"ติ้ก ชีโร่" กับชื่อเสียงในวัย 60 ปี งานเพลงคืองานศิลปะ | Click on Clear Exclusive EP.7

บทสัมภาษณ์ สุด Exclusive 35 ปี กับการเป็นติ๊ก ชิโร่ ในวันที่ก้าวสู่วัย 60 ปี งานเพลง ที่ถือเป็นงานศิลปะ ที่ชิ้นต่อไปต้องดีกว่าชิ้นแรกเสมอ และชื่อเสียงคือสิ่งมีค่าที่มีเพื่อทำประโยชน์เพื่อสังคม

.

 

รายการ :  "ติ้ก ชีโร่" กับชื่อเสียงในวัย 60 ปี งานเพลงคืองานศิลปะ | Click on Clear Exclusive EP.7

 

.

 

.

บทบาทที่เด่นชัดที่สุดของ ติ๊ก ชิโร่

เพราะบทบาทที่หลากหลายของ ติ๊ก ชิโร่ จึงเปิดประเด็นแรกมาด้วยคำถามว่า แท้จริงบทบาทไหนคือบทบาทที่เด่นชัดที่สุด  โดยพี่ติ๊กเล่าว่า ส่วนตัวที่รู้สึกมีความสุขในการทำ คือเรื่องของ CSR ในการให้ความช่วยเหลือคนอื่น เมื่อช่วงน้ำท่วมปี 54 ตนได้ออกปฏิบัติการณ์ช่วยเหลือเป็นครั้งแรก ในตอนที่พนังกั้นน้ำที่แม่น้ำเจ้าพระยาพังทลาย ทำให้น้ำทะลักเข้าสู่โรงเรียนอนุบาล ตนได้ไปอุ้มเด็กอนุบาลทีละคน เป็นความสุขที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น และในตอนที่แผ่นดินสไลด์ในจังหวัดอุบลราชธานี ได้ตัดสินใจทำโครงการชื่อว่า ปั่นเดี่ยวเยียวยา เพราะไม่อยากทำให้คนอื่นเดือดร้อน เลยนั่งคุยกับทีมงานว่าจะปั่นจักรยานไปช่วยพวกเขา ก่อนจะควักเงินสองหมื่นบาทของตัวเองฝากธนาคารไว้ และหากใครอยากช่วยบริจาคก็ให้นำมาฝาก

ปั่นจักรยานกว่า 700 กิโลเมตร 7 วัน 7 คืน

จากโครงการปั่นเดี่ยวเยียวยา กลับกลายเป็นว่าปั่นหมู่ เพราะทุกคนมาช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็นทีมของจักรยานล้อเดียว นักปั่นจักรยานทั่วไปในกทม. จากสระบุรีมารับไปส่งถึงโคราช ขี่ต่อไปที่บุรีรัมย์ ไปสุรินทร์ จนกระทั่งเข้าสู่อุบลราชธานี พบบ้านเรือนที่เสียหายจากภัยธรรมชาติ จากเงินสองหมื่นบาทในวันนั้น สามารถนำไปช่วยเหลือคนอื่นได้ประมาณ 1,006,213 บาท 38 สตางค์ เป็นสิ่งที่ตนรู้สึกอิ่มใจมาก

ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ ข้าพเจ้าจะเห็นการช่วยเหลือเป็นเรื่องที่เราจะต้องทำ”

ประโยคด้านบนเป็นแนวคิดของศิลปินที่ชื่อว่า ติ๊ก ชิโร่  วิธีคิดแบบนี้พี่ติ๊กได้มาจากมุมมองว่า ตัวเราเองก็มีศิลปินที่ชื่นชอบ เพราะฉะนั้นคนอื่น ๆ ที่ชื่นชอบเราในฐานะศิลปิน เราก็น่าจะให้โอกาสเขา ในแนวทางเดียวกัน ต้องรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา เพราะเขารัก เขาชื่นชมเรา เราก็น่าจะต้องมอบบางสิ่งบางอย่างตอบแทนกลับไปให้เขา สิ่งนี้เป็นพื้นฐานในหัวใจว่า เราจะช่วยเหลือผู้อื่นเท่าที่เราจะทำได้

พี่ติ๊กมองว่า ความมีชื่อเสียงสามารถสร้างประโยชน์ให้ได้มากกว่าแค่ตัวเองกับครอบครัว ความสุขของแฟนคลับ เช่น การเข้ามาขอถ่ายรูป ทักทาย หรือพูดคุย ถือเป็นความสุขของเขาที่เราสามารถตอบแทนให้ได้ โดยที่ไม่ต้องมากังวลอะไร เป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับว่า เราเป็นคนของสาธารณะ

แต่ถึงอย่างไรระหว่างศิลปินและแฟนคลับต้องมีการเคารพกันทั้งสองฝั่ง กฎ กติกา มารยาท เป็นสิ่งที่ต้องมี สำหรับศิลปินบางคนที่มีความเป็นปัจเจกจริง ๆ พวกเขาก็มีสิทธิ์ที่อาจจะบอกว่า “คุณไปดูผมบนเวทีนะ แต่ถ้าหมดจากเวทีขอไม่ถ่ายรูป”  แบบนี้ถือว่าทำงานบนเวที ความรับผิดชอบในส่วนนั้นหมดลงแล้ว พอลงมาขอเป็นตัวของตัวเอง นั่นก็เป็นสิทธิ์ที่เขาจะทำได้ พี่ติ๊กกล่าว

มุมมองต่อยุคสมัยที่เปลี่ยนไปในยุคของโซเชียลมีเดีย

พี่ติ๊กเล่าว่า คนเราบางครั้งที่ประสบความสำเร็จแล้ว จะมีความหลงลืม เพ้อฝัน สิ่งเหล่านี้เป็นสิทธิ์ที่ทุกคนสามารถเป็นได้ ในยุคปัจจุบันความเร็วของโซเชียลมีเดีย โลกออนไลน์ สามารถที่เอ่ยจะชื่นชม ทำลาย ดราม่า บางทีเราจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้เพื่อจะอยู่กับมัน อีกมุมหนึ่งจะเห็นได้ว่าในยุคนี้ที่มีโซเชียล ศิลปินและแฟนคลับมีความใกล้ชิดผูกพันกันมากกว่าสมัยก่อน สามารถเจอกันได้แทบจะทุกเวลา อัปเดตชีวิตได้ตลอด

เพจเฟซบุ๊ก ‘Tik Shiro’

หากใครติดตามเพจเฟซบุ๊กของ ติ๊ก ชิโร่ จะพบกับกิจกรรมไลฟ์ทำอาหาร ไลฟ์สไตล์ และกิจกรรมอื่น ๆ มากมาย พี่ติ๊กเล่าว่าความหมายที่เป็นเหตุผลเดียวในการเปิดเพจ เกิดจากการที่อยากจะทำกับข้าวให้ลูกสาวทาน ทุกเมนูเป็นเมนูแรกในชีวิต โดยเมนูที่ลูกทั้งสองชอบมากคือ ข้าวผัด ส่วนเมนูที่ฮือฮามากที่สุดคือ ไข่ตุ๋นเด้งดึ๋ง  พร้อมทั้งเผยสูตรลับ ไข่ 1 ส่วน น้ำ 2 ส่วน พี่ติ๊กรับประกันว่าออกมาเด้งดึ๋ง ๆ แน่นอน

ฉันไม่ผิด’ เพลงทันสมัย ลายเส้นเดิม

เพลง ฉันไม่ผิด กับยอดวิวที่พุ่งไปถึงล้านสอง ผลงานของติ๊ก ชิโร่ ที่มีความแปลกใหม่ เอ็มวีมีเนื้อหาภาพ รวมถึงตัวละครพระเอกนางเอกที่ทันสมัยเข้ากับยุคปัจจุบัน แต่รูปแบบการร้องยังคงเป็นลายเส้นเดิมของพี่ติ๊ก  

พี่ติ๊ก กล่าวว่า เพราะเรายังมีพลังในการทำงานอยู่  ในฐานะที่เป็นนักแต่งเพลง ก็สามารถแต่งเพลงได้ตลอด อย่างเมื่อคืนแม้ว่าจะนั่งสังสรรค์ก็แต่งเพลงออกมาได้อีก 1 เพลง รับรองว่าต้องร้อยล้านวิวแน่นอน ให้คอยติดตามทางโซเชียลมีเดีย

ตายทั้งเป็น’ ติ๊ก ชิโร่ Cover -แจ้ ดนุพล

เมื่อเดือนที่แล้ว ติ๊ก ชิโร่ ได้ปล่อยเพลง Cover ตายทั้งเป็นของ พี่แจ้ ดนุพล ออกมาให้แฟน ๆ ได้รับฟังกัน โดยที่มานั้น พี่ติ๊กเล่าว่า ในยุคสมัยนี้คนที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนสังคม คือ Influencer Youtuber อย่างเช่น พิมรี่พาย ที่ตนเพิ่งมาทราบว่าร้องเพลงเพราะมาก พิมรี่พายได้ให้ฟักกลิ้ง ฮีโร่ โทรมาให้พี่ติ๊กเป็นสะพานเชื่อมโยงกับพี่แจ้ให้ เพื่อจะซื้อลิขสิทธิ์เอามาทำโคฟเวอร์  เช่นเดียวกับตนที่ซื้อลิขสิทธิ์มาทำเหมือนกัน ตายทั้งเป็น คำดูเหมือนว่าอย่างไรก็จะต้องเป็นเพลงช้า พี่ติ๊กเลยได้มีการลด Tempo และ Beat ลงมา จนกลายเป็นเพลงช้าที่รู้สึกว่าสามารถนอนฟังทั้งคืนได้

พี่ติ๊กนิยามรูปแบบเพลงโคฟเวอร์ครั้งนี้ไว้ว่า เป็นการย้อนเวลากลับไปสู่ยุค 90 หากสังเกตดี ๆ จะพบว่าเพลงนี้เป็นเพลงช้าที่มีท่อนที่แต่งขึ้นมาใหม่ อย่างเช่น ‘ตายทั้งที่ยังมีลมหายใจ’

เพลงที่ชอบมากที่สุด

เพลงที่ชอบมาก เรียกได้ว่าสามารถฟังได้ทั้งวันทั้งคืน ติ๊ก ชิโร่ ยกให้เพลง ชัดเจน เพราะมีความตั้งใจไว้ว่าเพลงนี้จะถ่ายทอดความรักที่สมบูรณ์แบบ ความรักที่อยู่ในมุมบวก คาดหวังว่าเพลงนี้จะกลายเป็นเพลงสำหรับการแต่งงาน

พร้อมทั้งเล่าว่า เวลาที่จะแต่งเพลงอะไรที่เคยประสบความสำเร็จมา อย่างเช่น ออกมาเต้น เพลงต่อไปต้องทำให้เทียบเท่าหรือดีกว่า จากออกมาเต้น จึงเกิดเป็นเพลง มาจอยกัน

บทบาทนักแต่งเพลงและนักดนตรีของ ติ๊ก ชิโร่

จากคำบอกเล่าของเจ้าตัวพบว่า การแต่งเพลงส่วนใหญ่ของติ๊ก ชิโร่ เกิดมาจากการสังเกตเห็นปรากฏการณ์ต่าง ๆ แล้วจึงนำมาแต่งเป็นบทเพลง การแต่งเพลงในยุคใหม่นี้ พี่ติ๊กเผยว่า ในทางศิลปกรรม เรียกว่าเป็น ลัทธิ หากจะให้นิยามการแต่งเพลงของตัวเองว่าเป็นรูปแบบไหนนั้น จากเพลง รักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง พี่ติ๊กให้เป็นรูปแบบของ contemporary หรือ ร่วมสมัย อย่างคำว่า สลากยังมีกินแบ่ง หลายคนก็ถามว่ามาแต่งเป็นเพลงได้ยังไง สิ่งนี้เองที่จะทำให้นักแต่งเพลงรุ่นใหม่กล้าคิด กล้าทำ กล้านำเสนอ โดย 2 สิ่งสำคัญสำหรับนักแต่งเพลงที่จะสร้างผลงาน คือ 1. หลักของความเป็นจริงในชีวิต และ 2. จินตนาการ

หากติดขัดในการแต่งเพลง เทคนิคที่ติ๊ก ชิโร่ไม่เคยบอกใคร คือ ให้หยิบหนังสืออะไรก็ได้ขึ้นมา หรือดูแป้นคีย์บอร์ดของคอมพิวเตอร์ ไล่ดูตัวอักษรที่ลอยขึ้นมา สักพักจะทำให้เราสามารถแต่งเพลงต่อได้

วิกฤตโควิด—19 ต่อวงการดนตรี

จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง รวมถึงในแวดวงคนดนตรี พี่ติ๊กเล่าว่า การเข้าไปทำงานตามร้านอาหาร ผับ บาร์ไม่ได้ของศิลปิน นักร้อง นักดนตรี ทำให้ตนมีความห่วงใยในฐานะ CSR และนักดนตรีรุ่นพี่ จึงได้นำเงินของตัวเองจำนวน 2 แสนบาทมาตั้งเป็นโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน ปล่อยข่าวไปในกลุ่มนักดนตรี จากนั้นจะมีนักดนตรีเดินทางมาเล่นดนตรี จบแล้วจะมีการมอบเงินให้ วงละ 5,000 บาท สิ่งสำคัญคืออยากให้นักดนตรีของไทยมีเพลงที่เป็นของตัวเอง ใครที่เดินทางมาก็จะขอให้เล่นเพลงของตัวเองก่อน  โครงการครั้งนี้ช่วยได้ถึง 300 วง

ชีวิตจริงเป็นคนโรแมนติกไหม?

จากเพลงรักหวานซึ้งมากมายที่ถูกถ่ายทอด ทำให้มีคำถามว่าในชีวิตจริงนั้น ติ๊ก ชิโร่เป็นคนโรแมนติกไหม โดยพี่ติ๊กได้ตอบว่า ตัวเองถือว่าเป็นคนโรแมนติก อิงจากเนื้อเพลงชัดเจนในท่อนที่ร้องว่า ที่ไม่ใช่เป็นความรักที่แปลกๆ
เหินๆ ห่างๆ อยากใกล้กัน อยากชิดกัน อยากพูดทุกวัน ฉันรักเธอ นี่แหละคือคำว่าชัดเจน รักในแบบฉบับติ๊ก ชิโร่

พี่ติ๊กให้ข้อคิดที่น่าสนใจในเรื่องของความรักไว้ว่า ถึงแม้จะครบรอบการแต่งงานมา 30 ปีแล้ว แต่บางครั้งความรักไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์แบบอย่างเดียว มันมีบางสิ่งบางอย่างที่เป็นตัวแปร เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพความเป็นจริง ที่เราต้องยอมรับให้ได้

แผนในวัย 60 ปีของ ติ๊ก ชิโร่

พี่ติ๊กเล่าว่าในวัย 60 ขึ้นไปก็จะยังคงร้องเพลง แต่งเพลง และทำงานศิลปะอยู่ ถ้าถามว่าสนใจอะไรบ้างในอายุ  60 ไปแล้วนั้น เจ้าตัวตอบว่าอยากจะ Cool down ลงมา ทำใจสบาย ๆ อยู่กับธรรมชาติ วาดรูป ทำงานศิลปะไปเรื่อย ๆ  แถมยังเผยอีกว่าจะมีคอนเสิร์ตของติ๊ก ชิโร่ มาในชื่อ คอนเสิร์ตแซยิด และจะมีผลงานเพลงออกมาเรื่อย ๆ ทั้ง 300 เพลงที่ถือลิขสิทธิ์อยู่ อาจจะมีศิลปินต่าง ๆ มาร่วมร้อง ละยังอาจจะมีโปรเจคที่สร้างเพื่อคนรุ่นใหม่อีกด้วย

ติ๊ก ชิโร่ ทิ้งท้ายไว้ว่า การที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จได้นั้น มีอยู่ไม่กี่อย่าง อย่างหนึ่งคือใจรัก มุ่งมั่น อย่างที่สองคือ ต้องมีวินัย และวันนึงโอกาสจะเป็นของเรา