งชาวเจน Z ยังเข้าห้องสมุดเพิ่มขึ้นถึง 71% เพราะพวกเขาชอบอ่านหนังสือในที่เงียบๆ มากกว่าไปอ่านตามร้านกาแฟที่มีคนพลุกพล่านตลอดเวลา

BookTok แหล่งแนะนำหนังสือของชาวเจน Z
‘BookTok’ ถือเป็นชุมชนสำหรับหนอนหนังสือบน TikTok ไว้สำหรับแลกเปลี่ยนความเห็น รีวิวหนังสือ แนะนำหนังสือสำหรับนักอ่านหน้าใหม่ ตลอดจนเป็นพื้นที่ให้นักอ่านและผู้เขียนได้พูดคุยกันเกี่ยวกับผลงานการเขียนของพวกเขา

ปรากฏการณ์ BookTok เริ่มขึ้นในช่วงปี 2020 ที่ทุกคนต้องล็อกดาวน์อยู่บ้าน ผู้คนว่างไม่มีอะไรทำ จึงอยากจะหาหนังสือมาอ่าน และ BookTok นี้เองก็ทำให้หนังสือหลายเล่มเป็นที่รู้จักและติดอันดับหนังสือขายดี ถือเป็นช่องทางที่ทำให้คนได้ค้นพบงานอดิเรกใหม่ และได้รับความรู้ ความเพลิดเพลินไปในตัว

อย่างไรก็ตาม ‘เกรตา แพตเตอร์สัน’ นักวิจารณ์กล่าวว่า BookTok ทำให้การอ่านกลายเป็น ‘สินค้า’ เหล่าติ๊กต็อกเกอร์สามารถทำให้หนังสือบางเล่มกลายเป็นหนังสือขายดี หรือวิจารณ์งานเขียนบางเล่มให้กลายเป็นหนังสือไม่ดีเพียงชั่วข้ามคืน

“เทคโนโลยีทำให้หนังสือกลายเป็นฟาสต์แฟชั่น อินฟลูเอนเซอร์มีอิทธิพลกับการบริโภคของผู้คนในทุกด้าน ไม่เว้นแม้แต่การอ่านหนังสือ” แพตเตอร์สันกล่าว

วัฒนธรรมการอ่านของคนเจน Z
‘ฮาลี บราวน์’ ผู้ร่วมก่อตั้ง Books on the Bedside วัย 28 ปี บัญชี TikTok เกี่ยวกับการอ่านหนังสือของชาวเจน Z กล่าวว่า คนรุนใหม่อ่านหนังสือหลากหลายประเภทอย่างไม่น่าเชื่อ พวกเขาชอบอ่านวรรณกรรม บันทึกความทรงจำ นิยายแปล และชอบอ่านวรรณกรรมคลาสสิกมากๆ

นอกจากนี้ มีวัฒนธรรมย่อยในโลกของชาวเจน Z ที่รักการอ่าน เช่น Hot Girl Books ซึ่งเป็นหนังสือที่เหล่าคนดังอ่าน และ Sad Girl Books หนังสือแนวโศกนาฏกรรม ซึ่งบราวน์ระบุว่าทั้ง 2 เทรนด์ล้วนเกี่ยวข้องกับความเป็นหญิงหรือผู้หญิงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

‘เคนดัลล์ เจนเนอร์’ นางแบบชื่อดัง กลายเป็นตัวแทนของเทรนด์ Hot Girl Books หลังจากที่มีภาพถ่ายของเธออ่านหนังสือ ‘Tonight I'm Someone Else’ ของ เชลซี ฮอดสัน บนเยือยอร์ชในปี 2019 และอีกครั้งในฝรั่งเศสขณะที่เธอกำลังอ่าน ‘Literally Show Me a Healthy Person’ ของ ดาร์ซี ไวล์เดอร์ ซึ่งทำให้หนังสือทั้ง 2 เล่มขายหมดในเว็บไซต์ Amazon ภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากภาพถ่ายถูกเผยแพร่ลงอินเทอร์เน็ต

ส่วนแนว Sad Girl Books ก็ไม่ได้จำกัดแค่ผู้อ่านที่เป็นผู้หญิงเท่านั้น เพราะทั้งแฮร์รี่ สไตล์ส นักร้องชื่อก้องโลก ก็อ่านหนังสือเรื่อง Didion ส่วนทิโมธี ชาลาเมต์ นักแสดงชื่อดังก็ยอมรับว่า ‘Fyodor Dostoevsky's Crime and Punishment’ เป็นหนึ่งใน หนังสือเล่มโปรดของเขา และเจคอบ เอลอร์ด นักแสดงดาวรุ่งก็ชอบอ่านหนังสือเรื่อง Prima Facie นวนิยายเกี่ยวกับการรล่วงละเมิดทางเพศและระบบกฎหมาย

‘เอบิเกล เบิร์กสตอร์ม’ นักเขียนและตัวแทนลิขสิทธิ์วรรณกรรม กล่าวว่า ด้วยความอิ่มตัวของโซเชียลมีเดีย รวมความน่ารำคาญและน่าเบื่อของผู้คนในโลกโซเชียล ทำให้คนเจน Z หลีกหนีไปหาหนังสือ โดยที่หนังสือเหล่านั้นจะต้องเป็นหนังสือที่สนุก หรือเลือกอ่านหนังสือจากนักเขียนเก่งเฉพาะทางหรือมีชื่อเสียง

เปิดปาร์ตี้อ่านหนังสือ
บางคนชอบที่จะอ่านหนังสือตามลำพัง เพื่อจะได้มีสมาธิในการอ่าน แต่หลายคนก็ชอบที่อ่านหนังสือกับเพื่อน เพื่อจะได้แลกเปลี่ยนความเห็นไปในตัว ตามรูฟท็อป บาร์ หรือสวนสาธารณะในนิวยอร์กมักจะมีการจัด ‘ปาร์ตี้การอ่าน’ อยู่เสมอ

‘มอลลี ยัง’ ผู้จัดปาร์ตี้รักการอ่านกล่าวว่า นี่เป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการใช้เวลาร่วมกับผู้คนโดยไม่มีสมาร์ทโฟนมารบกวนสมาธิ และได้แลกเปลี่ยนความคิดที่มีต่อนสิ่งที่เพิ่งอ่านไป

“ผมอ่านทั้งอ่านหนังสือ และได้ใช้เวลากับเพื่อนๆ ของผม และผมอยากจะทำมันอีก” ยังกล่าว

หลังจากที่รูปถ่ายของเจนเนอร์และเอลอร์ดดีถูกเผยแพร่ คนในโลกโซเชียลตั้งคำถามว่า ในตอนนี้คนเจน Z หันมาอ่านหนังสือที่ยากขึ้น แม้จะยังอยู่ในแนวนวนิยาย แต่ก็เป็นเนื้อหาเชิงลึกลงไปถึงโครงสร้างทางสังคม ซึ่งแสดงว่ากระตือรือร้นที่จะสำรวจโลกแห่งการอ่าน แน่นอนว่าทำให้หนังสือขายดีขึ้นอย่างมาก

‘เจมส์ ดันท์’ กรรมการผู้จัดการของ Waterstones บริษัทจัดจำหน่ายหนังสือในอังกฤษ และซีอีโอของ Barnes & Noble ผู้จัดจำหน่ายหนังสือที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐ กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงและเทรนด์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ช่วยพลิกฟื้นธุรกิจหนังสือที่ตกต่ำมาเป็นสิบปี

“ถ้าคุณกำลังสงสัยว่าตอนนี้เทรนด์คนหนุ่มสาวกำลังทำอะไร บอกได้เลยว่าพวกเขากำลังหาหนังสือดีๆ สักเล่มอ่าน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมมาก”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top