Monday, 13 May 2024
อลงกรณ์พลบุตร

‘อลงกรณ์’ ลุยตรวจตลาดจีน เร่งแก้ปัญหาหนอนเจาะทุเรียน ปลื้ม!! ยอดส่งออกผลไม้ไทยพุ่ง สะท้อนความเชื่อมั่นในคุณภาพ

(31 ส.ค. 66) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้แห่งชาติ (ฟรุ้ทบอร์ด) พร้อมด้วย นายเมฆินทร์ เอี่ยมสะอาด และนายณฐกร สุวรรณธาดา คณะทำงานที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ รวมทั้งนายปรัตถกร แท่นมณี กงสุล (ฝ่ายเกษตร) ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว ลงพื้นที่ตรวจทุเรียนที่ตลาดเชียงหนานในเมืองกว่างโจว

กรณีเกิดปัญหาหนอนเจาะทุเรียน กระทบการส่งออกทุเรียนไทย จากนั้นได้ร่วมประชุมหารือกับผู้ประกอบการค้าของจีนและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ เปิดเผยภายหลังการตรวจตลาดเชียงหนานและพบหารือประเมินสถานการณ์ การแก้ไขปัญหาหนอนเจาะทุเรียนกับผู้ประกอบการจีนว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ในฐานะประธานฟรุ้ทบอร์ด ได้สั่งการเร่งแก้ไขปัญหาทันทีที่เริ่มมีรายงานการตรวจพบหนอนเจาะทุเรียน ที่ด่านตรวจโรงพืชเช่นด่านโหยวอี้กวนที่พรมแดนเวียดนาม-จีน และด่านโมฮ่านที่พรมแดนลาว-จีน เป็นต้น รวมทั้งมีผู้ประกอบการค้าทุเรียนของจีน ได้รับการร้องเรียนจากลูกค้าตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมุ่งการจัดการปัญหาที่สวน และผู้ประกอบการค้าส่งออก โดยเน้นนโยบายคุณภาพและมาตรฐาน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ในระดับพื้นที่ เช่น ทุเรียนในจังหวัดยะลา

ทั้งนี้ มีกลไกระดับจังหวัดคือคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหา อันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) เป็นแกนหลักบริหารจัดการมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน โดยการสนับสนุนของกรมวิชาการและกรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะฝ่ายเลขานุการของฟรุ้ทบอร์ด ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังมอบหมายกงสุล (ฝ่ายเกษตร) ประจําสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจวสื่อสารสร้างความเข้าใจ และสร้างความมั่นใจกับผู้ประกอบการและผู้บริโภคชาวจีน ถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาหนอนเจาะทุเรียน เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของทุเรียนไทยที่ครองใจ ครองตลาดจีนอันดับ 1 มาอย่างยาวนาน โดยผู้ประกอบการจีนที่ตลาดเชียงหนาน ซึ่งเป็นตลาดผลไม้ใหญ่ที่สุดในมณฑลกว่างตุ้งและภาคตะวันออกของจีน แสดงความชื่นชมต่อการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วของทางการไทย

นายอลงกรณ์ยังแสดงความพอใจ ต่อรายงานการส่งออกผลไม้และทุเรียนผลสด ที่ยังครองแชมป์ในตลาดจีน โดยกล่าวว่า ภาพรวมการส่งออกผลไม้สดจากไทยไปจีนครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้น คิดเป็นปริมาณรวมกว่า 1.1 ล้านตัน มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท

สำหรับการส่งออกทุเรียนไปจีนครึ่งปีแรก มีปริมาณกว่า 6 แสนตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านบาท

'อลงกรณ์' จับมือสภาอุตสาหกรรมฯ.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy)เดินหน้าโครงการเรือธง“สาหร่าย-พืชแห่งอนาคต” มุ่งเป้าสร้างรายได้ประชาชนทดแทนนำเข้าตอบโจทย์ลดโลกร้อน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานมูลนิธิเวิลด์วิว ไคลเมท เปิดเผยวันนี้(20 ธ.ค.) ว่า มูลนิธิเวิลด์วิว ไคลเมท (WCF : Worldview Climate Foundation) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)โดยการนำของ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. ได้จัดทำบันทึกความร่วมมือ (MoU) ระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กับ มูลนิธิเวิลด์วิว ไคลเมท ในการพัฒนาสาหร่ายรวมถึงพืชน้ำและพืชชายฝั่งอื่นในประเทศไทย เพื่อสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับชุมชนสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน 

เนื่องด้วยประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลยาว 3,148 กม. มีป่าชายเลนไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านไร่ และมีประชากรในจังหวัดชายฝั่งทะเล ประมาณ 26 ล้านคน มีศักยภาพในการพัฒนาสาหร่ายให้เป็นโครงการเรือธง(flagship project)ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีน้ำเงิน(Blue Economy)โดยใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการพัฒนาสาหร่ายให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น สร้างงานสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและชุมชน ยกระดับอัพเกรดภาคเกษตรของไทยสู่เกษตรมูลค่าสูงและลดการนำเข้าสาหร่ายจากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยลดการขาดดุลการค้าและเพิ่มความมั่นคงทางอาหารของประเทศได้ในระยะยาว เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง มุ่งสนับสนุนส่งเสริมการผลิตและแปรรูปสาหร่ายทะเลเป็นพืชแห่งอนาคตตัวใหม่ 

นายอลงกรณ์กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน การผลิตสาหร่ายทะเลเติบโตอย่างรวดเร็ว มีผลผลิตทั้งหมดทั่วโลกไม่น้อยกว่า 35 ล้านตัน มีมูลค่ารวมของอุตสาหกรรมอยู่ที่ 5 แสนล้านบาท นอกจากสาหร่ายจะเป็นซูเปอร์ฟู้ดที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์สูง ยังมีสรรพคุณในการนำไปสกัดเพื่อใช้ผลิตอาหารเสริม อาหารสัตว์ เครื่องสำอาง เวชภัณฑ์ ปุ๋ย พลาสติกชีวภาพสำหรับบรรจุภัณฑ์ กระดาษ สิ่งทอ สารกระตุ้นทางชีวภาพ (bio stimulants) และเชื้อเพลิงชีวภาพ 

ยิ่งกว่านั้น การพัฒนาอุตสาหกรรมสาหร่ายยังมีส่วนสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยในการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065

รวมทั้งตอบโจทย์วาระเศรษฐกิจมหาสมุทรที่ยั่งยืน (Sustainable Ocean Economy) เพื่อเป็นส่วนร่วมในทศวรรษวิทยาศาสตร์มหาสมุทรแห่งสหประชาชาติ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (พ.ศ. 2564-พ.ศ. 2573) และการลดภาวะโลกร้อนจากผลกระทบของก๊าซเรือนกระจกภายใต้

“ถือเป็นความร่วมมือที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีน้ำเงิน(blue economy)ในการใช้ทรัพยากรในทะเลและมหาสมุทรอย่างยั่งยืนเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ การยกระดับคุณภาพชีวิต และการมีงานทำในขณะเดียวกันก็ต้องรักษาสุขภาพของระบบนิเวศน์ในมหาสมุทร
รวมถึงผลประโยชน์ด้านอื่นๆเช่น การกักเก็บคาร์บอน การปกป้องชายฝั่ง คุณค่าทางวัฒนธรรม และความหลากหลายทางชีวภาพ

ทั้งนี้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ มูลนิธิเวิลด์วิว ไคลเมท จะร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานที่ประกอบไปด้วยทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือในครั้งนี้ให้เกิดผลสำเร็จ ผ่านการทำโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของความร่วมมือ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป”นายอลงกรณ์กล่าวในที่สุด

'อลงกรณ์' ลุยแดนมังกรดึงจีนลงทุน10อุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคตหวังเป็นเครื่องยนต์ (new growth engine) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศคนที่1และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้รับเชิญให้กล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุมBRI(Belt and Road Innitiative)industrial investment International summit forum 2024ที่เซินเจิ้นโดยกล่าวว่า โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงทุกมิติอย่างรวดเร็วมีทั้งโอกาสและภัยคุกคาม เราต้องออกแบบอนาคตและนวัตกรรม(Innovating the Future)

การลงทุนใหม่ๆ ประการสำคัญคือการมีหุ้นส่วน(partnership)ที่ดีเป็นหัวใจสำคัญที่สุด ขอให้เชื่อมั่นว่าโอกาสมีอยู่ทุกหนแห่ง(Possibility is everywhere) นายอลงกรณ์ได้ยกตัวอย่างความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีนทางด้านการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวตลอด49ปีของความสัมพันธ์ทางการฑูตทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจและเศรษฐกิจเปิดกว้างและเติบโตต่อเนื่องแม้จะเผชิญกับปัญหาอุปสรรคต่างๆแต่ก็สามารถฝ่าฟันผ่านพ้นมาได้จนประเทศจีนเป็นประเทศคู่ค้าและผู้ลงทุนอันดับ1ของประเทศไทยรวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวจีนก็มาไทยมากที่สุดโดยเฉพาะ10ปีแห่งความร่วมมือในการขับเคลื่อนโครงการ“หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-จีนและความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคRCEPล่าสุดซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของความเป็นหุ้นส่วน(partnership)บนผลประโยชน์และความสำเร็จร่วมกัน

“อุตสาหกรรมใหม่คือโอกาสใหม่ๆของทุกประเทศของทุกบริษัทและนักลงทุนทุกคนจึงขอเชิญชวนมาลงทุนทั้งในตลาดทุน(Capital Investment)และตลาดFDI(Foreign Direct Investment)ในประเทศไทยโดยเฉพาะระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก(EEC)และเขตเศรษฐกิจพิเศษในภูมิภาครวมทั้งอุตสาหกรรมใหม่ (first S-Curveและ New S-Curve) 10 สาขาซึ่งมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนเป็นพิเศษของรัฐบาลไทยภายใต้BCGโมเดลและเป้าหมายลดโลกร้อนของการประชุมCOP28ได้แก่

1) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next – Generation Automotive)เช่นยานยนต์ไฟฟ้า
2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics)
3) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism)  
4) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology)  
5) อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต (Food for the Future)
และอุตสาหกรรมอนาคตใหม่(New S-curve) อีก5 สาขา
1) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics)และAI
2) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics)  
3) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) 
4) อุตสาหกรรมดิจิตอล (Digital) 
5) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) 
ซึ่งเป็นรูปแบบการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบสินค้าและเทคโนโลยี โดยจะเป็นหัวใจหลักของกลไกใหม่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (New Growth Engines)

นายอลงกรณ์ยังได้หารือระหว่างLunch meeting กับผู้บริหารบริษัทลงทุนยักษ์ใหญ่หลายแห่งซึ่งทุกบริษัทตอบรับอย่างกระตือรือร้นที่จะมาลงทุนในประเทศไทยทั้งอุตสาหกรรมใหม่และตลาดทุนของไทยสำหรับการสัมมนาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 500 คนและมีสมาคมการค้าไทย-จีนและเศรษฐกิจเอเชีย

โดยนางสาวอภิญญา ปราโมช นายกสมาคมฯ นางสาวประจงจิต พลายเวช รองประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมฯและนายเมฆินทร์ เอี่ยมสะอาด จากมูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมด้วยโดยจัดที่โรงแรมเชอราตัน-เซิ่นเจิ้นเมื่อ26 มกราคมที่ผ่านมา

'อลงกรณ์' กระชับสัมพันธ์ไทย-จีนร่วมมือส่งเสริมการศึกษาและเทคโนโลยี เผย 'เทนเซนต์' บริษัทยักษ์ใหญ่จีนพร้อมสนับสนุนไทยเจาะตลาด 1,300 ล้านคนขยายการค้าการท่องเที่ยวไทย

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานมูลนิธิเสิลด์วิว ไครเมท อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศคนที่1และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยวันนี้ภายหลังนำคณะสมาคมการค้าไทย-จีนและเศรษฐกิจเอเซียโดยมีนางสาวอภิญญา ปราโมช นายกสมาคมฯ นายเมฆินทร์ เอี่ยมสะอาด นางสาวประจงจิต พลายเวช รองประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมฯและนายตู้ เทียนเฉียว เลขาธิการสมาคมThink Tank ร่วมการประชุมว่าด้วยการพัฒนาและความร่วมมือการศึกษาและเทคโนโลยีกับผู้บริหารสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนชั้นนำของจีนในเซินเจิ้นภายใต้สมาคมการพัฒนาด้านการศึกษาเซินเจิ้นเพื่อยกระดับทางด้านการแลกเปลี่ยนและพัฒนาการศึกษาระหว่างไทย-จีน 

โดยแสวงหาความร่วมมือ พัฒนาต่อยอดนวัตกรรมการศึกษา การนำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบการศึกษาสมัยใหม่ ความร่วมมือโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนระหว่างไทย-จีน  การจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพทางการศึกษา และความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศผ่านระบการศึกษา  ภายใต้การส่งเสริมนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (one belt one road)  และแผนการปฏิรูปการศึกษาของไทยรวมทั้งเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดกิจกรรมการศึกษาครั้งใหญ่ที่จะจัดให้มีขึ้นในประเทศไทย ในโอกาสครบรอบความสัมพันธไมตรีไทย-จีน 50 ปี ในปีหน้า ทั้งนี้คณะผู้บริหารการศึกษาเซินเจิ้นแสดงเจตจำนงอย่างกระตือรือร้นต่อการยกระดับความร่วมมือกับประเทศไทย

จากนั้นได้เดินทางไปดูระบบสมาร์ทคลาสรูม(smart classroom)หรือห้องเรียนอัจฉริยะสุดไฮเทคที่ใช้เทคโนโลยีดิจิตอลและเอไอ(AI)ในการเรียนการสอนแบบออนไซต์(on-site)และออนไลน์(on-line)โดยดร.ริคกี้ หลิว ซีอีโอ.ของบริษัทยินดีที่จะสนับสนุนการศึกษาของไทย

นอกจากนี้นายอลงกรณ์และคณะยังได้เข้าเยี่ยมชมบริษัทเทนเซนต์(Tencent)และเทนเซนต์ คราวด์(Tencent Cloud)โดยมีทีมผู้บริหารของTencent Culture and Tourism ให้การต้อนรับและนำเสนอเทคโนโลยีของ Tencent Cloud และ Tencent Culture and Tourism โดยหารือเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลคุณภาพสูงในประเทศจีนและไทยโดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัล AIและการพัฒนาแอพพลิเคชั่นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยTencentพร้อมสนับสนุนประเทศไทยในการส่งเสริมฐานข้อมูลลูกค้าที่มีอยู่กว่า 1,300 ล้านคนผ่านเครื่องมือทางการตลาดซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อการขยายการท่องเที่ยวและการค้าของประเทศไทยเป็นอย่างมาก

ในอนาคต เราหวังว่าจะเสริมสร้างความร่วมมือและการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การท่องเที่ยว และการค้าระหว่างจีนและไทยอย่างมุ่งมั่นโดยใช้เทคโนโลยี วัฒนธรรม และทรัพยากรอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวใหม่ ๆ การยกระดับการเชื่อมโยงระหว่างห่วงโซ่อุตสาหกรรม การสร้างพื้นที่ความร่วมมือมากขึ้นทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เศรษฐกิจ การค้า การศึกษาและวัฒนธรรมระหว่างไทย-จีนอย่างต่อเนื่อง“นายอลงกรณ์กล่าวในที่สุด

'อลงกรณ์-ชัชชาติ' ผนึกความร่วมมือ 'กทม.-จีน' แก้ปัญหาพีเอ็ม2.5และลดโลกร้อนพร้อมเดินหน้าโครงการพลังงานสะอาดและยานยนต์ไฟฟ้า

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานมูลนิธิเวิลด์วิว ไครเมท ประธานที่ปรึกษาและผู้ก่อตั้งมูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทยเปิดเผยวันนี้(15 มี.ค.)ภายหลังนำคณะสมาคมการค้าไทย-จีนและเศรษฐกิจเอเชีย และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจีนด้านพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีกว่า10คนเข้าพบหารือกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและคณะผู้บริหารกทม.ที่ศาลาว่าการ กรุงเทพมหานคร เพื่อกระชับความสัมพันธ์พร้อมหารือความร่วมมือระหว่างกันในด้านของสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาดว่า

การพบปะหารือครั้งนี้เป็นไปด้วยบรรยากาศของความร่วมมือในการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์การเป็น“มหานครโซลาร์เซลล์”และ“กรุงเทพสีเขียว2030 “ของกรุงเทพมหานครโดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ย้ำถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีนและความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและประเทศจีนถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง 

อีกทั้งประเทศจีนยังเป็นตัวอย่างในที่ดีในเรื่องของการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาดซึ่งกรุงเทพมหานครมีกลไกและแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหาpm.2.5 การส่งเสริมพลังงานสะอาด การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) การมีจุดบริการบรรจุไฟฟ้า(EV Charging points)และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อลดคาร์บอนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและการพัฒนาเมือง
โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สรุปเป้าหมายของกรุงเทพมหานครในด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด ซึ่งจะเป็นโครงการที่สามารถประสานความร่วมมือระหว่างกันได้ในอนาคต ได้แก่ 

1. การโปรโมตการใช้รถ EV ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีโครงการเปลี่ยนรถขยะจากระบบน้ำมันมาเป็นระบบ EV จำนวน 2,000 คัน
2. การเพิ่มจุดชาร์จรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งขณะนี้มีการเปิดให้ยื่นข้อเสนอในการติดตั้งจุดชาร์จรถไฟฟ้า 40 จุด
3. การพิจารณาทำโรงเผาขยะเพื่อผลิตไฟฟ้า ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการหาผู้ลงทุนและผู้ดำเนินการ 
4. การทำให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครโซลาร์เซลล์ เนื่องจากพื้นที่กรุงเทพฯ มีแดดทั้งปี โดยมีโครงการจะติดตั้งโซลาร์เซลล์ในทุกหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร 
5. การพิจารณาโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากลม เนื่องจากกรุงเทพฯ มีพื้นที่ชายทะเลอยู่ประมาณ 5 กิโลเมตร ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มอบหมายให้ประธานที่ปรึกษาฯ ต่อศักดิ์ โชติมงคล เป็นผู้ประสานความร่วมมือหลัก

นายอลงกรณ์ อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศคนที่หนึ่งและอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพานิชย์กล่าวขอบคุณคณะผู้บริหารกทม.และแสดงความชื่นชมผู้ว่ากรุงเทพมหานครและคณะที่ให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด การขับเคลื่อน“กรุงเทพสีเขียว2030”(Green Bangkok 2030” ความเป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon neutrality)และซีโร่คาร์บอน(Zero carbon)โดยเป็นภารกิจของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายลดโลกร้อนในปีค.ศ.2050และ2065ตามลำดับ ซึ่งความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครกับประเทศจีนในครั้งนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของการปูทางสู่วาระครบรอบ50ปีในความสัมพันธ์ทางการฑูตของ2ประเทศในปี2568นับแต่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีของไทยได้สถาปนาความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี2518ซึ่งม.ล.สุภาพ ปราโมชผู้ก่อตั้งสมาคมการค้าไทย-จีนและเศรษฐกิจเอเซียได้ร่วมคณะไปด้วยในครั้งนั้นและสานต่อภารกิจอย่างต่อเนื่องด้วยการเดินทางไปจีนถึง148ครั้งเพื่อสานสัมพันธ์2ประเทศจนถึงทุกวันนี้โดยคณะผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจีนด้านพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีได้ตอบตกลงและพร้อมสนับสนุนข้อริเริ่มว่าด้วยความร่วมมือของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอย่างกระตือรือร้นและจะเร่งดำเนินการต่อเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

สำหรับการประชุมหารือเมื่อวันที่14มีนาคม2567มีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม นางสาวพรรณราย จริงจิตร ผู้อำนวยการสำนักงานการต่างประเทศ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ คณะสมาคมการค้าไทย-จีนและเศรษฐกิจเอเชีย และผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจีนด้านพลังงานสะอาด ซึ่งนำโดยนายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศคนที่หนึ่ง และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพานิชย์ หม่อมหลวงสุภาพ ปราโมช ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมการค้าไทย-จีนและเศรษฐกิจเอเชีย นางสาวประจงจิต พลายเวช รองประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมฯ นางสาวอภิญญา ปราโมช นายกสมาคมฯ นายธัชธรรม พลบุตร และนายเมฆินทร์ เอี่ยมสะอาด กรรมการบริหารมูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทย

'อลงกรณ์' ชี้ 'นายกฯ.เศรษฐา' พลาดดีลไมโครซอฟท์ แพ้มาเลเซีย-อินโดนีเซียราบคาบทำประเทศเสียโอกาสครั้งใหญ่

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีและสส. 6 สมัย โพสต์บทวิจารณ์ความล้มเหลวของนายกรัฐมนตรีกรณีพลาดดีลไมโครซอฟท์ในเฟซบุ๊กวันนี้(4พ.ค.) เรื่อง บทพิสูจน์ความล้มเหลว “นายกฯ.เศรษฐา” กรณีไมโครซอฟท์(Microsoft) “แพ้มาเลฯ.-อินโดฯ.ราบคาบ ทำประเทศเสียโอกาสครั้งใหญ่” โดยมีเนื้อหาดังนี้

“..,ผมติดตามข่าว" สัตยา นาเดลลา" ซีอีโอ.ไมโครซอฟท์ (Microsoft)บริษัทยักษ์ใหญ่ไอทีของโลกมาเยือนอินโดนีเซีย ไทยและมาเลเซียระหว่างวันที่ 30 เมษายน-2 พฤษภาคม 2567อย่างใจจดใจจ่อ

ทั้งนี้เพราะนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” ทำใหัเกิดความหวังจากการให้สัมภาษณ์หลังพบเจรจากับประธานและซีอีโอบริษัทไมโครซอฟท์ที่นิวยอร์กและซานฟรานซิสโก้ในเดือนกันยายนและพฤศจิกายนปีที่แล้วถึงขั้นทำบันทึกความร่วมมือ(MOU)ว่า ดีลสำเร็จจะมีการลงทุนเป็นแสนล้านจากไมโครซอฟท์

ผมคาดหวังว่า "สัตยา นาเดลลา" ซีอีโอ.ไมโครซอฟท์จะประกาศแผนงานโครงการและตัวเลขการลงทุนด้านดิจิตอลเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์(AI-Artificial Intelligence)ในประเทศไทยเป็นแสนล้านตามเป้าหมายดิจิตอลฮับภายใต้วิสัยทัศน์”Ignite Thailand”ของนายกรัฐมนตรีที่ให้ข่าวก่อนหน้านี้ เมื่อถึงวันที่ 1 พ.ค 2567 ซีอีโอ.ไมโครซอฟท์มาเยือนไทยกลับไม่มีการประกาศตัวเลขการลงทุนในไทยที่ชัดเจนแม้แต่สลึงเดียว มีเพียงคำแถลงว่าจะตั้งดาต้าเซนเตอร์แห่งแรกในไทยและจะสนับสนุนการพัฒนาคนไอที 100,000 คน

ทั้งที่ก่อนมาไทย1วันคือวันที่ 30 เมษายน 2567 ซีอีโอ.ไมโครซอฟท์เดินทางเยือนอินโดนีเซียและประกาศตัวเลขการลงทุน 1.7 พันล้านดอลลาร์(กว่า 6 หมื่นล้านบาท)ในอินโดนีเซียพร้อมแผนงานโครงการอย่างละเอียดชัดเจน

ยิ่งกว่านั้นในวันที่ 2 พ.ค. 2567 ซีอีโอ.ไมโครซอฟท์ไปเยือนมาเลเซียได้ประกาศตัวเลขการลงทุนในมาเลเซีย 2.2 พันล้านดอลลาร์(กว่า8หมื่นล้านบาท)เพื่อสนับสนุนความเป็นฮับดิจิตอลของมาเลเซีย แสนล้านของไทยหายไปไหนครับ ?

ส่วนกรณีไมโครซอฟท์จะตั้งดาต้าเซนเตอร์แห่งแรกในไทยเป็นความชัดเจนเท่าที่จับต้องได้
แต่ท่านทราบหรือไม่ว่าไมโครซอฟท์มีดาต้า เซนเตอร์กว่า 300 แห่งทั้งระดับประเทศและระดับภูมิภาคใน34 ประเทศทั่วโลก

เช่นเดียวกับโครงการพัฒนาคนไอทีที่ไมโครซอฟท์จะช่วยไทย 1 แสนคน นั้นน้อยกว่าที่จะช่วยมาเลเซีย 2 แสนคนและอินโดนีเซีย 8 แสนกว่าคน 

การเปิดดีลและปิดดีลที่มีเวลาทำงานยาวนานกว่า7เดือนตั้งแต่ปลายกันยายน 2566 ถึง 1 พฤษภาคม 2567 ของนายกรัฐมนตรีในการดึงไมโครซอฟท์มาลงทุนในไทยล้มเหลวไม่เป็นท่าและพ่ายแพ้ต่อมาเลเซีย-อินโดนีเซียแบบราบคาบ

ผมหวังว่า ความล้มเหลวในการทำงานกรณีไมโครซอฟท์จะเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ของนายกรัฐมนตรี ในการแก้ไขปรับปรุงการทำงานแบบผู้บริหารประเทศไม่ใช่แบบเซลล์แมนโฉบไปโฉบมาจนจับต้องอะไรไม่ได้

ท่านต้องตระหนักว่า ท่านทำให้ประเทศเสียโอกาสครั้งใหญ่ในห้วงเวลาที่ประเทศต้องการรายได้และเงินลงทุนเพราะทุกบาททุกดอลลาร์คืองานและปากท้องของประชาชนคนไทย ผมยังกังวลว่า ขณะที่ท่านไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆในการดึงเงินลงทุนเข้าประเทศและไม่สามารถหาเงินเข้าประเทศจนส่งออกติดลบ10%ขาดดุลการค้าหลายแสนล้านทำให้เศรษฐกิจตกต่ำฝืดเคืองไปทุกหย่อมหญ้า แทนที่นายกรัฐมนตรีจะรีบปรับปรุงการทำงานเร่งทำมาหากินสร้างเงินให้ประเทศ ท่านกลับคิดแต่จะกู้เงินก่อหนี้ให้ประเทศอีกกว่า1 ล้านล้านบาทในปีนี้และปีหน้า แล้วประชาชนจะอยู่กันอย่างไร และประเทศจะเป็นอย่างไร จะให้ประชาชนและประเทศชาติติดหล่มจมปลักอยู่กับหนี้สินโงหัวไม่ขึ้นแบบนี้ตลอดไปอย่างนั้นหรือ”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top