Saturday, 4 May 2024
เตือนภัย

ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย มิจฉาชีพใช้เว็บไซต์กระทรวงพาณิชย์ปลอม ดึงข้อมูลส่วนบุคคลและทำธุรกรรมทางการเงิน

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. ขอประชาสัมพันธ์เตือนภัย มิจฉาชีพหลอกลวงประชาชนให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอม ผ่านเว็บไซต์กระทรวงพาณิชย์ที่ปลอมขึ้นมาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ โอนเงินออกจากบัญชีสร้างความเสียหาย ดังนี้ 


กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) โดยกองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือบก.ตอท. ได้ตรวจสอบพบเว็บไซต์ปลอมเว็บไซต์หนึ่ง คือ http://moc-no-th.com ซึ่งมิจฉาชีพได้ฉวยโอกาสสร้างเว็บไซต์ดังกล่าวให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับเว็บไซต์จริงของกระทรวงพาณิชย์ https://www.moc.go.th โดยภายในเว็บไซต์ปลอมดังกล่าวมีการใช้สัญลักษณ์ของหน่วยงาน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และที่สำคัญหน้าเว็บไซต์มีปุ่มให้คลิกเพื่อทำการติดตั้งแอปพลิเคชันปลอม เมื่อประชาชนหลงเชื่อคลิกปุ่มจะเป็นการติดตั้งไฟล์อันตราย นามสกุล .APK ลงในโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยก่อนการติดตั้งจะมีการขอสิทธิ์เพื่อติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก ขอสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลที่สำคัญ และขอสิทธิ์ควบคุมโทรศัพท์มือถือ จากนั้นแอปพลิเคชันปลอมจะให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ตั้งรหัส PIN 6 หลัก จำนวนหลายครั้ง เพื่อหวังให้เหยื่อกรอกเลขชุดเดียวกับรหัสในการทำธุรกรรมทางเงินของแอปพลิเคชันธนาคารต่างๆ ในโทรศัพท์มือถือ กระทั่งเมื่อมิจฉาชีพได้สิทธิ์ควบคุมอุปกรณ์แล้ว จะทำการล็อกหน้าจอโทรศัพท์มือถือของเหยื่อ ทำให้เสมือนว่าโทรศัพท์มือถือค้างไม่สามารถใช้งานได้ กระทั่งมิจฉาชีพนำรหัส PIN 6 หลัก ที่ผู้เสียหายตั้ง หรือกรอกไว้ก่อนหน้านี้ไปทำการยืนยันการโอนเงินออกจากบัญชีของผู้เสียหาย 


ทั้งนี้จากการตรวจสอบเว็บไซต์ปลอมดังกล่าวมีการจดทะเบียนอยู่นอกราชอาณาจักร โดย บช.สอท. ได้ทำการแจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เพื่อทำการปิดกั้นเว็บไซต์ดังกล่าว และได้ทำการประสานกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนไปยังประชาชนต่อไปแล้ว  


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการใช้ หรือแอบอ้างหน่วยงานราชการต่างๆ มาหลอกลวงประชาชน สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง 
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ซึ่งรับผิดชอบในด้านงานป้องกันปราบปราม ได้กำชับสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง รวมถึงวางมาตรการป้องกันสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพ 


ที่ผ่านมา บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ  
โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อประชาชนเริ่มรับทราบ หรือรู้เท่าทันกลโกงมิจฉาชีพในเรื่องใดๆ แล้ว มักจะฉวยโอกาสเปลี่ยนแปลงหน่วยงาน ปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่องให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในช่วงนั้นๆ แต่ยังคงใช้แผนประทุษกรรมในรูปแบบเดิม คือ การหลอกลวงให้เหยื่อติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมเพื่อเอารหัสการทำธุรกรรมทางการเงินของเหยื่อ เพราะฉะนั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ หรือบริการต่างๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ ควรตรวจสอบให้ดีเสียก่อน ไม่หลงเชื่อเพียงเพราะการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงาน แอบอ้างสัญลักษณ์ของหน่วยงานนั้นๆ หรือมีชื่อเว็บไซต์ที่คิดว่าน่าจะเป็นเว็บไซต์จริง และพึงระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงิน ซึ่งมิจฉาชีพจะฉวยโอกาสไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ  
 

เตือนภัย มิจฉาชีพเลียนแบบเพจตำรวจไซเบอร์ หลอกลวงแอดไลน์ อ้างช่วยเหลือคดี แต่กลับเอาข้อมูลส่วนตัวเหยื่อไปก่อเหตุสร้างความเสียหาย

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. ขอประชาสัมพันธ์เตือนภัย มิจฉาชีพปลอม หรือลอกเลียนแบบเพจเฟซบุ๊กของตำรวจไซเบอร์ แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หลอกลวงประชาชน อ้างสามารถช่วยเหลือติดตามคดี แต่กลับนำข้อมูลส่วนบุคคลไปก่อเหตุสร้างความเสียหาย แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ดังนี้

ได้รับรายงานจาก กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ตอท.) ว่าได้ตรวจสอบพบเพจเฟซบุ๊กปลอมชื่อ 'สืบสวน สอบสวน การป้องกัน และปราบปรามการกระทำผิดทางเทคโนโลยี' ได้นำตราสัญลักษณ์ของของหน่วยงานมาใช้เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการหลอกลวงประชาชน ภายในเพจดังกล่าวพบมีการคัดลอกรูปภาพ ข้อความ การเเจ้งเตือนภัยออนไลน์ต่างๆ และภารกิจของตำรวจไซเบอร์ของเพจจริงมาใช้ ทำให้ประชาชนที่พบเห็นเพจดังกล่าวเชื่อว่าเป็นเพจจริง เมื่อมีประชาชนติดต่อเข้าไปทาง Facebook Messenger มิจฉาชีพจะส่งไอดีไลน์ พร้อมลิงก์เพิ่มเพื่อนซึ่งใช้บัญชีไลน์ชื่อว่า 'ศูนย์ช่วยเหลือ' โทร 1567 (แท้จริงแล้วเป็นเบอร์ของศูนย์ดำรงธรรม) แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ สามารถช่วยเหลือและติดตามคดีที่ประชาชนตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้ 

จากนั้นจะขอข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ เช่น ชื่อนามสกุล วันเดือนปีเกิด หมายเลขบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ อีเมล และข้อมูลทางการเงินของเหยื่อ เช่น หมายเลขบัญชีธนาคาร เลขบัตรเครดิต รวมไปถึงหลักฐานทางคดี เช่น หลักฐานการพูดคุยกับคนร้าย หลักฐานการโอนเงิน เป็นต้น ต่อมามิจฉาชีพจะนำข้อมูลที่ได้ไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ไม่ว่าจะเป็นการนำข้อมูลไปแฮ็กบัญชีสื่อสังคมออนไลน์แล้วไปหลอกยืมเงินผู้อื่น หรือใช้รหัสบัตรเครดิตรูดซื้อสินค้า หรือโอนเงินจากบัญชีธนาคาร หรือนำข้อมูลไปขายให้กับแก๊งมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์ หรือนำไปแอบอ้างทำเรื่องที่ผิดกฎหมายต่างๆ

ทั้งนี้จากการตรวจสอบเพจปลอมดังกล่าว ได้สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 8 มี.ค.66 ขณะนี้มีผู้หลงเชื่อกดติดตามกว่า 7,000 ราย นอกจากนี้มิจฉาชีพยังได้ใช้เทคนิคในการเข้าถึงบุคคลเป้าหมายโดยการโฆษณาอีกด้วย อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.สอท. ได้เร่งทำการสืบสวนเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไปโดยเร็วแล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการใช้ หรือแอบอ้างหน่วยงานราชการต่างๆ มาหลอกลวงประชาชน สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ซึ่งรับผิดชอบในด้านงานป้องกันปราบปราม ได้กำชับสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง รวมถึงวางมาตรการป้องกันสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพ

ที่ผ่านมา บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันการใช้งาน หรือเข้าถึงบริการต่างๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ ควรตรวจสอบให้ดีเสียก่อน ระมัดระวังการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลทางคดี ซึ่งมิจฉาชีพอาจใช้โอกาสหลอกเอาข้อมูลไปเเสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างได้ รวมถึงไม่หลงเชื่อเพียงเพราะมีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงาน แอบอ้างสัญลักษณ์ของหน่วยงานนั้นๆ หรือมีการยิงโฆษณา หรือมีชื่อเพจ หรือเว็บไซต์ที่คิดว่าน่าจะเป็นของหน่วยงานนั้นจริง

เตือนภัย มิจฉาชีพสร้างเพจกรมการขนส่งทางบกปลอม หลอกเหยื่อโอนเงินค่าต่อและทำใบอนุญาตขับขี่

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. ขอประชาสัมพันธ์เตือนภัย มิจฉาชีพสร้างเพจเฟซบุ๊ก และไลน์ของกรมการขนส่งทางบกปลอม แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หลอกลวงให้ประชาชนโอนเงินค่าทำใบอนุญาตขับขี่ และต่ออายุใบอนุญาตขับขี่ยานพาหนะ ดังนี้

ที่ผ่านมาจากการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลจากระบบการรับแจ้งความออนไลน์ พบว่ามีผู้เสียหายจำนวนหลายรายถูกมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบก หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อเป็นค่าทำใบอนุญาตขับขี่ใหม่ และค่าต่ออายุใบอนุญาตขับขี่ที่สิ้นสุดการอนุญาตแล้ว ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก และไลน์ที่มิจฉาชีพสร้างปลอมขึ้นมาเพื่อให้คล้ายคลึงกับเพจเฟซบุ๊ก และไลน์ของกรมการขนส่งทางบกจริง โดยเพจปลอมดังกล่าวใช้บัญชีชื่อว่า “กรมการขนส่ง” ภายในเพจได้ใช้รูปภาพ และตราสัญลักษณ์ของกรมการขนส่งทางบก นำรูปภาพ และคัดลอกเนื้อหาจากเพจกรมการขนส่งทางบกจริงมาใช้หลอกลวงประชาชน โดยมีการประกาศเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปแอดไลน์ปลอมติดต่อกับเจ้าหน้าที่โดยตรง อ้างว่าสามารถต่ออายุใบอนุญาตขับขี่ได้ทันที ไม่ต้องรอคิวนาน นอกจากนี้ยังตั้งรูปภาพโปรไฟล์เป็นรูปของผู้บริหารกรมการขนส่งทางบก เพื่อสร้างความน่าเชื่อถืออีกด้วย กระทั่งเมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อติดต่อไปทางไลน์กรมการขนส่งปลอมแล้ว มิจฉาชีพจะให้ส่งข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญ เช่น ภาพถ่ายบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ รูปถ่าย และหลอกให้ชำระค่าบริการ ทำให้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก  

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการใช้ หรือแอบอ้างหน่วยงานราชการต่างๆ มาหลอกลวงประชาชน สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ซึ่งรับผิดชอบในด้านงานป้องกันปราบปราม ได้กำชับสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง รวมถึงวางมาตรการป้องกันสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพ

ที่ผ่านมา บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ

ตำรวจไซเบอร์ เตือนภัย SMS แอบอ้างการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าดูแลปัญหาภัยแล้ง

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. ขอประชาสัมพันธ์เตือนภัยมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ส่งข้อความสั้น (SMS) พร้อมโทรศัพท์ไปยังประชาชนแจ้งว่าจะคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า แล้วหลอกลวงให้แอดไลน์ติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมโทรศัพท์มือถือโอนเงินออกจากบัญชี ดังนี้

ได้รับรายงานจากกองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ตอท.) ว่า พบผู้เสียหายหลายรายได้รับข้อความสั้น (SMS) จากมิจฉาชีพซึ่งแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แจ้งว่า ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับเงินประกันการใช้ไฟฟ้าคืน เพื่อช่วยเหลือประชาชนตามมาตรการเร่งด่วน เมื่อผู้เสียหายกดลิงก์ที่แนบมากับข้อความดังกล่าว จะเป็นการเพิ่มเพื่อนทางแอปพลิเคชันไลน์ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคที่มิจฉาชีพปลอมขึ้นมา จากนั้นมิจฉาชีพจะสอบถามรายละเอียดต่างๆ เริ่มจากสอบถามว่าได้รับการแจ้งเตือนมาจากช่องทางใด แจ้งผู้เสียหายว่าจะได้รับเงินประกันคืนในอัตราตั้งแต่ 2,000 - 6,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของมิเตอร์ที่ใช้ สอบถามว่าโทรศัพท์ที่ใช้งานใช้ระบบปฏิบัติการ Android หรือ IOS พร้อมทั้งขอหมายเลขโทรศัพท์เพื่อติดต่อกลับ เมื่อตอบคำถามเสร็จสิ้น จะมีหมายเลขโทรศัพท์ที่ไม่คุ้นเคยโทรมายังผู้เสียหาย 

อ้างเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แล้วทำการส่งลิงก์ทางไลน์ให้ติดตั้งแอปพลิเคชันของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคปลอม อ้างว่าเป็นแอปพลิเคชันเวอร์ชันใหม่ล่าสุด สามารถตรวจสอบปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ได้ในแต่ละวัน โดยมีการขอสิทธิ์ติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก (ไฟล์อาจเป็นอันตราย หรือไฟล์นามสกุล .apk) มีการหลอกให้ตั้งรหัสผ่าน 6 หลัก จำนวนหลายๆ ครั้ง เพื่อหวังให้ผู้เสียหายกรอกรหัสชุดเดียวกับรหัสเข้าถึง หรือทำธุรกรรมการเงินของแอปพลิเคชันธนาคารต่างๆ ในโทรศัพท์มือถือของผู้เสียหาย รวมไปถึงขอสิทธิ์ในการควบคุมอุปกรณ์ หรือโทรศัพท์มือถือของเหยื่อ เช่น ดูและควบคุมหน้าจอ ดูและดำเนินการ เป็นต้น โดยในขั้นตอนนี้มิจฉาชีพจะแสร้งหวังดีสอนผู้เสียหายว่าทำอย่างไร โดยการโทรศัพท์มาแจ้งวิธีการด้วยตนเอง กระทั่งเมื่อมิจฉาชีพได้สิทธิ์ควบคุมอุปกรณ์หรือโทรศัพท์มือถือแล้ว จะทำการล็อกหน้าจอโทรศัพท์ ทำให้เสมือนโทรศัพท์ค้าง ซึ่งมักจะแสดงข้อความว่า อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบ ห้ามใช้งานโทรศัพท์มือถือ ทำให้มิจฉาชีพสามารถนำรหัสที่ผู้เสียหายเคยกรอกเอาไว้ก่อนหน้านี้ทำการโอนเงินออกจากบัญชีของผู้เสียหาย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแอบอ้างเป็นหน่วยงานต่างๆ หลอกลวงให้ประชาชนติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมเอาทรัพย์สินของประชาชน สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ซึ่งรับผิดชอบงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ได้กำชับสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง รวมถึงวางมาตรการป้องกันสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชน

ที่ผ่านมา บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบมาโดยตลอด มุ่งเน้นการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

โฆษก บช.สอท. กล่าวอีกว่า การหลอกลวงในรูปแบบดังกล่าวยังคงเป็นการหลอกลวงในรูปแบบเดิมๆ เพียงแต่มิจฉาชีพจะเปลี่ยนชื่อหน่วยงาน และเปลี่ยนเนื้อหาไปตามวันเวลา และสถานการณ์ในช่วงนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งว่าได้รับสิทธิ หรือได้รับเงินคืน ให้อัปเดตข้อมูล โดยในขั้นตอนสุดท้ายจะหลอกลวงให้เหยื่อกดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอมของหน่วยงานที่แอบอ้าง ที่ผ่านมาก็ปรากฏในหลาย ๆ หน่วยงาน มิจฉาชีพจะอาศัยความไม่รู้ และความโลภ ของประชาชนเป็นเครื่องมือ ใช้ความสมัครใจของเหยื่อให้ติดตั้งแอปพลิเคชันปลอม มีการใช้สัญลักษณ์ของหน่วยงาน เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันหลายหน่วยงานได้ประกาศยกเลิกการส่งข้อความสั้น (SMS) หรือส่งอีเมลไปยังประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการเงิน หรือธนาคารต่างๆ ทั้งนี้ฝากย้ำเตือนไปยังประชาชน ไม่ว่ามิจฉาชีพจะมาในรูปแบบใดๆ ก็ตาม ให้ระมัดระวังและมีสติอยู่เสมอ โดยหากพบเห็นข้อความสั้น (SMS) หรือลิงก์ ในลักษณะดังกล่าวให้แจ้งเตือนไปยังบุคคลใกล้ชิด และหน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานนั้น ๆ ให้ช่วยตรวจสอบทันที เพื่อลดการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

​ทั้งนี้ ขอฝากประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงแนวทางการป้องกัน ดังนี้
​1. ไม่กดลิงก์ที่เเนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือที่ส่งมาทางสื่อสังคมออนไลน์ ไม่กดลิงก์ติดตั้งแอปพลิเคชันต่างๆ เพราะอาจเป็นการดักรับข้อมูล หรือการฝังมัลแวร์ของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มาพร้อมกับข้อความในลักษณะการให้สิทธิพิเศษ ให้รางวัล หรือโปรโมชันต่างๆ
2. หากได้รับโทรศัพท์จากหมายเลขที่ไม่คุ้นเคย และมีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ให้ขอชื่อนามสกุล และหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกลับของเจ้าหน้าที่ โดยให้แจ้งว่าจะติดต่อกลับไปภายหลัง
3. ตรวจก่อนว่ามาจากหน่วยงานนั้น ๆ จริงหรือไม่ โดยการโทรศัพท์ไปสอบถามผ่านหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ หรือผ่านเว็บไซต์ทางการของหน่วยงานนั้น โดยตรง รวมถึงตรวจสอบว่ามีการประกาศแจ้งเตือนการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวหรือไม่

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยออนไลน์ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 นี้ มีวันหยุดยาว 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 13-17 เม.ย.2566 ซึ่งน่าจะเป็นช่วงที่คนไทยมีความสุข  ได้เดินทางไปรดน้ำขอพรจากญาติผู้ใหญ่  แต่พวกมิจฉาชีพกลับอาศัยโอกาสนี้ก่อเหตุหลอกลวงเอาเงินจากพี่น้องประชาชนคนไทย


สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง  ที่ปรึกษาพิเศษ ตร./หัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พร้อมด้วยคณะทำงาน ได้ร่วมกันนำเสนอสถิติการรับแจ้งความออนไลน์รอบสัปดาห์ ภัยที่เกิดขึ้นใหม่และภัยที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลสงกรานต์ 2566 เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้มีภูมิป้องกันภัยออนไลน์   ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2566 โดยมีรายละเอียด ดังนี้


ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (2-8 เม.ย.2566)  รวมทั้งสัปดาห์มีผู้แจ้งความ 5,269 เคส/312,510,656.69 บาท

 สถิติการรับแจ้งเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 1,224 เคส/ ความเสียหายลดลง 307,208,129.81 บาท โดยสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์มากที่สุดยังเป็นคดีเดิมๆ  5 อันดับ ได้แก่ อันดับ 1)  คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ  2,600 เคส/34,066,584.28 บาท 2) คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ 719 เคส/61,185,905.30 บาท 3) คดีหลอกลวงให้กู้เงิน 539 เคส/22,793,579.46 บาท 4) คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์   286  เคส/72,795,550.02บาท และ 5) คดีข่มขู่ทางทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) 276 เคส/47,917,957.49 บาท

ภัยร้ายสาวชี้เหงา ..สืบนครบาล รวบ “เซเลปเก๊” นัดเดทก่อนขโมยรถยนต์ เหยื่อโผล่ 8 ราย มีลูกชายดาราตลกชื่อดังถูกหลอก

เตือนภัยสาวใจเปลี่ยว ระวังคนร้ายสุดแสบ แฝงตัวในแอ็พพลิเคชั่นหาคู่ ควรหลีกเลี่ยงหากไม่อยากเสียทั้งตัวและทรัพย์สิน ล่าสุด พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. ส่งมือดีแปลงกายเป็นสาวสวยและรวยมากจนนำมาสู่การจับกุมตัวคนร้ายโดยจะแฝงตัวอยู่ในแอ็พพลิเคชั่น “หาคู่” เช่น Tinder , Omi เป็นต้น แล้วสร้างโปรไฟล์เป็นเซเลป หนุ่มหล่อ รวย ถ่ายภาพคู่รถหรู ซึ่งแท้จริงเป็นรถคนอื่น ดึงดูดเหล่าหญิงสาวให้เกิดความสนใจ มีตัวตนหรือชื่อปลอมกว่าหลายชื่อ เช่น อุ้ม , อั้ม ,พัด , แซ็ค และ แร็ค แผนประทุษกรรมสุดแสบ  ใช้บัตรประชาชนคนอื่นเปิดโรงแรมตระเวนเลือกเหยื่อหญิงขี่เหงาที่มี “รถยนต์” ก่อนนัดเดทก่อนจะอาศัยช่วงเหยื่อเผลอขโมยรถยนต์ก่อนหายเข้ากลีบเมฆ ตรวจสอบพบผู้เสียหายไม่ต่ำกว่า 8 ราย และหนึ่งรายเป็นลูกชายดาราตลกชื่อดัง ถูกกลอกลงทุนอีกด้วย

เมื่อวันที่ 27  เมษายน  2566 พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ พล.ต.ท.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร./ผอ.ศปอส.ตร. (PCT) , พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. , พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. , พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. / หน.PCT ชุดที่ 5 , พ.ต.อ.วรพจน์ รุ่งกระจ่าง รอง ผบก.สส.บช.น. พ.ต.อ.จักราวุธ คล้ายนิล ผกก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สส.บช.น. , พ.ต.อ.ณรงฤทธิ์ ทองแพ ผกก.(สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน บก.สส.บช.น. , พ.ต.ท.มาโนชย์ ทองแก้ว , พ.ต.ต.คณิตนนท์ ถนอมศรี , พ.ต.ต.ธัญพีรสิษฐ์ จุลพิภพ , ร.ต.อ.ศิวัช ยังอุ่น , ร.ต.อ.พลวัต นาคถมยา , ร.ต.อ.วรภัทร แสงเทียนประไพ , ร.ต.อ.หญิง ธิดารัตน์ ผดุงประเสริฐ , จ.ส.ต.สรศักดิ์ ด้วงชู , จ.ส.ต.คมสันต์ สุดตานา , ส.ต.ท.จิรวัฒน์ ศรีมั่นมีชัย ร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ ศปอส.ตร. (PCT) ชุดที่ 5 , ชุดสืบสวนนครบาล (บก.สส.บช.น.) , พ.ต.ต. อัษฎาศ์ เนตรพุดซา สว.สส.สน.โคกคราม  ร.ต.อ.วิชัย เมืองมูล  รอง สว.สส.สนโคกคราม นำกำลังสืบสวนติดตามจับกุมตัว

นายภีรพัฒน์ บุญมี อายุ 26 ปี หรือ อุ้ม หรือ อั้ม หรือ พอช หรือ พัด หรือ แซ็ค หรือ แร็ค อยู่บ้านเลขที่ 28/2 ม.3 ต.ธารเกษม อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี ผู้ต้องหาตามหมายจับ จำนวน 7 หมายจับ ดังนี้
1.หมายจับศาลแขวงนครราชสีมาที่ จ.190/2563 ลงวันที่ 17 ส.ค. 34 (สภ.มะเริง) ข้อหา “ฉ้อโกงทรัพย์”
2.หมายจับศาลแขวงเชียงใหม่ที่ จ.352/2564 ลงวันที่ 5 ส.ค. 64 (สภ.ช้างเผือก) ข้อหา “ฉ้อโกงทรัพย์”
3.หมายจับศาลแขวงนครศรีธรรมราชที่ จ.65/2564 ลงวันที่ 2 มิ.ย. 64 (สภ.เมืองนครศรีธรรมราช) ข้อหา “ลักทรัพย์ผู้อื่น”
4.หมายจับศาลอาญามีนบุรีที่ จ.316/2566 ลงวันที่ 24 มี.ค. 66 (สน.โคกคราม) ข้อหา “ร่วมกันยักยอกทรัพย์”
5.หมายจับศาลจังหวัดปทุมธานีที่ จ.131/2565 ลงวันที่ 6 ก.ค. 65 (สภ.ปากคลองรังสิต) ข้อหา “ฉ้อโกง”
6.หมายจับศาลอาญามีนบุรีที่ จ.439/2565 ลงวันที่ 6 พ.ค. 65 (สน.โคกคราม) ข้อหา “ลักทรัพย์ในเวลากลางคืน”
7.หมายจับศาลอาญามีนบุรีที่ จ.316/2566 ลงวันที่ 24 มี.ค. 66 (สน.โคกคราม) ข้อหา “ยักยอก

โดยกล่าวหาว่า “ลักทรัพย์ในเวลากลางคืน พฤติการณ์กล่าวคือ หญิงสาวผู้เสียหายรายหนึ่ง ได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนออนไลน์ของเพจเฟสบุ๊ค สืบนครบาล IDMB ว่าได้ถูกคนร้ายอ้างเป็นเซเลปรายหนึ่ง ซึ่งพบเจอกันในแอ็พพลิเคชั่นหาคู่ จากนั้นได้มีการนัดเจอกันที่โรงแรมซึ่งเมื่อพักค้างแรมแล้ว ตื่นขึ้นมาก็พบว่าคนร้ายได้หายตัวไปพร้อมกับกุญแจรถและ "รถยนต์" ของหญิงผู้เสียหาย ซึ่งปัจจุบันคนร้ายรายนี้ถูกออกหมายจับแล้วกว่าหลายคดี หลังรับแจ้ง ทีมนักวิเคราะห์แผนประทุษกรรมของ สืบนครบาลได้ร่วมกับฝ่ายสืบสวน สน.โคกคราม ตรวจสอบลักษณะแผนประทุษกรรมดังกล่าวที่เกิดขึ้นแล้วพบว่าคนร้ายรายนี้ก่อเหตุมาอย่างโชกโชน โดยมีแผนประทุษกรรมสุดแสบ กล่าวคือ คนร้ายจะแฝงตัวอยู่ในแอ็พพลิเคชั่น “หาคู่” เช่น Tinder , Omi เป็นต้น โดยสร้างโปรไฟล์เป็นเซเลป หนุ่มหล่อ รวย ถ่ายภาพคู่รถหรู ซึ่งแท้จริงเป็นรถคนอื่น ดึงดูดเหล่าหญิงสาวให้เกิดความสนใจ ซึ่งเมื่อมีผู้สนใจในตัวโปรไฟล์ของคนร้ายแล้วจะมีการ “คัดเหยื่อ” โดยการเลือกหญิงสาวที่มี “รถยนต์” โดยไม่สนใจ หน้าตา อายุ ก่อนเริ่มพุ่งชนด้วยบทสนทนาเกี้ยวสาวสุดเร่าร้อน ด้วยโปรไฟล์หนุ่มเซเลปทำให้เหล่าเหยื่อหญิงสาวไม่สามารถทานความรู้สึก ต่างเผลอใจเคลิบเคลิ้มไปกับการเกี้ยวพาราสีของคนร้าย ไปจนถึงขั้นบางรายมีการนัดพบ หรือเป็นที่รู้กันในหมู่วัยรุ่นว่า “การนัดยิ้ม” โดยคนร้ายจะแสร้งทำทีนัดหมายให้เหยื่อขับรถยนต์มารับที่สนามบิน โดยอ้างว่าเดินทางมาจาก จ.เชียงใหม่ ( ไม่ได้บินมาจริง) แสร้งเตร็ดเตร่ลากกระเป๋าเดินทางอยู่ในสนามบิน สวมเสื้อผ้าแบรนด์เนมสร้างภาพลักษณ์แรกพบเสมือนเป็นหนุ่มเซเลปนักเดินทาง หลังได้พบเจอกับเหยื่อหญิงสาวก็จะมักนำพาไป “เชือด” ที่โรงแรมละแวก “ถนนเรียบทางด่วนรามอินทรา” ซึ่งคนร้ายเข้าใจถึงหลักการฮอร์โมนของเพศหญิงที่จะหรั่งสารทำให้เกิดความรู้สึกดีดีกับฝ่ายชายหลังมีเพศสัมพันธ์ จึงเลือกที่มีเพศสัมพันธ์กับเหยื่อให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งหลังเสร็จกิจก็จะออกอุบายต่างๆนาๆเพื่อขอยืมรถยนต์ของเหยื่อ ซึ่งเหล่าเหยื่อหญิงสาวต่างยินยอมให้โดยง่าย ซึ่งเมื่อกุญแจและรถยนต์ของเหยื่อตกไปอยู่ในมือคนร้ายรายนี้แล้ว ก็จะเริ่มตระเวนขับรถเพื่อไปให้เหล่าพ่อค้ารถเถื่อน “ดูสภาพรถ” และจากนั้นก็จะกลับไปอยู่กับเหยื่อที่โรงแรมจนกระทั่งเหยื่อหญิงสาวหลับสนิท คนร้ายก็จะใช้โอกาสดังกล่าว “ขโมย” รถของเหยื่อไปจากโรงแรมและตัดขาดการติดต่อกับเหยื่อไปเลย ซึ่งต่อมาได้มีการสืบสวนจนกระทั่งสามารถยืนยันตัวบุคคลคนร้ายรายนี้ได้ คือ นายภีรพัฒน์ บุญมี ซึ่งมีตัวตนหรือชื่อปลอมกว่าหลายชื่อ เช่น อุ้ม , อั้ม , พอช , พัด , แซ็ค และ แร็ค ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าเป็นบุคคลตามหมายจับกว่า 7 หมายจับ

‘หมอธีระวัฒน์’ ชี้ภัย ‘สารเพิ่มหวาน’ ในเครื่องดื่มไร้น้ำตาล เสี่ยง!! ‘หัวใจวาย-อัมพฤกษ์’ เริ่มเจอแล้วในต่างประเทศ

(3 ก.ค. 66) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ระบุว่า...

สารหวานในเครื่องดื่ม ไร้น้ำตาล เสี่ยงหัวใจวาย อัมพฤกษ์ (มีคำอธิบายว่าจะใช้หญ้าหวานได้หรือไม่ และมีคำอธิบายในเรื่องปริมาณขนาดที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงของเลือดข้นและมีผลต่อเส้นเลือด มีคำอธิบายที่มาของการศึกษาที่ต่อเนื่องกันมาตั้งแต่รายงานในปี 2013 จนมาถึงปัจจุบันนี้)

นับเป็น 10 ปีมาแล้วที่มีการใช้สารน้ำตาลเทียมเพิ่มหรือแทนความหวานที่ได้จากน้ำตาล ทั้งนี้เพื่อตอบสนองกับคนที่มี โรคเบาหวาน โรคอ้วน หรือมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคที่เรียกว่า เมตาบอลิก ซินโดรม (Metabolic syndrome) ที่เป็นกลุ่มอาการที่จะต่อติดต่อเนื่อง ตามกันมาจากอ้วน ดื้ออินซูลิน เบาหวาน ไขมันสูง มีภาวะเส้นเลือดผิดปกติและนำไปสู่โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ จนกระทั่งถึงมะเร็ง ด้วยการที่มีสารอักเสบก่อตัวในร่างกาย ทุกระบบและในสมอง จนเร่งสมองเสื่อมให้เกิดขึ้นเร็วและรุนแรง และพิสูจน์แล้วว่าเร่งความแก่ชราให้มากขึ้น 

...และสารทดแทนเหล่านี้ ได้มีการรับรองความปลอดภัยจากองค์กรกลางต่าง ๆ ที่ทำการประเมินและมีการใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก

แต่กระนั้น การติดตามภาวะสุขภาพในคนที่ได้รับสารหวานเทียมเหล่านี้ เริ่มมีรายงานออกมามากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ในปี 2000 เป็นต้นมา ถึงผลที่อาจไม่พึงประสงค์ รวมทั้งแทนที่จะเกิดประโยชน์ กลับมีโรคภัยไข้เจ็บที่ไม่สามารถอธิบายได้ โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นกับเส้นเลือดตีบ แต่เนื่องจากเป็นการศึกษาที่ไม่ทอดระยะเวลานานนัก และไม่สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์หรือการเป็นสาเหตุได้ชัดเจน เนื่องจากมีตัวแปรและปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทำให้ข้อมูลยังมีความคลุมเครืออยู่

รายงานในวารสาร เนเจอร์ 27 กุมภาพันธ์ 2023 เป็นงานต่อเนื่องตั้งแต่การค้นพบความสัมพันธ์ของจุลินทรีย์ในลำไส้ กับการอักเสบ และเส้นเลือดตันที่รายงานในวารสารนิวอิงแลนด์และเนเจอร์ในปี 2013 ที่ตอกย้ำพิสูจน์ว่าการกินเนื้อแดง และไข่แดงจะเชื่อมโยงกับจุลินทรีย์หรือแบคทีเรียไม่ดีในลำไส้ ที่สกัดและผลิตสารอักเสบออกมาชื่อ TMA และ TMAO ทั้งนี้ การลดการกินเนื้อและไข่แดง โดยที่หนักผัก ผลไม้ กากใย ถั่ว จะระงับการอักเสบดังกล่าว และเริ่มพบว่าสาร polyols ก็มีความสัมพันธ์ร่วม

งานในปี 2023 นี้พบว่าสาร erythritol ซึ่งอยู่ในกลุ่ม polyol ทำให้เกล็ดเลือดไวขึ้น จนเพิ่มความเสี่ยงของเส้นเลือดตัน

การศึกษาเริ่มจากเป็น un targeted metabolomics ในคน 1,157 รายที่มาประเมินความเสี่ยงของเส้นเลือดหัวใจ (discovery cohort) โดยได้ทำการสวนเส้นเลือดหัวใจ จนพบว่าระดับของสาร polyol โดยเฉพาะ erythritol สัมพันธ์กับโรคหัวใจและอัมพฤกษ์มากขึ้นหลังจากติดตามสามปี จากการตรวจด้วย GC-MS แต่ทั้งนี้ บอกได้คร่าว ๆ และยังไม่สามารถเชื่อมโยงกับระดับปริมาณที่ชัดเจนได้

การศึกษาต่อมาเฉพาะเจาะจง targeted metabolomics คนอเมริกัน 2,149 ราย และคนในยุโรป 833 ราย (validation cohort) ที่มาตรวจประเมินความเสี่ยงของโรคหัวใจ โดยมีข้อมูลความรุนแรงและการติดตามก่อนหน้านั้นหลายปี โดยใช้ตัวอย่างเลือดในคนอเมริกันจากรายงานของปี 2013 และควบรวมกับคนในยุโรป พบความสัมพันธ์ชัดเจนระหว่างระดับของ erythritol กับความเสี่ยงที่สูงขึ้น จากการตรวจด้วย LC-MS (fourth versus first quartile adjusted hazard ratio (95% confidence interval), 1.80 (1.18-2.77) and 2.21 (1.20-4.07), respecti vely) และการทดสอบการทำงานของเกล็ดเลือดพบว่ามีการกระตุ้นเพิ่มขึ้น ทั้งในหลอดทดลองและเพิ่มการเกิดเส้นเลือดตันในหนูทดลองการศึกษาต่อมา (interven tion study) เฉพาะเจาะจงโดยที่มีอาสาสมัคร 8 ราย กิน erythritol 30 กรัม ที่เป็นขนาดปกติในเครื่องดื่มหรือในไอศกรีมคีโต พบระดับในเลือดสูง ลอยมากอยู่จนถึงสองวันถัดมา

ทั้งนี้ ในผลิตภัณฑ์อาหารที่พบอยู่ได้ทั่วไปนั้น จะมีปริมาณของสาร erythritol ในขนาดสูงมากกว่า 30 กรัมด้วยซ้ำ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความหวานให้มากขึ้น โดยที่อาจไม่ได้มีการระบุปริมาณที่ชัดเจนเนื่องจากถือว่าเป็นสารปลอดภัย ผลที่ได้จาก รายงานนี้ อาจต้องมีการหาความ สัมพันธ์เป็นเหตุเป็นผลเพิ่มขึ้น แม้ว่าการทดลองในราย งานนี้จะมีผลการศึกษาในหนูทดลองรวมกระทั่งถึงในอาสาสมัคร แม้ว่าจะมีจำนวนน้อยเพียง 8 ราย แต่การทดสอบของเกล็ดเลือดนั้นแสดงถึงปฏิกิริยาที่สูงขึ้นในระดับที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อเส้นเลือดได้

คณะผู้วิจัยได้จุดประเด็นที่ควรต้องทำต่อจากนี้ ก็คือการที่ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นั้นควรที่จะแสดงปริมาณของสาร erythritol ทั้งนี้อาจจะเป็นสารเดี่ยวที่ใส่เข้าไปหรือใส่เข้าไปร่วมกับสารที่เสมือนมาจากธรรมชาติ เช่น จาก Monk fruit หล่อฮั่งก้วยและ Strevia หญ้าหวาน ที่ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาล 200 ถึง 400 เท่า และในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นั้นอาจเพิ่มเติม erythritol เพื่อให้สะดวกแก่การผลิตในรูปของการบริโภคสำเร็จ แต่จะรอให้มีการปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงในอนาคตจากข้อมูลในเดือนกุมภาพันธ์ 2023 นี้ ซึ่งไม่ทราบว่าจะต้องรอเวลาไปอีกกี่เดือนหรือกี่ปี

ควรหรือไม่ ที่ผู้บริโภคอาจจะต้องเตรียม ตัวเอง ในการเลือกผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มาจากธรรมชาติมากขึ้น ทั้งนี้ความหวานที่ได้จากผักผลไม้ ที่ต้องกินโดยที่เป็นในรูปของกากใยด้วย เป็นชิ้นเป็นผลเป็นเนื้อ โดยไม่ใช่คั้นเอาแต่น้ำและทิ้งกากใย ออกไป ในรูปลักษณะนี้ ความหวานที่ได้จะปลอดภัย และแม้ว่า erythri tol จะมีการสังเคราะห์ ขึ้นเองในร่างกายตามธรรมชาติ (endogenous) แต่ปริมาณที่เกิดขึ้นจะน้อยกว่าหรือต่ำกว่า ปริมาณที่มีผลกระตุ้นและทำให้เกิดความเสียหายต่อเส้นเลือดมาก

ความจำเป็นที่ต้องเข้าใกล้ธรรมชาติ เข้าใกล้มังสวิรัติ ลดแป้ง เนื้อสัตว์ แทนด้วยปลา และหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนด้วยสารเคมีและสารทดแทนเป็น เพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรงและไม่เป็นภาระต่อตนเองครอบครัว สังคม และประเทศ

‘ตร.ไซเบอร์’ เตือนภัยหลังแอปธนาคารแห่ล่ม มิจฉาชีพปล้นทรัพย์ผ่านลิงก์ปลอมให้อัปเดต

(3 ก.ค.66) เพจกองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี - บก.ปอท. โพสต์ระบุว่า…

ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาระบบบริการโอนเงินต่างธนาคารเกิดขัดข้อง ส่งผลต่อการทำธุรกรรมผ่าน Mobile Banking, Internet Banking ไม่สามารถดำเนินการได้ชั่วคราว

เตือนประชาชนระวัง มิจฉาชีพจะอาศัยจังหวะนี้ ส่งข้อความการอัปเดต Mobile Banking แนบลิงก์ปลอม ให้เหยื่อเผลอกดลิงก์ ส่งผลให้ถูกขโมยข้อมูลส่วนบุคคล หรือ ถูกติดตั้งแอปรีโมทเพื่อเข้าควบคุมโทรศัพท์ สุดท้ายถูกคนร้ายโอนเงินออกจากบัญชี

การอัปเดตแอปพลิเคชัน Mobile Banking
กดอัปเดตผ่าน Apple Store หรือ Play Store เท่านั้น

แจ้งความออนไลน์ www.thaipoliceonline.com
Line : @police1441 แชตบอทกับหมวดขวัญดาว

‘สาว’ โพสต์เตือนภัย!! หลังถูกแอบถ่ายใต้กระโปรงบนรถไฟฟ้า เผย โรคจิตคนนี้ก่อเหตุมาแล้ว 3 ครั้ง โชคดีมีพลเมืองดีช่วยไว้

เมื่อไม่นานมานี้ บัญชี TikTok ชื่อ ‘PIMJAI’ ได้ออกมาโพสต์คลิปวิดีโอ ‘EP1 เตือนภัยโดนแอบถ่ายใต้กระโปรงบนรถไฟฟ้า’ โดยในคลิปได้ระบุว่า…

“วันนี้จะมาเล่าเตือนภัยหลังโดนแอบถ่ายใต้กระโปรงบนบีทีเอส ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสักช่วงค่ำ ๆ เป็นเวลาที่เรากลับจากการทำงานค่ะ และได้ใช้บีทีเอสกลับบ้านปกติ แต่สาเหตุที่ทำให้รู้สึกเอะใจ เริ่มจากที่บีทีเอสสยามค่ะ มีคนมาสะกิดข้างเรา และถามว่าเส้นนี้ผ่านชิดลมไหม เราเลยตอบกลับไปว่าใช่ หลังจากนั้นบีทีเอสก็มา ประตูเปิดเราก็เดินเข้าบีทีเอสไป ซึ่งเราอุส่าห์เดินจากประตูนึงไปอีกประตูนึงที่อยู่เยื้องกันไป เพราะเห็นว่าแถวนั้นไม่ค่อยมีคน แต่ผู้ชายที่สะกิดเราตอนแรกได้เดินตามหลังเรามา เราเลยมองกระจกที่มันสะท้อนไปด้านหลังก็เห็นผู้ชายคนนั้นท่าทางแปลก ๆ ทำไมต้องมาอยู่ใกล้หลังเราด้วยทั้งที่บริเวณพื้นที่ตรงนั้นเยอะมาก” 

“เราก็เลยหันไปมองด้านหลัง แล้วตาก็เหลือบไปมองกระเป๋าเขาพอดี ตรงกระเป๋าเขาตรงปลายก็จะปักเป็นตัวอักษร R แต่เรารู้สึกว่าตัว R มันแปลก ๆ เหมือนเจาะรูดำเอาไว้ ซึ่งเราก็ได้เพ่งไปที่กระเป๋าเขา แล้วก็คิดว่า เฮ้ย! มันคุ้น ๆ สถานการณ์นี้เหมือนเป็นกล้องแอบถ่ายเลย เราก็เลยก้มลงไปหยิบกระเป๋าเขาขึ้นมาเลยนะคะ แล้วถามว่า นี่ใช่กล้องไหมคะ? ซึ่งตอนนั้นถ้าหน้าแตกก็คือยอมหน้าแตกเลย หลังจากนั้นผู้ชายคนนี้ก็ทำท่าลุกลี้ลุกลนแล้วก็ดึงกระเป๋ากลับ เราเลยคิดว่าใช่แน่ ๆ เราจึงยื้อกระเป๋าเขาไว้ และตะโกนว่า “ช่วยด้วยค่ะ โดนแอบถ่ายใต้กระโปรง” เพื่อให้คนในขบวนได้รับรู้ ซึ่งเราเป็นคนที่เสียงดังมาก จังหวะนั้นประตูบีทีเอสเปิดพอดี ไอ้โรคจิตมันก็เลยกระชากกระเป๋าวิ่งออกจากบีทีเอสไปเลย”

ถัดมา ‘คุณ PIMJAI’ ได้ออกมาโพสต์เฟสบุ๊กเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวว่า “โชคดีมาก ๆ มีพลเมืองดีประมาณ 4-5 คน กรูกันไปจับ มีคนนึงกระโดดถีบคนร้ายโรคจิตจนติดกำแพง ก็เลยสามารถจับไว้ได้ทัน ต้องขอบคุณทุกคนมาก ๆ เลยนะคะที่ช่วย ไม่งั้นมันคงหนีไปได้แน่ จับได้แล้วเราก็ตะโกนเรียก รปภ. แถวนั้นให้มาช่วยแต่หาไม่เจอ มีผู้ชายใจดีไปช่วยตาม รปภ. มาให้ เจ้าหน้าที่ที่รถไฟฟ้าคนอื่น ๆ ก็ตามกันมาช่วย โทรตามตำรวจมาเอาคนร้ายโรคจิตไปไต่สวนที่โรงพักเพื่อดำเนินคดี”

“เหตุการณ์วันนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้ช็อกมาก ๆ เพราะไม่เคยเกิดขึ้นกับตัวเองมาก่อน โชคดีมากที่ตอนนั้นสังเกตสิ่งรอบตัว ไม่มัวยืนเล่นมือถือ ไม่งั้นคงไม่รู้แน่ ๆ ว่ากำลังโดนแอบถ่าย แล้วก็โชคดีที่ตัวเองใส่กางเกงซับในไว้ตลอด (ไม่อยากจะเชื่อว่าต้องมาดีใจที่ตัวเองป้องกันไว้ ทั้งที่จริงสิ่งเหล่าที่มันไม่ควรเกิดขึ้นกับใครเลย ต่อให้เขาจะนุ่งสั้นนุ่งยาวก็ตาม)”

“สรุปคือโรคจิตคนนี้บอกว่าก่อเหตุมา 3 ครั้งแล้ว แต่ละคลิปคือเดินแอบถ่ายใต้กระโปรงผู้หญิงตามห้าง ตามรถไฟฟ้า มีหลาย ๆ คนที่โดนแอบถ่ายโดยไม่รู้ตัว อยากจะเตือนทุกคนว่าโรคจิตพวกนี้มันมีอยู่ตลอด ไม่ว่าจะผู้หญิงหรือผู้ชายก็โดนได้หมด (วันนี้ที่เราไปแจ้งความ ก็มีผู้ชายไปแจ้งเรื่องโดนแอบถ่ายเหมือนกัน) เวลาที่อยู่ในที่สาธารณะ อยากให้ทุกคนพยายามสังเกตสัญญาณที่น่าสงสัยรอบตัวไว้บ้างนะคะ แล้วเวลามีอะไรเกิดขึ้น อย่าไปอายที่จะตรวจเช็กและขอความช่วยเหลือนะคะ”

‘รองโฆษกตำรวจ’ เตือน!! แอปฯ ดูดเงินระบาดหนัก พร้อมแฉ ‘3 อุบาย’ โจรออนไลน์ใช้ดูดเงินหมดบัญชี

(16 ก.ค. 66) เวลา 09.00 น. ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ต.ท.หญิง ดร.ณพวรรณ ปัญญา รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยอุบายของโจรออนไลน์ที่ใช้หลอกลวงประชาชนให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์ และทำการดูดเงินในบัญชี

พ.ต.ท.หญิง ณพวรรณฯ ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกให้ติดตั้งแอปฯ ดูดเงินเข้าแจ้งความอย่างต่อเนื่อง จึงขอประชาสัมพันธ์เน้นย้ำถึงวิธีการของโจรออนไลน์ ที่จะทำการติดต่อประชาชนผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์ ไลน์ หรือการส่งข้อความสั้น (SMS) แนบลิงก์ เพื่อหลอกให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์และทำการดูดเงินในบัญชี โดยใช้อุบายดังต่อไปนี้

1. หลอกว่าเป็นหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมที่ดิน (อ้างว่าสำรวจผู้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง) สรรพกร (อ้างคืนภาษีหรือตรวจสอบภาษีประจำปี) และการไฟฟ้า/การประปา (อ้างโอนค่าบริการส่วนเกินคืนหรือเปลี่ยนอุปกรณ์ฟรี) เป็นต้น โดยโจรออนไลน์จะทำการติดต่อประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ และแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน ภาครัฐ ส่งเอกสารราชการปลอมเพิ่มความน่าเชื่อถือ และพูดจาหว่านล้อมให้ประชาชนหลงเชื่อกดลิงก์เข้าเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันปลอมที่คล้ายกับของจริง นำไปสู่การติดตั้งแอปฯ ดูดเงิน 

2. หลอกว่าเป็นหน่วยงานภาคเอกชน เช่น สายการบิน และบริษัทขายอุปกรณ์ไอทีชื่อดัง โดยมิจฉาชีพจะส่งข้อความถึงประชาชน หรือโพสต์โฆษณาทางสื่อสังคมออนไลน์ และอ้างอุบายที่ดึงดูดความสนใจ อาทิ ได้รับตั๋วเครื่องบินฟรี เป็นผู้โชคดีได้ของขวัญ/ของรางวัล หรือ มีโปรโมชั่นลดราคาสินค้า เมื่อประชาชนหลงเชื่อกดลิงก์ก็จะถูกดูดเงินจนหมดบัญชี

3. หลอกให้เกิดความสงสัย โดยมิจฉาชีพจะส่งข้อความถึงประชาชนในเชิงหาเรื่อง ทำให้เกิดความสงสัย กระวนกระวายใจ เช่น “เธอทำแบบนี้กับเราได้อย่างไร”, “ไม่รู้ตัวเหรอว่ามีคลิปหลุด”, “ทำตัวแบบนี้ น่าโดนประจานให้อาย” แล้วโจรออนไลน์จะส่งลิงก์มาให้เพื่อกดดู เมื่อหลงเชื่อกดเข้าไป อาจถูกดูดเงินจนหมดบัญชี

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอเน้นย้ำให้ประชาชนรับข้อมูลอย่างมีสติ ‘ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน’ เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของโจรออนไลน์ โดย พล.ต.อ.ดํารงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้จัดทำแบบทดสอบ Cyber Vaccine จำนวน 40 ข้อ เพื่อเป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันไซเบอร์ให้กับประชาชน 

ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ที่ www.เตือนภัยออนไลน์.com และ เพจเฟซบุ๊ก ‘เตือนภัยออนไลน์’ ปรึกษา-ขอคำแนะนำได้ที่ สายด่วน บช.สอท. 1441 หรือ ศูนย์ PCT 081-866-3000 โดยผู้เสียหายสามารถติดต่อธนาคารของตนเองเพื่อทำการระงับบัญชี โดยธนาคารจะออก Bank ID ผ่าน SMS และขอให้ผู้เสียหายไปแจ้งความกับตำรวจที่ใดก็ได้โดยเร็ว โดยไม่ต้องคำนึงถึงท้องที่เกิดเหตุภายใน 72 ชั่วโมง หรือแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top