Sunday, 19 May 2024
ศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ไม่รับคำร้อง 'ปกรณ์วุฒิ' ปม 'ศักดิ์สยาม' เสนองบปี 64 เป็นประโยชน์ต่อ หจก.บุรีเจริญ

(31 มี.ค.66) ศาลรัฐธรรมนูญเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยในคดีที่ นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล และส.ส. รวม 47 คน ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ยื่นคำร้องเสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคสาม กรณีที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เป็นผู้เสนองบประมาณของกระทรวงคมนาคม ผู้พิจารณา และคณะกรรมาธิการ ที่มีส่วนโดยทางตรงและทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และยังคงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ที่อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่น เนื่องจากกรณีดังกล่าวน่าเชื่อได้ว่านายศักดิ์สยามใช้สถานะการเป็น รมว.คมนาคมและกรรมาธิการ ใช้อำนาจในตำแหน่งดังกล่าวจัดทำหรือให้ความเห็นชอบโครงการใด ๆ ของหน่วยงานของรัฐ โดยมีเจตนาพิเศษส่งผลทำให้หจก.ฯ และบริษัทที่บริจาคเงินให้กับพรรคภูมิใจไทยรับงานเข้าเป็นคู่สัญญากับกระทรวงคมนาคม อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคสอง

ศาลรธน.ยืนคำสั่ง ‘ศักดิ์สยาม’ หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี ชี้!! คำอุทธรณ์ไม่มีข้อเท็จจริงเพิ่ม ให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง

(18 เม.ย.66) ศาลรัฐธรรมนูญ แจ้งว่า กรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่ไว้พิจารณา และมีคำสั่งให้นายศักดิ์สยาม ผู้ถูกร้อง หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.66 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยนั้น เมื่อวันที่ 11 เม.ย.66 นายศักดิ์สยามได้ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 10 เม.ย.66 ขอให้เพิกถอนคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณียังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอันเป็นเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เดิม จึงให้ยกคำร้องดังกล่าวและแจ้งให้นายศักดิ์สยามทราบ


ที่มา: https://www.naewna.com/politic/725113

เข้าสู่โหมด ‘ด้อมส้ม’ ต้อง ‘ลุ้น’ เก้าอี้นายกฯ ของ ‘พิธา’  ต้องจับตาให้ดี งานนี้อาจจะไปจบที่ ‘ศาล’

หลังเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 จวบจนบัดนี้ก็ล่วงเลยมากว่า 1 เดือน บรรดาผู้ชนะการเลือกตั้งเป็นส.ส. ก็ยังไม่มีใครได้รับการประกาศรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จนทำให้บรรดา “ด้อมส้ม” พรรคก้าวไกล ซึ่งกวาดส.ส.เข้ามาเป็นอันดับที่ 1 ต้องออกมายื่นหนังสือกดดัน กกต.ให้เร่งประกาศรับรองผล เพื่อเปิดทางให้มีการสภาเลือกประธานสภา และประชุมรัฐสภาโหวตนายกฯ จะได้มีรัฐบาลใหม่โดยเร็ว 

แต่ กกต.จะไปเร่งรีบตามที่ฝ่ายอยากเร่งรัดคงไม่ได้ ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ รอบด้าน เพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายกับคำร้องเรียนมากถึง 280 เรื่อง ตามกฎหมายให้อำนาจ กกต. 60 วัน ในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนเลือกตั้ง ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 13 ก.ค. 2566 นี้ แต่ล่าสุดมีรายงานจาก กกต.ได้พิจารณาครบทั้ง 400 เขตแล้ว เตรียมประชุมประกาศรับรอง 329 คน และแขวนไว้ 71 คนในการประชุมสัปดาห์หน้าวันจันทร์ที่ 19 มิ.ย.นี้  กกต.พร้อมกับพิจารณารับรอง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อไปพร้อมกัน ส.ส.เขตเลือกตั้ง หลังได้พิจารณาไปแล้วว่าทั้ง 400 เขตเลือกตั้ง 

ถ้าดูตามตัวเลขนี้ 329+100 คน = 429 คน ตัวเลขยังไม่ครบ 95% หรือ 480 คน คาดว่า หลังจากนั้น กกต.จะหยิบ 71 คนมาทบทวน และอาจจะประกาศรับรองไปก่อนสอยทีหลัง เพื่อให้งานกิจการสภาเดินหน้าไปได้

โดยคาดว่า กกต.จะประกาศรับรอง ส.ส.ได้วันพุธที่ 21 มิ.ย.นี้  จากนั้นให้ ส.ส.จะทยอยไปรับเอกสารรับรองได้ที่สำนักงาน กกต. และนำเอกสารรับรองมารายงานตัวต่อสภา ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เตรียมสถานที่ไว้พร้อมแล้ว

มีการประมาณกาลว่า ถ้า กกต.รับรองผลการเลือกตั้งได้ครบ 95% แล้ว วันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯเปิดประชุมสภา และวันที่ 25 กรกฎาคม จะเป็นการประชุมสภาเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย อดีตประธานสภา ในวัย 85 ปี น่าจะมีอาวุโสสูงสุด (ไม่แน่ใจว่ามีใครอายุมากกว่านายชวนหรือไม่)ทำหน้าที่เป็นประธานสภาชั่วคราว

หลังจากนั้นถึงจะเป็นช่วงเวลาของความระทึกของ “ด้อมส้ม” คือวาระเลือกนายกรัฐมนตรี

อนาคต“พิธา”จบที่ศาลรธน./ศาลอาญา

ต้องโฟกัสไปที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคก้าวไกล ว่าจะไปถึงดวงดาวในตำแหน่งนายกฯ คนที่ 30 ของประเทศไทยได้หรือไม่ หลังได้รับการประกาศให้เป็น ส.ส. 

อย่างที่ทราบกันดีว่า พิธา ถูกร้องให้ตรวจสอบคุณสมบัติการลงสมัครรับเลือกตั้งที่อาจเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ จากกรณีถือหุ้นสื่อ “หุ้นไอทีวี” แม้ว่า กกต.จะไม่รับไว้พิจารณา แต่ กกต.กลับหยิบเอามาตรา 151 ของ พปร.ว่าด้วยการเลือกตั้งขึ้นมาพิจารณา “รู้อยู่แล้วว่า ไม่มีคุณสมบัติ แต่ลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือยินยอมให้พรรคการเมืองส่งลงสมัครในระบอบบัญชีรายชื่อ” ซึ่งถ้ามีมูลก็ต้องฟ้องต่อศาลอาญา ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ และมีโทษหนักกว่า ทั้งจำทั้งปรับ ทั้งตัดสิทธิ์ทางการเมือง
อีกประเด็น หาก กกต.รับรองให้เป็น ส.ส.เมื่อไหร่ ก็จะมีคนไปยื่นใหม่ให้ตรวจสอบคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญอีกรอบ

โดยสรุปอนาคตของพิธาจะต้องไปจบที่ศาล ไม่ศาลรัฐธรรมนูญก็ศาลอาญา และจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ขึ้นกับขบวนการขั้นตอนของ กกต.และศาล รวมถึงผลโหวตของสมาชิกรัฐสภาด้วย ที่ต้องเพ่งไปที่สมาชิกวุฒิสภา

‘กลุ่มพิราบขาว’ ยื่นศาล รธน. สอย ‘พิธา’ ปมคุณสมบัติ ด้าน ‘เสรี’ เย้ย มี ส.ว.หนุนนั่งนายกฯ ไม่เกิน 5 เสียง

(27 มิ.ย. 66) ที่รัฐสภา นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำพิราบขาว 2006 ยื่นหนังสือต่อนายสมชาย แสวงการ ส.ว.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา และนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.ในฐานะประธานกมธ.การพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เพื่อขอให้ ส.ว.ร่วมกันลงชื่อร้องเรียน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล กรณีถือหุ้นสื่อไอทีวี ซึ่งอาจขัด พ.ร.ป.ว่าด้วย ส.ส.มาตรา 42 (3) และกรณีโอนหุ้นให้กับบุคคลอื่นหลังวันเลือกตั้ง อาจเข้าลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่

นายสมชาย กล่าวว่า ประเด็นหุ้นสื่อ ตนขอเรียกร้องให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับนายพิธา และไม่มีปัญหากับการเป็นนายกฯ ส่วนที่เสนอให้ ส.ว.เข้าชื่อเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติของนายพิธานั้น ในความเป็นส.ส.ของนายพิธา ส.ว.ไม่สามารถทำได้ แต่หากเป็นประเด็นของนายกฯ ส.ว.ทำได้

เมื่อถามถึงนายพิธา มั่นใจว่าจะได้รับเสียงโหวตจาก ส.ว.ให้เป็นนายกฯ นายสมชาย กล่าวว่า จากที่ตนพูดคุยกับ ส.ว.ที่ลงคะแนนเลือกตั้งให้พรรคก้าวไกล พบว่าไม่ได้เห็นด้วยกับนโยบายของพรรคก้าวไกล เช่น การแก้ไขมาตรา 112 การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รวมถึงหมวด 1 หมวด 2 แต่เห็นด้วยกับบางนโยบาย ดังนั้น การลงมติเลือกของ ส.ว.ขอให้มั่นใจในดุลยพินิจ และวุฒิภาวะของ ส.ว.ที่จะพิจารณาในประเด็นสิ่งที่เป็นผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ความสงบสุข

“ส.ว.ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล หรือคำนึงถึงการเปลี่ยนขั้วอำนาจ เปลี่ยนข้างหรือข้ามขั้วหรือไม่ แต่ประเด็นนายกฯ มีความเกี่ยวข้องกับการตั้งรัฐบาล ต้องพิจารณาสิ่งที่จะไม่ทำให้เกิดความกังวลในความมั่นคงของประเทศ และไม่นำไปสู่ปัญหาความไม่มั่นคง สำหรับบางนโยบายของพรรค พบว่าสุ่มเสี่ยง ดังนั้น ผมขอให้เอาออกเพื่อประโยชน์ของประเทศ” นายสมชาย กล่าว

ด้านนายเสรี กล่าวว่า เรื่องการถือหุ้นของนายพิธา อยู่ระหว่างการตรวจสอบของ กมธ.พัฒนาการเมือง วุฒิสภาอยู่แล้ว และในวันที่ 28 มิ.ย. เวลา 10.00 น. กมธ.จะไปมอบให้กับประธานกกต. ขอทราบความคืบหน้าการตรวจสอบนายพิธา ที่ถูกตรวจสอบตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 151 กรณีรู้ตัวขัดคุณสมบัติ แต่ยังลงสมัครเลือกตั้ง และจะนำหลักฐานการถือครองหุ้นสื่อไอทีวีของนายพิธา และข้อมูลการถือครองที่ดิน 14 ไร่ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ของนายพิธาไปยื่นต่อ กกต. โดยเห็นว่า กกต. ควรส่งเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนจะมีการเลือกนายกฯ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับ ส.ว.ตัดสินใจ

นายเสรี กล่าวว่า หลังจากนี้ ส.ว.จะเข้าชื่อกันตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ส่งเรื่องให้ประธานวุฒิสภา ยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาคุณสมบัติการเป็นแคนดิเดตนายกฯของนายพิธา ที่ระบุต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา 160 ที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามการถือครองหุ้นสื่อ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ในฐานะที่ ส.ว.ต้องมีส่วนร่วมเห็นชอบนายกฯ

ดังนั้น เมื่อมีข้อสงสัยเรื่องคุณสมบัติต้องห้ามย่อมยื่นตีความให้ตรวจสอบได้ โดยควรยื่นให้ตรวจสอบก่อนจะโหวตเลือกนายกฯ แต่จะมีผลทำให้การโหวตนายกฯ ต้องยุติก่อนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับประธานรัฐสภาจะพิจารณา หาก กกต.ไม่ยื่นตีความคุณสมบัติของนายพิธา ก่อนโหวตนายกฯ ก็อาจเป็นไปได้ที่ ส.ว.จะเข้าชื่อกันยื่นตีความคุณสมบัติการเป็นแคนดิเดตนายกฯของนายพิธา

ผู้สื่อข่าวถามว่า หาก ส.ว.ยื่นตีความคุณสมบัตินายกฯ ของนายพิธา จะทำให้ปลุกกระแสสังคมออกมาต่อต้านหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า กระแสสังคมคือส่วนหนึ่ง ความถูกต้องคือส่วนหนึ่ง ถ้ากระแสสังคมไม่ถูกต้อง จะยึดอะไรระหว่างความถูกต้องกับกระแส ถ้ายึดแต่กระแสก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้

เมื่อถามว่านายพิธามั่นใจว่ามีเสียง ส.ว.เพียงพอจะโหวตให้เป็นนายกฯนั้น นายเสรีกล่าวว่า หากเสียงมากพอ ก็เป็นนายกฯ ได้เลย แต่ขณะนี้ยังไม่ปรากฏชัดเจนว่า ส.ว.คนใดสนับสนุน นอกจาก 17 คน ที่มีชื่อและหลายคนก็บอกว่าถูกเอาชื่อไปใส่ และหลายคนบอกว่า ถ้าได้เสียงข้างมากจะเลือกให้เป็นนายกฯ แต่ตอนนี้ทุกคนพูดตรงกันว่าถ้าเสียงข้างมาก แล้วยังไปแก้มาตรา 112 ก็จะไม่ลงคะแนนให้

“เท่าที่ทราบตอนนี้มี 5 คน ที่จะโหวตให้ ส่วนตนยืนยันมาตลอดว่าหากมีการแสดงออก หรือมีการกระทำไปในแนวทางที่แก้ไขมาตรา 112 ก็ไม่โหวตให้แน่นอน ดังนั้น การลงมติในครั้งนี้ ถึงไม่เหมือนกับการเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2562 พร้อมยืนยัน ส.ว.มีอิสระในการตัดสินใจ ไม่มีใบสั่งจากใครนอกจากประชาชน” นายเสรี กล่าว

เมื่อถามว่า หากเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ มาจากพรรคเพื่อไทย จะทำให้สบายใจขึ้นในการโหวตให้เป็นนายกฯ หรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องสบายใจหรือไม่สบายใจ แต่เป็นเรื่องที่ ส.ส.จะไปตกลงกันให้สบายใจ ไปจัดทัพรวบรวมเสียงกันมา เมื่อถึงตอนนั้น ส.ว.จะพิจารณาตามมาตรา 159 คือเลือกบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติขัดต่อรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามย้ำว่า หากแนวโน้มเป็นแคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย จะมีภาษีมากกว่านายพิธาหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ต้องดูว่าเป็นใคร เพราะพรรคเพื่อไทยมี 3 ชื่อ ก็ต้องดูว่าเสนอใคร ส่วนพรรคภูมิใจไทยก็มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คงยังตอบไม่ได้ ต้องพิจารณาก่อนว่าบุคคลนั้นเหมาะสมหรือไม่ รวมถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็อยู่ในเกณฑ์เดียวกัน

ส.ว.สายโหวต ‘พิธา’ จี้ กกต. ส่งศาล รธน.สอบคุณสมบัติ หวั่น!! โหวตผู้มีลักษณะต้องห้ามเข้าสู่ตำแหน่ง

รีบเลย!! ‘ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม’ ส.ว. ซึ่งมีชื่อว่าจะโหวตเลือก ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่กลับออกมาจี้ กกต. รีบส่ง #ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย คุณสมบัติ #พิธา โดยเร็ว ก่อน #โหวตนายก 13 ก.ค. กลัวต้องโหวตผู้มีลักษณะต้องห้ามเข้าสู่ตำแหน่ง ยันที่ประชุมรัฐสภา สามารถเลื่อนการประชุมโหวตได้ 

พฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม จะเป็นวันนัดโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งก้าวไกลจะเสนอชื่อ ‘พิธา’ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยแกนนำบางคนออกมายืนยันแล้วว่า มีเสียงสมาชิกวุฒิสภาให้การสนับสนุนครบแล้ว ถ้าครบแล้ว หมายถึงได้รับการสนับสนุนจาก สว.แล้วไม่น้อยกว่า 66คน

ต้อง 66เสียง เพราะว่า พรรคก้าวไกลหายไป 1 คน จากเหตุเมาแล้วขับ และ กกต.ยังไม่รับรองในการเลื่อนลำดับถัดมา จึงยังไม่ได้เข้าสาบานตนรับตำแหน่ง ส่วนอีกคน ต้องทำหน้าที่ประธาน จะงดออกเสียงหรือไม่

แต่ประเด็นมาถึงวันนี้ สว.บางคนที่เคยเอ่ยปากสนับสนุน ‘พิธา’ เริ่มลังเลในการโหวต กลัวว่าจะเป็นการรับรองคนผิดเข้าสู่ตำแหน่ง แล้วจะถูกเล่นงานตลบหลัง ส่วนคนที่ตั้งใจ มุ่งมั่นแล้วก็ว่ากันไป แต่จำนวนเท่าไหร่แน่ ไม่มีใครยืนยัน

วันนี้ กกต.นัดประชุมสรุปอีกรอบในการดำเนินการตามคำร้องของเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ให้ตรวจสอบคุณสมบัติของพิธาว่าเข้าข่ายต้องห้ามหรือไม่กรณีถือหุ้นสื่อ (ไอทีวี) ซึ่งเมื่อวานได้พิจารณาแล้ว แต่พรรคก้าวไกลทำหนังสือแย้งไปว่า กกต.ยังไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอน คือเรียกผู้ถูกกล่าวหาไปชี้แจง กกต.จึงเลื่อนมาพิจารณาต่อในวันนี้

‘กกต.’ พิจารณาต่อพรุ่งนี้ 3 ปม ‘พิธา’ ถือหุ้นสื่อ ชี้!! เตรียมส่งหนังสือแจ้ง ‘พิธา’ ให้ทราบผล

(11 ก.ค. 66) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.เปิดเผยว่า ในการประชุม กกต.วันนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาหนังสือของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล จากกรณีที่เลขาธิการพรรคก้าวไกล ส่งหนังสือค้าน กกต.กรณีหุ้นสื่อ ว่าทำผิดขั้นตอนยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ กกต.ปฎิบัติตามระเบียบสืบสวนไต่สวนนั้น 

ที่ประชุมเห็นว่า กกต.ได้ปฎิบัติโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เนื่องจากกรณีนี้เป็นการดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งจะต้องเป็นไปตามระเบียบสืบสวนฯ ที่ต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหาก่อน มิใช่การดำเนินการสืบสวนไต่สวนการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง โดยรัฐธรรมนูญตามมาตรา 82 กำหนดว่า ในกรณีที่ กกต.เห็นว่าสมาชิกภาพของ ส.ส.คนใดมีเหตุสิ้นสุดลงให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้

ทั้งนี้ สอดคล้องกับแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยให้ไว้ ในการพิจารณายื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ซึ่งสำนักงาน กกต.จะได้มีหนังสือตอบผลการพิจารณาของที่ประชุมให้นายพิธาทราบต่อไป

ด่วน!! ‘กกต.’ เชือด ‘พิธา’ ส่งศาล รธน.ฟันพ้น ส.ส. ปมหุ้น ITV พร้อมขอสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ จับตานำเรื่องเข้าพิจารณาบ่ายนี้

12 ก.ค. 66 ที่ประชุมกกต.มีมติให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อและแคนดิเนตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกลสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ประกอบมาตรา 101 (6) หรือไม่จากเหตุมีชื่อถือครองหุ้นสื่อบริษัทไอทีวีจำกัดมหาชนจำนวน 42,000 หุ้น รวมทั้งมีคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ไว้จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย หลังใช้เวลากว่า 3 วัน รับฟังและพิจารณาผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขอสำนักงาน กกต.แล้วเห็นว่ามีข้อมูลพยานหลักฐานเพียงพอให้เชื่อว่ามีเหตุตามที่มีการยื่นคำร้องจริง โดยนายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.ได้ลงนามในคำร้องและมอบหมายให้เจ้าหน้าที่สำนักงานฯนำไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญทันที

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่าในส่วนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีการนัดประชุมประจำสัปดาห์วันนี้ในช่วงบ่าย เวลา 13.00 น. ซึ่งต้องจับตามองว่าสำนักงาน กกต. จะส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญทันหรือไม่ และหากทันคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีการนำคำร้องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาเลยหรือไม่

‘ปิยบุตร’ เปรียบเปรย!! ผู้กำกับบท จับหนังม้วนเก่ามาฉายซ้ำ หลัง กกต.ไร้มาตรฐานในเรื่องระยะเวลาในการพิจารณา ‘พิธา’

(12 ก.ค.66) นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า…

[หนังม้วนเก่ากำลังกลับมาฉายซ้ำ]

เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผมได้แถลงข่าว ชี้ให้เห็นว่า เกิดกรณีไม่มีมาตรฐานในเรื่องระยะเวลาในการพิจารณาของ กกต. 

กรณีลักษณะต้องห้ามของ ดอน ปรมัตถ์วินัย กกต.ใช้เวลา พิจารณาส่งศาลรัฐธรรมนูญ 386 วัน ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาพิจารณารับคำร้อง 70 วัน และไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว

กรณีลักษณะต้องห้ามของ 4 รัฐมนตรีสมัยรัฐบาล คสช. กกต.ใช้เวลาพิจารณาส่งศาลรัฐธรรมนูญ 355 วัน ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาพิจารณารับคำร้อง 75 วัน และไม่สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว 

แต่กรณีของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กกต.ใช้เวลาพิจารณาส่งศาลรัฐธรรมนูญ 51 วัน ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาพิจารณารับคำร้อง 7 วัน และสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว 

กรณีของธนาธรกลายเป็นสถิติที่ กกต. พิจารณาเรื่องเกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามและศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องได้รวดเร็วที่สุดราวกับนั่งรถไฟความเร็วสูง 

มาวันนี้ 4 ปีผ่านไป 

ประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศใช้อำนาจของตนร่วมกันแสดงเจตจำนงสนับสนุนให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี คะแนนเสียงถล่มทลาย คะแนนเสียงมากกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญ 

แต่พิธา ก็ยังถูก ‘นิติสงคราม’ กระทำซ้ำ และทำลายสถิติการพิจารณาคำร้องของ กกต. อย่างรวดเร็ว 

หากพิจารณานับจากวันที่เรืองไกร ยื่นคำร้องต่อ กกต.ซ้ำอีกครั้งในวันที่ 20 มิถุนายน ก็เท่ากับว่า กกต.ใช้เวลาพิจารณา 32 วันเท่านั้น!!!

พวกเขา บรรดาผู้กำกับภาพยนตร์ ยังคงตั้งหน้าตั้งตาเอาหนังม้วนเดิมกลับมาเล่นใหม่ หนังม้วนนี้เล่นกันมาเกือบ 20 ปี แล้ว 

เราจะให้มันจบแบบเดิม อย่างนั้นหรือ???

‘พิธา’ โอด!! กระบวนการเร่งรัด กกต.ไม่เปิดโอกาสให้ชี้แจง แต่กำลังใจยังดี ขอเข้าสภาฯ ตามเดิม ยันพร้อมแจงทุกข้อสงสัย

(12 ก.ค. 66) ที่รัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีถือครองหุ้นสื่อว่า คิดว่ากระบวนการในวันพรุ่งนี้ (13 ก.ค.) ยังเหมือนเดิมทุกอย่าง ต้องขอบคุณพี่น้องประชาชนที่ส่งกำลังใจมาให้เสมอ ตนยังกำลังใจดีอยู่

เมื่อถามว่า มีความกังวลหรือไม่ว่าจะถูกนำเรื่องดังกล่าวไปเป็นปัจจัยในการโหวตนายกรัฐมนตรีของสมาชิกรัฐสภา นายพิธา กล่าวว่า ไม่กังวล มองเป็นเรื่องปกติ คิดว่าวุฒิสภาจะแยกแยะได้ว่าแต่ละเรื่องเป็นอย่างไร และเรื่องที่ร้องไปก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นสื่อมวลชนที่หยุดไปนานแล้ว และตนถือในฐานะผู้จัดการมรดกไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้อง ซึ่งคุณสมบัติแคนดิเดตนายกฯก็ยังมีอยู่

เมื่อถามว่า การที่ กกต.ไม่ได้เรียกไปชี้แจงเลย มองว่าเป็นธรรมหรือไม่? นายพิธา กล่าวว่า รู้สึกว่าไม่เป็นธรรม เท่าที่ฟังการแถลงเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยเอาไปเทียบเคียงกับคดีที่เป็นคดีเกี่ยวกับการกู้เงินของพรรค แต่นี่เป็นคนละรูปแบบกัน ดังนั้น ระเบียบของ กกต.ควรเปิดโอกาสให้ชี้แจง รวมถึงระยะเวลาถือว่าสั้น พอมานั่งคำนวณดูพบว่าเป็นเวลา 32 วัน ครึ่งหนึ่งของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ 1 ใน 10 ของรัฐมนตรีที่อยู่ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 4 คน ซึ่งบรรทัดฐานต่างกัน ก็เป็นสิ่งที่ดูว่าเร่งรัดเกินไป และเป็น 1 วันก่อนโหวตนายกฯ ซึ่งเป็นอะไรที่ไม่ควรเกิดขึ้น แต่ตนยังเชื่อว่าเดินหน้าตามปกติ และตนยังสติดี กำลังใจดีแน่นอน ขอบคุณทุกคนที่ให้กำลังใจ

เมื่อถามว่า กังวลกระแสข่าวล็อบบี้ ส.ว.ไม่ให้โหวตให้หรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ตนดูสภาพแล้วจากการที่มีการเคลื่อนไหวนอกสภาแบบนี้ แสดงให้เห็นว่าในสภามีความมั่นใจมากขึ้นว่าจะไปถึง 376 เสียง จึงได้มีการใช้องค์กรอิสระข้างนอกหรือไม่ ตรงนี้เป็นการตั้งคำถามไว้ แต่เท่าที่เขาคุยกันในสภาพรุ่งนี้มีแนวโน้มที่ดี แต่พอมีแนวโน้มที่ดีก็มีกระบวนการเคลื่อนไหวนอกสภาหรือไม่อย่างไร ซึ่งตนก็ไม่รู้ แต่เป็นสิ่งที่เขาพูดกันในสภาฯ เฉยๆ

เมื่อถามว่า เหลือเวลาอีก 1 วัน จะโหวตเลือกนายกฯ แล้วเป็นห่วงอะไรมากที่สุด นายพิธา กล่าวว่า ยังไม่มีอะไรน่าห่วง คิดว่ากระบวนการยังเป็นไปตามปกติ และไม่ได้เป็นสิ่งที่เกินความคาดหมายแต่อย่างใด ก็สามารถบริหารจัดการได้ ในวันพรุ่งนี้ตนจะเข้าสภาตามปกติ ซึ่งในการอภิปราย 6 ชม. ตนจะตอบทุกข้อซักถามทุกข้อกังวลใจ พร้อมกับการแสดงวิสัยทัศน์ ไม่มีอะไรน่ากังวล

‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ มีคำสั่งให้บุคคลผู้เกี่ยวข้อง ส่งหลักฐานเพิ่มรอบ 2 คดี ‘ศักดิ์สยาม’ ถือหุ้นบุรีเจริญ

(12 ก.ค.66) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ออกเอกสารข่าวเผยแพร่ผลการประชุมกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 187 หรือไม่ไว้พิจารณาและมีคำสั่งให้นายศักดิ์สยาม ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยนั้น 

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาให้บุคคลที่เกี่ยวข้องจัดส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำร้องดังกล่าว ส.ส. พรรคร่วมฝ่ายค้าน จำนวน 54 คนได้ยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรว่านายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและเป็นผู้ถือหุ้นและเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ทำให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วนเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187 ประกอบพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี 2543 มาตรา 4 (1) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top