Friday, 17 May 2024
อวกาศ

‘จีน’ ส่งยาน ‘Shenzhou-17’ ขึ้นสู่สถานีอวกาศเทียนกงสำเร็จ พานักบินอายุน้อยที่สุดเดินหน้าปฏิบัติภารกิจโครงการอวกาศ

(26 ต.ค. 66) สำนักข่าวซินหัว, จิ่วเฉวียน รายงานว่า องค์การอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมแห่งประเทศจีน (CMSA) รายงานการปล่อยยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุม ‘เสินโจว-17’ (Shenzhou-17) พร้อมทีมนักบินอวกาศ 3 คน เพื่อปฏิบัติภารกิจบนสถานีอวกาศจีนในวงโคจรประมาณ 6 เดือน

รายงานระบุว่า ยานอวกาศฯ ซึ่งติดตั้งอยู่ด้านบนสุดของจรวดขนส่ง ‘ลองมาร์ช-2 เอฟ’ (Long March-2F) ทะยานออกจากศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วเฉวียนทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน โดยทีมนักบินอวกาศประจำภารกิจเสินโจว-17 ประกอบด้วยทังหงโป ‘ถัง เซิ่งเจี๋ย’ และ ‘เจียง ซินหลิน’

‘ทัง หงโป’ เกิดปี 1975 รับหน้าที่เป็นผู้บัญชาการภารกิจเสินโจว-17 และเคยเป็นนักบินอวกาศประจำภารกิจเสินโจว-12 ในเดือนมิถุนายน 2021 ส่วนถังเซิ่งเจี๋ย เกิดปี 1989 เป็นนักบินอวกาศหน้าใหม่และนักบินอวกาศอายุน้อยที่สุดที่จะได้เข้าสู่สถานีอวกาศจีน ขณะเจียงซินหลิน เกิดปี 1988 เป็นนักบินอวกาศหน้าใหม่เช่นกัน

ก่อนหน้านี้เมื่อวันพุธ (25 ต.ค.) ‘หลิน ซีเฉียง’ รองผู้อำนวยการองค์การฯ แถลงข่าวว่าทีมนักบินอวกาศประจำภารกิจเสินโจว-17 จะทำการทดสอบและทดลองอุปกรณ์บรรทุก (payload) ทางวิทยาศาสตร์และการใช้งานในวงโคจรหลายรายการ

นอกจากนั้น ทีมนักบินอวกาศทั้งสามจะทำกิจกรรมนอกยานอวกาศ ติดตั้งอุปกรณ์บรรทุกนอกยานอวกาศ ดำเนินการบำรุงรักษาสถานีอวกาศ รวมถึงทดลองทำการบำรุงรักษานอกยานอวกาศเป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นงานที่มีความท้าทายมาก

หลิน กล่าวว่า ขยะอวกาศที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อยานอวกาศ ที่ดำเนินงานระยะยาวอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง โดยการตรวจสอบเบื้องต้นพบปีกแผงโซลาร์เซลล์ของสถานีอวกาศจีน ถูกอนุภาคขนาดเล็กในอวกาศพุ่งชนหลายครั้งจนเกิดความเสียหายเล็กน้อย

อย่างไรก็ดี หลิน เสริมว่า องค์การฯ คำนึงถึงกรณีเหล่านี้ตั้งแต่ขั้นตอนออกแบบสถานีอวกาศแล้ว โดยปัจจุบันตัวบ่งชี้การทำงานและประสิทธิภาพทั้งหมดของสถานีอวกาศยังคงเป็นไปตามข้อกำหนด

ทีมนักบินอวกาศประจำภารกิจเสินโจว-17 ยังจะเดินหน้าการประเมินการทำงานและประสิทธิภาพของสถานีอวกาศ ทดสอบการประสานงานและความสอดคล้องของศูนย์สนับสนุนภาคพื้นดิน ในการปฏิบัติการและการบริหารจัดการของสถานีอวกาศ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงาน และความสามารถแก้ไขข้อบกพร่องของสถานีอวกาศ

‘DTI’ เซ็น MOU ร่วม ‘THAICOM’ พัฒนาท่าอวกาศยาน เพิ่มขีดความสามารถด้านอวกาศไทยขึ้นไปอีกขั้น

(10 พ.ย.66) สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) หรือ ‘DTI’ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาท่าอวกาศยาน ภาครัฐเชิงพาณิชย์ (Commercial Governmental Spaceport) สิ่งอำนวยความสะดวกท่าอวกาศยานต่างๆ และ เทคโนโลยีทางอวกาศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่าง สทป. กับ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) 

โดยมี พลเอกพอพล มณีรินทร์ ประธานกรรมการ สทป. ร่วมเป็นสักขีพยานกิตติมศักดิ์ และมี พลเอกชูชาติ บัวขาว ผอ.สทป. และ นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ให้เกียรติในการลงนาม พร้อมด้วย ดร.ปิยะวัฒน์ จริยเศรษฐพงศ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการค้าร่วมเป็นสักขีพยาน เพื่อร่วมมือกันศึกษา วิจัย พัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุน การจัดตั้งท่าอวกาศยานภาครัฐเชิงพาณิชย์ หรือ ‘Commercial Governmental Spaceport’ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกท่าอวกาศยานต่างๆ และเทคโนโลยีทางอวกาศอื่นๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งในด้านความมั่นคงทางการทหาร ด้านเศรษฐกิจและสังคม และด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและวิทยาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี Hall 9-12

สำหรับงานด้านอวกาศ ถือเป็นโอกาสที่จะทำให้ประเทศเกิดการพัฒนาและเติบโตขึ้นในหลายมิติ โดยสิ่งหนึ่งที่มีความจำเป็น หากต้องการแข่งขันทางด้านอวกาศในระดับนานาชาติ คือ การพัฒนา Spaceport หรือ ‘ท่าอวกาศยาน’ ซึ่งมีความคล้ายกับแอร์พอร์ต หรือท่าอากาศยาน แต่ Spaceport นี้จะถูกใช้เป็นฐานยิงจรวด ยิงดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ รวมทั้งเป็นจุดสำหรับรับจรวดรับดาวเทียมกลับสู่โลก

ทั้งนี้ ประเทศไทย อยู่ในฐานะประเทศที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ได้เปรียบและเหมาะสมในการสร้าง Spaceport ฉะนั้น การบุกเบิก Spaceport จะนำไปสู่เศรษฐกิจใหม่แห่งอนาคตที่เรียกว่า ‘เศรษฐกิจอวกาศ’ หรือ ‘Space Economy’ ต่อไป

‘จีน’ ช่วย ‘อียิปต์’ ส่งดาวเทียมสำรวจดวงใหม่ สู่วงโคจรสำเร็จ พัฒนาความร่วมมือเทคโนโลยีการบิน-อวกาศระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, จิ่วเฉวียน รายงานข่าว ‘จีน’ ช่วย ‘อียิปต์’ ส่งดาวเทียมสำรวจระยะไกลขึ้นสู่วงโคจร จากศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วเฉวียนทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน

รายงานระบุว่า ‘ดาวเทียมมิสร์แซท-2’ (MISRSAT-2) ถูกขนส่งด้วยจรวด ‘ลองมาร์ช-2ซี’ (Long March-2C) เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ที่ผ่านมา เวลา 12.10 น. ตามเวลาปักกิ่ง และจะถูกใช้เพื่อประโยชน์ด้านที่ดินและทรัพยากร การอนุรักษ์น้ำ การเกษตร และอื่นๆ ของอียิปต์

องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน เผยว่า ดาวเทียมดวงนี้ เป็นโครงการสำคัญของความร่วมมือเชิงลึกระหว่างจีนและอียิปต์ ในด้านเทคโนโลยีการบินและอวกาศขั้นสูง และถือเป็นหมุดหมายสำคัญของความร่วมมือด้านการบินและอวกาศระหว่างสองประเทศ

อนึ่ง การส่งดาวเทียมครั้งนี้นับเป็นภารกิจการบินที่ 499 ของจรวดขนส่งตระกูลลองมาร์ช โดยมีดาวเทียมสำรวจระยะไกล ‘สตาร์พูล 02-เอ’ (Starpool 02-A) และ ‘สตาร์พูล 02-บี’ (Starpool 02-B) ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศในช่วงเวลาเดียวกัน

‘นาซา’ เปิดภาพ ‘ต้นคริสต์มาส’ แห่งเอกภพ อยู่ห่างจากโลกประมาณ 2,500 ปีแสง

(21 ธ.ค.66) นาซา เปิดเผยภาพใหม่ของ NGC 2264 หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘คลัสเตอร์ต้นคริสต์มาส’ ที่แสดงรูปร่างต้นไม้ในจักรวาล พร้อมแสงดาวฤกษ์ เพื่อต้อนรับเทศกาลปลายปี

NGC 2264 เป็นคลัสเตอร์ดาวอายุน้อย มีอายุระหว่าง 1-5 ล้านปีในทางช้างเผือก อยู่ห่างจากโลกประมาณ 2,500 ปีแสง ดาวฤกษ์ใน NGC 2264 มีทั้งเล็กและใหญ่กว่าดวงอาทิตย์

ภาพส่วนประกอบใหม่นี้ เพิ่มความคล้ายคลึงกับต้นคริสต์มาส ด้วยการเลือกสีและการหมุนแสงสีน้ำเงินและสีขาว เป็นดาวฤกษ์อายุน้อยที่ปล่อยรังสีเอกซ์ ที่ตรวจพบโดยหอดูดาวจันทราเอ็กซเรย์ ของนาซา

NARIT เคยเปิดเผยไว้ว่า NGC 2264 เป็นชื่อเรียกรวมๆ ของเนบิวลาแบบเรืองแสง (Emission Nebula) ขนาดใหญ่ และกระจุกดาวเปิด (Open Cluster) ที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน ซึ่งเป็นกระจุกดาวอายุน้อยและมีความ สว่างมาก อยู่ในกลุ่มดาวยูนิคอร์น (Monoceros) ห่างจากโลกประมาณ 2,600 ปีแสง ลักษณะการเรียงตัวของกระจุกดาวเป็นรูปสามเหลี่ยม คล้ายกับต้นคริสต์มาส จึงเรียกว่า Christmas Tree Cluster

จุดเด่นของ NGC 2264 คือ บริเวณกลางภาพมีดาวฤกษ์เกาะกลุ่มกันอย่างหลวม ๆ เรียกว่า ‘กระจุกดาวเปิด’ มีดาวสว่างสีฟ้าและสีขาวเรียงตัวกันเป็นรูปร่างคล้ายต้นคริสต์มาส จึงมีชื่อเรียกว่า ‘กระจุกดาวต้นคริสต์มาส (Christmas Tree Cluster)’ ด้านบนมีกลุ่มแก๊สรูปร่างคล้ายกรวย มีชื่อว่า ‘เนบิวลากรวย (Cone Nebula)’ มีดาวสว่างเด่นบนเนบิวลากรวยเป็นยอดของต้นคริสต์มาส

ส่วนของเนบิวลากรวย และบริเวณโดยรอบกระจุกดาวคือก้อนแก๊สไฮโดรเจนขนาดใหญ่ เฉพาะส่วนที่เป็นรูปกรวยคือก้อนแก๊สและฝุ่นในอวกาศที่มีอุณหภูมิต่ำ แก๊สและฝุ่นเหล่านี้ดูดซับแสงเรืองของดวงดาว และเนบิวลาที่อยู่ฉากหลังจึงมองเห็นเป็นสีคล้ำกว่า

‘สตาร์ตอัปฝรั่งเศส-อเมริกัน’ ผุด ‘ไบโอพ็อด’ โดมเพื่อการเกษตร เตรียมปลูกพืชบนอวกาศ รับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในอนาคต

(8 ม.ค. 67) รายงานข่าวจาก บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ อินเทอร์สเตลลาร์ แล็บ สตาร์ทอัพสัญชาติฝรั่งเศส-อเมริกัน ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และในนครลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ออกแบบโดมเพื่อการเกษตรที่มีชื่อเรียกว่า ‘ไบโอพ็อด’ (BioPod) ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยเกษตรกรสร้างผลผลิตในท้องถิ่น และสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง

บาร์บารา เบลวีซี ผู้ก่อตั้งบริษัท ยกตัวอย่างว่า ในแง่การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้น การทดลองปลูกต้นวานิลลาภายในโดมไบโอพ็อด จะเป็นการช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่งวานิลลาจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง

“นอกจากนี้ เรายังใช้ทรัพยากรนํ้าอย่างมีประโยชน์มากขึ้นเทียบกับการเกษตรแบบดั้งเดิม เพราะด้วยวิธีการใหม่นี้ 99% ของนํ้า จะถูกรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่ อีกทั้งยังเป็นการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศไปเพิ่มระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในโดม” เบลวีซีอธิบาย

การจัดวางองค์ประกอบต่าง ๆ ยังช่วยให้สามารถใช้พื้นที่สำหรับการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเน้นการใช้พื้นที่แนวตั้งมากกว่าแนวขยายรูปทรงภายนอกของโดมไบโอพ็อด มีลักษณะกลมรี ตัวฐานใช้วัสดุที่สามารถถอดประกอบได้ง่าย พื้นชั้นล่างสุดจะเป็นที่เก็บอุปกรณ์ระบบภายใน ส่วนหลังคาด้านบนใช้เป็นวัสดุโพลิเมอร์เป่าลมให้พองออกได้คล้ายกับโดม

ด้านในประกอบไปด้วยระบบควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ รวมถึงแสง และนํ้า นอกจากนี้ยังมีระบบหมุนเวียนรีไซเคิลทั้งนํ้าและอากาศกลับมาใช้ใหม่ เพื่อความยั่งยืนอีกด้วย

ด้วยแนวคิดให้เป็นโมดูลผลิตอาหารแบบยั่งยืน ภายในโดมซึ่งมีพื้นที่ใช้สอยขนาด 55 ตารางเมตร ได้รับการออกแบบให้มีความทนทานต่อสภาพอากาศที่รุนแรงบนอวกาศ โดยตั้งสมมุติฐาน ถ้ามนุษย์ตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์ อุณหภูมิที่นั่นเมื่อแสงอาทิตย์ส่องอาจจะร้อนได้ถึง 127 องศาเซลเซียส หรือลดลงต่ำสุดได้ถึง -173 องศาเซลเซียสในเวลากลางคืน

‘ไบโอพ็อด’ โดมปลูกพืชบนดวงจันทร์

ทั้งนี้ จากความร่วมมือกับองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือ นาซ่า (NASA) จะมีการนำโดมเพื่อการเกษตรไบโอพ็อดนี้ ออกไปทดลองปลูกพืชในอวกาศด้วย โดยมีกำหนดใช้งานบนดวงจันทร์ภายในปี 2027เป้าหมายเพื่อพัฒนาเรือนปลูกพืชสำหรับใช้งานในอวกาศ รองรับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในอนาคต ซึ่งอาจจะเป็นดวงจันทร์ที่นาซ่ากำลังมีโครงการนำมนุษย์ไปยังดวงจันทร์ภายในปี 2024 นี้

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผู้บริหารของอินเทอร์สเตลลาร์ แล็บ ได้เข้าร่วมการประชุมสภาพภูมิอากาศ COP28 ที่จัดโดยสหประชาชาติที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เมื่อเร็ว ๆ นี้ เพื่อแนะนำโครงการและระดมทุนสำหรับ

โครงการนี้ โดยคาดว่าเมื่อบริษัทผลิตโดมไบโอพ็อดออกจำหน่ายเพื่อการพาณิชย์ จะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 350,000 ดอลลาร์ หรือราว 12 ล้านบาท

ผู้บริหารของบริษัทกล่าวว่า หลายภูมิภาคทั่วโลกมีอุณหภูมิร้อนขึ้น นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการผสมพันธุ์ดัดแปรพันธุกรรมอาจนำไปสู่การปรับปรุงพืชให้สามารถทนทานต่อความร้อนได้ดีขึ้น แต่พืชบางชนิดเช่น มันฝรั่ง ก็มีความเสี่ยงที่ผลผลิตจะลดลงเนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ดังนั้น การนำไบโอพ็อดไปใช้ในพื้นที่ดังกล่าวสามารถทำหน้าที่เป็นวิธีหนึ่งในการรับรองว่าพืชผลบางชนิดจะปลอดภัยจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้ ไบโอพ็อดยังสามารถปกป้องและอนุรักษ์พืชที่อยู่นอกแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของพืชนั้นๆ จึงอาจกล่าวได้ว่า นี่คืออีกเครื่องมือหนึ่งของมนุษย์ในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพทางการเกษตร นอกเหนือไปจากธนาคารเมล็ดพันธุ์และสวนพฤกษศาสตร์

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาไบโอพ็อด เป็นเพียงขั้นตอนแรกของภารกิจที่ยิ่งใหญ่ในการช่วยให้มนุษย์สามารถใช้ชีวิตอย่างกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมที่พวกเขาเลือกอยู่ไม่ว่าจะเป็นบนโลก ในอวกาศ หรือบนดวงจันทร์ แนวคิดของอินเทอร์สเตลลาร์ แล็บ ซึ่งเป็นเจ้าของนวัตกรรมนั้น ต้องการให้ไบโอพ็อด สามารถรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ นั่นคือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และเพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ การทำฟาร์มอย่างยั่งยืน และการจัดการทรัพยากรอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อเป็นหลักประกันว่า มนุษย์จะมีความมั่นคงทางอาหาร ไม่ว่าพวกเขาเลือกจะอยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้ หรือแม้แต่บนดาวเคราะห์

‘NASA’ เร่งพัฒนา ‘หุ่นยนต์คล้ายมนุษย์’ ทำงานเสี่ยงภัยในอวกาศ ช่วยทุ่นแรงงานอันตราย-มนุษย์สามารถโฟกัสภารกิจได้เต็มที่

(10 ม.ค. 67) ข่าวต่างประเทศรายงานว่า ในภารกิจสำรวจและวิจัยของมนุษย์อย่างเราในพื้นที่อวกาศนั้น ถือเป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายอย่างมาก เพราะในพื้นที่อวกาศไม่มีอากาศให้หายใจ และยังมีรังสีมากมายที่เป็นอันตรายต่อร่างกายของเรา

เพื่อลดความเสี่ยงในภารกิจต่างๆ ในพื้นที่นอกโลก องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ NASA จึงได้มีการพัฒนา ‘หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์’ (Humanoid robot) หรือ หุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ เพื่อส่งไปใช้งานบนอวกาศในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งจะช่วยลดงานของมนุษย์อวกาศในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงอันตรายของอวกาศอันกว้างใหญ่

ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์ของ NASA กล่าวว่า หากการพัฒนาสำเร็จ ในอนาคตหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ หรือหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ จะสามารถช่วยมนุษย์ทำงานที่มีความเสี่ยงในพื้นที่อวกาศได้ เช่น ทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์นอกอวกาศ ช่วยตรวจสอบอุปกรณ์ที่ทำงานผิดปกตินอกยานอวกาศ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงให้กับมนุษย์อวกาศได้อย่างมาก

ก่อนหน้านี้ นอกจากหุ่น ’วัลคิรี’ ที่กำลังพัฒนา NASA เคยส่งหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ไปยังอวกาศมาแล้ว คือ โรโบนอส ทู (Robonaut 2) หุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ตัวแรกที่เข้าสู่อวกาศ โดยหุ่นยนต์ได้ถูกส่งขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ในปี มีหน้าที่ช่วยงานพื้นฐาน เช่น ช่วยประสานการควบคุม ช่วยวัดการไหลของอากาศ ก่อนจะถูกส่งกลับมายังโลกในปี 2018

ในการพัฒนาหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ ของ NASA ทางทีมวิศวกรได้ให้ข้อมูลว่า ไม่ได้พยายามทำให้หุ่นยนต์มาทำงานแทนมนุษย์ แต่อยากให้งานที่อันตราย หรืองานน่าเบื่อให้หุ่นยนต์ทำแทนในพื้นที่อวกาศ เพื่อให้มนุษย์อวกาศที่ออกไปทำภารกิจนอกโลก มีเวลาที่จะสามารถทำภารกิจต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ เพราะนอกอวกาศนั้นมีทรัพยากรในการอาศัยและเดินทางที่จำกัด

‘มิว สเปซ’ ผนึก ‘ispace’ ลงนามบันทึกความเข้าใจ เดินหน้าภารกิจบน ‘ดวงจันทร์’ ภายในปี 2028

เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 67 บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มิว สเปซ) ประกาศการลงนามบันทึกความเข้าใจสองฉบับเกี่ยวกับบริการเพย์โหลดและความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับบริษัท ispace inc. (ispace) บริษัทสำรวจดวงจันทร์ด้วยหุ่นยนต์ภาคเอกชนที่ตั้งอยู่ในญี่ปุ่น ซึ่งก่อตั้งในปี 2010 โดยที่การร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นก้าวแรกสู่ภารกิจดวงจันทร์ในอนาคตระหว่างสองบริษัท

ตามข้อตกลงทั้งสองบริษัทได้เข้าสู่การเจรจาสำหรับบริการเพย์โหลดในอนาคตเพื่อไปยังวงโคจรและพื้นผิวดวงจันทร์ และตกลงที่จะร่วมมือกันในการพัฒนาตลาดดาวเทียมดวงจันทร์ โดยการทำงานร่วมกันเพื่อให้บริการขนส่งและการปล่อยเพย์โหลดดาวเทียมดวงจันทร์และการผลิตชิ้นส่วนดาวเทียม ในส่วนหนึ่งของข้อตกลง มิวสเปซ และ ispace จะดำเนินการพัฒนาตลาดร่วมกันในญี่ปุ่นและไทยเพื่อเร่งจำนวนภารกิจดาวเทียมวงโคจรดวงจันทร์ รวมถึงเพย์โหลดดาวเทียมขนาดเล็กและเพย์โหลดสำหรับลงจอดบนดวงจันทร์ที่มีน้ำหนักสูงสุดถึง 100 กิโลกรัม

มิว สเปซ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอวกาศและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตดาวเทียมในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยภารกิจ sub-orbital ที่ประสบความสำเร็จ 4 ภารกิจตั้งแต่ปี 2018 ถึง 2020 มิว สเปซ ในปัจจุบันมีแผนที่จะจัดหาดาวเทียมและอุปกรณ์ให้กับภารกิจที่กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป ispace ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่โดเกี๊ยวได้กลายเป็นผู้ให้บริการขนส่งไปยังดวงจันทร์ครั้งแรกของโลกที่สามารถส่งลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จในเดือนธันวาคม 2022 และในขณะมีภารกิจที่กำหนดไว้สำหรับปี 2024, 2026 และ 2027

เจมส์ เย็นบำรุง ผู้บริหารระดับสูงและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของมิว สเปซ กล่าวว่า "ผมรู้สึกยินดีที่จะแบ่งปันข่าวของความร่วมมือระหว่าง มิว สเปซ กับ ispace นี่ถือเป็นภารกิจดวงจันทร์ครั้งแรกของเรา แสดงถึงวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นของเราในการเป้าหมายบนดวงจันทร์ภายในปี 2028" 

"เราพร้อมที่จะพิสูจน์เทคโนโลยีสำคัญและสร้างฐานสำหรับการพยายามบนดวงจันทร์ในอนาคตในร่วมมือกับทุนของ ispace และความร่วมมือนี้ยังเป็นการยืนยันถึงการยกระดับเทคโนโลยีอวกาศในเอเชียอีกด้วย" 

ด้าน ทาเคชิ ฮาคามาดะ ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ ispace กล่าวว่า "การใช้ดาวเทียมดวงจันทร์ที่มีความคล่องตัวสูงสำหรับเครือข่ายการสื่อสาร การวิจัยวิทยาศาสตร์ และการใช้งานอื่นๆ อีกมากมายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการมีอยู่ของมนุษย์บนดวงจันทร์ในระยะยาว"

"ผมยินดีที่จะประกาศข้อตกลงกับมิวสเปซที่จะสร้างตลาดใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลกสำหรับภารกิจดาวเทียมดวงจันทร์เพื่อเป็นการสร้างเศรษฐกิจดวงจันทร์-โลก นี่เป็นอีกก้าวหนึ่งในการทำให้วิสัยทัศน์ของ ispace ที่ว่า 'ขยายดาวเคราะห์ของเรา ขยายอนาคตของเรา' เป็นจริง"

‘ญี่ปุ่น’ ปล่อย ‘จรวดเอช 3’ รุ่นใหม่สำเร็จแล้ว หลังคว้าน้ำเหลวในการปล่อยครั้งแรกเมื่อปีก่อน

เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 67 สำนักข่าวซินหัว, โตเกียว รายงานว่า องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น รายงานการปล่อย ‘จรวดเอช 3’ (H3) เมื่อวันเสาร์ที่17 ก.พ.ที่ผ่านมา หลังจากการปล่อยครั้งแรกเมื่อเกือบหนึ่งปีก่อน ประสบความล้มเหลว

รายงานระบุว่า จรวดเอช 3 สำหรับการบินทดสอบหมายเลข 2 ถูกปล่อยจากศูนย์อวกาศทาเนะงาชิมะ บนเกาะทาเนะงาชิมะ ในจังหวัดคาโงชิมะ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น ตอนราว 09.22 น. ตามเวลาท้องถิ่น

อย่างไรก็ดี ความล้มเหลวของการปล่อยครั้งแรกในปี 2023 ทำให้องค์การฯ ปรับเปลี่ยนแผนขนส่งดาวเทียมสำหรับตรวจสอบการทำงาน จากของจริงเป็นของจำลองแทน และมีการขนส่งดาวเทียมขนาดเล็ก (microsatellite) สองดวงด้วย

องค์การฯ ยืนยันการติดเครื่องยนต์ขั้นที่ 2 และการแยกตัวของหนึ่งในสองดาวเทียมขนาดเล็ก หลังจากปล่อยจรวดได้ไม่นาน ซึ่งเป็นหมุดหมายว่า งานหลักของการปล่อยจรวดครั้งนี้สำเร็จลุล่วง

‘จรวดเอช 3’ แบบบรรทุกหนักรุ่นใหม่พัฒนาต่อจาก ‘จรวดเอช 2 เอ’ (H2A) รุ่นหลักในปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าจะถูกเลิกใช้ภายในปีงบประมาณหน้าที่เริ่มต้นเดือนเมษายนนี้

สำหรับการปล่อยจรวดเอช 3 เมื่อวันเสาร์ที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น ถือเป็นความมุ่งมั่นของญี่ปุ่นที่ต้องการยืนยันสมรรถนะของจรวด ในการควบคุมการวางตำแหน่งและการใช้งานดาวเทียมต่างๆ

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า นอกจากขนส่งดาวเทียมแล้ว จรวดเอช 3 สามารถขนส่งสัมภาระและวัสดุสู่สถานีอวกาศนานาชาติ รวมถึงเกตเวย์ (Gateway) สถานีอวกาศขนาดเล็กในวงโคจรของดวงจันทร์ ตามแผนของโครงการอวกาศอาร์ทีมิส (Artemis) ที่นำโดยสหรัฐฯ

ทั้งนี้ เดิมทีญี่ปุ่นกำหนดปล่อยจรวดเอช 3 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา แต่ต้องเลื่อนออกมา เพราะสภาพอากาศไม่เป็นใจ ส่วนการปล่อยครั้งแรกในเดือนมีนาคม 2023 ประสบความล้มเหลวเพราะเครื่องยนต์ขั้นที่ 2 ไม่ติด ทำให้เกิดการทำลายตัวเองหลังปล่อยไม่กี่นาที

'รัดเกล้า' เผย ‘ไทย-จีน’ เตรียมศึกษาวิจัยด้าน ‘อวกาศ’ ร่วมกัน ผลักดันขีดความสามารถบุคลากร สู่การสร้างเทคฯ อวกาศฝีมือคนไทย

(4 เม.ย.67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเรื่องน่ายินดี การศึกษาวิจัยด้านอวกาศของประเทศไทยก้าวไปสู่อีกขั้น โดยล่าสุด ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบสองวาระ ที่จะช่วยส่งเสริมให้คนไทยไปได้ไกลกว่าแค่ชั้นบรรยากาศโลก โดยที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสถานีวิจัยดวงจันทร์ระหว่างประเทศ และร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการสำรวจและการใช้อวกาศส่วนนอกเพื่อสันติ ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แห่งราชอาณาจักรไทย และสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน เพื่อเป็นการวางรากฐานความร่วมมือในการร่วมสร้างสถานีวิจัยดวงจันทร์ระหว่างประเทศ การสำรวจและใช้ประโยชน์จากอวกาศ และอวกาศส่วนนอกเพื่อสันติ รวมถึงดวงจันทร์และวัตถุในท้องฟ้าอื่น ๆ ซึ่งไทยจะได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และขยายความร่วมมือด้านการสำรวจอวกาศเพื่อนำไปสู่การพัฒนากำลังคนในสาขาที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง รวมทั้งการประยุกต์ใช้อวกาศเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ และกระชับความร่วมมือไทย - จีนในด้านอวกาศอย่างยั่งยืน ตลอดจนการพัฒนากำลังคนและพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศของไทยต่อไป

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ว่า ตลาดอุตสาหกรรมอวกาศทั้งโลกในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่าประมาณ 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เทคโนโลยีอวกาศแม้จะดูเหมือนไกลตัว แต่แท้จริงแล้วอยู่ในรอบตัวชีวิตประจำวัน อาทิ ด้านการติดต่อสื่อสาร แต่ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ และความร่วมมือจากหลายฝ่ายนำองค์ความรู้ ความสามารถและโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ มาร่วมทำงานให้เกิด ผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม

“ความร่วมมือระหว่างประเทศด้านเทคโนโลยีอวกาศเป็นไปเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร รวมถึงยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีและวิศวกรรมขั้นสูงในประเทศ โดยความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างกันในครั้งนี้จะเป็นความร่วมมือที่ช่วยพัฒนากำลังคน โครงสร้างพื้นฐาน และระบบนิเวศน์สำหรับพัฒนาเทคโนโลยีและเศรษฐกิจอวกาศของประเทศให้เกิดขึ้นต่อไปได้อย่างยั่งยืน สู่การสร้างเทคโนโลยีดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ฝีมือคนไทยในอนาคต” นางรัดเกล้า กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top