Sunday, 19 May 2024
อุทกภัย

ทหารสตูล ลุยพื้นที่น้ำท่วม!! เร่งช่วยชาวบ้านขนของขึ้นที่สูงหนีน้ำ และนำรถแม็คโคลงขุดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ขณะมวลน้ำไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือน

วันนี้ 18 พ.ย.2564 พ.อ. เรวัตร เซ่งเข็ม ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 5 / ผู้อำนวยการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 5 พร้อมด้วยทหาร ร่วมกับเจ้าหน้าที่หลายหน่วยลงพื้นที่ช่วยชาวบ้านขนของขึ้นที่สูงหนีน้ำพร้อมทั้งได้นำรถแม็คโคเร่งขุดลอกเอากิ่งไม้ และเศษขยะที่ถูกน้ำพัดพามากีดขวางทางน้ำ อยู่ที่คอสะพาน ทำให้มวลน้ำเกิดการไหลช้า และไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือน เนื่องจากสภาพอากาศท้องฟ้าในจังหวัดสตูล ยังมืดครึ้ม บางพื้นที่มีฝนตก

ในขณะที่มวลน้ำจากตามภูเขาที่ได้สะสมกับน้ำฝนที่ตกมาหลายวันไหลเข้าท่วมบ้านชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดสตูล ที่เป็นเส้นทางน้ำในขณะนี้ล่าสุดน้ำได้เข้าท่วมพื้นที่อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล หลายหมู่บ้าน ชาวบ้านเดือดร้อน ทางอำเภอควนโดนประเมินบ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบจากท้องถิ่น จำนวน 300 ครัวเรือน

 

ผู้ว่าฯนราธิวาส พร้อมด้วยนายกเหล่ากาชาด จ.นราธิวาส ลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจ พร้อมมอบถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ ต.มูโนะ อ.สุไหงโกลก

จากเหตุพนังกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำโก-ลกพังส่งผลให้น้ำไหลทะลัก เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนเสียหาย 700 หลังคาเรือน นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วยนางสิริวิมล พงษ์อักษร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนราธิวาส พร้อมคณะลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส หลังจากที่เกิดกรณีพนังกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำโก-ลกพัง ส่งผลให้น้ำไหลทะลัก เข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ตำบลมูโนะ ได้รับความเสียหายจำนวน 2 หมู่บ้าน ได้แก่บ้านมูโนะ หมู่ที่ 1 และบ้านปาดังยอ หมู่ที่ 3 ส่งผลให้บ้านเรือนราษฎร 700 หลังคาเรือน ประชาชนได้รับผลกระทบจำนวน 1,975 คน

นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า จากการที่พนังกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำโก-ลกพัง เมื่อคืนที่ผ่านมา ทำให้น้ำไหลทะลักจากแม่น้ำสุไหงโกลก เข้ามาท่วมในพื้นที่บ้านเมืองราษฎร พื้นที่หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 2 ของตำบลมูโนะ เสียหายไป 700 หลังคาเรือน ด้วยความห่วงใยพี่น้องผู้ประสบอุทกภัย จึงได้มาสำรวจที่เกิดเหตุ และคาดว่าพนังกั้นน้ำน่าจะมีรอยรั่วหรือมีการกัดเซาะ ทำให้น้ำไหลทะลักเข้ามาท่วมบ้านเรือนพี่น้องประชาชน ซึ่งไม่เคยเกิดเหตุการณ์อย่างนี้มากว่า 10 ปีแล้ว

ในครั้งนี้ตั้งใจนำเวชภัณฑ์ และหน้ากากอนามัยนำมามอบให้กับพี่น้องที่ประสบอุทกภัย พร้อมกับถุงยังชีพช่วยเหลือในเบื้องต้น  อย่างไรก็ตามในส่วนของการช่วยเหลือในเรื่องของการอพยพ ได้จัดจุดอพยพพี่น้องประชาชน ไว้ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในหมู่บ้าน ซึ่งทางส่วนท้องถิ่น โดยนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ก็ได้จัดอาหารไว้ 3 มื้อ ดูแลพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึงแล้ว

 

นราธิวาส - ผู้ว่านราฯ ปรุงอาหารมื้อเย็น ลุยน้ำแจกชาวบ้าน พร้อมเหมาลูกชิ้นแจกเด็ก พร้อมช่วยบรรเทาทุกข์ชาวนราธิวาส จากภัยน้ำท่วม

นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการ จ.นราธิวาส ได้เดินทางมายังพื้นที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วมตลาดมูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เพื่อปรุงอาหารมื้อเย็นเป็นผัดเผ็ดไก่กับไข่ต้ม จำนวน 1,800 กล่อง พร้อมน้ำดื่ม แจกจ่ายให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในตลาดมูโนะ พร้อมทั้งได้เดินลุยน้ำแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ไม่สามารถเดินลุยน้ำมารับอาหารในครั้งนี้ด้วย ซึ่งการเดินลุยน้ำในครั้งนี้ผู้ว่าราชการ จ.นราธิวาส ได้ถือโอกาสพูดคุยปรับทุกข์กับชาวบ้าน ถึงในบ้านพักที่ถูกน้ำท่วมขัง เพื่อเป็นการสำรวจความเสียหายไปในตัว หากสภาพน้ำท่วมกลับคลี่คลายกลับสู่สภาวะปกติ ก็จะได้เร่งตั้งงบประมาณในการช่วยเหลือได้ทันที

ซึ่งการเดินลุยน้ำแจกอาหารกล่องของผู้ว่าราชการ จ.นราธิวาสในครั้งนี้ พบว่ายังมีระดับน้ำท่วมขังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลพวงของมวลน้ำป่าที่ไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชน ที่บริเวณจุดพนังกั้นน้ำพังเสียหาย แถมมีกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกรากกว่าในช่วงเช้าที่ผ่านมา จนเจ้าหน้าที่กองอาสารักษาดินแดน อ.สุไหงโก-ลก ต้องนำเชือกผูกมัดไว้กับเสาไฟฟ้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่เดินทางเข้าออกตลาด เนื่องจากเกรงว่าอาจจะถูกกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากพัดจนได้รับอันตรายถึงชีวิต ซึ่งภาพรวมระดับน้ำท่วมขังสูงจากช่วยเช้าประมาณ 20 ซ.ม.โดยอยู่ในระดับ 80 ถึง 90 ซ.ม.

และในระหว่างที่นายสนั่น พงษ์อักษร ผวจ.นราธิวาส เดินลุยน้ำแจกอาหารกล่องและน้ำดื่มแล้วเสร็จ ได้ถือโอกาสเหมาลูกชิ้นปิ้งของประชาชน ที่ตั้งร้านค้าในน้ำเป็นเงิน 2,000 บาท เพื่อแจกจ่ายให้กับเด็กและเยาวชนที่กำลังสนุกสนานกับการเล่นน้ำ และได้มีผู้ปกครองท่านหนึ่ง พูดทีเล่นที่จริงกับท่านผู้ว่าราชการ จ.นราธิวาส ว่า ท่านสมเป็นกับผู้ว่าติดน้ำและติดดิน และมีเสียงหัวเราะตามมาสร้างความคลายเครียดในช่วงน้ำท่วมครั้งนี้

 

ปัตตานี - "นิพนธ์" รุดลงปัตตานี นำความห่วงใยรัฐบาล เร่งช่วยเหลือ ปชช. ประสบอุทกภัยในพื้นที่ สั่งระดมทุกหน่วยผนึกกำลัง พร้อมเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโดยเร็วที่สุด!!

วันนี้ 28 กุมภาพันธ์ 2565 นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังผู้ที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วมในพื้นที่ อ.เมืองปัตตานี และอ.แม่ลาน จ.ปัตตานี พร้อมมอบถุงยังชีพและสิ่งของเครื่องใช้จำเป็น บรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประสบภัย บริเวณ 2 จุด จำนวนกว่า 500 ชุด โดยมีนายนิพันธ์ บุญหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้นำท้องที่ ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย

ภาพรวมสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.ปัตตานี ได้รับผลกระทบจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้ลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงใกล้เกาะบอร์เนียว เคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศมาเลเซียและภาคใต้ตอนล่าง ทำให้พื้นที่จังหวัดปัตตานีมีฝนตกหนักสะสม ตั้งแต่ช่วงวันที่ 23 ก.พ. 65 ที่ผ่านมา 

จนกระทั่งวานนี้ (วันที่ 27 ก.พ. 65) หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณช่องแคบมะละกา ก็ยังคงเคลื่อนตัวทางตะวันตกเข้าปกคลุมเกาะสุมาตราตอนบน ในขณะที่ลมตะวันออกกำลังแรงที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนลง จนเกิดฝนตกหนักสะสมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 6 อำเภอ 27 ตำบล 81 หมู่บ้าน 3 ชุมชน1,730 ครัวเรือน 5,598 คน ในส่วนของอำเภอเมืองปัตตานี ได้รับผลกระทบ จำนวน 3 ตำบล 4 หมู่บ้าน 2 ชุมชน 162 ครัวเรือน 810 คน และอำเภอแม่ลาน ได้รับผลกระทบ จำนวน 3 ตำบล 10 หมู่บ้าน 219 ครัวเรือน 913 คน ส่วนผลกระทบด้านอื่นๆ อาทิ ด้านการเกษตรมีพื้นที่เสียหาย จำนวน 3,167 ไร่ ด้านประมงและปศุสัตว์ มีความเสียหายเล็กน้อยนอกจากนี้ในส่วนของสิ่งสาธารณูปโภค ถนนได้รับความเสียหาย 5 สาย และมัสยิด 1 แห่ง ทั้งนี้ อปท. ในพื้นที่ ได้ให้ความช่วยเหลือโดยการแจกถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นแล้ว

นายนิพนธ์ กล่าวว่า สภาพภูมิอากาศในปีนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เกิดฝนนอกฤดูกาลอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีปริมาณน้ำฝนสะสมจำนวนมาก ตนมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยได้ติดตาม/ประเมินสถานการณ์ พร้อมแจ้งเตือน/สร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารไปสู่พี่น้องประชาชนผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด ปัจจุบัน กรมอุตุมนิยมวิทยา กับ ปภ. ได้ทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น การคาดการณ์สถานการณ์ต่างๆ ของกรมอุตุนิยมวิทยามีความแม่นยำ ทำให้มีการแจ้งเตือนล่วงหน้าและรับมือกับสถานการณ์ได้ดีขึ้น ทั้งนี้กระทรวงมหาดไทยเองก็ได้ติดตามและเน้นย้ำแนวทางในการปฏิบัติการตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัยและวาตภัย เพื่อบริหารจัดการสถานการณ์ บูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และมีการสั่งเตรียมความพร้อมในพื้นที่มาโดยตลอดตั้งแต่ระดับจังหวัดลงไปจนถึง อปท. ซึ่งได้ประสานงานกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงทีทั้งเรื่องของบุคลากร ลงไปจนถึงอุปกรณ์เครื่องจักรกลต่าง ๆ อาทิ เรือท้องแบน รถราต่าง ๆ ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ เบื้องต้น อปท. ในพื้นที่ กับ ปภ. ได้ดำเนินการตามแผนอพยพประชาชนไปยังที่ปลอดภัย และดูแลเรื่องอาหารการกินต่าง ๆ อย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

นายนิพนธ์ กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับแนวโน้มคาดการณ์ว่า จ.ปัตตานี สถานการณ์ในวันนี้ได้คลี่คลายลงแล้ว จนเกือบจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนปริมาณน้ำฝนที่ยังคั่งค้างอยู่ตามแนวเทือกเขาต่างๆ นั้น ก็จะไหลลงแม่น้ำหลัก อยากจะฝากไปถึงพี่น้องประชาชนให้ติดตามสถานการณ์และข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และฝากเตือนถึงเรื่องการสัญจรไปมา ให้ใช้ความระมัดระวังมากขึ้น งดลงเล่นน้ำ เพราะหากมีเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากเกิดขึ้นอีก อาจได้รับอันตรายจนถึงชีวิตได้ ซึ่งหลังจากนี้ หากสถานการณ์ทุกอย่างได้คลี่คลายลงแล้ว ตนก็สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้สำรวจ ตรวจตราความปลอดภัยของบ้านเรือน และทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน เพื่อบรรเทาความวิตกกังวล พร้อมสั่งดำเนินการสำรวจและประเมินความเสียหายอย่างเร่งด่วน เพื่อดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ตามระเบียบของทางทางราชการกันต่อไปราชการ และนอกจากนี้ ตนยังมีความห่วงใยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ยังคงมีการระบาด และมีผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง พร้อมขอความร่วมมือประชาชนทุกคนให้ปฏิบัติตนตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เราทุกคนผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน

‘บิ๊กป้อม’ รุดพื้นที่สระบุรี รับมือมวลน้ำตอนเหนือ หวั่น!! กระทบพื้นที่ท้ายน้ำ กทม.และปริมณฑล

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม รวมทั้งคณะทำงาน ได้เดินทางลงพื้นที่ จังหวัดสระบุรี ตรวจสอบความพร้อมกลไกต่าง ๆ และแผนรับมือการบริหารจัดการสถานการณ์น้ำและอุทกภัยในพื้นที่ภาคกลาง ไม่ให้กระทบชุมชนท้ายน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ กทม.และปริมณฑลริมแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก

โดยรับฟังการบรรยายสรุป ถึงสถานการณ์น้ำภาพรวม แผนด้านทรัพยากรน้ำสระบุรี ความก้าวหน้า 13 มาตรการรับมือน้ำฤดูฝน แผนบริหารจัดการน้ำเขื่อนป่าสัก และแนวทางระบายน้ำฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งความพร้อมรับมือกับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคกลาง จากผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี, เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.), อธิบดีกรมชลประทาน และอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ณ ศาลากลาง จังหวัดสระบุรี

ทั้งนี้ ‘พล.อ.ประวิตร’ ได้ย้ำสั่งการ สทนช. ร่วมกับ กรมชลประทาน รวมทั้ง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และฝ่ายปกครองระดับจังหวัด ให้ความสำคัญทำงานร่วมกับ ศูนย์อำนวยการส่วนหน้า สทนช.ที่จัดตั้งขึ้น ดำเนินการให้เป็นไปตามแผนรับมือฤดูฝน 13 มาตรการ โดยให้ปรับปรุงกลไกการบริหารจัดการให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เนื่องจากมีฝนตกหนักสะสมต่อเนื่องจากมรสุมในหลายพื้นที่ของประเทศ ส่งผลพื้นที่หลายจังหวัดมีน้ำท่วมขังสูง โดยเฉพาะพื้นที่ริมลำน้ำสายหลักยังคงต้องเฝ้าระวัง และติดตามสภาพอากาศแจ้งเตือนประชาชนให้ทันกับสถานการณ์ รวมทั้งให้การช่วยเหลือประชาชนทันที เน้นการมีส่วนร่วมมากขึ้น

'โชห่วยโคราช' เผย!! 'ทรานซิสเตอร์' รุ่นฮิตขายดี หลัง 'นายกฯ' แนะเตรียมพร้อมไว้รับเหตุฉุกเฉิน

'วิทยุทรานซิสเตอร์' ยี่ห้อดัง 'ธานินทร์' รุ่นยอดฮิตเริ่มขาดตลาด หลังโชว์ห่วยแห่ซื้อไปขายในชนบท ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า รับกระแสนายกฯแนะนำให้เตรียมไว้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม

เมื่อ (5 ต.ค. 2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เร้นท์ กับผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย และผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อติดตามและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมา และในตอนหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในกรณีที่เกิดปัญหาฉุกเฉินระบบการสื่อสารล่ม หน่วยงานราชการต่าง ๆ แจ้งข้อมูลให้ประชาชนทราบได้ยากลำบาก อาจจะต้องใช้วิทยุทรานซิสเตอร์ในการออกอากาศแจ้งเตือนประชาชน เหมือนกรณีเหตุน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ที่เกิดไฟฟ้าดับหมด และใช้การสื่อสารแจ้งเตือนประชาชนผ่านวิทยุทรานซิสเตอร์ได้ผลมาแล้วนั้น ซึ่งทำให้เกิดกระแสแชร์ต่อเรื่องนี้ในโซเชียลกันอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นไวรัลอยู่ในขณะนี้นั้น

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปที่ร้าน เตีย แซ ฮวด ริมถนนมิตรภาพ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นร้านขายปลีก และขายส่งวิทยุทรานซิสเตอร์เก่าแก่ของเมืองโคราช พบว่ามีลูกค้าซึ่งเป็นร้านโชว์ห่วยจากต่างอำเภอ เดินทางมาเลือกซื้อวิทยุทรานซิสเตอร์เพื่อนำไปขายต่อกันอย่างคึกคัก

โดยนายจิน เซ็ง อายุ 55 ปี เจ้าของร้าน เตีย แซ ฮวด เปิดเผยว่า เดิมทีนั้นร้านของตนเอง เป็นร้านขายปลีกและขายส่งวิทยุทรานซิสเตอร์ ยี่ห้อ 'ธานินทร์' มานานกว่า 30 ปีแล้ว ต่อมาก็เริ่มนำเครื่องใช้ไฟฟ้ายี่ห้ออื่น ๆ มาขายเพิ่ม แต่หากย้อนไปเมื่อ 20 - 30 ปีก่อน วิทยุทรานซิสเตอร์ จะได้รับความนิยมจากลูกค้าเป็นอย่างมาก

โดยเฉพาะวิทยุทรานซิสเตอร์ยี่ห้อธานินทร์ รุ่นTF-268 ซึ่งเป็นรุ่นในตำนาน จะได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะสามารถรับฟังคลื่นวิทยุได้ 2 ระบบ คือระบบ FM และ AM ที่ชาวบ้านจะซื้อไปฟังเพลง ฟังข่าว ตามท้องไร่ ท้องนา ได้อย่างสะดวกสบาย เนื่องจากมีน้ำหนักเบา และคงทน โดยจะนิยมใช้คู่กับถ่านไฟฉายตรากบ

'มูลนิธิราชประชานุเคราะห์' หน่วยหนุนเคลื่อนที่ไว ส่งสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีพทั่วถึงทุกราษฎร

ปัญหาอุทกภัยในลุ่มแม่น้ำภาคกลางที่กำลังสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างมาก ต้องอาศัยหน่วยงานภาครัฐออกมาเร่งช่วยเหลือและแก้ไขปัญหากันอย่างเต็มที่ 

โดยมีหลายหน่วยงานทึ่ออกตัวไว ช่วยเร็ว ซึ่งหนึ่งในนั้น ก็คือ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ 'ปิดทองหลังพระ' ออกลุยช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้มีโอกาสลงพื้นที่เก็บภาพบรรยากาศการทำงานของหน่วยงานดังกล่าวแบบใกล้ชิด ส่วนภารกิจที่พี่ๆ ต้องเร่งทำนั้นจะเหน็ดเหนื่อยแค่ไหน ตามไปให้กำลังใจกันดูได้เลย

เริ่มตั้งแต่บรรจุสิ่งของพระราชทานบริเวณ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อนำไปมอบให้กับผู้ประสบอุทกภัยทั้งในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และต่างจังหวัด โดยในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลทางมูลนิธิฯ จะลงพื้นที่ไปมอบให้กับผู้ประสบภัยโดยตรงตามบ้านผู้ประสบภัย 

ส่วนต่างจังหวัดทางมูลนิธิฯจะส่งสิ่งของพระราชทานมอบให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อดำเนินการแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ประสบภัย ซึ่งตั้งแต่ภัยพิบัติพายุโนรูที่ผ่านมา ทางมูลนิธิฯ ได้แจกถุงยังชีพพระราชทานไปแล้วกว่า 30,000 ชุด โดยถุงยังชีพพระราชทาน มีน้ำหนักมากถึง 20 กิโลกรัม ภายในมีสิ่งของจำเป็นในการดำรงชีพสำหรับราษฎรที่เดือดร้อน เช่น ข้าวสาร, อาหารแห้ง, เครื่องกระป๋อง, น้ำดื่ม ยารักษาโรค และของใช้ในชีวิตประจำวัน 

น.ศ. ‘หลักสูตรนักบริหารการงบประมาณระดับสูง’ ลงพื้นที่เก็บข้อมูล เพื่อหาแนวทาง จัดการกับภัยพิบัติอย่างยั่งยืน

วันที่ 4-5 มิถุนายน 2566 นักศึกษา "หลักสูตรนักบริหารการงบประมาณระดับสูง (นงส.) รุ่นที่ 10 กลุ่มไข่มุก" ลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูลงานวิจัย เรื่อง "แนวทางการบริหารงบประมาณด้านภัยพิบัติแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน" กรณีศึกษาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดสระบุรี และจังหวัดชุมพร

ในการนี้ นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัด (พี่ดวง กลุ่มบุษราคัม) ให้การต้อนรับ และให้ข้อมูลภาพรวมการดำเนินการของจังหวัด

กลุ่มไข่มุก นำโดยนายนพพร อุสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร ได้ร่วมสัมภาษณ์ หัวหน้าส่วนราชการ ตลอดจน ผู้บริหาร สมาชิก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  ภาคเอกชน สถานศึกษา และประชาชน ในพื่นที่อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม รวมถึงปัญหาด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่ ซึ่งได้รับความร่วมมือในการสะท้อนปัญหาและให้ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาพื้นที่เป็นอย่างดียิ่ง

เขตพื้นที่อำเภอท่าแซะ โดยเฉพาะตำบลนากระตาม เป็นพื้นที่ลุ่ม ได้รับผลกระทบอุทกภัยน้ำท่วมมากที่สุด เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่รับน้ำจากคลองท่าแซะและคลองรับล่อ ซึ่งเกิดน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี ได้รับความเสียหายและผลกระทบมากหรือน้อย ซึ่งจะขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำในแต่ละปีมีปริมาณน้ำฝนมากหรือน้อย 

จากการสัมภาษณ์พบว่า แนวทางการป้องกันเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม ประชาชนเสนอขุดลอกคลองเพื่อช่วยระบายน้ำ ลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด เพื่อลดผลกระทบและความเสียหายของบ้านเรือนประชาชนรวมถึงพืชผลทางการเกษตร การดำเนินการแก้ปัญหาจะเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการงบประมาณของภาครัฐทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

นอกจากผลกระทบจากอุทกภัยแล้ว เมื่อน้ำได้ไหลลงสู่ทะเลแล้ว แม่น้ำ ลำคลอง ก็จะแห้ง เนื่องจากไม่มีเขื่อน หรืออ่างเก็บน้ำ หรือฝายชะลอน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภค และใช้เพื่อการเกษตรหลังฤดูฝน "เกษตรกรสวนทุเรียน ต้องจ้างรถขนน้ำไปรดต้นทุเรียนในช่วงหน้าแล้ง" เกษตรกรกล่าว 

ปัญหาเรื่องน้ำ ต้องมีการบริหารจัดการร่วมกันทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน เกษตรกร อาทิ สทนช. กรมชลประทาน จังหวัด อบจ. อบต. พื้นที่ส่วนใหญ่ในท่าแซะเป็นพื้นที่ป่า ต้องมีการบูรณาการในพื้นที่อย่างจริงจัง และสร้างการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน
"น้ำมามาก ก็ท่วม น้ำลงทะเลหมด ก็แล้ง" ผู้นำท้องถิ่นกล่าว
 
ดังนั้น หากจะก่อนสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ฝายกั้นน้ำ จะอยู่ในพื้นที่ป่า และพื้นที่เกษตรกร แนวทางเบื้องต้นที่ได้จากพื้นที่อาจต้องมีการบริหารงบประมาณแบบกระจายลงสู่เชิงพื้นที่ การปรับแก้กฎหมาย ให้อำนาจจังหวัด หรือท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งผลจะสรุปอย่างไร ทางกลุ่มจะสรุปและนำเสนอต่อสำนักงบประมาณ เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารงบประมาณด้านภัยพิบัติแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ต่อไป

'นายกฯ เศรษฐา' เตรียมลงพื้นที่สุโขทัย ติดตามโครงการป้องกันอุทกภัย 27 พ.ย.นี้

(24 พ.ย. 66) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เตรียมเดินทางลงพื้นที่ จ.สุโขทัย ในวันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2566 เพื่อไปตรวจราชการติดตามโครงการป้องกันอุทกภัย จ.สุโขทัย และร่วมพิธีเผาเทียน ชมการแสดง แสง เสียง ร่วมพิธีลอยพระประทีปพระราชทาน และชมการแสดงพลุ ตะไล ไฟพะเนียง ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย โดย นางพักตร์พิไล ทวีสิน ภริยานายกรัฐมนตรี, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี, นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ร่วมคณะตรวจราชการ

โดยเวลาประมาณ 16.15 น. นายกรัฐมนตรีและภริยา พร้อมคณะ ออกเดินทางจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ ไปยังท่าอากาศยานสุโขทัย ต.คลองกระจง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย โดยเครื่องบินของกองทัพอากาศ เมื่อเดินทางถึงท่าอากาศยานสุโขทัย ออกเดินทางต่อไปยังสำนักงานเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี ต.ธานี อ.เมืองสุโขทัย จ.สุโขทัย เวลาประมาณ 17.45 น. นายกรัฐมนตรีจะรับฟังบรรยายสรุปการขอรับความช่วยเหลือโครงการป้องกันอุทกภัย จ.สุโขทัย ณ สำนักงานเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี

จากนั้น เวลาประมาณ 19.45 น.นายกรัฐมนตรีและภริยา ร่วมพิธีเผาเทียน ณ พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ต.เมืองเก่า อ.เมืองสุโขทัย จ.สุโขทัย ก่อนเดินทางโดยขบวนรถราง ไปร่วมชมการแสดง แสง เสียง ณ วัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จากนั้นเวลา 21.30 น. นายกรัฐมนตรีและภริยาร่วมพิธีลอยพระประทีปพระราชทาน และชมการแสดงพลุ ตะไล ไฟพะเนียง ณ ตระพังตะกวน อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย แล้วเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร โดยนายกรัฐมนตรีและภริยา จะเดินทางถึงท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ ในเวลา 00.00 น. 

‘นายกฯ’ เกาะติด ‘น้ำท่วมชายแดนใต้’ กำชับทุกหน่วยช่วย ปชช.ให้ทั่วถึง ยัน!! รัฐบาลพร้อมฟื้นฟู-เยียวยาทันที ขอบคุณ จนท.ที่ทำงานเต็มกำลัง

(29 ธ.ค. 66) น.ส.นัทรียา ทวีวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ติดตามและรับรายงานสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่ขณะนี้ มวลน้ำไหลไปที่จังหวัดปัตตานีแล้ว ทำให้จังหวัดมีน้ำท่วมสูง โดยนายกฯ ยังเป็นห่วงประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัย โดยสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานความมั่นคง ร่วมกันช่วยเหลือประชาชนในเรื่องอาหาร น้ำ ของใช้จำเป็น และยา กำชับให้ช่วยเหลืออย่างทั่วถึง และในพื้นที่ห่างไกลที่ประชาชนออกมาไม่ได้ อย่าให้ประชาชนเดือดร้อน

“นายกฯ ย้ำเรื่องการเตือนภัยและอพยพประชาชน หากจำเป็นก็ต้องทำ ส่วนเรื่องการเยียวยา ให้ความมั่นใจ ประชาชนทุกคนที่ประสบภัยจะได้รับการเยียวยา ฟื้นฟูทันทีเช่นกัน ทั้งนี้ นายกฯขอบคุณและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ และทุกหน่วยงานที่ทุ่มเท เสียสละเพื่อดูแลพี่น้องประชาชนที่ประสบภัย”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top