Monday, 17 June 2024
เกาะสมุย

‘กรณ์’ ผลักดันสร้างสะพานเชื่อม ‘เกาะสมุย-แผ่นดินใหญ่’ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว พลิกฟื้นเศรษฐกิจภาคใต้

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.สุราษฎร์ธานี ว่า เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2565 นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ได้รับเชิญจากสมาคมสมุย เพื่อร่วมเสวนาเรื่องการสร้างสะพานเชื่อม ‘เกาะสมุย-แผ่นดินใหญ่’ โดยมีสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว นักธุรกิจ ผู้ประกอบการโรงแรม ประชาชนชาวเกาะสมุย กว่า 200 คน รวมถึง ว่าที่ผู้สมัครส.ส.สุราษฎร์ธานี เขต 2 พรรคชาติพัฒนากล้า นางพงศ์ศรี นาคเมือง หรือ ทนายอ๋อย ทนายความชื่อดังแห่งเกาะสมุย ที่เกาะติดการเรียกร้องก่อสร้างสะพานมาอย่างต่อเนื่องด้วย

นายกรณ์ กล่าวว่า สถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน สิ่งที่ต้องรีบแก้ไขเพื่อสะสางปัญหาด้านอื่นๆ ได้คือ ปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชน ประเทศเราจะมีทรัพยากรเพียงพอในการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนได้ เศรษฐกิจต้องดีก่อน ซึ่งจากการพูดคุยกับว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค ทุกคนเห็นตรงกันว่า การจะแก้ปัญหาปากท้องได้ เราต้องมีจุดยืนในการสร้างสะพานเชื่อมเกาะสมุย-แผ่นดินใหญ่ สะพานแห่งนี้จึงเป็นเพชรเม็ดงามของอ่าวไทย แต่เพชรจะงามได้ต้องอยู่บนแหวน ที่ออกแบบเพื่อให้การท่องเที่ยวเชื่อมโยงกันได้สะดวก 

ดังนั้นตนจึงตั้งใจจะมาทอดสะพานแห่งโอกาสและระดมสมองเพื่อให้การก่อสร้างสะพาน เพื่อเป้าหมายในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจท่องเที่ยวของภาคใต้ให้สามารถรับนักท่องเที่ยวรายได้สูงจากทั่วโลกได้ตลอดทั้งปี มี land-bridge มอเตอร์เวย์พาดผ่าน จากอ่าวไทยถึงอันดามัน จากหาดเฉวงจนถึงปลายแหลมพรหมเทพ ซึ่งจะกระตุ้นการท่องเที่ยวให้ครึกครื้น พลิกฟื้นเศรษฐกิจภาคใต้ และส่งผลต่อจีดีพีประเทศ

นายกรณ์ กล่าวว่า นอกจากส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้ว การมีสะพาน ยังเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ประชาชนด้วย เพราะปัจจุบัน ต้นทุนค่าครองชีพที่สูงมากทั้งราคาน้ำมันที่โดยทั่วไปก็สูงอยู่แล้ว แต่ที่เกาะสมุยราคาสูงกว่าแผ่นดินใหญ่ถึง 2 บาท ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายต่างๆ แพงกว่าปกติเกือบทุกรายการ ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม รีสอร์ท เข้าถึงแหล่งเงินทุนค่อนข้างยากลำบาก อัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูง สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน ในขณะที่ รถไฟฟ้าใน กทม. มีรถไฟฟ้านับสิบสายมีการลงทุนเป็นแสนล้าน แต่เกาะสมุยกลับได้รับความช่วยเหลือใด ๆ 

“ถ้าจัดลำดับผลในทางบวกต่อประชาชน คือ 1.) ลดค่าครองชีพของชาวเกาะสมุยกว่า 6 หมื่นคน และพี่น้องชาวใต้ ชาวอีสาน ที่ทำมาหากินที่นี่อีกหลายแสนคนในแต่ละปี 2.) การเพิ่มคุณภาพชีวิต เข้าถึงการรักษาพยาบาล ลดต้นทุนการเดินทางของนักเรียนนักศึกษา และประชาชน 3.) การสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ให้กับชาวสมุยที่มีธรรมชาติที่งดงามมาก ส่วนกระบวนการก่อสร้างนั้น คิดว่าถึงเวลาแล้ว ต้องสื่อสารให้พี่น้องชาวเกาะสมุยได้รู้ถึงประโยชน์ที่จะได้รับ ส่วนผลกระทบทางลบมีแต่บริหารจัดการได้  กระบวนการทางการเมืองที่เหมาะสมคือต้องมาจากภาคประชาชนส่งสัญญานไปยังพรรคการเมืองว่าเราได้กลั่นกรอง ทบทวน พิจารณาแล้ว ในอนาคตอาจเปิดให้มีการทำประชาพิจารณ์ จากนั้นเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันทั่วโลก เป็นโอกาสในการสร้างประติมากรรมและแลนด์มาร์กที่สำคัญ และจะเป็นประโยชน์แก่ลูกหลานนับชั่วอายุคน และตนก็พร้อมที่จะเคียงข้างประชาชนไปพูดทุกเวที หากมีการดีเบตเรื่องการสร้างสะพานแห่งนี้" นายกรณ์ กล่าว

ด้านนายวิรัช พงษ์ฉบับนภา หรือ โกฉุย กล่าวว่า ตนในฐานะเป็นคนเกาะสมุยโดยกำเนิด ในอนาคตหากเกาะสมุยไม่เตรียมความพร้อมการเดินทางเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวแล้ว อาจทำให้เกาะสมุยไม่ได้เป็นจุดหมายปลายทางการเดินทางของนักท่องเที่ยวได้จากปัญหาการเดินทางโดยเรือเฟอร์รี่ที่ล่าช้า เครื่องบินก็มีขีดจำกัด และค่าโดยสารราคาสูง ซึ่งตนได้ออกแบบสะพานไว้ ตั้งแต่ปี 2560 โดยคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอย มีช่องทางรถยนต์ และเลนสำหรับรถจักรยานยนต์ที่แยกส่วนเพื่อความปลอดภัย ส่วนบริเวณกึ่งกลางสะพานออกแบบเป็นจุดชมวิว มีที่จอดรถเพื่อชมความงามของทะเลอ่าวไทยและถ่ายรูป 

นอกจากนี้ ด้านล่างมีพื้นที่ช็อปปิ้งมอลล์ และลานสำหรับทำกิจกรรม อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นการออกแบบด้วยแนวคิดส่วนตัว แต่ก็อยากให้รัฐบาลดำเนินการในแนวทางเดียวกันเพื่อผลประโยชน์ในภาพรวมเชื่อว่าจะพลิกโฉมการท่องเที่ยวของไทย พลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง หลังจากซบเซามาจากหลายวิกฤตต่อเนื่อง 

นอกจากนี้ ในมิติของคุณภาพชีวิตประชาชน นายวิรัช กล่าวว่า ปัจจุบัน เกาะสมุยมีโรงพยาบาลที่เครื่องมือทันสมัยเพียงไม่กี่แห่ง หากต้องรับการผ่าตัดกว่าจะนั่งเรือเฟอรี่ก็ต้องใช้เวลานานกว่าจะถึงฝั่ง ส่งต่อไปยังโรงพยาบาล หลายคนต้องเสียชีวิต แต่ถ้ารักษาในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมก็ต้องใช้เงิน 3-5 ล้านบาท แต่ขณะเดียวกัน ต้นทุนอย่างบนเกาะสมุยจะสูงกว่าบนฝั่งแผ่นดินใหญ่มาก ทั้งราคาน้ำมัน ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง สินค้าอุปโภคบริโภค ที่สูงกว่าปกติ หากมีสะพาน ต้นทุนที่ทุกคนต้องแบกภาระจะลดลงตามไปด้วย ระยะทาง 18 กิโลเมตรไม่ไกล น้ำทะเลที่ไม่ลึก สึนามิไม่มี องค์ประกอบทั้งหมดพร้อมมาก สะพานนี้คือหัวใจและเป็นหยาดโลหิตของชาวสมุย 

‘บิ๊กตู่’ ปลื้มเกาะสมุย ต้อนรับ นักท่องเที่ยวจากเรือสำราญอีก 2,500 คน ตอกย้ำเที่ยวไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง

17 ธ.ค.2565 - น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มีความยินดีภายหลังได้รับรายงานว่าวันนี้(17 ธ.ค.65) เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของไทย จะได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากยุโรปพร้อมกับเรือสำราญไมน์ ชิฟฟ์ 5 (Mein Schiff 5) กว่า 2,500 คน ที่มาแวะท่องเที่ยวเกาะสมุยแบบ One Day Trip ซึ่งหน่วยงานในเกาะสมุย และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ร่วมเตรียมการต้อนรับ เพื่อกระจายนักท่องเที่ยวลงไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในเกาะสมุย โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ให้เกิดการกระจายรายได้สู่ประชาชนในพื้นที่อย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ เรือ ไมน์ ชิฟฟ์ 5 ถือเป็นเรือสำราญจากยุโรปลำที่ 2 ที่เดินทางมายังเกาะสมุย ต่อจากลำแรกที่เข้ามาประเทศไทยในรอบ 3 ปีหลังเกิดสถานการณ์โควิด19 เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา และหลังจากนี้ ในวันส่งท้ายปีเก่า 31 ธ.ค. 65 จะมีเข้ามาอีก 1 ลำ และข้อมูลจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระบุว่าในปี 2566 และ 2567 มีเรือสำราญกำหนดจะเข้ามาเยือนเกาะสมุย เบื้องต้น 31 ลำ และ 32 ลำตามลำดับ

“การเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวทางเรือสำราญจากต่างประเทศ ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นอีกสัญญาณที่ตอกย้ำถึงความคึกคักของการท่องเที่ยวไทย สอดคล้องกับการเดินทางเข้าในช่องทางอื่นๆ ทั้งทางอากาศและด่านทางบก ทำให้ขณะนี้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ มั่นใจว่าถึงสิ้นปีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทยตามเป้าหมาย”น.ส.ไตรศุลี กล่าว

'Becky Hill' ราชินีเพลงแดนซ์ เที่ยวปีใหม่ที่เกาะสมุย โพสต์ “การมาเที่ยวครั้งนี้ เหมือนความฝันที่เป็นจริง”

‘Becky Hill’ ราชินีเพลงแดนซ์ มาเที่ยวพักผ่อนช่วงปีใหม่ที่เกาะสมุยประเทศไทย ก่อนโพสต์อินสตราแกรมของเธอว่า การมาเที่ยวครั้งนี้ เหมือนความฝันที่เป็นจริง

เฟซบุ๊กเพจ ‘ศูนย์ข้อมูลภูเก็ต’ โพสต์ภาพจากอินสตราแกรม beckyhill ของราชินีแห่งเพลงแดนซ์ ‘Becky Hill’ ที่ได้มาเที่ยวเกาะสมุยช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา พร้อมข้อความว่า

♥️🇹🇭 ใครได้มาเยี่ยมแผ่นดินไทย ก็รักเมืองไทย ทุกคน #Thailand

‘Becky Hill’ ราชินีแห่งเพลงแดนซ์ที่กำลังมาแรง ศิลปินเดี่ยวหญิงที่ยอดสตรีมสูงเป็นอันดับ 3 ของอังกฤษเมื่อปีที่ผ่านมา ใช้เวลาช่วงปีใหม่กับการมาเยือน #เกาะสมุย

‘การทางพิเศษฯ’ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น สะพานสมุย ครั้งที่ 1  ชวน ปชช. ร่วมถกแผน ‘หาพื้นที่เหมาะสม’ เพื่อลดผลกระทบรอบด้าน

เมื่อวานนี้ (1 ส.ค. 66) เพจเฟซบุ๊ก 'โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure' ได้โพสต์ภาพและข้อความ ระบุว่า…

ประชุมรับฟังความคิดเห็น สะพานสมุย ครั้งที่ 1 ร่วมวางแผน หาเส้นทาง และพื้นที่เหมาะสม ลดผลกระทบ 8-10 สิงหาคม 66 ในพื้นที่ สุราษฎร์ธานี, สมุย และนครศรีธรรมราช

วันนี้เอาข่าวการวางแผนก่อสร้าง สะพานเชื่อมเกาะสมุยกับชายฝั่งสุราษฎร์ธานี ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร โดยเจ้าภาพงานนี้คือ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย

ซึ่งครั้งนี้เป็นการประชุมปฐมนิเทศโครงการในครั้งแรก เพื่อจะทำความเข้าใจกับโครงการ และหาเส้นทางที่เหมาะสมกับการก่อสร้างสะพาน

โดยเปิดให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด

ซึ่งจะมีการรับฟังความคิดเห็นในครั้งแรก ในช่วงวันที่ 8-10 สิงหาคม 2566 รายละเอียดตามนี้
- วันที่ 8 สิงหาคม 66 เวลา 8:30-12:30 น. ที่ โรงแรมแกรนด์ฟอร์จูน จังหวัดนครศรีธรรมราช
- วันที่ 9 สิงหาคม 66 เวลา 8:30-12:30 น. ที่ โรงแรมไดมอนด์ พลาซ่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- วันที่ 10 สิงหาคม 66 เวลา 8:30-12:30 น. ที่ ห้องประชุมเพชรสมุย เทศบาลนครเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมได้ตามลิ้งค์นี้
https://docs.google.com/.../1FAIpQLSeihOrVZ26RMk.../viewform

ซึ่งเบื้องต้นในโครงการได้เลือกจุดเริ่มต้น (ฝั่งสุราษฎร์ธานี) และจุดสิ้นสุด (ฝั่งเกาะสมุย) ไว้อย่างละ 3 จุด ได้แก่

- จุดเริ่มต้นโครงการ (ฝั่งสุราษฎร์ธานี)
1. หาดนางกา
2. อ่าวประทับ
3. หาดแขวงเภา

- จุดสิ้นสุดโครงการ (ฝั่งเกาะสมุย)
1. อ่าวพังกา
2. ท่าเรือเกาะแตน
3. ท้ายอ่าวหินลาด

ซึ่งแต่ละทางเลือกก็จะมีเส้นทางที่แตกต่างกัน เพื่อหาเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดทั้งด้านเศรษฐศาสตร์ และด้านสิ่งแวดล้อม

จุดที่สำคัญที่สุด คือการเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ในรายละเอียดโครงการ ซึ่งสามารถติดตามได้จาก
- Line Openchat
https://line.me/.../Tn4RyFFsK6xyAY7vOw38-XPDgXDzEYy...
- Facebook เพจ โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย
- เว็บไซต์โครงการ
https://samuibridge.com/

‘กทพ.’ จ่อชง ครม.ใหม่ อนุมัติสร้างทางเชื่อมข้ามเกาะสมุย เพิ่มทางเลือกในการเดินทาง คาดเริ่มปี 71 เปิดบริการปลายปี 75

(8 ส.ค. 66) ณ ห้องประชุม Fortune 2 โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน นครศรีธรรมราช อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย

โดยมี นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และนายชุ้น ณัฐเดช กังสุกุล ปลัดจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชให้ร่วมเป็นประธานเปิดการประชุมฯ เพื่อนำเสนอข้อมูลความเป็นมาและความสำคัญของโครงการ แนวคิดเบื้องต้น แนวเส้นทางเลือก รูปแบบเบื้องต้น กระบวนการ ขั้นตอน และแผนการดำเนินงาน ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้มีโอกาสร่วมรับรู้ข้อมูลโครงการตั้งแต่เริ่มต้น และได้มีส่วนร่วมให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะสำหรับนำไปประกอบการดำเนินการศึกษาความเหมาะสมฯ ต่อไป โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ครอบคลุมทั้งผู้แทนหน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ภาควิชาการ ผู้นำชุมชน ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และผู้ที่สนใจ ประมาณ 150 คน

เหตุผลความจำเป็นของโครงการ คือ เกาะสมุยเป็นเมืองที่มีศักยภาพในการพัฒนาและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ ‘การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้’ แต่ในปัจจุบันการเดินทางมายังเกาะสมุยสามารถเดินทางได้เพียง 2 รูปแบบ คือ ทางอากาศและทางน้ำ ซึ่งมีข้อจำกัดด้านปริมาณและจำนวนเที่ยวในการให้บริการ ส่งผลกระทบต่อความสะดวกสบายในการเดินทาง และกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยว

นอกจากนี้ หากเกิดเหตุฉุกเฉินที่มีความจำเป็นต้องเดินทางจากเกาะสมุยมายังจังหวัดสุราษฎร์ธานีหรือจังหวัดนครศรีธรรมราช จะไม่สามารถเดินทางได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้ามรสุมที่ไม่สามารถเดินทางด้วยเรือ ซึ่งการมีทางเชื่อมข้ามเกาะจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางได้

กทพ. จึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท เอพซิลอน จำกัด และบริษัท เทสโก้ จำกัด เพื่อดำเนินการศึกษาความเหมาะสมฯ ระยะเวลา 720 วัน (24 เดือน) เมื่อแล้วเสร็จ กทพ. จะเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอ ครม. เพื่อขออนุมัติดำเนินโครงการต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ในปี พ.ศ. 2571 และเปิดให้บริการปลายปี พ.ศ. 2575

ในเบื้องต้น จุดเริ่มต้นโครงการฝั่งแผ่นดินใหญ่ ประกอบด้วย แห่งที่ 1 บริเวณ กม.30+700 ของทางหลวงหมายเลข 4142 ในพื้นที่ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี แห่งที่ 2 บริเวณ กม.4+900 ของทางหลวงชนบทหมายเลข นศ.4044 ในพื้นที่ตำบลท้องเนียน อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช และแห่งที่ 3 บริเวณ กม.9+400 ของทางหลวงชนบทหมายเลข นศ.4044 ในพื้นที่ตำบลท้องเนียน อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช

ส่วนบริเวณจุดสิ้นสุดโครงการจะอยู่ในพื้นที่ตำบลตลิ่งงาม อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกอบด้วย แห่งที่ 1 บริเวณ กม.5+650 ของทางหลวงหมายเลข 4170 ด้านเหนืออ่าวพังกา แห่งที่ 2 บริเวณ กม.6+100 ของทางหลวงหมายเลข 4170 (แยกพังกา) ซ้อนทับกับถนนท่าเรือไปเกาะแตน และแห่งที่ 3 บริเวณ กม.9+000 ของทางหลวงหมายเลข 4170 ท้ายอ่าวหินลาด

ทั้งนี้ มีแนวเส้นทางเลือกที่มีความเป็นไปได้เชื่อมต่อจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด จำนวน 7 แนวทางเลือก สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลข่าวสารของโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย สามารถติดตามได้ทางเว็บไซต์ www.samuibridge.com และทางเฟซบุ๊ก ‘โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะสมุย’ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางไลน์กลุ่ม ‘Samui bridge’

‘กรมทางหลวง’ เผย โครงการขยายสายทางรอบเกาะสมุย ใกล้เสร็จแล้ว หวังยกระดับคุณภาพชีวิต-ส่งเสริมการท่องเที่ยว จ.สุราษฎร์ธานี

(12 ก.ย.66) นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง และโครงข่ายทางหลวงในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมเร่งดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 4169 สายทางรอบเกาะสมุยให้แล้วเสร็จตลอดสายระยะทาง 50 กิโลเมตร เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และส่งเสริมการท่องเที่ยว อำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวให้สามารถเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ตามนโยบายของรัฐบาล

กรมทางหลวง โดยสำนักก่อสร้างทางที่ 1 เร่งดำเนินโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 4169 สายทางรอบเกาะสมุย ซึ่งมีระยะทางทั้งหมด 50 กิโลเมตร โดยที่ผ่านมากรมทางหลวงได้ขยายเส้นทางแล้วเสร็จรวมระยะทาง 34.53 กิโลเมตร และเปิดให้บริการแก่ประชาชนไปแล้ว ยังคงเหลือ ตอน บ.หัวถนน - บ.เฉวง ซึ่งเป็นช่วงสุดท้าย โดยตอนนี้มีจุดเริ่มต้นที่ กม.14+000 ท้องที่บ้านหัวถนน ตำบลหน้าเมือง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจุดสิ้นสุดที่ กม.29+531 ท้องที่บ้านเฉวง ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระยะทางยาวประมาณ 15.531 กิโลเมตร ลักษณ

โครงการเดิมเป็นทางหลวงขนาด 2 ช่องจราจร กรมทางหลวงเล็งเห็นถึงความสำคัญและศักยภาพของสายทาง จึงบูรณะก่อสร้างเป็นมาตรฐานทางชั้น 1 ขนาด 2 ช่องจราจร และบางช่วงเป็นขนาด 4 ช่องจราจร ไป - กลับ ผิวทางแอสฟัลต์คอนกรีต กว้างช่องจราจรละ 3.50 เมตร มีทางเท้ากว้างข้างละ 2.50 เมตร สำหรับรูปแบบการก่อสร้างแบ่งตามลักษณะภูมิประเทศและความกว้างของเขตทางหลวงโดยคำนึงถึงการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ให้เหมาะสมกับเขตทางหลวง เนื่องจากสภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นภูมิประเทศสลับเนินเขา ย่านชุมชนที่อยู่อาศัยหนาแน่น พร้อมกับให้มีระบบระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมขัง รวมงานติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างและไฟสัญญาณจราจรบนทางหลวง งบประมาณรวม 700 ล้านบาท ปัจจุบันการก่อสร้างคืบหน้าประมาณร้อยละ 89.35 คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จประมาณเดือนมีนาคม 2567 ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้เร่งผลักดันการดำเนินงานของโครงการ เพื่อเติมเต็มโครงข่ายทางหลวงให้สมบูรณ์ตลอดสายทาง

‘วัยรุ่นดูไบเกาะสมุย’ รุมทึ้งมังคุด 10 กิโลฯ ภายใน 10 นาที หลังแกะกินเองไม่เป็น จนแม่ค้าผลไม้ว้าวุ่นต้องเข้ามาแกะให้

(19 ก.ย.66) จากกรณีผู้ใช้ชื่อ นัทธิชา เด๊กใต้ แม่ค้าผลไม้ ได้โพสต์โซเชียล เป็นภาพนักท่องเที่ยวชาวตะวันออกกลาง ประมาณ 9 คน เช่ารถจักรยานยนต์ตระเวนเที่ยวรอบเกาะสมุย ล้อมวงรุมกินมังคุด ผลไม้ไทยอย่างเอร็ดอร่อย บริเวณริมเขื่อนชายทะเลหน้าทอน พร้อมข้อความ “แบบนี้สนุกพี่เขาล่ะ…แกะไม่เป็นต้องแกะให้ดู…10 นาที 10 กิโลฯ ไอ้เราก็ว้าวุ่นเลยทีนี้ #วัยรุ่นดูไบ”

ทั้งนี้ มีผู้เข้ามาคอมเมนต์แสดงความเห็นกันหลากหลาย อาทิ

- เซอร์วิสดีเริ่ด ได้ขายของด้วย เจ๋งมากเลยค่ะ
- ขับรถผ่านอยู่ค่ะว่าเขาสุมหัวมุงอะไรกันหลังรถเต็มเลย นึกว่าวัยรุ่นนักท่องเที่ยวตีกัน พอดูใกล้ๆ แต่ละคนถือมังคุดในมือกินกันแบบหน้าเขาดูอเมซิ่งมากกันทุกคนเลย เรานี่แอบยิ้ม
- ผลไม้บ้านเราราคาถูก รสชาติก็ดีที่สุด ต่างชาติเลิฟมากๆ เขาบอก
- แขกบอกมันสุดยอดไปเลยนั่งกินมังคุดสดๆ 4 โล 100 ริมทะเลหาได้ที่นี่ที่เดียวสมุย
- ใช่ค่ะ เพราะที่ดูไบผลไม้ของไทยแพงมาก มังคุด 8 ลูกราคาเกือบ 500 บาท
- อยากจะบอกว่าที่ออสเตรีย ขายแพ็คละ 350 บาท ได้ 4 ลูก

เพื่อนร่วมงานอาลัย ‘นพ.สุขเกษม กุลจิตติสำราญ’ เสียชีวิตด้วยโรคประจำตัว ยกเป็นบุคคลต้นแบบผู้พัฒนาการแพทย์เกาะสมุย แม้ป่วยหนักก็ไม่ทิ้งคนไข้

ในโลกออนไลน์ได้มีการโพสต์ไว้อาลัยต่อการจากไปของ นพ.สุขเกษม กุลจิตติสำราญ อายุ 53 ปี นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติงานในตำแหน่ง แพทย์เฉพาะทางศัลยกรรม โรงพยาบาลเกาะสมุย หลังเสียชีวิตด้วยโรคประจำตัว

ทั้งนี้ ประชาชนในพื้นที่ต่างยกให้ นพ.สุขเกษม เป็นคุณหมอศัลยกรรมมือหนึ่งในเกาะสมุย ขณะที่ทางด้านเพื่อนร่วมงานได้มีการเผยภาพ เมื่อครั้ง นพ.สุขเกษม มีอาการป่วยและอยู่ระหว่างการรักษาตัว แต่ยังคงทำหน้าที่แพทย์มาผ่าตัดช่วยเหลือคนไข้ ทั้งที่ตนเองต้องใส่สายออกซิเจน พร้อมกับยกย่องให้เป็นบุคคลต้นแบบทางการแพทย์ เนื่องจากหลายสิ่งที่ท่านริเริ่มทำถือเป็นคุณงามความดีที่ยังคงเหลืออยู่ให้ระลึกถึง

นอกจากนี้ นพ.สุขเกษม เคยได้รับรางวัลแพทย์ตัวอย่างภาคใต้ปี 2562 ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เนื่องจากมีผลงานดีเด่นจำนวนมาก เช่น เป็นแพทย์ที่รักษาช่วยชีวิตผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินที่ต้องได้รับการผ่าตัดในพื้นที่เกาะสมุย

นอกจากนี้ นพ.สุขเกษม ยังพัฒนาโครงการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยการทำ Colonoscope อ.เกาะสมุย เป็นแพทย์ผู้ริเริ่มโครงการตรวจหามะเร็งเต้านม รวมถึงจัดตั้งทีมงานเพื่อรับบริจาคอวัยวะเพื่อใช้ในการรักษา

สำหรับกำหนดสวดพระอภิธรรม ระหว่างวันที่ 5-7 ตุลาคม 2566 และในวันอาทิตย์ที่ 8 ตุลาคม จะมีพิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดคงคาราม ลิปะใหญ่ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

‘ดร.สามารถ’ พ้อ!! ‘สะพานเชื่อมเกาะสมุย’ คงเป็นได้แค่ฝัน ชี้!! ชาวสมุยตั้งตาเฝ้ารอ แต่ไม่เห็นวี่แวว ‘นายกฯ’ ผลักดัน

(9 เม.ย. 67) นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte’ ระบุว่า ‘เศรษฐา’ ลุย ‘สมุย’ ไร้วี่แวว ‘สะพานเชื่อมเกาะ’

โดยเนื้อหาระบุว่า นายกฯ เศรษฐา เยือนสมุย ชาวเกาะสมุยที่รอคอยสะพานเชื่อมเกาะด้วยความหวังว่านายกฯ จะมากรุยทางสร้างสะพานเชื่อมเกาะต่างผิดหวัง เพราะท่านไม่ได้มาผลักดันสะพาน แต่กลับมาผลักดันท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ และหาแนวทางการขยายสนามบินสมุย ปล่อยให้โครงการสะพานเชื่อมเกาะริบหรี่ !

9 เม.ย. 2567 - น่าดีใจที่เมื่อวันที่ 7 เมษายน ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว. คลัง ไปเยือนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี แม้ว่าพรรคเพื่อไทยที่นายกฯ สังกัดอยู่ จะไม่มี ส.ส. ใน จ.สุราษฎร์ธานีเลยก็ตาม ช่างสมกับคำกล่าวอ้างของนายกฯ ในสภาฯ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า “ผมเป็นนายกฯ ของคนทั้งประเทศ ไม่เคยแบ่งแยกพื้นที่ตามคะแนนเสียงที่ได้รับ”

ชาวสมุยและพื้นที่ใกล้เคียงต่างตั้งหน้าตั้งตารอคอยการมาเยือนของนายกฯ หลายคนมีความหวังว่านายกฯ จะมาผลักดันการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะสมุย เพื่อจะทำให้การสัญจรระหว่างเกาะกับแผ่นดินใหญ่เป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย แต่ต้องพบกับความผิดหวัง เพราะนายกฯ มาผลักดันการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ และหาแนวทางการขยายสนามบินสมุย ไร้วี่แววการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะ

ผมเป็นผู้ริเริ่มโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะสมุย โดยได้เสนอความเห็นไว้ในเฟซบุ๊กเมื่อเดือนพฤษภาคม 2560

ปัจจุบันการเดินทางไปสู่เกาะสมุยมี 2 ทาง ประกอบด้วยทางอากาศและทางน้ำ แต่การเดินทางทางอากาศหรือเครื่องบินมีค่าโดยสารแพง ส่วนการเดินทางทางน้ำต้องใช้เวลานาน กล่าวคืออาจเลือกใช้บริการสายการบินจากกรุงเทพฯ ไปลงที่สนามบินสุราษฎร์ธานี แล้วนั่งรถไปลงเรือ (เฟอร์รี่) ที่ท่าเรือดอนสักเพื่อไปเกาะสมุย ซึ่งเสียค่าเดินทางถูกกว่า แต่ต้องใช้เวลานานกว่ามาก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญจะต้องรอเฟอร์รี่นานมาก เพราะมีผู้โดยสารหนาแน่น อีกทั้ง ในหน้ามรสุมก็ไม่สามารถใช้เฟอร์รี่ได้

ด้วยเหตุนี้ สะพานเชื่อมเกาะสมุยจึงเป็นทางเลือกที่สำคัญในการสัญจรด้วยรถยนต์สู่เกาะสมุย ซึ่งจะทำให้การเดินทางสะดวกสบาย และรวดเร็ว ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวสู่เกาะสมุยและพื้นที่ใกล้เคียง และยังช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวเกาะสมุยในเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งก็คือการเจ็บไข้ได้ป่วย ในกรณีเกินขีดความสามารถในการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลในเกาะสมุย จำเป็นต้องส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลซึ่งมีศักยภาพสูงกว่า หากมีสะพานเชื่อมเกาะสมุยจะทำให้สามารถส่งต่อผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว หรือในกรณีที่ผู้ป่วยต้องการเดินทางไปรักษาที่อื่นนอกเกาะสมุย ก็สามารถเดินได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ด้วยค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า

แต่อย่างไรก็ตาม บางคนเกรงว่าสะพานเชื่อมเกาะสมุยจะทำให้ผู้โดยสารเครื่องบินและเฟอร์รี่ลดน้อยลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ 

โครงการสะพานเชื่อมเกาะสมุยได้รับการตอบสนองอย่างดีจากรัฐบาลประยุทธ์ โดยได้มอบหมายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นเจ้าของโครงการ ซึ่งในเวลานี้ กทพ. กำลังศึกษาความเหมาะสมอยู่

มาถึงรัฐบาลเศรษฐา ในการตรวจราชการที่สมุยครั้งนี้ น่าเสียดายที่นายกฯ ไม่ได้ไปดูพื้นที่ที่จะก่อสร้างสะพาน ผมเข้าใจดีว่านายกฯ มีภารกิจมาก แต่ก็น่าจะแบ่งเวลาเพียงน้อยนิดให้สะพานเชื่อมเกาะสมุยได้บ้าง ชาวสมุยที่ลุ้นการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะอยู่คงน้อยใจที่เห็นนายกฯ สามารถเจียดเวลาไปตรวจเยี่ยมสนามบินสมุยได้ แต่ไม่มาตรวจเยี่ยมพื้นที่ที่จะก่อสร้างสะพาน

เมื่อเป็นเช่นนี้ จะให้คิดเป็นอื่นไม่ได้ คาดว่าโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมเกาะสมุยซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชาวเกาะสมุยได้มากมายมหาศาลคงเป็นหมัน เป็นฝันค้างที่ชาวเกาะสมุยไม่อยากประสบ แต่ก็หนีไม่พ้น ! เป็นเพราะอะไร ? ใครรู้บ้าง ? วานบอกผมด้วย

‘ILINK’ ร่วมให้ข้อมูลโครงการสายเคเบิ้ลใต้ทะเล 230 Kv. ‘ขนอม-เกาะสมุย’ พร้อมใช้ประสบการณ์-ความเชี่ยวชาญ สร้างแสงสว่างให้เกิดบนเกาะสมุย

(29 พ.ค. 67) นายสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ฯ หรือ ILINK เปิดเผยว่า…

“เมื่อวานนี้ (28 พ.ค.67) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้เชิญ คุณธนา ตั้งสกุล ผู้ช่วยกจญ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ไปร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับ โครงการ สายเคเบิ้ลใต้ทะเล 230 Kv. ขนอม-เกาะสมุย รวมระยะทาง 52.5 กิโลเมตร มูลค่าโครงการที่ผ่านการอนุมัติจาก ครม.แล้ว จำนวน 11,230 ล้านบาท”

ประธานกรรมการ ILINK ระบุเพิ่มว่า “บริษัทฯ ต้องขอขอบคุณ EGAT ที่ให้โอกาส บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทย ที่มีประสบการณ์วางสายไฟฟ้าแรงสูงใต้ทะเลให้เกาะต่าง ๆ ในประเทศมากกว่า 10 เกาะ ได้มีโอกาสนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ การวางสายไฟฟ้าใต้ทะเลในท้องทะเลของประเทศไทย มาชี้แจง และให้ความมั่นใจกับประชาชนเพื่อจะนำความเจริญและระบบไฟฟ้าที่เสถียรสูงสุด มาสู่เกาะสมุย โดยไม่ทำลายสภาวะแวดล้อมของท้องทะเลไทยครับ”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top