Friday, 17 May 2024
โรงเรียน

‘มาร์ค พิทบูล’ อัดคลิปเดือด ซัดปมดราม่า  ชี้ ‘ชุดนักเรียน’ มันคือความเท่าเทียม ไม่ใช่การกดขี่ 

ยังคงเป็นประเด็นดราม่าที่ถูกพูดถึงอย่างมากในโลกออนไลน์ กรณีดราม่าเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ โดยการแต่งตัวไปรเวทและย้อมสีผมไปเรียน ซึ่งมีหลายฝ่ายออกมาเคลื่อนไหวมีทั้งเห็นด้วย และ ไม่เห็นด้วย ล่าสุด "มาร์ค พิทบูล" ได้ออกมาโพสต์คลิปวีดีโอ ผ่าน TikTok @pitbullmark เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวโดยระบุว่า 

การมีชุดนักเรียนมันเป็นยังไง มันจะตายหรือไง ชุดนักเรียนมันคือความเท่าเทียม ไม่ใช่การกดขี่ ทุกคนใส่ชุดเหมือนกัน ถ้าให้ต่างคนต่างใส่ เด็ก ๆ ก็จะเกิดการแข่งขัน บ้านรวย บ้านจน

ย้ำว่า กฎระเบียบบางอย่างเพื่อความปลอดภัยของตัวนักเรียนเอง "เด็กเปรต" พร้อมยกตัวอย่างว่า ถ้าใส่ชุดนักเรียนไปไหนมาไหน ปลอดภัยแน่นอน เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ใหญ่เห็น และช่วยคุ้มครอง

และพูดถึงการใช้เสรีภาพเกินขอบเขต ถ้าโดนครูตี ใช้ความรุนแรง ก็พร้อมที่จะปกป้อง คุณทำมาหากินเองเมื่อไหร่ จะมีใครไปยุ่งกับคุณ 

‘ต้น ตระการ’ นักแสดงรุ่นใหญ่  โพสต์ภาพลูกชาย 2 คน จูงมือกันเข้าประตูโรงเรียน

18 มิ.ย. 2566 – ต้น-ตระการ พันธุมเลิศรุจี  นักแสดงรุ่นใหญ่ โพสต์ภาพลูกชาย 2 คน ผ่านอินสตาแกรม ton.trakarn พร้อมคำบรรยายว่า พี่น้องจูงมือกันเข้าทางประตูโรงเรียน ไม่ต้องปีนรั้ว
หน้าที่…หน้าที่ของเขาคือเรียนหนังสือ หน้าที่ของเราคือ หาค่าเทอมให้เขา
สิทธิ์…(ยังไม่ให้) เพราะยังไม่รู้เท่าทันโลก ภูมิคุ้มกันต่อโลกยังแข็งแกร่งพอ ..รอวันคืนสิทธิ์นั้นให้คุณอยู่เหมือนกัน
…ประชาธิปไตยพอมั้ย…

‘ซ้งกี้ วีร่า’ โพสต์ความประทับใจใน ‘ชุดนักเรียน’ ย้ำ การอยู่ในกฎระเบียบ ทำให้เข้าใจ การอยู่ร่วมกันในสังคม

ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ‘ซ้งกี้ วีร่า’ ได้โพสต์ข้อความบรรยายความรู้สึกประทับใจ ในการสวมใส่ชุดนักเรียน โดยได้ระบุว่า ...

เล่าเรื่องจริงของตนเองสมัยเรียนนิดนึง 
ตอนผมม.1(ปี40) พ่อถูกโกง ล้มละลาย ไม่มีเงินใช้ ก่อนล้ม ผมมีชุดนักเรียนใหม่ๆ โคร่งๆเพื่อให้ใช้ได้นานที่สุดอยู่ 2 ชุด ใส่สลับ ซักผึ่งอยู่เกือบเทอม จนอ.ที่ปรึกษา อ.เสริมศรี เปลี่ยนบางยาง เขาไม่รู้สังเกตุเห็นอะไร สงสัยเสื้อมันเลอะมีรอย เขาเลยเรียกเข้าไปคุย
 “อึ้งเอ้ย มีชุดนักเรียนกี่ชุด ครูมีของรุ่นพี่ๆเขาบริจาคไว้ ชุดไหนเธอใส่ได้ เธอเอาไปนะ … รองเท้าก็มีเอาไปด้วย” 

ตั้งแต่นั้นมา ผมก็ไม่ได้ซื้อชุดนักเรียนอิกเลย ใส่เก่าๆมาเรื่อย สิ่งที่ผมโดนล้อประจำคือ เสื้อเหลือง รองเท้าขาด แต่ผมไม่ได้รู้สึกอะไร เพราะผมรู้ว่ามันไม่จำเป็น บ้านจน ก็ทนเอา แม่ผมสอนมาทั้งเรื่องเสื้อผ้าหน้าผม ถ้าโรงเรียนเขามีระเบียบยังไง เราไหว เราก็ทำตาม เพราะ “อั๊วส่งลื้อไปเปงนักเรียง ในโรงเรียนที่ดีที่สุดแล้ว ลื้อก็แค่เรียนก็พอ ผมก็ตัดให้ตามระเบียบ ชุดก็แต่งให้เรียบร้อย ครูเห็น ใครเห็นก็รักลื้อ”

จนขึ้น ม.4 แม่ซื้อให้ใหม่ 2 ชุด และก็ยังเอาตัวเก่าๆที่ยังไหวมาปักเสมาเพิ่ม ใช้ไป ไม่คิดอะไร แต่พอม.4 นี่สิ เริ่มมีเรียนพิเศษละ ผมก็ชุดไปรเวทไปเรียนปกติ แต่สิ่งที่ผมเจอคือเพื่อนๆถามว่า “ซ้ง มึงไม่มีเสื้อผ้าใส่หรอ เห็นใส่ซ้ำๆ เดิมๆ เก่าๆ” เราแม่งทั้งเจ็บทั้งอาย ด้วยวัยตอนนั้น รู้อยู่แล้วครับขอป๊าม้าซื้อใหม่ ไม่ได้แน่นอน แว่นที่ใส่ยังรับต่อจากพี่ๆเลย5555 

ผมเริ่มเลยครับ รับจ้างทุกออย่าง ขายน้ำเต้าหู้ ส่งปาท่องโก๋ รับหิ้วสินค้า รับซื้อของ อดอาหารกลางวัน เพื่อ? ใช่ครับ เก็บเงินซื้อยีนสักสองตัว เสื้อสัก 3-4 ตัว เพื่อใส่สลับไปเรียนพิเศษ ไม่ให้เพื่อนแซว ส่วนวันธรรมดาถ้ามีเรียน ผมจะแต่งแต่ชุดนักเรียนไปครับ ไม่เปลี่ยนชุด เหม็นก็ช่างมัน 5555
มานึกย้อน ไอ้ชุดพวกนั้น แม่งไม่มีผลต่อการเรียนเลยครับ แต่สิ่งที่ผมคิดเสมอคือ
1. ผมภูมิใจในชุดสถาบันการศึกษาและทรงผมที่แสนจะรักษาความสะอาดง่ายของผม
2. เมื่ออยู่ในชุดนักเรียนผมเท่ากับเพื่อนที่รวยมากๆหลายๆคน แม้มันจะเก่า มันก็เท่ากันครับ
3. การอยู่ในกฎระเบียบของสถาบัน มันทำให้ผมและพวกผม เข้าใจการอยู่ร่วมในสังคมที่มีกติกาครับ
ผมไม่ทราบว่าโรงเรียนอื่นสอนหรือบังคับอะไรบ้าง แต่โรงเรียนผมสอนให้พวกผมเคารพกติกาสังคม เรียนรู้การมีอิสระมากมายภายใต้กรอบระเบียบ เพื่อความสงบสุขในการใช้ชีวิต ครับ
สวนกุหลาบฯ

รักเพื่อน เคารพพี่ ดูแลน้อง เคารพครู กตัญญูพ่อแม่ สนองคุณแผ่นดินครับ

 

ธงชาติ ปักคู่ กระเป๋าเป้สะพายหลัง ทำแบบนี้มีความหมายบางอย่าง ในประเทศเนเธอร์แลนด์

ผู้ใช้ TikTok ที่ชื่อว่า movedtoamsterdam ได้โพสต์คลิปสั้น อธิบายความหมายที่ซ่อนอยู่ กับการนำธงชาติ มาปักคู่ กับกระเป๋าเป้สะพายหลัง โดยมีใจความว่า ...

รู้หรือไม่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ถ้าเห็นธงชาติปักอยู่กับกระเป๋า backpack (กระเป๋าเป้สะพายหลัง) มันมีความหมายซ่อนอยู่ ในวัฒนธรรมของประเทศเนเธอร์แลนด์ ถ้าบ้านไหนมีลูกที่กำลังจะเรียนจบม.6 หรือว่า High School เขาก็จะทำแบบนี้เพื่อบอกเพื่อนบ้าน และเพื่อเป็นการแสดงความยินดีกับเด็กคนนั้นที่เรียนจบ แสดงความยินดี ที่ว่าการเรียนการศึกษาที่เรียนมาตลอดมันกำลังจะจบแล้วนะ เพราะว่าในประเทศเนเธอร์แลนด์ การเรียนจบในระดับชั้น ม.6 หรือว่า High School นั้นก็ถือว่าพอแล้ว เขาจะไม่บังคับว่าจะต้องเรียนในมหาลัยต่อ ก็เลยถือว่าการศึกษาที่จะต้องแบกกระเป๋า backpack ไปเรียนนั้นสิ้นสุดลงแล้ว เป็นการแสดงความยินดีแบบน่ารักๆ

แต่จริง ๆ แล้ว ก่อนที่การแสดงสัญลักษณ์แบบนี้จะเป็นที่ยอมรับในวงกว้างนั้น มันก็เคยเกิดเป็นประเด็นขึ้นมาก่อน เพราะว่ามันคือการนำธงชาติมาใช้ หลายคนก็จะมองว่ามันเหมาะสมหรือไม่ แต่สุดท้ายคนในสังคมก็ทำกัน ซึ่งรัฐบาลก็ปล่อยไป ก็ไม่ได้ว่าอะไรเพราะเป็นการกระทำที่ไม่ได้ร้ายแรง ไม่ได้มีพิษมีภัยอะไรต่อสังคม

‘หยก ธนลภย์’ ยัน ขอเรียนต่อที่ ‘เตรียมพัฒน์’ พร้อมเดินหน้าต่อ เรียกร้องสิทธิพื้นฐาน ทรงผม-สีผม-การแต่งกาย

‘หยก ธนลภย์’  ยืนยันจะเรียนที่โรงเรียนเตรียมพัฒน์ เพราะสอบเข้าที่นี่ได้ และได้มอบตัวไปแล้ว โดยหยกชี้แจงเรื่องมอบตัวว่าได้มอบตัวเสร็จสมบูรณ์ไปแล้ว เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2566 โดยได้จ่ายค่าเทอมเรียบร้อยแล้วและได้เรียนมา ประมาณ 1 เดือนแล้วและเดือนหน้าก็กำลังเตรียมตัวจะสอบ แต่ทางโรงเรียนกลับมาบอกว่าให้ออกเพราะไม่ใช่นักเรียน

นอกจากนี้ หยก ยังยืนยันที่จะเดินหน้าเรียกร้องเรื่องทรงผมและสีผม โดยมองว่าทรงผมและสีผมของเราก็ย่อมเป็นสิทธิพื้นฐานทางเนื้อตัวของเรา โดยยกกรณีศึกษาเคสล่าสุด อ้างอิงจากเพจอาณาจักรฟ้าขาว ที่มีเด็กนักเรียน เสียชีวิตจากการที่ถูกครูกดดันเรื่องทรงผม หยกมองว่าเคสนี้ไม่ใช่เคสแรกและก็จะไม่ใช่เคสสุดท้าย ถ้ายังมีกฎระเบียบเรื่องทรงผม และสีผม อยู่ไม่เปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ การแต่งกายก็เป็นสิทธิพื้นฐานของเราเช่นเดียวกัน การแต่งกายนั้นไม่เกี่ยวกับการเรียนหยกยืนยันว่า ถึงจะแต่งชุดไปรเวทก็สามารถเรียนได้ ส่วนเรื่องพิธีกรรมต่างๆที่หยกไม่เข้าร่วมนั้นหยกมองว่าเป็นพิธีกรรมที่สืบทอดอำนาจนิยม อย่างเช่นพิธีไหว้ครูนั้นเราก็จ่ายค่าเรียนค่าเทอมเพื่อให้คุณครูนั้นได้มาสอนเรา การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างนั้นจะต้องมีจุดเริ่มต้น ถ้าหากไม่เริ่มวันนี้แล้วเราจะเริ่มวันไหน เมื่อสมัย 10 ปีก่อนก็มีพี่เนติวิทย์ทำ ช่วง 1-3 ปีที่แล้วก็มีกลุ่มนักเรียนเลวทำ มันไม่ใช่หยกที่เป็นจุดเริ่มต้นเพราะจุดเริ่มต้นนั้นมีมาตั้งนานแล้ว

‘คุณปลื้ม’ ชี้ ‘หยก’ ต้องเรียนวิชา ‘จริยศาสตร์’ มองเป็นสิ่งที่ขาดอยู่ ในหมู่นักเคลื่อนไหว ไม่เคารพกติกา-ไร้มรรยาท

วันที่ 20 มิ.ย. 2566-หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล หรือ “คุณปลื้ม” พิธีกร และผู้ดำเนินรายการข่าว โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก M.l. Nattakorn Devakula แสดงความคิดเห็น กรณี “หยก ธนลภย์” ระบุว่า ไม่ต้องการเรียนวิชาศีลธรรมเพราะผู้ใหญ่เรียนกันมาก็ยังทุจริตคอรัปชั่น? เป็นบทสรุปที่ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการเรียนรู้ การศึกษาทุกยุคทุกสมัย ทุกชาติ ทุกภาษา ต่างให้ความสำคัญในการสอนวิชาในกลุ่ม “จริยศาสตร์” (Ethics) กันทั้งนั้น

เด็กซึ่่งเรียนในระบบการศึกษาไทยนั้นโชคดีที่ได้มีหลักสูตรด้านนี้ตั้งเเต่ช่วงมัธยมทั้งที่ในหลายประเทศกว่าจะได้มีโอกาสเลือกวิชาประเภทนี้คือช่วงเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเเล้วบังเอิญอาจได้เลือกเรียนวิชาทางด้านปรัชญาหรือศาสนา เอาจริงๆเเล้วมันคือหนึ่งในเเขนงวิชาที่สำคัญที่สุดสำหรับเด็กที่ต้องเติบโตขึ้นมาใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสังคมมีเเต่ผู้ใหญ่ที่พร้อมใช้โอกาสเเสวงหาอำนาจเเละความนิยมให้กับตนเอง

จริยศาสตร์เป็นวิชาที่ว่าด้วยความดี ความชั่ว ความถูก ความผิด สิ่งที่ควรเว้นสิ่งที่ควรทำ

เอาง่าย ๆ มันคือวิทยาศาสตร์เเห่งความผิดชอบชั่วดี ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นสิ่งที่ขาดอย่างมากในหมู่นักเคลื่อนไหวซึ่งไม่เคารพกติกาเเละไร้มรรยาทอยู่ ณ เวลานี้ มันคือศาสตร์ที่ว่าด้วยศีลธรรมหลักศีลธรรมเเละกฎที่ว่าด้วยความประพฤติและพฤติกรรม

นอกเหนือไปจากนั้น ถึงเเม้ว่าผู้ใหญ่ทางการเมืองเเละเอ็นจีโอหลายท่านไม่ได้มีโอกาสสอนเด็กๆเรื่องนี้ เยาวชนควรมองให้เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมในการจะช่วยจรรโลงโลก จรรโลงศีลธรรม จริยธรรม ด้วยหัวใจสำคัญที่เราเรียกกันว่า “รสนิยม” รสนิยมสะสมคือผลพวงจากการปลูกฝังทางด้าน ศิลปะวัฒนธรรม (ศิลปะวัฒนธรรมที่หลากหลายในทุกแขนง) รสนิยมสะสมนี้จะช่วยชี้ทางผิดชอบชั่วดี และที่สำคัญที่สุดก็คือ รสนิยมสะสมนี้ จะช่วยบอกเราเรื่อง “กาลเทศะ” และ “อะไรควร อะไรไม่ควร” และ “ความพอเหมาะพอดี” สิ่งเหล่านี้เป็น อัตวิสัย (Subjectivity) ที่จะใช้กำกับกรอบแห่งความพอเหมาะพอดี ที่เราจะต้องมีสำนึกขึ้นมาเพื่อควบคุมตนเองให้อยู่ในความพอเหมาะได้

ในชีวิตนี้จะมีแต่คำว่าสิทธิเสรีภาพอย่างเดียวไม่ได้ กรุณาหากรอบความคิดที่ครบถ้วนกระบวนความเเละรอบด้านกว่านี้ ที่เหมาะสมเสียกว่า เเล้วร่วมกันถ่ายทอดสิ่งนั้นถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน การรู้ดีเเละเฮ้าเลี่ยนด้าน “เสรีภาพ” เพียงอย่างเดียวมันไปไม่รอด ทั้งในตัวบุคคลเเละสังคม นี่ผมไม่ได้เทศนาเด็กวัย 15 ปีอยู่เเต่กำลังสื่อสารถึงบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ที่อาบน้ำร้อนมาก่อนเเต่ในวันนี้กลับคิดไม่เป็นเพราะไม่กล้าเสียสิ่งที่เรียกว่า ‘Personal Popularity’ เเละ ‘Political Convenience’

เปิดใจ ‘ครูพิสมัย’ เจ้าของวลีเด็ด ‘ขอบใจที่มาเรียนนะลูก สู้ๆ’ รู้ความจริงถึงกับหลั่งน้ำตา นร. เข้ากะถึง 7 โมงเช้า ก่อนขี่มอไซค์ มาเข้าเรียน

จากกรณีที่มีการเผยแพร่คลิปนักเรียนชายเข้าเรียนสายที่ได้พยายามชี้แจงต่อครูผู้สอนถึงสาเหตุการมาสายว่า เพราะเพิ่งออกกะจากการทำงานเมื่อเวลา 7 โมงเช้าที่ผ่านมา พร้อมแสดงหลักฐานการเข้างาน และภายในคลิปครูผู้สอนยังได้สอบถามนักเรียนชายเรื่องการทำงานจนทราบว่า ได้ไปทำงานเป็นพนักงานขับโฟล์คลิฟท์ของบริษัท ที ดับบลิว อี ที่ตั้งอยู่ใน จ.สมุทรปราการ 

โดยนักเรียนชายคนดังกล่าวเรียนอยู่ที่ วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) ซึ่งตั้งอยู่ใน อ.พานทอง จ.ชลบุรี ที่อยู่ไกลกันเกือบ 70 กิโลเมตร และต้องใช้เวลาในการขี่จักรยานยนต์กลับมาเรียนไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง ซึ่งครูท่านดังกล่าวได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ขอบใจที่มาเรียนนะลูก สู้ๆ” จนกลายเป็นคลิปไวรัลดังในชั่วข้ามคืนนั้น

เมื่อวานนี้ (22 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) เพื่อพบกับ น.ส.พิสมัย ผุยผัน อาจารย์ แผนกคอมพิวเตอร์ ที่ได้เล่าเหตุการณ์ในวันดังกล่าวว่า ตนเองเป็นผู้ถ่ายคลิปขณะนักเรียนชายชั้น ปวส.ปี 1 แผนกวิศวะการผลิต หรือสาขาเทคนิคอุตสาหกรรม ซึ่งปกติการเรียนการสอนจะเริ่มในเวลา 08.30 น.แต่ในวันนั้นนักเรียนชายได้มาถึงห้องเรียนในเวลา 10.00 น.

“เมื่อสอบถามเด็กว่าเกิดอะไรขึ้น เด็กบอกว่าสาเหตุที่มาสายเพราะต้องทำงานส่งตัวเองเรียน และวันนั้นเป็นวันที่ต้องเข้ากะกลางคืนเลิกงานในตอนเช้า พอ 07.00 น.รีบมาเรียนต่อ แต่ด้วยน้องอาศัยอยู่ที่ จ.สมุทรปราการ และระยะทางจากบ้านมาวิทยาลัยไกลพอสมควร เด็กจึงนำหลักฐานการทำงานมาให้ดูว่าทำงานจริง และเด็กยังเปรียบเสมือนเสาหลักของครอบครัวต้องทำงานส่งตัวเองเรียนและต้องให้เงินแม่ใช้เนื่องจากมีน้องที่ต้องส่งเรียนอีก”

น.ส.พิสมัย อาจารย์แผนกคอมพิวเตอร์ ยังเผยอีกว่า เมื่อรู้ความจริงจากปากเด็กนักเรียนทำให้ถึงกับน้ำตาตก เพราะเด็กบางคนที่ครอบครัวพร้อมส่งให้เรียนแต่กลับไม่ตั้งใจเรียน แต่เด็กที่ครอบครัวลำบากที่อยากเรียนหนังสือครอบครัวก็ไม่มีความพร้อม

“หลังจากนั้นครูได้เปิดโอกาสให้นักเรียนมาเรียนได้ตามสะดวกเพราะน้องต้องทำงานเลี้ยงครอบครัวไปด้วย และส่งตัวเองเรียนด้วย ในฐานะอาจารย์ที่สอนเด็กอยากฝากถึงนักเรียนที่มีโอกาสให้ตั้งใจเรียน เพื่อจะได้เป็นรั้วและอนาคตของชาติในวันข้างหน้า อีกทั้งพ่อแม่ที่ส่งมาเรียนอยากให้ลูกประสบความสำเร็จในชีวิต” ครูพิสมัย กล่าว

เปรียบเทียบค่าเทอมระหว่างโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ

เปรียบเทียบค่าเทอมระหว่างโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ และโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ของนักเรียนแต่ละชั้นปี ต้องจ่ายค่าเทอมกันปีละเท่าไรบ้าง ไปดูกัน!!
 

จีน ปิ๊งไอเดีย ติดแบรนด์ ดีไซน์ชุดนักเรียน  ให้โดดเด่น ทันสมัยกว่าเดิม เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดี 

เพจเฟซบุ๊ก ไทยคำจีนคำ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ ชุดนักเรียนในประเทศจีน โดยระบุว่า ...

ช่วงนี้ประเทศมีประเด็นร้อน เกี่ยวกับ "ชุดนักเรียน" กันเยอะเลย

เมืองจีนเองก็มี และกลายเป็นปัญหาถกเถียง ส่วนใหญ่ในทำนองว่าทำไมชุดนักเรียนของเด็กจีนมันดู "เชย" จังเลย 🤔

โดยเฉพาะเมื่อนำไปเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างญี่ปุ่น คนจีนยิ่งรู้สึกว่าตัวเองล้าหลังในเรื่องนี้

ยุคนี้หลายอย่างในจีนมีการนำข้อมูลตัวเลข หรือ Data เข้ามาจับ พบว่าธุรกิจชุดนักเรียนของจีน มีมูลค่าถึง 120,000 ล้านหยวน (6 แสนล้านบาท)

เพราะนักเรียนเขาเยอะ และเป็นกฎหมายที่บังคับให้ทุกโรงเรียนต้องใช้ชุดนักเรียน 

สำหรับเจตนาของข้อกฎหมายตัวนี้ คือเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในสถาบันการศึกษา

และข้อสำคัญคือสร้างความ "เท่าเทียม" ให้ทุกคนใส่เสื้อผ้าเหมือนกัน ไม่ต้องแต่งหรูดูดีเกินไปมาอวดมาโชว์กัน

อย่างไรก็ดี ด้วยความที่เศรษฐกิจของจีนเติบโตมาตลาดหลายสิบปีหลัง และการเมืองค่อนข้างนิ่ง เพราะปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์มายาวนาน

ทำให้นอกจากจะไม่มีกระแสเรียกร้องให้ยกเลิกชุดนักเรียนเหมือนในประเทศอื่นแล้ว กลับมีการตั้งคำถามว่า "ทำไมไม่เพิ่มมูลค่าให้กับชุดนักเรียน?"

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ "ดีไซน์" การออกแบบให้มีสไตล์โดดเด่น ทันสมัยกว่าเดิม

รวมถึงการ "ติดแบรนด์" ให้แบรนด์สินค้าเสื้่อผ้าดัง ๆ ได้เข้ามาผลิตชุดนักเรียนให้กับแต่ละโรงเรียน 🏫

แล้วแต่ว่าโรงเรียนแต่ละแห่ง มีกำลังซื้อมากน้อยเพียงใด นั่นเพื่อเป็นการเปิด "โอเพ่น" การทำการค้าการขายในตลาดนี้ 

ลดปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นให้น้อยลง เพราะจากข้อมูลพบว่า ชุดนักเรียนทั่วประเทศจีน มีเพียง 1% ที่ผลิตแบบติดแบรนด์ โดยบริษัทที่มีชื่อเสียง

ที่เหลือเป็นการผลิตแบบ "ไม่ติดแบรนด์" ถามว่าใครจะไปผลิตให้กับโรงเรียนไหนได้บ้าง ก็ต้องอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้บริหาร

เข้าไปวิ่งเต้นพูดคุย และตกลงกันอย่างไร ผู้ปกครองและนักเรียนก็ไม่ค่อยรู้ที่มาที่ไป รู้ตัวอีกทีก็ได้ชุดนักเรียนแบบเชย ๆ ไม่สวย แต่จำใจต้องใส่มาใช้งาน

เสียงเรียกร้องให้มีการปฏิวัติภาพลักษณ์ของชุดนักเรียน ยังรวมไปถึงชุดว่ายน้ำ, ชุดพละ

โดยรัฐบาลเป็นผู้ออกมาขับเคลื่อนในสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวเอง เร้งเร้าให้ภาคเอกชน และโรงเรียนต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี

รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และการรับรู้ของประชากรจีนในรุ่นต่อไป

พูดภาษาชาวบ้านคือ พอจีนเริ่มมีตังค์ ก็เริ่มให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ความสวยงามมากขึ้น

หลายปีต่อเนื่องมาแล้ว ในเมืองจีนมีการจัดการแข่งขันประกวดออกแบบชุดนักเรียน โดยขายคอนเซปต์ นำเสนอ จัดแฟชั่นโชว์ ถ่ายทอดสดผ่านสื่อ

ทำให้ชุดนักเรียนมีคุณค่าไม่ต่างจากเสื้อผ้าสวมใส่ทั่วไปในวาระอื่น ๆ

ด้วยประชากร 1.4 พันล้านคน และรัฐบาลผลักดันจริงจัง ทำให้อุตสาหกรรมชุดนักเรียนของจีนกำลังเติบโตไปในทิศทางที่ดี

และเมื่อการค้าขายคึกคักมากขึ้น มันจะส่งผลเป็นวัฏจักรไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากจะลบภาพจำของ "ชุดนักเรียนเชย ๆ" ได้แล้ว จีนยังมีหน้ามีตามากขึ้นในเวทีนานาชาติ พร้อมกับเงินในกระเป๋าของพลเมืองที่มากขึ้น

โรงเรียนไหนมีกำลังซื้อ จะใช้ชุดนักเรียนที่หรูหน่อย ก็ให้ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยินยอม

โรงเรียนขนาดกลางและเล็ก ปรับเปลี่ยนตามความสามารถของผู้ปกครอง ไม่มีการบังคับกัน แต่ทั้งประเทศไม่จำเป็นต้องใช้ชุดนักเรียนแบบเดียวกัน 

สำคัญคือรัฐบาลเขาได้ยินเสียงบ่นของประชาชน เขานำเสียงบ่นกลับไปวิเคราะห์ออกมาเป็นรายละเอียด

และดำเนินการปรับปรุงแก้ไขทันที ไม่มองว่าเป็นเรื่องเล็กเรื่องน้อย

แม้แต่ชุดนักเรียนของเด็ก ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่จีนเขามองข้าม

กทม.ปลดล็อก โรงเรียนในสังกัด ให้อิสระทรงผม-ไม่ต้องใส่เครื่องแบบ 1 วัน/สัปดาห์

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2566 กรุงเทพมหานคร (กทม.) ออกหนังสือถึงโรงเรียนในสังกัดจำนวน 437 แห่ง เพื่ออนุญาตให้โรงเรียนกำหนดการใส่ ชุดนักเรียน และ ไว้ทรงผม ได้อย่างอิสระ โดยไม่กระทบสิทธิมนุษยชน และริดรอนสิทธิของนักเรียน

กทม. จึงได้มีการออกหนังสือถึงสำนักงานเขต จำนวน 2 ฉบับ ว่าด้วยการอนุโลมให้นักเรียน สามารถไว้ทรงผมได้อย่างอิสระ และแต่งกายมาเรียนด้วยชุดอะไรก็ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ลงนามเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566 โดย นางวันทรีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร รักษาราชการแทนปลัดกรุงเทพฯ โดยมีรายละเอียดดังนี้

แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับทรงผมของนักเรียน
ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 และ พ.ศ 2566 ประกาศ ณ วันที่ 16 ม.ค. พ.ศ. 2566 เพื่อเป็นการเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนักเรียน จึงให้โรงเรียนจัดทำข้อกำหนดฯ ให้นักเรียนไว้ทรงผมได้อย่างอิสระบนพื้นฐานสุขอนามัยที่ดี สะอาด ส่งเสริมบุคลิกภาพและความมั่นใจ จากนั้นให้นำไปประชาสัมพนธ์ให้ทราบเป็นการทั่วไปก่อนนำไปประกาศใช้ โดยในกรณีมีนักเรียนไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวได้ ให้โรงเรียนรับฟังความคิดเห็นจากนักเรียน ผู้ปกครอง เพื่อทำความเช้าใจและตกลงร่วมกัน แต่ห้ามไม่ให้มีการดำเนินการในลักษณะที่จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพทางร่างกายและจิตใจของนักเรียน เช่น การตัดผม ทำให้อับอาย ฯ

แนวทางการแต่งกายของนักเรียน
นอกจากนี้ กทม.ยังได้ออกหนังสือแนวทางการแต่งกายของนักเรียนโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยระบุว่า กทม.จัดทำข้อกำหนดใหม่ให้แก่โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยอนุญาตให้นักเรียนสามารถแต่งกายชุดใดก็ได้ที่ไม่เป็นการบังคับจำนวน 1 วันต่อสัปดาห์ หากไม่สามารถปฏิบัติตามได้ ก็สามารถใส่ชุดนักเรียนได้ตามความประสงค์ของนักเรียน โดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพทางร่างกายและจิตใจ ยึดหลักคำนึงถึงอัตลักษณ์ ความหลากหลาย ความเชื่อทางศาสนาและเพศวิถีตามที่ระเบียบกระทรวงศึกษาว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 ข้อ 15 กำหนดว่า สถานศึกษาใดจะกำหนดให้นักเรียนแต่งเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี นักศึกษาวิชาทหาร หรือแต่งชุดพื้นเมือง ชุดไทย ชุดลำลอง ชุดฝึกงาน ชุดกีฬา ชุดนาฏศิลป์ หรือชุดอื่นๆ แทนเครื่องแบบนักเรียนตามระเบียบนี้ในวันใด ให้เป็นไปตามที่สถานศึกษากำหนด โดยคำนึงความประหยัดและเหมาะสม เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง

จึงให้โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครจัดทำข้อกำหนดให้นักเรียนแต่งกายด้วยชุดใดก็ได้ที่ไม่เป็นการบังคับอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ โดยให้นักเรียนเป็นผู้มีส่วนร่วมในการกำหนด จากนั้นให้นำไปประชาสัมพันธ์ให้ทราบเป็นการทั่วไปก่อนไปประกาศใช้โดยในกรณีที่มีนักเรียนไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดได้ ให้เป็นไปตามความประสงค์ของนักเรียนผู้นั้นที่จะสวมชุดนักเรียน ชุดพละ หรือชุดอื่นใดที่โรงเรียนกำหนดให้มีไว้อยู่แล้ว แต่ห้ามไม่ให้มีการดำเนินการในลักษณะที่จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งให้คำนึงถึงอัตลักษณ์ความหลากหลาย ความเชื่อทางศาสนา และเพศวิถีของนักเรียน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top