Tuesday, 14 May 2024
โจไบเดน

‘ไบเดน’ สั่งคุมเข้มการลงทุนด้านเทคโนโลยีมะกันในแดนมังกร หวังสกัดขีดความสามารถจีน หวั่น!! กระทบความมั่นคงสหรัฐฯ

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ ได้ออกคำสั่งของฝ่ายผู้บริหารมุ่งจำกัดการลงทุนของชาวอเมริกันในเทคโนโลยีชั้นสูงที่มีความละเอียดอ่อนในจีน ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ถูกมองว่าอาจทำให้ความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกต้องเผชิญกับความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้น

การออกคำสั่งดังกล่าวเป็นที่คาดการณ์กันมาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งคาดว่าจะให้มีผลบังคับใช้ในปีหน้า โดยพุ่งเป้าไปที่เซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ท่ามกลางความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีหลัก

ไบเดนระบุในจดหมายที่ส่งถึงผู้นำสภาคองเกรสในคำสั่งของฝ่ายบริหารว่า ความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ในการเปิดการลงทุนเป็นรากฐานสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจของเรา และมันมอบผลประโยชน์มากมายให้กับสหรัฐฯ

“อย่างไรก็ตาม การลงทุนบางอย่างของสหรัฐฯ อาจเร่งและเพิ่มความสำเร็จของการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความละเอียดอ่อน และการผลิตในประเทศที่พัฒนามันขึ้นมา เพื่อต่อต้านขีดความสามารถของสหรัฐและพันธมิตร” ไบเดนระบุ

ตามรายละเอียดที่เผยแพร่โดยกระทรวงการคลังสหรัฐ คำสั่งผู้บริหารดังกล่าวจะห้ามไม่ให้เอกชนรายใหม่ เงินร่วมทุน และการลงทุนร่วมในธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง รวมถึงเทคโนโลยีสารสนเทศควอนตัมบางประเภทในจีน

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐระบุว่า โครงการลงทุนนอกประเทศจะต้องเติมเต็มช่องว่างที่สำคัญในชุดเครื่องมือด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ สิ่งที่เรากำลังพูดถึงคือแนวทางที่แคบแต่รอบคอบ ในขณะที่เรากำลังพยายามป้องกันไม่ให้จีนดั๊บและใช้เทคโนโลยีขั้นสูงสุด เพื่อส่งเสริมความทันสมัยทางทหารและบ่อนทำลายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาในรายละเอียดของข้อกำหนดเพื่อการแจ้งเตือนสำหรับการลงทุนของสหรัฐในบริษัทของจีนที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์ทีมีขั้นไม่สูงนัก รวมถึงกิจกรรมที่เกี่ยวกับเอไอบางประเภท แต่คาดว่าจะมีข้อยกเว้นสำหรับการลงทุนในสหรัฐบางอย่าง ในหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายสาธารณะและการโอนจากบริษัทแม่ในสหรัฐไปยังบริษัทย่อย

ปลิดชีพ "ชาย" ขู่ฆ่า "โจ ไบเดน" แม้ไม่มี112 | Y WORLD EP.73

Y WORLD ตอนนี้จะพาคุณไปฟังเรื่องราวการ "ปกป้องผู้นำ" ของตนขั้นสุดแบบสหรัฐอเมริกา ในกรณีที่ FBI ปลิดชีพ 'ชาย’ ขู่ฆ่า 'โจ ไบเดน' แม้สหรัฐอเมริกาจะไม่มีกฎหมายมาตรา 112 แบบประเทศไทย แต่ก็ต้องยอมรับว่า หากใครมาหมิ่นหรือคิดร้ายผู้นำในประเทศของเขา โดนดีทันที เรื่องราวจะเป็นอย่างไร ไปรับชมกันเลย

‘ไบเดน’ ลงพื้นที่ ‘ฮาวาย’ ติดตามความเสียหายจากไฟป่า พร้อมเยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบภัย หลังถูกวิจารณ์รับมือล่าช้า

เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 66 สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ประธานาธิบดี ‘โจ ไบเดน’ ของสหรัฐฯ เดินทางเยือนฮาวาย เพื่อตรวจตราความเสียหายจากภัยพิบัติไฟป่าเมื่อไม่นานมานี้ ที่เผาวอดเมืองทั้งเมือง และพบปะบรรดาผู้ประสบเหตุที่รอดชีวิต

ไบเดนและภริยา พร้อม ‘จอช กรีน’ ผู้ว่าการรัฐฮาวาย เดินสำรวจความเสียหายของเมือง หลังผ่านไปเกือบสองสัปดาห์ที่ไฟป่าได้เผาทำลายเมืองประวัติศาสตร์ลาไฮนา และคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 114 ราย

เปลวไฟลุกลามอย่างรวดเร็วจนชาวบ้านไม่ทันระวังตัว และต้องกระโดดลงทะเล เพื่อหลบหนีภัยพิบัติไฟป่าที่เลวร้ายที่สุดของสหรัฐอเมริกา ในรอบกว่า 100 ปี

หลังการสำรวจความเสียหายโดยรวม ไบเดนมีกำหนดจะประกาศมอบเงินทุนบรรเทาทุกข์เพิ่มเติม และแต่งตั้งผู้ประสานงานจากรัฐบาลกลางเพื่อประจำการช่วยเหลือในพื้นที่

บรรดานักวิจารณ์ รวมถึงผู้รอดชีวิตจากภัยพิบัติดังกล่าวในฮาวาย และฝั่งตรงข้ามอย่างพรรครีพับลิกัน ต่างระบุว่า ความช่วยเหลือในปัจจุบันยังไม่เพียงพอ และยังไม่มีการกำหนดมาตรการและวิธีการช่วยเหลือฟื้นฟูที่ดีพอ

แม้กระทั่งอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังกล่าวโจมตีว่า เป็นเรื่องน่าอับอายที่ประธานาธิบดีเพิ่งปรากฏตัวในพื้นที่ ทั้งๆ ที่เหตุจบไปแล้วเป็นสัปดาห์ ขณะที่ทำเนียบขาวชี้แจงว่า ไบเดนชะลอการเดินทางของเขา เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่และหน่วยกู้ภัยที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ต้องเสียสมาธิ

การเดินทางไปฮาวายครั้งนี้ ไบเดนกล่าวว่า “ผมรู้ว่าไม่มีอะไรสามารถทดแทนการสูญเสียชีวิตได้ ผมจะทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อช่วยให้เมาวีฟื้นตัว และถูกสร้างขึ้นใหม่จากโศกนาฏกรรมครั้งนี้” พร้อมหวังว่าการเยือนของเขาจะสร้างความมั่นใจในการฟื้นตัวให้กับฮาวาย

ชาวเมืองเมาวีกล่าวว่า กระบวนการตามหาผู้ที่ยังสูญหาย รวมทั้งการระบุตัวตนผู้เสียชีวิตนั้นดำเนินไปอย่างเชื่องช้า เพราะรัฐบาลตอบสนองช้า

“แม้ว่าการค้นหาผู้สูญหายจะดำเนินการครอบคลุมพื้นที่ไปกว่า 85%แล้ว แต่อีก 15% ที่เหลืออาจใช้เวลาหลายสัปดาห์ เพราะความร้อนจัดของไฟที่เผาไหม้ อาจทำให้ซากใดๆ สูญสลายไปเกินกว่าจะค้นเจอได้” จอช กรีน ผู้ว่าการรัฐฮาวาย ชี้แจงประเด็นดังกล่าว พร้อมเสริมว่ารัฐบาลกลางได้ส่งผู้เชี่ยวชาญจากเอฟบีไอ, กระทรวงกลาโหม และกระทรวงสาธารณสุขและบริการมนุษย์ มาเพื่อช่วยในกระบวนการระบุตัวตนที่ต้องใช้ความละเอียดอดทนสูง

‘ไบเดน’ โหนกระแส ฟันธง!! ‘ปูติน’ อยู่เบื้องหลัง  ‘เยฟเกนี พริโกซิน’ หัวหน้า Wagner เสียชีวิต

(24 ส.ค. 66) จับกระแสไว ยิ่งกว่าเจ้าของรายการโหนกระแสเสียอีก สำหรับ ‘โจ ไบเดน’ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา หลังจากทราบข่าวเรื่องอุบัติเหตุเครื่องบินของ ‘เยฟเกนี พริโกซิน’ ผู้ก่อตั้งกองกำลัง Wagner ตกในรัสเซีย ที่ทำให้ผู้โดยสาร จำนวน 10 คน รวมทั้งเยฟเกนี พริโกซิน เสียชีวิตยกลำ ก็ได้ออกมาฟันธงทันทีว่า ‘วลาดิมีร์ ปูติน’ ผู้นำรัสเซีย เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุครั้งนี้อย่างแน่นอน

สื่อรัสเซียรายงานว่า เกิดอุบัติเหตุเครื่องบินเจ็ทเหมาลำโดย ‘เยฟเกนี พริโกซิน’ และผู้บริหารระดับสูงของกองกำลัง Wagner ตกที่ ‘เมืองตเวียร์’ ทางภาคตะวันตกของรัสเซีย เมื่อช่วงเย็นของวันพุธที่ 23 สิงหาคม 2566 และไม่มีผู้ใดรอดชีวิต ตอนนี้เจ้าหน้าที่กู้ภัยกำลังเคลียร์พื้นแล้ว ล่าสุดพบร่างผู้เสียชีวิตแล้ว 8 ศพ ส่วนทางรัฐบาลมอสโก ยังไม่ออกมาแสดงความเห็นใดๆ เกี่ยวกับอุบัติเหตุครั้งนี้

ถึงแม้ทางเครมลินยังเงียบ แต่ทำเนียบขาวมาแล้ว โดย ‘โจ ไบเดน’ ออกมาแสดงความเห็นอย่างหนักแน่นว่า ‘วลาดิมีร์ ปูติน’ ผู้นำรัสเซีย เกี่ยวข้องกับการตกของเครื่องบินเหมาลำของหัวหน้าหน่วย Wagner อย่างไม่ต้องสงสัย

ไบเดนกล่าวว่า “ผมยังไม่รู้รายละเอียดแน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ผมไม่ประหลาดใจเลย เพราะไม่ค่อยมีอะไรที่เกิดขึ้นในรัสเซีย แล้วจะไม่เกี่ยวข้องกับปูติน”

ไบเดนยังบอกนักข่าว CNN ที่ตามไปสัมภาษณ์เกี่ยวกับข่าวของพริโกซินว่า เขาเคยพูดไว้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมแล้วว่า พริโกซินต้องระวังความปลอดภัยของตัวเองให้มาก หลังเหตุก่อกบฏที่ล้มเหลวเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ซึ่ง โจ ไบเดน เคยพูดเช่นนั้นจริงๆ ตอนที่เขาไปเยือนกรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ในครั้งนั้น ไบเดนพูดติดตลกในห้องประชุมผู้สื่อข่าวว่า “ถ้าผมเป็นพริโกซินตอนนี้ ผมจะระวังอาหารทุกจานที่ผมกิน จับตามองเมนูทุกอย่างที่จะเสิร์ฟให้ผมนับจากนี้”

ไม่ใช่เฉพาะ ‘โจ ไบเดน’ ที่เชื่อว่า ‘เยฟเกนี พริโกซิน’ อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย ‘มิไคโล โปโดลแยค’ ผู้ช่วยประธานาธิบดียูเครน ก็ได้ออกมาแสดงความเห็นเช่นกันว่า อุบัติเหตุของเครื่องบินโดยสารของเยฟเกนี พริโกซิน เกิดขึ้นตรงวันที่กองกำลัง Wagner ลุกฮือในรัสเซีย ครบรอบ 2 เดือนพอดี (23 มิถุนายน 2566) ซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นการส่งสัญญาณของรัฐบาลปูติน ถึงกลุ่มนายทุนชั้นสูงของรัสเซียว่า การไม่จงรักภักดีต่อระบอบปูติน มีราคาที่ต้องจ่าย และยังเป็นการปูทางสู่การเลือกตั้งใหญ่ในรัสเซียในปี 2024 อีกด้วย

ด้าน ‘วลาดิมีร์ ปูติน’ ที่ถูกพาดพิงจากสื่อทุกสำนักในวันนี้ ก็ยังไม่ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับอุบัติเหตุของเยฟเกนี พริโกซิน นอกจากกำหนดการที่ต้องออกมากล่าวคำปราศรัยในวันฉลองชัย วันครบรอบ 80 ปี ยุทธการที่เมืองคูสค์ ซึ่งกองกำลังโซเวียตมีชัยชนะอย่างเด็ดขาดต่อกองทัพนาซีเยอรมัน ในแนวรบที่เมืองคูสค์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยได้ถือโอกาสนี้กล่าวปลุกใจ สร้างขวัญทหารรัสเซียที่ไปรบในยูเครนตามปกติ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

โดยนักวิเคราะห์มองว่า นี่เป็นการแสดงให้เห็นถึงสถานะของปูตินที่ยังแข็งแกร่งเพียงพอ ที่จะรอโอกาสแก้แค้นฝ่ายที่ต่อต้านเขาได้อย่างใจเย็น

สำหรับในวันนี้ ที่หน้าสำนักงานกองกำลัง Wagner ในเมือง เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก จะมีการจุดเทียน และวางดอกไม้ไว้อาลัยให้กับ เยฟเกนี พริโกซิน เนื่องจากพริโกซิน เป็นหนึ่งในนายทุนระดับสูงที่มีฐานความนิยมในรัสเซียอยู่พอสมควร ทว่าการจากไปของพริโกซิน ทำให้ไม่อาจคาดเดาอนาคตของกองกำลัง Wagner ที่ปักหลักในยูเครน และ ทวีปแอฟริกา ว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไปหลังจากนี้…

‘ไบเดน’ ในวัย 80 ถูกโฆษกตัดจบทันที หลังพูดไปเรื่อยขณะแถลงข่าว จากผลสำรวจยิ่งตอกย้ำ!! เขาแก่เกินไปสำหรับทำหน้าที่ประธานาธิบดี

(11 ก.ย. 66) คารีน ฌอง ปิแอร์ เลขานุการฝ่ายสื่อสารมวลชนของทำเนียบขาว เข้าแทรกตัดจบการแถลงข่าวของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ในทันทีเมื่อวันอาทิตย์ (10 ก.ย.) หลังจากผู้นำรายนี้พูดไปเรื่อยเปื่อยเกี่ยวกับโลกที่ 3 และการสนทนาระหว่างเขากับ หลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน

ไบเดน ได้ตอบคำถามต่างๆ จากสื่อมวลชน ระหว่างเดินทางเยือนกรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม ก่อนบอกกับพวกผู้สื่อข่าวว่า "เขากำลังจะไปนอนแล้ว" อย่างไรก็ตาม ไบเดน ยังคงตอบคำถามใหม่ๆ เพิ่มเติม ในนั้นรวมถึงการพูดคุยระหว่างเขากับ หลี่ ณ ที่ประชุมซัมมิตจี 20 ในอินเดีย เมื่อวันเสาร์ (9 ก.ย.)

"มันไม่ใช่การเผชิญหน้ากันใดๆ เลย" ไบเดนกล่าว "เราพูดคุยกันเพื่อให้มั่นใจว่า โลกที่ 3 เอ่อ เอ่อ เอ่อ ซีกโลกใต้ จะเข้าถึงการเปลี่ยนแปลง"

ระหว่างที่ ไบเดน พูดจาเรื่อยเปื่อยต่อไปไม่หยุด จู่ๆ ฌอง ปิแอร์ ก็ประกาศผ่านไมค์ พูดแทรกว่า "การแถลงข่าวปัจจุบันนี้เสร็จสิ้นแล้ว" กระตุ้นให้ ไบเดน ที่ตอนนั้นกำลังพยายามตอบคำถามอีกคำถาม ต้องกล่าวขอบคุณ วางไมค์และเดินลงจากเวที

ปกติแล้วการแถลงข่าวของไบเดน จะได้รับการจัดการอย่างเข้มข้นจากบรรดาผู้ช่วยของเขา ประธานาธิบดีจะได้รับมอบใบคำถามจากผู้สื่อข่าวล่วงหน้าและได้รับแจ้งว่าผู้สื่อข่าวรายใดเป็นคนตั้งคำถาม อย่างไรก็ตามบางครั้ง ไบเดน หยุดพูดดื้อๆ แล้วลงเวที บ่อยครั้งก็ดูสับสนอย่างเห็นได้ชัด และบางครั้งต้องชี้นำโดยคณะทำงานของเขา

จากผลสำรวจของวอลล์สตรีท เจอร์นัล เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า 73% ของผู้มีสิทธิออกเสียงคิดว่า ไบเดน วัย 80 ปี แก่เกินไปสำหรับทำหน้าที่ประธานาธิบดี ในขณะที่ 60% เชื่อว่าเขาขาดสมรรถภาพทางจิตสำหรับตำแหน่งนี้

การเดินทางเยือนเวียดนามของไบเดน มีขึ้นในขณะที่สหรัฐฯ พยายามกระชับความสัมพันธ์กับบรรดาชาติในเอเชียเพิ่มเติม ในความพยายามตอบโต้การแผ่ขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาค โดยในวันอาทิตย์ (10 ก.ย.) ไบเดน และ เหงียน ฟู้ จ่อง เลขาธิการใหญ่คณะบริหารงานศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม แถลงข้อตกลงการค้าและการลงทุนทวิภาคี ในนั้นรวมถึงมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และการวิจัยในเวียดนาม

‘ไบเดน’ ปฏิเสธความพยายามโดดเดี่ยว - ควบคุมจีน อ้าง!! แค่ต้องการรักษาเสถียรภาพ - กฎระเบียบสากล

(12 ก.ย. 66) ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ระบุว่าสหรัฐฯ ไม่ได้พยายามโดดเดี่ยวหรือควบคุมจีน ขณะที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน เรียกร้องกองทัพให้มีความพร้อมอยู่เสมอ และยกระดับขีดความสามารถในการสู้รบ

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ เปิดเผยว่า จีนกำลังเปลี่ยนกฎเกณฑ์ แต่ไบเดนไม่ได้บอกว่ากฎเกณฑ์ดังกล่าวคืออะไร ในระหว่างให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม นอกจากนี้ ไบเดนยังกล่าวด้วยว่าเขาได้พบปะนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง ของจีน ในการประชุมสุดยอดประจำปี G20 ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดียก่อนหน้านี้

ไบเดนกล่าวอีกว่าสหรัฐฯ ไม่ได้มีเจตนาที่จะควบคุมหรือโดดเดี่ยวจีน เพียงแต่สหรัฐฯ ต้องการรักษาเสถียรภาพตามกฎเกณฑ์และระเบียบสากล อีกทั้งไบเดนต้องการเห็นจีนประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจภายใต้กฎระเบียบสากล

ด้านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน เรียกร้องให้กองทัพอยู่ในความพร้อมระหว่างตรวจเยี่ยมกำลังพลที่ศูนย์ใหญ่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ขณะเดียวกันประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้พบตัวแทนของกองทัพ และถ่ายรูปร่วมกัน จากนั้นผู้นำจีนชื่นชมกองทัพและสารวัตรทหาร ซึ่งทำหน้าที่ได้อย่างกล้าหาญในการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในภูมิภาคทางเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของจีน 
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ชื่นชมทหารที่ทำงานอย่างหนักเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนสร้างภาพพจน์ที่ดีให้แก่กองทัพ ขณะเดียวกันประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เรียกร้องให้กองทัพยกระดับการเตรียมความพร้อม รวมถึงการฝึกฝนอย่างหนัก เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการสู้รบ พร้อมย้ำถึงการสร้างกองทัพให้แข็งแกร่ง และมีเอกภาพ

‘สว.มะกัน’ เล่นเกมแรง ยื่นญัตติถอดถอน ‘โจ ไบเดน’ ขยี้ปมคอร์รัปชันผ่านลูกชาย แม้ไร้ผล แต่เชื่อแต้มหด

พอใกล้เข้าสู่บรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา เกมการเมืองยิ่งเพิ่มระดับความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดวันนี้ ‘เควิน แมคคาร์ธีย์’ วุฒิสมาชิกจากพรรคฝ่ายค้าน รีพับลิกัน ได้ยื่นประเด็นกล่าวหา ‘โจ ไบเดน’ ผู้นำสหรัฐฯ คนปัจจุบันจากพรรคเดโมแครต ว่าพัวพันการทุจริต คอร์รัปชัน รับสินบนจากบริษัทข้ามชาติ เพื่อนำไปสู่การพิจารณาถอดถอน โจ ไบเดน พ้นจากตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ

โดยวุฒิสมาชิก แมคคาร์ธีย์ อ้างว่าต้องการเปิดโปงรูปแบบ ‘วัฒนธรรมการคอร์รัปชัน’ ของครอบครัวไบเดน ที่มีมานานตั้งแต่เมื่อโจ ไบเดน ยังดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในสมัย ‘บารัค โอบามา’ ซึ่งข้อกล่าวหาส่วนใหญ่ที่หยิบยกมาล้วนเกี่ยวพันกับธุรกิจครอบครัวไบเดน โดยเฉพาะ ‘ฮันเตอร์ ไบเดน’ บุตรชายของ โจ ไบเดน ที่ใช้ชื่อเสียงของพ่อเป็นใบเบิกทางสู่ผลประโยชน์ด้านธุรกิจของตนเองหลายล้านเหรียญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 

สื่อต่างชาติได้รวบรวมประเด็นที่ฝ่ายรีพับลิกันหยิบยกขึ้นมากล่าวหาโจ ไบเดน และครอบครัวไว้ดังนี้ 

1.) โจ ไบเดน ใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อผลประโยชน์ให้ลูกชาย - ฮันเตอร์ ไบเดน ตั้งแต่สมัยเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ประเด็นนี้ ‘เจมส์ โคเมอร์’ สมาชิกพรรครีพับลิกันจากรัฐเคนทัคกี เคยตั้งข้อสงสัยเรื่องการพบปะสังสรรค์ของโจ ไบเดน กับกลุ่มทุนผู้มีอิทธิพลทางการเมืองในยุโรปตะวันออกจำนวนมากในช่วงที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อกรุยทางให้ลูกชายและ หนึ่งในบริษัทที่ถูกตั้งข้อสงสัยคือ Burisma บริษัทกลุ่มทุนพลังงานยักษ์ใหญ่ของยูเครนที่ ฮันเตอร์ ไบเดน ได้เข้าไปนั่งในตำแหน่งบอร์ดผู้บริหาร และได้รับค่าตอบแทนสูงว่า 10 ล้านเหรียญต่อปี และนำไปสู่ข้อกล่าวหาต่อมาคือ

2.) โจ ไบเดน และ บุตรชาย รับเงินสินบนจากกลุ่มทุนต่างชาติ 

โดยพรรคฝ่ายค้านเคยยื่นหลักฐานว่า ‘มิโคลา สโลเชฟสกี’ อดีตผู้บริหารระดับสูงของ Burisma เคยจ่ายเงินให้กับทั้ง โจ และ ฮันเตอร์ ไบเดน กว่า 5 ล้านเหรียญ แต่ต่อมาเขากลับคำให้การว่าไม่รู้ ไม่เห็นการจ่ายเงินดังกล่าว และนอกเหนือจาก Burisma แล้ว ยังมีข้อกล่าวหาอีกด้วยว่าครอบครัวไบเดนเคยรับเงินจากแหล่งทุนอิทธิพลต่างชาติ ทั้งจีน รัสเซีย คาซัคสถาน และโรมาเนีย กว่า 20 ล้านเหรียญมาแล้ว แต่โจ ไบเดน ได้ออกมาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา 

3.) โจ ไบเดน จงใจปกปิดธุรกิจของลูกชาย ที่อาจพัวพันกับการรับเงินสินบน และฟอกเงินไปต่างประเทศ 

ซึ่งพบหลักฐานการโอนเงินราว 1.4 แสนเหรียญ จากนายทุนชาวคาซัคสถานไปเข้าบัญชีบริษัทเปลือกหอย (บริษัทที่จดทะเบียนแต่ในนาม ในต่างประเทศที่ให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี) ของ ฮันเตอร์ ไบเดน ที่ถูกนำไปซื้อรถหรูส่วนตัวในเวลาต่อมา รวมถึงความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจของครอบครัวไบเดน กับกลุ่มนายทุนใหญ่รัสเซีย และยูเครน 

4.) ครอบครัวไบเดนได้รับ ‘การดูแลเป็นพิเศษ’ เหนือนักการเมืองคนอื่นจากเจ้าหน้าที่รัฐ

โดยพรรครีพับลิกัน ตั้งข้อสังเกตว่า ข้อกล่าวหาครอบครัวไบเดนไปพัวพัน มักไม่ค่อยถูกยกขึ้นมาเป็นคดี หรือถ้าถึงขั้นเป็นคดีความขึ้นศาล ก็มักถูกตัดจบลงอย่างง่ายดายเพราะหลักฐานไม่เพียงพอ ที่อาจบ่งชี้ว่า โจ ไบเดน ใช้อำนาจในตำแหน่งกดดันการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐได้เหมือนกัน

เมื่อรวบรวมประเด็นได้ตามนี้ ฝ่ายรีพับลิกันจึงเล่นเกมแรง ยื่นประเด็นถอดถอน โจ ไบเดน จากตำแหน่งด้วยข้อหาคอร์รัปชัน ใช้อำนาจ หน้าที่ เอื้อผลประโยชน์ให้ธุรกิจครอบครัว และรับสินบน แม้ข้อกล่าวหาส่วนใหญ่จะเคยถูกพิจารณา และตีตกไปแล้วเพราะ ‘หลักฐานไม่เพียงพอ’

แต่ทั้งนี้ ฝ่ายรีพับลิกันเองก็ไม่ได้คาดหวังว่าการเสนอญัตติในการถอดถอนโจ ไบเดน ว่าจะสามารถทำให้ไบเดน หลุดจากตำแหน่งได้ แต่ทำเพื่อหวังผลในการสร้างกระแสการรับรู้ต่อสาธารณชน คนอเมริกันทั่วไป จากการอภิปรายรายละเอียดข้อกล่าวหาจากทีมรีพับลิกัน และการนำเสนอหลักฐานผ่านสื่ออย่างต่อเนื่อง

เนื่องจาก โจ ไบเดน ประกาศลงชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ต่ออีกสมัยในการเลือกตั้งครั้งต่อไปในปี 2024 ซึ่งการจิกไม่ปล่อย และทำให้คดีอยู่ในกระแสเรื่อยๆ ย่อมมีผลต่อคะแนนความนิยมของไบเดนได้เช่นกัน

ดังเช่น โพลสำรวจความเห็นชาวอเมริกันล่าสุด พบว่า 42% ของกลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าโจ ไบเดน มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจของลูกชายจริง และเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายด้วย 18% คิดว่า โจ ไบเดน ทำผิดจริยธรรมทางการเมือง ในขณะที่ 38% ยังมั่นใจในความบริสุทธิ์ของโจ ไบเดน

เชื่อว่าหลังจากนี้ การขุดหลักฐานโจมตีผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐจากทั้ง 2 พรรค จะยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง โจ ไบเดน นอกจากจะมีชนักติดหลังเรื่องข่าวอื้อฉาวของลูกชาย ฮันเตอร์ ไบเดน แล้ว ยังมีประเด็นเรื่องสุขภาพ ที่มักโดนโจมตีเสมอว่า เขายังจะฟิตในตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ต่อในสมัยที่ 2 อีกหรือไม่ แม้เขาจะยืนยันหนักแน่นว่ายังไหวในวัย 80 ปีก็ตาม

เรื่อง : ยีนส์ อรุณรัตน์

‘เซเลนสกี’ เตรียมพบ ‘โจ ไบเดน’ ขอความช่วยเหลือต่อสู้กับรัสเซีย  เชื่อ!! สหรัฐฯ หนุนต่อ แม้เสียงคัดค้านจาก ‘รีพับลิกัน’ เริ่มหนาหู

เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 66 ที่ทำเนียบขาวของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครนจะเดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐฯ ในสัปดาห์หน้า ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 78 ที่นครนิวยอร์ก เพื่อพบหารือกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน และเข้าประชุมร่วมกับรัฐสภาสหรัฐฯ

ด้าน นายเจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ระบุว่า การเดินทางเยือนสหรัฐฯ ของผู้นำยูเครนในครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาวิกฤต และประธานาธิบดีไบเดน ยืนยันที่จะให้การสนับสนุนยูเครน ซึ่งกำลังปกป้องเอกราช อธิปไตย และบูรณาภาพแห่งดินแดน จากการรุกรานของรัสเซีย

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีไบเดน กำลังเผชิญกับการคัดค้านสมาชิกรัฐสภาจากพรรครีพับลิกัน ในการจัดส่งความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ยูเครน อีก 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอีก 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในยูเครน

‘เซเลนสกี’ เยือนวอชิงตันอีกรอบ ขอความช่วยเหลือเพิ่ม แม้ ‘ไบเดน’ หนุน แต่คองเกรสเอือมสงคราม รีพับลิกันเริ่มขวาง

(22 ก.ย. 66) ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ผู้นำแห่งยูเครน เดินทางถึงกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันพฤหัสบดี (21 ก.ย.) ที่ผ่านมา เพื่อการเยือนเป็นครั้งที่ 2 ของเขาในช่วงเวลาทำสงครามกับรัสเซีย อย่างไรก็ดี นอกจากจะไม่ได้รับการต้อนรับดุจดังวีรบุรุษเหมือนหนที่แล้ว คราวนี้ผู้นำเคียฟยังต้องเผชิญบรรยากาศความเหนื่อยล้า จากสงครามของบรรดาสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ และความเสี่ยงที่แพ็กเกจความช่วยเหลือล็อตใหม่มูลค่ากว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อาจถูกขัดขวาง

เซเลนสกีโพสต์ข้อความทางสื่อสังคมในตอนเช้าตรู่ของวันพฤหัสบดี (21 ก.ย.) ที่ผ่านมา ว่า เขาและภรรยามาถึงวอชิงตัน ดี.ซี.แล้ว และระบบป้องกันภัยทางอากาศ คือหนึ่งในรายการที่มีลำดับความสำคัญสูงสุด ซึ่งเขาต้องการจะได้รับในเมืองหลวงของสหรัฐฯ แห่งนี้

ผู้นำยูเครนวัย 45 ปีผู้นี้ มีกำหนดพบปะเจรจากับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ทำเนียบขาว และจากนั้นจะไปเยือนกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน)

ทว่านัดหมายที่สำคัญอย่างที่สุดของเขา น่าจะเป็นการพบหารือกับพวกผู้นำของพรรครีพับลิกัน และพรรคเดโมแครตในรัฐสภาสหรัฐฯ ซึ่งแพ็กเกจความช่วยเหลือยูเครนฉบับใหม่มูลค่า 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่คณะบริหารของไบเดนได้เสนอเข้าไป มีความเสี่ยงที่จะถูกสกัดขัดขวาง

เซเลนสกีเพิ่งออกมาจากการร่วมประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชนในนครนิวยอร์ก ซึ่งเขาปราศรัยเรียกร้องให้โลกยืนหยัดสนับสนุนยูเครน ต่อสู้กับสิ่งที่เขากล่าวหาว่าเป็น ‘การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ ของรัสเซีย

เขายังร้องขอชาวอเมริกันคงความสนับสนุนที่ให้แก่เคียฟต่อไป หลังจากที่วอชิงตันได้อัดฉีดเงินมากกว่า 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในรูปความช่วยเหลือทางทหารให้แก่ยูเครน นับตั้งแต่ถูกรัสเซียรุกรานในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 โดยที่เขากล่าวอ้างกับโทรทัศน์ข่าวซีเอ็นเอ็นเมื่อวันอังคาร (19 ก.ย.) ที่ผ่านมา ว่า “เรากำลังอยู่ตรงเส้นชัยแล้ว”

ทว่า ทริปเยือนกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ของเขาหนนี้ จะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากหนแรกเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยครั้งนั้นเซเลนสกีบินไปอเมริกาแบบไม่มีการออกข่าวล่วงหน้า และได้รับการต้อนรับเยี่ยงวีรบุรุษจากทั้งทำเนียบขาวและที่รัฐสภาสหรัฐฯ

แต่ในครั้งนี้ วอชิงตันอบอวลไปด้วยความสงสัยข้องใจมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับอนาคตการให้ความช่วยเหลือของสหรัฐฯ โดยที่กลุ่มสมาชิกสายแข็งของรีพับลิกันประกาศว่า จะไม่ยกมือเห็นชอบมาตรการทางการเงิน เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลต้องหยุดทำการชั่วคราว เพราะหมดงบประมาณ หรือที่เรียกกันว่า ‘ชัตดาวน์’ ถ้าหากมีการพ่วงความช่วยเหลือสำหรับยูเครนเข้าไปด้วย

แม้ว่าไบเดนยังคงให้สัญญาจะยืนหยัดเคียงข้างเคียฟไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น โดยที่การรณรงค์หาเสียงเพื่อให้ได้รับเลือกตั้งอีกสมัยในปีหน้าของเขา มีการวาดภาพเรื่องเขาสนับสนุนยูเครน ว่าเป็นการสาธิตถึงความเป็นผู้นำโลกของเขา

‘จอห์น เคอร์บี้’ โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ แถลงว่า ไบเดนรอรับฟังสถานการณ์ในสนามรบจากเซเลนสกี ที่เป็นผู้บัญชาการสูงสุดของยูเครนโดยตรง รวมทั้งจะหารือเกี่ยวกับสิ่งที่เซเลนสกีต้องการ และวิธีที่อเมริกาจะตอบสนองความต้องการเหล่านั้นต่อไปในอนาคต

สำหรับข่าวที่ว่า เซเลนสกีจะร้องขอขีปนาวุธทางยุทธวิธี ATACMS ซึ่งมีพิสัยทำการ 300 กิโลเมตร ไกลขึ้นกว่าเดิมเมื่อเทียบกับขีปนาวุธอื่นๆ ที่ยูเครนได้รับอยู่ในปัจจุบัน เคอร์บี้บอกว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้ถูกปัดตกไป แต่ก็ยังไม่มีการตัดสินใจในเวลานี้

อย่างไรก็ตาม เห็นกันดีเรื่องน่าหนักใจที่สุดของผู้นำยูเครน คือการโน้มน้าวรัฐสภาสหรัฐฯ ในเมื่อความหวังที่จะได้ความช่วยเหลือเพิ่มก้อนใหญ่อีกก้อนหนึ่งของยูเครน ถูกนำไปผูกโยงกับดรามาการต่อรองกันระหว่างพรรครีพับลิกันกับพรรคเดโมแครต

ไม่เพียงฝ่ายขวาจัดของรีพับลิกันในรัฐสภา แสดงท่าทีชัดเจนแล้วว่า ถ้ารัฐบาลขืนผลักดันให้ผ่านงบช่วยเหลือเคียฟ ก็จะไม่ยอมตกลงเรื่องมาตรการหลีกเลี่ยงการชัตดาวน์ กระทั่งสมาชิกรีพับลิกันสายกลางก็แสดงความข้องใจมากขึ้น กับการยังคงช่วยเหลือยูเครนต่อไป

เป็นต้นว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎร ‘เควิน แมคคาร์ธีย์’ ให้สัมภาษณ์เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า เขาคิดว่า คนอเมริกันอยากทราบว่ายูเครนมีแผนอย่างไร ที่จะทำให้ตัวเองรบชนะรัสเซีย

มี ส.ส.บางคนเห็นว่า น่าจะเอาเงินไปใช้ในการรักษาความปลอดภัยพรมแดนสหรัฐฯ มากกว่า ท่ามกลางความกังวลสงสัยที่การปฏิบัติการตอบโต้ของเคียฟมีความคืบหน้าน้อยมาก แถมยังมีข่าวการทุจริตหนักหน่วงในยูเครน จนเกิดคำถามว่า “หรือความช่วยเหลือที่ทุ่มเทให้ไปจะสูญเปล่า?”

อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เป็นตัวเก็งของรีพับลิกันท้าชิงทำเนียบขาวจากไบเดนในปีหน้า บอกว่า ควรเอาเงินที่จะให้ยูเครนมาใช้กับกิจการในประเทศมากกว่า ซ้ำทำนายว่า ที่สุดแล้วชัยชนะจะเป็นของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำแห่งรัสเซีย

ผลโพลสหรัฐฯ ชี้ 'ทรัมป์' มีคะแนนนิยมเหนือ 'ไบเดน' 10% ด้านคนอเมริกัน 75% มอง 'ไบเดน' แก่เกินไปที่จะนั่งเก้าอี้สมัย 2

ในผลสำรวจที่เผยแพร่เมื่อวันเสาร์ (23 ก.ย.66) พบว่า 52% ของผู้ตอบแบบสอบถาม จะเลือก ทรัมป์ ส่วนที่บอกว่าจะเลือก ไบเดน มีอยู่ราวๆ 42% ส่วนที่เหลือระบุว่ายังไม่ตัดสินใจหรือไม่ก็จะไม่ไปลงคะแนน ทั้งนี้ในผลสำรวจความคิดเห็นที่จัดทำโดยวอชิงตันโพสต์/เอบีซีนิวส์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ในตอนนั้นพบว่า ไบเดน มีคะแนนนิยมนำหน้า ทรัมป์ เพียง 4 จุด ที่ 48% ต่อ 44%

อย่างไรก็ตามผลสำรวจของวอชิงตันโพสต์/เอบีซีนิวส์ ค่อนข้างจะสวนทางกับผลโพลอื่นๆ เมื่อเร็วๆ นี้ ที่เกือบทั้งหมดให้ ทรัมป์ และ ไบเดน มีคะแนนนิยมสูสีกันอย่างมาก ในนั้นรวมถึงผลสำรวจของสำนักข่าวเอ็นบีซีนิวส์ ที่พบว่า ทรัมป์ กับ ไบเดน มีคะแนนนิยมเท่ากันที่ 46% ส่วนผลโพลของ ฟ็อกซ์ นิวส์ ที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว พบ ทรัมป์ มีคะแนนนิยมนำหน้า ไบเดน 48% ต่อ 46% ขณะที่ผลสำรวจของมหาวิทยาลัย Quinnipiac ให้ ไบเดน มีคะแนนนิยมนำหน้า 47% ต่อ 46%

ก่อนเผชิญหน้ากับ ไบเดน เป็นครั้งที่ 2 ทาง ทรัมป์ จำเป็นต้องเอาชนะกลุ่มผู้ท้าทายจากรีพับลิกัน ที่มากที่สุดเท่าที่เคยมีมาก ซึ่งต่างหวังก้าวมาเป็นตัวแทนพรรคลงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี อย่างไรก็ตามผลสำรวจแทบทุกสำนัก พบว่า ทรัมป์ มีคะแนนนิยมนำหน้าอย่างแข็งแกร่ง และ ไบเดน บอกกับเหล่าผู้บริจาคในวันพุธ (20 ก.ย.) เขาคิดว่าทรัมป์ ถูกกำหนดล่วงหน้าให้เป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันอีกครั้ง

ผลสำรวจของวอชิงตันโพสต์และเอบีซีนิวส์ พบว่า ทรัมป์ มีคะแนนนิยมนำหน้า รอน เดอซานติส ผู้ว่าการรัฐฟลอริดา คู่แข่งชิงตัวแทนพรรครีพับลิกัน ที่ใกล้เคียงที่สุดของเขา อยู่เกือบ 40 จุด ที่ 54% ต่อ 15% และไม่พบว่ามีผู้ท้าชิงรีพับลิกันรายอื่นๆ รายใดที่มีคะแนนนิยมถึงเลข 2 หลัก ในผลสำรวจเลย

ทั้ง ไบเดน และ ทรัมป์ ต่างเผชิญอุปสรรคสำคัญในแนวโน้มหวนคืนสู่การท้าชิงเก้าอี้ทำเนียบขาว โดย ทรัมป์ จะเข้าสู่ฤดูกาลเลือกตั้งในปีหน้า ด้วยการต้องต่อสู้กับข้อกล่าวหาต่างๆ มากกว่า 90 กระทง ใน 4 คดีแยกกัน ไม่ว่าจะเป็น คดีที่เขาถูกกล่าวหาพยายามล้มผลเลือกตั้งปี 2020 บริหารจัดการเอกสารลับผิดพลาด และจ่ายเงินปิดปากดาราหนังโป๊ สตอร์มมีย์ แดเนียลส์

ทรัมป์ ยืนกรานว่าการฟ้องร้องเอาผิดกับเขานั้น มีแรงจูงใจทางการเมือง และกระทรวงยุติธรรมภายใต้ไบเดน มีส่วนเกี่ยวข้องกับความพยายาม "สลานิตส์" ที่มุ่งหมายเขี่ยเขาพ้นจากศึกชิงชัยเก้าอี้ประธานาธิบดี 2024

สำหรับ ไบเดน บรรดาผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งต่างมีความกังวลว่าเขามีสุขภาพแข็งแรงพอสำหรับดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่ออีกสมัยหรือไม่ โดยในผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุด ไม่พิจารณาแนวโน้มทางการเมือง พบว่ามีถึง 75% ที่มองว่า ไบเดน นั้นแก่เกินไปที่จะนั่งเก้าอี้สมัย 2


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top