Wednesday, 26 June 2024
เกาะสมุย

ชาวสมุยโอด!! ‘ปัญหาขยะล้นเกาะ’ วนมาอีกครั้ง ทำลายภาพลักษณ์เมืองท่องเที่ยวระดับโลก

“ถุงขยะเกลื่อนเกาะสมุย แม้นายกฯ รับปากจะจัดการโดยเร็ว แถมยังเกิดไฟไหม้ซ้ำอีก ศาลปกครองก็สั่งให้เทศบาลเร่งแก้ แต่ปัญหายังเหมือนเดิม”

นายหัวไทรได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านบนเกาะสมุยว่า เวลานี้มีขยะล้นเกาะแล้ว ชาวบ้านไม่รู้จะเอาไปทิ้งไหนก็นำมาใส่ถุงดำวางไว้บนถนน

“ชาวบ้านจำเป็นต้องนำถึงขยะมาวางกองไว้บนถนน โดยเฉพาะถนนเส้นหลักสายโรงพยาบาลไปสนามบิน เต็มไปด้วยถุงขยะ รถเก็บขยะของเทศบาลนครสมุย ก็ไม่มาเก็บไปกำจัด ไม่รู้ว่าเกิดจากปัญหาอะไร โทรไปแจ้งผู้รับผิดชอบของเทศบาลก็ไม่รู้อยู่ไหน”

ปัญหาขยะเกาะสมุยเป็นปัญหาที่มีมายาวนาน จนเคยมีปัญหาบ่อกำจัดขยะเต็มมาแล้ว

“เทศบาลแก้ปัญหาด้วยการใช้เรือขนไปกำจัดฝั่งเมืองสุราษฎร์ธานี แต่ปัญหาก็ยังไม่จบ ยังมีขยะตกค้างอีกนับแสนตัน

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2567 นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เดินทางไปเกาะสมุย ได้ไปดูเตาเผาขยะเกาะสมุย และได้แสดงความเป็นห่วงการท่องเที่ยวเจริญขึ้น ทำขยะล้น และรับปากว่าจะดูแลปัญหา สนับสนุนงบฯในการเร่งแก้ ทำคู่ขนานมาตรการระยะสั้น-ระยะยาว

ครั้งนั้นชัย วัชรงค์ โฆษกรัฐบาล เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตรวจติดตามแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะในอำเภอเกาะสมุย โดยนายกฯ รับฟังการบริหารจัดการขยะเกาะสมุยที่ยังตกค้างอยู่จำนวนประมาณ 150,000 ตัน จากนายกเทศมนตรีนครเกาะสมุย โดยขอสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลในการกำจัดขยะดังกล่าว ทั้งนี้ ในระยะสั้นที่ต้องมีการขนขยะออกไป และต้องใช้งบประมาณ 237 ล้านบาทนั้น

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าอาจจะมีวิธีอื่นที่ดีกว่า ซึ่งต้องขอดูก่อน แต่สำคัญที่สุดคือขยะที่ตกค้างจะต้องถูกกำจัดโดยเร็ว โดยการแก้ปัญหาระยะสั้นรัฐบาลรับจะดูแลให้ว่าวิธีการใดจะดีที่สุด

ส่วนระยะยาวต้องพัฒนาศักยภาพเตาเผาให้มีประสิทธิภาพ ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย โดยจะทำควบคู่กันไป เพื่อรองรับขยะที่จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นได้ ทั้งจากปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น และประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ พร้อมขอบคุณชาวสมุยที่ช่วยกันแยกขยะ ซึ่งส่วนนี้ก็ช่วยการบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพได้ด้วย

ล่าสุดเมื่อคืนวันที่ 28 พฤษภาคม ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้กองขยะ 1.5 แสนตัน ชาวบ้านอยากให้หาแนวทางบริหารจัดการในการป้องกันเหตุเพลิงไหม้ให้ดีกว่านี้ เพราะห่วงเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากบริเวณรอบข้างมีบ่อขยะเก่าจำนวนหลายบ่อ หากเกิดเพลิงไหม้ขึ้นมาอีกก็อาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

กองขยะที่ถูกเพลิงไหม้ อยู่ภายในโรงเก็บขยะ สถานที่เตาเผาขยะเทศบาลนครเกาะสมุย หมู่ที่ 5 ตำบลมะเร็ต อ.เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี เหตุเกิดเมื่อช่วงเวลาประมาณ 20.30 น. ของวันที่ 28 พฤษภาคม 2567 โดยเพลิงได้โหมลุกไหม้อย่างรุนแรง เนื่องจากต้นจุดเกิดเหตุเป็นกองขยะเก่าจำพวกพลาสติกที่แห้งและติดไฟง่าย โดยเจ้าหน้าที่ได้ระดมรถดับเพลิง รถน้ำ จากเทศบาลนครเกาะสมุย รถดับเพลิงจากสนามบินสมุย รถน้ำของเอกชน มาช่วยดับไฟ 

ต่อมาเวลาประมาณ 03.00 น. สถานการณ์คลี่คลายเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเพลิงไว้ได้

จากการสังเกตโรงเก็บขยะ พบว่าเป็นโครงสร้างที่ทำจากเหล็ก ตัวเสาและโครงตรัสตรงจุดที่เกิดไฟไหม้ บางชิ้นมีลักษณะบิดงอ หลังคาและผนังที่ใช้แผ่นเมทัลชีทได้รับความเสียหาย ในเบื้องต้นทางเทศบาลนครเกาะสมุย ยังไม่สรุปสาเหตุของเพลิงไหม้ในครั้งนี้ และจะให้วิศวกรกองช่างเข้ามาตรวจสอบโครงสร้างอาคารดังกล่าวว่ามีความปลอดภัยหรือไม่

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2566 ศาลปกครองนครศรีธรรมราชมีคำพิพากษาให้เทศบาลนครเกาะสมุย โดยนายกเทศมนตรีนครเกาะสมุย ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการเก็บ ขน และกำจัดมูลฝอย รวมทั้งมูลฝอยติดเชื้อ ในบ่อขยะ ในพื้นที่ หมู่ที่ 5 ต.มะเร็ต อ.เกาะสมุย ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือมาตรฐานที่กฎหมายหรือกฎที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ และให้ขจัดกลิ่นเหม็นจากกองขยะ และบำบัดแหล่งน้ำสาธารณะบริเวณที่พิพาทให้กลับคืนสู่สภาพเดิม และให้เทศบาลนครเกาะสมุย รายงานผลการดำเนินการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีและศาลทราบทุก 30 วัน จนกว่าปัญหามลพิษดังกล่าวจะหมดสิ้นไป แต่ไม่เกิน 180 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

เกาะสมุยเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก ที่ใครก็ใฝ่ฝันอยากจะไปเยือนสักครั้งหนึ่งในชีวิต ไปชมทัศนียภาพ ธรรมชาติอันสวยงามโดดเด่นของเกาะสมุย แต่การบริหารจัดการเกาะสมุยยังไม่พร้อมจะรองรับการทะลักเข้ามาของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะปัญหาการจัดการขยะ ปล่อยให้ชาวบ้านนำขยะในถุงกองไว้บนถนนให้อุจาดตาประจานการทำงานของเทศบาลเกาะสมุยได้อย่างไร สนามบินก็เป็นของเอกชน ที่จำเป็นต้องลงทุนขนานรันเวย์ให้ยาวกว่านี้ เพื่อรองรับเครื่องบินลำใหญ่ขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

‘HBO - Warner Bros.’ ชื่นชมประเทศไทย โลเคชันสุดยอด ชี้!! วิวสวยสุดปัง ดึงดูดให้นักท่องเที่ยว มาเดินทางตามรอย

(23 มิ.ย.67) นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 ได้มอบหมายให้นางสาวเพ็ญพิสุทธิ์ จินตโสภณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้การต้อนรับ Mr.Scott Schaeffer Senior Vice President, HBO Production - The White Lotus S3 ซีรีส์กระแสดังระดับโลก และกวาดรางวัลเอมี่ อวอร์ด (Emmy Award) ซึ่งได้เดินทางเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

โดย Mr.Scott กล่าวว่า รู้สึกประทับใจความเป็นมืออาชีพของทีมงานไทย ได้รับการอำนวยความสะดวกจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนในพื้นที่ถ่ายทำ ทำให้การถ่ายทำประสบความสำเร็จพร้อมทั้งได้กล่าวว่า สถานที่การถ่ายทำภาพยนตร์ของประเทศไทยมีความสวยงามระดับโลก จากทัศนียภาพบนเกาะสมุย และเกาะภูเก็ต รวมทั้งเกาะต่างๆ ในอ่าวไทย การตัดสินใจเข้ามาลงทุนถ่ายทำซีรีส์ในประเทศไทยครั้งนี้เป็นผลจากมาตรการการคืนเงิน (Incentive) เป็นหลัก ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากบริษัท HBO และ Warner Bros. ว่ามาตรการการคืนเงินของไทยยังคงดีที่สุดในเอเชีย

เมื่อซีรีส์เรื่องนี้ออกฉาย จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวตามรอยสถานที่ถ่ายทำ สร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเกิดการจ้างงาน และการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจซึ่งส่งผลกระทบเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต่อไปในอนาคต

นายเสริมศักดิ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยแล้ว ภาพยนตร์ต่างประเทศยังมีส่วนสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาท่องเที่ยวตามรอยสถานที่ต่างๆ ที่เป็นโลเคชั่นของภาพยนตร์ รวมถึงตามรอยนักแสดงชื่อดัง ซึ่งหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ธุรกิจการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

เมื่อปี พ.ศ. 2566 มีรายได้จากกองถ่ายต่างประเทศ จำนวนกว่า 6,753 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่มีการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย และในปี พ.ศ.2567 ตั้งแต่มกราคม - พฤษภาคม ในระยะเวลาเพียง 5 เดือน ประเทศไทยมีภาพยนตร์เข้ามาถ่ายทำโดยมีมูลค่าสูงถึง 3,416 ล้านบาท รัฐบาลเชื่อมั่นว่าด้วยความหลายหลากและสวยงามของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ถ่ายทำที่สวยงาม ศักยภาพทีมงานชาวไทยที่มีประสบการณ์ทำงานกับกองถ่ายระดับโลก การอำนวยความสะดวกของหน่วยงานภาครัฐ และที่สำคัญการมีมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำ (Incentive) ในรูปแบบการคืนเงินร้อยละ 20 จะส่งผลให้กองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศตัดสินใจเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

ในปี พ.ศ. 2567 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาตั้งเป้ารายได้จากกองถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศ กว่า 7,500 ล้านบาท และหวังว่าจะเกิดกระแสการท่องเที่ยวตามรอยภาพยนตร์ระดับโลกที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย และสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยอย่างมหาศาลต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top