Saturday, 4 May 2024
อีสาน

‘ภูเก็ต-อีสาน’ ติดอันดับ 50 สถานที่ยอดเยี่ยมของโลก ปี 66 ฟาก ‘สุวรรณภูมิ’ ติดอันดับ 68 สนามบินยอดเยี่ยม ปี 66

(20 มี.ค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่จังหวัดภูเก็ต และภาคอีสานของประเทศไทย ติดอันดับ 50 สถานที่ยอดเยี่ยมของโลกประจำปี 2566 จากนิตยสาร Time และสนามบินสุวรรณภูมิของประเทศไทย ได้รับการจัดอันดับสนามบินยอดเยี่ยม โดยอยู่ในอันดับที่ 68

นายอนุชา กล่าวว่า นิตยสาร Time นิตยสารข่าวรายสัปดาห์ของชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ได้จัดอันดับให้ จังหวัดภูเก็ต และภาคอีสาน ของประเทศไทย ติดอันดับ 50 สถานที่ยอดเยี่ยมของโลกประจำปี 2566 (2023 World's Greatest Places) โดยทางนิตยสารระบุว่า จังหวัดภูเก็ตมีทิวทัศน์ธรรมชาติและหาดทรายที่งดงาม อีกทั้งยังมีส่วนผสมทางวัฒนธรรมจากงานเทศกาลต่าง ๆ ที่ลงตัว เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวกันเป็นครอบครัว รวมถึงมีโรงแรมที่พักทุกระดับและหลากหลายราคา ส่วนภาคอีสาน เป็นสถานที่ที่อาหารมีความเป็นเอกลักษณ์ อาทิ ส้มตำ ลาบ ที่มีรสชาติ เผ็ดและเปรี้ยว อุดมไปด้วยสมุนไพร รวมทั้งภาคอีสานมีสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และสถาปัตยกรรมอันสวยงามอีกด้วย ซึ่งการคัดเลือก 2023 World's Greatest Places มาจากการเสนอชื่อจากเครือข่ายของสื่อมวลชนและนักเขียนของนิตยสาร Time จากทั่วโลก

‘วิฑูรย์’ ยูเทิร์นกลับมาช่วย ‘ปชป.’ มั่นใจ!! ทำพรรคได้ส.ส.อีสาน เพิ่มขึ้นแน่

ไปไหนไม่รอด! ‘วิฑูรย์ นามบุตร’ กลับคืนรัง ปชป. โวได้ส.ส.อีสานเพิ่มแน่

(22 มี.ค.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา นายวิฑูรย์ นามบุตร อดีต ส.ส. อีสาน 6 สมัย และได้ลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ไปแล้วตั้งแต่ปี 64 พร้อมด้วย นายวุฒิพงษ์ นามบุตร อดีตส.ส.อุบลราชธานี ปชป. ได้เดินทางมาที่พรรคปชป. เพื่อเข้าพบนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคฯ และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคฯ โดยนายวิฑูรย์ ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคปชป.แบบตลอดชีพ อีกครั้ง โดยมีนายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรค และผอ.เตรียมการเลือกตั้งพรรคฯ ร่วมให้การต้อนรับภายใต้บรรยากาศการ

‘สกลนคร’ ส่อเดือด หลังแบ่งเขตใหม่เป็น 7 ที่นั่ง ‘เพื่อไทย’ ไม่น่าพลาด!! จ่อกวาดยกจังหวัดตามเคย

สนามเลือกตั้ง จ.สกลนคร ที่มีเก้าอี้ ส.ส.เพิ่มจาก 6 เป็น 7 ที่นั่ง ทำให้บรรยากาศการเลือกตั้งส่อเค้าดุเดือด แต่ละพรรคการเมืองต้องปรับแผนการลงพื้นที่กันใหม่หลายจุด โดยเฉพาะแชมป์เก่าอย่างพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่กวาด ส.ส.ยกจังหวัด

เขตที่ 1 อ.เมือง (ยกเว้น ต.หนองลาด ต.โคกก่อง ต.ม่วงลาย ต.ดงชน และ ต.โนนหอม) อภิชาติ ตีรสวัสดิชัย แชมป์เก่าหลายสมัยจากพรรค พท. ที่คอยผลักดันงบประมาณลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ลงป้องกันพื้นที่ตนเอง เจอคู่ต่อสู้อย่าง ตวงสิทธิ์ พงษ์พิศ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) นักธุรกิจหนุ่ม ชูนโยบายพรรค เน้นนิวโหวตเตอร์จากสถานศึกษา ขณะที่ บ่าวนิก สิรภพ สมผล พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) คนรุ่นใหม่ไฟแรง ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น สานต่อการเมืองจากพ่อแม่เป็น ส.อบจ. รอบนี้ขอสู้สนามใหญ่ และ ‘ณปภัช เสโนฤทธิ์’ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) คนรุ่นใหม่พกความรู้มาแน่นเอี้ยดลุยขอคะแนนเสียงแอบลุ้นไกล ๆ

เขตที่ 2 อ.กุสุมาลย์ อ.โพนนาแก้ว อ.โคกศรีสุพรรณ อ.เต่างอย และ อ.เมือง (เฉพาะ ต.โคกก่อง ต.ม่วงลาย ต.ดงชน และ ต.โนนหอม) ‘มหานิยม’ นิยม เวชกามา แชมป์เก่าหลายสมัยอีกคนพรรค พท. มีผลงานอภิปรายในสภาแก้ปัญหาช่วยชาวบ้าน ส่งเสริมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาขวัญใจชาวบ้าน จะลงป้องกันตำแหน่ง เจอคู่แข่งอย่าง ‘ชาญชัย งอยผาลา’ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) อดีตนักการเมืองท้องถิ่น รอบที่แล้วลงสังกัดพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พ่ายแพ้ราว 1 หมื่นเสียง คราวนี้หวังล้างตาอีกครั้ง

ขณะที่ 'กัญญาภัค ศิลปะรายะ' พรรคภูมิใจไทย (ภท.) นักการเมืองท้องถิ่น อดีตนายก อบต.โพธิไพศาล สาวมาดมั่นขอท้าชิงแชมป์เก่า ส่วน 'กฤษณะ พุฒซ้อน' พรรค พปชร. นักธุรกิจในพื้นที่ อ.เต่างอย ยังมี 'ชาตรี หล้าพรหม' พรรค ปชป. นักการเมืองท้องถิ่น และ 'ภูเบศวร์ เห็นหลอด' พรรค ก.ก.นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยที่หวังลุ้นแต้มด้วย

เขต 3 อ.อากาศอำนวย อ.พรรณานิคม อ.เมืองสกลนคร (เฉพาะ ต.หนองลาด) อ.วานรนิวาส (เฉพาะ ต.นาซอ) 'จิรัชยา สัพโส' พรรค พท. ลูกสาว 'พัฒนา สัพโส' ส.ส.เขต 3 ที่ส่งลูกสาวลงป้องกันตำแหน่งแทนพ่อ ต้องเจอคู่ต่อสู้คือ 'สาคร พรหมภักดี' จากพรรค ปชป. ที่คร่ำหวอดการเมืองมานาน อดีต ส.ส.หลายสมัย แม่ทัพนำทีมพรรค ปชป.สู้ศึกเลือกตั้ง จ.สกลนคร ที่หวังขอพลิกคว้าเก้าอี้ และ 'ภิญโญ ขันติยู' พรรค ก.ก.

เขตที่ 4 อ.กุดบาก อ.วาริชภูมิ อ.ภูพาน อ.นิคมน้ำอูน อ.ส่องดาว (ยกเว้น ต.ท่าศิลา) 'พัฒนา สัพโส' ที่ย้ายจากเขต 3 มาลงเขต 4 มั่นใจไม่น่าพลาด ต้องเจอคู่แข่งอย่าง 'พงษ์ศักดิ์ สุทธิคีรี' สวมเสื้อพรรค ปชป. นักการเมืองท้องถิ่นและนักกฎหมาย และ 'ขจรศักดิ์ เบ็ญชัย' พรรค ก.ก. นักกฎหมาย อดีตนักการเมืองท้องถิ่น

‘แรมโบ้’ นำทีม ‘ประธานหมู่บ้านเสื้อแดง 4 ภาค’ บุกอีสาน ชู “รทสช.เบอร์ 22” อ้อนชาวมหาสารคามหนุน ‘บิ๊กตู่’ อีกสมัย

‘แรมโบ้อีสาน’ รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ มอบอดีตประธานหมู่บ้านเสื้อแดง 4 ภาค และ ผรท. ลงพื้นที่หนักชูนโยบาย “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ” ขณะที่ ‘อานนท์ แสนน่าน’ ขานรับวางแนวทางเข้าถึงทุกหมู่บ้าน หวังให้ ‘ลุงตู่อยู่ต่อ’ เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย

(11 เม.ย. 66) ณ ศาลากลางบ้านหนองโดน ตำบลนาโพธิ์ อำเภอกุดรัง จังหวัดมหาสารคาม นายอานนท์ แสนน่าน ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ อดีตผู้ริเริ่มก่อตั้งหมู่บ้านเสื้อแดง และ อดีตประธานหมู่บ้านเสื้อแดงแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยอดีตประธานหมู่บ้านเสื้อแดง 4 ภาค ประกอบด้วย นายสมชัย แสงทอง อดีตประธานหมู่บ้านเสื้อแดงภาคเหนือ, นางนิตยา นาโล หรือ ‘นักสู้ปอสี่’ อดีตประธานหมู่บ้านเสื้อแดงภาคอีสาน, นายไวทิต ศิริสุวรรณ อดีตประธานหมู่บ้านเสื้อแดงภาคกลาง และ นายทวี ประหยัด อดีตประธานหมู่บ้านเสื้อแดงภาคใต้ พร้อมด้วย นายสุพล หมื่นศรีพรม อดีตคอมมิวนิสต์ ‘สหายธวัชชัย’ ในฐานะประธานผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) ได้ลงพื้นที่พบปะอดีตแกนนำเสื้อแดง และ อดีตประธานหมู่บ้านเสื้อแดง เพื่อแจ้งผลการจับสลากของ ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’ ได้เบอร์ 22 เพื่อจะได้แจ้งให้แกนนำได้นำไปบอกต่อและกระจายข่าวให้สมาชิกทั้งประเทศได้รับทราบโดยทั่วกัน จากนั้นได้เดินทางไปพบปะแกนนำอดีตคนเสื้อแดงตามอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดมหาสารคาม ต่างพร้อมใจกันตะโกนลั่น “รวมไทยสร้างชาติ เบอร์ 22”

นายอานนท์ แสนน่าน ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ เปิดเผยว่า วันนี้ตนได้รับมอบหมายจาก นายเสกสกล อัตถาวงศ์ หรือ ‘แรมโบ้อีสาน’ รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ให้ลงพื้นที่พบปะมวลชนอดีตคนเสื้อแดง อดีตสหาย ผกค. หรือ ‘ผรท.’ และ ประชาชน ทุกภาคของประเทศไทย เพราะพรรครวมไทยสร้างชาติ ต้องการที่จะเอานายกรัฐมนตรีคนที่ทุ่มเททำงาน เอานายกฯ คนที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ ‘ลุงตู่’ พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ชัดเจนแล้วว่า “ทําแล้ว ทําอยู่ ทําต่อ” คืออะไร? เช่น…

“ทําแล้ว” นายกรัฐมนตรีหนึ่งเดียวในรอบ 30 ปี ที่รวมใจคนไทยฝ่าวิกฤติโลกได้ เปิดประเทศแล้ว ประคับประคองเศรษฐกิจให้ผ่านช่วงโควิด ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ พักหนี้ครัวเรือน หนี้ SME ช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน จนเศรษฐกิจฟื้นตัวทันทีหลังโควิด สร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งถนน ระบบราง ท่าเรือ สนามบินทั่วประเทศ เปิดเส้นทางเชื่อมต่อภูมิภาคอาเซียนทุกรูปแบบ เช่น ถนน รถไฟ เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกับซาอุดิอาระเบียเป็นครั้งแรก ในรอบกว่า 30 ปี แก้ปัญหาหมักหมม ที่ทำให้สินค้าไทยโดนแบนโดยต่างประเทศ พลิกโฉมเศรษฐกิจไทยให้ทันสมัยด้วยโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี ทำประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยว อันดับต้นของโลก บัตรลุงตู่/คนละครึ่ง, เที่ยวด้วยกัน, ช็อปดีมีคืน หนี้ กยศ. ไม่มีผู้ค้ำ ดอกเบี้ย 1% ให้ชำระคืนตามความสามารถ (ตามรายได้) แก้หนี้ครู ดูแลราคาน้ำมัน ราคาไฟฟ้า ลดภาระค่าไฟ แก๊สหุงต้ม ผู้มีรายได้น้อย เพิ่มสวัสดิการข้าราชการ ลูกจ้างราชการเพิ่มขึ้น เพิ่มสวัสดิการบัตรสุขภาพ นําเงินจากประกันสังคม แบ่งเบาความลำบากช่วงโควิด สวัสดิการคนสูงวัย เบี้ยคนชรา บัตรสุขภาพ แม่ลางานเลี้ยงลูกได้ 6 เดือน เพิ่มค่าตอบแทนผู้บริหาร อบต. และสมาชิก อบต. เพิ่มค่าตอบแทนกํานัน ผู้ใหญ่บ้าน

นายอานนท์ กล่าวอีกว่า “ทําอยู่” คือ เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ กลับสู่ภาวะปกติ เจรจาความร่วมมือ ไทย - ซาอุดีอาระเบีย 9 ด้าน เช่น ท่องเที่ยว, แรงงาน, อาฟหาร, การค้า, การลงทุน, เปิดเที่ยวบินตรง ไทย - ซาอุดีอาระเบีย เที่ยวแรกในรอบกว่า 30 ปี (ก.พ. 2565) ทำประเทศไทยเป็นประตูเชื่อมสู่โลกของภูมิภาคอาเซียนและจีนตอนใต้ ทั้งด้านการค้าขาย บริการ ท่องเที่ยวทั้งเชิงนิเวศน์และสุขภาพ เริ่มทยอยลดราคาน้ำมัน ราคาไฟฟ้าตามสถานการณ์พลังงานในตลาดโลก

‘หญิงหน่อย – ฐากร’ พา ทสท.ปักธงอีสาน เป้าใหญ่!! เขี่ยเพื่อไทยเขต 2 เมืองน้ำดำ

ซูเปอร์โพลกลางเดือนเม.ย.2566 น่าสนใจไม่น้อย เมื่อระบุว่า พรรคเพื่อไทยจะได้รับเลือกตั้งแค่ 160 ที่นั่ง (เขต 133 ปาร์ตี้ลิสต์ 27) ภูมิใจไทย 121 (เขต 101 ปาร์ตี้ลิสต์ 20) ฯลฯ...ดูภาพรวมของโพลคงมีคนอยากเถียงด้วยไม่น้อยทีเดียว...

อย่างไรก็ตามที่ ‘เล็ก เลียบด่วน’ ให้ความสนใจก็คือ ผลโพลในการเลือกตั้ง ส.ส.เขต 133 ที่นั่ง ของ 20 จังหวัดอีสานที่ออกมาว่า...

พรรคเพื่อไทยได้ 78, ภูมิใจไทย 36, พลังประชารัฐ 10, ประชาธิปัตย์ 2, ก้าวไกล 2, รวมไทยสร้างชาติ 1 อื่น ๆ 4

ซูเปอร์โพลไม่ได้ระบุว่า อื่น ๆ อีก 4 ที่นั่ง หมายพึงพรรรคชาติพัฒนากล้าและไทยสร้างไทยหรือไม่...เพราะคาดหมายกันว่าชาติพัฒนากล้ามีโอกาสได้ 1-2 ที่นั่งที่โคราช ส่วนพรรคไทยสร้างไทย มีโอกาสสูงในพื้นที่อีสานเหนือ โดยเฉพาะที่เขต 2 กาฬสินธุ์...

เลือกตั้งกาฬสินธุ์ปี 2562 พรรคเพื่อไทยกวาดยกจังหวัด 5 เขต ปี 2566 นี้เพิ่มอีก 1 รวม เป็น 6 เขต พรรคไทยสร้างไทยภายใต้การนำของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประกาศที่จะปักธงเขต 2 เมืองน้ำดำให้จงได้ และดูเหมือนสถานการณ์หลายอย่างจะเป็นใจ...

รอบนี้ พรรคหญิงหน่อยได้ผู้สมัครดี คือ วันเพ็ญ เศรษฐรักษา เจ้าของฉายา ‘เจ๊นาง โรงทาน’ นักธุรกิจ มีฐานะเสบียงกรังเพียบ ประสบการณ์และความทะยานอยากทางการเมืองพร้อม ปี 2554 และ 2562 เคยสวมเสื้อภูมิใจไทยลงสมัครแต่สู้กระแสพรรคเพื่อไทยไม่ได้

‘เจ๊นาง’ ได้รับการปูนบำเหน็จเป็นที่ปรึกษา รมช.เกษตรและสหกรณ์...แต่ที่สุดเธอก็ต้องต้องขอแยกทางมาร่วมทางกับ ‘ไทยสร้างไทย’

แน่นอนพรรคไทยสร้างไทยได้รับการตอบรับค่อนข้างดีในพื้นที่อีสาน ‘หญิงหน่อย’ เองก็เป็นนายกฯ ของอีสานโพลมาหลายรอบ ความพุ่งแรงของไทยสร้างไทยถึงขั้นทำให้พรรคเพื่อไทยต้องประกาศบนเวทีว่า...พรรคเพื่อไทยไม่มีพรรคพี่พรรคน้องไม่เป็นพรรคพี่พรรคน้องกับใคร นัยว่า เพื่อสกัดกั้นพรรคหญิงหน่อยกันเลยทีเดียว

อีกปัจจัยบวกสำหรับไทยสร้างไทยก็คือ เพื่อไทยเปลี่ยนผู้สมัครเขต 2 จาก วีรวัฒน์ โอสถานุเคราะห์ ที่ชราภาพเป็นคนรุ่นใหม่ที่ข้ามมาจากเขต อ.เมือง

และปัจจัยสำคัญที่มาถูกที่ถูกเวลาและน่าจะหนุนส่งให้ฝันของเจ๊นางเป็นจริงยิ่งขึ้นก็คือ...พรรคไทยสร้างไทยเปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรคคนใหม่เป็น ‘ฐากร ตัณฑสิทธิ์’ อดีตเลขาธิการ กสทช.สองรอบ...

'พปชร.' มาเหนือเมฆ ชู 'อีสานประชารัฐ' มีโอกาสทำ 'แลนด์สไลด์' สะดุด

(22 เม.ย.66) นับถอยหลังเหลืออีกเพียงไม่กี่วัน ก็จะเข้าสู่ช่วงของการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ และยิ่งนับวันยิ่งเกิดการแข่งขันที่รุนแรงแน่นอนว่าพื้นที่ภาคอีสาน ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ที่ทุกพรรคหมายมั่นปั้นมือ จะต้องบุกปักธงให้สำเร็จ เพราะเคยมีคำกล่าวที่ว่า หากพรรคใดคว้าชัย ได้ ส.ส.อีสานมากที่สุด หรือกวาดหมดยกภาคได้ ก็แทบจะการันตีได้ทันที ว่าจะเป็นพรรคอันดับ 1 มีโอกาสเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลค่อนข้างสูง เพราะเป็นพื้นที่ที่มีจำนวน ส.ส. มากที่สุดถึง 133 คน จาก 20 จังหวัด 

ก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทย เป็นพรรคที่มีฐานเสียงและจำนวน ส.ส.ภาคอีสานมากที่สุดในการเลือกตั้งแทบทุกครั้ง ครั้งก่อนเมื่อการเลือกตั้งปี 2562 กวาดไปถึง 84 ที่นั่ง ตามมาด้วยอันดับสองพรรคภูมิใจไทย 16 ที่นั่ง

และพลันที่พรรคเพื่อไทยประกาศจะชนะเลือกตั้งครั้งนี้ แบบแลนด์สไลด์ นั่นก็เพราะความมั่นใจว่าจะสามารถกวดที่นั่งในภาคอีสานแบบถล่มทลายเช่นเดิม

แต่ทว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ การจะกวาดที่นั่งเป็นกอบเป็นกำเหมือนที่ผ่านมา คงไม่ง่ายนัก เพราะพรรคคู่แข็งอย่างภูมิใจไทยมีฐานเสียงที่แข็งแกร่งในพื้นที่อีสานใต้ นั่นยังไม่นับรวมคู่แข่งที่มาจากฟากเดียวกัน อย่างเช่น พรรคก้าวไกล และพรรคไทยสร้างไทย ที่สมาชิกพรรคส่วนใหญ่ล้วนเคยอยู่กับพรรคเพื่อไทยมาก่อน

ขณะที่อีกหนึ่งพรรคที่จะมองข้ามไม่ได้ นั่นก็คือ 'พรรคพลังประชารัฐ' ภายใต้การนำของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ที่หมายมั่นปั้นมือจะได้จำนวน ส.ส.ไม่น้อยกว่าการเลือกตั้งในปี 2562 ที่ชนะการเลือกตั้งเข้ามาเป็นอันดับ 3 ด้วยจำนวน 11 ที่นั่ง แม้ว่าขณะนี้กระแสของพรรค อาจจะไม่แรงเท่าเลือกตั้งครั้งก่อน แต่จากผลงานของพลเอกประวิตร ในเรื่องบริหารจัดการน้ำ ทำให้ภาคอีสานมีน้ำกินน้ำใช้ไม่ขาด ตามคำประกาศที่ว่า “มีเราไม่มีแล้ง” ก็ช่วยให้ฐานเสียงของพรรคฯ เพิ่มขึ้นไม่น้อยเช่นกัน

ไม่เพียงเท่านั้น ล่าสุด พรรคพลังประชารัฐ ได้ประกาศนโยบาย “อีสานประชารัฐ” เตรียมผุดโปรเจ็กยักษ์ เพื่อพี่น้องชาวอีสานอีกหลายโครงการ ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า พรรคพลังประชารัฐ ให้ความสำคัญกับพื้นที่นี้อย่างมาก และพร้อมจะพัฒนาพื้นที่ภาคอีสาน เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

โครงการพัฒนาภาคอีสาน ที่ทางพรรควางไว้นั้น ประกอบด้วย ด้วยรถไฟทางคู่ บึงกาฬ-อู่ตะเภา เป็นการพัฒนาพื้นที่ 24 จังหวัดภาคอีสานและภาคตะวันออก สอดรับโครงการอีอีซี ระยะทาง 480 กม. ซึ่งได้สำรวจเส้นทางเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งจะสร้างทางหลวงพิเศษ 8 ช่องจราจร ตลอดแนวเส้นทางรถไฟ และจะสร้างนิคมอุตสาหกรรม ขนาด 20,000 ไร่ 6 แห่ง รองรับกว่า 6,000 โรงงาน 

นอกจากนี้ จะสร้างวิทยาลัยอาชีวะใกล้นิคมอุตสาหกรรม นิคมฯ ละ 2 แห่ง รวม 12 แห่ง เพื่อเตรียมแรงงานที่มีทักษะและคุณภาพรองรับอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และยังมีโครงการพัฒนาท่าเรือบก ซึ่งจะเป็นพื้นที่รองรับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากนิคมอุตสาหกรรมที่จัดตั้งขึ้น ก่อนที่จะมีการขนส่งไปยังท่าเรือน้ำลึกที่ภาคตะวันออก 

เปิด 3 เหตุผลดัน ‘อีสาน’ ศูนย์กลาง BCG อาเซียน ทรัพยากรสมบูรณ์-พร้อมต่อยอดการวิจัย-เชื่อมโยงเพื่อนบ้าน

(19 มิ.ย. 66) นโยบายการพัฒนาเชิงพื้นที่ถือว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในภาพรวม โดยการขับเคลื่อน ‘ระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค’ จะเป็นหนึ่งในกลไกที่จะช่วยกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และสร้างความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน รวมทั้ง เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน

ทั้งนี้ การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) หรือ Northeastern Economic Corridor (NeEC) กำหนดพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา อุดรธานี หนองคาย และขอนแก่น ถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและโอกาสที่จะพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bioeconomy) แห่งใหม่ของประเทศและเป็นผู้นำในระดับอาเซียน ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดห่วงโซ่การผลิต

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) และมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ที่สนับสนุนผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เน้นการลงทุนในอุตสาหกรรม BCG ทำให้มียอดการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือช่วงไตรมาสแรก (ม.ค.- มี.ค.) ของปี 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 24 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 3,800 ล้านบาท โดยการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร

โดยมี 3 เหตุผลที่ภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ ได้แก่

1.) ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ภาคอีสานมีพื้นที่มากที่สุด คิดเป็น 1 ใน 3 ของประเทศ หรือกว่า 160,000 ตารางกิโลเมตร และมีขนาดประชากรคิดเป็น 1 ใน 3 ของประเทศ กว่า 22 ล้านคน ทั้งยังเป็นพื้นที่เพาะปลูกสูงถึง 43% ของประเทศ โดยมีการปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ มันสำปะหลัง อ้อย ข้าว และยางพารา ซึ่งวัสดุเหลือใช้จากพืชเหล่านี้ จะกลายเป็นวัตถุดิบล้ำค่าในการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ

2.) มีความพร้อมพัฒนาต่อยอดงานวิจัย ภาคอีสานเป็นถิ่นกำเนิดของศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงเป็นที่ตั้งของสถาบันการศึกษาที่มีขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และหน่วยงานวิจัยจำนวนมาก 

3.) ตั้งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ ภาคอีสานอยู่ในจุดที่มีความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน สามารถเป็นประตูเศรษฐกิจสู่ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่มีศักยภาพการเติบโตสูงได้อย่างดี 

จุดแข็งและสินทรัพย์เหล่านี้ ทำให้ภาคอีสานจะเป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญในการดึงดูดการลงทุน และมีบทบาทช่วยขับเคลื่อนประเทศไปสู่เศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูปอุตสาหกรรมชีวภาพ 

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับอุตสาหกรรมในอนาคต รวมถึงบทบาทของภาคเอกชนในการร่วมขับเคลื่อนการลงทุน 

“ด้วยศักยภาพอันโดดเด่นของพื้นที่ NeEC ผนวกกับสิทธิประโยชน์บีโอไอที่มุ่งเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย และกระตุ้นให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม” 

โดยบีโอไอมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงตั้งแต่วัตถุดิบต้นน้ำโดยเฉพาะวัตถุดิบการเกษตรท้องถิ่น ไปสู่ผลิตภัณฑ์ปลายน้ำมูลค่าสูง จะส่งผลให้ NeEC สามารถสร้างฐานการลงทุนอุตสาหกรรมชีวภาพแบบครบวงจร หรือไบโอคอมเพล็กซ์ และก้าวไปสู่การเป็นเมืองหลวง BCG (Bio-Circular-Green Industry) ของภูมิภาคอาเซียนได้ในที่สุด

ตำรวจ ปส. โค่นเครือข่ายยาเสพติดใหญ่ในภาคอีสาน พบหลังถูกปล่อยตัวยังลอบขนยาบ้ากว่า 6.4 ล้านเม็ด

ตามนโยบายการมุ่งเน้นแก้ไขปัญหายาเสพติดในทุกมิติของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ในการปราบปรามผู้ผลิตและผู้ค้ายาเสพติด โดยใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างจริงจังและเด็ดขาด รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติดตามแนวชายแดน หรือใช้ประเทศไทยเป็นเส้นทางผ่าน และใช้มาตรการยึดทรัพย์เพื่อตัดวงจรการค้ายาเสพติด ตามนโยบายการแก้ปัญหายาเสพติดของรัฐบาล ภายใต้การอำนวยการโดย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วย ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สรายุทธ สงวนโภคัย ผบช.ปส., พล.ต.ต.จิระวัฒน์ พยุงธรรม พล.ต.ต.พรพิทักษ์ รู้ยืนยงพล.ต.ต.บรรพต มุ่งขอบกลาง รอง ผบช.ปส., พล.ต.ต.ธนรัชน์ สอนกล้า ผบก.ปส.2 สามารถจับกุมเครือข่ายใหญ่ ลักลอบขนยาบ้า 6,440,000 เม็ด 

วันที่ 12 ต.ค.66 เวลาประมาณ 21.30-22.50 น. ตำรวจ ปส. บก.ปส.2 ร่วมจับกุม 4 ผู้ต้องหาคือ นายจงกล, นายบุญมี, น.ส.สุจิตรา และนางสำราญ ได้ที่บริเวณปั้มน้ำมันคาลเท๊กส์ อ.คำตากล้า จ.สกลนคร ต่อเนื่อง ริมถนนสาย 22 ถนนนิตโย อ.พังโคน จ.สกลนคร และ ริมถนนสาย 22 ถนนนิตโย อ.หนองหาน จ.อุดรธานี 

โดยก่อนการจับกุมครั้งนี้ ตำรวจ ปส.ได้ติดตามพฤติการณ์ของขบวนการค้ายาเสพติดที่มีนางสำราญ (ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมในคดีนี้) ที่เพิ่งถูกปล่อยตัวจากจากเรือนจำ และพบว่า นางสำราญ ยังมีการสั่งการให้เครือข่ายลักลอบขน ยาเสพติดล็อตใหญ่ให้ลูกค้า จึงเฝ้าสืบสวนติดตามพฤติการณ์ ต่อมาวันที่ 12 ต.ค.66 เวลาประมาณ 21.30 น. ตำรวจปส.2 ได้ติดตามรถยนต์โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ ทะเบียนxx 3367กทม. รถยนต์ฮอนด้า ทะเบียน xx 1473 กทม. และรถยนต์ฟอร์ด ทะเบียน xx 9750 สกลนคร ซึ่งขับขี่ไปอยู่ในพื้นที่ จ.สกลนคร เมื่อไปถึงปั้มน้ำมันคาลเท็กซ์ อ.คำตากล้าจ.สกลนคร ตำรวจ ปส.2 จึงได้แสดงตัวเข้าทำการตรวจค้น รถยนต์โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ ทะเบียน xx 3367 กทม. 

มีนายจงกล เป็นผู้ขับขี่ ผลการตรวจค้นพบยาบ้าจำนวน 6,440,000 เม็ด อยู่ในรถคันดังกล่าว ซึ่งนายจงกล รับว่าเป็นยาเสพติดที่กำลังขนไปส่งลูกค้าในพื้นที่ตอนใน ตำรวจ ปส.2 จึงแจ้งข้อหาจับกุมและยึดยาเสพติดเป็นของกลาง จากนั้นได้ติดตามไปสกัดจับกุม รถยนต์ฮอนด้า ทะเบียน xx 1473 กทม. ได้ที่บริเวณ อ.พังโคน จ.สกลนคร โดยมีนายบุญมีเป็นผู้ขับขี่ และ น.ส.สุจิตรา นั่งไปด้วย ซึ่งทั้งสอง รับว่าทำหน้าที่เป็นรถนำทางสังเกตการณ์ให้รถขนยาเสพติด และตำรวจ ปส.2 ได้ติดตามไปจับกุม รถยนต์ฟอร์ด ทะเบียน xx 9750 สกลนคร ได้ที่บริเวณ อ.หนองหาน จ.อุดรธานี โดยมีนางสำราญ เป็นผู้ขับขี่ ซึ่งรับว่าทำหน้าที่เป็นรถนำทางให้รถขนยาเสพติดเช่นกัน ในเบื้องต้นผู้ต้องหารับว่า การขนยาเสพติดครั้งนี้ใช้รถยนต์ถึง 3 คัน เนื่องจากผู้ต้องหากลุ่มนี้เคยถูกจับมาแล้ว จึงเพิ่มความระมัดระวัง โดยใช้รถยนต์คันแรกเป็นรถนำทางด้านหน้า เพื่อตรวจดูด่านของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และดูรถที่ติดตามขบวนยาเสพติดใช้รถยนต์คันที่2 เป็นรถบรรทุกยาเสพติด และรถยนต์คันสุดท้ายทำหน้าที่ปิดท้ายขบวน คอยคุ้มกันรถบรรทุกยาเสพติด จากนั้นตำรวจ ปส.2 จึงจับกุมตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลาง นำส่งพนักงานสอบสวน ปส.2 ดำเนินคดี และสอบสวนขยายผลหาผู้สั่งการและกลุ่มขบวนการยาเสพติดที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งดำเนินการตามมาตรการยึดทรัพย์เพื่อตัดวงจรการค้ายาเสพติดต่อไป

‘ในหลวง ร.๙’ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมประชาชนภาคอีสาน จุดเริ่มต้น ‘จอมพล ป. พิบูลสงคราม’ ร่วงหล่นจากตำแหน่ง

พอถึงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ภาพประวัติศาสตร์หนึ่งที่จะวนมาให้เราได้ระลึกถึงกัน ก็คือการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรภาคอีสานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ ๙) ระหว่างวันที่ ๒ - ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จฯ เยี่ยมเยียนราษฎรในภาคกลางมาแล้วในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ซึ่งในครั้งนั้นถือว่าเป็นการเสด็จฯ ครั้งประวัติศาสตร์ เพราะไม่เคยมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดเสด็จฯ ทั่วทั้งภาคอีสานมาก่อน จะมีก็เพียง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ที่เคยเสด็จฯ ประพาสต้น จังหวัดนครราชสีมาโดยทางรถไฟเป็นการส่วนพระองค์ 

การเสด็จพระราชดำเนินประพาสอีสานและประเทศไทยในครั้งนั้นเกิดขึ้นจากการสนับสนุนของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น 

ทำไม ? จอมพล ป. จึงสนับสนุนการเสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎร ต่างจังหวัด ของรัชกาลที่ ๙ 

สืบเนื่องจากรัฐบาลพม่าโดยนายกรัฐมนตรีอูนุ ได้กราบบังคมทูลเชิญในหลวงรัชกาลที่ ๙ เยือนสหภาพพม่าเพื่อทรงเปิดการประชุมสังคายนาพระไตรปิฎก ‘ฉัฏฐสังคายนา’ แต่ด้วยการกราบบังคมทูลเชิญในครั้งนั้นถือว่าไม่เป็นทางการเนื่องจากไม่ได้เป็นการเชิญโดยประมุขประเทศคือประธานาธิบดีบาอู พระองค์จึงทรงปฏิเสธ 

แต่จอมพล ป.เองก็ต้องการใช้การเสด็จฯ เยือนพม่าในคราวนี้ เพื่อสนับสนุนนโยบายการต่างประเทศ และการเมืองภายในประเทศของตน ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงตระหนักดีว่า พระองค์สามารถใช้เรื่องนี้ต่อรองทางการเมืองกับรัฐบาลได้ โดยพระองค์มีพระราชประสงค์จะเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในต่างจังหวัดเป็นการแลกเปลี่ยนกับการเสด็จฯ เยือนพม่าตามความต้องการของรัฐบาล

การต่อรองนี้เกิดขึ้นบนพื้นฐานที่ จอมพล ป. ต้องการฟื้นฟูบทบาทและกระชับความสัมพันธ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากมองว่าตนเองกำลังสู่ขาลง และการใช้ประโยชน์จากสถาบันฯ จะเป็นโอกาสที่ตนจะมีฐานทางการเมืองที่มั่นคงมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นนอกเหนือจากการเสด็จพระราชดำเนินในที่ต่างๆ แล้ว จอมพล ป.ยัง สนับสนุนให้ฟื้นฟูกรมกองและพระราชพิธีต่างๆ ที่ถูกยุบไปโดยคณะราษฎรขึ้นมาอีกครั้ง แม้บางอย่างจะเป็นไปในแบบย่นย่อก็ตาม

กลับมาเรื่องของการเสด็จพระราชดำเนินประพาสอีสานกันต่อ จากการต่อรองที่เกิดขึ้น ทำให้ จอมพล ป. กุลีกุจอในการวางแผนการเสด็จฯ ของในหลวง ร.๙ ไว้ ๓ ภาค คือ ภาคอีสาน, ภาคกลาง และภาคเหนือตลอดช่วงฤดูแล้งของปี ๒๔๙๘ โดยก่อนที่พระองค์จะเสด็จฯ เยือนภาคอีสาน พระองค์ทรงขอให้รัฐบาลจัดแผนการเสด็จฯ ไปยังบางจังหวัดในภาคกลาง ซึ่งจอมพล ป. ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้รับสนองพระบรมราชโองการทันทีพร้อมอนุมัติเงินจำนวน 260,000 บาท เพื่อใช้ในการซ่อมแซมที่ประทับ ค่าใช้จ่ายในการเสด็จฯ และค่าพระกระยาหาร … เรียกว่าใจป้ำสุดๆ 

ข่าวการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรภาคอีสานได้แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว การร่ำลือปากต่อปากก็ทำให้แพร่ไปอย่างทั่วถึง ประชาชนแม้ในถิ่นทุรกันดารต่างหอบเสื่อหอบหมอน ข้าวปลาอาหาร จูงลูกจูงหลาน ชักชวนกันมาเฝ้า ทั้งในตัวเมืองที่กำหนดเป็นสถานที่รับเสด็จฯ หรือตามเส้นทางเสด็จผ่านทางถนนและทางรถไฟ อย่างที่สถานีรถไฟนครราชสีมา มีราษฎรมาเฝ้ารับเสด็จเป็นแสนคน โดยเดินทางมาจากอำเภอต่างๆ ทำให้โรงแรมในเมืองทุกแห่งเต็มหมดจนต้องพักกันตามศาลาวัด

“บารมีของในหลวงองค์นี้ล้นเหลือนัก” 
“เหมือนฟ้ามาโปรด” 
“แต่นี้ไปความแห้งแล้งจะหมดไปจากอีสานละ”  
“ฮ้อนปานใดก็ฮีดได้ ขอเห็นเจ้าอยู่หัวคักๆ เถอะ” 

คำเหล่านี้คือ คำพูดจากประชาชนเมื่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จฯ โดยมีภาพจำตลอดสองข้างทางที่เสด็จฯ นั้น คลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่อยากจะชื่นชมพระบารมี แม้มืดค่ำก็ไม่ได้มีความย่อท้อ ทั้งยังตั้งโต๊ะบูชาเรียงรายไว้เป็นแถว จุดธูปเทียน ทำให้แสงเทียนแวววาวอยู่ในความมืดทั้งสองฟากถนน เป็นภาพที่งดงาม ประชาชนต่างนั่งพนมมือขณะที่รถพระที่นั่งผ่าน

ในวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ ประวัติศาสตร์ชาติไทยต้องจารึกว่าพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เสด็จฯ ไปสักการะพระธาตุพนม และภาพประวัติศาสตร์นึงที่เกิดขึ้น ณ จังหวัดนครพนมนี้ก็คือภาพที่ ในหลวง ร.๙ ทรงหยุดพระราชดำเนินที่แม่เฒ่าตุ้ม จันทนิตย์ วัย ๑๐๒ ปี และโน้มพระองค์ลงจนพระพักตร์แทบแนบชิดศีรษะแม่เฒ่า แย้มพระสรวลด้วยความเมตตา พระหัตถ์แตะมือกร้านของแม่เฒ่าด้วยความอ่อนโยนถือได้ว่าเป็นภาพประวัติศาสตร์ ซึ่งแสดงถึงความอ่อนโยนของพระองค์ ที่ทรงน้อมพระองค์ลงสู่ราษฎร อันเป็นข้อหนึ่งในทศพิธราชธรรมสำหรับพระมหากษัตริย์

การเสด็จฯ เยือนต่างจังหวัดได้เปิดโอกาสให้ประชาชนร้องทุกข์ต่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ โดยตรงแทนที่จะยื่นเรื่องผ่านส่วนราชการ ทำให้ข้าราชการได้ตื่นตัวเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ มากขึ้น เรียกได้ว่าไม่เคยเกิดขึ้นผ่านระบบการปกครองของพรรคการเมืองหรือคณะราษฎรที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่ ๒๔๗๕ เป็นต้นมา และในการเสด็จฯ เยือนภาคอีสานในครั้งนี้ รัชกาลที่ ๙ ยังได้ทรงพบกับ กระต่าย โดนสโสฤทธิ์ และ ผุย ชนะนิกร นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรลาว ซึ่งเดินทางข้ามชายแดนมาเข้าเฝ้าฯ พระองค์ที่หนองคายด้วย โดยนายกฯ ลาว ถึงกับประหลาดใจที่คนไทยให้การต้อนรับในหลวงอย่างที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิตนี้ 

แต่คนที่น่าจะประหลาดใจที่สุดน่าจะเป็น จอมพล ป. พิบูลสงคราม เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยือนราษฎรภาคอีสานในครั้งนี้ สำหรับในหลวงรัชกาลที่ ๙ ถือว่าเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์พระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักของประชาชนให้แก่พระองค์ และสำหรับจอมพล ป. แล้ว การสนับสนุนการเสด็จฯ ในครั้งนี้อาจเป็นนโยบายทางการเมืองที่ผิดพลาด เพราะนอกจากจะไม่สามารถสร้างความนิยมชมชอบตัวเขาในหมู่ประชาชนได้แล้ว กลับกลายเป็นว่าความชอบธรรมทางการเมืองและสังคมของจอมพล ป. กำลังถูกท้าทายจากบทบาทใหม่ของรัชกาลที่ ๙ ซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบของประชาชน ซึ่งกลายเป็นชนวนที่ต่อมาจอมพล ป. ลดงบประมาณการเสด็จพระราชดำเนินภาคเหนือของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ลง 

พร้อมด้วยทัศนคติของจอมพล ป. ที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ ๙ นั้น ‘ย่ำแย่ลง’ ตามอุปนิสัยของท่านจอมพล ที่เรียกได้ว่า ‘ขี้อิจฉา’ โดยเฉพาะจุดแตกหักเกิดขึ้นหลังจากงาน ‘งานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ’ หนังสือพิมพ์ที่ควบคุมโดย จอมพล ป. และ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์  ที่ชื่อว่า ‘ไทเสรี’ ได้ลงข่าวโจมตีพระราชวงศ์อย่างหยาบคาย (เป็นการพาดหัวข่าวในลักษณะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ)

กระแสของสังคมได้โต้กลับหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นอย่างรุนแรง รวมทั้งการอภิปรายโจมตีรัฐบาลอย่างหนักหน่วง ทำให้ความนิยมในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เป็นมาอย่างยาวนาน เสื่อมลงไปอีก ทั้งยังสร้างความโกรธแค้นชิงชัง จอมพล ป. ให้เกิดขึ้นกับประชาชน จนเกิดเป็นการทำรัฐประหารยึดอำนาจจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๐ ที่มีนักวิชาการตกขอบชอบยกเหตุการณ์นี้ว่าเกิดขึ้นจากในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทั้งๆ ที่องค์พระมหากษัตริย์ในสมัยจอมพล ป. แทบจะไม่มีพระราชอำนาจใดๆ เลย และบริบททางสังคมและการเมืองในสมัยนั้นต้องการมิ่งขวัญของปวงชนมากกว่าผู้นำเผด็จการที่ชอบแอบอ้างตนและหวังการใช้ประโยชน์จากองค์พระมหากษัตริย์

‘อีสาน ๒๔๙๘’ ต้นกำเนิด ‘ฝนหลวง’ เพื่อปวงชน ความคิดสร้างสรรค์ที่คนรุ่นใหม่บางคน ไม่เคยมี

๑๔ พฤศจิกายนของทุกปี ถือเป็น ‘วันพระบิดาแห่งฝนหลวง’ ที่มักจะมีทีมงานสัมภเวสีออกมาดิ้น ปรักปรำ และด้อยค่า ‘ฝนหลวง’ เพื่อปวงชนของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยใส่ชุดความคิดที่ว่า “ในหลวงภูมิพลลอกความคิดเรื่องฝนหลวงมาจากฝรั่ง” ให้กับกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าคนรุ่นใหม่ เพื่อด้อยค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งชุดความคิดแบบนี้เมื่อใส่เข้าไปแล้วก็ไม่มีการพิสูจน์หรือหาข้อมูลเพิ่มเติม ได้แต่พร่ำบอกต่อกันไปราวกับนกแก้ว นกขุนทอง 

สรุปแล้วก็งงเหมือนกันว่า คนรุ่นใหม่บางคนทำไมถึงคิดกันได้เพียงเท่านี้? 

ถ้าจะเล่าเรื่องการเกิด ‘ฝนหลวง’ ก็อยากจะย้อนเชื่อมโยงไปกับการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรอีสานระหว่างวันที่ ๒-๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๘ ที่เส้นทางเสด็จฯ ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ นั้น จะต้องผ่านพื้นที่ทุรกันดารมากมาย ต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะถึงจุดหมาย

ระหว่างเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินฯ ในวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๘ พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งยี่ห้อเดลาเฮย์ ซีดานสีเขียว จากจังหวัดนครพนมไปจังหวัดกาฬสินธุ์ ผ่านจังหวัดสกลนครและเทือกเขาภูพาน พระองค์ได้พบความขัดแย้งกันของความแห้งแล้งในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่พระองค์ต้องทรงแก้ไข 

เรื่องมีอยู่ว่าพระองค์ได้ทรงสอบถามราษฎรเกี่ยวกับความเสียหายทางการเกษตรที่คาดว่าน่าจะเกิดจากความแล้ง แต่กลับกันทรงพบว่า มันเกิดขึ้นจากน้ำท่วม ทั้ง ๆ ที่พื้นที่โดยรอบมีแต่ดินแดงและฝุ่นฟุ้งกระจายไปทั่ว ส่วนพอถึงหน้าแล้งก็ไม่มีฝน ไม่มีน้ำที่สามารถจะใช้เพื่ออุปโภค บริโภค และเพื่อการเกษตรได้ ทั้งที่ท้องฟ้าเต็มไปด้วยเมฆเป็นกลุ่มก้อน สรุปคืออีสานมีทั้งน้ำท่วมและฝนแล้ง ไม่มีสิ่งที่จะแก้ไขได้...แต่พระองค์ไม่ทรงคิดอย่างนั้น

ด้วยความที่พระองค์ทรงเป็น ‘นวัตกร’ การแก้ปัญหาความขัดแย้งจนเป็นปัญหาปากท้องของราษฎรจึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว 

ปัญหาแรกคือน้ำท่วม เพราะการท่วมเกิดขึ้นจากไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำ หรือพื้นที่ชะลอน้ำ เรื่องนี้ถูกแก้ด้วย ‘ฝายน้ำล้น’ และ ‘เขื่อน’ ขนาดเล็ก ๆ เพื่อชะลอและรองรับน้ำ ไม่ให้เกิดการชะล้างหน้าดินและสร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร

ส่วนอีกเรื่องคือ ‘ฝน’ เป็นเรื่องที่พระองค์ทรงขบคิดและนำมาต่อยอดเมื่อกลับจากการเสด็จฯ ภาคอีสานแทบจะในทันที 

“...แต่มาเงยดูท้องฟ้า มีเมฆ ทำไมมีเมฆอย่างนี้ ทำไมจะดึงเมฆนี่ลงมาให้ได้ ก็เคยได้ยินเรื่องการทำฝน ก็มาปรารภกับคุณเทพฤทธิ์ ฝนทำได้ มีหนังสือ เคยอ่านหนังสือทำได้...”

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล ซึ่งเป็นวิศวกรประดิษฐ์ควายเหล็ก ที่มีชื่อเสียงเข้าเฝ้าฯ และพระราชทานแนวความคิดนั้น พร้อมๆ กับที่พระองค์ได้ทรงเริ่มต้นลงมือทำการค้นคว้าทดลอง ประดิษฐ์คิดค้น และปฏิบัติการทดลองจริงในท้องฟ้า มิได้ทรงปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ คือทรงหาทั้งคนช่วยคิด ช่วยทำและทรงค้นคว้าพร้อมทรงปฏิบัติเองด้วยเพื่อความรวดเร็ว  

สำหรับการสร้าง ‘ฝนเทียม’ ที่คนรุ่นใหม่ถูกหลอกว่าฝรั่งเขาคิดได้ ในหลวง ร.๙ ไปลอกเขามา เรื่องนี้คนเชื่อต้องมีอคติบังตาขนาดไหน? และต้องไม่ศึกษาหาความรู้เบอร์ไหน? ถึงหลงเชื่อได้ขนาดนั้น 

‘พระองค์ไม่ได้ทรงคิดทดลองสร้างฝนเทียมเป็นคนแรก’ อันนั้นถูกต้อง!! เพราะผู้คิดทดลอง คือ นาย วินเซนต์ เชฟเฟอร์ และ เออร์วิง ลองมัวร์ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ โดยใช้ส่วนประกอบหลักในการสร้างฝนเทียมคือสาร Silver Iodide ที่มีคุณสมบัติทำให้เมฆมีความเย็นเหนือจุดเยือกแข็ง ด้วยการโปรยสารนี้ลงมาจากเครื่องบินหรือปล่อยให้ลมหอบขึ้นไป จะทำให้ไอน้ำเกิดการควบแน่น และหนักมากพอจนตกลงมาเป็นฝน 

ดังนั้นหลักสำคัญของวิธีการนี้คือ ‘ปล่อยให้ลมหอบอนุภาคขึ้นไป’ หรือ ‘ปล่อยอนุภาคลงมา’ นั่นเอง ซึ่งว่ากันตามจริง มันคือ ‘เม็ดฝนตามยถากรรม’ ตามสารเคมีที่ใครก็ทดลองได้ ไม่ได้เป็นสิทธิบัตรทางความคิดอะไร ทั้งยังไม่เหมือนวิธีการทำ ‘ฝนหลวง’ แล้วจะเรียกว่าลอกได้อย่างไร?    

แน่นอนว่า ความเป็นนักวิทยาศาสตร์ และนักคิดค้นอย่างพระองค์ ทรงต้องทรงอ่านการผลการทดลองนี้เป็นแน่แท้ ตามที่พระองค์ได้พระราชทานแนวความคิดต่อ ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล ว่า “...เคยอ่านหนังสือ...ทำได้” 

กระนั้น พระองค์จึงทรงคิดค้นและต่อยอดเพื่อให้ ‘ฝน’ ของพระองค์ ‘ควบคุมได้’ ไม่ได้สักแต่เอาสารเคมีไปโปรยเพื่อให้เกิดฝนตามยถากรรม 

ก่อกวน - เลี้ยงให้อ้วน - โจมตี ๓ ขั้นตอนที่พระองค์ทรงทดลอง สู่เทคนิคที่เรียกว่า ‘Super Sandwich’ ลงรายละเอียด จนเกิดเป็น ‘ฝนเทียม’ ที่มีประสิทธิภาพ มากกว่าการโปรยแค่สารเคมีอย่างเดียวอย่างที่ฝรั่งเขาทำกัน ซึ่งกระบวนการสร้าง ‘ฝน’ ของพระองค์ได้รับสิทธิบัตร ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕ เนื่องจากเป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นตอนที่สูงขึ้น เป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรม 

ทั้งนี้ ‘ฝนหลวง’ ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้รับการยอมรับในหมู่นักวิทยาศาสตร์, องค์กรด้านวิทยาศาสตร์และอุตุนิยมวิทยาระดับโลก จนในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ‘ฝนหลวง’ ก็ได้รับสิทธิบัตรโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ส่วนในต่างประเทศ สำนักสิทธิบัตรยุโรป (EPO) ก็ขึ้นทะเบียน ‘ฝนหลวง’ เป็นทรัพย์สินทางปัญญาตามหมายเลข ‘EP1491088’ อีกทั้งยังมีสิทธิบัตรอยู่ในประเทศอื่น ๆ อีกด้วย

ถ้าแค่การโปรยสารเคมีบางอย่างลงบนเมฆแล้วเกิด ‘ฝนเทียม’ แต่ควบคุมไม่ได้ มีเม็ดฝนแล้วแต่บุญแต่กรรม ‘ฝนหลวง’ ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ก็คงไม่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ 

แน่นอนว่า คนรุ่นใหม่ที่อยากด้อยค่าสถาบันฯ ก็คงคิดแต่มุมที่พระองค์ทรงลอกฝรั่งมา ก็วนอยู่แค่นั้น และไม่ได้สำเหนียกรู้เลยว่ากระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องผ่านการค้นคว้า ทดลอง จนเกิดเป็นงาน ‘Original’ มันเป็นแบบไหน?

‘ฝนหลวง’ ไม่เพียงแค่ช่วยราษฎรชาวอีสาน แต่ยังช่วยราษฎรในภูมิภาคอื่น ๆ อีกด้วย การคิดค้น ต่อยอดด้วยความสร้างสรรค์ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ท่านทรงทำให้ดูแล้ว เกิดผลจริงแล้ว พิสูจน์ได้ ไม่ใช่ ‘ฝนเทียม’ จากสาร Silver Iodide ที่กระจัดกระจายและไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สร้างสรรค์และพิสูจน์อะไรไม่ได้สักอย่างเดียว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top