Monday, 13 May 2024
อลงกรณ์พลบุตร

'อลงกรณ์' กร้าว!! ปี 66 จะเป็นปีแห่งเทคโนโลยีเกษตรไทย หลังเดินหน้าจัดตั้งศูนย์ AIC 'อำเภอ-ตำบล' ทุกจังหวัด

'อลงกรณ์' เดินหน้าจัดตั้งศูนย์ AIC อำเภอและตำบลทุกจังหวัดเร่งถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรเป็นคานงัดปฏิรูปภาคเกษตรครั้งใหญ่

(4 ม.ค. 66) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0 และ ประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) เป็นประธานการประชุมผ่านระบบทางไกลออนไลน์ ZOOM Cloud Meeting ครั้งที่ 1/2566

โดยนายอลงกรณ์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพสูงมากในฐานะประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารชั้นนำของโลกหรือครัวของโลก (Kitchen of the World) ดังนั้นการพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมเมดอินไทยแลนด์ (Made in Thailand) จึงเป็นคาดงัดที่สำคัญ ในการสร้างจุดเปลี่ยนให้กับภาคเกษตรและเศรษฐกิจของประเทศจึงขอให้ปี 2566 เป็นปีแห่งเทคโนโลยีเกษตรไทยเพื่อยกระดับการพัฒนาภาคเกษตรและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0 ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สู่เป้าหมาย 3 สูง คือ ประสิทธิภาพสูง / มาตรฐานสูง และรายได้สูง สอดคล้องกับหมุดหมายเกษตรมูลค่าสูง (Value Shifted) ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 

โดยจะมีการพัฒนาโครงสร้างและระบบใหม่ในปีนี้ได้แก่...

1. ในระดับประเทศ 
คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร4.0และคณะกรรมการบริหารAICในระดับประเทศจะเป็นแกนหลักในการจัดตั้งสร้างองค์กรเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรวิจัยและพัฒนา วิทยาลัยและมหาวิทยาลัย ภาควิชาการและสถาบันเกษตรกรต่างๆทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขยายความร่วมมือด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมและข้อมูลข่าวสารตลอดจนการส่งเสริมการค้าการลงทุนการอบรมบ่มเพาะและถ่ายทอดองค์ความรู้

2. ในระดับจังหวัด
เพิ่มความร่วมมือระหว่างศูนย์ความเป็นเลิศ(AICประเภทCenter of Excellence :CoE) 23 ศูนย์ กับศูนย์ AICระดับพื้นที่(AIC area based)ทั้ง 77 จังหวัด เนื่องจากศูนย์ความเป็นเลิศจะมีความรู้เฉพาะด้าน เป็นองค์ความรู้ความสามารถระดับไทยระดับโลก จำเป็นที่จะต้องให้มีการแลกเปลี่ยน ร่วมมือ และถ่ายทอดองค์ความรู้เฉพาะด้านลงสู่ระดับพื้นที่ เพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้ลงไปใช้ใน77จังหวัดจึงให้มีการจัดประชุมร่วมในเดือนหน้า เพื่อวางแนวทางความร่วมมืออย่างเป็นระบบ

3. ในระดับอำเภอ
จัดตั้งศูนย์AICอำเภอขึ้นในสำนักงานเกษตรอำเภอ เพื่อสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมจากศูนย์ระดับจังหวัดมาสู่ระดับอำเภอ รวมถึงศูนย์ความเป็นเลิศทั้ง 23 ศูนย์ด้วย เพื่อให้องค์ความรู้สามารถลงสู่พื้นที่ได้ทุกระดับ

4. ในระดับตำบล
ให้ดำเนินการจัดตั้ง ศูนย์ AIC ในระดับตำบลที่อบต.หรือเทศบาลตำบลขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนระดับตำบล 7,255 ตำบล โดยให้ศพก.ที่มีอยู่ 882 แห่ง รวมทั้งเครือข่าย ศพก.และแปลงใหญ่ เป็น AIC Station สนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับหมู่บ้านตำบลชุมชนใน 76 จังหวัดและ 50 เขตในกทม.

5. จัดตั้ง 'อาสาAIC' ตำบล
ดำเนินการเปิดรับสมัคร หรือคัดสรร อาสา AIC ตำบลละ อย่างน้อย 1 คน โดยสรรหาจาก Young Smart Farmer  Smart Farmer และเปิดรับสมัครผู้ที่มีความสนใจและมีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมในการเดินหน้าร่วมการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมในพื้นที่ของตนเอง

6. การจัดทำระเบียบกระทรวงว่าด้วยการบริหาร AIC เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องต่อไป

ทั้งนี้ที่ประชุมได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการฯ ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเทคโนโลยีเกษตร 4.0
ดังนี้...

1. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อน Big Data และ Gov Tech ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีความก้าวหน้าการดำเนินงานการจัดทำ Big Data ด้านเกษตร ระดับจังหวัด โดยมีการต้ังคณะทํางานภายในสศก.เพื่อขับเคลื่อนการจัดทํา Big Data ด้านการเกษตร ซึ่งขณะนี้ (ม.ค. - ก.พ. 66) อยู่ในช่วงของการวิเคราะห์ผลการสํารวจและจัดลําดับความสําคัญ คาดว่าหน่วยงานในพื้นที่จะสามารถใช้ประโยชน์จาก Dashboard ที่สมบูรณ์แล้ว ภายในเดือน ก.ย. 66  และผลการดำเนินงานแนวทางการบูรณาการ Application (Super App) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปัจจุบันที่ให้บริการอยู่ในรูปแบบของ Web Application Mobile Application และระบบการบริการภาครัฐ ท่ีได้ถูกแปลงให้เป็นดิจิทัลแล้ว มีจํานวน 175 บริการ โดยวางแนวทางดังนี้...

1) พัฒนา Application ที่มีความสามารถเฉพาะอย่าง ตามภารกิจ ของหน่วยงาน 

2) พัฒนา Application ที่มีเป็นศูนย์รวมการให้บริการ ที่เกษตรกร สามารถติดตั้งใช้งาน โดยไม่ใช้ทรัพยากรมาก โดยการเรียกใช้บริการ จะดําเนินการผ่าน API ที่แต่ละหน่วยงานจัดเตรียมไว้และมีระบบการยืนยันตัวตนที่เป็นมาตรฐานร่วมกัน 

3) ระบบการบริการเชื่อมโยงข้อมูล National Single Window (NSW) หน่วยงานใน กษ.จำนวน 5 หน่วยงาน  57 บริการ คือ  e-Payment และ e-Signature

2. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานความก้าวหน้าของการวิจัยและพัฒนาเครื่องเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังโดยมีการพัฒนาและวิจัยเครื่องขุดมันสำปะหลังแบบไถหัวหมู เครื่องขุดและเก็บมันสำปะหลัง เครื่องตัดต้นมันสำปะหลังแบบติดตั้งหน้ารถแทรกเตอร์ ซึ่งร่วมกับ บริษัท บีทีโอโตพาร์ท เป็นภาคเอกชนที่นำผลงานวิจัย ไปทำการผลิตและจำหน่าย เป็นการพัฒนาและต่อยอดผลการวิจัยข้างต้นให้เป็นต้นแบบ 'เครื่องเก็บเกี่ยวมันสำปะหลังแบบกึ่งอัตโนมัติ'

การจัดทำเสนอโครงการการพัฒนาและวิจัยที่จะดำเนินการเสนอ สวก. ในการของงบประมาณการวิจัย 3 โครงการ ได้แก่ โครงการการพัฒนา IoTs Platfrom สำหรับการผลิตทุเรียนแปลงใหญ่อัจฉริยะ โครงการการพัฒนาแอปพลิเคชันทำนายและตรวจวิเคราะห์ศัตรูพืช (โรคพืช แมลงศัตรูพืชและวัชพืช) ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตรอัจฉริยะ (เครื่องสาง + ม้วนใบอ้อย) เพื่อแก้ปัญหาการเผาอ้อย และรายงานความก้าวหน้าการขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับบริษัท ล็อกซ์เลย์ จำกัด  (มหาชน) เพื่อขับเคลื่อนแปลงใหญ่เกษตรอัจฉริยะข้าว ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการหารือประเด็นสนับสนุนการลดภาษีการนำเข้าเครื่องดังกล่าว และการติดตั้งซิมการ์ด การเชื่อมโยงและการเข้าถึงข้อมูลสภาพอากาศของเกษตรกร เพื่อสนับสนุนการทำเกษตรอัจฉริยะ

'อลงกรณ์' เปิดแผนพัฒนาโคพื้นเมืองพร้อมเปิดแข่ง 'วัวลาน' เพชรบุรีสนามแรกรับปีใหม่

เร่งตั้งสมาคมกีฬาวัวลาน เล็งสร้างสนามแข่งวัวลานมาตรฐานจัดแข่งตลอดปีดึงนักท่องเที่ยวไทย-เทศเที่ยวชมกีฬาประเพณีแห่งเดียวของโลก ตั้งเป้าเพิ่มรายได้เกษตรกรอย่างยั่งยืน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยวันนี้เกี่ยวกับแผนการพัฒนาโคพื้นเมืองและกีฬาวัวลานสำหรับปี2566ว่า ภายหลังจากการจัดประชุมรวมพลคนปศุสัตว์หารือระหว่างกรมปศุสัตว์ จังหวัดเพชรบุรี ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและกลุ่มผู้เลี้ยงโคพื้นเมืองและวัวลานในจังหวัดเพชรบุรีครั้งที่1เมื่อปลายปีที่ผ่านมาเพื่อรับฟังปัญหาและร่วมวางแนวทางการพัฒนาโคพื้นเมืองและการแข่งขันวัวลานกีฬาประเพณีพื้นบ้านนั้น ในปีนี้กรมปศุสัตว์โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเพชรบุรีมีแผนดำเนินการพัฒนาโคพื้นเมืองและวัวลานภาคตะวันตกอย่างเป็นระบบครบวงจรตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์ การพัฒนาฟาร์ม การป้องกันโรค การยกระดับปศุสัตว์แปลงใหญ่ การอนุรักษ์พันธุ์โคพื้นเมือง การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์( GI ) 

ซึ่งเป็นอัตตลักษณ์ของเพชรบุรี การส่งเสริมประเพณีการประกวดวัวสวยงาม วัวเทียมเกวียนและการแข่งขันวัวลาน การพัฒนาตลาดเพื่อยกระดับราคา ทั้งนี้จะจดทะเบียนเป็นสมาคมกีฬาวัวลาน พร้อมกับสร้างสนามกีฬาแข่งวัวลานที่เป็นมาตรฐาน เช่นเดียวกับสนามม้าแข่งในประเทศไทยและในประเทศต่างๆทั่วโลกที่มีระเบียบและกฎหมายรองรับและจะเปิดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเข้าชมวัวลานกีฬาประเพณีวิถีไทยในรูปแบบเกษตรท่องเที่ยวเป็นการสร้างภาพลักษณ์และชื่อเสียงให้กับวัวลานเพชรบุรีซึ่งถือเป็นต้นตำรับประเพณีการแข่งวัวลานในประเทศไทย รวมทั้งการส่งเสริมวัวเทียมเกวียน การประกวดพันธ์ุวัวและวัวสวยงาม โดยมีศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมจังหวัดเพชรบุรี(ศูนย์AIC มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี)และหน่วยงานเกี่ยวข้องให้การสนับสนุนส่งเสริมด้านการวิจัยพัฒนาและต่อยอดทั้งนี้จะเปิดสนามแข่งวัวลานที่เพชรบุรีเป็นครั้งแรกในเดือนแรกของปีนี้เพื่อเปิดศักราชใหม่ของการส่งเสริมพัฒนาโคพื้นเมืองและวัวลานภายใต้แนวทางเพชรบุรีโมเดลซึ่งเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนมีเป้าหมายเข็มมุ่งชัดเจนสไตล์ทำได้ไวทำได้จริง

'อลงกรณ์ คิกออฟงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่จังหวัดเพชรบุรี (Field Day) ปี 2566

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ปี 2566 ณ ศูนย์ข้าวชุมชนตำบลหนองจอก หมู่ที่ 2 ตำบลหนองจอก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรีโดยมีนางวันเพ็ญ มังศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีกล่าวรายงานต้อนรับโดยมีผู้เข้าร่วมงานอาทิ นายณฐกร สุวรรณธาดา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ. นางสาวศิริวรรณ เครือเล็ก เกษตรและสหกรณ์จังหวัด นายบรรพต มามาก ประธานศพก.เพชรบุรี หัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เกษตรกร ยุวเกษตรกร  ซึ่งการจัดงานในวันนี้ จัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดความรู้ และให้บริการแก่เกษตรกรในชุมชน ให้เกษตรกรได้รับความรู้ เข้าถึงปัจจัยการผลิต ลดความเสี่ยงในการบริหารจัดการ และให้เกิดความเข้มแข็งของเกษตรกร

สำหรับการจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่  (Field Day) ปี 2566 นี้ พืชหลัก คือ ข้าว โดยการจัดงานในวันนี้มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จากทุกอำเภอในจังหวัดเพชรบุรี มาร่วมเรียนรู้ด้วย ซึ่งกิจกรรมการเรียนรู้จะแบ่งสถานีถ่ายทอดความรู้ ออกเป็น 4 สถานี ประกอบด้วย สถานีเรียนรู้ที่ 1 การปรับปรุงบำรุงดิน (ทำดินให้เป็นดาว) สถานีเรียนรู้ที่ 2 คุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าว (ปริญญาข้าว) สถานีเรียนรู้ที่ 3 การควบคุมศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (ป้องกันอย่างยั่งยืน) และสถานีเรียนรู้ที่ 4 การสร้างมูลค่าเพิ่ม (ทุกอณูมีค่า) นอกจากนี้ จะมีการนำเสนอองค์ความรู้ และบริการการเกษตรอื่น ๆ ให้เกษตรกรจากหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน และกลุ่มเกษตรกรด้วยที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีมีเป้าหมายสำคัญ 2 ระดับ คือ 

'อลงกรณ์' มั่นใจปี2566 เปิดประตูอีสานขนส่งสินค้าเกษตรสู่ยุโรปและแปซิฟิกสำเร็จ หลัง 'กรกอ.' เห็นชอบร่างแผนพัฒนาสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมอีสานตอนบนรองรับการลงทุนเพิ่มรายได้เกษตรกร

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2566 โดยมี นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมภาค หน่วยงานส่วนราชการส่วนกลางส่วนภูมิภาคและผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมกว่า70คน ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ด้วยโปรแกรม Zoom Meeting โดยมีหัวข้อสำคัญในการประชุม ดังนี้

1) ความก้าวหน้าโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำและการเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาสวยงามในการส่งออกต่างประเทศ ( Aqua Feed & Ornamental Freshwater Fish Industry : AFOF)
2) การดำเนินงานของคณะอุตสาหกรรมความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระดับภาค(กรกอ.ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง ตะวันออก และใต้)
3) ความก้าวหน้าการขับเคลื่อน Big Data และ Gov Tech ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เชื่อมบิ๊กดาต้ากับภาครัฐและภาคเอกชน
4) การส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลและเทคโนโลยีเพื่อยกระดับการผลิตภาคเกษตร

นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาสินค้าเกษตรที่สำคัญตามศักยภาพแบบครบวงจรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (หนองคาย อุดรธานี เลย หนองบัวลำภูและบึงกาฬ)และตอนบน 2(นครพนม มุกดาหารและสกลนคร)

'อลงกรณ์' ลุยโรงงานต่างด้าวอิทธิพลสั่งลงดาบซ้ำมอบกรมชลประทานดำเนินคดี พร้อมชื่นชม ผู้ว่าเพชรฯ.สนธิกำลังปิดโรงงานลักลอบปล่อยน้ำเสียลงคลองชลประทานก่อมลพิษกลิ่นเหม็นเน่าสร้างความเดือดร้อนชุมชน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยวันนี้ (30 ม.ค.) ว่าได้มอบหมายให้กรมชลประทานพิจารณาแจ้งความดำเนินคดีโรงงานต่างด้าวอิทธิพลที่ลักลอบปล่อยน้ำเสียลงคลองชลประทานที่บ้านนาขลู่หมู่1ซึ่งเข้าข่ายการกระทำผิดต่อพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง ที่บัญญัติ "ห้ามมิให้ผู้ใดปล่อยน้ําซึ่งทำให้เกิดเป็นพิษแก่น้ําตามธรรมชาติหรือ สารเคมีเป็นพิษลงในทางน้ำชลประทานจนอาจทำให้น้ำในคลองชลประทานเป็นอันตรายแก่เกษตรกรรม การบริโภค อุปโภคหรือสุขภาพอนามัยของประชาชน" พร้อมกับให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรีขุดลอกตะกอนน้ำเสียออกจากคลองเพื่อไม่ให้น้ำเสียที่ขังในคลองส่งกลิ่นเหม็นในบริเวณชุมชนใกล้เคียง

นายอลงกรณ์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่17 มกราคมที่ผ่านมาได้รับการร้องเรียนจากผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาอบต.และประชาชน หมู่1ตำบลนาพันสามระหว่างลงพื้นที่ขับเคลื่อนโครงการเกษตรกรรมยั่งยืนตำบลนาพันสามที่ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน ต.นาพันสาม อ.เมือง กรณีที่มีโรงงานทำขนมลักลอบปล่อยน้ำเสียลงคลองชลประทานส่งกลิ่นเหม็นรุนแรงมาเป็นเวลานานสร้างความเดือนร้อนให้กับประชาชนและชุมชนโดยรอบจึงเดินทางไปตรวจสอบพบว่า มีการลักลอบปล่อยน้ำเสียจากโรงงานทำขนมหวานลงคลองชลประทาน 3 ขวา 1 ซ้าย สายใหญ่ 3 เป็นระยะทางยาวนับร้อยเมตรส่งกลิ่นเน่าเหม็นรุนแรงและเมื่อเข้าไปตรวจสอบภายในโรงงานพบว่ามีสายยางวางจากบ่อเกรอะพาดข้ามกำแพงโรงงานปล่อยลงคลองส่งน้ำของชลประทานและยังพบคนงานเป็นต่างด้าวหลายคนจึงให้ตามเจ้าของมาพบซึ่งได้รับแจ้งว่าไม่อยู่และมีผู้หญิงคนหนึ่งเป็นชาวกัมพูชาบอกว่าเป็นภรรยาเจ้าของจึงสอบถามว่าทำไมถึงลักลอบปล่อยน้ำเสียลงคลองส่งน้ำของชลประทานซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและได้รับคำตอบว่าพยายามแก้ไขแต่ทำไม่ได้ ตนจึงแจ้งว่าถ้าแก้ไขไม่ได้ก็ต้องปิดโรงงานและจะดำเนินคดีพร้อมกับได้โทรศัพท์แจ้งให้นายณัฏฐชัย นำพูลสุขสันติ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีและนายสันต์ จรเจริญ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี (ผคบ.เพชรบุรี) ทราบเพื่อดำเนินคดีต่อไป

'อลงกรณ์' ดัน 5 มติ เตรียมเสนอ 'รมต.เฉลิมชัย' เร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมง

'อลงกรณ์' เร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนชาวประมง สรุปมติ 5 ข้อเตรียมเสนอ 'รัฐมนตรีเฉลิมชัย' ยกเลิกคำสั่งคสช.พร้อมชะลอประกาศกรมประมงเรื่องรางวัลนำจับเพื่อความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

วานนี้ (8 ก.พ.66) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมหารือแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมงโดยมีนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยและกรรมการตลอดจนตัวแทนนายกสมาคมชาวประมง เจ้าของเรือประมงที่ได้รับผลกระทบจากพระราชกำหนดประมงปี 2558, นายณฐกร สุวรรณธาดา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ, นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง, นายเดชา ปรัชญารัตน์ ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมประมง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุม 123 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  

นายอลงกรณ์ แถลงถึงผลการประชุมวันนี้ว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาโดยจะเสนอ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนี้....

1.) เห็นควรเสนอให้มีการปรับปรุงประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง คณะกรรมการเปรียบเทียบ และหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาของคณะกรรมการเปรียบเทียบ พ.ศ. 2561 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 170 วรรคสองและวรรคสาม แห่ง พรก.การประมง พ.ศ.2558 

2.) เห็นควรยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 22/2560 เรื่อง การแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม

3.) กรณีที่มีการออกกฎระเบียบใดๆ จะต้องกำหนดห้วงเวลาก่อนการบังคับใช้เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ชาวประมง โดยกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมในการบังคับใช้ หลังวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา 

4.) มอบหมายกรมประมงหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาประเด็นความคลุมเครือในมาตรา 38 และมาตราอื่น ๆ เช่น มาตรา 19 และมาตรา 20 และมาตรา 105 เป็นต้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบังคับใช้และการตีความกฎหมายเพื่อความเป็นธรรม

‘อลงกรณ์’ ผนึกเครือข่าย ชู ‘ตลาดท้ายเกาะโมเดล’ ขับเคลื่อน ‘ตลาดกลางเกษตรอินทรีย์’ ทั่วประเทศ

(14 ก.พ. 66) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นประธานเปิดเวทีขับเคลื่อนตลาดเกษตรอินทรีย์ท้ายเกาะ อำเภอสามโคก ปทุมธานี ภายใต้โครงการออกานิค เวิล์ดไทยแลนด์ (Organic World Thailand) พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง ‘ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนระบบเกษตรกรรมยั่งยืนของประเทศไทย ภายใต้ยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนและ BCG โมเดล’ ในวันนี้ว่า การพัฒนาและขับเคลื่อน ‘ตลาดกลางเกษตรอินทรีย์ท้ายเกาะ’ หรือ โครงการ Organic World Thailand สามโคก-ปทุมธานี ในวันนี้ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน (Sustainable Agriculture) โดยมีคณะกรรมการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน (แห่งชาติ) มี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรเป็นประธาน และมีคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนซึ่งมีตนเป็นประธาน มีคณะทำงาน ขับเคลื่อนหลายคณะ ได้แก่ คณะทำงานขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ คณะทำงานขับเคลื่อนเกษตร ผสมผสานและเกษตรทฤษฎีใหม่ คณะทำงานขับเคลื่อนเกษตรธรรมชาติและวนเกษตร และคณะทำงานขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง (Sustainable Urban Agriculture) ใน 76 และกรุงเทพมหานคร 

นอกจากนี้ได้จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนในระดับตำบล 7,255 ตำบลใน 76 จังหวัดแล้วซึ่งเป็นกลไกสำคัญ ในการทำงานเชิงพื้นที่ และในส่วนของเกษตรอินทรีย์ ได้ร่วมมือกับเครือข่ายเกษตรอินทรีย์และเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนจัดตั้งสภาเกษตรอินทรีย์ พี จี เอส แห่งประเทศไทยสำเร็จเป็นครั้งแรก

“การเปิดเวทีขับเคลื่อนตลาดกลางเกษตรอินทรีย์ท้ายเกาะโดยจะมีการเปิดตลาดอย่างเป็นทางการในเร็ววันนี้บนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเกษตร และภาควิชาการเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับตลาดเกษตรอินทรีย์ทุกจังหวัดและยกระดับสู่การเป็นตลาดส่งออกด้วย ทั้งนี้มีนโยบายที่จะส่งเสริมขยายผลให้มีตลาดกลางและตลาดเกษตรอินทรีย์ทั่วประเทศ

ในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประธานคณะ อนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนขอแสดงความชื่นชม คุณวิเชียร สวาทยานนท์ ประธานกรรมการบริหาร ตลาดโรงเกลือท้ายเกาะ ที่มีจิตอาสาในการช่วยเกษตรกรให้มีตลาดจำหน่ายสินค้าเกษตร อินทรีย์ และขอขอบคุณ ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ และเครือข่าย ที่มีความมุ่งมั่นใน การพัฒนาห่วงโซ่มูลค่าเกษตรอินทรีย์ซึ่งนำมาสู่การก่อเกิดตลาดกลาง และการเตรียมความพร้อมในการเปิดตลาดกลางเกษตรอินทรีย์ท้ายเกาะภายในเดือนเมษายนนี้

'อลงกรณ์' เร่งเดินหน้าเศรษฐกิจสีน้ำเงิน(Blue Economy) เผยปี2565 'ปลาทู' เพิ่ม 63% ชี้มาตรการปิดอ่าวของกรมประมงบรรลุความสำเร็จภายใต้นโยบาย '3ป.' ของรัฐมนตรีเกษตรฯ.

พร้อมประกาศปิดอ่าวไทยดีเดย์ 15 ก.พ. คุ้มครองพ่อแม่พันธุ์ปลาทูและสัตว์น้ำมีไข่ หวังเพิ่มผลผลิตและฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้รับมอบหมายจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานในพิธีประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ในพื้นที่ทะเลอ่าวไทย ประจำปี 2566 เพื่อคุ้มครองพ่อแม่พันธุ์ปลาทูและสัตว์น้ำมีไข่ให้แพร่ขยายพันธุ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างยั่งยืน 

โดยมี นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง นายณฐกร สุวรรณธาดา คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกรมประมง สมาคมประมง องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น เข้าร่วม ณ สวนสาธารณะปากน้ำปราณบุรี อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำดังกล่าว ครอบคลุมพื้นที่บริเวณอ่าวไทยทั้งหมด แบ่งเป็น บริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนกลาง 2 ช่วงระยะเวลา ได้แก่ ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 15 พฤษภาคม 2566 ตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ถึงอำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี และระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม – 14 มิถุนายน 2566 

ในบริเวณอาณาเขตตามแผนที่แนบท้ายของประกาศปิดอ่าวไทยตอนกลางและเขตต่อเนื่องตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ ถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และบริเวณพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก 2 ช่วงระยะเวลา ได้แก่ ระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน – 15 สิงหาคม 2566 ในพื้นที่อ่าวไทยตอนในฝั่งตะวันตกของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร และระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม – 30 กันยายน ในพื้นที่อ่าวไทยตอนในด้านเหนือของจังหวัดสมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี  

สำหรับพิธีประกาศปิดอ่าวฯ ในวันนี้ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกอบพิธีบวงสรวงพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และกล่าวคำปฏิญาณตนที่บริเวณด้านหน้าอ่าวประจวบฯ พร้อมกล่าวเปิดพิธีประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ มีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ในพื้นที่ทะเลอ่าวไทย ประจำปี 2566 พร้อมทั้งได้มอบแผ่นป้ายเงินอุดหนุนโครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านประมงให้กับผู้แทนองค์กรประมงท้องถิ่นทั่วประเทศ จำนวน 200 ชุมชน 

โดยมอบให้กับผู้แทนสมาคมประมงพื้นบ้าน และมอบป้ายเงินอุดหนุนให้แก่ประธานองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นในเขตจังหวัดชุมพร จำนวน 4 ชุมชน ได้แก่ สมาคมประมงด่านสวี หมู่ที่ 3 ตำบลด่านสวี อำเภอสวี จังหวัดชุมพร ชุมชนประมงท้องถิ่นบ้านควนเสาธง หมู่ที่ 9 ตำบลตะโก อำเภอทุ่งตะโก จังหวัดชุมพร กลุ่มประมงพื้นบ้าน บ้านกลางอ่าว 1 หมู่ที่ 13 ตำบลบางมะพร้าว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร กลุ่มประมงพื้นบ้าน บ้านกลางอ่าว 2 หมู่ที่14 ตำบลบางมะพร้าว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ประธานองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นในเขตจังหวัดชุมพรประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 3 ชุมชน ได้แก่ กลุ่มแปรรูปอาหารทะเลบ้านเขาแดง ตำบลเขาแดง อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนบ้านปากคลอง ตำบลบางสะพาน อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนประมงและการท่องเที่ยวบางสะพาน ตำบลแม่รำพึง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และประธานองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นจังหวัดเพชรบุรี จำนวน 3 ชุมชน ได้แก่ 

กลุ่มประมงพัฒนาสาหร่ายทะเลเพชรบุรี ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ตำบลบางขุนไทร อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี และกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้ง ตำบลนาพันสาม อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี และได้มอบพันธุ์สัตว์น้ำให้แก่ตัวแทนชุมชนประมงท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวนรวมทั้งสิ้น 215,000 ตัว ประกอบด้วย กุ้งกุลาดำ 200,000 ตัว กุ้งแชบ๊วย 10,000 ตัว และปลากะพง 5,000 ตัว

 

จากนั้นนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดแผ่นป้ายประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ มีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน ทะเลอ่าวไทย ประจำปี 2566 พร้อมพิธีปล่อยเรือตรวจประมงทะเลออกปฏิบัติงานในพื้นที่ ประกอบด้วย เรือตรวจประมงทะเลขนาด 60 ฟุต เรือตรวจประมงทะเล ขนาด 38 ฟุต เรือตรวจประมงทะเลขนาด 24 ฟุต เรือตรวจประมงทะเลขนาด 19 ฟุต และเรือยางตรวจประมงทะเล และได้เยี่ยมชมนิทรรศการจากหน่วยงานกรมประมงและนิทรรศการหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อาทิ นิทรรศการการจัดตู้แสดงพันธุ์สัตว์น้ำที่เพาะพันธ์เพื่อการอนุรักษ์พร้อมบอร์ดแสดงข้อมูล นิทรรศการผลการศึกษาทางวิชาการมาตรการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน บริเวณอ่าวไทยตอนกลาง อ่าวไทยรูปตัว ก นิทรรศการมาตรการปิดอ่าวไทยตอนกลางและมาตรการปิดอ่าวไทยตอนในในภาพรวม รวมไปถึงมาตรการที่เกี่ยวข้อง นิทรรศการการลงทะเบียนเพื่อขอรับใบอนุญาตประมงพื้นบ้านและเตรียมความพร้อมก่อนลงทะเบียนขอรับใบอนุญาตประมงพื้นบ้าน นิทรรศการการควบคุมการทำประมงการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมชุมชนประมง การอนุรักษ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (MMPA) นิทรรศการการจัดทำหนังสือคนประจำเรือ (Sea book) ฯลฯ

ประชาธิปัตย์ทันสมัย พูดคุยกับ ‘อลงกรณ์’ ในบริบทใหม่ของ ศก.ไทย ใต้ ‘6 ระบบเศรษฐกิจ-18 ฐานการพัฒนา’

ในห้วงเวลาที่นโยบายหลากพรรคต่างช่วงชิงกระแส ‘ตัวเลข’ ออกมาปั้นเป็นวิสัยทัศน์กันอย่างไวว่อง ในฟากของประชาธิปัตย์ก็มิได้ตกขบวนแต่อย่างใด หากแต่ตัวเลขของ ปชป. อาจจะไม่ใช่ตัวเลขหรือหวาเชิงประชานิยม แต่กลับเป็นตัวเลขภายใต้บริบทที่เรียกว่า ‘6 ระบบเศรษฐกิจใหม่ - 18 ฐานการพัฒนาใหม่’ ซึ่งทางพรรควางไว้เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนประเทศไทยตัวใหม่ภายใต้แพลตฟอร์มที่ประชาธิปัตย์ได้ดีไซน์เพื่อความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศไทยในวันนี้

บริบทจาก ‘6 ระบบเศรษฐกิจใหม่ - 18 ฐานการพัฒนาใหม่’ ที่ว่านั้น ทาง THE STATES TIMES ได้รับความกระจ่างผ่านมุมมองของ นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ / อดีต ส.ส.6สมัย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

เมื่อถามถึงบริบทดังกล่าว นายอลงกรณ์ ก็ได้เริ่มเกริ่นนำว่า “ในมุมมองของผม โจทย์ใหญ่ของประเทศไทย คือ  อัตราการเติบโดทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่หนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รายได้ต่อหัวของประชาชนขยายตัวในอัตราต่ำเมื่อเทียบกับศักยภาพของประเทศ การคอร์รัปชันสูงเกินไป การกระจายรายได้ต่ำ ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมสูงมากในลำดับต้นๆ ของโลก

“สรุปคือระบบเศรษฐกิจและระบบภาครัฐดั้งเดิมของประเทศไทยเหมือนเครื่องยนต์เก่าที่กำลังไม่พอต่อการยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องสร้าง ‘เครื่องยนต์ตัวใหม่’ ที่ทันต่อการแข่งขันและความท้าทายใหม่ๆ เช่น ปัญหาโลกร้อน, ปัญหาสังคมสูงวัย, ปัญหาความยากจนและหนี้สิน, ปัญหาความเหลื่อมล้ำปัญหาการผูกขาดทางเศรษฐกิจ, ปัญหาการคอร์รัปชัน, ปัญหาคุณภาพการศึกษา และปัญหาโรคระบาดและฝุ่นพิษ รวมถึงปัญหาUrbanization และปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ”

นายอลงกรณ์ เผยต่อว่า “ถ้าจะยกระดับอัพเกรดให้ก้าวพ้นประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศรายได้สูง เราต้องมีแพลตฟอร์มใหม่และสร้าง”พิมพ์เขียวปฏิรูปเศรษฐกิจและการพัฒนา”ที่มีเป้าหมายชัดเจนเป็นตัวชี้วัด (Benchmark) บนโครงสร้างและระบบเศรษฐกิจใหม่ 6 ระบบได้แก่ 1.เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) 2.เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) 3.เศรษฐกิจอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) 4.เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) 5.เศรษฐกิจเพื่อสังคม (Social Economy) และ 6.เศรษฐกิจสูงวัย (Silver Economy)

“โดยทั้ง 6 ระบบนี้ คือ เครื่องยนต์ใหม่ที่จะตอนโจทย์ต่ออนาคตของประเทศไทย ซึ่งมีเป้าหมายที่จะต้องทำให้ได้ดังนี้...1.การเติบโตทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 5 %ใน 4 ปีแรกและ 7 %ในปีที่ 5 / 2.สร้างมูลค่าGDPเป็น 20 ล้านล้านบาทภายใน 4 ปี / 3.สร้างความสมดุลหนี้สาธารณะและงบประมาณสมดุลภายใน 8 ปี / 4.เกิดการจ้างงานใหม่ไม่น้อยกว่า 1 ล้านตำแหน่งภายใน 8 ปี  และ 5. เพิ่มรายได้ประชากรสู่ระดับ 12,000 ดอลลาร์สหรัฐภายใน 10 ปี...นี่คือในส่วนของ ‘6 ระบบเศรษฐกิจใหม่’ 

'อลงกรณ์' ขานรับข้อเสนอภาคเอกชนร่วมเดินหน้า 'ก้าวใหม่ประเทศไทย ก้าวใหม่ประชาธิปัตย์' ชูธง 12 แนวทางปฏิรูปเศรษฐกิจและการพัฒนาสร้างศักยภาพใหม่ตอบโจทย์อนาคตประเทศไทยภายใต้ยุทธศาสตร์ 'สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ'

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคฯ และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงความเห็น และข้อเสนอแนะของภาคเอกชน ที่มีต่อความคาดหวังในนโยบายของพรรคการเมืองวันนี้(23 มีนาคม 2566)ว่า

พรรคประชาธิปัตย์เปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนรวมทั้งมุมมองวิสัยทัศน์ของภาคเอกชนล่าสุดเกี่ยวกับการพัฒนาประชาธิปไตย การพัฒนาประเทศและการพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของพรรคประชาธิปัตย์บนหลักการ 3 ประการคือ อุดมการณ์ประชาธิปไตย นโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมและแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“พรรคประชาธิปัตย์เข้าใจในความคาดหวังของภาคเอกชนที่มีต่อนโยบายของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งนี้ซึ่งในส่วนพรรคประชาธิปัตย์มีแนวทางนโยบายอย่างน้อย 12 ประการ เสมือนคานงัดในการสร้างจุดเปลี่ยนประเทศไทย สู่ก้าวใหม่ ไทยแลนด์ โดยพร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคเอกชน ได้แก่

1. การพัฒนาการเมืองโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย
2. การขจัดคอร์รัปชั่น โดยการสร้างระบบธรรมาภิบาล
3. การส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เสรี และเป็นธรรม ลดการผูกขาดทางเศรษฐกิจ และพลัง
งาน

4. การปฏิรูประบบราชการโดยลดอำนาจรัฐ ลดขนาดภาครัฐ 

▪มุ่งกระจายอำนาจและทรัพยากรสู่ท้องถิ่นและชุมชน (Community Empowerment) 
▪การเพิ่มบทบาทภาคเอกชนและชุมชนท้องถิ่นทางเศรษฐกิจ
▪การพัฒนาเมือง และชนบท

5. การปฏิรูปภาคเกษตร ด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรม 

▪การส่งเสริมเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ 
▪การยกระดับเกษตรรายย่อยเป็นเกษตรแปลงใหญ่ 
▪การพัฒนาระบบสหกรณ์ 
▪การส่งเสริมสตาร์ทอัพเกษตรและ เอสเอ็มอี.เกษตร 
▪การส่งเสริมอาหารแห่งอนาคต
▪และการทำตลาดเชิงรุก ทั้งออนไลน์และออฟไลน์

6. การพัฒนาโลจิสติกส์ เชื่อมไทย-เชื่อมโลก 

▪การเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจภายในประเทศและต่างประเทศ

7. การสร้างฐานการผลิต การแปรรูปการตลาด และกระจายการลงทุนสู่ทุกภูมิภาค

▪ภายใต้ฐานใหม่ 18 กลุ่มจังหวัดโดยเฉพาะคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเกษตร (Agroindustry)

8. การสร้างคนและการ Reskill- Upskill ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน

▪โดยเฉพาะอุตสาหกรรมใหม่ (12  S-Curves)
▪การส่งเสริมMSMEและStartup ด้วยกองทุนเอสเอ็มอี
▪และการทำงานแบบสร้างสรรค์

9. สร้างระบบธนาคาร และระบบการเงินของเศรษฐกิจฐานรากด้วย

▪ธนาคารหมู่บ้าน 
▪ธนาคารชุมชน 80,000 หมู่บ้าน และชุมชน 77 จังหวัด 
▪รวมทั้งส่งเสริมธนาคารเพื่อการลงทุนและเวนเจอร์แคปิตอล

10. ขับเคลื่อนภาคการผลิต (Real Sector) ภาคบริการภาคการท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยี นวัต
กรรมและซอล์ฟพาวเวอร์(Soft Power)

11. การปฏิรูปการบริการภาครัฐ

▪โดยปรับปรุง และยกเลิกกฎหมาย กฎระเบียบ ที่เป็นอุปสรรค และภาระทางการค้าธุรกิจและการบริการประชาชน

12. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าการลงทุนเสรี (FTA) และกลยุทธ์มินิ เอฟ
ทีเอ.(Mini FTA)ที่มีอยู่เดิมและข้อตกลงใหม่

▪ปูทางสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการของไทยในเวทีแข่งขันระหว่างประเทศ
▪พร้อมกับการใช้กองทุน เอฟทีเอ.รองรับผลกระทบทุกด้าน

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า นโยบายเหล่านี้เป็นการสานงานต่อ ก่องานใหม่ อย่างต่อเนื่อง ของพรรคประชาธิปัตย์ เช่น 

▪การจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม 77 จังหวัด และศูนย์ความเป็นเลิฟเฉพาะด้าน 23 ศูนย์

▪เป็นโครงสร้างทางเทคโนโลยี และองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา (R&D) 
ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2563 

▪เกิดเทคโนโลยีใหม่ 800 นวัตกรรมถ่ายทอดสู่เกษตรกรและฟาร์มเกษตร

▪การส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหารใน 18 กลุ่มจังหวัดบนความร่วมมือกับสภาอุตสาห
กรรมแห่งประเทศไทย (กรกอ.) 

▪การยกระดับเกษตรรายย่อยเป็น เกษตรแปลงใหญ่ 1 หมื่นกลุ่ม 

▪การพัฒนาอาหารแห่งอนาคต เช่น โปรตีนจากพืช จากแมลงมีกว่า 1 แสนฟาร์ม 

▪การขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลทรานสฟอร์เมชั่น (Digital Transformation) 

▪ปฏิรูปกระทรวงเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน และการบริการประชาชนจากอนาล็อค เป็นดิจิตอล

▪การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลบิ๊กดาต้า เกษตรแห่งชาติ (National Big Data Center:NABC) ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 

▪การพัฒนาโลจิสติกส์ด้วยรถไฟจีน-ลาว เปิดบริการขนส่งสินค้าได้ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2565 

▪การปฏิรูประบบบริหารจัดการผลไม้ จนส่งออกทุเรียนผลสดสร้างรายได้ทะลุ 1 แสนล้านเป็นครั้งแรกในปี 2564 

การประกันรายได้เกษตรกรพืชเศรษฐกิจหลัก ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และปาล์มน้ำมัน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top