Saturday, 4 May 2024
อีสาน

'กูรูอีสาน' โชว์ภาพรวม ศก.ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 'เกษตรฯ-การลงทุน-นวัตกรรม' เฟื่องฟูไม่แพ้ถิ่นใด

จากรายการ THE TOMORROW ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 11 พ.ย.66 ได้พูดคุยกับ คุณสุรวัช อริยฐากูร ผู้จัดการศูนย์ธุรกิจสินเชื่อ ธ.ก.ส. และที่ปรึกษาองค์กรภาคเอกชน ถึงประเด็น 'ภาพรวมของเศรษฐกิจในภาคอีสานในปัจจุบัน' โดยมีเนื้อหาดังนี้...

หากพูดถึงอีสาน สิ่งที่เราจะนึกถึง คือ วิถีชีวิตของคนถิ่นที่มีการดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย ซึ่งส่งผลต่อภาพเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ความหวือหวา โดยคนส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทางการเกษตรเป็นหลัก เช่น การปลูกข้าว ปลูกยางพารา ปลูกมันสำปะหลัง ฯลฯ ทำให้เศรษฐกิจในภาคอีสานต้องพึ่งพาด้านเกษตรกรรมอยู่เป็นจำนวนมาก 

อย่างไรก็ตาม การเติบโตและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาคอีสาน ก็ยังมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง อย่างในภาคอุตสาหกรรมที่เติบโตชัด จะประกอบไปด้วย อุตสาหกรรมแป้งมัน, มันสำปะหลัง 

ขณะที่ภาคเกษตรกรรมที่โดดเด่น คือ การเพาะปลูกข้าว ที่มีการส่งออกเพิ่มมากขึ้น รวมถึงอุตสาหกรรมแปรรูปต่างๆ 

ในด้านการปศุสัตว์ที่หล่อเลี้ยงภูมิภาคนี้ ก็จะเป็นหมวดของการขยายฟาร์มเลี้ยงสุกร เลี้ยงไก่ เป็นต้น 

ทั้งนี้ ถ้าจัดลำดับสัดส่วนสินค้าที่เป็นยุทธศาสตร์หลักๆ ของภาคอีสาน ได้แก่ ข้าว, มันสำปะหลัง, ยางพารา และข้าวโพด ถือเป็นพระเอก ส่วนปศุสัตว์ที่มีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว ก็จะเป็นการทำฟาร์มสุกรขุน 

นอกจากนี้อุตสาหกรรมโคนมก็ถือว่าเป็นสิ่งได้รับความนิยม โดยมีกลุ่มเกษตรกรการเกษตร คอยส่งเสริมให้กับเกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้ออยู่แล้วหันมาเลี้ยงโคนม หลังจากแถบวังน้ำเขียวเริ่มเข้ามาซื้อน้ำนมดิบมากขึ้น 

ส่วนธุรกิจใหม่ที่น่าสนใจในภาคอีสานอีกด้านหนึ่ง คือ ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) เนื่องจากภาคอีสาน มีพื้นที่ทำการเกษตรจำนวนมาก อีกยังเป็นพื้นที่ที่มีความเข้มของแสงสูงเหมาะสมกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งปัจจุบัน บีโอไอ ได้มีนโยบายสนับสนุนกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จึงทำให้เกิดโซลาร์ฟาร์มขายคืนพลังงานให้กับการไฟฟ้า กลายเป็นธุรกิจใหม่พลังงานสะอาดตาม BCG โมเดลในผืนถิ่นนี้

ขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในภาคอีสานก็มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยสอดคล้องกับลูกหลานคนอีสานที่ย้ายถิ่นฐานกลับมาอยู่ใกล้ครอบครัว ทำให้บ้านจัดสรรได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะในอำเภอรองในจังหวัดใหญ่ๆ เนื่องจากเมืองเริ่มขยายตัว

ส่วนภาพรวมการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ใน 6 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม-มิถุนายน) ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 8 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา, ชัยภูมิ, บุรีรัมย์, สุรินทร์, ยโสธร, ศรีสะเกษ, อำนาจเจริญ และจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นอยู่ในความรับผิดชอบของ 'บีโอไอโคราช' นั้น พบว่า มีโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน จำนวน 38 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 36 และมีมูลค่าเงินลงทุน 15,063 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 373

เห็นภาพรวมเศรษฐกิจคร่าวๆ ในดินแดนแห่งนี้ ที่อาจจะยังไม่ถึงขั้นลงรายละเอียดเชิงลึกเป็นรายจังหวัดไปแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า การให้ความสำคัญในอีสานของภาครัฐในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ช่วยทลายภาพอีสานแล้ง แล้วทดแทนด้วยความเจริญผนวกกับโอกาสที่เริ่มค่อยๆ เติมเข้ามามากขึ้นได้พอสมควรเลยจริง ๆ...

‘ไทย’ หนุนเส้นทางท่องเที่ยว-โชว์มนต์เสน่ห์ ‘ภาคอีสาน’ ชูวัฒนธรรม-ยกระดับผลิตภัณฑ์-งานหัตถศิลป์สู่ตลาดจีน

(20 พ.ย. 66) สำนักข่าวซินหัว, คุนหมิง รายงานว่า คุณสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และคุณฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้นำคณะผู้แทนบริษัทผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวของไทยมากกว่า 20 แห่ง เข้าร่วมงาน ‘ไชน่า อินเตอร์เนชันแนล ทราเวล มาร์ต’ (China International Travel Mart) ปี 2023 ซึ่งจัดขึ้นที่นครคุนหมิง มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เมื่อวันที่ 17-19 พ.ย. ที่ผ่านมา

คุณฐาปนีย์ กล่าวว่า การเข้าร่วมงานครั้งนี้ มุ่งนำเสนอเส้นทางการท่องเที่ยวใหม่สู่ตลาดจีน ภายใต้แนวคิด ‘ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ยิ่งเที่ยวยิ่งสนุก’ โดยนักท่องเที่ยวชาวจีนสามารถโดยสารรถไฟจีน-ลาว มาท่องเที่ยวภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานของไทย ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวฯ ยังจัดการแสดงรำไทย การนวดแผนโบราณ และการทำงานหัตถศิลป์ ที่พาวิลเลียนไทย เพื่อนำเสนอขนบธรรมเนียมและมนต์เสน่ห์วัฒนธรรมภาคอีสานด้วย

คุณสุดาวรรณ เผยว่า ไทยให้ความสำคัญกับความร่วมมือกับจีน ในด้านการลงทุนทางเศรษฐกิจ การศึกษา และการท่องเที่ยว ขณะที่งานนี้ถือเป็นนิทรรศการจัดแสดงขนาดใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจีน รวมถึงเป็นเวทีสำหรับบริษัทผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวของไทย ได้ติดต่อสื่อสารกับบรรดาผู้มีบทบาทในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจีน ส่งเสริมผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวของไทยแก่นักท่องเที่ยวชาวจีน และขยายส่วนแบ่งในตลาดจีน

ทั้งนี้ คุณสุดาวรรณ เสริมว่า ไทยดำเนินมาตรการฟรีวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวชาวจีน ระยะ 5 เดือน ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. เป็นต้นมา พร้อมกับพยายามยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์และการบริการทางการท่องเที่ยว ดำเนินมาตรการรักษาความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวอย่างแข็งขัน เพื่อรับประกันความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวชาวจีนในไทย ช่วยให้นักท่องเที่ยวชาวจีนได้สัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวอันยอดเยี่ยม สร้างความประทับใจที่ดีแก่นักท่องเที่ยวชาวจีน

การท่องเที่ยวฯ ระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเยือนไทยในปีนี้รวมอยู่ที่ 2.86 ล้านคน เมื่อนับถึงวันที่ 9 พ.ย. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวคนหนุ่มสาวที่เดินทางมาท่องเที่ยวด้วยตนเอง โดยการท่องเที่ยวฯ จะเดินหน้าสร้างสรรค์ภาพลักษณ์เชิงบวกของการท่องเที่ยวไทย เพื่อมอบประสบการณ์การเดินทางท่องเที่ยวแก่นักท่องเที่ยวชาวจีนได้ดียิ่งขึ้น

'บิ๊กต่าย' แถลง ตำรวจ ปส. ทลาย 2 เครือข่ายค้ายา ภาคเหนือ และภาคอีสาน ยึดยาบ้ากว่า 14 ล้านเม็ด ปะปนมากับแตงกวา และไอซ์ 100 กก. หวังกระจายในพื้นที่ชั้นใน

ตามนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เน้นการจับกุมทำลายเครือข่ายวงจรยาเสพติด ยึดทรัพย์ที่ได้มาจากการค้ายาเสพติด และเร่งรัดในการทำลายยาเสพติดของกลาง โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้รับนโยบายจากนายกรัฐมนตรี มาดำเนินการ และได้สั่งการให้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. และ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ผู้รับผิดชอบงานยาเสพติด เข้าไปกำกับดูแลสั่งการ 

ซึ่งวันนี้ 24 พ.ย.66 เวลา 10.30 น. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร./ผอ.ศอ.ปส.ตร. เป็นประธานการแถลงผลการกวาดล้างเครือข่ายยาเสพติดรายใหญ่ 2 เครือข่าย พร้อมด้วย พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ศอ.ปส., พล.ต.ท.คีรีศักดิ์ ตันตินวะชัย ผบช.ปส., พล.ต.ต.สมเกียรติ วัฒนพรมงคล, พล.ต.ต.สมบูรณ์ เทียนขาว, พล.ต.ต.ออมสิน ตรารุ่งเรือง, พล.ต.ต.พลัฎฐ์ วิเศษสิงห์ รอง ผบช.ปส., พล.ต.ต. ธนรัชน์ สอนกล้า ผบก.ปส.2, พล.ต.ต.พรศักดิ์ สุรสิทธิ์ ผบก.ปส.4, พล.ต.ต.อิทธิพล จันทร์ศรีบุตร ผบก.ขส. และ พล.ต.ต.วิทัศน์ บริรักษ์ ผบก.สกส. ด้าน ผบช.ปส. เผยว่า บช.ปส. จะเดินหน้าปราบปรามเครือข่ายยาเสพติดทุกเครือข่ายอย่างหนัก รวมไปถึงการสืบสวนขยายผล  ใช้เครื่องมือและกฎหมายที่มีอยู่เพื่อเอาผิดกับเครือข่ายและผู้ที่ร่วมกันให้การสนับสนุนเครือข่ายค้ายาเสพติดอย่างเด็ดขาด เพื่อตัดวงจรการค้ายาเสพติด ขณะเดียวกันก็ได้ขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันยาเสพติดควบคู่ไปด้วย ล่าสุด ตำรวจ ปส. สามารถจับกุมผู้ต้องหาและตรวจยึดยาเสพติดได้เป็นจำนวนมาก ได้แก่ ไอซ์ 100 กก. และ ยาบ้า 13,400,000 เม็ด 

คดีที่ 1 ตำรวจ กก.3 บก.ปส.2 ร่วมกับตำรวจ บก.ขส. ร่วมกันสืบสวนติดตามกลุ่มเครือข่ายที่มีพฤติการณ์ลำเลียงยาเสพติดในพื้นที่รับผิดชอบ กระทั่งช่วงบ่ายของวันที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา พบความเคลื่อนไหวกลุ่มเครือข่ายจะลำเลียงยาเสพติดจากพื้นที่แนวชายแดน ด้าน จว.นครพนม ไปส่งให้กับลูกค้าในเขตพื้นที่ตอนในประเทศ โดยใช้รถยนต์ หมายเลขทะเบียน xx 61xx กรุงเทพมหานคร ในการลำเลียงยาเสพติด เจ้าหน้าที่จึงประสานกำลังกับเจ้าหน้าที่ทหารกองกำลังสุรศักดิ์มนตรี เฝ้าติดตามตามเส้นทางที่ได้รับแจ้ง พบรถเป้าหมายวิ่งไปตามถนนเส้นสกลนคร - อ.สมเด็จ จว.กาฬสินธุ์ ต่อเนื่อง จว.มหาสารคาม  ก่อนจะมาจอดรถติดสัญญาณไฟจราจรที่บริเวณแยกวังยาว ต.เกิ้ง อ.เมือง จว.มหาสารคาม ตำรวจชุดจับกุมได้แสดงตัวเข้าจับกุมพร้อมตรวจสอบพบ นายจักรกฤษ อายุ 36 ปี ชาว จว.กาฬสินธุ์ เป็นผู้ขับขี่ ผลการตรวจค้นรถพบไอซ์ ซุกซ่อนในฝากระโปรงท้ายรถยนต์ รวมจำนวน 100 กก. ด้านผู้ต้องหาให้การว่า ประมาณเดือนกันยายน ที่ผ่านมาได้รู้จักและไปทำงาน กับผู้รับเหมาก่อสร้างรายหนึ่งในหมู่บ้านโคกกลาง ต.ลำปาว อ.เมือง จว.กาฬสินธุ์ ที่ตนอาศัยอยู่ เมื่องานเสร็จผู้รับเหมาได้ย้ายไปที่อื่น ตนจึงไม่มีงานทำ ก่อนจะโทรศัพท์ติดต่อเพื่อของานกับผู้รับเหมารายนี้ จึงแนะนำให้ตนขับรถขนยาเสพติดและถูกจับกุมดังกล่าว ซึ่งหลังการจับกุมเจ้าหน้าที่จะขยายผลหาตัวการใหญ่ในการว่าจ้างลำเลียงยาเสพติดจำนวนนี้ต่อไป เบื้องต้น แจ้งข้อหา “ร่วมกันกับพวกที่หลบหนีจำหน่ายยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรงประเภท 1 (สารไอซ์) โดยการมีไว้เพื่อจำหน่ายอันเป็นการกระทำเพื่อการค้า ก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชนและทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยของประชาชนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย”

คดีที่ 2 ตำรวจ บก.สกส. จับกุม 3 ผู้ต้องหา คือ นายไตร, นายสมชาย และ เยาวชน 1 ราย หลังได้รับแจ้งจากสายลับว่าจะมีเครือข่ายยาเสพติดเตรียมลำเลียงยาเสพติดจากพื้นที่ จว.เชียงใหม่ เพื่อไปส่งให้กับเครือข่ายในพื้นที่ จว.นครศรีธรรมราช โดยบรรทุกมากับกระบะแบบมีคอก และ มีรถนำเส้นทางอีก 1 คัน กระทั่งวันที่ 14 พ.ย. ที่ผ่านมา พบความเคลื่อนไหวของรถเป้าหมายคือ รถกระบะหมายเลขทะเบียน xx 92xx เชียงใหม่ และ รถยนต์หมายเลขทะเบียน xx 5xx เชียงใหม่ กำลังเดินทางลงสู่พื้นที่ภาคใต้ เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงตรวจสอบพบว่ารถได้ขับผ่านพื้นที่ อ.ท่าแซะ จว.ชุมพร แต่ไม่พบรถออกนอกพื้นที่ จึงคาดว่าอาจจะหลบพักอยู่ในพื้นที่ กระทั่งพบรถกระบะจอดพักบริเวณรีสอร์ตแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ อ.เมือง จว.ชุมพร 

เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงเข้าตรวจสอบพบว่ารถยนต์คันแรก มีนายไตรภพ เป็นผู้ขับขี่ ให้การว่า ขับรถบรรทุกแตงกวามาเต็มคันรถเพื่อไปส่งลูกค้าที่ จว.นครศรีธรรมราช ส่วนรถคันที่ 2 มีนายสมชาย เป็นผู้ขับขี่ และมีเยาวชน 1 ราย โดยสารมาด้วย เมื่อนายสมชาย เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้สารภาพว่าได้ขับรถนำสำรวจเส้นทาง สำรวจด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ ให้กับรถยนต์ที่ซุกซ่อนยาเสพติดมากับแตงกวา เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงคุมตัวผู้ต้องหา และรถทั้งหมดไปตรวจเอ็กซ์เรย์ที่ด่านตรวจยานพาหนะท่าแซะ จว.ชุมพร ของ กก.2 บก.ปส.4 พบยาบ้าถูกซุกซ่อนอยู่รวมจำนวน 13,400,000 เม็ด สอบถามผู้ต้องหา ให้การว่ายาเสพติดของกลาง ดังกล่าวเป็นของตนเองจริง ซึ่งมีคนว่าจ้างให้ไปรับยาเสพติดในพื้นที่ จว.เชียงใหม่ เบื้องต้นแจ้งข้อหา “ร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรงประเภท ๑ (ยาบ้าหรือเมทแอมเฟตามีน) โดยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการกระทำเพื่อการค้า และเป็นการก่อให้ เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน และทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป”

สำหรับเดือน ตุลาคม 2566 – ปัจจุบัน ตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ได้จับกุมขบวนการค้ายาเสพติดรายสำคัญ  34 คดี ผู้ต้องหา 58 คน ของกลาง ยาบ้า 34,601,643 เม็ด, ไอซ์ 872.76 กก. เฮโรอีน 25.99 กก., โคเคน 3.61 กก. และตรวจยึดทรัพย์ ไว้ตรวจสอบมูลค่าประมาณ 131.62 ล้านบาท

'บิ๊กต่าย' แถลงโชว์ผลงานรับปีใหม่ ตามแผนปฏิบัติการตามล่า 100 เครือข่าย ทลายแก๊งทะเลหลวงข้ามชาติ ยึดทรัพย์กว่า 105 ล้านบาท และสกัดจับทีมขนยารายใหญ่เส้นทางเหนือ อีสาน

ตามนโยบายการปราบปรามยาเสพติดของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เน้นการใช้ทุกมาตรการทางกฎหมายเพื่อทำลายเครือข่ายยาเสพติด และยึดทรัพย์ที่ได้มาจากการค้ายาเสพติด ประกอบกับนโยบายของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร./ผอ.ศอ.ปส.ตร. และ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา, พล.ต.ท.นิรันดร เหลื่อมศรี, พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะ รอง ผอ.ศอ.ปส.ตร. มุ่งเน้นในการเร่งรัดดำเนินการป้องกันปราบปราม ยาเสพติดในทุกมิติ เนื่องจากปัญหายาเสพติดอาชญากรรมที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและเป็นภัยสังคม  

วันนี้ 4 ม.ค.67 เวลา 10.00 น. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร./ผอ.ศอ.ปส.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.ท.นิรันดร เหลื่อมศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ศอ.ปส. ,พล.ต.ท.คีรีศักดิ์ ตันตินวะชัย ผบช.ปส., พล.ต.ต.สมเกียรติ วัฒนพรมงคล, พล.ต.ต.สมบูรณ์ เทียนขาว, พล.ต.ต.ออมสิน  ตรารุ่งเรือง ,พล.ต.ต.พลัฎฐ์ วิเศษสิงห์ รอง ผบช.ปส., พล.ต.ต.ธนรัชน์ สอนกล้า ผบก.ปส.2, พล.ต.ต.พรศักดิ์ สุรสิทธิ์ ผบก.ปส.4, พล.ต.ต.อิทธิพล จันทร์ศรีบุตร ผบก.ขส. และ พล.ต.ต.วิทัศน์ บริรักษ์ ผบก.สกส. ,พล.ต.ต.อาทร ชิ้นทอง  ผบก.ประจำ บช.ปส. และนายอุดมชัย โลหณุต ผอ.ป.ป.ส. กทม. ผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมแถลงผลงาน บช.ปส.ภายใต้แผนปฏิบัติการตามล่า 100 เครือข่าย สามารถจับกุมเครือข่ายยาเสพติดและยึดทรัพย์สินรายสำคัญ 4 คดี ผู้ต้องหา 6 คนของกลางยาบ้ากว่า 16 ล้านเม็ด, เฮโรอีน 27 กก. และยึดทรัพย์สินเครือข่ายได้ประมาณ 105 ล้านบาท

คดีแรก เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.66 ตำรวจ กก.3 บก.สกส. ร่วมกับ บก.ขส.ได้รับแจ้งจากสายลับว่ากลุ่มเครือข่ายยาเสพติดของ นายอนุวัฒน์ กับพวก จะลักลอบลำเลียงยาเสพติด และกำลังจัดหาผู้ลำเลียงจากพื้นที่ชายแดนไทยด้าน จว.เชียงราย ไปส่งมอบ ให้กับลูกค้าในพื้นที่ภาคกลาง ตำรวจจึงอำพรางเป็นผู้รับจ้างลำเลียงยาเสพติด เดินทางไปเจรจาเงื่อนไข การรับมอบยาเสพติด ในพื้นที่หมู่บ้าน ม.6 ต.แม่ยาว อ.เมือง จว.เชียงราย ระหว่างทางพบกลุ่มรถจักรยานยนต์หลายคันขับขี่ตามกันในลักษณะ คาราวานเข้าไปในหมู่บ้าน สังเกตตะกร้าหน้ารถพบมีสิ่งของบรรทุกอยู่ทุกคันรถ กระทั่งคนขับรู้ตัวจึงได้เร่งเครื่องหลบหนี และทิ้งสิ่งของที่เอามาด้วยไว้ข้างทาง ตรวจสอบพบยาบ้าประมาณ 503,673 เม็ด จึงได้ตรวจยึดของกลางส่งพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีและสืบสวนสอบสวนขยายผลไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป 

คดีที่ 2 เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.66 ตำรวจ บก.สกส.พร้อมด้วย กก.2 บก.ปส.2 และ บก.ขส. ร่วมกันจับกุม 2 ผู้ต้องหา คือ นายบุญช่วย และ นายสมเกียรติ หลังสืบทราบว่ามีพฤติการณ์การลักลอบลำเลียงยาเสพติดจากพื้นที่ จว.นครพนม เพื่อไปส่ง ให้กับลูกค้าทางพื้นที่ จว.สระบุรี จึงได้สะกดรอยติดตาม พบว่าผู้ต้องหาทั้งสองใช้รถยนต์กระบะสำหรับนำทาง เพื่อเฝ้าระวังเจ้าหน้าที่ และมีรถบรรทุกขนาดกลางสีขาว หมายเลขทะเบียน 82-xxxx มหาสารคาม ขับติดตาม กระทั่งสามารถตรวจค้น จับกุมผู้ต้องหาทั้งสองคน ได้ที่ด่านตรวจยานพาหนะสีคิ้ว ต.ลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว จว.นครราชสีมา พร้อมของกลางยาบ้า 8,689,000 เม็ด และเฮโรอีน 225 ก้อน น้ำหนักประมาณ 27 กิโลกรัม ซุกซ่อนอยู่ท้ายรถบรรทุก จากนั้นตำรวจชุดจับกุม ได้นำตัวผู้ต้องหาทั้งสองคนพร้อมของกลางส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี และสืบสวนสอบสวนขยายผลไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

คดีที่ 3 เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.66 ตำรวจ กก.1 บก.ปส.2 ได้สืบสวนกลุ่มเครือข่ายนักค้ายาเสพติดโดยใช้รถยนต์ ในการ ลักลอบลำเลียง หลังพบเคลื่อนไหวขับขี่จากพื้นที่กรุงเทพฯ ขึ้นไปยังพื้นที่ภาคเหนือในพื้นที่ อ.แม่อาย จว.เชียงใหม่ และจะมี การลำเลียงยาเสพติดจากพื้นที่ตามแนวชายแดน ไปส่งให้กับลูกค้าในเขตพื้นที่ตอนใน โดยใช้ รถยนต์ HONDA CITY หมายเลข ทะเบียน 8กฐ-xxxx กทม. และ รถยนต์ HYUNDAI หมายเลขทะเบียน ฮฐ-xxx กทม. ชุดจับกุมจึงได้สะกดรอยติดตาม กระทั่ง ช่วงเช้าของวันที่ 19 ธ.ค.66 พบรถยนต์ HYUNDAI วิ่งมาจาก อ.แม่สรวย จว.เชียงราย มาจอดป่าข้างทางประมาณ 20 นาที แล้วขับออกไป โดยมีรถยนต์ HONDA CITY ขับตาม ต่อมาช่วง 21.50 น.พบรถยนต์ทั้ง 2 คัน วิ่งบนถนน หมายเลข 1 มุ่งหน้า ด่านตรวจยานพาหนะพยุหะคีรี ต.ย่านมัทรี อ.พยุหะคีรี จว.นครสวรรค์ จึงประสานเจ้าหน้าที่ประจำด่านให้ทำการ ตั้งจุดตรวจ/จุดสกัด ก่อนที่รถยนต์ HONDA CITY จะขับเข้าด่านตรวจพบนาย สมณะ เป็นผู้ขับขี่ ส่วนรถ HYUNDAI ได้จอดก่อนถึง จุดตรวจ/จุดสกัด ชุดจับกุมที่ติดตามมาจึงเข้าตรวจสอบ พบนายอดิศักดิ์หรือเอส เป็นผู้ขับขี่ ภายในห้องโดยสารพบยาบ้ารวม 6,500,000 เม็ด  สอบสวนผู้ต้องหาทั้ง 2 คน รับสารภาพว่ารับจ้างลำเลียงยาเสพติดจากชายแดนหมู่บ้านห้วยส้าน ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้จากการตรวจสอบพบว่า นายอดิศักดิ์หรือเอส เคยมีประวัติถูกจับกุมข้อหาครอบครองยาเสพติด เพื่อจำหน่าย เมื่อปี 62

คดีที่ 4 สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 4 ส.ค.66 บก.ปส.4 ได้จับกุมกลุ่มเครือข่ายยาเสพติดข้ามชาติรายใหญ่ ได้ที่บริเวณริมถนนหน้าศาลาริมทางบ้านห้วยน้ำเย็น ม.4 ต.ทรายขาว อ.หัวไทร จว.นครศรีธรรมราช ขณะใช้รถยนต์กระบะลำเลียงคีตามีน จำนวนรวม 851 กก. จากจังหวัดระนอง เพื่อนำมาส่งให้ที่ อ.หัวไทร จว.นครศรีธรรมราช จากการสืบสวนทราบว่า เครือข่ายนี้ มีนายอานันท์ เป็นผู้สั่งการและอยู่เบื้องหลังเชื่อมโยงกับเครือข่ายลำเลียงยาเสพติดข้ามชาติหลายคดี อาทิ เมื่อวันที่ 13 พ.ค.66 บก.ปส.3 จับกุมไอซ์ 1.5 ตัน ขณะขนถ่ายลงเรือขนาดเล็กบริเวณท่าเทียบเรือโรงไม้เก่า ในพื้นที่ อ.ท่าศาลา จว.นครศรีธรรมราช 

เมื่อ 28 มิ.ย.66 ป.ป.ส. จับกุมเครือข่ายไอซ์ 960 กก. มาพักไว้ที่บ้านหลังหนึ่งใน จว.ราชบุรี เพื่อเตรียมขนส่งไปยังพื้นที่ภาคใต้ และเมื่อวันที่ 19 ก.ย.66 บก.ปส.3 เข้าจับกุมคนร้ายขณะลำเลียงไอซ์ 1,000 กิโลกรัม มีการยิงปะทะและเป็นเหตุให้ ด.ต.วีระวัฒน์ คำดี ตำรวจ กก.2 บก.ปส.3 เสียชีวิตและคนร้ายถูกวิสามัญในที่เกิดเหตุในพื้นที่ อ.เวียงชัย จว.เชียงราย กระทั่ง เจ้าหน้าที่ กก.2 บก.ปส.4 ได้สืบสวนขยายผล สามารถดำเนินการออกหมายจับนายอานันท์ ผู้สั่งการและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ในคดีนี้รวม 4 ราย ภายใต้แผนปฏิบัติการตามล่า 100 เครือข่าย บก.ปส.4 จึงได้เปิด “ยุทธการเด็ดปีกมาร67/1ทลายแก๊งทะเลหลวงข้ามชาติ” ดำเนินการปิดล้อมตรวจค้น เพื่อจับกุม ผู้ต้องหาตามหมายจับและยึดทรัพย์จำนวน 16 เป้าหมาย สามารถจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับได้จำนวน 2 หมาย คือ นายอานันท์ เป็นผู้สั่งการ และนายสุริยา ทำหน้าที่ทางการเงิน รวมทั้งตรวจยึดทรัพย์สิน 34 รายการ รวมมูลค่า 105 ล้านบาท

พล.ต.ท.คีรีศักดิ์ ตันตินวะชัย ผบช.ปส. ระบุว่า ที่ผ่านมาได้สั่งการให้ทุกหน่วยเพิ่มความเข้มในการสกัดกั้น การลักลอบ ลำเลียงยาเสพติด ทั้งตามพื้นที่แนวชายแดนและการลำเลียงเข้ามาสู่พื้นที่ตอนใน และให้ใช้มาตรการทางกฎหมายทุกรูปแบบ เพื่อทำลายเครือข่ายยาเสพติดโดยเด็ดขาด โดยให้สืบสวนขยายผลเพื่อดำเนินคดีและยึดทรัพย์สิน ผู้สั่งการและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง   ซึ่งนำมาสู่ผลการจับกุมพร้อมยาเสพติดได้จำนวนมากในครั้งนี้ และสำหรับแก็งทะเลหลวงข้ามชาตินั้น มีความเชื่อมโยงกับหลายเครือข่ายที่บช.ปส.ได้จับกุมมาก่อนหน้านี้ ซึ่งชุดสืบสวนจับกุมได้ใช้ความพยายามในการสืบสวนขยายผลอย่างต่อเนื่อง จนสามารถออกหมายจับเครือข่ายผู้สั่งการ และติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดีและยึดทรัพย์ได้ดังกล่าว

สำหรับเดือน ธันวาคม 2566 ตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ได้จับกุมขบวนการค้ายาเสพติด รายสำคัญ 19 คดี ผู้ต้องหา 23 คน ของกลาง ยาบ้า 15,692,673 เม็ด, ไอซ์ 1,001 กก. เฮโรอีน 39.43 กก., โคเคน 11.18 กก. และคีตามีน 1,200 กก. และตรวจยึดทรัพย์ ไว้ตรวจสอบมูลค่าประมาณ 414.14 ล้านบาท 

ส่องผลสำรวจคนไทยกับสภาพการเงิน ‘คนอีสาน’ สาหัส!! การเงินเข้าขั้นวิกฤต

สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจที่น่าสนใจ 3 เรื่อง ที่น่าจะเป็นประเด็นสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)

เรื่องที่ 1 จำนวนคนไทยในวิกฤตการเงิน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ 

เรื่องที่ 2 เงินในกระเป๋า กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ 

เรื่องที่ 3 คนเล่นหวย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ

เรื่องแรก จำนวนคนไทยในวิกฤตการเงิน รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 1,146 ราย ระหว่างวันที่ 7-10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 50 เงินในกระเป๋าอยู่ในขั้นวิกฤต คือ คนไทยเกือบ 27 ล้านคน หรือ ร้อยละ 50.5 การเงินในกระเป๋าอยู่ในขั้นวิกฤต ขณะที่ ร้อยละ 49.5 ไม่อยู่ในขั้นวิกฤต

เมื่อแบ่งออกจากภูมิภาค พบว่า คนในภาคอีสานส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 77.9 ระบุการเงินในกระเป๋าของตนอยู่ในขั้นวิกฤตมากที่สุด รองลงมาคือ คนในภาคใต้ ร้อยละ 66.3 คนในภาคกลางร้อยละ 47.2 คนในภาคเหนือร้อยละ 35.8 และคนในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 30.8 การเงินในกระเป๋าของตนอยู่ในขั้นวิกฤต

เรื่องที่ 2 เงินในกระเป๋า สำรวจระดับความสุขเมื่อนึกถึงเงินในกระเป๋า รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 1,020 ราย ระหว่างวันที่ 2-6 มกราคม ที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 23.9 รู้สึกเป็นทุกข์มาก ถึง มากที่สุด โดยกลุ่มอาชีพที่รู้สึกเป็นทุกข์มาก ถึงมากที่สุด เป็นอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน (ไม่นับกลุ่มว่างงาน) รวมทั้ง รู้สึกไม่มั่นคงในการงานและรายได้ ร้อยละ 35.4

เรื่องที่ 3 คนเล่นหวย รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 1,056 ราย ระหว่างวันที่ 5-9 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 86.1 ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล รองลงมา คือร้อยละ 78.1 ซื้อหวยไทย ใต้ดิน แน่นอนว่า คนเล่นหวย มีความหวังจากการจะถูกหวย สลากกินแบ่งรัฐบาล ทั้งหวยไทย ใต้ดิน หวยอื่น ๆ โดยมีตัวกระตุ้นเป็นเงินรางวัล 

ที่น่าสนใจ คือ เมื่อถามถึงประสบการณ์เล่นหวย ระหว่างถูกหวย หรือ ถูกกิน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 88.1 ระบุถูกกิน และมีเพียงร้อยละ 11.9 เท่านั้น ที่ระบุถูกหวย

จากทั้ง 3 เรื่อง สะท้อนสภาพเศรษฐกิจของไทยได้เป็นอย่างดี ทั้งในเรื่องของรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น และรายจ่าย ที่ใช้ในการ 'ซื้อความหวัง' เพื่อลุ้นให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

และพื้นที่ภาคอีสาน จากผลสำรวจที่บ่งชี้ว่า ‘สุขภาพทางการเงิน’ เข้าขั้นวิกฤติ จากพื้นที่ที่มีการประกอบเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกข้าว นโยบายของรัฐบาล จึงมุ่งไปหว่านการช่วยเหลือทางภาคอีสานค่อนข้างมาก และอย่างที่ทราบกัน ว่าพื้นที่ภาคอีสาน ฐานเสียงส่วนใหญ่ เป็นของพรรคการเมืองใด แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กว่า 20 ปี ในช่วงไหน ที่นโยบายรัฐ เน้นสร้างความเข้มแข็งในระยะยาว ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง หรือ นโยบายอะไร ที่เป็นเพียงแค่ให้ได้รับคะแนนเสียง เพื่อเข้าไปเป็นรัฐบาล

นโยบายที่เน้นแจก แต่ไม่สร้างความยั่งยืน ประชาชนเองต้องตอบคำถามเหล่านี้ ว่าเราจะเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้ตัวเองอย่างไร? มุ่งทำงานเก็บเงิน พัฒนาการประกอบอาชีพ สร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้า เพื่อเพิ่มรายได้ให้เพียงพอ หรือ รอคอยความหวังจากนโยบายรัฐ ภาพหาเสียงที่เน้นเพิ่มเงินในกระเป๋า จากการแจก ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา คุ้มค่าที่รอ หรือยัง?

นครพนม -แม่ทัพน้อยที่ 2 ลงพื้นที่ลุยอีสาน ตรวจเยี่ยมหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ที่จังหวัดนครพนม พลโท บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพน้อยที่ 2 เป็นผู้แทน พลโท อดุลย์บุญธรรมเจริญ แม่ทัพภาคที่ 2 / ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดสารตั้งตันและเคมีภัณฑ์ชายแดน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งตัน และเคมีภัณฑ์ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครพนม  เร่งขับเคลื่อนงานตามนโยบาย แก้ปัญหายาเสพติดของรัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี  ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเป็นปัญหาที่ต้องดำเนินการลดความรุนแรงอย่างเร่งด่วนเพื่อประชาชน และ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เร่งขับเคลื่อนให้การแก้ไขปัญหาต้องเห็นผลรูปธรรมโดยเร็ว ซึ่งมาตรการที่ต้องเริ่มอย่างเร่งด่วนคือการสกัดกั้นยาเสพคิดในพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ และภาคอีสาน ที่จะต้องเพิ่มความเข้มข้นในการสกัดกั้น เพราะจากสถิติการลักลอบนำเข้ายาเสพติดเข้าไทยเกือบทั้งหมดมาจากเส้นทางนี้  หลังจากที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายแก้ปัญหายาเสพติดเร่งด่วนให้ลดลงภายใน 10 เดือน 

โดยมุ่งเป้าไปที่การสกัดกั้นตามแนวชายแดน จึงได้มีการจัดตั้งหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นบ.ยส.24)  โดยมีแม่ทัพภาคที่ 2 เป็นผู้บัญชาการฯ  ซึ่งจังหวัดนครพนม ได้ประกาศพื้นที่พิเศษ ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 5(10) กำหนดให้ 4 อำเภอชายแดน ได้แก่ อำเภอท่าอุเทน-เมืองนครพนม-ธาตุพนม และอำเภอบ้านแพง เป็นพื้นที่พิเศษเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยมีการจัดตั้งหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด เคมีภัณฑ์และสารตั้งต้นชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นบ.ยส.24) เพื่อให้เกิดการดำเนินการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด เคมีภัณฑ์และสารตั้งต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ  โดยเป็นการบูรณาการกำลังทั้งทหาร  ตำรวจภูธรจังหวัด สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 4 (ปปส.ภาค 4)  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดนครพนม  เสริมความเข้มแข็งตามแนวชายแดนมากยิ่งขึ้น  ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน  หน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการจับกุมยาเสพติดรายสำคัญจำนวนมาก 

ในการนี้ แม่ทัพน้อยที่ 2 ได้เดินทางเข้าพบนายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เพื่อหารือข้อราชการบูรณาการร่วมปรึกษาแนวทางการปฏิบัติให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามภารกิจการสกัดกั้นยาเสพติดไม่ให้เข้าประเทศในพื้นที่จังหวัดนครพนม ให้เร่งขับเคลื่อนงานตามนโยบายการแก้ปัญหายาเสพติดของรัฐบาล การดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด สถานการณ์ยาเสพติดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน  ขณะนี้ว่ามีการผลิตเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจากปัญหาภายในประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับเคมีภัณฑ์ที่เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติดมีราคาถูกและหาง่าย  ทำให้มีปริมาณยาเสพติดเข้ามาพักคอยตามแนวชายแดนไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเพิ่มขึ้น จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มมาตรการสกัดกั้นในพื้นที่ ย้ำเจ้าหน้าที่ต้องร่วมกับชุมชนช่วยกันสร้างชุมชนที่เข้มแข็งเป็นเกราะป้องกันยาเสพติด และที่สำคัญคือ 

การแก้ไขปัญหาผู้มีอาการทางจิตเวชจากยาเสพติดตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลโดยยึดหลักการ "เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย", การปิดล้อมตรวจค้น ยุทธการเด็ดปีกผู้ค้ารายย่อย อย่างต่อเนื่อง,การตรวจสถานบริการ ที่เปิดฝ่าฝืนกฎหมาย และปัญหาการแพร่ระบาดยาเสพติด  โดยใช้กลไกในการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อจับกุมผู้มีหมายจับที่หลบหนีอยู่ในต่างประเทศ การสกัดกั้นดังกล่าวต้องดำเนินมาตรการต่างประเทศในการประสานงานข้อมูลการข่าว นอกจากนี้ยังต้องดำเนินการร่วมกับชุมชน ในการเฝ้าระวัง ซึ่งจะเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในพื้นที่และชุมชนที่สำคัญคือต้องมีความต่อเนื่อง การสร้างพลังการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน และเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ต้องช่วยกันออกไปสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน โดยการแก้ไขปัญหายาเสพติด เราดำเนินการปราบปราม สกัดกั้น บำบัด แต่สิ่งสำคัญคือการสร้างการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา หากครอบครัวและชุมชนช่วยกันความต้องการยาเสพติดจะลดลง เพราะยาเสพติดกลัวครอบครัวที่อบอุ่นและชุมชนที่เข้มแข็ง ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล

‘ลุงป้อม’ ลงพื้นที่ หนองคาย รับฟังปัญหา ปชช. เพื่อแก้ไขภัยแล้ง-ยากจน-ยกระดับการขนส่ง-พัฒนาฝีมือแรงงาน

(3 มี.ค.67) เมื่อเวลาประมาณ 09.10 น.ที่รร.พันล้าน อ.เมือง จ.หนองคาย พล.อ.ประวิตรวงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เดินทางถึงจ.หนองคาย โดยนั่งรถยนต์โตโยต้า อัลพาร์ด สีขาว ทะเบียน กม 8888 ขอนแก่น เมื่อเดินทางถึงมีตัวแทนกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ต้อนรับและให้กำลังใจ ถูกผ้าขาวม้าแดง และสส. นำพระพุทธรูปมามอบให้เป็นที่ระลึก ทั้งนี้พล.อ.ประวิตร มีสีหน้าแจ่ม แต่งกายด้วยสีแดงสดใสทั้งตัว โดยสวมเสื้อฮาวายสีแดง ทับด้วยแจ็กเก็ตสีแดง กางเกงสแลคและรองเท้าผ้าใบแดง สีสันแปลกตาว่าทุกครั้ง 

จากนั้นเวลา 09.30 น. พล.อ.ประวิตร เป็นประธานเปิดเวทีวิชาการรับฟังปัญหาและความคิดเห็นของประชาชน ผู้ประกอบการเอกชน กลุ่มจ.หนองคาย อุดรธานี บึงกาฬ หนองบัวลำภู และจ.เลย ทั้งเรื่องของการแก้ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การยกระดับอุตสาหกรรมและสร้างระบบเศรษฐกิจบีซีจี ยกระดับโครงสร้างการขนส่งและ
คมนาคมของประชาชน พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน รวมถึงปฏิรูปรัฐราชการและการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิต มีแกนนำ กรรมการบริหารพรรค ส.ส. เข้าร่วม อาทิ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง นายวราเทพ รัตนากร นายอุตตม สาวนายน โดยผู้สื่อข่าวเอ่ยแซวว่าวันนี้สวมเสื้อแดงทั้งชุดพล.อ.ประวิตร หันมามองสื่อโดยไม่ได้แสดงท่าทีหรือกล่าวสิ่งใดสิ่งใด

พล.อ.ประวิตร กล่าวเปิดสัมมนา  พรรคพปชร.ขอบคุณทุกคนที่ร่วมสัมมนา และเสียสละเวลามาร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคอีสาน พรรคพลังประชารัฐ รู้สึกยินดีที่มาเปิดเวทีรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อรับฟังทุกปัญหากับประชาชนในพื้นที่โดยตรง ตลอดเวลาที่ผ่านมาพรรคพลังประชารัฐ ขับเคลื่อนแก้ปัญหาความยากจน การลดความเหลื่อมล้ำ โดยเพิ่มสิทธิและสวัสดิการความเป็นอยู่ให้ประชาชนส่งเสริมที่ดินทำกินและเร่งรัดการพัฒนาแหล่งน้ำระบบชลประทาน การแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ให้เบ็ดเสร็จที่ทำมาต่อเนื่องทั่วประเทศ ตลอดเวลา 8 ปีที่ผ่านมาโดยพรรคตระหนักดีว่าจะแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศ โดยคำนึงถึงบริบทความต้องการที่แตกต่างกันของแต่ละจังหวัดและภูมิภาคที่จะจัดทำภูมิศาสตร์หลายภาคขึ้น

พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า ดูข้อมูลที่ได้รับจากทุกภาคส่วนคณะกรรมการยุทธศาสตร์จะนำไปจัดทำเป็นยุทธศาสตร์พัฒนาภาคอีสาน ให้ทันสมัยและยึดโยงความต้องการของคนในภาคอีสาน โดยยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การฟังความคิดเห็นในแต่ละภาคส่วนทุกพื้นที่จะนำมาจัดทำเป็นยุทธศาสตร์ของพรรคต่อไป ทั้งนี้ภาคอีสานมีหลายเรื่องที่มีศักยภาพในการพัฒนาที่แตกต่างกันออกไปเช่น กลุ่มจังหวัดอีสานเหนือเป็นศูนย์กลางการลงทุน ขนส่งและการค้าชายแดน ของอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง และเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องยกระดับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งให้เชื่อมโยงรถไฟจีน-ลาว ส่วนกลุ่มจังหวัดอีสานกลางเป็นกลุ่มการค้าอินโดจีนและอีสานใต้โดดเด่นอุตสาหกรรมชีวภาพเกษตรและอาหาร แต่ละพื้นที่มีบริบทต่างกัน ใครมีความคิดเห็นอย่างไร ขอให้แสดงความคิดเห็นมาเพื่อเราจะนำไปพัฒนาภาคอีสานให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป

หลังจากนั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ได้เป็นประธาน เพื่อชมการลงทะเบียนของเกษตรกร เพื่อเปลี่ยนส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร 

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ  กล่าวขณะ ลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้าน ที่ จ.หนองคาย 

(3 มี.ค.67) เมื่อเวลาประมาณ12.52 น. ที่จังหวัดหนองคาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ส.ส.ฝ่ายค้าน ระบุว่าไม่เจอ พล.อ.ประวิตร ในสภาฯ ว่า “แล้วเกี่ยวอะไรกับพวกคุณ ผมจะไปหรือไม่ไป มันผิดหรือเปล่า”

เมื่อถามย้ำว่า สส.พรรคก้าวไกล ประกาศถามหา พล.อ.ประวิตร กลางสภา พล.อ.ประวิตร ย้อนถามว่า “ถามหาทำไม ถ้าอยากมาหา ก็มาหาที่บ้านสิ”

 

รมว.แรงงาน“พิพัฒน์”เยือนถิ่นอีสาน นำทัพกระทรวงแรงงานพบชาวศรีษะเกษ เตรียมความพร้อมสู่ตลาดแรงงาน ส่งเสริมอาชีพนอกระบบ ลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงาน

วันที่ 8 มีนาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เปิดโครงการ “กระทรวงแรงงานพบประชาชนจังหวัดศรีสะเกษ” สร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กลุ่มนักเรียนอาชีวะ พร้อมมอบใบอนุญาตศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ให้แก่วิทยาลัยเทคนิคกันทรลักษณ์ สาขา พนักงานแผนกบริการอาหารและเครื่องดื่มในธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร ระดับ 1 โดยมี นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุรศักดิ์ พันเจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายชัยยงค์ เมธาสุรวิทย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมให้การต้อนรับ ณ วิทยาลัยเทคนิคกันทรลักษ์ ต.จานใหญ่ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ  

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาพบปะกับทุกท่านที่วิทยาลัยเทคนิคกันทรลักษ์ในวันนี้ โดยเฉพาะน้อง ๆ นักเรียนนักศึกษา และพ่อแม่ผู้ปกครอง กระทรวงแรงงานที่ผมรับผิดชอบดูแลนี้เราทำงานต่อเนื่องเชื่อมโยงกับกระทรวงศึกษาธิการเหมือนต้นน้ำกับปลายน้ำโดยกระทรวงศึกษาธิการผลิตบุคลากรที่มีความรู้และทักษะ ส่วนกระทรวงแรงงานจะต่อยอดทักษะ จัดหาอาชีพตามความต้องการของตลาดแรงงาน และดูแลสวัสดิการให้กับแรงงาน กระทรวงแรงงานมีนโยบายส่งเสริมความร่วมมือในการผลิตกำลังคนในภาคการศึกษาและภาคแรงงาน หรือ Up - Skill for More Earn เพื่อการมีงานทำรองรับเศรษฐกิจใหม่ และพัฒนาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกำลังแรงงานรุ่นใหม่ อย่างเช่นการเรียนอาชีวศึกษา ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนตลาดแรงงานที่สำคัญ เพราะความรู้และทักษะที่น้อง ๆ ได้รับนั้นสามารถนำไปใช้งานได้จริง ช่วยสร้างบุคลากรเฉพาะทางในสายอาชีพที่ตลาดแรงงานต้องการ ไม่ว่าจะเป็นช่างเชื่อม ช่างยนต์ ช่างก่อสร้าง บัญชี การตลาด คอมพิวเตอร์ธุรกิจ หรือหากยกระดับต่อไปได้ก็สามารถก้าวไปสู่อาชีพที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมใหม่ หรือ New S-curve เช่น หุ่นยนต์ ดิจิทัล หรือโลจิสติกส์ เป็นต้น

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานกับกระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมกันทำงานจนเกิดความสำเร็จ เช่น การส่งเสริมการเรียนอาชีวศึกษาแบบทวิภาคีให้สถานประกอบการได้ร่วมออกแบบหลักสูตรและสนับสนุนการเรียนการสอนแบบลงมือทำจริง รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น สำหรับน้อง ๆ นักเรียนนักศึกษาที่จะก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคตนั้น หากต้องการฝึกทักษะอาชีพ กระทรวงแรงงานมีหลักสูตรฝึกอบรมที่เรียนจบแล้วมีประกาศนียบัตรรับรอง ตัวอย่างหลักสูตรฝึกอาชีพที่ตลาดต้องการอย่างมากในขณะนี้ก็คือ การบริการและการท่องเที่ยว ซึ่งที่วิทยาลัยเทคนิคกันทรลักษ์แห่งนี้ก็มีสาขาการท่องเที่ยวและการโรงแรมอยู่ด้วย โดยผมได้ให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานของบประมาณจากรัฐบาลเพื่อมาฝึกอบรมในด้านนี้ให้ได้ 100,000 ราย และป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น พนักงานแคชเชียร์ พนักงานต้อนรับ และเชฟ รวมทั้งยังมีหลักสูตรอื่น ๆ อีกมากมาย 
ซึ่งน้อง ๆ สามารถจะต่อยอดความรู้และทักษะที่ได้รับจากวิทยาลัยเทคนิคนี้ในระดับที่สูงขึ้นได้

“ส่วนใครที่ต้องการฝึกงานในต่างประเทศ กระทรวงแรงงานมีโครงการความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นผ่านองค์กร IM Japan ให้ไปฝึกงาน เช่น งานหล่อแบบ งานกลึงและเชื่อมโลหะ งานประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ งานแปรรูปอาหาร งานก่อสร้างโครงเหล็ก งานเดินท่อ ซึ่งผู้ที่ได้รับคัดเลือกก็จะได้รับเบี้ยเลี้ยง ค่าจ้าง ค่าอาหารและที่พัก เมื่อฝึกงานจบแล้วจะได้รับใบประกาศนียบัตรรับรอง ทำให้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ง่ายขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม นอกจากทักษะอาชีพหรือว่า Hard Skills แล้ว เราต้องพัฒนาทักษะ Soft Skills เช่น การทำงานร่วมกับผู้อื่น การสื่อสาร การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หรือความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงความพร้อมด้านภาษาและการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งจะทำให้เราได้เปรียบคนอื่น และทำให้นายจ้างมั่นใจที่จะจ้างงานเรามากขึ้น” นายพิพัฒน์ กล่าว

จากนั้น นายพิพัฒน์ฯ และคณะ ได้เยี่ยมชมบูธกิจกรรมของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานตามโครงการกระทรวงแรงงานพบประชาชนจังหวัดศรีสะเกษ อาทิ กิจกรรมนัดพบแรงงาน ซึ่งเป็นการเปิดรับสมัครงานและสัมภาษณ์โดยตรงจากสถานประกอบการชั้นนำ มีตำแหน่งงานว่างมากกว่า 500 อัตรา อาทิ  บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด บริษัท สยามโกลบอลเฮาส์ จำกัด (สาขาศรีสะเกษ) บริษัท ชนะชัย ขาเข้าขาออก จำกัด บริษัท โมเดิร์น เอ สตีล จำกัด (สาขากันทรลักษ์)  และบริษัท เอี่ยมศิริแป้งมัน จำกัด การแนะแนวอาชีพ การสาธิตอาชีพอิสระ หลักสูตรหมอพราหมณ์ พิธีผูกข้อต่อแขนเพื่อความสิริมงคล นิทรรศการความปลอดภัยในการทำงาน โดย บริษัท เอี่ยมศิริแป้งมัน จำกัด การรับสมัครผู้ประกันตนรับชำระเงินสมทบประกันสังคมตามมาตรา 40 และการให้บริการทันตกรรมเคลื่อนที่สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 จากสำนักงานประกันสังคม และกิจกรรมทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน จำนวน 3 สาขา ได้แก่ ช่างซ่อมรถยนต์ ช่างไฟฟ้า พนักงานบริการอาหารเครื่องดื่ม จากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นอกจากนี้ ยังได้ มอบใบอนุญาตศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน สาขา พนักงานแผนกบริการอาหารและเครื่องดื่มในธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร ระดับ 1 ด้วย

ตำรวจภาค 4 ตรวจเข้มสถานบริการทั่วอีสานเหนือ สร้างความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวก่อนเทศกาลสงกรานต์

พล.ต.ท.สรายุทธ สงวนโภคัย ผบช.ภ.4 ได้สั่งการให้ตำรวจภาค 4 ตรวจสอบสถานบริการ และแหล่งอบายมุข ต่างๆในพื้นที่ 12 จังหวัดภาคอีสานตอนบน โดยนำกำลังตำรวจประกอบด้วย ตำรวจภูธรจังหวัดกาฬสินธุ์, ขอนแก่น, นครพนม, บึงกาฬ, มหาสารคาม, มุกดาหาร, ร้อยเอ็ด, เลย, สกลนคร, หนองคาย, หนองบัวลำภู, อุดรธานี และตำรวจจาก บก.สส.ภ.4 ทั้งในและนอกเครื่องแบบ รวมทั้งฝ่ายปกครอง เข้าร่วมปฏิบัติการด้วย เน้นตรวจสอบจับกุมสถานบริการที่ผิดกฎหมาย ยาเสพติด เด็กและเยาวชนที่เข้ามาเที่ยวสถานบริการ อาวุธปืน และแหล่งอบายมุข รวมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติการประมาณ 1,000 นาย ร่วมกันตรวจสถานบริการในพื้นที่รับผิดชอบ ตั้งแต่กลางดึก ของคืนวันที่ 29 มี.ค.67 ถึงเวลาประมาณ 02.00 น.ของวันที่ 30 มี.ค.67  

ผลการปฏิบัติ ได้ทำการตรวจสอบใบอนุญาตสถานบริการ 32 แห่ง พบว่ามีใบอนุญาต ตรวจสอบสารเสพติดผู้มาใช้บริการกว่า 1,000 คน ตรวจสอบอายุนักเที่ยวในสถานบริการกว่า 2,700 คน  นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ตรวจตราดูแลความปลอดภัยประชาชนที่ไปเที่ยว และประชาสัมพันธ์ กำชับผู้ประกอบการทุกแห่ง มิให้จัดให้มีการมั่วสุม จำหน่ายหรือมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด, ระมัดระวัง มิให้มีการพกพาอาวุธ โดยเฉพาะอาวุธปืน มีด หรือสิ่งที่จะเป็นอันตรายแก่ผู้อื่น เข้าไปในสถานบริการ, มิให้บุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าใช้บริการและปิดสถานบริการตามเวลาที่กฎหมายกำหนด

พล.ต.ท.สรายุทธ สงวนโภคัย ผบช.ภ.4 กล่าวว่า ปฏิบัติการครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร.รรท.ผบ.ตร. ที่ให้กวดขันปราบปราม จับกุมสถานบริการผิดกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว ที่จะมาเที่ยวภาคอีสานในช่วงเทศกาลสงกรานต์อีกด้วย สำหรับในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ใกล้จะถึงนี้ ตนได้สั่งกำชับให้ตำรวจทุกพื้นที่เข้มงวดในการตรวจตราสถานบริการ จับกุมแหล่งอบายมุข ยาเสพติด อาวุธปืน และดูแลความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนให้ดีที่สุด พล.ต.ท.สรายุทธ กล่าวทิ้งท้าย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top