Saturday, 4 May 2024
เตือนภัย

เตือนภัย!! เพจโรงแรมปลอมระบาดหนัก ป่วนเขาใหญ่ นักท่องเที่ยวหลงโอนเงินนับร้อยราย เสียหายนับล้าน

เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 66 น.ส.พันชนะ วัฒนเสถียร นายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมที่พักในพื้นที่รอบผืนป่ามรดกโลก ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ได้รับความเดือดร้อนจากมิจฉาชีพลักลอบปลอมแปลงเพจเฟซบุ๊ก สถานบริการที่พักของผู้ประกอบการ โพสต์หลอกลวงประชาชน ฉวยโอกาสช่วงวันหยุดยาว 6 วัน จะมีนักท่องเที่ยวมาพักค้างคืนในพื้นที่อำเภอปากช่อง เนื่องจากการเดินทางค่อนข้างสะดวก ซึ่งมีเหยื่อหลงเชื่อโอนเงินหลายราย

น.ส.พันชนะกล่าวว่า กลโกงของเพจปลอมจะตั้งโปรโมชันราคาที่พักต่ำกว่าความเป็นจริง สามารถสร้างแรงจูงใจโดยง่าย ข้อสังเกตคือเลขบัญชีการโอนเงินมัดจำไม่ใช่ชื่อบริษัทสถานบริการที่พัก แต่เป็นชื่อบัญชีของบุคคล รวมทั้งใช้อุบายต่างๆ นานาเพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อโอนเงินค่ามัดจำให้ก่อน จากนั้นเงียบหายไม่สามารถติดต่อได้ ช่วงเที่ยงที่ผ่านมาพนักงานสอบสวน สภ.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ได้รับแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษจากนักท่องเที่ยวจาก จ.ระยอง ถูกเพจปลอมหลอกโอนเงินค่าห้องและค่าประกันร่วม 5,000 บาท ล่าสุดรวบรวมข้อมูลมีผู้เสียหายนับร้อยราย สร้างความเสียหายร่วมล้านบาท

ทั้งนี้ ได้ส่งข้อมูลแจ้งเตือนทางออนไลน์ไปยังกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ระมัดระวังทุกช่องทาง โดยแจ้งเตือนและป้องกันผลกระทบเสียหายต่อภาพลักษณ์ และการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวของคนในท้องถิ่นได้แนะนำให้นักท่องเที่ยวตรวจสอบข้อมูลก่อนโอนเงิน หรือติดต่อสอบถามข้อมูลโดยตรงกับสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก ‘สมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่’ โทรศัพท์ 09-4239-3916 แอดมินยุ้ย

‘ใบเตย สุวพิชญ์’ โร่แจ้งความ โดนแอบอ้างชื่อบริษัทรับงาน  ชักชวนคนเข้าวงการบันเทิง-หลอกเอาเงิน วอนอย่าหลงเชื่อ

(3 ส.ค. 66) เรียกว่ารีบออกมาแจ้งเตือนภัยให้แฟนๆไดรับทราบอย่างด่วนจี๋ หวั่นคนหลงเชื่อ สำหรับนักแสดงสาว ‘ใบเตย สุวพิชญ์ ไตรพรวรกิจ’ ภรรยาคนสวยของนักร้องดัง ‘ปั๊บ โปเตโต้’ หรือ ‘ปั๊บ พัฒน์ชัย ภักดีสู่สุข’ โดยล่าสุดเจ้าตัวได้เข้าแจ้งความ หลังถูกมิจฉาชีพแอบอ้างชื่อบริษัทของตัวเอง จัดหางานนักแสดง Extra นายแบบ นางแบบ

โดย ‘ใบเตย สุวพิชญ์’ ได้โพสต์ภาพตัวเองระหว่างเข้าแจ้งความผ่านอินสตราแกรมส่วนตัว ระบุอแคปชันว่า

"สวัสดีค่ะ วันนี้เตยมีเรื่องเตือนภัยมาแจ้งให้ทุกคนทราบนะคะ ตอนนี้มีมิจฉาชีพแอบอ้างนำข้อมูลบริษัทของเตยไปโพสต์ทาง Facebook ชื่อ นักแสดง Extra งานแสดง นางแบบ นายแบบ งานโฆษณา งานภาพยนตร์ งาน Event โดยเนื้อหาเป็นการชักชวนเข้าสู่วงการบันเทิง และอาจมีการหลอกลวงให้ชำระเงินภายหลัง

เตยและบริษัทขอชี้แจงว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโพสต์ดังกล่าว และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าวทั้งสิ้นค่ะ ซึ่งตอนนี้ทางเตยได้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันเรียบร้อยแล้ว หากใครมีเบาะแสสามารถDM ข้อมูลมาได้ที่ IG : pummeimei ได้เลยนะคะ

เตยจึงมาโพสต์เพื่อเตือนให้ทุกคนได้ระวังมิจฉาชีพในอีกรูปแบบนึง เพราะเตยไม่อยากให้ใครหลงเชื่อเพราะอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายได้ในภายหลัง ขอบคุณค่ะ"

‘ตร.ไซเบอร์’ เตือนภัย!! เพจโรงแรม-ร้านอาหารปลอมระบาดหนัก หลอกเหยื่อโอนเงินค่าจองโต๊ะอาหาร เสียหายกว่า 140 ล้านบาท

(6 ก.ค. 66) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (บช.สอท.) กล่าวว่า ได้รับรายงานว่าจากการตรวจสอบในระบบศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ พบผู้เสียหายหลายรายถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้โอนเงินค่าสำรองโต๊ะอาหาร สำรองบุฟเฟต์ (Buffet) ผ่านเพจ facebook ของโรงแรม และร้านอาหารที่มีชื่อเสียงปลอม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันสำคัญต่างๆ จะมีการหลอกลวงจัดโปรโมชันราคาพิเศษ หรือหากมาหลายท่านทานฟรี 1 ท่าน เป็นต้น

ซึ่งมิจฉาชีพยังคงใช้แผนประทุษกรรมเดิมๆ คือ สร้างเพจ facebook โรงแรม หรือร้านอาหารปลอมขึ้นมา หรือใช้เพจ facebook เดิมที่มีผู้ติดตามจำนวนมากอยู่แล้ว ตั้งชื่อหรือเปลี่ยนชื่อบัญชีเพจให้เหมือนกับเพจจริงทุกตัวอักษร หรือใกล้เคียงกัน คัดลอกภาพโปรไฟล์ ภาพหน้าปก เนื้อหา และโปรโมชันต่างๆ จากเพจจริงมาใช้เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ รวมถึงการใช้เทคนิคในการซื้อ หรือยิงโฆษณาเพื่อเข้าถึงเป้าหมายที่ค้นหาร้านอาหารให้พบเพจปลอมเป็นอันดับแรกๆ หากไม่ทันสังเกตให้ดีก็จะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ หากผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไปแล้ว ก็จะไม่สามารถติดต่อเพจนั้นได้แต่อย่างใด

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.66 – 31 ก.ค.66 การหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ยังคงมีประชาชนตกเป็นเหยื่อสูงเป็นลำดับที่ 1 มีจำนวนกว่า 7,714 เรื่อง หรือคิดเป็น 49.09% ของเรื่องที่มีการรับแจ้งความออนไลน์เดือน ก.ค. 66 และมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 140 ล้านบาท

บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงขายสินค้าหรือบริการ

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันการซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆ ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ควรระมัดระวัง ตรวจสอบให้ดีเสียก่อน เพราะอาจจะเป็นช่องทางที่ถูกมิจฉาชีพปลอมขึ้นมาเพื่อหลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งที่ผ่านมามิจฉาชีพก็ได้ปลอมเพจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนบุคคล หน่วยงานเอกชนหลอกลวงชักชวนให้ลงทุน ที่พักหลอกลวงให้สำรองค่าที่พัก ร้านค้าหลอกลวงขายสินค้าออนไลน์ เป็นต้น

เพราะฉะนั้น เราจะต้องรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพเหล่านี้ ไม่หลงเชื่อเพียงเพราะมีชื่อเพจ เหมือนหรือคล้ายเพจจริง หรือเพียงเพราะพบเจอผ่านการค้นหาในเว็บไซต์ทั่วไป หรือพบเจอในกลุ่มเฟซบุ๊กต่างๆ หรือถูกส่งต่อกันมาตามสื่อสังคมออนไลน์เท่านั้น

จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ถึงวิธีการป้องกันการถูกหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว 9 ข้อ ดังนี้

1.) โรงแรม หรือร้านอาหารส่วนใหญ่ไม่มีนโยบายโอนเงินไปยังบัญชีส่วนตัว หรือบัญชีบุคคลธรรมดา บัญชีธนาคารที่รับโอนเงินควรเป็นบัญชีชื่อโรงแรม หรือร้านอาหาร หรือบัญชีบริษัทเท่านั้น

2.) ควรสำรองโต๊ะอาหารผ่านช่องทางที่เป็นทางการ หรือผ่านผู้ให้บริการออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ

3.) หากต้องการที่จะเข้าสู่เพจ facebook ใดให้พิมพ์ชื่อด้วยตนเอง และตรวจสอบให้ดีว่ามีชื่อซ้ำ หรือชื่อคล้ายกันหรือไม่

4.) เพจจริงจะต้องมีเครื่องหมายถูกสีฟ้ายืนยันตัวตน หากไม่มีเครื่องหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นเพจปลอม ต้องตรวจสอบอย่างละเอียด รวมถึงไปถึงไลน์ทางการต้องเครื่องหมายโล่สีฟ้า หรือสีเขียวเช่นเดียวกัน (Verified Account)

5.) เพจจริงจะมีส่วนร่วมในการโพสต์เนื้อหา รูปภาพ หรือกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อ

6.) เพจปลอมมักจะมีผู้ติดตามน้อยกว่าเพจจริง และมักจะเพิ่งสร้างขึ้นได้ไม่นาน

7.) ระมัดระวังการประกาศโฆษณาโปรโมชันต่างๆ

8.) ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจว่ามีการเปลี่ยนชื่อมาก่อนหรือไม่ สร้างมาเมื่อใด ผู้จัดการเพจอยู่ในประเทศใด

9.) ขอเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อไปยังโรงแรม หรือร้านอาหารก่อนทำการโอนเงิน ว่าเพจดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ หมายเลขบัญชีถูกต้องหรือไม่ หรือมีการปลอมแปลงเพจหรือไม่

ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย 6 แอปพลิเคชันปลอมควบคุมมือถือระบาดหนัก พบผู้เสียหายจำนวนมาก

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า ได้รับรายงานจากการตรวจสอบในระบบศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ พบว่าในช่วงที่ผ่านมามีผู้เสียหายหลายรายได้รับข้อความสั้น (SMS) และได้รับสายโทรศัพท์จากมิจฉาชีพที่แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานภาคเอกชน โดยให้ทำการเพิ่มเพื่อนทางแอปพลิเคชันไลน์ของหน่วยงานปลอมนั้นๆ จากนั้นจะสอบถามข้อมูลส่วนตัวของผู้เสียหายก่อนที่จะส่งลิงก์เว็บไซต์ปลอมให้ผู้เสียหายติดตั้งแอปพลิเคชันที่มิจฉาชีพปลอมขึ้นมาแล้วหลอกลวงให้ทำตามขั้นตอน ตั้งค่าให้สิทธิการเข้าถึง และให้สิทธิควบคุมโทรศัพท์มือถือที่ผู้เสียหายใช้งาน หลอกลวงให้กรอกรหัส PIN 6 หลัก จำนวนหลายครั้ง หรือหลอกลวงให้โอนเงินค่าธรรมเนียมในจำนวนเล็กน้อย เช่น โอนเงินจำนวน 10 บาท เพื่อดูรหัสการทำธุรกรรมธนาคารของผู้เสียหาย แล้วเข้าควบคุมโทรศัพท์ของผู้เสียหายแล้วโอนเงินออกจากบัญชี จำนวนกว่า 6 หน่วยงาน ดังนี้

1.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยได้รับข้อความสั้น (SMS) หรือได้รับสายโทรศัพท์อ้างเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้า แจ้งผู้เสียหายว่าจะได้รับเงินค่าชดเชยหม้อแปลงไฟฟ้า หรือคำนวณเงินค่า FT ผิดพลาด หรือได้รับเงินคืนค่าประกันไฟฟ้า เป็นต้น

2.กรมที่ดิน โดยได้รับสายโทรศัพท์อ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน แจ้งผู้เสียหายให้อัปเดตข้อมูลสถานะที่ดิน หรือให้ยืนยันการไม่ต้องชำระภาษีที่ดิน ภาษีโรงเรือน สำรวจประเภทการใช้งานที่ดิน หรือชำระภาษีที่ดินไว้เกินจะคืนให้ เป็นต้น

3.สำนักงานประกันสังคม ได้รับข้อความสั้น (SMS) หรือได้รับสายโทรศัพท์แจ้งว่า เตือนเลขบัตรลงท้ายด้วยเลข XXXX  กรุณาติดต่อเจ้าหน้าที่ เพื่ออัปเดตข้อมูลอย่างเร่งด่วน หรือให้ชำระค่าประกันสังคม หรือจะโอนเงินค่าประกันโควิคให้ เป็นต้น

4.บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส (Flash Express) ได้รับข้อความสั้น (SMS) แจ้งว่า พัสดุของท่านเสียหาย กรุณายื่นเคลมค่าเสียหาย

5.กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้รับสายโทรศัพท์อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ ให้ทำการยกเลิกโครงการคนละครึ่ง ให้ยกเลิกโครงการประชารัฐที่ผูกไว้กับร้านค้า หรือให้อัปเดตข้อมูลนิติบุคคลให้เป็นปัจจุบัน เป็นต้น

6.กรมบัญชีกลาง ได้รับสายโทรศัพท์อ้างเป็นเจ้าหน้าที่โทรมาสอบถามข้อมูล เพื่อทำเรื่องค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น

ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.66 – 31 ก.ค.66 การหลอกลวงติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบฯ มีประชาชนตกเป็นเหยื่อสูงเป็นลำดับที่ 4 มีจำนวนกว่า 1,105 เรื่อง หรือคิดเป็น 7.03% ของเรื่องที่มีการรับแจ้งความออนไลน์ในเดือน ก.ค. 66 และมีมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 165 ล้านบาท

บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ส่งข้อความสั้น หรือโทรศัพท์ไปหลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชนสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง

โฆษก บช.สอท. กล่าวอีกว่า การหลอกลวงในรูปแบบดังกล่าวยังคงเป็นการหลอกลวงในรูปแบบเดิมๆ เพียงแต่มิจฉาชีพจะเปลี่ยนชื่อหน่วยงาน และเปลี่ยนเนื้อหาไปตามวันเวลา และสถานการณ์ในช่วงนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งว่าได้รับสิทธิ หรือได้รับเงินคืน หรืออัปเดตข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน โดยในขั้นตอนสุดท้ายจะหลอกลวงให้เหยื่อกดลิงก์ผ่านเว็บไซต์ปลอมที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นให้กดติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมของหน่วยงานที่แอบอ้าง โดยมิจฉาชีพจะอาศัยความไม่รู้ และความโลภ ของประชาชนเป็นเครื่องมือ ใช้ความสมัครใจของเหยื่อให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอม มีการใช้สัญลักษณ์ของหน่วยงาน เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันหลายหน่วยงานได้ประกาศยกเลิกการส่งข้อความสั้น (SMS) หรือส่งอีเมลไปยังประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการเงิน หรือธนาคารต่างๆ ทั้งนี้ฝากย้ำเตือนไปยังประชาชน ไม่ว่ามิจฉาชีพจะมาในรูปแบบใดๆ ก็ตาม ให้ระมัดระวังและมีสติอยู่เสมอ โดยหากพบเห็นข้อความสั้น (SMS) หรือลิงก์ ในลักษณะดังกล่าวให้แจ้งเตือนไปยังบุคคลใกล้ชิด และหน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานนั้นๆ ให้ช่วยตรวจสอบทันที เพื่อลดการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

​ทั้งนี้ ขอฝากประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงแนวทางการป้องกัน ดังนี้
1.ไม่กดลิงก์ที่เเนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือที่ส่งมาทางสื่อสังคมออนไลน์ ไม่กดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันต่างๆ เพราะอาจเป็นการดักรับข้อมูล หรือการฝังมัลแวร์ของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มาพร้อมกับข้อความในลักษณะการให้สิทธิพิเศษ ให้รางวัล หรือโปรโมชันต่างๆ หรือข้อความที่ทำให้ตกใจกลัว
2.หากได้รับโทรศัพท์จากหมายเลขที่ไม่คุ้นเคย และมีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ให้ขอชื่อนามสกุล และหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกลับของเจ้าหน้าที่ โดยให้แจ้งว่าจะติดต่อกลับไปภายหลัง
3.ตรวจก่อนว่ามาจากหน่วยงานนั้นๆ จริงหรือไม่ โดยการโทรศัพท์ไปสอบถามผ่านหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ หรือผ่านเว็บไซต์ทางการของหน่วยงานนั้น โดยตรง รวมถึงตรวจสอบว่ามีการประกาศแจ้งเตือนการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวหรือไม่
4.ระวังการให้เพิ่มเพื่อนทางไลน์ปลอม โดย LINE Official Account จริงที่ผ่านการรับรองจะมีสัญลักษณ์โล่สีเขียว หรือโล่สีน้ำเงิน หากเป็นโล่สีเทาหรือไม่มีจะเป็นบัญชีทั่วไปยังไม่ได้ผ่านการรับรอง ต้องตรวจสอบยืนยันให้ดีเสียก่อน
5.ไม่ติดตั้งโปรแกรม หรือแอปพลิเคชันผ่านเว็บไซต์ที่ผู้อื่นส่งมาให้โดยเด็ดขาด แม้จะเป็นโปรแกรมที่รู้จักก็ตาม เพราะอาจเป็นแอปพลิเคชันปลอม โดยหากต้องการใช้งานให้ทำการติดตั้งผ่าน App Store หรือ Play Store เท่านั้น

6.ไม่อนุญาตให้ติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก หรือไฟล์ที่อาจเป็นอันตราย ไฟล์นามสกุล .Apk
7.ไม่อนุญาตให้เข้าถึงอุปกรณ์ และควบคุมอุปกรณ์ หรือโทรศัพท์มือถืออย่างเด็ดขาด
8.ไม่กรอกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงินใดๆ ลงในลิงก์ หรือแอปพลิเคชันในลักษณะดังกล่าวโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งรหัสผ่าน 6 หลัก ที่ซ้ำกับรหัสแอปพลิเคชันของธนาคารต่างๆ รวมถึงไม่โอนเงินไปยังบัญชีต่างๆ ตามคำบอกของผู้ที่แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ เพราะเสี่ยงถูกนำรหัสการทำธุรกรรมธนาคารไปใช้
9.หากท่านติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมแล้ว ให้รีบทำการ Force Reset หรือการบังคับให้อุปกรณ์นั้นรีสตาร์ต (ส่วนใหญ่เป็นการกดปุ่ม Power พร้อมปุ่มปรับเสียงค้างไว้) ในกรณีเกิดอาการค้างไม่ตอบสนอง หรือเปิดโหมดเครื่องบิน (Airplane Mode) หรือปิดเครื่องเพื่อตัดสัญญาณไม่ให้โทรศัพท์สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ ถอดซิมการ์ดโทรศัพท์ออก หรือทำการปิด Wi-fi Router
10.อัปเดตระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์ หรืออุปกรณ์ให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ

DSI และผู้บริหารบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมมือกันแจ้งเตือนภัย หลังพบ 73 เพจปลอมหลอกให้ลงทุน

เมื่อวันที่ 30  สิงหาคม 2566 พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้ พันตำรวจตรี วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ พร้อมคณะ เข้าพบคณะผู้บริหารบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบด้วย นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการ/ประธานคณะกรรมการบริหารและรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นายจักก์ชัย พานิชพัฒน์ รองประธานกรรมการ/กรรมการบริหาร/ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดี นายวิวัฒน์ กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคนิควิศวกรรม นายมานะชัย ขาวประพันธ์ ผู้จัดการอาวุโสสายงานเลขานุการบริษัทและกฎหมาย และนายเขมพัฒน์ เจริญพานิช ผู้จัดการฝ่ายกฎหมาย ที่อาคารกรมดิษฐ์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร เพื่อหารือแนวทาง
ในการแก้ไขปัญหา กรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ได้รับแจ้งเบาะแสว่ามีการปลอม Facebook ด้วยการใช้ชื่อบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวนกว่า 73 เพจ เพื่อหลอกลวงให้ประชาชนทั่วไปร่วมลงทุนกับบริษัทผ่านกองทุนต่าง ๆ ในการขยายกิจการและดำเนินธุรกิจของบริษัทโดยเสนอให้ผลตอบแทนสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดเป็นเหตุให้ประชาชนหลงเชื่อและร่วมลงทุนเป็นจำนวนมาก

ในการหารือ คณะผู้บริหารบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องและแนวทางประชาสัมพันธ์ที่ดำเนินการอยู่ ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบแนวทางในการประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อแจ้งเตือนประชาชนร่วมกัน นอกจากนั้นคณะผู้บริหารบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ยังมีความสนใจแนวทางการทำงานเชิงรุกเพื่อป้องกันอาชญากรรมที่เกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ของกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ โดยการพัฒนาระบบเตือนภัยที่มีลักษณะเป็นปัญญาประดิษฐ์ เพื่อสืบค้นข้อมูลในระบบอินเตอร์เน็ตมาวิเคราะห์และจัดทำฐานข้อมูลเพื่อเตือนภัยประชาชน อันเป็นมาตรการป้องกันการกระทำผิดที่มีประสิทธิภาพดีกว่าการปราบปรามที่กระทำเมื่อความเสียหาย
เกิดกับประชาชนแล้ว และทำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษมีฐานข้อมูลของผู้กระทำความผิดที่จะสามารถใช้ร่วมกันระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย โดยบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) พร้อมสนับสนุนการปฏิบัติงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษ รวมถึงกาขยายความร่วมมือด้านการต่างประเทศที่บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีศักยภาพสนับสนุนการปฏิบัติ ทั้งนี้ ได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกัน (Working Group) เพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง และมีตั้งกลุ่มไลน์สำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานเพื่อใช้ในการประสานและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารรวมทั้งความร่วมมือในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลต่อไป

ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย มิจฉาชีพปลอมบัญชีไลน์อาจารย์หลอกลวงนักศึกษาให้กู้ยืมเงิน กยศ.

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า ได้รับรายงานจากการตรวจสอบสถิติการรับแจ้งความผ่านศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์พบว่า ในช่วงที่ผ่านมามีผู้เสียหายหลายรายซึ่งเป็นนักศึกษาสถาบันการศึกษาต่างๆ ถูกมิจฉาชีพปลอมบัญชีไลน์แอดมิน แอบอ้างเป็นครูอาจารย์หลอกลวงนักศึกษาที่อยู่ภายในกลุ่ม Line Open Chat แจ้งว่าให้ผู้กู้รายใหม่ปี 2566 มีเงินอยู่ในบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด จำนวน 310 บาท พร้อมกับให้แจ้งชื่อ-นามสกุล และสถานะแอปพลิเคชันของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ผ่านบัญชีไลน์ชื่อ “งานลงทะเบียน” ตามลิงก์ที่ส่งเข้ามาในกลุ่มดังกล่าว เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อทำตามขั้นตอนดังกล่าวแล้ว คนร้ายจะส่งลิงก์ให้ผู้เสียหายกดเพื่อยืนยันทำการโอนเงินผ่านบริษัทที่ให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ อ้างว่าเพื่อเป็นการตรวจสอบบัญชี โดยจะแจ้งผลให้ผู้เสียหายทราบภายในเวลา 2 ชั่วโมง ต่อมาคนร้ายจะแจ้งผู้เสียหายว่าธุรกรรมดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์ จะส่งลิงก์ให้ผู้เสียหายกดเพื่อยืนยันทำการโอนเงินอีกครั้ง จำนวน 1,310 บาท ผู้เสียหายทราบว่าถูกหลอกลวงจึงมาแจ้งความให้ดำเนินคดีกับคนร้ายดังกล่าว 

ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 1 – 31 ส.ค.66 มีประชาชนถูกหลอกลวงให้กู้เงินออนไลน์กว่า 1,578 เรื่อง หรือคิดเป็น 8.97% สูงเป็นลำดับที่ 3 ของจำนวนเรื่องการรับแจ้งความออนไลน์ และมีความเสียหายรวมกว่า 70.6 ล้านบาท บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงประชาชนให้กู้เงินผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งถือว่าเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันมิจฉาชีพจะฉวยโอกาสปลอมบัญชีสื่อสังคมออนไลน์แอบอ้างเป็นบุคคลต่างๆ เพื่อหลอกลวงให้เหยื่อหลงเชื่อ แล้วก่อเหตุตามแผนประทุษกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในกลุ่ม Line Open Chat ซึ่งผู้ใช้หรือสมาชิกจะสามารถตั้งชื่อหรือใช้ภาพโปรไฟล์ใดก็ได้ มิจฉาชีพมักจะแอบอ้างเป็นผู้ที่ทำหน้าที่แอดมินของกลุ่ม ที่ผ่านมานอกจากการหลอกลวงในเรื่องเงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แล้ว ยังคงพบว่ามิจฉาชีพมักส่งข้อความเข้าไปในกลุ่มแจ้งเตือนว่าจะลบกลุ่มเดิม ให้สมาชิกย้ายหรือติดตามไปยังกลุ่มใหม่ผ่านลิงก์ที่แนบมาให้ เมื่อเข้าไปในกลุ่มของมิจฉาชีพแล้วจะมีบัญชีอวตารหลายบัญชีทำหน้าที่พูดคุยหลอกลวงผู้เสียหายที่เข้ากลุ่มมา ในลักษณะว่าทำงานเสริมออนไลน์แล้วได้รับเงินจริง อย่างไรก็ตามการหลอกลวงให้กู้ยืมเงิน มิจฉาชีพมักแอบอ้างเป็นผู้ให้บริการเงินกู้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย หลอกลวงเหยื่อผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ผ่านข้อความสั้น (SMS) และผ่านการโทรศัพท์ไปยังประชาชน โฆษณาชวนเชื่อในลักษณะต่างๆ เพราะฉะนั้นประชาชนต้องพึงระวังการกู้เงินในลักษณะดังกล่าว ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้ให้บริการได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องหรือไม่ หากจำเป็นต้องกู้เงินควรเลือกกู้เงินจากสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือ และศึกษารายละเอียดของผู้ให้กู้ให้ดี รวมถึงมีสัญญาการกู้ที่ชัดเจนและเป็นธรรม เพื่อป้องกันการถูกเอาเปรียบ หากพบเห็นความผิดปกติ หรือขอเสนอที่ดีเกินไปควรหลีกเลี่ยง อย่าหลงเชื่อว่าตัวเองนั้นโชคดี

จึงขอฝากประชาสัมพันธ์แนวทางป้องกันการถูกหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว ดังนี้

1.หากผู้ให้บริการเงินกู้รายใด แจ้งให้ผู้กู้โอนเงินก่อน ไม่ว่าจะเป็นค่าใด หรือเพื่อสิ่งใดก็ตาม ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ
2.ระวังบัญชี Line Open Chat แอดมินปลอม บัญชีแอดมินจริงจะมีไอคอนวงกลมมงกุฎขาวพื้นสีน้ำเงิน หรือมงกุฎน้ำเงินพื้นขาว อยู่ด้านล่างขวาของรูปโปรไฟล์ 
3.บัญชีแอดมินจริงจะอยู่เป็นชื่อลำดับแรกๆ ต่อจากชื่อบัญชีของเราเสมอ 
4.ระวังบัญชีไลน์ทางการปลอม ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีสัญลักษณ์ยืนยันตัวตนโล่สีเขียว หรือโล่สีน้ำเงิน หรือไม่ 

5.ไม่ควรกู้เงินผ่านแอปพลิเคชัน ที่ถูกส่งลิงก์แนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ
6.ไม่ควรหลงเชื่อเพียงเพราะมีการสร้างความน่าเชื่อ เช่น สอบถามข้อมูลส่วนตัว ให้ทำสัญญาเงินกู้ และขอเอกสารต่างๆ เช่น สำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน สมุดบัญชีเงินฝาก คล้ายกับการขอกู้ที่ธนาคารจริง
7.ช่วยกันแจ้งเตือนผู้อื่น และกดรายงานบัญชีสแปมที่น่าสงสัย โดยการกดรายงานที่รูปโปรไฟล์ของสมาชิกนั้นๆ แล้วกดปุ่ม รายงานปัญหา 

‘อย.’ เตือน!! พบ ‘ขนมโรลออน’ ลักลอบนำเข้า ขายใกล้รร.-โลกออนไลน์ ชี้ ‘ไม่มีฉลากภาษาไทย-ส่วนประกอบ-เลขอย.’ อย่าซื้อ เสี่ยงมีสารอันตราย

(23 ก.ย.66) เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ขณะนี้พบขนมบรรจุในขวดมีหัวเป็นลูกกลิ้งคล้ายโรลออนซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ลักลอบนำเข้า วางจำหน่ายใกล้โรงเรียน หรือจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์

โดยมีจุดสังเกตคือ ไม่มีฉลากภาษาไทยและ ไม่มีเลข อย. ไม่ทราบสูตรส่วนประกอบหรือส่วนผสม ไม่มีผู้นำเข้า จึงขอเตือนว่าไม่ควรซื้อมารับประทาน เสี่ยงได้รับสารที่อาจเป็นอันตราย หรือใช้วัตถุกันเสีย สี วัตถุแต่งกลิ่นที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือเกินปริมาณที่กฎหมายกำหนด หรือ มีสารปนเปื้อนจากการผลิต และภาชนะบรรจุที่ไม่ได้มาตรฐาน

เภสัชกรเลิศชาย ย้ำว่า ขนมที่ได้รับอนุญาต ต้องมีฉลากภาษาไทย แสดงเลข อย. ส่วนประกอบหรือส่วนผสม ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า วันเดือนปีที่ผลิต และควรบริโภคก่อน หรือหมดอายุ น้ำหนักหรือปริมาตรสุทธิ และข้อมูลการแต่งกลิ่น และวัตถุเจือปนอาหาร เช่น สี วัตถุกันเสีย และสารให้ความหวานแทนน้ำตาล

สำหรับขนมรูปแบบโรลออนนี้ วางขายโดยไม่ขออนุญาตนำเข้า ทั้งผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่ายจะมีโทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท และเมื่อตรวจวิเคราะห์แล้วพบใช้วัตถุเจือปนอาหารไม่เป็นไปตามกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท และกรณีพบว่าภาชนะที่ใช้บรรจุอาหารไม่มีมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้หากผู้บริโภคสงสัยว่ามีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมาย หรือมีข้อสงสัยเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถสอบถามหรือแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือ E-mail: [email protected] หรือตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004

‘นพ.สมรส’ แชร์อุทาหรณ์ฝังเข็มผิดวิธี ‘จนปอดรั่ว’ หมอแนะ!! เกิดจาก ประมาท-กายวิภาคไม่แม่น

เมื่อวานนี้ (26 ต.ค.66) นพ.สมรส พงศ์ละไม แพทย์ประจำศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ได้โพสต์เฟซบุ๊ก “Somros MD Phonglamai ” เตือนเกี่ยวกับการฝังเข็ม ระบุว่า...

คนไข้ปวดคอบ่าไหล่ ไปฝังเข็ม วันต่อมาหายใจแล้วเจ็บหน้าอกทุกครั้ง เจ็บแปล๊บๆ x-ray เจอปอดรั่ว pneumothorax นิวโมธอแรกซ์ ! ถ้าขึ้นเครื่องบินอาจตายได้ 

1. การฝังเข็มหรือการลงเข็ม เป็นการรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ ออฟฟิศซินโดรมที่ดี ประหยัด มีประสิทธิภาพถ้าใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่ประมาท เข้าใจการดำเนินโรคอย่างถูกต้อง

2. แต่ช่วงหลังๆเจอปัญหาปอดรั่วบ่อยขึ้นมากๆ คนไข้มักมีอาการไอหลังฝังเข็ม
สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดคือ 'ประมาท' 'กายวิภาคไม่แม่น' 
อย่าฝังลึกเกินจำเป็น มากกว่า 3.34 cm to 5.35 cm.  +/- ผอมอ้วน
อย่าปักจำนวนเข็มมากเกินจำเป็น
อย่าให้คนไข้ขยับตัวโดยไม่จำเป็น ให้คนไข้หายใจด้วยท้อง เบาๆ ฝังตอนหายใจออกให้ปอดแฟ่บ
ทิศทางเข้ากล้ามเนื้อ ไม่ใช่เข้าปอด พระเจ้าอยู่ในรายละเอียด

3. สำหรับแพทย์จีน อย่าจำแค่ว่าจุดนี้ฝังได้กี่ชุ่น กี่ ซม. เพราะเคสนี้กล้ามเนื้อก็หนา ไม่ได้ผอม ไม่มีโรคปอดใดๆ เป็นเรื่องของความเชี่ยวชาญชำนาญล้วนๆ มีอาจารย์หลายท่านสอนน้องๆว่าปักลึกได้เลย ไม่ต้องกลัว อันนี้อันตรายอย่างยิ่ง !

4. สำหรับคุณหมอแผนปัจจุบัน ตอนฉีดยาชาเข้า Trigger point ก็ยิ่งต้องระวังนะครับ ปลายเข็ม syringe ใหญ่กว่าเข็มฝังเข็มมาก ปอดรั่วจะใหญ่กว่านี้เยอะ

5. สำหรับคนที่ไม่ใช่แพทย์แผนปัจจุบันหรือแพทย์จีน “ไม่ควรฝังเข็มในสิ่งที่เราไม่เชี่ยวชาญ” นะครับ เห็นน้องๆวิชาชีพอื่นๆแอบทำกันหลายคลินิก ถ้าทำแล้วคนไข้ปอดรั่วหนัก พิการ เสียชีวิตขึ้นมา จะโดนทั้งอาญา แพ่ง วิชาชีพ และวินัยได้นะครับ

6. ฝากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์จีนเข้มข้นกับการสอนน้องๆกันหน่อยนะครับ ให้แม่นอนาโตมี่หน่อย รู้ทิศทางและตำแหน่งปอดดีๆ อย่าย่ามใจประมาทเกินไป ถ้าประมาทก็พิการหรือตายได้

7. ทุกครั้งที่เราจะฝังเข็ม/ลงเข็ม ต้อง Informed Consent เสมอว่าจะมีโอกาสเกิดปอดรั่วได้, และติดตามอาการคนไข้สม่ำเสมอ, ถ้ามีปัญหารีบ take action ดูแลคนไข้เต็มที่

8. อย่ามั่นใจในตัวเองเกินไป ไม่มีอะไร 100% ใน medicine ต่อให้ฝังมา 10 ปีก็เกิดได้ถ้าทุกอย่างซวยจริงๆ

9. ถ้าปอดรั่วขนาดเล็ก 1-2 เซนติเมตร มักปิดเองใน 1-2 สัปดาห์ (ดังนั้นจำนวนผู้ป่วยที่แท้จริงจึงมากกว่าที่รายงานจากโรงพยาบาล เพราะคนไข้หายได้เอง) ติดตามอาการเหนื่อย หายใจเจ็บ ออกซิเจนปลายนิ้ว ตลอด  อาจพิจารณา x-ray ซ้ำ 24-48 ชั่วโมง
ถ้าขนาดใหญ่ > 2 เซนติเมตร อาจต้องใส่ท่อระบาย ขึ้นกับหลายปัจจัยและคุณหมอเจ้าของไข้

10. ถ้าสมมติคนไข้รายนี้ ขึ้นเครื่องบินก่อนที่ปอดรั่วหาย จะเกิดอะไรขึ้น ? 
ขณะที่ขึ้นบินแรงดันในเครื่องจะต่ำ ทำให้ปอดรั่วลามมากขึ้นได้ ในกรณีที่แย่ที่สุดคือเสียชีวิต ดังนั้นอย่าเสี่ยง งดบินไปเลยอย่างน้อย 2 สัปดาห์หรือยืนยันแน่ชัดว่ารูรั่วปิดสนิทแล้ว 
การฝังเข็มไม่ได้น่ากลัว สิ่งที่น่ากลัวคือความประมาท 

เพราะคนที่ต้องมารักษาปอดรั่ว มักไม่ใช่คนทำให้ปอดรั่วนะครับ
นพ.สมรส พงศ์ละไม
แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด แพทย์ฝังเข็ม 
#DrSomros #Acupuncture #Pneumothorax #ฝังเข็ม #ปอดรั่ว
ถ้าอาจารย์ท่านใดอยากแชร์ประสบการณ์ หรือมี update guideline ก็ยินดีเลยนะครับ 

คนไข้เป็นหมอด้วยเคสนี้
ขอบคุณคนไข้ที่ให้ภาพมาเป็นวิทยาทาน คงจะกลัวฝังเข็มไปอีกนาน ขอบคุณอาจารย์เอกที่ช่วยคอนเฟิร์มฟิล์มครับ 

‘ยูนิเซฟ’ จับมือ ‘พม.’ เปิดตัวแคมเปญรณรงค์ ‘สงสัยไว้ก่อน’ เตือน ‘เด็ก-เยาวชน’ รู้ทันภัยการล่วงละเมิดทางเพศผ่านออนไลน์

(8 พ.ย.66) องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และเครือข่ายเสริมสร้างอินเทอร์เน็ตปลอดภัย ประเทศไทย เปิดตัวแคมเปญรณรงค์ ‘#สงสัยไว้ก่อน’ เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนรู้จัก ‘คิดทบทวนให้ถี่ถ้วน’ ก่อนจะโพสต์ภาพ วิดีโอ หรือข้อมูลส่วนตัวบนพื้นที่ออนไลน์ เพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากการล่วงละเมิดและแสวงประโยชน์ทางเพศทางออนไลน์ หลังจากที่รายงานการศึกษาล่าสุดชี้ให้เห็นว่า เด็กในประเทศไทยจำนวนมากกำลังตกเป็นผู้เสียหายจากการล่วงละเมิดและการแสวงประโยชน์ทางเพศทางออนไลน์

จะดีกว่าไหม? หากเราตั้งข้อสงสัยในบทสนทนาแปลก ๆ บนโลกออนไลน์ และคงจะดีกว่าถ้าเราสามารถประเมินความเสี่ยงและฉุกคิดทันก่อนที่จะสายเกินไป เพียงแค่เรา #สงสัยไว้ก่อน เพื่อไม่ให้ตกหลุมพรางของผู้ไม่หวังดีที่หวังแสวงประโยชน์ และ #สงสัยให้แจ้ง เพื่อขอความช่วยเหลือ หรือแจ้งเบาะแสผ่านช่องทางต่าง ๆ และขอให้เชื่อมั่นว่า หากเราเจอกับสถานการณ์เช่นนี้ อย่าเก็บไว้คนเดียว ทุกปัญหามีทางออก มีความช่วยเหลือรอเราอยู่เสมอ

นายวราวุธ กล่าวว่า จากรายงานหยุดยั้งอันตรายในประเทศไทย (Disrupting Harm in Thailand Report) ซึ่งจัดทำโดยยูนิเซฟ ร่วมกับเอ็คแพท และอินเตอร์โพล พบว่า ในปี 2564 มีเด็กไทยอายุ 12 - 17 ปี กว่า 400,000 คน หรือเกือบ 1 ใน 10 คน เคยตกเป็นผู้เสียหายจากการล่วงละเมิดและแสวงประโยชน์ทางเพศผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้มักเกิดขึ้นผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ และรูปแบบการล่วงละเมิดที่มักเกิดขึ้นบ่อย ๆ คือ การที่ภาพหรือคลิปวิดีโอที่มีเนื้อหาทางเพศของเด็กถูกนำไปเผยแพร่ส่งต่อโดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอม และมีการแบล็กเมล หรือข่มขู่ให้เด็กมีสัมพันธ์ทางเพศ

นายวราวุธ กล่าวว่า “แคมเปญนี้สะท้อนความจำเป็นเร่งด่วนที่เราทุกคนต้องร่วมกันแก้ปัญหาการขู่กรรโชกทางเพศเด็กทางออนไลน์ ซึ่งเราทุกคนมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองเด็กบนโลกออนไลน์และทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน กระทรวง พม. มุ่งส่งเสริมพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยแก่เด็กและเยาวชน ขณะเดียวกันเรายังมีการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการให้บริการด้านการคุ้มครองเด็ก รวมถึงการตอบสนองต่อรายงานการล่วงละเมิดและละเลยเด็ก เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อมีเหตุจำเป็นเกิดขึ้น เด็กและเยาวชนจะสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพ ได้อย่างทันท่วงที” นายวราวุธ กล่าว

ตำรวจไซเบอร์รวบขบวนการหลอกทำภารกิจ เหยื่ออยากหารายได้ กลายเป็นสูญเงินเฉียดแสน

สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 ผู้เสียหายต้องการหารายได้พิเศษ จึงได้ค้นหาบนอินเตอร์เน็ต พบเว็บไซต์ชื่อ “หางานพาร์ทไทม์” จึงได้สนใจและสมัครทำงาน ต่อมาเว็บดังกล่าวได้ให้ผู้เสียหาย แอดไลน์ชื่อ “ฝ่ายบริการพลอย” แล้วให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคล จากนั้นไลน์ดังกล่าวได้ให้ผู้เสียหายเริ่มทำภารกิจกับบริษัท Asset shop online โดยอ้างว่ามีค่าตอบแทนให้ประมาณวันละ 500 - 3000 บาท โดยการกดจองออเดอร์สินค้าในแพลตฟอร์มชื่อดังต่างๆ เช่น Shopee Lazada และอีกหลายแพลตฟอร์ม

ผู้เสียหายหลงเชื่อ จึงได้ทดลองทำภารกิจโดยเริ่มต้นจากการโอนเงิน 50 บาท เข้าบัญชีธนาคารคนร้าย ต่อมาปรากฏเป็นภาพบัญชีกระเป๋าตังค์ของผู้เสียหายในเว็บไซต์ของ Asset shop online พบยอดเงินในบัญชี 50 บาท ผู้เสียหายจึงได้กดเข้าไปที่ร้านค้า Shopee ผ่านทางกระเป๋าตังค์และจากนั้นพบว่ามีผลตอบแทนในกระเป๋าตังค์ของผู้เสียหายเพิ่มมาจำนวน 15 บาท แล้วมีการเงินตอบแทนมายังบัญชีธนาคารของผู้เสียหาย จำนวน 65 บาท ผู้เสียหายจึงมั่นใจว่าเป็นการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนจริง จึงโอนเงินเพื่อลงทุนเพิ่มอีกเรื่อยๆ ตั้งแต่ 300 - 500 บาท โดยยังคงได้รับผลตอบแทนกลับมาจริง

ต่อมาผู้เสียหายจึงโอนเงินเพื่อลงทุนเพิ่มอีกเรื่อยๆ อีกหลายครั้ง ตั้งแต่ 800 - 3,500 บาท เมื่อโอนเสร็จผู้เสียหายต้องการถอนเงินแต่ทำไม่ได้ อ้างว่าภารกิจยังไม่สำเร็จ ต้องโอนเงินเพิ่มอีก ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไปอีก 12,000 บาท เมื่อทำภารกิจเสร็จ มิจฉาชีพแจ้งว่าผู้เสียหายทำภารกิจผิดพลาด ต้องติดต่อฝ่ายบริการลูกค้าเพื่อทำการแก้ไขแผนลงทุน จึงให้โอนเงินเพิ่มอีก 32,520 บาท เมื่อโอนเสร็จยังถอนไม่ได้ ต้องโอนเพิ่มอีก 32,520 บาท ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป แต่คนร้ายแจ้งว่าดำเนินการไม่สำเร็จ ให้โอนเงินเพิ่มอีกจำนวน 99,907 บาท แต่ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกหลอกแน่นอน จึงได้แจ้งความกับตำรวจไซเบอร์เพื่อดำเนินคดี โดยผู้เสียหายโดนหลอกโอนเงินไปทั้งสิ้น จำนวน 82,190 บาท 

ต่อมา พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. จึงสั่งการให้ บก.สอท.3 โดย กก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สอท.3  ได้ทำการสืบสวนจนทราบว่า นายบุลากร อายุ 23 ปีชาวบางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็น 1 ในกลุ่มขบวนการดังกล่าวที่ถูกออกหมายจับ จึงทำการวางแผนเข้าจับกุม จนสามารถเข้าจับกุมตัวได้ขณะเดินอยู่ริมถนนหน้าบ้านหลังหนึ่ง ในพื้นที่ ม.8 ต.ช้างแรก อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ จึงแจ้งข้อหา“ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น, ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” จึงนำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท.,พล.ต.ต.สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.๓,พ.ต.อ.พงศ์นรินทร์ เหล่าเขตกิจ ผกก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.๓ สั่งการให้ พ.ต.ท.ภาคภูมิ บุญเจริญพานิช รอง ผกก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สอท.3, พ.ต.ท.เลอศักดิ์ พิเชษฐไพบูลย์ สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ พ.ต.ต.รุ่งเรือง มีสติ สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ, พ.ต.ต.ธวัช ทุเครือ สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ, ร.ต.อ.อาณัติ เข็มทอง รอง สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ, บก.สอท.3 พร้อมชุดสืบสวนร่วมกันจับกุม


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top