Tuesday, 21 May 2024
Central

กรุงเทพฯ - จก.ขส.ทร.จัดกิจกรรมวันอาภากร บริจาคโลหิต และมอบสิ่งของให้ชุมชนใกล้เคียงสู้โควิด-19

พลเรือตรี สาธิต นาคสังข์ เจ้ากรมการขนส่งทหารเรือ (จก.ขส.ทร.) จัดกิจกรรมเนื่องในวัน อาภากร โดยจัดพิธีบวงสรวงและอ่านคำประกาศพระเกียรติคุณ พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์​บริเวณ​หน้า​กองบังคับการ​ และ​จัดกิจกรรมบริจาคโลหิต​ เพื่อสนับสนุน​โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า​ กรมแพทย์ทหารเรือ​ นำโลหิตไปช่วย​เหลือผู้ป่วย​

เนื่องจากขณะนี้​โรงพยาบาลขาดแคลนเลือดเป็นจำนวนมาก​ พร้อมกันนี้​ได้มอบสิ่งของอุปโภค บริโภค อาหาร ยารักษาโรค ให้กับ​ชุมชน​บ้านพระยาทำ ​ซึ่งอยู่ติดกับ​กรมการขนส่งทหารเรือ​ ที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19​ โดยเชิญผู้นำชุมชน​เป็นผู้แทนมารับ ​และส่งต่อให้คนในชุมชนต่อไป​ เมื่อ 19 พ.ค.64


ภาพ/ข่าว กพร.ทร. / นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน

สุโขทัย - สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานอุปกรทางการแพทย์ ให้กับโรงพยาบาลสุโขทัย

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลสุโขทัย เพื่อเพิ่มศักยภาพ และประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

วันนี้ (21 พ.ค. 64) เวลา 08.30 น. ที่ห้องประชุมศรีสุโขทัย ชั้น 4 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลสุโขทัย อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย นายวิรุฬ พรรณเทวี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย เป็นประธานรับมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ คือ เครื่องให้อากาศผสมออกซิเจนอัตราการไหลสูง (Humidifier With Intgrated Flow Generator) หรือ เครื่องออกซิเจนไฮโฟลว์ เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด – 19 โดยมีดร.นพ.ปองพล วรปาณิ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย ,นพ.มาโนช อู่วุฒิพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุโขทัย ,ประชาสัมพันธ์จังหวัดสุโขทัย และบุคลากรทางการแพทย์ร่วมพิธี

ตามที่เกิดการระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ซึ่งการระบาดในครั้งนี้ส่งผลเป็นวงกว้าง ทําให้มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลต่างๆ เป็นจํานวนมาก หลายโรงพยาบาลขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์โดยเฉพาะ “เครื่องออกซิเจน ไฮ โฟลว์” (Oxygen High Flow) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่มีความจําเป็นและสําคัญในการช่วยชีวิตผู้ป่วยภาวะหายใจล้มเหลว หรือมีภาวะพร่องออกซิเจน และเพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้มากยิ่งขึ้น

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์นายกกิตติมศักดิ์ และองค์ประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้พระราชทานงบประมาณจาก “กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 (และโรคระบาดต่าง ๆ )” จัดซื้อ “เครื่องออกซิเจน ไฮ โฟลว์” (Oxygen High Flow) จํานวน 530 เครื่อง และมีพระราชานุมัติพระราชทานแก่โรงพยาบาลแล้ว 456 เครื่อง ในกว่า 80 โรงพยาบาล ทั่วทุกภาคของประเทศ

ปทุมธานี - รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานในพิธีบวงสรวงโครงการโคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง วัดเกาะเกรียง

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 เวลา 08.00 น. นายพงศธร กาญจนะจิตรา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานในพิธีบวงสรวงพื้นที่สำหรับโครงการโคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง วัดเกาะเกรียง ตำบลบางคูวัด อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี นายจักรกฤษณ์ ทองสิริประภา เลขานุการคณะทำงานฯ กล่าวว่า วัดเกาะเกรียง โดยมี พระมหาบัญญัติ สุจิตฺโต ดร. เจ้าอาวาสวัดเกาะเกรียง เป็นผู้มีวิสัยทัศน์ที่จะสนองแนวพระราชดำริ และพระบรมราโชบายการสืบสาน รักษา และต่อยอดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน รวมทั้งขยายผลแนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปสู่ประชาชนเพื่อจะได้น้อมนำไปปฏิบัติให้เป็นวิถีชีวิต ขับเคลื่อนกิจกรรม โคก หนอง นา โมเดล ให้เป็นจุดตัวอย่าง เป็นต้นแบบในการบริหารจัดการพื้นที่ใช้สอยที่ว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน ปรับปรุงพัฒนาสภาพแวดล้อมระบบนิเวศน์ภายในชุมชนรอบข้าง ให้มีความสมดุลอย่างยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องภัยแล้งและส่งเสริมการประกอบอาชีพ การใช้น้ำน้อย โดยกิจกรรม โคก หนอง นา โมเดล เป็นกลไกในการขับเคลื่อน ซึ่งในวันนี้มีพัฒนาการจังหวัดปทุมธานี วัฒนธรรมจังหวัดปทุมธานี ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดปทุมธานี ดร.จิดาภา แต่สกุล นายกสมาคมสตรีไทยสากล นายธนบดี ศรีเมือง พร้อมด้วยคณะทำงานฯ ข้าราชการ จิตอาสา และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมพิธีฯ

ทั้งนี้รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่าจังหวัดปทุมธานีพร้อมสนับสนุนการดำเนินโครงการโคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง วัดเกาะเกรียง ซึ่งวัดเกาะเกรียงนั้นนับเป็นวัดแรกในจังหวัดปทุมธานีที่ดำเนินโครงการนี้ สำหรับโครงการโคก หนอง นานั้น โคก หมายถึงพื้นที่สูงสำหรับเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืช หนองสำหรับการกักเก็บน้ำ และนาสำหรับทำการปลูกข้าว จากนั้นรองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ยังได้สักการะศาสนสถานสำคัญภายในวัดอีกด้วย


ภาพ/ข่าว  วะจะนะชัย วาจาพารวย รายงาน

สุโขทัย - ผู้ว่าฯ สุโขทัย เยี่ยม Young Smart Farmer (เกษตรกรรุ่นใหม่) ทำเกษตรในพื้นที่จำกัดมีรายได้ทั้งปี

Young Smart Farmer (YSF) อำเภอเมืองสุโขทัย นำแนวคิดจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างเครือข่าย YSF สุโขทัย ปรับพื้นที่ 2 ไร่ กว่าๆ ทำเกษตรแบบผสมผสาน ใช้พื้นที่น้อย มีผลผลิตทั้งปี แถมมีรายได้อย่างต่อเนื่อง

นายวิรุฬ พรรณเทวี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย พร้อมด้วย นายเนตร สมบัติ เกษตรจังหวัดสุโขทัย และคณะลงพื้นที่อำเภอเมืองสุโขทัย เยี่ยมแปลงเกษตรผสมผสานของ นางสาวชรินทร สัพลักษณ์ รองประธาน Young Smart Farmer (เกษตรกรรุ่นใหม่) ของจังหวัดสุโขทัย ณ หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านหลุม อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นจุดเรียนรู้ด้านเกษตรผสมผสาน ปลูกพืชหลากชนิด ทั้งพืชผัก ไม้ผล พืชหลักทีทำรายได้ คือ ผักหวานอินทรีย์ ขายทั้งยอดผักหวาน และเพาะเมล็ดขาย  แปลงผักกุ่ยช่าย ผลิตทั้งกุ่ยช่ายเขียว และกุ่ยช่ายขาว ทำแบบประณีต เพิ่มมูลค่าด้วยการบรรจุหีบห่อ เพื่อให้การขนส่งจากแหล่งผู้ผลิตไปให้ยังแหล่งผู้บริโภค หรือแหล่งที่ใช้ประโยชน์ คงสภาพตลอด ให้ปลอดภัย และรักษาคุณภาพให้ได้มากที่สุด ซึ่งกุ่ยช่ายขาว มีราคาขายที่สูงกว่า กุ่ยช่ายเขียวถึงหนึ่งเท่าตัว นอกจากนี้ยังมี ไม้ผล เช่น มะม่วง ส้มโอ มะละกอ ลิ้นจี่ เป็นต้น

นางสาวชรินทร สัพลักษณ์ เล่าว่ามีความสุขที่ได้เห็นผลผลิตในแปลงที่ตนเองได้ลงมือทำเอง  เริ่มต้นจากแนวคิดว่ามีที่ทำกินน้อยจะทำอย่างไรจึงจะพึ่งพาตนเองได้ และมีสุขภาพดี ครอบครัว มีความสุข จึงเริ่มจากปลูกในสิ่งที่ชอบ วางแผนการปลูกพืชให้มีกินตลอดทั้งปี โดยทำแบบพอเพียงก่อน ทำน้อยได้มาก ปลอดจากสารพิษ ( ไม่ใช้สารเคมี ) ปลูกพืชที่เป็นอาหารประจำวัน ถ้ามีเหลือกินจึงเอาไปขาย สิ่งสำคัญของการทำเกษตร คือ เรียนรู้จากธรรมชาติ ใช้ทรัพยากร ดิน น้ำ พืช อย่างมีคุณค่า โดยจะมีการปรับปรุง บำรุงดิน ฟื้นฟูและเสริมธาตุอาหารให้กับดิน  ใช้โซล่าเซลล์เป็นแหล่งพลังงานสะอาดในเรื่องน้ำให้พืชผัก การพักต้นพืชหลังจากให้ผลผลิตเต็มที่แล้ว คืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับต้นพืช  เป็นการทำเกษตรแบบประณีต แบบพึ่งพิงธรรมชาติและคืนความสมบูรณ์กลับสู่ธรรมชาติ ให้ความสำคัญกับความใส่ใจใทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก


ภาพ/ข่าว  พงศ์เทพ สาคร สุโขทัย

อยุธยา - บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มอบเครื่องช่วยหายใจให้กับโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา

วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 คุณอัมพร สุดสงวน ผู้จัดการฝ่ายแผนกลยุทธ์และบริหารนวัตกรรม สถาบันนวัตกรรม ,ว่าที่ร.ต.รุจ ศรีจักรโคตร ผู้จัดการส่วนปฏิบัติการระบบท่อเขต 2 , นายวงศ์พันธ์ ทัศนางกูร ผู้จัดการส่วนปฏิบัติการระบบท่อเขต 11 เป็นตัวแทน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ในโครงการ “ลมหายใจเดียวกัน”

โดยได้มอบเครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมด้วยปริมาตรและความดัน พร้อมอุปกรณ์ รุ่น VELA Plus จำนวน 1 เครื่อง เครื่องให้อากาศผสมออกซิเจนอัตราการไหลสูง (Humidifier with integrated flow generator) รุ่น Airvo 2 (สำหรับผู้ใหญ่) จำนวน 5 เครื่อง พร้อมทั้งมอบเงินบริจาคสำหรับซื้อออกซิเจนเหลว (liquid oxygen) จำนวนเงิน 100,000 บาท รวมมูลค่าทั้งสิ้น 1,550,000 บาท ให้กับโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา

โดยมีนายโชคชัย ลีโทชวลิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา พร้อมแพทย์หญิงเสาวลักษณ์ ชาวโพนทอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านลูกค้าสัมพันธ์ เป็นผู้รับมอบ เพื่อนำไปใช้รองรับสถานการณ์ COVID-19 และเป็นประโยชน์ด้านการรักษาผู้ป่วยวิกฤติ (ICU Ventilator) และผู้ป่วยของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาต่อไป


ภาพ/ข่าว  เดชา อุ่นขาว รายงานจากอยุธา

กรุงเทพฯ - มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ส่งต่อน้ำใจไทยอีกกว่า 5.6 ล้าน มอบอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์เสริมทัพบุคลากรทางการแพทย์ สู้ภัยโควิด-19

วันนี้ (วันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม 2564) นายวิเชียร เตชะไพบูลย์ ประธานกรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นายสัก กอแสงเรือง รองประธานกรรมการ นางศิริกุล โอภาสวงศ์ กรรมการและเลขาธิการ พร้อมด้วย คณะกรรมการมูลนิธิฯ มอบอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ในโครงการ “ส่งต่อน้ำใจไทย สู้ภัยโควิด-19” แก่โรงพยาบาล/โรงพยาบาลสนาม สังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร 20 แห่ง และกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข 3 แห่ง รวม 23 แห่ง รวมมูลค่ากว่า 5.6 ล้านบาท เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) โดยมี นายแพทย์สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ พร้อมคณะเป็นผู้รับมอบในส่วนสังกัดสำนักการแพทย์ ณ ลานสำนักงาน มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง พลับพลาไชย กรุงเทพฯ และ ผศ.พิเศษ นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา พร้อมคณะ เป็นผู้รับมอบผ่านระบบออนไลน์ พร้อมกำหนดนัดหมายมอบให้กับรพ.สังกัดกรมการแพทย์อื่น ๆ เพื่อรับมอบต่อไป

อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ประกอบด้วย เครื่องช่วยหายใจ จำนวน 4 เครื่อง ชุด PPE (EN 14126) หน้ากาก N95 (ยี่ห้อ 3M / 8210) หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ และชุดของใช้ประจำวันหรือชุดแรกรับ มอบให้กับโรงพยาบาล/โรงพยาบาลสนาม สังกัดสำนักการแพทย์ 20 แห่ง และกรมการแพทย์ 3 แห่ง รวม 23 แห่ง ประกอบด้วย รพ.กลาง รพ.สิรินธร รพ.นพรัตนราชธานี รพ.สมุทรปราการ รพ.ตากสิน รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ รพ.ราชพิพัฒน์ เขตบางแค รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน รพ.เวชการุณย์รัศมิ์ รพ.ลาดกระบัง รพ.คลองสามวา รพ.บางนา ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน (ศูนย์เอราวัณ) รพ.สนาม เอราวัณ 1 บางบอน รพ.สนาม เอราวัณ 2 หนองจอก รพ.สนาม เอราวัณ 3 ทุ่งครุ รพ.สนาม (รพ.บางขุนเทียน) รพ.สนาม (รพ.ราชพิพัฒน์) เขตทวีวัฒนา รพ.สนาม (รพ.กลาง) Hospital โรงพยาบาลสิรินธร ( โรงแรม Elegant Airport Hotel) เขตประเวศ Hospital โรงพยาบาลตากสิน (โรงแรม บ้านไทย บูทีค) เขตบางกะปิ พร้อมกันนี้ยังได้มีการมอบเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ระบบดิจิทัลแก่สถาบันประสาทวิทยาผ่านระบบออนไลน์

สำหรับการมอบอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ริเริ่มดำเนินการมามอบมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา โดยในครั้งแรก มูลนิธิฯ ทุ่มงบ 110 ล้านบาท มอบอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่จำเป็นแก่โรงพยาบาลที่ขาดแคลนทั้งในกรุงเทพฯ และถิ่นทุรกันดารในต่างจังหวัด รวม 37 แห่ง ทั่วประเทศ ซึ่งอุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ มูลนิธิฯ ได้ประสานโรงพยาบาลต่าง ๆ ให้แสดงความประสงค์สิ่งที่ขาดแคลน และเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องใช้อย่างเร่งด่วน หลังจากนั้นภายหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) มูลนิธิฯ พร้อมทั้งจัดตั้งกองทุน “ธารน้ำใจ สู้ภัยโควิด-19” มอบอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์มอบให้กับโรงพยาบาลที่ขาดแคลนต่อเนื่อง

และในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ระลอกใหม่นี้ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งได้ปรับแผนการดำเนินงานการช่วยเหลือประชาชนทั้งด้านบรรเทาสาธารณภัย สังคมสงเคราะห์ และหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน พร้อมประสานงานเพื่อให้ความช่วยเหลือเชิงรุกทั้งในส่วนของประชาชน ชุมชน และบุคลากรทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงจัดตั้งโรงครัวประกอบอาหารปรุงสุกเพื่อช่วยเหลือประชาชนในขณะนี้ รวมงบประมาณดำเนินการออกช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นับตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบันเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 32.9 ล้านบาท

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาทุกท่านร่วมบริจาคสมทบทุนช่วยเหลือในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) กับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ติดต่อสอบถาม รวมถึงติดตามข่าวสารกิจกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ – ผู้ประสบภัยต่าง ๆ ของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้ที่เฟซบุ๊ก แฟนเพจ www.facebook.com/atpohtecktung

สุโขทัย - เรือนจำ อบจ.เตรียมพร้อม โรงพยาบาลสนามรับมือโควิด หากแพร่ระบาดในเรือนจำสุโขทัย

เช้าวันนี้ (24 พ.ค.64) วิรุฬ พรรณเทวี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย พร้อมด้วยนายมนู พุกประเสริฐ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัยและนายแพทย์ปองพล วรปราณิ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย ติดตามความคืบหน้าในการเตรียมความพร้อมทำโรงพยาบาลสนามของเรือนจำจังหวัดสุโขทัย

ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่กระจายเข้าสู่เรือนจำหลายแห่งทำให้มีผู้ต้องขังติดเชื้อกันเป็นจำนวนมาก กรมราชทัณฑ์มีความห่วงใย ในสภาวการณ์ของการระบาด เพื่อให้ญาติผู้ต้องขังและสังคมสบายใจ ได้ให้ทุกเรือนจำทั่วประเทศจะต้องมีการเตรียมความพร้อมทำโรงพยาบาลสนาม ซึ่งอาจจะต้องกันแดนไว้ 1 แดนเพื่อจัดทำโรงพยาบาลสนาม เตรียมพร้อมรับมือ ในส่วนของเรือนจำจังหวัดสุโขทัยขณะนี้ได้ใช้อาคารโรงฝึกงาน ในแดนฝึกวิชาชีพ เป็นโรงพยาบาลสนาม สามารถรองรับได้ทั้งหมด 100 เตียง โดยแบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 50 เตียง

นายวิรุฬ พรรณเทวี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย กล่าวให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ของเรือนจำและแพทย์ที่จะมาดูแล ว่าจังหวัดสุโขทัยโดยเรือนจำจังหวัดสุโขทัยและเรือนจำอำเภอสวรรคโลกได้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดภายในเรือนจำเป็นอย่างดี โดยจะดำเนินการตรวจหาเชื้อผู้ต้องขังทั้งเรือนจำให้ครบ 100% มีการคัดกรองรายใหม่ก่อนเข้าเรือนจำ ทั้งผู้ต้องขังเข้าใหม่ออกศาล หรือกลับจากโรงพยาบาลเป็นเวลาอย่างน้อย 21 วัน และเร่งตรวจหาเชื้อโดยเร็วที่สุด และตรวจซ้ำอีกครั้งก่อนจะจำหน่ายจากแดนกักควบคุมโรคไปยังแดนทั่วไป จากเดิมที่มีการคัดกรอง 3 วันแรกจะเปลี่ยนเป็นคัดกรองตรวจหาเชื้อตั้งแต่วันแรกก่อนที่จะส่งไปเข้าเรือนจำ ทั้งนี้จะมีทีมแพทย์ละพยาบาลเข้ามาดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดอีกด้วย

ด้านนายมนู พุกประเสริฐ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย และผู้บริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัยสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัยเพื่อสร้างโดมอเนกประสงค์ (covid -19) อีกจำนวน 1 เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พักรักษา และบุคลากรในการปฏิบัติงานให้สะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น  หลัง ซึ่งปัจจุบันเรือนจำจังหวัดสุโขทัยมีผู้ต้องราชทัณฑ์ 1077 คน

นครนายก - พระนักพัฒนา มอบข้าวสารวันละ 100 ถุง 13 วัน 13 หมู่บ้าน ช่วยภัยโควิด -19

ที่วัดดงละคร ต.ดงละคร อ.เมือง จ.นครนายก จัดโครงการ”โคกหนอง วัดดงละคร”มอบข้าวสาร วันล่ะ 100 ถุง เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด -19

โดย ดร.พระมหาสิริวัฒนา สีลสาโร เจ้าอาวาสวัดดงละคร ร่วมกับ พุทธศาสนิกชนศัทธาวัดดงละคร ได้ทำตามหลักทฤษฎีในหลวงรัชกาลที่ 9 และในหลวงรัชกาลที่ 10 คือให้ทำทานหรือแจกทานกับผู้ยากไร้หรือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน โดยได้ประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านและอสม. เช็ครายชื่อลูกบ้านของแต่ล่ะหมู่ ในเขต ต.ดงละคร โดยจะทำการแจกข้าวสารทั้ง ต.ดงละคร วันล่ะ 100 ถุง แจกทั้งสิ้น 13 วัน 13 หมู่บ้าน รวมทั้งสิ้น 1,300 ครัวเรือน เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนกับพี่น้องประชาชนในเขต ต.ดงละคร ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 เพราะเราจะไม่ทิ้งกัน เราจะผ่านมันไปด้วยกัน ซึ่งผู้ใหญ่บ้านและ อสม. จะเป็นผู้ประสานนำชาวบ้านมารับมอบข้าวสารที่วัดดงละคร ทั้งนี้ได้ปฎิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด สวมแมส วัดอุณหภูมิ เว้นระยะห่าง ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และลงทะเบียนเข้ารับมอบข้าวสารทุกคน

ทั้งนี้ ดร.พระมหาสิริวัฒนา สีลสาโร เจ้าอาวาสวัดดงละคร และผู้รับใบอนุญาต/ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาสิริวัฒน์ เป็นพระนักพัฒนา หาปัจจัยสร้างโรงเรียนให้เด็กได้เรียนฟรี ใครอยากบวชแต่ไม่มีเงินก็บวชให้ฟรี เสียชีวิตไม่มีเงินทำศพก็เผาให้ฟรี จัดหารถวิลแชร์และเตียงผู้ป่วยให้กับผู้ป่วยติดเตียงฟรี และที่วัดดงละครยังได้จัดทำโคกหนองนาโมเดล ซึ่งผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่ เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ และเป็นแหล่งเรียนรู้ ของจังหวัดนครนายก (สัมภาษณ์ ดร.พระมหาสิริวัฒนา  สีลสาโร เจ้าอาวาสวัดดงละคร)


ภาพ/ข่าว  สมบัติ เนินใหม่ / รัชชานนท์ เนินใหม่ / ผู้สื่อข่าวจังหวัดนครนายก

ปทุมธานี - อบจ. ลุยเมกะโปรเจ็กต์ เดินหน้ารถไฟฟ้าโมโนเรล แก้ปัญหารถติดเพื่อชาวปทุมธานี

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 เวลา 08:30 น. ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ตำบลบ้านฉาง อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี นายเสวก ประเสริฐสุข รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี พร้อมกับหัวหน้าส่วนงาน อบจ.ปทุมธานีที่เกี่ยวข้อง และนายมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด พร้อมคณะร่วมประชุมการพัฒนาเมืองแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดเพื่อการรองรับการขยายตัวจังหวัดปทุมธานีโดยใช้ระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวหรือโมโรเรล 

พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่าจากปัญหาจรราจรติดขัดในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ที่ไม่ได้รับการแก้ไข ประกอบด้วย 1.เส้นทางรังสิต-นครนายก 2.เส้นทางคูคต-ลำลูกกา 3.เส้นทางคลองหลวง โดยได้เชิญ ทางบริษัท เอเอ็มอาร์ เอเชีย จำกัด ได้เข้ามาสำรวจว่ารถไฟฟ้ารางเดี่ยวหรือโมโนเรลจะสามารถใช้ในเส้นทางไหนบ้างเพื่อแก้ปัญหารถติด ส่วนการเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง รังสิต-บางซื่อ ทางเราก็มีแผนที่จะดำเนินการให้เป็นรูปธรรม แต่การประสานเพื่อดำเนินการยังไม่เป็นทางการ

ทั้งนี้จังหวัดปทุมธานีเป็นเมื่องมหาวิทยาลัย มีนักศึกษาจำนวนมาก การเดินทางจึงเป็นสิ่งจำเป็น หากแก้ปัญหาด้านจราจรติดขัดได้เร็วคุณภาพชีวิตของประชาชนก็จะดีขึ้น โดยเฉพาะถนนเส้นรังสิต- นครนายก มีปัญหารถติดหนักมาก รองลงมาคือถนนเส้น คลองหลวง-หนองเสือ และเส้นอื่น ๆ ก็เริ่มมีปัญหาแล้วเช่นกันซึ่งจะต้องเร่งแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนต่อไป นายมารุต ศิริโก กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด กล่าวว่า เอเอ็มอาร์ เอเซีย เป็นบริษัทที่ได้ดำเนินการทำรถไฟฟ้าสายสีเขียว และรถไฟฟ้าสายสีทองให้กับกรุงเทพมหานคร และได้ส่งงานไปเมื่อปีที่แล้วที่ผ่านมา บริษัทของเราเป็นบริษัทของคนไทยที่ดำเนินการด้านระบบควบคุมการเดินรถและอาคารสถานี ระบบไฟฟ้าขนาดใหญ่ รวมถึงเครื่องจักรของศูนย์ซ่อมรถไฟฟ้า

นอกจากนี้กลุ่มของบริษัทเราได้มีส่วนในการพัฒนาเมือง โดยเราจะสำรวจว่ามีอะไรบ้างที่เหมาะสมกับเมืองนั้น ๆ  ในส่วนของจังหวัดปทุมธานียังไม่มีรถไฟฟ้าเป็นของตัวเอง ที่มีอยู่เป็นเพียงส่วนขยายที่มาจากกรุงเทพมหานครได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีแดงจากบางซื่อมายังรังสิต และรถฟ้าสายสีเขียวจากหมอซิต สะพานใหม่มายังคูคต ในความเหมาะสมของรถที่จะมาใช้ นั้นท่านนายก อบจ.ต้องการให้เป็นรถ ไฟฟ้าที่มีขนาดเล็ก ใช้พื้นที่ไม่มาก เน้นบริการได้ทั่วถึง และไม่เป็นมลภาวะตัวรางรถต้องเป็นแบบที่เหมาะกับถนนในจังหวัดปทุมธานี ซึ่งตนเองเชื่อมั่นว่าหลังจากมีเส้นทางรถไฟฟ้าเข้ามาทำให้วิถีการเดินทางที่เปลี่ยนไปเนื่องจากมีการเดินทางที่สะดวกขึ้น ตนเองคาดว่ารถไฟฟ้าจะเป็นตัวตอบโจทย์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ปัญหาจราจรติดขัดในจังหวัดปทุมธานี โดยท่านนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานีให้แนวความคิดไปศึกษาว่าการแก้ปัญหาแบบครบวงจรถนนทุกเส้นไม่ทำเพียง เส้นใดเส้นหนึ่งเพราะเล็งเห็นว่าจะต้องแก้ปัญหาในภาพรวมของจังหวัดทั้งหมดโดยทางบริษัท จะต้องกลับไปทำการบ้านตามที่ท่านมีวัตถุประสงค์ไว้และกลับมารายงานให้ท่านทราบอีกครั้งภายใน 30 วัน


ภาพ/ข่าว ประภาพรรณ ขาวขำ

สุโขทัย - อบจ.สุโขทัย สนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ และครุภัณฑ์ทางการแพทย์ สำหรับใช้ในโรงพยาบาลสนาม

วันนี้ (25 พค.64) นายมนู พุกประเสริฐ นายก อบจ.สุโขทัย เป็นประธานในการส่งมอบวัสดุ อุปกรณ์ และครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย ประกอบด้วยเครื่องวัดความดัน โลหิต สอดแขนอัตโนมัติ จำนวน 2 เครื่อง เครื่องวัดความดันโลหิตอัตโนมัติ จำนวน 10 เครื่อง เครื่องวัด O2 sat จำนวน 20 เครื่อง เครื่องวัดอุณหภูมิอัตโนมัติ จำนวน 30 เครื่อง เครื่องวัดอุณหภูมิอินฟราเรด จำนวน 4 เครื่อง เครื่องคอมพิวเตอร์พร้อมอุปกรณ์ จำนวน 2 ชุด เครื่องปริ้นท์เอกสาร จำนวน 2 เครื่อง และเครื่องสแกนเนอร์ จำนวนอีก 1 เครื่อง  นอกจากนี้ยังมีกล้องวงจรปิดอีก จำนวน 13 ตัว พร้อมติดตั้ง เพื่อสะดวกต่อการดูแลผู้ป่วยและผู้เข้าออกภายในโรงพยาบาลสนาม ดำเนินงานในงบประมาณ 444,000 บาท เพื่อใช้ในโรงพยาบาลสนาม และเตรียมการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

นายก อบจ.สุโขทัย กล่าวว่าขอเป็นกำลังใจและให้ความร่วมมือส่งเสริมช่วยเหลือ ในการดำเนินการของโรงพยาบาลสนามต่าง ๆ ของเรา จะเห็นภาพบุคคลากรทางการแพทย์ พยาบาล หน่วยงานสาธารณสุขต่าง ๆ ทำงานช่วยเหลือพี่น้องประชาชนชาวไทยที่กำลังเจอกับวิกฤตโควิด-19 กันอย่างหนักหน่วง บางรายถึงกับต้องนอนพักที่โรงพยาบาลไม่ได้กลับบ้าน โรงพยาบาลสนาม รวมถึงเครื่องมือต่าง ๆ ที่จำเป็นที่ต้องร่วมช่วยกันในครั้งนี้

โดยมีนายแพทย์ปองพล วรปาณิ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย นายแพทย์มาโนช อู่วุฒิพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุโขทัย พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ บุคลากรในสังกัด อบจ.สุโขทัย และ สสจ.สุโขทัย เข้าร่วมรับมอบ วัสดุ อุปกรณ์ และครุภัณฑ์ทางการแพทย์ในครั้งนี้ ณ โรงพยาบาลสนาม (อาคารชวนชม) มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตสุโขทัย


ภาพ/ข่าว  สุริยา ด้วงมา จ.สุโขทัย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top