'กสทช.' ไฟเขียว!! 'ม.อ.' ได้ใช้ Starlink ของ 'อีลอน มัสก์' รายแรกในไทย หนุนภารกิจช่วยเหลือทางเรือที่ประสบภัยและพื้นที่ห่างไกล 6 เดือน

เมื่อวานนี้ (28 ธ.ค. 66) รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่า เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.ที่ผ่านมา บอร์ดได้อนุมัติให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ใช้คลื่นความถี่ย่าน Ku-Band (Uplink : 14-14.5 GHz และ Downlink : 10.7-12.7 GHz) ของดาวเทียมต่างชาติกลุ่มดาวเทียม Starlink ซึ่งเป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit : LEO)

สำหรับใช้ในการทดลองทดสอบรับส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม เพื่อสนับสนุนภารกิจค้นหาช่วยเหลือทางเรือที่ประสบภัยและภารกิจอื่นในพื้นที่ห่างไกลที่โครงข่ายภาคพื้นดินไปไม่ถึง เป็นการชั่วคราวเป็นเวลา 6 เดือน

Starlink เป็นโครงการสร้างโครงข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband) โดยไม่ต้องใช้สาย ซึ่งอยู่ภายใต้บริษัทเทคโนโลยีอวกาศ SpaceX ของมหาเศรษฐี ‘อีลอน มัสก์’ เจ้าของ Tesla และทวิตเตอร์ หรือ X ในปัจจุบัน โครงข่าย Starlink สามารถปล่อยสัญญาณบรอดแบนด์ได้ราว 32 ประเทศทั่วโลก รวมถึงในพื้นที่สงครามอย่างยูเครน-รัสเซีย

ข้อมูลจากรอยเตอร์ระบุว่า ปัจจุบันโครงข่ายของ Starlink เข้าถึงประชากร 2.3 ล้านคน ใน 70 ประเทศแล้ว

พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. ให้ข้อมูลในกรณีนี้ว่า เป็นการพิจารณาตามที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ร้องขอ ซึ่งเดิมมหาวิทยาลัยเคยได้รับอนุญาตให้เป็นพื้นที่ทดลองทดสอบ (Sandbox) ในการพัฒนา 5G Usecase มาก่อน ซึ่งก็ประสบความสำเร็จด้วยดี

“ครั้งนี้ต้องการทดลองทดสอบนวัตกรรมในการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมวงโคจรต่ำ ซึ่งจะมีประโยชน์มากในพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ตามเกาะแก่ง หรือตามป่าเขา ที่โครงข่ายอินเทอร์เน็ตภาคพื้นดิน หรือโครงข่ายไร้สาย 4G หรือ 5G ไปไม่ถึง ซึ่งภาคใต้ของประเทศไทยยังคงมีปัญหาดังกล่าว และครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่อนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียม Starlink มาทดลองทดสอบการใช้งานอินเทอร์เน็ต (Broadband)”

แม้ว่าจะใช้คลื่นความถี่ในย่าน Ku Band เหมือนกับดาวเทียมไทยคม 5 และไทยคม 8 ที่ใช้งานแพร่ภาพโทรทัศน์ (Broadcast) แต่ก็ไม่ทับซ้อนกัน โดยที่ดาวเทียมไทยคม 5 ใช้ Downlink : 12.272-12.604 GHz และไทยคม 8 ใช้ Downlink : 11.48-11.70 GHz

“กสทช. ก็มีข้อสังเกตในการทดลองทดสอบครั้งนี้ถึงผลกระทบที่อาจเกิดคลื่นความถี่รบกวนกันด้วย จึงเป็นสิ่งที่ดีที่ก่อนจะมีการอนุญาตให้ใช้งานจริงควรทดสอบก่อน โดยมีโครงสร้างสถาปัตยกรรมโครงข่ายกรณีภารกิจค้นหาและช่วยชีวิตเรือที่ประสบภัย”

การทดลองทดสอบ (Sandbox) ในการรับส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม Starlink ในครั้งนี้ ถือว่าเป็นประโยชน์ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีดาวเทียมวงโคจรต่ำที่เป็นกลุ่มดาวเทียมใช้งาน Broadband เช่นนี้

สำหรับดาวเทียมสัญชาติไทยที่ กสทช.ประมูลและอนุญาตในต้นปีที่ผ่านมาเป็นดาวเทียมวงโคจรประจำที่ (Geo-Stationary Earth Orbit : GEO) และการอนุญาตในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการอนุญาตเพื่อให้บริการในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

“หากให้มหาวิทยาลัยได้ทำการทดลองทดสอบเพื่อได้ศึกษาถึงเทคโนโลยีดังกล่าวที่มีความแตกต่างกัน และได้องค์ความรู้ทั้งในด้านการพัฒนาและการประยุกต์ใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการค้นหาและช่วยเหลือทางเรือที่ประสบภัย จึงน่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศ” พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์กล่าว