Thursday, 16 May 2024
อวกาศ

สุดล้ำ!! ‘จีน’ ลุยส่ง ‘ดาวเทียม’ สู่ห้วงอวกาศจำนวน 4 ดวง ใช้รับข้อมูล-บริการเชิงพาณิชย์-การสื่อสารผ่านดาวเทียม

(24 ก.ค. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวันอาทิตย์ (23 ก.ค.) จีนปล่อยจรวดขนส่งลองมาร์ช-2ดี (Long March-2D) พร้อมส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรที่กำหนด จำนวน 4 ดวง

รายงานระบุว่าจรวดขนส่งลองมาร์ช-2ดี ทะยานออกจากศูนย์ปล่อยดาวเทียมไท่หยวน มณฑลซานซีทางตอนเหนือของจีน ตอน 10.50 น. ตามเวลาปักกิ่ง

ดาวเทียมสามดวงจะถูกใช้รับข้อมูลการสำรวจระยะไกลและให้บริการสำรวจระยะไกลเชิงพาณิชย์ ส่วนดาวเทียมอีกดวงหนึ่งจะใช้ตรวจสอบเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านดาวเทียม

อนึ่ง การส่งดาวเทียมดังกล่าวนับเป็นภารกิจครั้งที่ 479 ของจรวดขนส่งตระกูลลองมาร์ช

‘อินเดีย’ เตรียมส่ง ‘ดาวเทียมสิงคโปร์’ ทะยานสู่ห้วงอวกาศ เพื่อใช้สนับสนุนการถ่ายภาพดาวเทียมของหน่วยงานรัฐฯ

เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, นิวเดลี รายงานว่า องค์การวิจัยอวกาศแห่งอินเดีย หรือ ‘ISRO’ ประกาศแผนการส่งจรวดปล่อยดาวเทียมพีเอสแอลวี-ซี 56 (PSLV-C56) ซึ่งบรรทุกดาวเทียมดีเอส-เอสเออาร์ (DS-SAR) ของสิงคโปร์ พร้อมดาวเทียมอีก 6 ดวง ขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 30 ก.ค. นี้

แถลงการณ์จากองค์การฯ เผยกำหนดการปล่อยจรวดตอน 06.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น จากฐานปล่อยจรวดแห่งที่ 1 ของศูนย์อวกาศสาธิต ดาวัน ในเมืองศรีหริโกฎา โดยบริษัท นิวสเปซ อินเดีย จำกัด (Newspace India) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดสำนักอวกาศของอินเดีย เป็นผู้จัดซื้อจรวดดังกล่าว

องค์การฯ กล่าวว่าดาวเทียมดีเอส-เอสเออาร์ จะถูกใช้สนับสนุนการถ่ายภาพดาวเทียมของหน่วยงานต่างๆ ภายในรัฐบาลสิงคโปร์ โดยบริษัท เอสที เอ็นจิเนียริง (ST Engineering) ของสิงคโปร์ จะใช้ดาวเทียมสำหรับการถ่ายภาพหลายรูปแบบและตอบสนองไว รวมถึงบริการเชิงพื้นที่สำหรับลูกค้าเชิงพาณิชย์

อนึ่ง ดาวเทียมที่ปล่อยอีกหกดวง ได้แก่ วีลอกซ์-เอเอ็ม (VELOX-AM) อาร์เคด (ARCADE) สคูบ-2 (SCOOB-II) นูลิออน (NuLIoN) กาลาสเซีย-2 (Galassia-2) และโออาร์บี-12 สไตรเดอร์ (ORB-12 Strider)

‘บิ๊กตู่’ หนุน ศึกษาสร้างฐานปล่อยยานอวกาศในไทย หวังพัฒนาเทคโนโลยีอย่างยั่งยืนแข่งกับนานาประเทศ

(6 ส.ค. 66) สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เร่งขับเคลื่อนนโยบายอวกาศของรัฐบาลให้เป็นรูปธรรม เพื่อพัฒนาและใช้ประโยชน์จากกิจการอวกาศ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยได้สนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาความเป็นไปได้ ในการสร้างจัดตั้งท่าอวกาศยานในประเทศไทย คือ ฐานสำหรับการส่งและรับยานอวกาศ (spaceport) เนื่องจากหากประเทศไทยมีท่าอวกาศยานของเราเอง จะก่อให้เกิดความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอวกาศ ทั้งยังเกิดการสร้างรายได้ทางตรงจากอุตสาหกรรมอวกาศ

ซึ่งอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ หรือ ‘Aerospace Industry’ ถูกกำหนดให้เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และถือเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ส่งผลไปถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ จึงเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ

สำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ เน้นย้ำให้ศึกษารายละเอียดรอบด้าน อย่างรอบคอบและระมัดระวังที่สุด ทั้งความคุ้มค่าและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอื่น ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ตั้งแต่ปลายปี 2565 ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาศึกษาอีกประมาณ 1-2 ปี โดยเบื้องต้นพบว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่มีความเหมาะสมถึง 5 คุณสมบัติ ได้แก่

1.) การอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร มีผลต่อการนำส่งอวกาศยานที่จะช่วยลดการสิ้นเปลืองของพลังงาน
2.) มีทะเลขนาบ 2 ฝั่งซ้าย-ขวา มีมุมปล่อยอวกาศยานได้หลากหลายแบบ
3.) มีแนวชายฝั่งที่เป็นคาบสมุทร สามารถกำหนดจุดหรือ Drop Zone ที่ไม่กระทบกับพื้นที่บนฝั่ง และยังสามารถออกเก็บกู้วัตถุที่ตกลงมาได้ง่าย
4.) มีระบบโลจิสติกส์ที่เข้าถึงง่าย หลายหลาย มีระบบท่าเรือน้ำลึกและท่าอากาศยาน
5.) ไม่มีภัยพิบัติรุนแรง ซึ่งทำให้ไทยมีโอกาสและแนวโน้มที่จะเกิดโครงการนี้ได้จริง

สำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า หากท่าอวกาศยานในประเทศไทย จัดตั้งได้สำเร็จจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางอวกาศขนาดใหญ่ นอกจากจะยกระดับวิทยาศาสตร์อวกาศ เทคโนโลยีอวกาสแล้ว ยังส่งเสริมและผลักดัน ธุรกิจอวกาศ อุตสาหกรรมอวกาศ ยกระดับเศรษฐกิจและสังคมและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ อุตสาหกรรมการผลิตอุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นต้น เกิดอาชีพใหม่เพิ่มขึ้นอีกกว่า300-400 อาชีพ อาทิ ช่างประกอบจรวด ช่างประกอบเพย์โหลด ช่างขัดท่อจรวด ช่างอิเล็กทรอนิกส์ระบบจรวด ช่างไฟฟ้าระบบจรวด เจ้าหน้าที่ตรวจสอบการนำเข้าจรวด พนักงานขายตั๋วเที่ยวบินไปอวกาศฯลฯ ซึ่งยังไม่เคยมีเกิดขึ้นในประเทศไทย ถือเป็นวิสัยทัศน์ที่ล้ำสมัย นำไปสู่ความการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน และยังทำให้ประเทศไทย เป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจอวกาศแห่งภูมิภาคเอชีย-แปซิฟิกได้

สำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ริเริ่มวางรากฐานพัฒนาด้านอวกาศไทยมาโดยตลอด เช่น ผลักดันให้มี ร่างกฎหมายอวกาศหรือพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. .... และผลักดันให้เกิดแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ พ.ศ.2566 - 2580 (National Space Master Plan 2023 - 2037) ขึ้นเพื่อพัฒนาและใช้ประโยชน์จากกิจการอวกาศเพื่อความมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน ของประเทศไทย ให้แข่งขันกับนานาประเทศได้

‘ดาวเทียม THEOS-2’ ฝีมือคนไทยดวงแรก เตรียมขึ้นสู่อวกาศ ก.ย.นี้ เพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี รองรับการเติบโตของธุรกิจอวกาศ

(14 ส.ค.66) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานะโครงการระบบดาวเทียมสำรวจพร้อมระบบภาคพื้นดิน และระบบแอปพลิเคชันภูมิสารสนเทศสำหรับโครงการระบบดาวเทียมเพื่อการพัฒนา ‘THEOS-2’ ประกอบและทดสอบเสร็จสิ้นแล้ว เก็บไว้ภายใต้สภาวะควบคุมสภาพแวดล้อม ณ Airbus Test Facility เมืองตูลูส ประเทศฝรั่งเศส โดยคาดว่า จะปล่อยสู่วงโคจรได้ปลายเดือนสิงหาคม ถึงกันยายน 2566 ณ ฐานปล่อยจรวดในเมืองเฟรนช์เกียนาในทวีปอเมริกาใต้

ขณะที่ดาวเทียมเล็ก THEOS-2A ประกอบและทดสอบแล้วเสร็จ เก็บไว้ภายใต้สภาวะควบคุมสภาพแวดล้อม ณ อาคารประกอบและทดสอบแห่งชาติ AIT อุทยานรังสรรค์นวัตกรรม (SKP) อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี คาดว่า จะนำส่งขึ้นสู่อวกาศในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2566 เป็นต้นไป ณ ฐานปล่อยจรวดภายในศูนย์อวกาศสาธิต ธาวัน เมืองศรีหริโคตา ประเทศอินเดีย

“ดาวเทียม THEOS-2 ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจโลกดวงแรกของไทย มีการพัฒนาออกแบบโดยฝีมือคนไทย จะขึ้นสู่ห้วงอวกาศเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งกำหนดการสามารถเลื่อนได้ตามสถานการณ์และปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง” นางสาวรัชดา กล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ โดยดำเนินการเตรียมความพร้อมทางโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศหลายส่วนและมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับกิจการด้านอวกาศของประเทศ อาทิ สถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมและการพัฒนาระบบปฏิบัติการดาวเทียมภาคพื้นดิน ระบบคลังข้อมูลจากดาวเทียมที่พร้อมใช้ ศูนย์ปฏิบัติการความเป็นเลิศและนวัตกรรมการบินและอวกาศที่ได้รับการรับรองคุณภาพและมาตรฐานสากล

รวมถึงศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ หนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของประเทศ ตั้งอยู่ภายในอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นศูนย์ที่มีความทันสมัยได้มาตรฐานสากล เพื่อรองรับการพัฒนาชิ้นส่วนอุปกรณ์ สร้าง ประกอบ และทดสอบดาวเทียม

รวมทั้ง รัฐบาลให้ความสำคัญของการพัฒนากำลังคน เพื่อรองรับการเติบโตของกิจการด้านอวกาศ ภายใต้โครงการ THEOS-2 ซึ่งหลังจากที่วิศวกรดาวเทียมของไทย 22 คน ได้ไปฝึกฝน เรียนรู้ และลงมือปฏิบัติจริงอย่างเข้มข้น ณ สหราชอาณาจักรและกลับมาต่อยอดให้กับบุคลากรในประเทศ

จากนั้นจะมีการดำเนินการต่อในเรื่อง การสร้างวิศวกรใหม่ โดยการรับวิศวกรรุ่นใหม่ หรือที่มีความสนใจในการสร้างดาวเทียมมาร่วมทีมพัฒนา และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้ที่สนใจทั่วไป ทั้งภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัยและประชาชนทั่วไป และในอนาคตอันใกล้เรากำลังจะสร้างดาวเทียมดวงใหม่โดยฝีมือคนไทย 100% ในนาม ‘THEOS-3’

“พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อขับเคลื่อนไทย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่น และมีแนวคิดที่ต้องการให้ไทยพัฒนาส่วนของเทคโนโลยีอนาคตเหล่านี้ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งก็เพื่อการแข่งขันในโลกสมัยใหม่ เท่าทันวิวัฒนาการ และเพื่อความก้าวหน้าทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคม นำพาประเทศและประชาชนให้คุ้นชินกับอุตสาหกรรมอนาคต พัฒนาสู่ประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน” นางสาวรัชดา กล่าว

‘อินเดีย’ ส่งยาน ‘จันทรายาน-3’ ขึ้นสู่ห้วงอวกาศ ลงจอดที่ขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์สำเร็จเป็นชาติแรก

เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 66 ยานสำรวจ จันทรายาน-3 ของ อินเดีย ลงจอดบริเวณขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์เป็นผลสำเร็จแล้วเมื่อเวลาประมาณ 19.34 น.ของเมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา ตามเวลาในประเทศไทย ท่ามกลางการส่งเสียงเชียร์ด้วยความดีใจของบรรดานักวิทยาศาสตร์ขององค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ไอเอสอาร์โอ) และชาวอินเดียทั่วประเทศที่ลุ้นกันตัวโก่ง

ภารกิจในห้วงอวกาศครั้งประวัติศาสตร์นี้ ส่งผลให้อินเดียกลายเป็นชาติแรกที่ส่งยานอวกาศลงจอดขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์เป็นผลสำเร็จ และเป็นประเทศที่ 4 ของโลกที่สามารถส่งยานอวกาศไปลงดวงจันทร์ได้ ต่อจากอดีตสหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกา และ จีน ซึ่งทำให้อินเดียผงาดสู่การเป็นมหาอำนาจอวกาศอีกชาติหนึ่ง

ภายหลังจากที่ยานจันทรายาน 3 ได้ลงจอดสำเร็จนั้น หน่วยงานอวกาศรอสคอส ของรัสเซีย ได้แสดงความยินดีกับอินเดีย ที่ประสบความสำเร็จในการลงจอดของยานอวกาศนี้ ผ่านแถลงการณ์ โดยระบุว่า การสำรวจดวงจันทร์มีความสำคัญต่อมนุษยชาติทั้งหมด ในอนาคต มันอาจกลายเป็นเวทีสำหรับการเรียนรู้อวกาศที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย ซึ่งร่วมชมการถ่ายทอดสดขณะยานจันทรายาน-3 ลงจอดบนขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ด้วยในระหว่างที่เขาอยู่ในระหว่างร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่มบริกส์อยู่ที่ประเทศแอฟริกาใต้ เขาได้โบกธงชาติอินเดียและกล่าวอย่างปลาบปลื้มในการประกาศความสำเร็จของภารกิจนี้ครั้งนี้ว่า นี่เป็นชัยชนะของอินเดีย

“แนวทางที่มีมนุษยชาติเป็นศูนย์กลางนี้… คือ โลกหนึ่งใบ หนึ่งครอบครัว อนาคตหนึ่งเดียวที่กำลังก้องกังวานไปทั่วโลก” เขาระบุ และยังสนับสนุนให้ประเทศอื่นๆ ได้เปิดภารกิจของตนเอง โดยกล่าวว่า ความสำเร็จของอินเดีย คือความสำเร็จของมวลมนุษยชาติ

“เราทุกคนสามารถปรารถนาถึงดวงจันทร์ และที่อื่นๆเหนือไปกว่านั้นได้”

“ท้องฟ้าไม่ใช่ขีดจำกัดอีกต่อไป” นเรนทรา โมดี กล่าว

ภารกิจจันทรายาน-3 ครั้งนี้ ซึ่งเป็นความพยายามครั้งที่ 2 ของอินเดียในความพยายามส่งยานอวกาศลงบนพื้นผิวดวงจันทร์นั้น มีขึ้นไม่ถึงสัปดาห์หลังจากยานลูนา-25 ของรัสเซีย ประสบความล้มเหลวที่จะลงจอดบนดวงจันทร์

ทั้งนี้ คาดว่าจันทรายาน-3 จะยังคงทำงานได้เป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยทำการทดลองหลายชุด รวมถึงการวิเคราะห์องค์ประกอบของแร่ธาตุบนพื้นผิวดวงจันทร์

ทั้งนี้ ภารกิจนี้เปิดตัวเมื่อเกือบ 6 สัปดาห์ที่ผ่านมาโดยมีผู้ชมหลายพันคนที่ส่งเสียงให้กำลังใจเป็นสักขีพยาน โดยเคลื่อนที่ไปตามวงโคจรของโลกเป็นเวลาราว 10 วัน และเข้าไปโคจรรอบดวงจันทร์ได้สำเร็จในวันที่ 6 สิงหาคม

‘อินเดีย’ เตรียมส่ง ‘อาดิตยา แอล 1’ สำรวจดวงอาทิตย์ 2 ก.ย.นี้ หลังสร้างประวัติศาสตร์พิชิตดวงจันทร์สำเร็จเป็นชาติแรกของโลก

เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, นิวเดลี รายงานว่า องค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (ไอเอสอาร์โอ) เปิดเผยกำหนดการปล่อยดาวเทียม ‘อาดิตยา แอล 1’ (Aditya L1) เพื่อทำภารกิจสำรวจดวงอาทิตย์ครั้งแรก ว่าน่าจะมีขึ้นในวันที่ 2 ก.ย.นี้

‘นิเลช เอ็ม เดไซ’ ผู้อำนวยการศูนย์ประยุกต์อวกาศ (SAC) ในเมืองอาห์เมดาบัด ระบุว่า ดาวเทียมอาดิตยา แอล 1 อยู่บนแท่นปล่อยจรวดและพร้อมสำหรับการปล่อยแล้ว

ดาวเทียมดวงดังกล่าวจะบรรทุกเครื่องมือ 7 รายการ เพื่อศึกษาชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ พายุสนามแม่เหล็กดวงอาทิตย์ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรอบโลก โดยจะถูกส่งไปวงโคจรรัศมีรอบจุดลากรางจ์ 1 (L1) ของระบบดวงอาทิตย์-โลก ซึ่งอยู่ห่างจากโลกราว 1.5 ล้านกิโลเมตร

อย่างไรก็ตาม อินเดียทูเดย์ รายงานว่า โครงการนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ข้อมูลเชิงลึก ที่ไม่เคยมีมาก่อนของดวงอาทิตย์ และผลกระทบที่มีต่อสภาพอากาศ ตั้งชื่อตามแกนของดวงอาทิตย์ แต่ไม่ได้เดินทางไปดวงอาทิตย์จริงๆ แบบที่หลายคนเข้าใจ

ดาวเทียม ‘อาดิตยา แอล 1’ จะวางตำแหน่งตัวเองในวงโคจรรัศมีรอบจุดลากรางจ์ ของระบบดวงอาทิตย์-โลก ซึ่งอยู่ห่างจากโลกประมาณ 1.5 ล้านกิโลเมตร ซึ่งตำแหน่งนี้จะช่วยให้สามารถสังเกตดวงอาทิตย์ได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ถูกขัดขวางโดยสุริยุปราคา และช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ ศึกษากิจกรรมแสงอาทิตย์ และผลกระทบต่อสภาพอากาศในแบบเรียลไทม์

ภารกิจอาดิตยา แอล 1 จะใช้เวลามากกว่า 100 วันโลก หลังจากปล่อยสู่อวกาศ เพื่อไปถึงวงโคจรรัศมีรอบจุดแอล 1 ดาวเทียมมีน้ำหนัก 1,500 กิโลกรัม บรรทุกสิ่งของวิทยาศาสตร์ 7 ชิ้น

เอ็นดีทีวี ของอินเดีย เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวถูกสร้างด้วยต้นทุนเกือบครึ่งหนึ่งของ ‘จันทรายาน -3’ โดยรัฐบาลอนุมัติเงิน 378 ล้านรูปี ในปี 2019 สำหรับการศึกษาบรรยากาศของดวงอาทิตย์ แต่ไม่มีข้อมูลที่มากกว่านั้น

ไม่นานมานี้ ‘จันทรายาน 3’ ของอินเดีย เพิ่งจะลงจอดลงในขั้วโลกใต้ของอินเดียได้สำเร็จเป็นชาติแรกของโลก โดยมูลค่าของโครงการดังกล่าวอยู่ที่ 600 ล้านรูปี ซึ่งเทียบกับการสร้างภาพยนตร์บอลลีวูดฟอร์มยักษ์ 2 เรื่อง

‘THEOS-2’ ดาวเทียมดวงแรกของไทย เตรียมขึ้นสู่อวกาศ ต.ค.นี้ ตอกย้ำความก้าวหน้าในเทคโนโลยี รองรับอุตสาหกรรมอวกาศ

(5 ก.ย. 66) ‘ดาวเทียม THEOS-2’ สร้างและทดสอบระบบเสร็จเรียบร้อย ขณะนี้ ถูกขนส่งจากบริษัท Airbus Defence and Space เมืองตูลูส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ถึงท่าอวกาศยานยุโรป เฟรนช์เกียนาในทวีปอเมริกาใต้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้ จะทำการตรวจสอบทุกขั้นตอนและประกอบดาวเทียมเข้ากับส่วนหัวของจรวด Rocket Fairing พร้อมขึ้นสู่อวกาศช่วงเดือนตุลาคม 2566

‘THEOS-2’ เป็นดาวเทียมสำรวจโลกที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อสานต่อภารกิจของไทยโชต หรือ ‘ดาวเทียม THEOS-1’ (ขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2551) ที่กำลังจะหมดอายุการใช้งาน รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อการพัฒนาประเทศ

THEOS-2 มีน้ำหนัก 425 กิโลกรัม สามารถบันทึกภาพรายละเอียดสูง 50 เซนติเมตร เป็นดาวเทียมปฏิบัติการ เพื่อใช้งานติดตามสถานการณ์เชิงพื้นที่ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยพัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศใน 4 ส่วนหลัก ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีอวกาศ, การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์, การพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ และการพัฒนาบริการด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ

รวมทั้ง ยกระดับการให้บริการด้านภูมิสารสนเทศ 6 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ ด้านการจัดทำแผนที่, ด้านการจัดการเกษตรและอาหาร, ด้านการจัดการน้ำแบบองค์รวม, ด้านการจัดการภัยพิบัติ, ด้านการจัดการเมืองและเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ รวมถึงด้านทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ

#พร้อมขึ้นสู่อวกาศ #GISTDA #จิสด้า #THEOS2 #ดาวเทียมสำรวจโลก #AirbusDefenceandSpace #เทคโนโลยีอวกาศ #เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ #การพัฒนาดาวเทียม #อวกาศ #อุตสาหกรรมอวกาศ #RocketFairing

‘นาซา’ ลุ้น!! ‘ยานโอไซริส-เร็กซ์’ เตรียมยิงแคปซูล 24 ก.ย.นี้ พร้อมนำตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยเบนนูกลับมาศึกษาต่อที่ดาวโลก

เมื่อวานนี้ (22 ก.ย. 66) สำนักข่าวเอเอฟพีและบีบีซีรายงานว่า แคปซูลของยานสำรวจอวกาศโอไซริส-เร็กซ์ ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐฯ ซึ่งเก็บตัวอย่างฝุ่นจากดาวเคราะห์น้อยเบนนู เตรียมที่จะกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก เพื่อลงจอดที่ทะเลทรายตะวันออก ในรัฐยูทาห์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในวันอาทิตย์ที่ 24 กันยายนนี้

นี่ถือเป็นความพยายามครั้งแรกของประเทศสหรัฐฯ ในการเก็บตัวอย่างของดาวเคราะห์น้อย เพื่อนำกลับมาวิเคราะห์บนโลก ยานสำรวจอวกาศโอไซริส-เร็กซ์ ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อปี 2016 และเก็บตัวอย่างฝุ่นบนดาวเคราะห์น้อยเบนนูมาได้เป็นปริมาณราว 250 กรัม เมื่อเดือนตุลาคม 2020 โดยบรรดานักวิทยาศาสตร์หวังว่า ตัวอย่างฝุ่นที่เก็บมาได้จะช่วยให้มนุษยชาติมีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับระบบสุริยะของเรา และการที่โลกมีสภาวะที่เหมาะแก่การอยู่อาศัยได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้ากำหนดการลงจอดในเวลา 09.00 น. ของวันที่ 24 กันยายน ตามเวลาในสหรัฐประมาณ 4 ชั่วโมง ยานสำรวจอวกาศโอไซริส-เร็กซ์จะทำการปล่อยแคปซูลที่บรรจุตัวอย่างฝุ่นของเบนนูที่ระยะทางห่างจากโลกราว 108,000 กิโลเมตร และพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกด้วยความเร็ว 43,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากนั้น ร่มชูชีพ 2 ชุดจะกางออก เพื่อนำแคปซูลลงจอดบนพื้นโลกอย่างปลอดภัย

โดยคืนก่อนหน้าการลงจอด เจ้าหน้าที่ควบคุมยานสำรวจอวกาศจะมีโอกาสครั้งสุดท้าย ในการล้มเลิกการลงจอดหากปัจจัยต่างๆ ไม่เอื้อ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ยานสำรวจอวกาศจะต้องไปโคจรรอบดวงอาทิตย์ก่อนที่จะมีการลองลงจอดอีกครั้งในปี 2025 แซนดร้า ฟรอยด์ ผู้จัดการโครงการโอไซริส-เร็กซ์ จากล็อกฮีด มาร์ติน บริษัทด้านอากาศยานของสหรัฐ กล่าวว่า ภารกิจนำตัวอย่างฝุ่นที่เก็บได้กลับสู่โลกนั้นยากมากเพราะมีหลายอย่างที่อาจทำให้เกิดความผิดพลาด แต่ทีมงานก็ได้เตรียมการทุกอย่างด้วยความละเอียดเพื่อการลงจอดในครั้งนี้

หากการลงจอดสำเร็จด้วยดี เจ้าหน้าที่จะนำตัวอย่างของฝุ่นที่เก็บได้ไปทำการวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการในศูนย์อวกาศจอห์นสัน เมืองฮิวสตัน รัฐเท็กซัส และคาดว่าจะมีการแถลงข่าวถึงผลการวิเคราะห์ครั้งแรกในวันที่ 11 ตุลาคมนี้

นาซาจัดให้เบนนูเป็นดาวเคราะห์น้อยที่อันตรายที่สุดในระบบสุริยะ เนื่องจากเบนนู ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 500 เมตร โคจรรอบดวงอาทิตย์และเข้าใกล้โลกทุกๆ 6 ปี และเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีโอกาสพุ่งชนโลกมากที่สุด โดยจะมีโอกาส 1 ใน 2,700 ที่เบนนูจะพุ่งชนโลกในปี 2182 ซึ่งนาซากำลังศึกษาวิธีที่จะเปลี่ยนวิถีการโคจรของเบนนู และการมีความเข้าใจที่มากขึ้นถึงส่วนประกอบของเบนนูจะช่วยในเรื่องนี้ได้อย่างมาก

‘GISTDA’ เตรียมส่ง 'THEOS-2' ฝีมือคนไทยพิชิตอวกาศ 7 ต.ค.นี้ ชี้ เป็นดาวเทียมสำรวจโลกรายละเอียดสูงมากดวงแรกของประเทศ

(27 ก.ย.66) น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า-GISTDA) นายเรมี ล็องแบร์ อุปทูตรักษาการเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย และนายโอลิวิเย่ร์ ชาร์ลเวท จากบริษัท AIRBUS ร่วมแถลงข่าวความพร้อมของดาวเทียม THEOS-2 (ธีออส2) ก่อนขึ้นสู่อวกาศ

น.ส.ศุภมาสกล่าวว่า ประเทศไทย มีกำหนดการส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศในวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม 2566 เวลา 08.36 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ณ ท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียนา (Guiana Space Center) ในทวีปอเมริกาใต้ โดยดาวเทียม THEOS-2 เป็นดาวเทียมสำรวจโลก หรือ Earth observation satellite หนึ่งในสองดวงที่อยู่ภายใต้โครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา ที่ดำเนินการโดยจิสด้า ซึ่งมีศักยภาพถ่ายภาพและผลิตภาพสีรายละเอียดสูงมากในระดับ 50 เซนติเมตร สามารถถ่ายภาพและส่งข้อมูลกลับมายังสถานีภาคพื้นดินได้ไม่ต่ำกว่า 74,000 ตารางกิโลเมตรต่อวัน และข้อมูลจากดาวเทียมจะถูกใช้ในการปรับปรุง (Update) ข้อมูลในทุกพื้นที่ของไทยให้เป็นปัจจุบันอย่างละเอียดและถูกต้อง ช่วยให้การวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำมาใช้ในการจัดการเกษตร การบริหารจัดการน้ำ การจัดการภัยธรรมชาติ การจัดการเมือง และทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงยังช่วยพัฒนาและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีอวกาศของประเทศ โดยเฉพาะด้านทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

รัฐมนตรี อว.กล่าวว่า สำหรับข้อมูล THEOS-2 นี้ GISTDA จะเปิดโอกาสให้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ได้เข้าถึงข้อมูล เพื่อจะได้นำไปต่อยอดหรือการบริการเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงจะเป็นแรงผลักดันเพื่อขับเคลื่อนด้านการศึกษา การวิจัยและนวัตกรรมในการใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ และเทคโนโลยีอวกาศในการพัฒนาองค์ความรู้ สร้างนักพัฒนานวัตกรรมทุกระดับตั้งแต่ระดับเยาวชน startup SMEs และบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ตามนโยบายของ อว. ที่มุ่งเน้นในการสร้างคน สร้างความรู้ สร้างนวัตกรรม เพื่อพัฒนาประเทศ

น.ส.ศุภมาสกล่าวอีกว่า สำหรับการนำส่งดาวเทียม THEOS-2 ในครั้งนี้ เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สำหรับอนาคตของประเทศไทย เพราะเป็นการนำส่งดาวเทียมที่จะนำมาสู่การยกระดับรูปแบบการพัฒนาประเทศด้วยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งในฐานะผู้แทนของรัฐบาลที่กำกับดูแลหน่วยงานกิจการอวกาศของประเทศและคนไทย จะร่วมเดินทางไปปล่อยดาวเทียม THEOS-2 ในครั้งนี้ด้วย เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมากกับความสำเร็จในการนำดาวเทียมความละเอียดสูงมากของไทยดวงนี้ขึ้นสู่อวกาศ ในโอกาสนี้จึงขอเชิญชวนชาวไทยทุกคนร่วมส่งกำลังใจให้กับทีมงาน GISTDA และประเทศไทยในการส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ เพราะการนำส่งดาวเทียมสำรวจโลกครั้งนี้ถือเป็นการส่งดาวเทียมความละเอียดสูงมากครั้งแรกของประเทศไทย

เมื่อดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศแล้วจะใช้เวลาอีกประมาณ 5-7 วัน ในการปรับตัวเองให้เข้าสู่วงโคจรที่แท้จริง และจะใช้เวลาอีกประมาณ 6 เดือน ที่จะทดสอบระบบต่างๆ ก่อนเปิดให้บริการ ทั้งนี้ ดาวเทียม THEOS-2 จะมีส่วนช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศไทยในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ โดยกระทรวง อว. จะผลักดันนโยบายเรื่องเศรษฐกิจอวกาศของประเทศไทยให้เป็นจริงโดยเร็ว

ด้าน ดร.ปกรณ์กล่าวว่า ดาวเทียม THEOS-2 จะเป็นเครื่องมือสำคัญให้กับรัฐบาลในการบริหารจัดการประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทางด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ อีกด้วย สำหรับการนำข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 มาใช้ในการพัฒนาประเทศ สามารถเป็นไปได้ในหลากหลายมิติ อาทิ การจัดทำแผนที่ เนื่องจากดาวเทียม THEOS-2 สามารถบันทึกภาพและความละเอียดสูงถึง 50 เซนติเมตรต่อ pixel และพัฒนาให้เป็นข้อมูลสามมิติได้ จึงสามารถนำไปผลิตแผนที่มาตราส่วนใหญ่ได้ถึง มาตราส่วน 1:1000

“การจัดการเกษตรและอาหาร ดาวเทียม THEOS-2 สามารถใช้ในการวิเคราะห์ และประเมินพื้นที่เพาะปลูก การจำแนกประเภทพืชเกษตร สุขภาพพืช และการคาดการณ์ผลผลิตที่จะเกิดขึ้น คุณสมบัติเหล่านี้จะนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรที่ครอบคลุมพืชเศรษฐกิจหลักอย่างน้อย 13 ชนิด ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ตลอดจนการคาดการณ์ผลผลิตล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ครอบครัวเกษตรกร เป็นต้น”

ดร.ปกรณ์ยังกล่าวอีกว่า การส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศในครั้งนี้ถือเป็นการส่งดาวเทียมระดับปฏิบัติการที่สามารถนำไปใช้งานได้จริงตามภารกิจของประเทศดวงที่ 2 ของไทยในรอบ 15 ปี หลังจากส่งไทยโชตเมื่อปี 2551 ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยมีดาวเทียม THEOS-2 จะเป็นการตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ เพราะ ‘เศรษฐกิจ’ คือปากท้องของประชาชน จะเป็นกลไกหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ GISTDA ในฐานะหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. พร้อมสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียมดวงนี้ในการแก้ไขปัญหา ทั้งในมิติของการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่และมิติของการพัฒนาพื้นที่เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืนของประเทศไทยต่อไป

'จีน' ส่งเทียบเชิญ 'นักบินอวกาศต่างชาติทั่วโลก' ร่วมภารกิจท่องสถานีอวกาศของจีนในปี 2030

(25 ต.ค. 66) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า หลินซีเฉียง รองผู้อำนวยการองค์การอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมแห่งประเทศจีน (CMSA) แถลงข่าวว่าจีนสามารถและพร้อมจะเชิญชวนนักบินอวกาศชาวต่างชาติเข้าร่วมภารกิจการเดินทางสู่สถานีอวกาศของจีน

หลินกล่าวว่ามีการส่งคำเชิญชวนไปทั่วโลก โดยยินดีต้อนรับทุกประเทศและภูมิภาคที่มุ่งมั่นใช้อวกาศอย่างสันติเพื่อร่วมมือกับจีนและเข้าร่วมภารกิจสถานีอวกาศของจีน โดยหลินเสริมว่าในอนาคตจะมีการเชิญชวนนักบินอวกาศชาวต่างชาติเข้าร่วมภารกิจลงจอดบนดวงจันทร์ของจีนด้วย

ทั้งนี้ จีนวางแผนส่งยานอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์โดยมีมนุษย์ควบคุมภายในปี 2030 ซึ่งปัจจุบันจีนเดินหน้างานวิจัยและพัฒนาอย่างแข็งขันเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวตามกำหนดการ

หลินเน้นย้ำว่าการดำเนินงานทางวิศวกรรมอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมของจีนมีวัตถุประสงค์เพื่อความสันติโดยเฉพาะ และจีนไม่เคยแสวงหาหรือจะแสวงหาการมีอำนาจนำในอวกาศ โดยจีนยินดีเดินหน้าความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศบนพื้นฐานของการใช้อย่างสันติ ความเท่าเทียม ผลประโยชน์ร่วม และการพัฒนาร่วมกัน

นอกจากนั้นหลินเสริมว่าการทำงานร่วมกันนั้นครอบคลุมการเดินทางสู่อวกาศร่วมกันของนักบินอวกาศ การพัฒนาและการทดลองอุปกรณ์บรรทุก (payload) ในอวกาศ การกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมในอวกาศ และการศึกษาวิทยาศาสตร์การบินและอวกาศสำหรับเยาวชน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top