Sunday, 19 May 2024
ศาลรัฐธรรมนูญ

มติ กกต. 4 ต่อ 1 ดันส่งศาล รธน. ฟัน ‘พิธา’ ‘ปกรณ์’ หนึ่งเสียงค้าน หวั่นด้อมส้มมองไม่เหมาะสม

วันนี้ ( 12 ก.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากรณี กกต. มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล จากเหตุมีชื่อถือครองหุ้นสื่อบริษัทไอทีวี จำกัด มหาชน จำนวน 42,000 หุ้น นั้นมีรายงานว่าบรรยากาศในการพิจารณา เรื่องดังกล่าวของที่ประชุม กกต. เป็นไปอย่างเคร่งเครียด ซึ่ง กกต. ทั้ง 5 คน เห็นตรงกันว่า บริษัทไอทีวีฯ ประกอบกิจการเป็นสื่อ หากมีการถือหุ้นก็จะเข้าข่ายขัดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. จำเป็นต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ทั้งมีการพูดถึงว่า หาก กกต. ไม่ส่งศาลธรรมนูญในวันนี้ ก่อนที่รัฐสภาจะมีการโหวตนายกรัฐมนตรี อาจจะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ขัดกฎหมายมาตรา 157 จึงมีการลงมติเห็นชอบด้วยคะแนน 4 ต่อ 1 เสียง

โดย 4 เสียงประกอบด้วย 
1. นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต.
2. นายฐิติเชฎฐ์ นุชนาฏ 
3.นายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ 
และ 4. นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ 

ส่วน 1 เสียง ที่ไม่เห็นด้วยกับการส่งศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ คือ นายปกรณ์ มหรรณพ โดยนายปกรณ์ แสดงความกังวลต่อที่ประชุมว่า การที่ กกต. ส่งเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในช่วงนี้อาจจะถูกมวลชนมองว่าการกระทำของ กกต. ไม่เหมาะสม และควรจะต้องมีสอบประเด็นอื่นเพิ่มเติม อาทิ ความเป็นเจ้าของหุ้นไอทีวี ว่านายพิธาเป็นเจ้าของหุ้นจริงหรือไม่ให้ชัดเจนกว่านี้ แม้ทุกคนจะเห็นตรงกันว่าไอทีวีเป็นธุรกิจสื่อก็ตาม

สำหรับ กกต. ที่ลงมติเรื่องนี้มีเพียง 5 คน เนื่องจากนายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี และนายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย พ้นจากตำแหน่งไปก่อน เพราะมีอายุครบ 70 ปี

‘โรม’ ไม่เห็นด้วย หลังศาลรัฐธรรมนูญ สั่ง ‘พิธา’ หยุดปฏิบัติหน้าที่

(19 ก.ค. 66) นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวในรัฐสภาฯ วาระโหวตเลือกนายกฯ ครั้งที่ 2 หลังศาลรัฐธรรมนูญลงมติสั่งให้ ‘นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ แคนดิเดตนายกฯ และ ส.ส. พรรคก้าวไกล หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ว่า…

“การพยายามตีความข้อบังคับ เพื่อตัดไม่ให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ถูกเสนอชื่อ เพื่อลงมติรอบที่ 2 ได้นั้น เห็นได้ว่า มีข้อปัญหาที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมไม่อาจเห็นด้วยกับการตีความแบบนี้”

‘พิธา’ ลุกขึ้นกล่าวอำลา หลัง ศาล รธน. สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ชี้!! ตั้งแต่ 14 พ.ค. ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม

(19 ก.ค. 66) หลัง ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์รับคำร้องวินิจฉัยคุณสมบัติ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากเหตุมีชื่อถือครองหุ้นสื่อบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น พร้อมมีคำสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.66 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

ในช่วงบ่วยวันเดียวกัน มีหนังสือจาก นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ส่งถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแจ้งให้ทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้ถูกร้องหยุดปฎิบัติหน้าที่ ส.ส. ชั่วคราว นับตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

ล่าสุด ที่รัฐสภา นายพิธา ขออนุญาตประธานสภาฯ ลุกขึ้นพูด ระบุว่า ตอนนี้มีเอกสารจากศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ คงจะขออนุญาตพูดว่ารับทราบคำสั่ง และจะปฏิบัติตามจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยเป็นอื่น

นายพิธา กล่าวต่อว่า ขอใช้โอกาสนี้อำลาท่านประธานจนกว่าเราจะพบกันใหม่ และขอฝากเพื่อนสมาชิก ในการใช้รัฐสภาดูแลพี่น้องประชาชน คิดว่าประเทศไทยเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว

ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. 66 ที่ผ่านมา ถ้าเกิดประชาชนชนะมาแล้วครึ่งทาง เหลืออีกครึ่งทาง ถึงแม้ว่าผมจะไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่แต่ขอให้เพื่อสมาชิกทุกคนช่วยกันดูแลประชาชนต่อไป

โดยหลังพูดจบมี ส.ส.จาก 8 พรรค ลุกขึ้นปรบมือให้กำลังใจนายพิธา

‘แกนนำ 3 นิ้ว’ ที่ลี้ภัยอยู่ ตปท. เศร้า!! หลัง ‘พิธา’ ชวดเก้าอี้นายกฯ พ้อ!! ชีวิตนี้คงไม่ได้กลับไปเหยียบประเทศไทยอีกแล้ว

(20 ก.ค. 66) นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี หรือ ‘ฟอร์ด’ ผู้ต้องหาคดีอาญามาตรา 112 แกนนำเยาวชนปลดแอก ซึ่งขณะนี้ลี้ภัยอยู่ในประเทศแคนาดา โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า…

“ประชาธิปไตย มติมหาชน ความยุติธรรมได้ถูกทำลายอย่าป่นปี้ ชีวิตนี้ผมคงไม่อาจกลับไปเหยียบประเทศไทยได้อีกแล้วครับ #โหวตนายกรอบ2 #ศาลรัฐธรรมนูญ”

ก่อนหน้านี้ นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี ได้หลบหนีคดี 112 พร้อมกับนายภาณุมาศ สิงห์พรม หรือ เจมส์ แอดมินเพจเฟซบุ๊กเยาวชนปลดแอก โดยเดินทางไปที่ประเทศแคนาดาเมื่อปี 2564

ในขณะที่เพจเฟซบุ๊ก เยาวชนปลดแอก ได้กลับมาเคลื่อนไหวปลุกระดมชุมนุมใหญ่อีกครั้ง หลังจากไม่มีการโพสต์ข้อความใดๆตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565

‘ฐปณีย์’ เผย ได้รับหมายเรียกเป็น ‘พยาน’ คดีหุ้น ITV พร้อมชี้แจง หาก ‘กกต.-ศาลรัฐธรรมนูญ’ เรียกพบ

(20 ก.ค. 66) จากกรณีที่รายการข่าว 3 มิติ ทางช่อง 3 โดย ‘ฐปณีย์ เอียดศรีไชย’ ผู้สื่อข่าว 3 มิติ ได้ออกมาเปิดคลิปการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี ที่จัดประชุมขึ้นเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมานั้น กระทั่งวานนี้ (19 กรกฎาคม) ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติสั่งให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.แล้วนั้น

ล่าสุด ‘แยม’ ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า…

“วันที่ 25 ก.ค. 66 มีหมายเรียกจาก สน.ทุ่งสองห้อง ให้ ‘ฐปณีย์’ ไปเป็นพยานคดีหุ้นไอทีวี เตรียมพบกับ คดีหุ้น ITV EP.2”

‘อดีตตุลาการศาล รธน.’ ชี้ ศาลฯ ไม่มีโอกาสชี้แจงผ่านออนไลน์ ทำได้แค่เขียนคำวินิจฉัยให้กระจ่าง วอนสื่อช่วยเชื่อมความเข้าใจ

(25 ก.ค. 66) ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ จัดโครงการศาลรัฐธรรมนูญพบสื่อมวลชน ประจำปี 2566 โดยมีนายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นประธานเปิดโครงการ โดยมีสื่อมวลชวนจำนวน 25 สำนักข่าวเข้าร่วม

โดยนายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “บทบาทของสื่อมวลชนในการส่งเสริมประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม” ว่า ศาลรัฐธรรมนูญและทุกศาลไม่มีโอกาสพูดแก้ตัวต่อสังคมผ่านช่องทางสื่อของศาล และศาลไม่มีไอโอ งานในฝ่ายตุลาการท่านได้สร้างประเพณีไว้ว่าอยากจะพูดอะไรกับประชาชนก็เขียนลงในคำวินิจฉัยให้กระจ่างให้หมด แล้วไม่ต้องไปโต้แย้งโต้เถียงหรือแก้ตัวอย่างใด ๆ กับประชาชน ขอให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องตั้งใจนำเอาร่างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปวิเคราะห์แล้วจะวิพากษ์วิจารณ์ หรือเสนอแนะโดยถูกต้องสุจริต เป็นธรรมนั้นก็จะเป็นประโยชน์แก่ศาลรัฐธรรมนูญเราเอง เพราะเสียงติติงของผู้มีใจเป็นธรรมในสังคม เหมือนผู้ที่ชี้ขุมทรัพย์ให้กับศาลเราได้พัฒนาปรับปรุง เพราะไม่มีอะไรในโลกทางวัตถุนี้จะสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือทำอะไรถูกหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ มันก็ต้องมีขาดมีเกิน แต่ขอให้ทำโดยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม ตรงไปตรงมา ไม่เบียดเบียน ไม่หลงเชื่อไปตามพยานหลักฐานเท็จ ใช้กฎหมายให้ถูกต้องตามหลักนิติธรรม

นายจรัญ กล่าวอีกว่า ถ้าเราสามารถพัฒนาระบบงานกฎหมาย ยุติธรรมของประเทศเราให้มั่นคงบนหลักการนี้ได้ก็จะช่วยให้ระบอบการปกครอง ระบบการเมือง ระบบกฎหมายงานยุติธรรม ระบบเศรษฐกิจ ระบบคิดและวิถีของประชาชนจะมีคุณภาพมาตรฐานดีขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้พัฒนาการของศาลรัฐธรรมนูญ และศาลอื่นๆคือเสียงสะท้อนที่ทรงคุณประโยชน์ที่ใช้สติปัญญาความรู้ที่เป็นธรรม และวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงสร้างสรรค์ให้เราได้มีโอกาสรับไปปรับพัฒนา ซึ่งความจริงแล้วศาลท่านแทบไม่ได้พูดสื่อสารหลักเกณฑ์พื้นฐานให้ประชาชนได้เข้าใจ ตั้งแต่ก่อนที่คดีจะเข้าสู่ศาล ซึ่งข้อขัดแย้งในสังคมความจริงก็สับสนวุ่นวายอยู่ในโลกเสรี หรือโลกไซเบอร์มาอย่างชุลมุนสับสน อย่างศาลแทบจะไม่มีโอกาสได้เข้าไปร่วมแสดงหลักการอะไรได้เลย เพราะถ้าศาลพูดก่อนที่คดีจะมาศาลนั่นศาลก็จะไม่มีใจที่จะพิจารณาคดีนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ฝ่ายตุลาการต้องระมัดระวังไม่ล่วงล้ำเข้าไปในพื้นที่นั้น

ในระหว่างที่คดีเข้ามายังศาลก็ไม่สามารถไปบอกอะไร ๆ ให้ประชาชนรับรู้ในเชิงลึกในเนื้อหาของคดีได้ แล้วกระแสกดดันในสังคม ในคดีแพ่ง คดีอาญา คดีปกครองอาจจะไม่รุนแรงเท่าคดีที่มาสู่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเดิมพัน หรือผลของการแพ้ชนะกันที่ศาลรัฐธรรมนูญมันมหาศาล กระทบคนเป็นล้านเป็นสิบล้าน กระทบสถาบันหลักของชาติ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่แรงกดดันของฟากฝ่ายต่าง ๆ ของสังคมก็จะอยากให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไปในทิศทางที่เป็นคุณประโยชน์แก่ตน พอแพ้ไม่ได้ก็จะเป็นสถานะยากลำบากของศาล วันนี้เราตั้งประเด็นว่าแล้วสื่อมวลชนมีเสรีภาพที่ยิ่งใหญ่ และถือเป็นเสาหลักเสาหนึ่งของการปกครองระบอบเสรีประชาธิปไตย เป็นปากเป็นเสียงของประชาชน เป็นเวทีเปิดกว้างให้คนที่ไม่มีพื้นที่เป็นของตัวเองสามารถสะท้อนคิดความเห็น ข้อมูล ออกไปสู่การรับรู้ของประชาชนอย่างมาก ดังนั้นถือเป็นวิชาชีพที่สูงมาก มีมาตรฐาน อุดมการณ์และจริยธรรม ที่ไม่ได้ต่ำต้อยน้อยหน้าไปกว่าอาชีพ อื่น นายจรัญ กล่าว

นายจรัญ กล่าวว่า วันนี้เราใช้ระบบการเมืองแบบรัฐสภา เราเลือกที่จะไม่ใช้ระบบแบบประธานาธิบดี และส่วนใหญ่เราก็เลือกใช้ระบบ 2 สภา ระบบกฎหมายก็สำคัญสำหรับสื่อมวลชนที่จะใช้เสรีภาพ เพราะถ้าเราใช้เสรีภาพล่วงละเมิดกฎหมายบ้านเมืองจะมีปัญหา แล้วเราจะไปโทษว่าคนที่มากล่าวหา ดำเนินคดีกับเราเป็นการกลั่นแกล้ง นั่นมันก็ไม่กระจ่าง ฉะนั้นเราก็ต้องมีกรอบมาในระบบกฎหมายและระบบงานยุติธรรม

อย่างไรก็ตามสื่อมวลชนถือเป็นกลไกลสำคัญในระบอบการปกครอง ระบบการเมือง ระบบกฎหมาย เศรษฐกิจของประเทศเราที่จะช่วยให้วิถีชีวิตของประชาชนค่อยๆพัฒนาขึ้น แต่ต้องระวังอย่าหักด้ามพร้าด้วยเข่า อย่าใจเร็วด่วนได้ว่าต้องดีขึ้นวันนี้พรุ่งนี้เลย ไม่เช่นนั้นแตกหัก ถ้าสื่อใดพลาดไปอย่างนั้นตนว่าน่าห่วง อีกทั้งตัวร้ายที่เรามองข้ามไป  มหาอำนาจจากโลกเสรี ประชาธิปไตย ทุนนิยมสุดโต่งทรงพลังครอบงำการปกครองระบบการเมืองของเรา ระบบกฎหมาย ระบบงานยุติธรรมของเรา มีอย่างที่ไหนศาลกำลังพิจารณาพิพากษาคดีสำคัญอยู่แต่ส่งตัวแทนต่างชาติเข้ามา แม้จะบอกว่าเข้ามาเพื่อประดับรู้ แต่ผลกระทบมันคือการกดดันผู้พิพากษาที่ทำภารกิจนั้นอยู่ เว้นแต่ท่านจะมั่นคง ตรงไปตรงมาจริงๆไม่หวั่นไหว แต่แรงกดดันแบบนี้เป็นไปได้ และเคยเป็นไปแล้วให้เราได้เห็น ไม่มีประเทศไหนเขายอมอย่าว่าแต่ผู้แทนต่างชาติเลยแม้แต่คนในประเทศพอคดีสำคัญเข้าสู่ศาลต้องหยุดกดดัน เพราะเราก็ไม่มั่นว่าผู้พิพากษาท่านจะหวั่นไหวหรือไม่ ถ้าท่านหวั่นไหวก็ทำงานง่ายตัดสินตามกระแสกดดัน แบบนี้แล้วฝ่ายตรงข้ามที่ไม่มีกระแสหนุนหลังเขาจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่

หลักการพื้นฐานเมื่อคดีเข้าสู่ศาลต้องสกัดการกดดันศาลทุกรูปแบบเพื่อหวังว่าเราจะได้คุณภาพของคำวินิจฉัย หรือถ้ากลัวว่าไม่กดดันเราจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่นั้นต้องบอกว่าถ้าไม่ได้รับความเป็นธรรมเราต้องจัดการ ซึ่งมันมีช่องทางมากมาย มีตัวอย่างคนในแวดวงตุลาการที่ดูแลองค์กรนี้อยู่ท่านไม่ปล่อยให้เนื้อร้ายเจริญงอกงามแน่ มะเร็งร้ายจะต้องถูกกำจัดไปโดยกระบวนวิธีการของท่านที่ไม่ต้องการประฌานเชื้อโรคหรือเนื้อร้ายนั้น

“ผมไม่ได้อยู่กับคนไหนฝ่ายไหน ผมไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ไม่ใช่ทุนนิยม และผมก็ไม่เสรีสุดโต่ง แต่ผมก็ไม่อาจจะยอมรับการกดขี่ข่มเหงของผู้ทรงอำนาจในประเทศ ไม่ว่าจะรูปแบบไหน ทรงอำนาจอาวุธหรือเสียงข้างมาก เพราะในชีวิตผมเติบโตมาในแวดวงการตุลาการไทย เราเคารพเสียงข้างมาก ยอมรับมติให้เป็นไปตามเสียงข้างมาก แต่เราขอให้เราที่เป็นเสียงข้างน้อยได้แสดงความคิดเห็น เหตุผลหลักวิชาของเราให้ปรากฏไว้ว่า ไม่ใช่เพราะผมเป็นตะบึงตะบอนเห็นแต่ความเห็นของตัวเอง ไม่เคารพความคิดเห็นของคนอื่น นี่คือวัฒนธรรมของการทำงานของฝ่ายตุลาการของประเทศเรา แต่มันก็ไม่ค่อยได้มีการเผยแพร่ให้ประชาชนรับรู้ เพราะมันเกินกำลังของศาลที่จะเผยแพร่อะไรต่างๆที่เป็นเรื่องเฉพาะตัว นั่นจึงจะเป็นหน้าที่สื่อมวลชนที่จะได้เป็นตัวกลางเชื่อมสื่อสารให้ประชาชนรับรู้เข้าใจ ความโกธรแค้นต่างๆก็จะได้เบาบางลง” นายจรัญ กล่าว

นายจรัญ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามสื่อมวลชนจะต้องเป็นสื่อกลางที่จะเชื่อมระหว่างรัฐ กับประชาชน และประชาชนด้วยกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันสื่อจะต้องมีเสรีภาพเพื่อไม่ให้ตัวกลางหายไป ถ้าหายไปประชาชนก็จะถูกปลุกปั่นให้เป็นเครื่องมือของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล แล้วจะต้องเป็นตัวกลางระหว่างสองฝ่ายที่มักจะขัดแย้งกันเพื่อให้ไปสู่ศาลกระบวนการยุติธรรมไม่ใช่ยุยงให้ลงถนนเพราะการลงถนนของประชาชนต้องเป็นเส้นทางสุดท้ายของสังคม เพราะฉะนั้นจะกลายเป็น Mob Rule  หรือกฎหมู่ เป็นภัยอันตรายมหาศาลของระบอบเสรีประชาธิปไตย ไม่ค่อยเป็นภัยต่อระบอบเผด็จการ ซึ่งประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์เขาไม่กลัว Mob Rule อีกทั้ง Mob Rule เป็นตัวบ่อนทำลายหลักของหลักธรรมาภิบาล และหลักนิติธรรมที่ทรงพลังที่สุด รวมถึงทำให้เกิดความสูญเสียในสังคม มีผู้วิจารณ์การเมืองบอกว่าถ้าเลือกตั้งใหม่จะเสียค่าอีก 5- 6 พันล้าน ซึ่งเป็นเรื่องเล็กมากถ้าเปรียบเทียบกับความล้มสลายทางเศรษฐกิจเป็นล้านล้าน ถ้าเกิด Mob Rule ซึ่งเสียหายทุกฝ่ายรวมทั้งม็อบเองก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการเดินถนน จึงขอให้นั่นเป็นวิธีสุดท้ายที่หมดปัญญาแล้ว ไม่มีปัญญาจะแก้ปัญหาของประเทศชาติโดยวิธีสันติได้แล้ว

ศาล รธน. ลงมติเอกฉันท์ ‘พรบ.คอมฯ’ ไม่ขัด รธน. ส่งผล ‘ไอซ์ รักชนก’ ต้องต่อสู้คดี 112 ในศาลอาญา

(29 พ.ย.66) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประชุมปรึกษาในคดีที่ศาลอาญา ส่งคำโต้แย้งของ น.ส.รักชนก ศรีนอก จำเลย ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 683/2565 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212 ว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26 และมาตรา 34 หรือไม่

ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า คำโต้แย้งของจำเลยและเอกสารประกอบปรากฏว่า น.ส.รักชนก แสดงเหตุผลประกอบคำโต้แย้งเฉพาะพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) (2) และ (3) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และมาตรา 34 วรรคหนึ่ง และคดีเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง กำหนดประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) (2) และ (3) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26 และมาตรา 34 วรรคหนึ่ง หรือไม่

โดยศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) (2) และ (3) ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26 และมาตรา 34 วรรคหนึ่ง 

สำหรับคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ 683/2565 เป็นคดีที่ น.ส.รักชนก ซึ่งขณะนั้นเป็นสมาชิกกลุ่มคลับเฮ้าส์เพื่อประชาธิปไตย ถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทสถาบัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จากกรณีโพสต์ข้อความวิจารณ์รัฐบาล ประเด็นการจัดซื้อจัดหาวัคซีนโควิด-19 และกรณีรีทวีตภาพถ่ายในการชุมนุม 16 ตุลาไปแยกปทุมวัน ปี 2563 ซึ่งมีข้อความที่ถูกกล่าวหาว่าต่อต้านสถาบัน

โดยความผิดฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จในระบบคอมพิวเตอร์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

‘ศาล รธน.’ นัดชี้ชะตา ‘พิธา’ ถือหุ้นไอทีวี 24 ม.ค.67 แถมระทึกต่อ!! เตรียมไต่สวนคดีแก้ ม.112 จันทร์หน้า

(20 ธ.ค.66) ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งว่าได้ไต่สวนพยานในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่จากกรณี เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนใดๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อ โดยมีพยานรวม 3 ปากคือนายแสวง บุญมีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และนายคิมห์ สิริทวีชัย ตอบข้อซักถามของศาลและของคู่กรณีคดีเป็นอันเสร็จสิ้นการไต่สวน ศาลนัดฟังคำวินิจฉัยในวันพุธที่ 24 ม.ค 2567 เวลา 14:00 น.

ส่วนคดีที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความของพระพุทธะอิสระ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่าการกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 1 และ พรรคก้าวไกล ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ...เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่ ศาลฯ ได้มีการอภิปรายเพื่อเตรียมการไต่สวนในวันจันทร์ที่ 25 ธ.ค.เวลา 9.30 น. 

‘ศาลรธน.’ ไม่รับคำร้องสอบ ‘รองอ๋อง’ โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชี้!! ไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ร้องถูกละเมิดสิทธิ-เสรีภาพให้เสียหาย

(20 ธ.ค.66) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยในคดีที่นายทรงชัย เนียมหอม ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ว่านายปดิพัทธ์ สันติภาดา สส.พิษณุโลก รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงกระทำการอันเป็นการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยใช้สิทธิพิเศษของตนเองเป็นการฝ่าฝืนพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 มาตรา 3 และมาตรา 32 ละเมิดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 4 มาตรา 29 วรรคสามและวรรคสี่ มาตรา 27 และมาตรา 50(3) หรือไม่ โดยศาลฯ เห็นว่าข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องไม่ปรากฏว่า นายทรงชัย ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพและได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรงจากการกระทำของนายปดิพัทธ์อย่างไร กรณีไม่เป็นไปตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ดังนั้นนายทรงชัย จึงไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ได้

‘พิธา’ รอด!! กรณีถือหุ้นสื่อไอทีวี

(24 ม.ค.67) ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยกรณี กกต. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย สมาชิกภาพสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) กรณีถือหุ้นไอทีวี

โดยก่อนอ่านคำวินิจฉัยศาลได้ชี้แจงว่าเคยได้แจ้งให้ทราบว่าคดีนี้ผู้ถูกร้องขอขยายเวลาการชี้แจงสองครั้งครั้งละ 30 วัน ความจริงคดีนี้ควรจะเสร็จสิ้นไปก่อนหกสิบวันที่แล้วไม่ใช่ศาลล่าช้า และขอแจ้งว่าการไปแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคดีในสื่อถือว่าเป็นการไม่เหมาะสมเพราะการแสดงความคิดเห็นไม่ว่าจะบวกหรือลบก่อนศาลวินิจฉัยจะเป็นการชี้นำและกดดันศาลจึงขอเตือนไว้ด้วย

มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพสิ้นสุดลงหรือไม่และนับแต่เมื่อไหร่ โดยเห็นว่า รธน. มาตรา98 บัญญัติเรื่องการห้ามลงสมัคร สส. ในกรณีการห้ามถือหุ้นเป็นเจ้าของกิจการสื่อ

การจะพิจารณาว่ากิจการใดเป็นกิจการสื่อ ต้องดูว่ามีเจตนาและยังมีการประกอบกิจการและมีรายได้จากการประกอบกิจการหรือไม่

โดยเมื่อมี พ.ร.ฎ.ยุบสภาเมื่อปี 2566 กำหนดให้วันที่ 4 เม.ย. เป็นวันรับสมัครเลือกตั้ง โดยพรรคก้าวไกล ยื่นรายชื่อนายพิธาเป็นผู้สมัครลำดับที่ 1 และต่อมาก็ได้รับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ แต่มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทไอทีวี ลำดับที่ 7,061 จำนวนสี่หมื่นสองพันหุ้น และถือเรื่อยมา จน 15 พ.ค.2566 จึงโอนหุ้นให้นาย ภาษิน ลิ้มเจริญรัตน์ และมีการระบุวัตถุประสงค์ของบริษัทว่าเป็นสื่อโทรทัศน์

โดยนายพิธาโต้ว่าไม่มีอำนาจครอบงำ เพราะกฎหมายหลักทรัพย์บัญญัติให้ตนเป็นผู้ถือหลักทรัพย์ถึงร้อยละ 25 จึงเป็นการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำ ยกเว้นเป็นการได้มาโดยมรดก และจำนวนหุ้น 42,000 หุ้น แต่หุ้นไอทีวีมี หนึ่งพันสองร้อยหกล้านหุ้น ร้อยละ 0.00348 เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก จึงไม่เข้าข่ายการครอบงำ โดยศาลเห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าววางหลักว่า รัฐธรรมนูญห้ามการถือหุ้นบริษัทต้องห้ามโดยไม่ได้ระบุว่าจะถือหุ้นเท่าใด หรือมีอำนาจบริหารหรือไม่ การถือเพียงหุ้นเดียวก็เป็นการถือแล้ว การบัญญัติก็เพื่อไม่ให้ใช้เป็นช่องทางในการแสวงหาตำแหน่งหน้าที่ จึงห้าม สส. ถือหุ้นกิจการสื่อโดยไม่ได้ระบุว่าต้องถือหุ้นเท่าไหร่ หรือมีอำนาจครอบงำหรือไม่ การเถือเพียงหุ้นเดียวจึงเข้าข่ายตามรัฐธรรมนูญแล้ว

ต่อมาต้องพิจารณาว่าวันสมัครได้ถือหุ้นหรือไม่ โดยนายพิธาอ้างว่า บัญชีผู้ถือหุ้นในลำดับที่ 7,061 โดยระบุว่าถือในนามตัวเองแต่ไม่ได้ถือนามผู้จัดการมรดกแต่อย่างใดและต่อมาวันที่ 15 พ.ค. จึงโอนหุ้นให้นายภาษิน

โดยศาลเห็นว่า สำเนาบัญชีผู้ถือที่ระบุว่าถือ 42,000 หุ้น รายงานการโอนและรับโอนหลักทรัพย์ ว่าวันที่ 5 ก.ย.2550 รับโอนหลักทรัพย์จากบิดา โดยเป็นการโอนในกรณีผู้จัดการมรดก เมื่อมีฐานะเป็นทายาทอีกทาง รวมถึงหุ้นบริษัทไอทีวี มีผลให้เป็นทั้งผู้จัดการมรดกและทายาท จึงเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทไอทีวีตั้งแต่ปี 2550 และหนังสือโอนหุ้นกับนายภาษิน บอกว่าจะดำเนินกิจกรรมทางการเมืองจึงโอนหุ้นให้และไม่สอดคล้องที่บอกว่าเป็นกิจการต้องห้าม เพราะตามความเข้าใจของผู้ถูกร้องไม่จำเป็นต้องโอน และการยื่นต่อ ป.ป.ช. นายพิธาไม่ได้ระบุถึงการโอนหุ้น และการที่เบิกความว่าหุ้นไอทีวี เป็นหุ้นที่โอนได้ตามตลาดเพราะไม่ได้อนุญาตให้ซื้อขายจึงไม่ได้โอนให้ทายาทอื่น แต่ต่อมาปี 2566 ได้รับคำแนะนำให้โอนทางทะเบียนได้ แสดงว่าการไม่ดำเนินการตั้งแต่ปี 2562 เป็นความคลาดเคลื่อนและเข้าใจของผู้ถูกร้องเอง

เมื่อพิจารณาจากข้อพิรุธ จึงฟังไม่ได้ว่าโอนหุ้นดังกล่าว และเป็นผู้ถือหุ้นในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง

ส่วนกรณีไอทีวีเป็นสื่อหรือไม่ศาลเห็นว่าการพิจารณานิติบุคคลใดเป็นสื่อหรือไม่ ไม่อาจพิจารณาแต่เพียงวัตถุประสงค์ แต่จะพิจารณาควบคู่ไปพฤติการณ์ว่าประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์หรือไม่ โดยปี 2538 ได้ดำเนินการกิจการโทรทัศน์และมีสัญญา 30 ปี และต่อมา สปน. ปี 2550 มีหนังสือบอกเลิกสัญญา การแจ้งย่อมเป็นผลทำให้การร่วมงานสิ้นสุดลง สอดคล้องว่าเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2550 แจ้งประกันสังคมว่าบริษัทหยุดกิจการชั่วคราวเพราะไม่มีพนักงาน ถึงปัจจุบันก็ปรากฏว่าหยุดกิจการชั่วคราวตั้งแต่ 8 มี.ค. 2550

นอกจากนี้ไอทีวีเคยดำเนินกิจการโทรทัศน์แต่ถูกเลิกสัญญาและบอกว่ามีรายได้จากผลตอบแทนการลงทุน และบริษัทย่อยก็ต้องหยุดกิจการไปด้วย แต่เมื่อดู ภงด. 50 บอกว่าประกอบกิจการเผยแพร่ภาพยนตร์ แต่มีรายได้ 0 บาทจากการผลิตสื่อ แต่รายได้อื่นมาจากดอกเบี้ยรับ

ส่วนรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ที่บอกว่ายังประกอบกิจการอยู่ ไม่ได้เป็นการประกอบกิจการสื่อมวลชนและหากศาลปกครองพิพากษาให้ชนะจะพิจารณาอีกครั้งว่าจะประกอบกิจการหรือไม่ ดังนั้นการที่วัตุประสงค์บอกว่าประกอบกิจการโทรทัศน์ แต่ต้องดูงบการเงินด้วย และยังไม่มีคลื่นความถี่ที่จะประกอบกิจการ และไอทีวีก็ไม่ได้มีการฟ้องร้องให้คืนสิทธิ์แก่ตนเองแต่อย่างใด

ข้อพิพาทดังกล่าวหากท้ายที่สุดไอทีวีชนะก็ไม่ได้มีผลให้ไอทีวีได้รับมอบคืนคลื่นความถี่ ปรากฏจึงสรุปว่าไอทีวีไม่มีสิทธิ์ประกอบกิจการสื่อตั้งแต่ 7 มี.ค. 2550 และการคงสถานะเพื่อดำเนินคดีที่ค้างในศาลเท่านั้น ไม่ปรากฏว่ามีรายได้จากการประกอบกิจการสื่อ การที่มีการเบิกความว่าหากชนะคดีจะมีการพิจารณาอีกครั้งว่าจะดำเนินกิจการหรือไม่ จึงเป็นเรื่องในอนาคต ดังนั้นแต่ สปน. เลิกสัญญาก็ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อมวลชน และไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสื่อ ดังนั้น ณ วันที่นายพิธาสมัคร ไอทีวีมิได้ประกอบกิจการสื่อ การถือหุ้นไอทีวี จึงไม่ทำให้มีลักษณะต้องห้ามใช้สิทธิรับสมัครเลือกตั้ง

จึงวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของนายพิธาไม่สิ้นสุดลง 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top