Monday, 7 July 2025
แพทองธารชินวัตร

‘นายกฯ แพทองธาร’ สั่งการตรงจาก ‘โมนาโก’ หลังน้ำท่วมแม่สาย มอบ ‘อนุทิน’ ช่วยเหลือด่วน!! พร้อมให้ สธ.ลุยแก้สารปนเปื้อน

(24 พ.ค. 68) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมแม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งเป็นน้ำที่ทะลักจากเมียนมา ลงสู่แม่สายบริเวณใกล้วัดพรหมวิหารอย่างใกล้ชิด แม้ยังอยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจต่างประเทศในการเดินทางเยือนสหราชอาณาจักร และราชรัฐโมนาโก ภายหลัง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้รายงานนายกรัฐมนตรีในฐานะ ประธานคณะกรรมการบรรเทาสาธารณภัย ว่าได้สั่งการให้เข้าไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีโดยด่วน และให้กระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่เพื่อเก็บตัวอย่างน้ำมาตรวจ ลดความกลัวในเรื่องน้ำที่มีสารปนเปื้อน และให้ตรวจเช็คสุขภาพ ร่างกายพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อไป 

ขณะที่นายวรายุทธ ค่อมบุญ นายอำเภอแม่สาย กล่าวว่ามวลน้ำที่มีมากทำให้ล้นบิ๊กแบ็คขึ้นมา ส่งผลให้เข้าท่วมพื้นที่ดังกล่าว  นอกจากนี้ ช่วงน้ำท่วมยังมีวัชพืชและขอนไม้ไหลมาติดสะพานอีก ทำให้ต้องเร่งนำเอาวัชพืชและขอนไม้ออกเพื่อให้น้ำไหลระบายได้สะดวก นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้ระดมบิ๊กแบ็คเพิ่มเติมเพื่อนำไปป้องกันบริเวณริมฝั่งชุมชนเกาะทรายและไม้ลุงขนต่อไป ทั้งนี้ ภายหลังน้ำลดจะมีการลงพื้นที่ เพื่อเร่งเจรจากับชาวบ้านที่ยังคงเหลืออาศัยอยู่ริมฝั่งอีก 8-9 ราย ให้ย้ายออกและทำการรื้อถอน เพื่อจะได้สร้างแนวพนังกั้นน้ำ รวมทั้งยังจะทำให้แม่น้ำมีความกว้างมากขึ้น

ส่วนกรณีมีการตรวจพบน้ำว่ามีสารปนเปื้อนนั้น ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบแล้ว หากพบว่ามีอาการแผลตุ่มให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ รวมถึงแนะนำให้ประชาชนที่ยังอาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ ซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่เพียงไม่มากนัก ให้ไปพักอาศัยอยู่ตามสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ให้เป็นการชั่วคราว ซึ่งทางเทศบาล ต.แม่สาย ได้จัดสถานที่เอาไว้ที่วัดพรหมวิหาร หอประชุม อ.แม่สาย และภายในสำนักงานเทศบาลแม่สาย จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

“นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติการตามข้อสั่งการของนายกฯ โดยสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ประสานกับหน่วยทหาร และสาธารณสุข ร่วมกับทางมหาดไทยเร่งแก้ไขโดยด่วน รวมทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ได้กำชับไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในภาคเหนือซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงการเกิดอุทกภัย ต้องเตรียมความพร้อมรับมือให้ทันกับสถานการณ์ และให้ประสานกับผู้บริหารส่วนท้องถิ่นเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชน และหากต้องประกาศพื้นที่ภัยพิบัติให้ทำทันที ส่วนเรื่องสารปนเปื้อนในแม่น้ำสาย และแม่น้ำกกนั้น ให้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ“ นายจิรายุ กล่าว

นายกฯ เผยดีล F1 คืบหน้ามาก ลุ้นผลไทยได้จัดแข่ง?.. ภายใน 2-3 เดือน

(26 พ.ค. 68) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เผยว่า การเจรจากับผู้บริหาร Formula One Group (F1) เกี่ยวกับการจัดแข่งรถ F1 รูปแบบ City Circuit ในประเทศไทย มีความคืบหน้าในทิศทางที่ดี คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า

การหารือเกิดขึ้นระหว่างการเยือนราชรัฐโมนาโก เมื่อวันที่ 23 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งนายกฯ ได้พบประธาน F1 และเข้าเฝ้าเจ้าชายอัลแบร์ที่ 2 พร้อมทั้งย้ำว่าการเดินทางครั้งนี้เน้นเรื่องเศรษฐกิจ ไม่ใช่การท่องเที่ยว โดยก่อนหน้านี้ยังได้หารือเรื่องการค้าและ FTA ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

นายกฯ ระบุว่า การดึง F1 มาไทยถือเป็นโอกาสที่ดี โดยไทยมีศักยภาพจัดแข่งในรูปแบบถนนในเมือง (City Circuit) ซึ่งได้รับความสนใจจากทางผู้บริหาร F1 และหากทุกอย่างเป็นไปตามแผน ก็จะเป็นอีกก้าวสำคัญในการยกระดับประเทศในเวทีโลก

‘อาร์ต พศุตม์’ ยังไม่จบง่าย ๆ ฝากถึงทักษิณ - นายกฯ อิงค์ บอกคนอย่างหมอไม่ควรอยู่ข้างๆ จะทำให้เสียชื่อ

‘อาร์ต พศุตม์’ ยังไม่จบง่าย ๆ ฝากถึงทักษิณ - นายกฯ อิงค์ บอกคนอย่างหมอไม่ควรอยู่ข้างๆ จะทำให้เสียชื่อ

กระทรวงไหนที่คนไทย อยากให้เปลี่ยนรัฐมนตรีมากที่สุด!!

เมื่อวานนี้ (14 มิ.ย. 68) รศ.ดร.สุณีย์ กัลยะจิตร และคณะ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผย ผลสำรวจประเด็น 'คนไทยต้องการปรับ ครม.หรือไม่" ของ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย เป็นการสำรวจทัศนคติและความคิดเห็นด้านสถานการณ์การศึกษาและปัญหาที่เป็นกระแสสังคม ในพื้นทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ คณะผู้วิจัยประยุกต์ใช้การวิจัยเชิงสำรวจด้วยการลงพื้นที่สัมภาษณ์แบบเผชิญหน้า (face to face) และการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ (phone survey) โดยใช้แบบสัมภาษณ์ผ่านช่องทางออนไลน์จากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 11,802 ตัวอย่าง ในช่วงระหว่างวันที่ 5 -11 มิถุนายน 2568 ผลการศึกษาสรุปสาระสำคัญ ที่น่าสนใจ

ได้แก่ ผลการวิเคราะห์ความคิดเห็นในประเด็น ท่านต้องการให้มีการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี (ครม.)หรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 87.6 ระบุว่า ต้องการให้มีการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี (ครม.)

สาเหตุหลักที่ทำให้ประชาชนต้องการให้มีการปรับ ครม. สะท้อนถึงความไม่พอใจในประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้อง การขาดภาวะผู้นำ และความชัดเจนในการบริหาร การไม่ทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้

รวมถึงปัญหาด้านการทุจริต ความไม่โปร่งใส และการไม่ตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการและคุณภาพชีวิต รวมถึงปัญหาเฉพาะพื้นที่ อย่างปัญหาพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา เป็นต้น

ขณะที่ ความคิดเห็นประมาณ 1 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสำรวจ หรือร้อยละ 12.4 ระบุว่า ไม่ต้องการให้มีการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี (ครม.)

โดยเหตุผลที่ยังไม่ต้องการให้มีการปรับ ครม. ส่วนใหญ่มาจากการรับรู้ถึงประสิทธิภาพและความตั้งใจในการทำงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ความเชื่อมั่นในความซื่อสัตย์ การเห็นว่ารัฐบาลเข้าใจประชาชน รวมถึงความต้องการให้เกิดความเสถียรภาพและการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การพัฒนาประเทศดำเนินต่อไปได้ และมีความกังวลว่าการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรีใหม่ อาจนำมาซึ่งปัญหาด้านประสบการณ์ ความขัดแย้ง หรือการเล่นเกมการเมือง แทนที่จะเป็นการสร้างประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง

เมื่อสอบถามถึงกระทรวงที่ต้องการให้มีการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีมากที่สุด 5 อันดับ พบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด หรือร้อยละ 46.75 ต้องการให้มีการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีในส่วนของกระทรวงกลาโหมมากเป็นอันดับหนึ่ง

รองลงมาอันดับสองคือ กระทรวงการคลัง ร้อยละ 41.86 อันดับสาม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร้อยละ 38.26 อับดับสี่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยละ 28.93 อันดับห้า มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน คือ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร้อยละ 27.89 และ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 27.88 ตามลำดับ ฯลฯ

ประธานวุฒิสภายื่นศาล รธน.–ป.ป.ช. ถอดถอนนายกฯ ‘แพทองธาร’ ปมคลิปเสียง

(20 มิ.ย. 68) นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ยื่นหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญและ ป.ป.ช. เพื่อขอให้พิจารณาถอดถอน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามคำร้องของกลุ่มสมาชิกวุฒิสภาที่นำโดย พล.อ.สวัสดิ์ ทัศนา ซึ่งได้รวบรวมรายชื่อและยื่นต่อประธานวุฒิสภาเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.

คำร้องถึงศาล รธน. ขอให้วินิจฉัยว่าสถานะความเป็นนายกฯ ของ น.ส.แพทองธาร สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ขณะที่คำร้องถึง ป.ป.ช. ขอให้ไต่สวนว่ามีการทุจริตหรือฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ โดยเฉพาะในประเด็นที่อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

กรณีนี้เกิดขึ้นจากคลิปเสียงสนทนาระหว่าง น.ส.แพทองธาร กับสมเด็จฮุน เซน ที่ สว. เห็นว่าเป็นการอ่อนข้อให้กัมพูชา และพาดพิงถึงแม่ทัพภาคที่ 2 ในลักษณะกระทบเกียรติภูมิกองทัพ จนถูกตั้งข้อสังเกตถึงภาวะผู้นำและความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

‘โฆษก รทสช.’ ยัน!! ไม่มีขู่ถอนตัว ไม่มีเคลื่อนไหว ย้ำ!! ยังสนับสนุน ‘รัฐบาลแพทองธาร’ ให้สานงานต่อ

(28 มิ.ย. 68) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี ในฐานะโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวว่าพรรค รทสช. ขู่ถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล เนื่องจากนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค รทสช. ไม่พอใจที่นายสุชาติ ชมกลิ่น รมช.พาณิชย์ ในฐานะรองหัวหน้าพรรค รทสช. ได้โควตา รมช.มหาดไทย

นายอัครเดช ยืนยันว่า ไม่มีการเคลื่อนไหวจากบุคลากรและส.ส.ของพรรคในเรื่องดังกล่าวแน่นอน ทราบจากข่าวว่าโผคณะรัฐมนตรี (ครม.) นำขึ้นทูลเกล้าฯ ไปแล้ว ซึ่งตามหลักการ ทุกฝ่ายต้องนิ่งและไม่มีการเคลื่อนไหว ดังนั้นไม่ทราบว่าข่าวดังกล่าวมาจากที่ไหน แต่ในส่วนพรรค รทสช. ไม่มีการเคลื่อนไหวแน่นอน

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จุดยืนของพรรค รทสช. ยังคงสนับสนุนรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีต่อไปใช่หรือไม่ นายอัครเดชกล่าวว่า เป็นไปตามที่นายพีระพันธุ์สื่อสารไปก่อนหน้านี้ และ ยังคงเป็นจุดยืนเดิมของพรรค ในการสนับสนุนรัฐบาลต่อไป

นายกฯ เปิดผลสอบ ตึกสตง.ถล่ม หลังครบ 90 วัน ชี้ผิดทั้งออกแบบ-วิธีก่อสร้าง เล็งชงดีเอสไอ-ตร.ฟันคนผิด

(30 มิ.ย. 68) ที่ห้องสีเขียว ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามผลการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีอาคารที่อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) อันเนื่องมาจากแผ่นดินไหว โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.กลาโหม นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายพิศุทธ์ สุขุม วิศวกรใหญ่กรมโยธาและผังเมือง นายนิเวศน์ ล้ำเลิศลักษณชัย ผอ.สำนักวิศวกรรมโครงสร้างและงานระบบ นายธนิต ใจสอาด ผอ.สำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย รศ.ดร.บุญไชย สถิตมั่นในธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และรศ.อเนก ศิริพานิชกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย  เข้าร่วมประชุม

จากนั้นเวลา 12.15 น. นายกฯ แถลงว่า จากการประชุมเนื่องจากเหตุการณ์พังถล่มของอาคาร สตง. ที่เกิดแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 68 เราได้รับความร่วมมือจากกรมโยธาธิการและผังเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นเอกภาพ โดยจากทุกสถาบันมีข้อมูลที่สอดคล้องกันดังนี้ 1. พบว่ามีการบกพร่องในการออกแบบและวิธีการก่อสร้าง โดยเฉพาะเทคนิคในการก่อสร้าง ในส่วนของผนังช่องลิฟท์ ผนังบันไดหรือที่เรียกว่า ผนังรับแรงเฉือน เป็นสิ่งที่เกิดปัญหา

นายกฯ กล่าวว่า เรื่องของวัสดุไม่ว่าจะเหล็กหรือคอนกรีตเป็นวัสดุปกติที่ได้มาตรฐานทั่วไป แต่การนำมาใช้ในโครงการนี้และเกิดปัญหา เป็นเรื่องของคอนกรีตที่ไม่ได้มาตรฐานและวิธีการสร้างของโครงการนี้ที่มีปัญหา ก็เป็นสิ่งที่หลายภาคส่วนมีความกังวล อาคารอื่น ๆ จะเป็นอย่างไร ซึ่งเท่าที่ได้รับรายงานมา มีการก่อสร้างหลายๆ จุดที่ไม่ได้เป็นไปตามกฎหมายทั้งการออกแบบและการก่อสร้าง ทั้งในการวิจัยออกมาและมีการทำจำลองตัวตึก ระบุว่าถ้าปฏิบัติตามกฎหมายจะสร้างความแข็งแรงให้ตึกเพิ่มมากขึ้นและจะสามารถรับแรงสั่นสะเทือนได้มากกว่านี้แน่นอน โดยเราใช้เทคโนโลยีเดียวกันกับที่สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นในการดำเนินการ

นายกฯ กล่าวว่า ขอย้ำอีกครั้งว่าโครงการอื่น ๆ ได้มีการตรวจสอบในด้านวัสดุก่อสร้าง อย่างเคร่งครัดไม่ได้มีปัญหาใด ๆ และอยากให้ประชาชนสบายใจในเรื่องนี้ ต่อจากนี้เราก็จะนำข้อมูลที่ได้ทำเป็นรูปเล่มให้เสร็จสิ้นภายใน 2 สัปดาห์ และส่งต่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตำรวจเพื่อดำเนินการต่อ ทั้งนี้ขอตอบปัญหาประชาชนเบื้องต้นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากการออกแบบและการก่อสร้างของโครงการนี้ที่มีปัญหาอย่างเห็นได้ชัดซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย

เมื่อถามว่า สรุปได้หรือยังว่าความเสียหายอาคาร สตง. ถล่มใครจะเป็นคนรับผิดชอบ นายกฯ กล่าวว่า เป็นเรื่องของการออกแบบและโครงสร้างการก่อสร้างที่มีปัญหา เรื่องที่ว่าใครผิดหรือไม่ ต้องให้ตำรวจทำงานร่วมกับดีเอสไอเป็นคน ซึ่งเราทราบข้อมูลทั้งหมดแล้ว ใครที่ไม่เกี่ยวข้องหรือว่าอย่างไรก็ว่าไปตามกฎหมาย ตามกระบวนการ

เมื่อมาถามว่า ตัวเหล็กไม่มีปัญหาแต่มีปัญหาที่คอนกรีตใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ตัวเหล็กไม่มีปัญหาอะไร แต่มีปัญหาพวกวัสดุอื่น ๆ ซึ่งเอามาไม่ผิด แต่พอมาสร้างในโครงการนี้มีการเฉือนให้บางลงซึ่งไม่เป็นไปตามกฎ ตอนแรกตนก็กังวลใจในเรื่องของที่ไม่มีคุณภาพกับโครงการอื่น แต่เป็นการมาบิดในโครงการนี้

เมื่อถามว่า ถ้าปัญหาเป็นเรื่องของการออกแบบ ทาง สตง.ที่เป็นผู้จัดซื้อจัดจ้าง ต้องรับผิดชอบอะไรหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ต้องให้ทางดีเอสไอกับตำรวจช่วยดูว่าอย่างไรบ้าง ใครต้องรับผิดชอบส่วนไหนบ้าง เราต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ ซึ่งเราได้ให้ทางผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี 90 วัน ในการหาสาเหตุของแผ่นดินไหว และยื่นข้อมูลให้ดีเอสไอกับตำรวจดำเนินการต่อ

เมื่อถามว่า น้ำหนักที่จะเอาผิดอยู่ที่ผู้ออกแบบและผู้ที่ทำเรื่องของโครงสร้างใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่ทราบ แต่ข้อมูลที่ออกไปคนก็จะมองต่างมุมว่า แบบไหนผิดหรือถูก ฉะนั้นก็อยากให้เป็นไปตามกระบวนการที่เป็นกลางมากที่สุด ทำแบบนี้ใครผิด ซึ่งก็ไม่ได้มีหน้าที่ว่าใครชี้ว่าใครผิด แต่ตอนนี้ทราบว่าดำเนินการผิดกฎหมาย

เมื่อถามว่า กระบวนการการตรวจสอบ สตง. จะไม่เงียบ นายกฯ กล่าวว่า ไม่เงียบแน่นอนเดี๋ยวอีก 2 สัปดาห์ก็จะมีรายงานที่เป็นรูปเล่ม และส่งให้ดีเอสไอกับตำรวจทำงานต่อ และเรารู้ว่าประชาชนไม่ได้ลืม และรออยู่ว่าตึกสตง. ถล่มเกิดขึ้นจากคืออะไร จริงวันนี้เราได้คำตอบแล้วและดีมาก ๆ หลังจากนั้นก็ให้ว่าไปตามกระบวนการ

‘กระทรวงวัฒนธรรมเขมร’ แถลงโต้!! ‘แพทองธาร’ ยัน!! กลุ่มปราสาทตาเมือน อยู่ในเขตอธิปไตยกัมพูชา

(5 ก.ค. 68) เว็บไซต์ข่าว Khmer Times อ้างคำแถลงจากกระทรวงวัฒนธรรมและศิลปกรรมแห่งกัมพูชาวานนี้ (4 ก.ค.) ซึ่งระบุว่า กระทรวงฯ ขอปฏิเสธอย่างหนักแน่นต่อคำกล่าวอ้างของ น.ส. แพทองธาร ชินวัตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมของไทย เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ที่ระบุว่ากลุ่มปราสาทตาเมือน อยู่ภายใต้อธิปไตยของประเทศไทย และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505

กระทรวงวัฒนธรรมและศิลปกรรมแห่งกัมพูชาได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์เมื่อคืนวันศุกร์ (4) ว่า การที่ไทยอ้างกรรมสิทธิ์เหนือกลุ่มปราสาทตาเมือนเพียงฝ่ายเดียว โดยอาศัยแผนที่ที่ร่างขึ้นฝ่ายเดียวนั้น 'ไม่มีน้ำหนักทางกฎหมาย' หรือความชอบธรรมใดๆ และยังขัดแย้งกับเนื้อหาในบันทึกความเข้าใจ (MoU) ปี 2543 ระหว่างทั้งสองฝ่าย ซึ่งทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเคารพและใช้แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ตามเจตนารมณ์ของสนธิสัญญาฝรั่งเศส-สยาม ปี ค.ศ. 1904 และสนธิสัญญาฝรั่งเศส-สยาม ปี ค.ศ. 1907 ซึ่งยังคงมีผลบังคับใช้อยู่

กระทรวงฯ ยังยืนยันด้วยว่า จากสนธิสัญญาฝรั่งเศส-สยามในปี ค.ศ. 1904 และ 1907 รวมถึงแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ดังกล่าวข้างต้น กลุ่มปราสาทตาเมือนตั้งอยู่ในเขตอธิปไตยของราชอาณาจักรกัมพูชาโดยสมบูรณ์ นอกจากนี้ กลุ่มปราสาทตาเมือนยังเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดอุดรมีชัย และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นส่วนหนึ่งของมรดกแห่งชาติกัมพูชาแล้ว

กระทรวงวัฒนธรรมและศิลปกรรมกัมพูชาเรียกร้องให้กระทรวงวัฒนธรรมแห่งราชอาณาจักรไทยเคารพหลักการสากล เพื่อรักษาศักดิ์ศรีและความเป็นมืออาชีพที่ถูกคาดหวังจากสถาบันทางวัฒนธรรมในทุก ๆ ประเทศ

“ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น เราขอแจ้งให้ผู้ชมทั้งในประเทศและต่างประเทศทราบด้วยความเคารพ”

ท่าทีของฝ่ายกัมพูชามีขึ้นหลังจากที่ น.ส. แพทองธาร ชินวัตรนายกรัฐมนตรี และ รมว.วัฒนธรรม ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรมเมื่อวันศุกร์ (4) และมีการอ้างถึงมติ ครม.สมัยนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ที่เห็นชอบให้ส่งมอบโบราณวัตถุ 20 รายการแก่กัมพูชาตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ หลังจากกรมศิลปากรและคณะผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าวัตถุโบราณมีต้นกำเนิดในกัมพูชา และปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการจัดสรรงบประมาณของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ในการจัดส่งคืน ซึ่งได้รับรายงานว่า งบประมาณในปีปัจจุบันไม่เพียงพอในการขนส่ง และไม่เป็นเรื่องเร่งด่วนในการของบกลาง จึงอาจจะทบทวนเรื่องนี้ ต้องส่งเรื่องเพื่อขอตั้งงบประมาณของกระทรวงและรายงานต่อครม.เพื่อทราบ ในการหาหน่วยงาน หรือที่มาของงบประมาณที่จะจัดสรรงบประมาณต่อไปในการส่งคืน

“ที่สำคัญเนื่องด้วยสถานการณ์ไทยกัมพูชา ทางกระทรวงวัฒนธรรม จึงมีความเห็นในการทบทวนเรื่องดังกล่าวตามความเหมาะสมต่อไป บทสรุปคือ ทบทวนก่อนแล้วค่อยว่ากันเรื่องตั้งงบ ที่เหลืออยู่ยังไม่ส่งคืนก่อน"

น.ส.แพทองธาร ยังกล่าวด้วยว่า ประเด็นเรื่องโบราณสถานในกลุ่มปราสาทตาเมือน กระทรวงวัฒนธรรมขอยืนยันว่ากลุ่มปราสาทตาเมือนเป็นโบราณสถานที่อยู่ในอำนาจอธิปไตยของไทย และมีการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน พ.ศ. 2505 แล้ว ในส่วนพื้นที่พิพาทอื่นได้รับรายงานจากกระทรวงการต่างประเทศว่า จะเร่งดำเนินการในการรักษาไว้ซึ่งดินแดนและอำนาจอธิปไตยของไทยเช่นกัน

กูรูการเมือง วิเคราะห์!! นายกฯ กล้าทำกล้ารับ ซื่อสัตย์สุจริต มอง!! เเม่ทัพภาค 2 อยู่ฝ่ายตรงข้ามก็ไม่ผิดมาตรฐานจริยธรรม

(6 ก.ค. 68) กูรูผู้สันทัดกรณีทางการเมืองเกือบทุกคนเชื่อว่าอุ๊งอิ๊งไม่รอดแน่ เพราะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลงมติเป็นเอกฉันท์รับเรื่องไว้พิจารณา และ 7 /2 ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่นรม. 

แต่ข้อกล่าวหาของสว.36 คนผู้ร้อง คือ
1. ไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่เห็นประจักษ์  

2.ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง

คำถามคือ การที่อุ๊งอิ๊งออกมายอมรับแต่แรกว่าเสียงในคลิปที่ฮุนเซนเจ้าเล่ห์เอามาปล่อยเป็นเสียงของตนเอง ไม่เรียกว่าเป็นความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่เห็นประจักษ์ดอกหรือ เพราะหากจะปฏิเสธไว้ก่อนว่าเป็นการใช้ AI ปลอมเสียงก็ย่อมทำได้ 

ส่วนข้อกล่าวหาว่าฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมเป็นการร้ายแรง ก็ไม่เห็นว่าการที่อุ๊งอิ๊งบอกว่ามทภ.2 เป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับตนเอง เข้าข่ายเป็นการผิดมาตรฐานจริยธรรมข้อไหน เพราะทหารไทยส่วนใหญ่ก็อยู่ฝ่ายตรงกันข้ามกับฝ่ายปชต.มาจนถึงทุกวันนี้อยู่แล้ว

‘ดุสิตโพล’ ชี้!! คนไทยคาดหวัง ‘ม็อบ’ กดดันผู้นำรัฐบาล ‘ลาออก-ยุบสภา’ เปิดทางแก้ปัญหาโดยใช้ ประชาธิปไตย

(6 ก.ค. 68) ‘สวนดุสิตโพล’ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “การชุมนุมทางการเมืองในสายตาคนไทย 2568” กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 1,167 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 1-4 กรกฎาคม 2568 พบว่า กลุ่มตัวอย่างไม่สนใจเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง ร้อยละ 38.39 โดยคิดว่าการชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบันมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศในระดับปานกลาง ร้อยละ 48.93 จุดเด่นคือสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ร้อยละ 55.28 จุดด้อยคือมีความเสี่ยงต่อความรุนแรง ร้อยละ 48.16  ทั้งนี้เมื่อมีการชุมนุมทางการเมืองก็คาดหวังว่าจะมีการลาออกของผู้นำรัฐบาล ร้อยละ 58.58 ในสถานการณ์ปัจจุบันหากเกิดรัฐประหารก็ไม่เห็นด้วย เป็นการละเมิดระบอบประชาธิปไตย ร้อยละ 42.50

นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า จากผลสำรวจประชาชนมองว่าการชุมนุมเป็นสิทธิที่พึงมีแต่ไม่ได้เชื่อว่าเป็นทางออกที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศได้อย่างแท้จริง เนื่องจากที่ผ่านมามักตามมาด้วยผลเสียมากกว่าประโยชน์ของประชาชน แม้รัฐประหารเคยถูกมองว่าเป็นทางออกในบางช่วงเวลา แต่บทเรียนที่เจ็บปวดจากหลายครั้งหลายหน ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจนอกระบบอีกต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์กัญญกานต์ เสถียรสุคนธ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์ โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า ผลการสำรวจข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งของภาพสะท้อนการชุมนุมของกลุ่มรวมพลังแผ่นดินปกป้องอธิปไตย บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในวันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน 2568 กิจกรรมการชุมนุมเกิดขึ้นเพื่อแสดงถึงความไม่พอใจในนโยบายของรัฐบาลไทยต่อประเด็นความขัดแย้งบริเวณชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา  และท่าทีของนายกรัฐมนตรีไทย  ต่อปัญหาดังกล่าว การชุมนุมครั้งนี้เป็นการชุมนุมใหญ่ที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากซึ่งถือเป็นครั้งแรกในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา การมีส่วนร่วมทางการเมืองและการแสดงออกของประชาชนสอดคล้องกับผลสำรวจที่เชื่อว่าการแสดงออกทางการเมืองในรูปแบบดังกล่าวจะสามารถส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแรงกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง หรือการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ อันเป็นไปตามแนวทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยและต้องไม่ใช้การรัฐประหารเป็นทางออกเพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนเช่นที่ผ่านมา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top