Friday, 3 May 2024
อีลอนมัสก์

เอาแล้ว!! Elon Musk จำกัดการมองเห็นใน Twitter แต่ถ้า 'จ่ายรายเดือน' จะทำให้เห็นโพสต์มากขึ้น

ไม่นานมานี้ ได้เกิดข้อถกเถียงกันในโลกโซเชียล หลังแพลตฟอร์มสุดฮิตอย่าง ‘ทวิตเตอร์’ Twitter มีการเปลี่ยนแปลงกะทันหัน ท่ามกลางชาวเน็ตที่ตั้งข้อสงสัยว่าเกิดเหตุขัดข้องหรือไม่ จนกลายเป็นเทรนด์ #ทวิตล่ม

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวก็กระจ่าง เมื่อ 'อีลอน มัสก์' (Elon Musk) เจ้าของทวิตเตอร์ (Twitter) ได้ออกมาชี้แจงว่า “ทวิตเตอร์จะจำกัดจำนวนโพสต์ที่ผู้ใช้สามารถอ่านได้ต่อวันเป็นการชั่วคราว” ซึ่งมีไว้เพื่อจัดการกับ “การดึงข้อมูลจากเว็บไซต์และการจัดการระบบในระดับที่รุนแรง” 

โดยในตอนแรกเจ้าตัวออกมาทวีตผ่านทวิตเตอร์ว่า ได้ดำเนินการจำกัดการเข้าถึงข้อมูลเป็นการชั่วคราว โดยแบ่งประเภทบัญชี ดังนี้...

>> บัญชีที่ได้รับการยืนยันแล้ว (บัญชีที่ชำระเงินรายเดือน เพื่อเป็น ‘ทวิตเตอร์ บลู’ (Twitter Blue) หรือเครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้า) จะเข้าอ่านทวิตเตอร์ได้ 6,000 ทวีตต่อวัน
>> บัญชีที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน จะเข้าอ่านทวิตเตอร์ได้ 600 ทวีตต่อวัน
>> บัญชีใหม่ที่เพิ่งใช้งาน และยังไม่ได้รับการยืนยัน จะเข้าอ่านทวิตเตอร์ได้ 300 ทวีตต่อวัน

ก่อนที่ต่อมา ‘อีลอน มัสก์’ จะเพิ่มการเข้าถึงข้อมูลเป็น 8,000 สำหรับบัญชีที่ได้รับการยืนยันแล้ว 800 สำหรับบัญชีที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน และ 400 สำหรับบัญชีใหม่ที่เพิ่งใช้งาน และยังไม่ได้รับการยืนยัน กระทั่งในเวลาต่อมา เจ้าตัวก็เพิ่มการเข้าถึงข้อมูลอีกครั้งเป็น 10,000, 1,000 และ 500 ตามลำดับ

มัสก์กล่าวว่า ปัจจุบันมีองค์กรหลายร้อยแห่งที่ดึงข้อมูลจาก Twitter ไปอย่าง ‘รุนแรง’ และนั่นส่งผลกระทบต่อประสบการณ์ของผู้ใช้งาน โดยก่อนหน้านี้มัสก์เคยออกมาแสดงความไม่พอใจที่บริษัทผู้พัฒนา AI ชื่อดังอย่าง OpenAI เจ้าของ ChatGPT ที่ใช้ข้อมูลของ Twitter มาฝึกโมเดลภาษาของแชตบอตตัวนี้

นอกจากนี้ มัสก์ยังได้รีทวีตข้อความจากบัญชี Elon Musk (Parody) ด้วยว่า "สำหรับสาเหตุที่ผมจำกัดการมองเห็น เพราะพวกเราทุกคนเสพติด Twitter กันมาก ๆ และควรออกไปข้างนอกบ้าง ผมกำลังทำสิ่งดี ๆ เพื่อโลกใบนี้"

แน่นอนว่า การจำกัดสิทธิการมองเห็นโพสต์ใน Twitter พร้อมทั้งประกาศเก็บค่าธรรมเนียมรายเดือนแก่บัญชีผู้ใช้ที่ต้องการเห็นโพสต์มากขึ้นนั้น อาจทำให้กระบวนการปั่นกระแสแฮชแท็กในโลก Twitter แบบที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ คงเป็นไปได้ยากพอสมควร เพราะเท่ากับทุกการปั่นกระแสให้คนเห็น จำเป็นต้องมีต้นทุน

'อีลอน มัสก์' เผย Starlink ต้องถือสิทธิ์เจ้าของกิจการในไต้หวัน 100%  แลกอินเทอร์เน็ตดาวเทียมแบบเร่งด่วน เพื่อทำสงครามกับจีน

ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้บริหารเบอร์ต้นๆ ของโลก การจะเจรจาเรื่องธุรกิจใดสักอย่าง จึงย่อมไม่ธรรมดาอยู่แล้วสำหรับ อีลอน มัสก์ ที่ตอนนี้ดูแลกิจการยักษ์ใหญ่ ทั้ง Tesla, SpaceX และล่าสุดกับระบบอินเตอร์เนตดาวเทียม Starlink ที่กำลังมาแรงอยู่ในขณะนี้ 

โดยไม่นานมานี้ อีลอน มัสก์ ได้นำเสนอไอเดียให้รัฐบาลไต้หวัน พิจารณาดาวเทียม Starlink เป็นระบบ Backup สำหรับการใช้อินเทอร์เน็ตสำรอง กันการโจมตีจากจีนแผ่นดินใหญ่ เพื่อให้ไต้หวันมั่นใจว่าการสื่อสาร และ ส่งผ่านข้อมูลสำคัญในประเทศยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่ติดขัดแม้จะมีความพยายามตัดระบบเคเบิลพื้นฐานจนได้รับความเสียหาย

ข้อเสนอของอีลอน มัสก์ เกิดขึ้นหลังจากที่สายเคเบิลใต้ทะเล 'ไต้หวัน-มัทสุ' ทั้ง 2 เส้น ที่ลากผ่านใกล้พรมแดนทางทะเลระหว่างจีน และ ไต้หวันถูกตัดขาด โดยเรือประมงจีนลำหนึ่ง และเรือขนส่งจีนอีกลำหนึ่ง เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยทางไต้หวันตั้งข้อสงสัยว่าจีนจงใจแล่นเรือผ่านเพื่อตัดเคเบิลสื่อสารใต้ทะเลของไต้หวัน ทำให้ชาวไต้หวันกว่า 14,000 คน ได้รับผลกระทบ ไม่สามารถเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตได้ 

จากเหตุการณ์นี้ จึงนำไปสู่การพิจารณาในการพัฒนาระบบอินเตอร์เนตดาวเทียมเป็นกรณีเร่งด่วน ไว้เป็นแผนสำรองเตรียมรับมือกับจีน 

โดยก่อนหน้านี้ ทางรัฐบาลไต้หวันได้ริเริ่มโครงการระบบอินเทอร์เน็ตดาวเทียมของตัวเองตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนปีที่แล้ว (2565) โดยเล็งเห็นตัวอย่างจากสงครามในยูเครน ที่ระบบสื่อสารออนไลน์เป็นสิ่งสำคัญที่ประเทศจะขาดไม่ได้ และต้องการให้มีเน็ตเวิร์กสำรองในยามสงคราม เช่นเดียวกับโมเดล Starlink ในยูเครน 

แต่ด้วยเหตุการณ์สายเคเบิลใต้ทะลขาดที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลไต้หวันเห็นว่า แผนพัฒนาอินเทอร์เน็ตดาวเทียมเป็นสิ่งที่รอไม่ได้อีกต่อไป และอาจต้องพึ่งพาบริการของ Starlink ที่มีดาวเทียมเครือข่ายพร้อมใช้ และเปิดให้บริการครอบคลุมพื้นที่มากที่สุดถึง 7 ทวีป รวมถึง แอนตาร์กติกา ด้วย 

ทว่า ด้วยความเป็นคนไม่ธรรมดาของ อีลอน มัสก์ ก็ได้ใช้โอกาสนี้ยื่นข้อเสนออย่างเด็ดขาดมายังรัฐบาลไต้หวันว่า Starlink ต้องเป็นเจ้าของกิจการในระบบที่ไต้หวัน 100% เท่านั้น หากไม่แล้ว ก็จะล้มเลิกข้อตกลงทั้งหมด 

ทั้งนี้หากย้อนไปช่วงปี 2019 สื่อไต้หวันได้รายงานว่า อีลอน มัสก์ เริ่มนำเสนอธุรกิจอินทอร์เน็ตดาวเทียม Starlink ให้กับรัฐบาลไต้หวันมาแล้วตั้งแต่ตอนนั้น แต่ตามกฎหมายของไต้หวันระบุว่า ธุรกิจโทรคมนาคมที่ต้องร่วมค้ากับบริษัทต่างชาติ จำเป็นต้องมีบริษัทไต้หวันถือหุ้นส่วนอย่างน้อย 51% 

แต่เมื่ออีลอน มัสก์ ยืนยันว่า Starlink ต้องการดำเนินธุรกิจในไต้หวัน ด้วยสิทธิ์การเป็นเจ้าของกิจการ 100% เท่านั้น โดยอีลอน มัสก์ ยืนยันว่าเป็นโมเดลธุรกิจของ Starlink ที่ทำในทุกประเทศทั่วโลก นั่นก็หมายความว่า หากรัฐบาลไต้หวันต้องการใช้ระบบอินเทอร์เน็ตดาวเทียมของ Starlink ก็ต้องแก้กฎหมายเพื่อเปิดทางให้กับธุรกิจของอีลอน มัสก์

นี่ถือเป็นเงื่อนไขที่ไม่ง่ายทั้งสำหรับ รัฐบาลไต้หวัน และ ธุรกิจ Starlink เอง และปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความต้องการระบบดาวเทียม แต่อยู่ที่เงื่อนเวลาว่าทางไต้หวันรอได้หรือไม่ ที่ต้องรับมือกับความกดดันจากจีน 

เพราะตอนนี้ ไต้หวันก็กำลังพัฒนาอินเทอร์เน็ตดาวเทียมร่วมกับ OneWeb บริษัทของอังกฤษ และมีการทดลองใช้ในบางพื้นที่บ้างแล้ว แต่อาจต้องรอเวลาอีก 2-3 ปี ในการเปิดให้บริการครอบคลุมทุกพื้นที่ได้ 

ขณะเดียวกัน หากไต้หวันรอไม่ได้แล้ว เพราะสถานการณ์ความตึงเครียดกับจีน ไม่น่าไว้วางใจ Starlink อาจเป็นคำตอบที่เร็วที่สุดในเวลานี้ ที่ต้องแลกกับอธิปไตยเหนือสิทธิ์การควบคุมธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศ

ก็ต้องยอมรับว่า การสร้างความกดดัน หวั่นไหว สั่นประสาท ในลักษณะนี้ อีลอน เจ้าของ Twitter คนปัจจุบัน เขาปั่นเก่งนักแล...

‘อีลอน มัสก์’ เล็งเปลี่ยนโลโก้ทวิตเตอร์เป็น ‘X’ มุ่งสู่แพล็ตฟอร์มการสื่อสาร-ชำระเงินเต็มรูปแบบ

(24 ก.ค. 66) สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า อีลอน มัสก์ เจ้าของทวิตเตอร์ และลินดา ยัคคาริโน ซีอีโอคนใหม่ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนที่แล้ว ประกาศนำพาแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยอดนิยมระดับโลกมุ่งสู่ยุคใหม่ทางธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ

มัสก์และยัคคาริโนต่างประกาศว่า โลโก้นกสีฟ้าที่เป็นสัญลักษณ์ของทวิตเตอร์มาอย่างยาวนานจะถูกโละทิ้งเร็ว ๆ นี้ ก่อนรีแบรนด์แพล็ตฟอร์มใหม่ในชื่อ 'X'

ทวิตเตอร์ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2549 และใช้คำว่า 'ทวีต' ตามเสียงนกคุยกัน ได้ใช้การสร้างตราสินค้าเป็นรูปนกมาตั้งแต่ยุคแรก ๆ ภายหลังบริษัทได้ซื้อสัญลักษณ์รูปนกสีฟ้าอ่อนในราคา 15 ดอลลาร์จากเว็บไซต์ออกแบบแห่งหนึ่ง และใช้นกสีฟ้าเป็นสัญลักษณ์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ทั้งนี้ 'X' จะเป็นแพลตฟอร์มที่มุ่งเน้นธุรกิจรับชำระเงิน, การธนาคาร และการค้าอย่างเต็มรูปแบบ นอกเหนือไปจากการสนทนาและแบ่งปันข้อมูล

ยัคคาริโน อดีตผู้บริหารโฆษณาคนเก่งจากเอ็นบีซี ยูนิเวอร์แซล (NBCUniversal) กล่าวว่า ทวิตเตอร์กำลังอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนและขยายขอบเขต และจะมีการนำ AI เข้ามาขับเคลื่อนเชื่อมโยงในระบบธุรกิจ

"X จะเป็นอนาคตของการสื่อสารไม่จำกัด ทั้งในรูปแบบของเสียง, วิดีโอ, การส่งข้อความ, การชำระเงิน, การธนาคาร รวมไปถึงการสร้างการตลาดระดับโลกสำหรับแนวคิด, สินค้า, บริการ และโอกาส" ยัคคาริโนกล่าวผ่านทวิตเตอร์ และเสริมว่า "การเปลี่ยนแปลงนี้จะไม่มีขีดจำกัด และ 'X' จะเป็นแพลตฟอร์มที่ส่งมอบได้...ทุกอย่าง"

ตั้งแต่อีลอน มัสก์ ซื้อทวิตเตอร์ด้วยมูลค่า 44,000 ล้านดอลลาร์เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ธุรกิจโฆษณาของแพลตฟอร์มก็มีแต่ร่วงลงๆ พร้อมด้วยปัญหาด้านการดำเนินงานและบุคลากร เขาจึงต้องผลักดันช่องทางหารายได้ใหม่ให้กับทวิตเตอร์

อีลอน มัสก์ วัย 52 ปีเคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่าการครอบครองทวิตเตอร์ของเขามีจุดประสงค์เพื่อสร้างแอปสำหรับทุกอย่าง ซึ่งอ้างอิงถึงบริษัท X.com ที่เขาก่อตั้งในปี 2542 และกลายมาเป็น PayPal ยักษ์ใหญ่ด้านการชำระเงินในปัจจุบัน

นอกจากนี้ มัสก์ยังได้ตั้งชื่อบริษัทแม่ของทวิตเตอร์ใหม่แล้วด้วยว่า 'X Corporation' และกำลังดำเนินการหาสัญลักษณ์ (โลโก้) ให้กับ 'X'

คาดว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะนำทวิตเตอร์ก้าวไปสู่ยุคใหม่ที่ไม่ยึดติดกับการหาโฆษณาและให้บริการแบบไม่คิดเงิน รวมทั้งหลีกเลี่ยงการแข่งขันกับผู้เล่นหน้าใหม่อย่าง 'เธรดส์' ของมาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก และการนำเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่าง AI เข้ามาปรับใช้อย่างจริงจัง

'อินโดฯ' สั่งบล็อก X.com ของ 'อีลอน' หลังเข้าใจผิด คิดว่า X เป็น 'เว็บโป๊'

คลั่ง X จนเป็นเหตุ ถึงขนาดที่ อีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้ง SpaceX ได้ตัดสินใจเปลี่ยนโลโก้ และ รีแบรนด์แพลตฟอร์มโซเชียลชื่อดังอย่าง Twitter ด้วยตัวอักษร X พร้อมเปิดเว็บไซต์ X.com เพื่อเป็นช่องทางเข้าถึงบัญชี Twitter ด้วย

แต่ทว่า วันนี้ กระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศของอินโดนีเซีย มีคำสั่งให้บล็อกเว็บไซต์ X.com ของอีลอน มัสก์ เสียแล้ว เนื่องจากพบว่า เว็บไซต์ที่มีตัวอักษร X มักถูกใช้ในการเผยแพร่เนื้อหาลามกอนาจาร และ การเล่นพนันผิดกฎหมายในอินโดนีเซีย

อีกทั้งตอนนี้รัฐบาลอินโดนีเซียมีนโยบายปราบปรามเว็บไซท์ที่เผยแพร่หนังโป๊ และ เว็บพนันอย่างหนัก ทำให้ X.com ของอีลอน มัสก์ ติดร่างแหไปด้วย เพราะในระบบตรวจจับของทางการอินโดนีเซียยังเข้าใจว่า X.com คือ 'เว็บโป๊'

ดังนั้น การบล็อก X.com ของรัฐบาลอินโดนีเซีย จะส่งผลให้ผู้ใช้ทวิตเตอร์ในประเทศราว 24 ล้านบัญชี จากประชากรชาวอินโดนีเซียทั้งหมดกว่า 270 ล้านคน ไม่สามารถใช้ Twitter ได้

ทั้งนี้ อุซมาน กันซอง อธิบดีกรมสารสนเทศและการสื่อสารสาธารณะ กล่าวว่าทางรัฐบาลได้ติดต่อทาง X.com และตัวแทนของทาง Twitter เพื่อออกหนังสือชี้แจงถึงกิจการ และเนื้อหาที่จะเผยแพร่บนเว็บไซต์ เพื่อพิจารณาปลดล็อกต่อไป

ฉะนั้น เรื่องนี้จึงถือเป็นอีกหนึ่งความยุ่งยากที่ผู้บริหาร Twitter ต้องจัดการ และสร้างความเข้าใจในตัวตน และ โลโก้ใหม่ล่าสุดแทนสัญลักษณ์นกสีฟ้า แต่ยังไม่อาจหยุดยั้งความหลงใหลในตัวอักษร X ของอีลอน มัสก์ ได้

หากย้อนกลับไปในปี 1999 ที่เป็นยุคที่เรียกว่า dot-com generation ธุรกิจในโลกอินเทอร์เน็ตเฟื่องฟู อีลอน มัสก์ และเพื่อนๆ ได้แก่ แฮริส ฟริคเกอร์, คริสโตเฟอร์ เพยน์ และ เอ็ด โฮ ได้ก่อตั้งเว็บไซต์ที่ชื่อว่า X.com ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยตั้งใจให้เป็นธนาคารออนไลน์เต็มรูปแบบ ที่จะรวมบริการฝาก-ถอน เงินกู้ สินเชื่อ ประกันภัย ไว้ในที่เดียวกัน แม้จะมีหลายคนติงว่า ตัวอักษร X มักถูกโยงให้นึกถึงคอนเทนต์สำหรับผู้ใหญ่ แต่อีลอน มัสก์ ชอบชื่อนี้มาก และยืนยันที่จะเปิดโดเมน ด้วยชื่อนี้ให้ได้

และต่อมา X.com ได้ควบรวมกิจการกับ Confinity Inc. บริษัทซอฟต์แวร์ด้านธุรกรรมการเงิน และได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น Paypal ผู้ให้บริการชำระเงินออนไลน์ในเวลาต่อมา จนมาในปี 2017 อีลอน มัสก์ ยอมควักกระเป๋าซื้อโดเมน X.com คืนมาจาก Paypal ซึ่งเขาได้โพสต์ความรู้สึกผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวของเขาในตอนนั้นว่า ยังไม่มีแผนว่าจะเอาโดเมน X.com มาทำอะไร แต่ชื่อโดเมนนี้มีคุณค่าทางจิตใจกับสำหรับเขา

่มาวันนี้ อีลอน มัสก์ มีแผนสำหรับ X.com ที่จะคืนชีพด้วยการนำมาสวมแทนแบรนด์ Twitter เสียเลย และขั้นต่อไป อีลอน มัสก์ ตั้งใจที่จะต่อยอดให้ Twitter เป็นมากกว่าแพลตฟอร์มโซเชียล โดยเปลี่ยนให้เป็นแอปพลิเคชันที่ทำได้ทุกอย่าง อาทิ บริการชำระเงิน และ ธนาคารดิจิทัล

แต่ปัญหาคือ ภาพจำของคนทั่วไปกับตัวอักษร X ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะมักถูกใช้ในเว็บไซต์ลามกอนาจาร หรือมีเนื้อหาต้องห้าม ผิดกฎหมาย หรือแม้กระทั่งการดูหมิ่นศาสนา ซึ่งถือเป็นเรื่องร้ายแรงในอินโดนีเซีย ประเทศที่มีชุมชนชาวมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก

จึงเป็นเหตุให้ X.com ขออีลอน มัสก์ ถูกเบรกอย่างกะทันหันในอินโดนีเซีย และมีแนวโน้มที่จะถูกจับตาเป็นพิเศษ ถึงเนื้อหาที่เผยแพร่ใน Twitter หลังจากที่สวมแบรนด์ X อีกด้วย

ดังนั้น ความท้าทายของอีลอน มัสก์ จึงไม่ใช่แค่การเปลี่ยนชื่อ Twitter เป็น X อย่างเดียว แต่จำเป็นต้องรีแบรนด์ ภาพลักษณ์ของตัวอักษร X ในสายตาชาวโลกด้วย

‘อีลอน มัสก์’ ถูกสั่งรื้อป้ายสัญลักษณ์ ‘X’ หลังติดตั้งได้สัปดาห์เดียว เหตุทำผิดกฎผังเมือง ‘ไม่ขออนุญาต-ละเมิดข้อบังคับการติดตั้งป้าย’

(2 ส.ค. 66) กรณีที่ ‘อีลอน มัสก์’ สั่งเปลี่ยนชื่อ ทวิตเตอร์ แอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียที่ครองใจเจนเนอเรชันใหม่ ที่หลายคนกำลังจับตามอง ดูจะไปไม่ค่อยสวยนัก ทั้งบรรดาผู้ใช้เดิมที่ชอบรูปลักษณ์ตัวนกสีฟ้าแบบเดิมมากกว่า ชื่อใหม่ ‘x’ หรือ เอ็กซ์ เพราะทั้งชื่อและสัญลักษณ์ดูคล้ายกับเว็บโป๊ แถมล่าสุด โลโก้ไฟป้ายเบ้อเริ่มที่อีลอนแสนภาคภูมิใจ นำขึ้นไปติดประกาศก้องแสดงการก้าวเข้าสู่ปฐมบทใหม่ บนตึกสำนักงานใหญ่ในเมืองซานฟรานซิสโกเมื่อสัปดาห์ก่อน ก็ได้ถูกสั่งให้ปลดลงแล้ว

ทั้งนี้ เนื่องจากแสงไฟจ้าที่สาดส่อง แบบกะจะให้ทั้งเมืองได้เห็นเป็นสักขีพยาน และโชว์ความรุ่งโรจน์ของภาพลักษณ์ใหม่นี้ กลับทำให้รบกวนทัศนวิศัยน์ของชาวเมือง ผู้คนจากตึกฝั่งตรงข้าม โดนแสงสะท้อนเข้าหน้าต่างตลอดทั้งคืน จนสว่างจ้าราวกับเป็นกลางวัน แถมลูกเล่นการกะพริบที่เรียกร้องความสนใจ ทำเอาหลายคนในบริเวณนั้นคิดว่าฟ้าแลบ จึงเกิดการร้องเรียนกับทางการ

เพียง 1 สัปดาห์หลังการติดตั้ง ป้ายดังกล่าวก็ถูกปลดลง โดยฝ่ายผังเมืองของซานฟรานซิสโกได้ออกมาบอกว่า บริษัท อีลอน มัสก์ กระทำการผิดกฎหมายโดยไม่ขออนุญาต และละเมิดข้อบังคับการติดตั้งป้ายตามกฎผังเมือง โดยก่อนหน้านี้ทางตึกได้ปฏิเสธการเข้าตรวจสอบถึง 2 ครั้ง จึงได้สั่งให้ดำเนินการรื้อถอนป้ายในทันที

นอกจาก อีลอนจะต้องจ่ายค่าปรับในการทำผิดกฎหมายแล้ว ยังต้องจ่ายค่ารื้อถอนให้กับทางการอีกด้วย เรียกว่าโดนจนอ่วมเลยทีเดียว แต่ค่าปรับขนาดไหนก็คงไม่สร้างความหงุดหงิดใจให้กับมหาเศรษฐีรายนี้ เท่ากับการเสียหน้า ที่ป้ายไฟอันแสนภาคภูมิใจต้องถูกปลดลง

‘อีลอน มัสก์’ ปิ๊งไอเดีย จ่อคิดค่าบริการ X ทุกบัญชี อ้าง!! เพื่อยืนยันตัวตนผู้ใช้งาน-แก้ปัญหากองทัพบอต

(19 ก.ย. 66) สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า ‘นายอีลอน มัสก์’ อภิมหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าเทสลาและ ‘X’ แพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดังที่เคยรู้จักในชื่อ ‘ทวิตเตอร์’ ได้เปิดเผยแนวคิดกับนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา ว่า ผู้ใช้งาน X ทุกคนอาจต้องชำระค่าบริการรายเดือน เพื่อใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์ดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า การคิดค่าบริการคือหนทางเดียวที่จะแก้ปัญหาเรื่องบอต

นับตั้งแต่ที่มัสก์เข้าซื้อกิจการของทวิตเตอร์เมื่อปีที่แล้ว เขาได้พยายามกระตุ้นให้ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ชำระเงินค่าบริการ ‘Twitter Blue’ หรือที่ตอนนี้มีชื่อว่า ‘X Premium’ เพื่อแลกกับฟีเจอร์ที่ดีขึ้นกว่าที่ผู้ใช้งานคนอื่นๆ ที่ใช้งานแบบฟรีจะได้รับ โดยมัสก์พูดมาโดยตลอดว่า วิธีการที่เขาจะใช้กำจัดบอต และบัญชีผู้ใช้งานปลอมออกจากแพลตฟอร์ม X คือการเก็บเงินเพื่อยืนยันตัวตน โดยวิธีนี้จะทำให้จุดคุ้มทุนในการสร้างบอตขึ้นมานั้นสูงขึ้นมาก

มัสก์กล่าวกับนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูของอิสราเอล ระหว่างการหารือกันที่โรงงานของเทสลา ที่เมืองฟรีมอนต์ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ที่ถ่ายทอดสดผ่านทาง X ว่า “เรากำลังเดินหน้าให้มีการชำระค่าบริการรายเดือนเป็นจำนวนเงินเล็กน้อยเพื่อเข้าใช้งาน”

ขณะนี้ ค่าบริการรายเดือนของ X Premium ในประเทศสหรัฐฯ อยู่ที่ 8 ดอลลาร์ หรือราว 287 บาท แต่มัสก์กล่าวว่า เขาเล็งที่จะให้มีตัวเลือกค่าบริการรายเดือนที่ราคาลดหลั่นลงมา “เราจะมีการเสนอค่าบริการที่ถูกลงมาเป็นขั้นๆ เพราะฉะนั้นแล้ว เราแค่อยากให้มีการเก็บค่าบริการเป็นเงินเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เรื่องนี้จำเป็นต้องมีการหารือกันนานกว่านี้ แต่ในความคิดของผม นี่คือวิธีเดียวที่จะจัดการกับกองทัพบอตจำนวนมหาศาล” มัสก์กล่าว

อย่างไรก็ดี ทางสำนักข่าวบีบีซียังไม่ได้รับแถลงการณ์จากทาง X ถึงรายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องดังกล่าว และในการหารือนั้น มัสก์ไม่ได้กล่าวว่าจะคิดค่าบริการรายเดือนเป็นเงินเท่าใด รวมถึงยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ความเห็นดังกล่าวของมัสก์เป็นการพูดขึ้นมาอย่างนั้นหรือเป็นสัญญาณของแผนการที่ยังไม่ได้ประกาศออกมา

ทั้งนี้ การเรียกเก็บเงินค่าบริการเพื่อเข้าใช้งาน X อาจส่งผลให้ผู้ใช้งานจำนวนมากเลิกใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ดังกล่าวได้ รวมถึงอาจทำให้รายได้จากการโฆษณา ซึ่งคิดเป็นรายได้หลักของทางบริษัทตอนนี้ลดลงอีกด้วย

‘เศรษฐา’ หารือ ‘อีลอน มัสก์’ ชวนลงทุนรถอีวีในไทย ชี้!! ไทยพร้อมดูแลสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน

(22 ก.ย. 66) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้พบกับ นาย Elon Musk และผู้บริหารของ Tesla SpaceX และ Starlink ผ่านระบบการประชุมทางไกล

โดยนายกรัฐมนตรีประทับใจที่ได้หารือกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุมมองที่ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกัน ชื่นชมความก้าวหน้าที่ ต้องการทำเพื่อมนุษยชาติ  และเพื่อโลกที่สะอาด สู่อนาคตที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าจะเกิดเป็นความสำเร็จ ทั้งต่อความร่วมมือด้านยานยนต์ EV และ เพิ่มความร่วมมือด้าน Space Exploration ซึ่งมีมูลค่าทางตลาดสูง และเชื่อมั่นว่าการพบกันครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ไม่ใช่ต่อประเทศไทย แต่จะเป็นประโยชน์กับโลกด้วย

ฝ่าย Tesla กล่าวชื่นชมศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ของไทย ซึ่งเหมาะสมกับการลงทุนของ Tesla 

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมให้การดูแล สนับสนุนตามกรอบกฎหมาย สิทธิประโยชน์ ด้านการลงทุน

‘อีลอน มัสก์’ ทวีตตอบ ‘เศรษฐา’ ชี้ เป็นเกียรติที่ได้พบ พร้อมบอก “อนาคตประเทศไทยน่าตื่นเต้นสุดๆ”

เมื่อวานนี้ (22 ก.ย.66) ตามเวลาประเทศไทย ภายหลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้พบกับ นายอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ผู้ก่อตั้งสเปซเอ็กซ์ และซีอีโอของบริษัทเทสลา และผู้บริหารของ Tesla SpaceX และ Starlink ผ่านระบบการประชุมทางไกล

ก่อนที่ นายกรัฐมนตรี จะได้เขียนข้อความถึงนายมัสก์ ผ่านแพลตฟอร์ม x หรือทวิตเตอร์ ใจความว่า

“ได้เจอกับ @elonmusk และทีม ระหว่างที่ผมเดินทางมาร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 (UNGA78) ที่นครนิวยอร์ก พวกเรามีบทสนทนาที่ดีมากๆ เกี่ยวกับ @Tesla @spaceX และเทคโนโลยีของ @starlink

ประทับใจกับความก้าวหน้าที่กลุ่มได้สร้างขึ้นเพื่อมนุษยชาติ และพวกเราก็ได้แชร์มุมมองเกี่ยวกับอนาคตสำหรับโลกที่สะอาดขึ้น พวกเรายังมองหาโอกาสที่จะได้พูดคุยกันเพิ่มเติม และหวังที่จะได้รับแรงบันดาลใจที่มากขึ้นเกี่ยวกับความสำเร็จของ #EV และ #SpaceExploration ที่ก้าวหน้า แน่นอนว่าไม่ใช่เฉพาะคนไทย แต่รวมไปถึงประชาคมโลกด้วย”

จากนั้น นายอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ได้ตอบกลับข้อความดังกล่าวของนายเศรษฐา ผ่านแอ็กเคานต์ x ส่วนตัว โดยระบุว่า “เป็นเกียรติอย่างมากที่ได้พบ ประเทศไทยมีอนาคตที่น่าตื่นเต้นมาก!”

‘อีลอน มัสก์’ ชี้!! ’จีน‘ มีคนเก่ง-ขยันมากกว่าสหรัฐฯ

เมื่อวานนี้ (24 พ.ย.66) เพจ 'ลึกชัดกับผิงผิง' ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ ‘อีลอน มัสก์’ ขณะกล่าวให้สัมภาษณ์นายเล็กซ์ ฟริดแมน (Lex Fridman) พิธีกรรายการพอดแคสต์ชื่อดังว่า จำนวนคนฉลาดและคนขยันของจีนมีมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ แล้วก็มากกว่าสหรัฐฯ ด้วย และประทับใจมากต่อโครงสร้างพื้นฐาน ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของจีน...

’อีลอน มัสก์‘ นับเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จยอดเยี่ยมของโลกและเป็นคนปากหวาน แต่คำชมจีนดังกล่าวคงมาจากประสบการณ์การพัฒนากิจการในจีนของเขาเอง

'กสทช.' ไฟเขียว!! 'ม.อ.' ได้ใช้ Starlink ของ 'อีลอน มัสก์' รายแรกในไทย หนุนภารกิจช่วยเหลือทางเรือที่ประสบภัยและพื้นที่ห่างไกล 6 เดือน

เมื่อวานนี้ (28 ธ.ค. 66) รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่า เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.ที่ผ่านมา บอร์ดได้อนุมัติให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ใช้คลื่นความถี่ย่าน Ku-Band (Uplink : 14-14.5 GHz และ Downlink : 10.7-12.7 GHz) ของดาวเทียมต่างชาติกลุ่มดาวเทียม Starlink ซึ่งเป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit : LEO)

สำหรับใช้ในการทดลองทดสอบรับส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม เพื่อสนับสนุนภารกิจค้นหาช่วยเหลือทางเรือที่ประสบภัยและภารกิจอื่นในพื้นที่ห่างไกลที่โครงข่ายภาคพื้นดินไปไม่ถึง เป็นการชั่วคราวเป็นเวลา 6 เดือน

Starlink เป็นโครงการสร้างโครงข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband) โดยไม่ต้องใช้สาย ซึ่งอยู่ภายใต้บริษัทเทคโนโลยีอวกาศ SpaceX ของมหาเศรษฐี ‘อีลอน มัสก์’ เจ้าของ Tesla และทวิตเตอร์ หรือ X ในปัจจุบัน โครงข่าย Starlink สามารถปล่อยสัญญาณบรอดแบนด์ได้ราว 32 ประเทศทั่วโลก รวมถึงในพื้นที่สงครามอย่างยูเครน-รัสเซีย

ข้อมูลจากรอยเตอร์ระบุว่า ปัจจุบันโครงข่ายของ Starlink เข้าถึงประชากร 2.3 ล้านคน ใน 70 ประเทศแล้ว

พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. ให้ข้อมูลในกรณีนี้ว่า เป็นการพิจารณาตามที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ร้องขอ ซึ่งเดิมมหาวิทยาลัยเคยได้รับอนุญาตให้เป็นพื้นที่ทดลองทดสอบ (Sandbox) ในการพัฒนา 5G Usecase มาก่อน ซึ่งก็ประสบความสำเร็จด้วยดี

“ครั้งนี้ต้องการทดลองทดสอบนวัตกรรมในการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมวงโคจรต่ำ ซึ่งจะมีประโยชน์มากในพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ตามเกาะแก่ง หรือตามป่าเขา ที่โครงข่ายอินเทอร์เน็ตภาคพื้นดิน หรือโครงข่ายไร้สาย 4G หรือ 5G ไปไม่ถึง ซึ่งภาคใต้ของประเทศไทยยังคงมีปัญหาดังกล่าว และครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่อนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียม Starlink มาทดลองทดสอบการใช้งานอินเทอร์เน็ต (Broadband)”

แม้ว่าจะใช้คลื่นความถี่ในย่าน Ku Band เหมือนกับดาวเทียมไทยคม 5 และไทยคม 8 ที่ใช้งานแพร่ภาพโทรทัศน์ (Broadcast) แต่ก็ไม่ทับซ้อนกัน โดยที่ดาวเทียมไทยคม 5 ใช้ Downlink : 12.272-12.604 GHz และไทยคม 8 ใช้ Downlink : 11.48-11.70 GHz

“กสทช. ก็มีข้อสังเกตในการทดลองทดสอบครั้งนี้ถึงผลกระทบที่อาจเกิดคลื่นความถี่รบกวนกันด้วย จึงเป็นสิ่งที่ดีที่ก่อนจะมีการอนุญาตให้ใช้งานจริงควรทดสอบก่อน โดยมีโครงสร้างสถาปัตยกรรมโครงข่ายกรณีภารกิจค้นหาและช่วยชีวิตเรือที่ประสบภัย”

การทดลองทดสอบ (Sandbox) ในการรับส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม Starlink ในครั้งนี้ ถือว่าเป็นประโยชน์ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีดาวเทียมวงโคจรต่ำที่เป็นกลุ่มดาวเทียมใช้งาน Broadband เช่นนี้

สำหรับดาวเทียมสัญชาติไทยที่ กสทช.ประมูลและอนุญาตในต้นปีที่ผ่านมาเป็นดาวเทียมวงโคจรประจำที่ (Geo-Stationary Earth Orbit : GEO) และการอนุญาตในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการอนุญาตเพื่อให้บริการในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

“หากให้มหาวิทยาลัยได้ทำการทดลองทดสอบเพื่อได้ศึกษาถึงเทคโนโลยีดังกล่าวที่มีความแตกต่างกัน และได้องค์ความรู้ทั้งในด้านการพัฒนาและการประยุกต์ใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการค้นหาและช่วยเหลือทางเรือที่ประสบภัย จึงน่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศ” พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top