Sunday, 13 October 2024
ClickonClear

คุยเศรษฐกิจปีหน้ากับ "ไหม - ศิริกัญญา" ส.ส.พรรคก้าวไกล | The States Times Click on Clear EP.1

บทสัมภาษณ์ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจไทยปี ‘2021’ จาก ‘คนหัวใหม่’ ไหม - ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่ใครๆ ก็ยกให้เธอเป็น ‘เพชรแท้’ แห่งแวดวงการเมือง

.

 

.

 

.

 

.

 

.

 

.

รายการ : คุยเศรษฐกิจปีหน้ากับ "ไหม - ศิริกัญญา" ส.ส.พรรคก้าวไกล | The States Times Click on Clear EP.1

 

.

มุมมองต่อเศรษฐกิจปี 2564 

เพราะบทสัมภาษณ์ที่เน้นพูดคุยถึงเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลัก จึงเปิดเรื่องด้วยประเด็นที่น่าสนใจอย่างมุมมองต่อเศรษฐกิจปี 2564  โดยคุณไหมมองว่าเศรษฐกิจในปีหน้าเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของปี 64 คงโตได้ไม่เกิน 4% สิ่งที่เห็นคือเศรษฐกิจลงมาตั้งแต่ปี 62 และคาดว่าจะกลับมาได้ในปี 65 เพราะผลกระทบหลักจากพิษโควิด อีกทั้งหลายภาคธุรกิจยังคงไม่สามารถกลับคืนมาได้ เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว จนกว่าจะถึงวันที่วัคซีนครอบคลุมทั่วทั้งโลก

ซึ่งในการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบแรกนั้น รัฐบาลยังเตรียมตัวไม่พร้อม แต่ในครั้งสองตนมั่นใจว่าไม่เหมือนรอบแรก เนื่องจากมีการเตรียมพร้อมที่ดีกว่า โดยสิ่งสำคัญคือรัฐบาลต้องสื่อสารกับประชาชนว่ามีความสามารถในการรับมือกับโควิดได้เต็มที่ สร้างความมั่นใจว่าเอาอยู่

หากก้าวไกลได้ดูแลเรื่องเศรษฐกิจ 4 ภารกิจที่จะทำ

ปัญหาที่เป็นคอขวดของรัฐบาลมายาวนาน คุณไหมมองว่า คือ

1.) สินเชื่อที่จะให้กับธุรกิจ SME สภาพคล่อง SME เป็นปัญหาที่เห็นได้ชัดและรัฐบาลพยายามอย่างมาก เห็นได้จากนโยบายต่าง ๆ ที่ออกมา เช่น พ.ร.ก.ซอฟต์โลน 5 แสนล้าน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ แต่ผลการอนุมัติสินเชื่อเป็นไปอย่างช้ามาก รวมถึง SME ที่ติดข้อกำหนดต่าง ๆ

โดยวิธีแก้ปัญหาในเรื่องนี้อาจเป็นการพูดคุยเพื่อผ่อนคลายเงื่อนไข ทำให้ SME ที่รอความช่วยเหลือได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ไม่ควรปล่อยจนต้องปิดกิจการไป

2.) เรื่องของตลาดแรงงาน กลุ่มแรงงานในระบบที่ยังคงเปราะบางอยู่มาก ตัวเลขการว่างงานสูงขึ้นเป็นสองเท่า แต่ด้วยภาคเกษตรที่ค่อนข้างใหญ่จึงมีส่วนช่วยดูดซับแรงงานที่ต้องตกงานไปได้บางส่วน แต่อย่างไรตัวเลขก็ยังคงเป็นสองเท่ากว่าปกติ โดยตัวเลขตกงานในวันนี้นั้นอยู่ที่ 8 แสนคน ที่ยังทำงานอยู่ก็โดนลดชั่วโมงการทำงาน ทำให้รายได้น้อยลงไปด้วย

จึงต้องกำหนดมาตรการออกมาช่วยเหลือ อาทิ โครงการ Co-Payment ไม่ควรจำกัดการจ้างงานเฉพาะเด็กจบใหม่ แต่ควรขยายวงออกไปให้คนที่มีสกิลหรือทักษะพิเศษด้วยเช่นกัน สิ่งนี้จะสามารถคงการจ้างงานไว้ได้

3.) หนี้ที่เป็นไปแล้วและกำลังจะกลายมาเป็นหนี้เสีย เนื่องจากหนี้ครัวเรือนขณะนี้สูงเป็นประวัติการณ์ของเศรษฐกิจไทย โดยขณะนี้อยู่ที่ 84% ของ GDP ซึ่งถือว่าสูงมาก เมื่อไหร่ที่คนมีหนี้เพิ่มขึ้น โอกาสในการจับจ่ายใช้สอยยิ่งน้อยลง 

วิธีการแก้ปัญหาในเรื่องนี้สำหรับลูกหนี้รายย่อย คุณไหมมองว่าควรได้โอกาส โดยขณะนี้กำลังดำเนินการร่างพ.ร.บ.ล้มละลายโดยสมัครใจของหนี้รายย่อย เพื่อให้โอกาสครั้งที่สองกับลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ยังไม่อยากเข้าสู่กระบวนการศาลล้มละลาย ช่วยให้สามารถขอฟื้นฟูกับศาลเพื่อให้เกิดใหม่ได้ก่อน เป็นอีกทางออกให้แก่ประชาชน

4.) การคลัง คุณไหมมองประเด็นนี้ไว้ว่า หากหนี้สาธารณะจำเป็นจะต้องเกินเพดานจริง สามารถเคาะกรอบขยับขึ้นไปได้ เพราะสิ่งนี้ไม่ใช่ปัญหา เนื่องจากรายได้ของรัฐบาลมาจากการเก็บภาษีซึ่งเพียงพอจะจ่ายค่างวดที่รัฐบาลไปกู้มา แต่ที่มีปัญหาคือกฎหมายที่กำหนดเพดานว่าในแต่ละปีรัฐบาลจะกู้ได้ไม่เกินเท่าไหร่ สิ่งนี้จะเป็นปัญหาในปี 64 เนื่องจากรายได้ของรัฐบาลตกลงมาก เพราะในปี 63 และ 64 จะเก็บภาษีไม่ได้ ทำให้โอกาสที่รัฐบาลต้องกู้เพิ่มนั้นมีสูงขึ้น แต่ทั้งหมดทั้งมวลดันมาติดสิ่งค้ำคอคือเพดานหนี้สาธารณะที่ห้ามกู้เกิน 20%  ในการนี้ต้องหาวิธีที่จะปลดเพดานนี้ออก หรือใช้เทคนิคใดมาแก้ปัญหา 

มุมมองต่อโครงการคนละครึ่งของรัฐบาล

ในส่วนของโครงการคนละครึ่ง โครงการยอดฮิตของรัฐบาล คุณไหมถือว่าออกแบบมาได้ค่อนข้างดี ทั้งการซอยค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน การเลือกร้านค้ารายย่อย เป็นภาคต่อของชิม ช้อป ใช้ ที่มีการแก้ไขปัญหาหลักก่อนหน้าได้ค่อนข้างดี ซึ่งขณะนี้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา 3 มาตรการ ได้แก่ บัตรคนจน ช้อปดีมีคืน และคนละครึ่ง หากมองดี ๆ ตนมองว่าการดำเนินการคนละครึ่งมุ่งไปที่การช่วยเหลือด้านค่าครองชีพมากกว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจอาจเป็นเรื่องที่รองลงมา 

ซึ่งสามเรื่องที่ตนคิดว่าจะต้องมีการจัดการในส่วนของรัฐคือ วิธีคิดของราชการ โครงสร้างการบริหารงานที่ซับซ้อน การสื่อสารกับประชาชนที่ไม่ค่อยมีความชัดเจนและตรงไปตรงมา

เด็กจบใหม่กับสถานะทางการเงินที่ไม่พอใช้ 

หากพูดถึงปัญหาของเด็กจบใหม่ก็มักจะพ่วงสถานะทางการเงินที่ไม่พอใช้มาด้วย ในประเด็นนี้ คุณไหมได้แบ่งเป็น 2 ฝั่ง คือฝั่งรายจ่าย และรายได้ โดยในเรื่องของรายจ่าย รู้กันดีว่าค่าครองชีพในกรุเทพมหานคร ยกตัวอย่างขนส่งสาธารณะ รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน ประกาศราชการออกมาพาช็อคกันถ้วนหน้ากับราคาที่แพง เรื่องนี้นั้นเป็นปัญหาที่รัฐต้องออกมาแก้ เนื่องจากการบริหารโครงสร้างมีความขาดทุน ทำให้รัฐไม่สามารถเก็บค่าโดยสารราคาถูกให้กับประชาชนได้ จึงต้องมานั่งวิเคราะห์ระบบขนส่งสาธารณะและเรื่องของการขาดทุนที่เกิดขึ้นเป็นปกติ โดยในส่วนนี้เองรัฐสามารถเข้าไปอุดหนุนได้  

ต่อมาเป็นเรื่องของรายได้ สิ่งนี้ต้องมาดูที่ทักษะหรือสกิล ซึ่งหากทักษะที่มีเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน เป็นปกติที่ต้องได้เงินเดือนที่สูงกว่าคนอื่น สิ่งนี้ต้องดูที่คุณภาพของบัณฑิตจบใหม่ว่าตรงกับที่ตลาดต้องการหรือไม่ เพราะฉะนั้นต้องมีโปรแกรมที่จะปรับทักษะใหม่ เพิ่มทักษะอื่น ๆ เพื่อไปทำงานที่ตลาดแรงงานต้องการ 

ค่าครองชีพที่สูง และการควบรวมกิจการระหว่างซีพี-เทสโก้โลตัส

ประเด็นของการควบรวมกิจการระหว่างซีพี-เทสโก้โลตัส สองยักษ์ใหญ่ที่เป็นกระแสว่าใครได้ใครเสียนั้น คุณไหมมองว่าต้องเกิดผลกระทบในธุรกิจค้าปลีกอย่างแน่นอน และทางฝั่งผู้บริโภคเองก็มีทางเลือกที่น้อยลง จากเดิมที่มีสองเจ้าแข่งกัน อาจคาดหวังว่าราคาจะถูกลง หรือมีการแข่งขันทางด้านคุณภาพ แต่การควบรวมโดยไม่มีเงื่อนไขจะทำให้ประชาชนเจอกับปัญหาราคาข้าวของที่แพงอยู่แล้วซ้ำไปอีก  

ขณะที่ฝั่งที่ได้รับผลกระทบมากกว่านั้น คือ คู่แข่งและผู้ค้า ร้านโชห่วยที่ต้องต่อสู้กับทุนขนาดใหญ่ แต่จะทำอย่างไรให้การแข่งขันรายเล็กจิ๋วกับรายใหญ่สุดเป็นไปในทิศทางที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ ส่วนที่สามที่ต้องเดือดร้อน คือ ผู้ค้า หากธุรกิจยักษ์ใหญ่ควบรวมกันก็จะมีอำนาจต่อรองมากขึ้น บีบกรอบของผู้ผลิตลงต่ำได้อีก ทำให้ผู้ผลิตอยู่ยากเพราะไม่มีเงินไปต่อยอดพัฒนาสินค้าของตัวเอง เพราฉะนั้นสิ่งที่พยายามจะผลักดันคือ ทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างตัวเล็กกับตัวใหญ่ได้

ทฤษฎีสองสูง

ทิ้งท้ายประเด็นทางเศรษฐกิจ มีการหยิบยกทฤษฎีสองสูง ของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ขึ้นมาพูด โดยคุณไหมอธิบายว่า ทฤษฎีดังกล่าวเป็นช่วงเดียวกับที่มีการขึ้นค่าแรง 300 บาท เป็นเรื่องดีที่พยายามช่วยเหลือแรงงานให้มีรายได้สูงขึ้น แต่ค่าอาหารก็แพงขึ้นเช่นกัน สิ่งนี้ทำให้กลับมาย้อนคิดว่าสุดท้ายแล้วทั้งสองอย่างที่สูงขึ้น ส่วนเกินที่เกิดขึ้นจะเข้ากระเป๋าใคร ตนมองว่าทฤษฎีสองสูงเกิดได้จริง แต่ต้องเป็นในขอบข่ายที่เศรษฐกิจมีการกระจายตัว ไม่เหลื่อมล้ำอย่างทุกวันนี้ จึงจะได้ผล  

 

'ดร.สันติ กีระนันทน์' ผู้วางนโยบายเศรษฐกิจ พรรคพลังประชารัฐ | The States Times Click on Clear EP.2

บทสัมภาษณ์ของ ดร.สันติ กีระนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ผู้วางนโยบายเศรษฐกิจ พรรคพลังประชารัฐ เปิดมุมมอง ‘คนการเมืองสายสร้างสรรค์’ ผู้ไม่เคยคิดว่าการเมืองเป็น ‘เกม’ ที่มีไว้เล่น

.

 

.

 

.

รายการ : 'ดร.สันติ กีระนันทน์' ผู้วางนโยบายเศรษฐกิจ พรรคพลังประชารัฐ | The States Times Click on Clear EP.2

 

.

แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2564

เนื่องจาก ดร.สันติ นั้นเคยเป็นผู้ที่ทำงานในแวดวงเกี่ยวกับเศรษฐกิจฟากตลาดทุนมาก่อน การพูดคุยครั้งนี้จึงเจาะจงไปที่ประเด็นทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก เปิดคำถามแรกด้วยคำถามที่ทุกคนสนใจ นั่นคือแนวโน้มของเศรษฐกิจในปี 2564 โดยดร.สันติเล่าว่า ผู้เชี่ยวชาญจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจปี 2564 นี้คงหนีไม่พ้นโรคระบาดโควิด-19 เพราะเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อทั้งโลก โรคระบาดนี้เองที่เป็นสิ่งแทบจะเปลี่ยนกระบวนทัศน์ หรือ Paradigm Shift ซึ่งหมายถึงปรากฎการณ์ที่จะทำให้คนเกิดความสามารถหรือในการแก้ปัญหาเดิม ๆ ที่เห็นกันอยู่ทุกวันแต่ไม่เคยแก้ไขได้ เกิดมุมมองใหม่ที่นำไปใช้แก้ไขปัญหานั้น ๆ ได้

ที่ผ่านมา กระแสโลกาภิวัฒน์ มีผลทำให้เศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ โตขึ้นอย่างก้าวกระโดด กระทั่งเมื่อต้นปี 2020 ที่โรคโควิด-19 เข้ามา ไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีผลกระทบรุนแรง ไม่กี่เดือนน่าจะควบคุมได้ แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ เพราะมีการกลายพันธุ์ของโรค กระทั่งมีมาตรการที่ออกมาควบคุม แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้กระแสการไปมาหาสู่ของคนแต่ละภูมิภาคเกิดขึ้นได้ เศรษฐกิจที่ยังต้องพึ่งพาการท่องเที่ยว อย่างเช่นประเทศไทย ที่มีการพึ่งพาการท่องเที่ยวประมาณ 17% ของ GDP ส่งผลให้รายได้ของไทยหายไปสามสี่ล้านล้าน ตัวเลขอาจจะดูไม่เยอะ แต่เนื่องจากสายการผลิตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีความยาวมาก และมีผู้ที่เกี่ยวข้องหลายสิบล้านคน ขึ้นอยู่ที่ประเทศไทยจะสามารถจัดการโรคระบาดได้ดีแค่ไหน รวมทั้งการรับมือของทุกประเทศทั่วโลกเช่นกัน

การอยู่รอดของผู้ประกอบการ SME และภาคเกษตรในปี 2021 เมื่อเผชิญโควิด-19

ดร.สันติเองมองว่าถึงจะมีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ออกมา แต่โรคนี้คงไม่มีวันหายไปอย่างสิ้นเชิง คนที่ทำมาค้าขายต้องคำนึงว่าจะอยู่กันอย่างไร โดยตนคาดหวังอยู่ 3 เรื่องคือ หากรักษาได้ ควบคุมไม่ให้กลายพันธุ์มากจนเกินไป มีการป้องกันด้วยวัคซีน คาดการณ์ว่า 6 เดือนแรกของปี 2564 ก็ยังคงต้องหวาดผวากันอยู่ แต่เนื่องจากเราเรียนรู้ประสบการณ์มาเรื่อย ๆ ธุรกิจที่จะไปกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ เช่น เดิมทีมีการทำมาหากินกับการรวมกลุ่มกันขนาดใหญ่ ๆ ต้องมีการเปลี่ยนรูปแบบ ต้องมีการคิดว่าด้วยบริบทที่เปลี่ยนไปเราจะรับมือกับมันอย่างไร 

ในอีกฟากหนึ่ง โรคระบาดที่เข้ามาอาจเป็นโอกาสได้เหมือนกัน โดยก่อนที่จะมีโรคระบาดได้มีการคุยกันถึงเรื่อง Disruptive Technology หรือเทคโนโลยีสร้างความพลิก เป็นนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีที่สร้างตลาด และ มูลค่าให้กับตัวผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยี และส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ต่อตลาดของผลิตภัณฑ์เดิม รวมทั้งอาจจะทำให้ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีแบบเดิม ๆ ล้มหายตายจากไป ในการนี้ถือว่าโรคระบาดมาเป็นตัวกระตุ้นคนที่ไม่สามารถปรับตัวได้ จะเห็นว่าคนที่ปรับตัวได้กลับมีจำนวนมากกว่าที่คาดการณ์ ส่งให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสดได้เร็วมากขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น นั่นหมายความว่าธุรกิจในยุคใหม่จะประสบความสำเร็จได้ง่ายและเร็วขึ้นกว่าเดิม เชื่อว่าหลังจากนี้ Start-Up จะกลับมาได้เร็วและแข็งแรงกว่าเดิม

ในส่วนของภาคเกษตรนั้นดร.สันติมองว่าน่าเป็นห่วง ประชากรภาคเกษตรหากนับเป็นเปอร์เซ็นต์เทจของแรงงานในระบบประมาณเกือบครึ่งของแรงงานทั้งหมด หรือคิดเป็นประมาณ 30% ของประชากรในประเทศ contribution ของภาคเกษตรที่มากับระบบเศรษฐกิจที่วัดด้วย GDP จับตาดูประมาณ 7-8 ปีที่ผ่านมา ไล่มาตั้งแต่ 12-13% ปัจจุบันเหลือประมาณ 8% ของ GDP เท่านั้น รายได้ของเกษตรกร เฉลี่ยคนหนึ่งประมาณ 5,000 บาทต่อเดือน เทียบกับพวกผู้ใช้แรงงานทั่วไป ประมาณสัก 15,000 บาทต่อเดือน เห็นว่าเกษตรกรเป็นกลุ่มที่เปราะบางอย่างยิ่ง 

เพราะฉะนั้นกลุ่มนี้เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่นอกเหนือจาก SME ที่ค่อนข้างเป็นพวก low-tech และ low-touch ด้วย ทำให้ค่อนข้างลำบาก เกษตรกรจึงถือเป็นหนึ่งในกลุ่มเปราะบางของฐานราก ดังนั้นดร.สันติมองว่า นโยบายอะไรก็ตามของรัฐบาลหรือผู้ที่มีหน้าที่ในการดูแลเศรษฐกิจ จำเป็นต้องใส่ใจกับคนที่เป็นกลุ่มเปราะบางมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรที่มีจำนวนเยอะ และ SME ที่ยังหาทางออกของตัวเองไม่ค่อยได้ 2 กลุ่มนี้เป็นประชากรจำนวนมากของประเทศ แม้ว่าในแง่ของตัวเลขทางเศรษฐกิจจะถูกนำมาวัดค่า GDP ค่อนข้างน้อย แต่เพราะประชาชนทุกคนในประเทศนับว่ามีความสำคัญทั้งสิ้น ใครที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้รัฐมีหน้าที่ต้องเข้าไปช่วย ในขณะที่คนที่สามารถช่วยตัวเองได้แล้ว รัฐอาจจะยืนอยู่ห่าง ๆ ดูว่าเขาต้องการอะไรสนับสนุน นโยบายของรัฐจึงต้องมีความชัดเจนในการจัดการกับคนแต่ละกลุ่มด้วยกลยุทธ์และกระบวนทัศน์ที่แตกต่าง

นโยบายคนละครึ่ง

ดร.สันติในนามของผู้ที่เคยอยู่ในตลาดทุนและมองเรื่องเศรษฐกิจมาตลอด ตอบคำถามตามมุมมองวิชาการ เรื่องของนโยบายคนละครึ่ง แน่นอนว่าต้องมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งข้อดีคือ โครงการคนละครึ่งทำให้เกิดการหมุนเวียน เกิดสภาพคล่องในระบบที่ค่อนข้างดีมาก ในเฟสแรกมีคนลงทะเบียน 10 ล้านคน เฟสที่ 2 เติมไปอีก 5 ล้านคน เพราะฉะนั้นคนที่จะได้เม็ดเงินประมาณ 3,500 บาท ก็มีมากถึง 15 ล้านคน ส่งผลให้กระแสการหมุนเวียนของการจับจ่ายใช้สอยดีขึ้น ดังนั้นในปีนี้ทั้งปีจนจบไตรมาสที่ 4 เชื่อว่า GDP จะไม่ติดลบหนัก ข้อดีที่ 2 คือร้านค้าที่มาลงทะเบียนฟากที่รับเงินมีประมาณล้านกว่าราย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย ไม่ใช่บริษัทขนาดใหญ่ ก็ต้องนับว่าเป็นข้อดีที่เม็ดเงินเหล่านี้ลงไปถึงคนที่เปราะบาง ข้อดีข้อที่ 3 ถือว่าโครงการคนละครึ่งนั้นเป็นการเร่งกระบวนการเข้าสู่สังคมไร้เงินสดได้อย่างรวดเร็ว ผู้เฒ่าผู้แก่อายุ 60 กว่าสามารถสแกนคิวอาร์โค้ดได้คล่อง ส่วนข้อที่ 4 ที่เป็นข้อดีอีกข้อคือ ตั้งแต่ชิมช้อปใช้เรื่อยมาจนถึงเราเที่ยวด้วยกัน กระทั่งมาถึงโครงการคนละครึ่ง รัฐได้ฐานข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคมหาศาล 

แต่สิ่งที่ดร.สันติอยากจะวิพากษ์วิจารณ์ คือ เนื่องจากโครงการคนละครึ่งมีเฟส 1 เฟส 2 แล้ว และมีดำริต่อว่าจะออกเฟส 3 - 4 ในความเห็นส่วนตัวมองว่าอาจจะต้องคิดให้ดีอีกสักนิด เนื่องจากการกระตุ้นการบริโภคที่เกิดขึ้นไปแล้วและติดลมไปแล้ว ยังจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องกระตุ้นต่อไป ควรนำเม็ดเงินไปทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นที่จะสร้างความยั่งยืนต่อไปในระยะยาวดีกว่าหรือไม่ เช่น การแก้ปัญหาเรื่องของภัยแล้งซ้ำซาก เรื่องน้ำท่วมที่ไม่พึงประสงค์ เอาเม็ดเงินลงไปสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อทำให้ระบบน้ำซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของเกษตรกรทั้งประเทศดีขึ้น แทนที่จะเอามาแจกเพื่อกระตุ้นการบริโภคระยะสั้นเท่านั้น 

ปัญหาเศรษฐกิจคลี่คลายและการฟื้นตัว

หากปัญหาเศรษฐกิจคลี่คลาย การฟื้นตัวควรจะเป็นไปในทิศทางไหนนั้น ดร.สันติเผยว่า อยากเห็นการฟื้นตัวรูปแบบ V-shaped ที่สุด คือจากล่างแล้วขึ้นบนได้เลย หรือน้อยกว่านั้นคือรูปแบบ U-shaped คือตกมาแล้วลากยาวสักแปบนึงแล้วค่อยขึ้น แต่ที่กังวลมากที่สุดคือตัว L คือตกมาแล้วไม่ขึ้นอีกเลย กับอีกแบบคือตัว K ที่ตอนนี้พูดกันทั่วไปก็คือ คนกลุ่มที่มีเรี่ยวมีแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่คนกลุ่มที่ไม่มีเรี่ยวมีแรงตกแล้วตายลงสนิท กลายเป็นสองขาแยกจากกัน ปัญหาที่จะตามมาคือเรื่องความเหลื่อมล้ำ 

ปัญหาหนึ่งที่อยู่ในใจของดร.สันติตลอดเวลาคือปัญหาของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ดร.สันติเล่าว่าประเทศไทยปี 62 และปี 61 มีการโจมตีรัฐบาลมากในเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำ ตนเป็นคนหนึ่งที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการโจมตีนั้น เนื่องจากความเหลื่อมล้ำในแง่ของเศรษฐกิจ อาจจะแยกย่อยได้ 3 เรื่อง คือ 1. ความเหลื่อมล้ำในด้านความมั่งคั่ง 2. ความเหลื่อมล้ำของการหารายได้ 3. ความเหลื่อมล้ำในความสามารถในการจับจ่ายใช้สอย จริงอยู่ว่าเรามีความเหลื่อมล้ำในแง่ของความมั่งคั่งสูง ประชากรของประเทศไม่เกิน 10% ของประชากร เป็นคนที่ถือครองทรัพย์สินของประเทศนี้ 70-80% เพราะฉะนั้นในแง่ของความเหลื่อมล้ำเรื่องความมั่นคั่งมีสูงแน่นอน แต่ความเหลื่อมล้ำในแง่ของการหารายได้กลับไม่ได้มากนัก เพราะพวกที่หารายได้ได้มากๆ อย่างมหาเศรษฐี ที่จริงแล้วรายได้ก้อนมหึมาไม่ได้มาจากในประเทศทั้งหมด แต่มาจากการหารายได้จากต่างประเทศเป็นหลัก ขณะที่รายได้ที่เกิดขึ้นกับคนในประเทศมีความกระจายตัวได้ดีพอสมควร จากคนชั้นบนลงถึงคนชั้นกลางละเว้นคนที่เป็นพวกกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรหรือ SME ที่อ่อนแรง การกระจายตัวของรายได้และการกระจายตัวของความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยไม่ได้น่ากลัว แต่ถ้าเอาคนกลุ่มเปราะบางเข้ามา การที่แก้ไขเศรษฐกิจแล้วมันเกิดเป็นตัว K นั่นหมายความว่าปัญหาที่สะสมเรื้อรังมาในประเทศไทยไม่ได้ถูกแก้ไข และยิ่งทำให้เกิดปัญหาใหม่ขึ้นมา คือเรื่องความเหลื่อมล้ำในการหารายได้กับความเหลื่อมล้ำในการจับจ่ายใช้สอย นอกเหนือจากความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง คราวนี้ก็จะหนักหนากับการจัดการและการบริหารเศรษฐกิจต่อไป 

ข้อเสนอแนะการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสำหรับประเทศไทย

ก่อนที่จะเกิดโรคระบาด ย้อนหลังไปถึงตอนที่มีการหาเสียงเลือกตั้งกัน ดร.สันติกับอาจารย์สุวิทย์เป็น 2 คนในพรรคพลังประชารัฐ ร่วมกับอาจารย์วลัยพร ซึ่งเป็นคณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ที่ธุรกิจบัณฑิต และน้ององอาจ เป็นทีมที่เดินทางไปทั่วภูมิภาคของประเทศ คลุกคลีกับชาวบ้านชาวช่องที่ไม่มีจะกิน ไม่มีน้ำใช้มาแล้ว 2 ปี เมื่อเห็นปัญหาก็พยายามมาพัฒนานโยบายทางเศรษฐกิจหลายหลาก แต่น่าเสียดายที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้เนื่องจากพรรคพลังประชารัฐพอจัดตั้งรัฐบาล ไม่ใช่แกนนำทางด้านเศรษฐกิจ เลยต้องพับไป หลังจากที่เกิดโรคระบาดแนวคิดต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ได้หายไป ช่วงที่โรคระบาดเกิดขึ้น ประเทศไทยคุมการแพร่ระบาดได้ดี อาจจะต้องนับว่าโรคระบาด Set Zero ทั้งโลก ดร.สันติจึงเสนอว่าเราควรจะคว้าโอกาส เพราะในทุกวิกฤตมีโอกาสเสมอ 

เมื่อ Set Zero ประเทศไทยต้องคิดแล้วว่าโครงสร้างที่เราพึ่งพานักท่องเที่ยวปีละ 40 ล้านคน พึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ มูลค่าต่ำ แต่ต้นทุนสูง เรายังจะทำอย่างนั้นหรือไม่ ดร.สันติจึงมองว่า ประเทศไทยต้องวางยุทธศาสตร์ใหม่ ในระยะกลางถึงยาว แทนที่จะส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ เราต้องเปลี่ยนสินค้าโภคภัณฑ์ ให้เป็นสินค้าเจาะจงซื้อ เพื่อให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่า ส่วนเรื่องที่ 2 ที่ยังหวังว่าจะมีคนมาเที่ยวประเทศไทยปีละ 40 ล้านคน ดร.สันติมองว่าทำไมไม่ลองคิดให้ธุรกิจการท่องเที่ยวของไทยเราเป็นแบบภูฏานที่จำกัดและแพง โดยสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จำเป็นต้องใช้นักกลยุทธ์ในการคิด 

'กล้า'​ มองไทยให้รอบด้าน กับ 'กรณ์​ จาติกวณิช'​ | The States Times Click on Clear EP.3

คุณกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จากนักการเงินสู่บทบาทนักการเมืองเข้าปีที่ 16 เริ่มต้นด้วยการเปิดบริษัทหลักทรัพย์ของตัวเองในวัย 24 ปี นำเอาประสบการณ์ที่มีมาสร้างธุรกิจของตัวเอง จนกระทั่งเดินเข้าสู่เส้นทางสายการเมือง 

.

.

รายการ : 'กล้า'​ มองไทยให้รอบด้าน กับ 'กรณ์​ จาติกวณิช'​ | The States Times Click on Clear EP.3

.

จากซีรีย์ Start-Up สู่มุมมอง Sand Box ในประเทศไทย

ด้วยความที่ชื่นชอบซีรีย์เรื่อง Start-Up เป็นการส่วนตัวและบทบาทนักการเงินมือฉมัง คุณกรณ์จึงเปิดเรื่องด้วยการนำความรู้และข้อคิดจากในเรื่องมาอธิบายเชื่อมโยงถึงประเด็นทางธุรกิจ Start-up ในประเทศไทย โดยคุณกรณ์อธิบายว่า ประเทศไทยมีกฎหมายและระเบียบมากมาย ในอดีตอาจออกกฎหมายมาเพื่อลดความกังวลในยุคที่ยังกลัวคอมมิวนิสต์ แต่มาถึงตอนนี้วันเวลาและบริบทในสังคมเปลี่ยนไปมาก แต่กฎหมายบางตัวกลับไม่เปลี่ยน เป็นเหตุให้ธุรกิจ Start-Up ในหลายกรณีเกิดไม่ได้ เพราะติดขัดในเรื่องระเบียบและกฎเกณฑ์ จึงคิดว่ารัฐควรมี Sand Box หมายถึง พื้นที่ปลอดภัยให้กลับคนเริ่มต้นทำธุรกิจ โดยไม่ต้องกังวลกฎหมายหรือระเบียบราชการ เพื่อเรียนรู้การทำธุรกิจที่ล้มแล้วไม่เจ็บ  แล้วค่อยนำเอาประสบการณ์หรือข้อมูลที่มีนั้นไปปรับกฎหมายอีกครั้งหนึ่ง  

อีกปัญหาที่มองเห็นคือ ณ ปัจจุบัน ข้อมูลของภาครัฐนั้นมีเยอะ แต่กลับกระจัดกระจาย สิ่งที่สำคัญที่จะมีธุรกิจเชิงนวัตกรรม ดิจิตอลเทคโนโลยี รัฐต้องทำให้ข้อมูลของรัฐเอง ไปสู่ในระบบ Digital มากขึ้น  เปิดให้ภาคเอกชน ประชาชนสามารถนำข้อมูลนั้นไปใช้ได้ ซึ่งคุณกรณ์มองว่า "เป็นภารกิจสำคัญที่สุดของรัฐบาล"

บทบาทพรรคกล้า 

เมื่อพูดถึงพรรคกล้า พรรคใหม่ไฟแรงที่กำลังเข้ามามีบทบาททางการเมืองของประเทศ  คุณกรณ์ ในฐานะหัวหน้าพรรคให้นิยามความเป็นพรรคกล้าไว้ว่า พรรคกล้าเป็นแพลตฟอร์มที่จะไปสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สร้างความเปลี่ยนแปลงในแง่ของแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม แพลตฟอร์มสำหรับคนที่มีใจอยากจะแก้ปัญหา โดยกล่าวว่า ที่ผ่านมามีการพึ่งพานักการเมืองอาชีพเยอะเกินไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีข้อจำกัด แต่วันนี้ถึงเวลาที่จะหาคนที่มีประสบการณ์โดยตรงในแต่ละเรื่องเข้ามาเปลี่ยนแปลง เนื่องจากหลายๆ อย่างเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยังแก้ไม่ตก เพราะยังผูกติดกับความคิดแบบเดิม แก้ปัญหาแบบเดิม ด้วยคนเดิม ๆ ไม่มองปัญหาในข้อเท็จจริง แต่กลับไปมองในเชิงอุดมคติ การมองปัญหาในเชิงอุดมคติทำให้แก้ปัญหาไม่ได้ เพราะไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง 

เปิดนโยบายพรรคกล้า

เปิดนโยบายพรรคกล้า 5 ภารกิจ ได้แก่ เศรษฐกิจ การเกษตร การศึกษา คุณภาพชีวิต เศรษฐกิจสร้างสรรค์ คุณกรณ์เล่าว่า การขับเคลื่อนทุกภารกิจมีปัญหาเหมือนกัน คือ ระบบราชการที่ล้าหลัง เพราะฉะนั้นต้องเน้นถึงภารกิจสำคัญ คือทำอย่างไรให้การบริหารราชการมีความทันสมัย มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ คำตอบก็คือ e-Government ทำให้ทุกอย่างโปร่งใสด้วยการใช้เทคโนโลยี โดยเฉพาะในส่วนของภาครัฐ

ในส่วนของภารกิจที่เรียกว่า เศรษฐกิจคนตัวเล็ก สาเหตุคือ ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยเอื้อกับทุนใหญ่มากกว่า ขีดความสามารถของผู้ประกอบการขนาดใหญ่เทียบกับผู้ประกอบการขนาดเล็กมีช่องว่างมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ติดกับดักการพัฒนาในแง่ของประเทศโดยรวม จึงต้องมีการส่งเสริมการใช้นวัตกรรม ให้ตอบโจทย์คนตัวเล็กมากขึ้น 

ด้านการเกษตร พรรคกล้าเชื่อในอนาคตของการเกษตร ทุกครั้งที่มีการลงพื้นที่จะขอพบกลุ่ม Young Smart Farmer เสมอ เพราะพรรคมองว่านี่คืออนาคตการเกษตรของไทย ความต่างของเกษตรกรรุ่นใหม่คือเวลาคิดแผนจะคิดครบไปถึงแผนการตลาด ขณะที่เกษตรกรทั่วไปจะเน้นเรื่องของการผลิต ไม่มีแผนการเข้าถึงตลาดด้วยตัวเอง ทำให้ขาดอำนาจต่อรอง 

ระบบการศึกษา เทคโนโลยีเป็นตัวบ่งบอกว่าระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบันอาจไม่ใช่คำตอบในการพัฒนาการศึกษา บทบาทของครูคนหนึ่งไม่มีทางที่จะมีข้อมูลเทียบเท่ากับข้อมูลที่มีอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตที่นักเรียน นักศึกษาสามารถหาความรู้ได้เอง ดังนั้นจึงต้องมีการสลับสับเปลี่ยนบทบาท นักเรียนควรได้รับมอบหมายไปหาข้อมูลด้วยตนเอง แต่ครูยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นโค้ช ด้วยการให้ประสบการณ์ที่ครูมีซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กไม่มี ที่สำคัญเรียนไปแล้วต้องมีอาชีพ สร้างเนื้อสร้างตัว สร้างโอกาส เป็นเรื่องของกระจายอำนาจออกไปจากกระทรวงศึกษาธิการ 

ส่วนในเรื่องคุณภาพชีวิต คุณกรณ์มองว่าเป็นเรื่องของผังเมืองยังเป็นปัญหาที่อาจนำมาซึ่งความเสียหาย และการจัดการ PM2.5 ที่ไม่ได้มาตรฐาน

และสุดท้าย เศรษฐกิจสร้างสรรค์ คุณกรณ์ยกตัวอย่างจากวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 โดยอธิบายว่า วิกฤติครั้งนี้เกาหลีและไทยโดนหนักที่สุด ทุกประเทศมีการปรับตัวแตกต่างกัน แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เกาหลีใช้การปฏิรูปกฎหมาย ตัดลดกฎหมายที่ล้าสมัยออก ปลดแอกภาคเอกชน ส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การที่เกาหลีมาถึงจุดนี้ได้จึงไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เกิดจากยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนของประเทศ และรัฐบาลมีส่วนสำคัญในการส่งเสริม เชื่อว่าของไทยมีของสะสมไว้เยอะมากไม่ต่างกัน เพียงแต่ยังไม่มีการส่งเสริม หากรัฐไม่ลดอำนาจตัวเองลงจากกฎหมายและระเบียบราชการที่มี ปรับวิธีการทำงานและทัศนคติ ก็เป็นเรื่องยากที่เอกชนจะเกิดได้ เพราะฉะนั้นการจะประสบความสำเร็จได้ต้องมีความสร้างสรรค์ มีนวัตกรรม ต้องแข่งกันยกระดับคุณภาพสินค้า ไม่ใช่แข่งกันเข้าถึงผู้มีอำนาจอย่างทุกวันนี้

เปรียบเทียบ วิกฤติ Covid-19 vs วิกฤติ Hamburger 

อดีตรมว.คลังโลก ผู้ที่เคยพาประเทศผ่านวิกฤติ Hamburger กล่าวว่า หากให้เปรียบเทียบที่ผ่านมาวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 40  หนักที่สุด เป็นเหตุการณ์ถังแตกของจริง ประเทศเจ๊งเอง ส่วน Hamburger ตนมองว่ายังไม่เท่าไหร่ เพียงแต่ได้รับผลกระทบเพราะการทำการค้าระหว่างประเทศ เมื่อกำลังซื้อคู่ค้าไม่มี จึงทำให้ไทยได้รับผลกระทบไปด้วย ส่วนโควิด เป็นวิกฤติที่ค่อย ๆ ซึม เกิดขึ้นกับทุกประเทศพร้อมกันทั่วโลก ทุกอย่างหยุดชะงักพร้อมกัน เหลือที่พึ่งเดียวคือรัฐบาล ความโชคดีคือฐานะทางการคลังของประเทศยังดีมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ รัฐบาลจึงสามารถกู้ยืมมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือมาเยียวยาประชาชน   

ทางออกของวิกฤติโควิด-19 และเงินกู้ 6 แสนล้าน 

อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า วิกฤติโควิดรอบสองต่างกับรอบแรก ในทางลบคนอยู่ในสภาพเศรษฐกิจที่เดือดร้อนมากกว่ารอบแรก เพราะอดทนมา 1 ปี เงินในกระเป๋าลดลง ในทางบวกเราเห็นจุดจบ คือวันที่คนไทยได้รับวัคซีนครบ แต่ถึงอย่างไรรัฐปฏิเสธความเดือดร้อนของประชาชนไม่ได้ ต้องมีการเยียวยา เพราะเป็นเรื่องที่จำเป็น ต้องมีการส่งสัญญาณให้ชัดเพื่อลดภาระความเดือดร้อน ประเมินแล้วว่ามีเงินส่วนเหลือจาก พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท อย่างน้อย 6 แสนล้านที่ยังไม่ได้ใช้ 

โดยกลุ่มเดือดร้อนที่ควรมีมาตรการช่วยเหลือทันที ได้แก่ กลุ่มแรก คือกลุ่มที่เปราะบางที่สุด ขึ้นทะเบียน 20 กว่าล้านคนในรอบที่แล้ว ให้เงินไป 5,000 บาท 3 เดือน วันนี้ก็ควรจะช่วยต่อไป กลุ่มต่อมาคือ กลุ่มลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง สมาชิกกองทุนประกันสังคม ได้รับการเยียวยาผ่านกองทุนประกันสังคม เศรษฐกิจแบบนี้คาดว่ายังไม่สามารถหางานใหม่ได้ จะมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไร สามารถใช้เงินฉุกเฉินยิงตรงให้ได้ กลุ่มที่สาม คือ ผู้ประกอบการทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งรัฐบาล ร้านอาหาร โรงแรม อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ห้องเช่า ร้านค้าต่าง ๆ ควรออกมาตรการเยียวยาช่วยในระยะเวลาที่จำกัดได้ ต่อมาคือ ผู้ค้าที่ได้รับผลจากโครงการคนละครึ่ง จะเติมส่วนนี้ให้เต็มเหมือนเดิมได้อย่างไร และสุดท้ายกลุ่มฟรีแลนซ์ เนื่องจากทำงานได้ยากขึ้น ไม่อยากให้ถูกมองข้าม ทั้งนี้ตนและพรรคพยายามทำหน้าที่ในการนำเสนอให้รัฐบาลได้รับรู้เพื่อออกมาตรการที่เหมาะสม 

ความคาดหวังทางการเมืองของพรรคกล้า

ทิ้งท้ายประเด็นความคาดหวังทางการเมือง โดยคุณกรณ์คาดหวังว่าพรรคกล้าจะมีโอกาสเข้ามาทำในเรื่องที่จะทำให้ประเทศดีขึ้น ให้ประชาชนมีความรู้สึกว่ามีโอกาสมากขึ้น แต่หากการเมืองไม่เปลี่ยนก็เป็นเรื่องยากที่จะสร้างโอกาสใหม่ ๆ การเมืองจะเปลี่ยนได้ คนที่มาทำการเมืองต้องเปลี่ยน พรรคกล้าจึงใช้เวลารวมตัวคนที่อาจไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง แต่มีความรู้ ความสามารถในการที่จะสร้างโอกาสให้กับคนไทยในอนาคต หน้าที่ของพรรคกล้าคือขายคนเหล่านี้ให้กับประชาชน 

ความคาดหวังทางการเมืองของพรรคกล้า

ทิ้งท้ายประเด็นความคาดหวังทางการเมือง โดยคุณกรณ์คาดหวังว่าพรรคกล้าจะมีโอกาสเข้ามาทำในเรื่องที่จะทำให้ประเทศดีขึ้น ให้ประชาชนมีความรู้สึกว่ามีโอกาสมากขึ้น แต่หากการเมืองไม่เปลี่ยนก็เป็นเรื่องยากที่จะสร้างโอกาสใหม่ ๆ การเมืองจะเปลี่ยนได้ คนที่มาทำการเมืองต้องเปลี่ยน พรรคกล้าจึงใช้เวลารวมตัวคนที่อาจไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง แต่มีความรู้ ความสามารถในการที่จะสร้างโอกาสให้กับคนไทยในอนาคต หน้าที่ของพรรคกล้าคือขายคนเหล่านี้ให้กับประชาชน 

'สรวุฒิ เนื่องจำนงค์' มุ่งมั่นลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือประชาชน | The States Times Click on Clear EP.5

บทสัมภาษณ์ของ 'สรวุฒิ เนื่องจำนงค์' ส.ส. คะแนนเสียงอันดับ 1 แห่งเมืองชลบุรี รองเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ในวันที่การเมืองสอนให้รับมือกับความผิดหวัง มุ่งมั่นลงพื้นที่อย่างจริงจังเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน

รายการ : 'สรวุฒิ เนื่องจำนงค์' มุ่งมั่นลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือประชาชน | The States Times Click on Clear EP.5

 

.

จุดเริ่มต้นสู่เส้นทางนักการเมือง

ส.ส.ต้นเล่าว่าจุดเริ่มต้นของนักการเมืองมาจากความฝันในวัยเด็กที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่อยากเป็นตำรวจ ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ พอโตขึ้นมาหน่อยก็อยากจะเป็นทูต แต่เส้นทางการเมืองมาฉายชัดในช่วงเรียนจบปริญญาตรี  เพราะอยากทำงานเพื่อสังคม จึงได้ไปศึกษาจากผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่าน มีการทาบทามจากผู้ใหญ่ในพรรคการเมืองซึ่งตอนนั้นรู้จักกับคุณพ่อ โดยการลงสมัครครั้งแรกเป็นแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองหนึ่งมี 100 คน ตนอยู่ในอันดับที่ 50 เศษๆ  ถือว่าอายุยังน้อยมากเพียง 20 กว่า ๆ  

ส.ส.อันดับ 1 พื้นที่ชลบุรีกับการเผชิญความกดดันในการเลือกตั้งปี 62 

การเป็นนักการเมืองของส.ส.ต้นที่ผ่านมานั้น ถือว่าอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดชลบุรีและได้รับการตอบรับคะแนนเสียงอันดับหนึ่งมาโดยตลอด การเลือกตั้งครั้งล่าสุดปี 62 ที่แสนดุเดือด การเผชิญหน้าความกดดันไม่ทำให้ส.ส.ต้นท้อ เพราะทุกครั้งทุกสมัยที่ลงเป็นผู้แทน ตนมั่นใจว่าช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ลงสมัครหาเสียง แต่ละคนมีมุมที่เสนอแนะประชาชนในส่วนที่เป็นประโยชน์กับชาวบ้าน ขึ้นอยู่กับชาวบ้านว่านโยบายใดที่โดนใจ การเห็นความสม่ำเสมอของผู้แทนเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งตนทำมาตลอด การหาเสียงเลือกตั้งจึงทำแบบสบาย ๆ 

ในส่วนเรื่องราวการฟ้องร้องจากคนตระกูลเดียวกันนั้น เนื่องจากการแข่งขันในเขตนี้มีความดุเดือด ตนเป็นผู้แทนที่ได้รับเลือกมาโดยตลอด คนที่นามสกุลเดียวกันก็ลงสมัครในเขตนี้มากที่สุดถึง 4 คน รู้จักกันทั้งหมด และอยู่ในพรรคการเมืองหลักทั้งนั้น ถือว่าแต่ละคนก็มีมุมมองที่น่าสนใจ แต่สุดท้ายชาวบ้านได้เลือกแล้ว

จากประชาธิปัตย์สู่พลังประชารัฐ

จุดเริ่มต้นในการเข้ามาเป็นนักการเมืองของส.ส.ต้นนั้น ในตอนแรกมี ‘พรรคไทยรักไทย’ ทาบทามเข้ามาแต่ไม่ได้ไปร่วม หลังจากนั้นตัดสินใจมาอยู่กับ’พรรคประชาธิปัตย์’ ตั้งแต่ปี 2546 ก่อนจะย้ายมาอยู่ ‘พรรคพลังประชารัฐ’ 

โดยในช่วงที่มีการยุบสภาเนื่องจากวิกฤตทางการเมือง มีการรัฐประหารตั้งแต่ปี 57 จนถึงประมาณปี 62 5 ปีเต็ม ๆ ที่ประเทศไทยไม่มีสภา ขณะนั้นส.ส.ต้นอยู่ในช่วงวัยกลางคน กำลังจะอายุ 40 ตนรู้สึกว่าเราไม่มีความหวังกับประเทศ ประเทศวุ่นวายไปหมด คิดจะเลิกจากการเมือง จึงโทรไปพูดคุยกับผู้บริหารในพรรคประชาธิปัตย์ แจ้งว่าครั้งหน้าอาจจะไม่สมัคร ความรู้สึกส่วนตัวคือเบื่อ รู้สึกว่าประเทศไทยถูกครอบงำด้วยระบบที่เรียกว่า วงจรอุบาทว์ พอมีการโกงกินขึ้นมา มีรัฐบาลถูกลบโดยเสียงเรียกร้องของประชาชน มีทหารเข้ามารักษาความสงบ กลับมาก็มีการคืนอำนาจให้กับรัฐบาลที่เลือกตั้ง วนเวียนกันอยู่แบบนี้ ประชาชนไม่เคยได้สิ่งที่ควรจะได้ 

ในช่วงรอยต่อการเปลี่ยนผ่านนี้เองได้มีผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่านและพรรคการเมืองอยากให้ไปช่วย สิ่งหนึ่งที่่ส.ส.ต้นถามทุกท่าน ทุกพรรค คือ มีนโยบายอย่างไรที่จะทำเพื่อประชาชน ตนจะมีบทบาทอะไรในสังคม และจะทำหน้าที่ส.ส.ที่ดีได้อย่างไร สุดท้ายมาตรงใจกับพรรคพลังประชารัฐ ผ่านการชักชวนของท่านสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ 

รองเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ บทบาทและการทำงาน

หลังจากที่เข้ามาในพรรคพลังประชารัฐนั้นคุณต้นได้รับโอกาสที่หลากหลาย ทั้งเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐสามสมัย เป็นสมาชิกพรรคหมายเลข 007 เป็นกรรการตั้งแต่ชุดแรก จนกระทั่งชุดสามได้รับการเสนอชื่อให้เป็นตำแหน่งรองเลขาธิการพรรค ซึ่งถือว่าเป็นบทบาทที่สำคัญ และยังได้ทำงานหลายเรื่องที่เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นในการบริการต่าง ๆ เป็นประธานอนุกรรมการตรวจสอบเงินกู้โควิด 1.9 ล้านล้านบาท 

ในส่วนของบทบาทการเป็นประธานอนุกรรมการวิสามัญพิจารณาติดตามและตรวจสอบการใช้เงินตามพระราชกำหนด 3 ฉบับในการแก้ปัญหาโควิดนั้น ส.ส.ต้น ได้แยกออกเป็น 3 ส่วน ส่วนหนึ่งคือการเยียวยา เช่น โครงการเราไม่ทิ้งกัน ซึ่งได้จ่ายเงินให้ประชาชนโดยตรงเป็นจำนวน 5,000 บาท 3 เดือน โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชนที่ถือบัตรประชารัฐอยู่ 14.5 ล้านคน และโครงการคนละครึ่ง อีกส่วนหนึ่งที่กำลังดำเนินการคือเรื่อง 3500 บาท 2 เดือน 

ปัจจุบันรัฐบาลไทยเป็นรัฐบาลที่ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนมากที่สุด เป็นเปอร์เซ็นต์ที่มากที่สุดในโลก โดยก้อนแรกนำไปใช้ในการเยียวยาแล้วส่วนหนึ่ง อีกส่วนได้จัดสรรไว้ใช้ในการป้องกัน ระมัดระวังเรื่องภัยพิบัติทางโควิด ส่วนใหญ่จะใช้กับเรื่องวัคซีน ซึ่งมีการเตรียมเงินไว้หลายหมื่นล้านบาท ส่วนที่ 3 เป็นเรื่องการเสริมสร้างเศรษฐกิจ เนื่องจากพิษโควิดทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีปัญหา ภาคท่องเที่ยวภาคส่งออกต้องหยุดชะงัก สิ่งที่ต้องฟื้นฟูคือให้ประชาชนมีกำลังซื้อ 

ส.ส.ต้น กับบทบาทตัวเชื่อมผู้แทนรุ่นใหม่ 

สำหรับผู้แทนรุ่นใหม่ ที่ปรับบทบาทมาจากท้องถิ่น หรือมาจากภาคส่วนต่าง ๆ ในอันดับแรกส.ส.ต้นได้มีการติดอาวุธให้ไปทำงาน เช่น แนะวิธีการตั้งกระทู้ วิธีการหารือ วิธีการสอบถามพี่น้องประชาชน กลไกการดูแลความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนผ่านช่องทางต่าง ๆ คอยถ่ายทอดประสบการณ์ เป็นการหลอมรวมระหว่างผู้ที่มีประสบการณ์ในพรรคและผู้แทนรุ่นใหม่

การเมืองของคนรุ่นใหม่

ส.ส.ต้นมองว่า สิ่งสำคัญเกี่ยวกับการเมืองของคนรุ่นใหม่คือการเปิดใจยอมรับทั้งสองฝ่าย ต้องมีการรับฟังกัน แนวคิดหรือความคิดของทุกคนมีค่าเสมอ แต่บางทีเราเร่งรัดเร่งร้อนสิ่งที่เป็นอุดมคติมาให้สังคม อาจจะมีปัญหาเรื่องโครงสร้าง สิ่งนี้สำคัญต้องระมัดระวัง เพราะบางทีสิ่งที่ทุกคนต้องการ สิ่งที่ทุกคนอยากจะได้ไม่ได้มาแค่ข้ามคืน ต้องมีการเรียนรู้จากสิ่งที่ถูกและสิ่งที่ผิด เสียงของคนรุ่นใหม่น่ารับฟัง ต้องมีการพูดคุยกัน ในขณะเดียวกันคนรุ่นใหม่ก็ต้องรับฟังภาคส่วนอื่น 

บทเรียนการเป็นนักการเมือง 

บทเรียนจากการเป็นนักการเมืองมาอย่างยาวนาน ส.ส.ต้นเผยว่าสิ่งแรกคือนักการเมืองสอนให้รู้จักรับมือกับความผิดหวัง ต้องแยกแยะปัญหาของพี่น้องประชาชน ว่ามันมีระดับของเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่ เรื่องที่เป็นปัญหาระยะสั้น เรื่องที่เป็นปัญหาระยะยาว ต้องจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่จะทำ ในนามที่เป็นผู้แทน การเป็นส.ส.ไม่ได้หมายความว่าจะทำทุกอย่างได้ตามประสงค์ บางส่วนมาไม่ตรงเวลาก็ต้องผลักดันให้เต็มที่

สิ่งที่เป็นปัญหาหลักตอนนี้

ส.ส.ต้นมองว่าเรื่องที่เป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งหมดขณะนี้ คือ บ่อนการพนันและแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ในเรื่องบ่อนการพนัน ตนเชื่อว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมที่เป็นต้นน้ำของประเทศทั้งหมด อย่างเช่น ตำรวจ เนื่องจากตำรวจประเทศไทยน่าสงสารมาก เพราะเงินเดือนน้อย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาจะต้องทำก็คือพยายามไปเรียกเงินหรือเรียกส่วยจากอาชญากรรมที่มีน้ำหนักเบา เช่น หวย การพนัน หรือแม้กระทั่งโสเภณี เพื่อไปป้องกันอาชญากรรมที่มีขนาดใหญ่และมีผลกระทบต่อสังคม เช่น ฆ่ากันตาย ยาเสพติด 

เห็นได้ว่าตำรวจต้องไปที่เกิดเหตุออกเงินจ่ายค่าน้ำมันเอง ปืนก็ต้องซื้อเอง ค่าใช้จ่ายในการไปหาพยานก็ต้องทำเอง หลวงไม่ได้มีงบให้ เชื่อว่าทุกโรงพักต้องมีส่วย จึงถึงเวลาแล้วที่ประชาชนต้องยอมรับเรื่องนี้ หากจำเป็นต้องมีบ่อนการพนันก็ควรให้เอาระบบพวกนี้ขึ้นมาสู่บนดิน ขึ้นทะเบียนรายได้ให้รัฐ และจัดระบบสวัสดิการให้ถูกต้องกับคนที่มีหน้าที่ป้องกัน เอาชีวิตไปเสี่ยงอันตราย ทำให้ทุกอย่างถูกต้องโปร่งใส ประเทศจะน่าอยู่ขึ้นเรื่อย ๆ

อีกเรื่องหนึ่งคือแรงงานต่างด้าว ส.ส.ต้นมองว่าแรงงานต่างด้าวอยู่คู่กับประเทศไทย 2-3 ล้านคนอย่างต่ำ ถ้ามีการจัดให้ถูกกฎหมาย มีการลงทะเบียนให้ถูกต้อง เมื่อเกิดอะไรขึ้นก็ตามตัวง่าย เกิดโรคระบาดขึ้นก็รู้เลยว่าทำงานที่ไหน รายได้ส่วนนี้ก็เข้ารัฐ นำไปทำนุบำรุงชีวิตพี่น้องโดยรวม ไม่เข้ากระเป๋าเฉพาะคนบางคน

..ต้น ในฐานะผู้แทนราษฎร จ.ชลบุรี การเตรียมพร้อมของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ส.ส.ต้นเล่าว่า ชาวชลบุรีส่วนใหญ่ตื่นตัวและอยากได้โครงการนี้ พื้นที่บางส่วนเป็นพื้นที่สีเขียวที่มีการทำเกษตรกรรมและมีการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  นับตั้งแต่ยุคพลเอกเปรม เราไม่มีสิ่งใหม่ ๆ เสนอชาวโลกเลย EEC จะเป็นหัวขบวนที่จะทำให้มีอุตสาหกรรมใหม่ ดึงดูดการลงทุนระดับโลกอีกครั้งหนึ่ง เชื่อว่าชาวชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง มีความพร้อม ทุกอย่างจะมีการเริ่มต้น และเมื่อมีการเริ่มต้นที่ดี ความเจริญจะกระจายไปที่อื่น ๆ

นักการเมืองเพื่อคนในบ้านเกิดเมืองนอน กับสิ่งที่ชลบุรียังขาด

สุดท้ายนี้ส.ส.ต้นเผยว่าสิ่งที่ชลบุรียังเป็นปัญหา คือเรื่องความเหลื่อมล้ำที่บางส่วนชาวบ้านตอบรับ บางส่วนชาวบ้านปฏิเสธ ปัญหาความรับผิดชอบของผู้ประกอบการที่ไม่รับผิดชอบต่อพี่น้องประชาชน  

 

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของ'ม็อบรุ่นพี่' 'จตุพร พรหมพันธุ์' | The States Times Click on Clear EP.4

บทสัมภาษณ์ของ จตุพร พรหมพันธุ์ อดีตประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้าน เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ ‘ตู่ ศรัทธาธรรม’ แม้เสียงจะแผ่วเบาลง แต่อุดมการณ์ยังคงเดิม

นับถอยหลัง!! การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ยกสุดท้ายในชีวิต จาก 'ม็อบรุ่นพี่' ผู้ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน และเมื่อถึงวันเผด็จศึก ต้องไม่มีคำว่า...ถอย!

.

 

.

รายการ : การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของ'ม็อบรุ่นพี่' 'จตุพร พรหมพันธุ์' | The States Times Click on Clear EP.4

 

.

จุดยืนทางการเมือง ณ ปัจจุบัน

เปิดประเด็นแรกมา นายจตุพรตอบด้วยน้ำเสียงหนักแน่นถึงจุดยืนทางการเมือง ณ วันนี้ ว่า ตนมีจุดยืนเดียวตลอดชีวิต คือยึดมั่นในระบบประชาธิปไตย ตั้งแต่วัยเด็ก ผ่านวัยหนุ่ม จวบจนกระทั่งวันนี้ ที่หายไปไม่ได้แสดงว่ายุติบทบาทการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ตนยังเหมือนเดิม เพียงแต่ถ้าให้เปรียบก็คงเหมือนกับนักร้องที่ยังร้องเนื้อเดิม แค่คีย์เสียงมันเบาลง คมน้อยลงตามวัยและยุคสมัย

ชีวิตมหาวิทยาลัย จุดเริ่มต้นบทบาททางการเมือง

นายจตุพรเล่าถึงบทบาททางการเมืองที่เริ่มต้นมาจากในรั้วมหาวิทยาลัยไว้ว่า เพราะเป็นนักศึกษาที่เข้ามาเรียนช้ากว่าคนอื่น ด้วยเหตุผลว่าไปเป็นครูอาสากว่า 3 ปี ตนยังมีความฝัน ไม่ว่าจะเรื่องค่ายอาสาพัฒนาชนบท ลงพื้นที่สร้างโรงเรียน หรือแม้กระทั่งความฝันเรื่องชาติบ้านเมือง สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถทำสำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว เพราะฉะนั้นการตั้งพรรคการเมืองในรั้วมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นจุดรวมความฝันในห้วงระยะเวลานั้น กระทั่งนำไปสู่เหตุการณ์พฤษภา 35 สิ่งที่ตนเป็นทุกวันนี้ได้มาจากในรั้วมหาวิทยาลัย และยังมองว่าห้วงเวลาที่ดีที่สุดของคนหนุ่มสาวนั้นคือช่วงเวลาที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย

มุมมองต่อกลุ่มแฟลชม็อบนักศึกษาในยุคปัจจุบัน

สำหรับกลุ่มแฟลชม็อบนักศึกษานั้น ในฐานะม็อบรุ่นพี่อย่างนายจตุพรมองว่า สิ่งนี้เป็นความงดงาม และเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้น ตนเห็นการเคลื่อนไหวและความสนใจของนักศึกษายุคนี้มากกว่าตอน 14 ตุลา 2516 และยุคพฤษภา 35 หรือยุค นปช.53 ในม็อบแต่ละยุคสมัยจะมีรูปแบบการแสดงออก และบทเรียนที่แตกต่างกันไป ณ ยุคปัจจุบันถือเป็นยุคของพวกเขา เพราะฉะนั้นการตัดสินใจหรือการเลือกวิถีทาง จะต้องให้พวกเขาเป็นคนตัดสินใจ ยุคปัจจุบันไม่ใช่เวลาของเรา ช่วงเวลานี้ คือ การให้เกียรติกับน้องๆ ที่ปลุกปั้นยุคแห่งการต่อสู้ด้วยตัวของพวกเขาเอง

บทบาทของรัฐที่ควรแสดงออกต่อการเรียกร้องของคนรุ่นใหม่

บทบาทท่าทีของรัฐที่ควรแสดงออกต่อการเรียกร้องของเด็กยุคใหม่ นายจตุพรมองว่า รัฐนั้นต้องใช้หู มากกว่าใช้อำนาจ ต้องรับฟังมากกว่าใช้กฎหมาย ประเทศใดที่ไม่มีคนหนุ่มสาวลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เพื่อชาติบ้านเมือง ประเทศนั้นจะหาอนาคตไม่ได้ รัฐต้องใจกว้าง ยอมรับฟัง พร้อมพูดคุยแลกเปลี่ยน และต้องไม่คิดทำลายล้างหรือคิดว่าพวกเขาเป็นศัตรู  มองพวกเขาอย่างลูกหลาน ด้วยหลักเมตตาธรรมระหว่างกัน

หากเป็นรัฐบาล จะแก้ปัญหาเรื่องความเห็นต่างระหว่าง Generation อย่างไร

นายจตุพรมองว่า เรื่องนี้ต้องมีการคุยเรียงตามลำดับขั้นตอน  ระหว่างคนต่างยุค ต่างสมัยกัน ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะเรื่องที่เห็นต่าง แต่ยังมีเรื่องที่เห็นพ้องต้องกัน ให้นำเรื่องที่เห็นพ้องนั้นขึ้นมาคุยกันก่อน กระทั่งไล่ไปจนถึงความเห็นต่าง ต้องยอมรับทั้งสองฝ่าย เพราะในระบอบประชาธิปไตย ความสวยงามอยู่ที่ความแตกต่าง ต้องมีการจัดพื้นที่พูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา ตนเชื่อว่าหากหาทางออกในรูปแบบนี้ ความเสียหายจะไม่บังเกิด

บทบาทในการสนับสนุนประชาธิปไตย ณ วันนี้ของ ‘จตุพร’

อย่างไรก็ตาม นายจตุพร ก็ยังไม่หยุดการต่อสู้เพื่อ ‘ประชาธิปไตย’ เพียงแต่หากจะต้องออกมาอีกครั้ง ก็ต้องออกมาแบบ ‘ครั้งเดียว’ แล้วต้องเป็นครั้งเดียวที่มีคุณค่า สมกับเป็นการสู้ที่ตั้งใจว่าจะเป็น ‘ครั้งสุดท้าย’

เพราะตั้งแต่วัยเด็ก จนหนุ่ม และบัดนี้ งัดกับรัฐบาลหลายยุค มองเห็นและเข้าใจเกมการเมืองแบบเด่นชัด จึงอยากใช้ครั้งเดียวต่อจากนี้ให้คุ้มค่าที่สุด คนบอกตนไม่ขยับ นั่นเพราะต้องเลือกเวลาที่ดีที่สุด และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ

ตนยืนยันคำพูดหนึ่งว่า ช่วงเวลาที่จะออกมาต่อสู้อีกครั้ง คือ วันที่รัฐบาลตัดสินใจฆ่าประชาชน และใช้มาตรการปราบปรามหนัก วันนั้นก็จะถึงคิวที่ตนจะก้าวออกมา เหมือนกับช่วงสมัยพฤษภาทมิฬปี 35 และ ช่วงเมษายนปี 53 จะออกมาสู้ร่วมกับประชาชนผู้รักประชาธิปไตย

นายจตุพร เล่าต่ออีกว่า เส้นทางของรัฐบาลในตอนนี้เริ่มตีบตัน และมองว่าอีกไม่นานรัฐบาลจะต้องพังด้วยปัญหาร่วมของประชาชน นั่นก็คือ ‘ปัญหาปากท้อง’ ความหิวของมนุษย์จะทำให้คนโกรธ และรัฐจะเอาไม่อยู่ ยิ่งรัฐไม่ซึมซับบทเรียนจากรอบแรก ทั้งสนามมวยในรอบแรก และตอนนี้ก็มาจากบ่อนระยอง รวมถึงแรงงานพม่าเล็ดลอดเข้ามา จนระบาดกันทั้งแผ่นดิน เป็นความบกพร่องของรัฐ ที่ทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจรุนแรง

ความคิดหลังพ้นโทษ ช่วงเวลาที่ได้อยู่กับตัวเอง

หลังจากเข้าไปใช้ชีวิตในเรือนจำ นายจตุพรกล่าวว่าตนใช้ชีวิตเหมือนกับการไปบวช ได้มีเวลาอยู่กับตัวเอง และตกตะกอนทางความคิด หากเรายังแข็งกร้าวอยู่ตลอดเวลาทั้งที่อยู่ในเรือนจำ แสดงว่าเราไม่รู้จักตนเลย เพราะเราต้องอยู่กับคนอื่น ณ วันนี้เรารู้ว่าหนทางข้างหน้าคืออะไร เพราะสู้มาตลอดชีวิต  การกำหนดจังหวะย่างก้าวไม่จำเป็นต้องแข็งแรงตลอดเวลา ที่จริงแล้ว การต่อสู้มีเพียงครั้งเดียว เพราะฉะนั้นเราควรแข็งแรงในเวลาที่เราแข็งแรง และบางเวลาถ้ายังไม่แข็งแรงก็อย่าทำตัวให้แข็งแรง เพราะจะไม่มีโอกาสได้แข็งแรง เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจผู้ต่อสู้ ไม่ใช่ว่าจะไม่สู้ แต่จะใช้ความคิดมากกว่าเดิม ใจตัวเองต้องเป็นผู้กำหนด เพราะเราจะรู้ว่าควรสู้อย่างไร สงครามที่เพลี่ยงพล้ำเพราะตามใจคนอื่น ยกสุดท้ายขอกำหนดชะตาชีวิตตัวเอง    

ความสัมพันธ์กับทักษิณ ชินวัตร ณ วันนี้

นายจตุพรเล่าว่า ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผู้มีอำนาจไม่พอใจอดีตนายกทักษิณ ตนอยู่ในประเทศไทยก็จะถูกลงมือทุกครั้งไป เป็นเรื่องปกติ การต่อสู้ในหนทางนั้นได้พิสูจน์กันอย่างชัดเจน เวลายืน ก็ยืนกันอย่างแข็งแรง ระหว่างตนกับอดีตนายกทักษิณ ตนกล้าเห็นต่าง และไม่ใช่ครั้งแรก เพียงแต่เป็นคนแรก ๆ ที่เห็นต่างและยังอยู่กันได้นาน แต่ไม่เคยมีเรื่องส่วนตัว ตนยังเคารพอดีตนายกทักษิณเหมือนเดิมตลอดเวลา แต่ความเชื่อกับสิ่งที่ได้เห็นหลายเรื่องมีความแตกต่างกัน ความสัมพันธ์ ณ ตอนนี้ตอบได้ว่า ไม่ได้คุยกันมานานกว่าสามปีแล้ว ซึ่งเป็นปกติของตนที่ไม่ใช่คนช่างคุย จะอย่างไรก็ตาม ความแตกต่างที่ตนเห็นกับอดีตนายกทักษิณนั้นไม่ได้เป็นครั้งแรก และไม่ได้เป็นครั้งสุดท้าย

ภาพในอนาคต ความฝันสูงสุดเกี่ยวกับทิศทางบ้านเมือง

นายจตุพร ทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ต้องการเห็นมากที่สุดคือการนำพาบ้านเมืองนี้ให้เป็นประชาธิปไตย ประชาชนอยู่ดีกินดี ทำทุกอย่างเพื่อประชาชน เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง แก้ปัญหาชาติ นักการเมืองยกระดับตัวเอง ยุคต่อไปสิ่งที่เราต้องการจะสร้างคือนักประชาธิปไตย ที่รับผิดชอบบ้านเมืองตามยุคสมัย คนที่เขาจะสู้เพื่อประชาชน

ความฝันที่อยากจะได้สักครั้ง คือได้นักการเมืองที่เป็นนักสู้เพื่อประชาธิปไตย และทำเพื่อประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากกว่างมเข็มในมหาสมุทร ตนขอเห็นก่อนตายสักครั้ง

"ติ้ก ชีโร่" กับชื่อเสียงในวัย 60 ปี งานเพลงคืองานศิลปะ | Click on Clear Exclusive EP.7

บทสัมภาษณ์ สุด Exclusive 35 ปี กับการเป็นติ๊ก ชิโร่ ในวันที่ก้าวสู่วัย 60 ปี งานเพลง ที่ถือเป็นงานศิลปะ ที่ชิ้นต่อไปต้องดีกว่าชิ้นแรกเสมอ และชื่อเสียงคือสิ่งมีค่าที่มีเพื่อทำประโยชน์เพื่อสังคม

.

 

รายการ :  "ติ้ก ชีโร่" กับชื่อเสียงในวัย 60 ปี งานเพลงคืองานศิลปะ | Click on Clear Exclusive EP.7

 

.

 

.

บทบาทที่เด่นชัดที่สุดของ ติ๊ก ชิโร่

เพราะบทบาทที่หลากหลายของ ติ๊ก ชิโร่ จึงเปิดประเด็นแรกมาด้วยคำถามว่า แท้จริงบทบาทไหนคือบทบาทที่เด่นชัดที่สุด  โดยพี่ติ๊กเล่าว่า ส่วนตัวที่รู้สึกมีความสุขในการทำ คือเรื่องของ CSR ในการให้ความช่วยเหลือคนอื่น เมื่อช่วงน้ำท่วมปี 54 ตนได้ออกปฏิบัติการณ์ช่วยเหลือเป็นครั้งแรก ในตอนที่พนังกั้นน้ำที่แม่น้ำเจ้าพระยาพังทลาย ทำให้น้ำทะลักเข้าสู่โรงเรียนอนุบาล ตนได้ไปอุ้มเด็กอนุบาลทีละคน เป็นความสุขที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น และในตอนที่แผ่นดินสไลด์ในจังหวัดอุบลราชธานี ได้ตัดสินใจทำโครงการชื่อว่า ปั่นเดี่ยวเยียวยา เพราะไม่อยากทำให้คนอื่นเดือดร้อน เลยนั่งคุยกับทีมงานว่าจะปั่นจักรยานไปช่วยพวกเขา ก่อนจะควักเงินสองหมื่นบาทของตัวเองฝากธนาคารไว้ และหากใครอยากช่วยบริจาคก็ให้นำมาฝาก

ปั่นจักรยานกว่า 700 กิโลเมตร 7 วัน 7 คืน

จากโครงการปั่นเดี่ยวเยียวยา กลับกลายเป็นว่าปั่นหมู่ เพราะทุกคนมาช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็นทีมของจักรยานล้อเดียว นักปั่นจักรยานทั่วไปในกทม. จากสระบุรีมารับไปส่งถึงโคราช ขี่ต่อไปที่บุรีรัมย์ ไปสุรินทร์ จนกระทั่งเข้าสู่อุบลราชธานี พบบ้านเรือนที่เสียหายจากภัยธรรมชาติ จากเงินสองหมื่นบาทในวันนั้น สามารถนำไปช่วยเหลือคนอื่นได้ประมาณ 1,006,213 บาท 38 สตางค์ เป็นสิ่งที่ตนรู้สึกอิ่มใจมาก

ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ ข้าพเจ้าจะเห็นการช่วยเหลือเป็นเรื่องที่เราจะต้องทำ”

ประโยคด้านบนเป็นแนวคิดของศิลปินที่ชื่อว่า ติ๊ก ชิโร่  วิธีคิดแบบนี้พี่ติ๊กได้มาจากมุมมองว่า ตัวเราเองก็มีศิลปินที่ชื่นชอบ เพราะฉะนั้นคนอื่น ๆ ที่ชื่นชอบเราในฐานะศิลปิน เราก็น่าจะให้โอกาสเขา ในแนวทางเดียวกัน ต้องรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา เพราะเขารัก เขาชื่นชมเรา เราก็น่าจะต้องมอบบางสิ่งบางอย่างตอบแทนกลับไปให้เขา สิ่งนี้เป็นพื้นฐานในหัวใจว่า เราจะช่วยเหลือผู้อื่นเท่าที่เราจะทำได้

พี่ติ๊กมองว่า ความมีชื่อเสียงสามารถสร้างประโยชน์ให้ได้มากกว่าแค่ตัวเองกับครอบครัว ความสุขของแฟนคลับ เช่น การเข้ามาขอถ่ายรูป ทักทาย หรือพูดคุย ถือเป็นความสุขของเขาที่เราสามารถตอบแทนให้ได้ โดยที่ไม่ต้องมากังวลอะไร เป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับว่า เราเป็นคนของสาธารณะ

แต่ถึงอย่างไรระหว่างศิลปินและแฟนคลับต้องมีการเคารพกันทั้งสองฝั่ง กฎ กติกา มารยาท เป็นสิ่งที่ต้องมี สำหรับศิลปินบางคนที่มีความเป็นปัจเจกจริง ๆ พวกเขาก็มีสิทธิ์ที่อาจจะบอกว่า “คุณไปดูผมบนเวทีนะ แต่ถ้าหมดจากเวทีขอไม่ถ่ายรูป”  แบบนี้ถือว่าทำงานบนเวที ความรับผิดชอบในส่วนนั้นหมดลงแล้ว พอลงมาขอเป็นตัวของตัวเอง นั่นก็เป็นสิทธิ์ที่เขาจะทำได้ พี่ติ๊กกล่าว

มุมมองต่อยุคสมัยที่เปลี่ยนไปในยุคของโซเชียลมีเดีย

พี่ติ๊กเล่าว่า คนเราบางครั้งที่ประสบความสำเร็จแล้ว จะมีความหลงลืม เพ้อฝัน สิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิ์ที่ทุกคนสามารถเป็นได้ ในยุคปัจจุบันความเร็วของโซเชียลมีเดีย โลกออนไลน์ สามารถที่เอ่ยจะชื่นชม ทำลาย ดราม่า บางทีเราจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้เพื่อจะอยู่กับมัน อีกมุมหนึ่งจะเห็นได้ว่าในยุคนี้ที่มีโซเชียล ศิลปินและแฟนคลับมีความใกล้ชิดผูกพันกันมากกว่าสมัยก่อน สามารถเจอกันได้แทบจะทุกเวลา อัปเดตชีวิตได้ตลอด

เพจเฟซบุ๊ก ‘Tik Shiro’

หากใครติดตามเพจเฟซบุ๊กของ ติ๊ก ชิโร่ จะพบกับกิจกรรมไลฟ์ทำอาหาร ไลฟ์สไตล์ และกิจกรรมอื่น ๆ มากมาย พี่ติ๊กเล่าว่าความหมายที่เป็นเหตุผลเดียวในการเปิดเพจ เกิดจากการที่อยากจะทำกับข้าวให้ลูกสาวทาน ทุกเมนูเป็นเมนูแรกในชีวิต โดยเมนูที่ลูกทั้งสองชอบมากคือ ข้าวผัด ส่วนเมนูที่ฮือฮามากที่สุดคือ ไข่ตุ๋นเด้งดึ๋ง  พร้อมทั้งเผยสูตรลับ ไข่ 1 ส่วน น้ำ 2 ส่วน พี่ติ๊กรับประกันว่าออกมาเด้งดึ๋ง ๆ แน่นอน

ฉันไม่ผิด’ เพลงทันสมัย ลายเส้นเดิม

เพลง ฉันไม่ผิด กับยอดวิวที่พุ่งไปถึงล้านสอง ผลงานของติ๊ก ชิโร่ ที่มีความแปลกใหม่ เอ็มวีมีเนื้อหาภาพ รวมถึงตัวละครพระเอกนางเอกที่ทันสมัยเข้ากับยุคปัจจุบัน แต่รูปแบบการร้องยังคงเป็นลายเส้นเดิมของพี่ติ๊ก  

พี่ติ๊ก กล่าวว่า เพราะเรายังมีพลังในการทำงานอยู่  ในฐานะที่เป็นนักแต่งเพลง ก็สามารถแต่งเพลงได้ตลอด อย่างเมื่อคืนแม้ว่าจะนั่งสังสรรค์ก็แต่งเพลงออกมาได้อีก 1 เพลง รับรองว่าต้องร้อยล้านวิวแน่นอน ให้คอยติดตามทางโซเชียลมีเดีย

ตายทั้งเป็น’ ติ๊ก ชิโร่ Cover -แจ้ ดนุพล

เมื่อเดือนที่แล้ว ติ๊ก ชิโร่ ได้ปล่อยเพลง Cover ตายทั้งเป็นของ พี่แจ้ ดนุพล ออกมาให้แฟน ๆ ได้รับฟังกัน โดยที่มานั้น พี่ติ๊กเล่าว่า ในยุคสมัยนี้คนที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนสังคม คือ Influencer Youtuber อย่างเช่น พิมรี่พาย ที่ตนเพิ่งมาทราบว่าร้องเพลงเพราะมาก พิมรี่พายได้ให้ฟักกลิ้ง ฮีโร่ โทรมาให้พี่ติ๊กเป็นสะพานเชื่อมโยงกับพี่แจ้ให้ เพื่อจะซื้อลิขสิทธิ์เอามาทำโคฟเวอร์  เช่นเดียวกับตนที่ซื้อลิขสิทธิ์มาทำเหมือนกัน ตายทั้งเป็น คำดูเหมือนว่าอย่างไรก็จะต้องเป็นเพลงช้า พี่ติ๊กเลยได้มีการลด Tempo และ Beat ลงมา จนกลายเป็นเพลงช้าที่รู้สึกว่าสามารถนอนฟังทั้งคืนได้

พี่ติ๊กนิยามรูปแบบเพลงโคฟเวอร์ครั้งนี้ไว้ว่า เป็นการย้อนเวลากลับไปสู่ยุค 90 หากสังเกตดี ๆ จะพบว่าเพลงนี้เป็นเพลงช้าที่มีท่อนที่แต่งขึ้นมาใหม่ อย่างเช่น ‘ตายทั้งที่ยังมีลมหายใจ’

เพลงที่ชอบมากที่สุด

เพลงที่ชอบมาก เรียกได้ว่าสามารถฟังได้ทั้งวันทั้งคืน ติ๊ก ชิโร่ ยกให้เพลง ชัดเจน เพราะมีความตั้งใจไว้ว่าเพลงนี้จะถ่ายทอดความรักที่สมบูรณ์แบบ ความรักที่อยู่ในมุมบวก คาดหวังว่าเพลงนี้จะกลายเป็นเพลงสำหรับการแต่งงาน

พร้อมทั้งเล่าว่า เวลาที่จะแต่งเพลงอะไรที่เคยประสบความสำเร็จมา อย่างเช่น ออกมาเต้น เพลงต่อไปต้องทำให้เทียบเท่าหรือดีกว่า จากออกมาเต้น จึงเกิดเป็นเพลง มาจอยกัน

บทบาทนักแต่งเพลงและนักดนตรีของ ติ๊ก ชิโร่

จากคำบอกเล่าของเจ้าตัวพบว่า การแต่งเพลงส่วนใหญ่ของติ๊ก ชิโร่ เกิดมาจากการสังเกตเห็นปรากฏการณ์ต่าง ๆ แล้วจึงนำมาแต่งเป็นบทเพลง การแต่งเพลงในยุคใหม่นี้ พี่ติ๊กเผยว่า ในทางศิลปกรรม เรียกว่าเป็น ลัทธิ หากจะให้นิยามการแต่งเพลงของตัวเองว่าเป็นรูปแบบไหนนั้น จากเพลง รักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง พี่ติ๊กให้เป็นรูปแบบของ contemporary หรือ ร่วมสมัย อย่างคำว่า สลากยังมีกินแบ่ง หลายคนก็ถามว่ามาแต่งเป็นเพลงได้ยังไง สิ่งนี้เองที่จะทำให้นักแต่งเพลงรุ่นใหม่กล้าคิด กล้าทำ กล้านำเสนอ โดย 2 สิ่งสำคัญสำหรับนักแต่งเพลงที่จะสร้างผลงาน คือ 1. หลักของความเป็นจริงในชีวิต และ 2. จินตนาการ

หากติดขัดในการแต่งเพลง เทคนิคที่ติ๊ก ชิโร่ไม่เคยบอกใคร คือ ให้หยิบหนังสืออะไรก็ได้ขึ้นมา หรือดูแป้นคีย์บอร์ดของคอมพิวเตอร์ ไล่ดูตัวอักษรที่ลอยขึ้นมา สักพักจะทำให้เราสามารถแต่งเพลงต่อได้

วิกฤตโควิด—19 ต่อวงการดนตรี

จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง รวมถึงในแวดวงคนดนตรี พี่ติ๊กเล่าว่า การเข้าไปทำงานตามร้านอาหาร ผับ บาร์ไม่ได้ของศิลปิน นักร้อง นักดนตรี ทำให้ตนมีความห่วงใยในฐานะ CSR และนักดนตรีรุ่นพี่ จึงได้นำเงินของตัวเองจำนวน 2 แสนบาทมาตั้งเป็นโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน ปล่อยข่าวไปในกลุ่มนักดนตรี จากนั้นจะมีนักดนตรีเดินทางมาเล่นดนตรี จบแล้วจะมีการมอบเงินให้ วงละ 5,000 บาท สิ่งสำคัญคืออยากให้นักดนตรีของไทยมีเพลงที่เป็นของตัวเอง ใครที่เดินทางมาก็จะขอให้เล่นเพลงของตัวเองก่อน  โครงการครั้งนี้ช่วยได้ถึง 300 วง

ชีวิตจริงเป็นคนโรแมนติกไหม?

จากเพลงรักหวานซึ้งมากมายที่ถูกถ่ายทอด ทำให้มีคำถามว่าในชีวิตจริงนั้น ติ๊ก ชิโร่เป็นคนโรแมนติกไหม โดยพี่ติ๊กได้ตอบว่า ตัวเองถือว่าเป็นคนโรแมนติก อิงจากเนื้อเพลงชัดเจนในท่อนที่ร้องว่า ที่ไม่ใช่เป็นความรักที่แปลกๆ
เหินๆ ห่างๆ อยากใกล้กัน อยากชิดกัน อยากพูดทุกวัน ฉันรักเธอ นี่แหละคือคำว่าชัดเจน รักในแบบฉบับติ๊ก ชิโร่

พี่ติ๊กให้ข้อคิดที่น่าสนใจในเรื่องของความรักไว้ว่า ถึงแม้จะครบรอบการแต่งงานมา 30 ปีแล้ว แต่บางครั้งความรักไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์แบบอย่างเดียว มันมีบางสิ่งบางอย่างที่เป็นตัวแปร เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพความเป็นจริง ที่เราต้องยอมรับให้ได้

แผนในวัย 60 ปีของ ติ๊ก ชิโร่

พี่ติ๊กเล่าว่าในวัย 60 ขึ้นไปก็จะยังคงร้องเพลง แต่งเพลง และทำงานศิลปะอยู่ ถ้าถามว่าสนใจอะไรบ้างในอายุ  60 ไปแล้วนั้น เจ้าตัวตอบว่าอยากจะ Cool down ลงมา ทำใจสบาย ๆ อยู่กับธรรมชาติ วาดรูป ทำงานศิลปะไปเรื่อย ๆ  แถมยังเผยอีกว่าจะมีคอนเสิร์ตของติ๊ก ชิโร่ มาในชื่อ คอนเสิร์ตแซยิด และจะมีผลงานเพลงออกมาเรื่อย ๆ ทั้ง 300 เพลงที่ถือลิขสิทธิ์อยู่ อาจจะมีศิลปินต่าง ๆ มาร่วมร้อง ละยังอาจจะมีโปรเจคที่สร้างเพื่อคนรุ่นใหม่อีกด้วย

ติ๊ก ชิโร่ ทิ้งท้ายไว้ว่า การที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จได้นั้น มีอยู่ไม่กี่อย่าง อย่างหนึ่งคือใจรัก มุ่งมั่น อย่างที่สองคือ ต้องมีวินัย และวันนึงโอกาสจะเป็นของเรา

Click on Clear THE TOPIC จับประเด็นเน้นความรู้ EP.1/2 ตอน การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ คือการต่อสู้ทั้งชีวิต

การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ คือการต่อสู้ทั้งชีวิต

พบกับ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล

ดำเนินรายการโดย ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา Host & Content Creator THE STATES TIMES
.

.

Click on Clear THE TOPIC จับประเด็นเน้นความรู้ EP.1/1 ตอน สังคมไทยบ่มเพาะอคติทางเพศ

สังคมไทยบ่มเพาะอคติทางเพศ

พบกับ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล

ดำเนินรายการโดย ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา Host & Content Creator THE STATES TIMES

.

.

Click on Clear THE TOPIC จับประเด็นเน้นความรู้ EP.1/3 ตอน ต้นทุนทางเพศของคนเรา ไม่เท่ากัน

ต้นทุนทางเพศของคนเรา ไม่เท่ากัน

พบกับ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล

ดำเนินรายการโดย ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา Host & Content Creator THE STATES TIMES

.

.
 

Click on Clear THE TOPIC จับประเด็น เน้นความรู้ EP.1/4 ตอนเวทีนางงามกับความงามที่หมดยุคภาพสะท้อนวัตถุทางเพศ

เวทีนางงามกับความงามที่หมดยุคภาพสะท้อนวัตถุทางเพศ

ภาพจำของเวทีนางงามกับการเป็นวัตถุทางเพศหมดไปแล้ว แต่กลายเป็นพื้นที่ขับเคลื่อนสังคม ซึ่งทำให้การพูดถึงเรื่องประชาธิปไตยกลายเป็นเรื่องสากลอย่างที่ควรจะเป็น

พบกับ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล

ดำเนินรายการโดย ปริม กุญชนิตา กุญชร ณ อยุธยา Host & Content Creator THE STATES TIMES

.

.


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top