Sunday, 19 May 2024
รักษ์โลก

‘อายิโนะโมะโต๊ะ’ เปิดตัว ‘บรรจุภัณฑ์กระดาษ’ ครั้งแรกในไทย ลดใช้พลาสติก 204 กก.ต่อปี หวังเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่รักษ์โลก

(29 พ.ย.66) บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมแล้วที่จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้กับโลก ด้วยการเปิดตัวบรรจุภัณฑ์ใหม่ ‘อายิโนะโมะโต๊ะ ขนาด 50 กรัม’ ในรูปแบบบรรจุภัณฑ์กระดาษเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ชูจุดเด่น อร่อย รักษ์โลก เพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ โดยมี ‘AjiPanda’ ทำหน้าที่เป็น Brand Ambassador หรือทูตสื่อสารความอร่อยจากธรรมชาติ เพื่อส่งต่อความ กินดีมีสุข และช่วยดูแลโลกไปด้วยพร้อมๆ กัน

นับเป็นก้าวแรกและก้าวสำคัญของ ‘อายิโนะโมะโต๊ะ’ ในฐานะผู้นำและเจ้าตลาดเครื่องปรุงรส ที่ได้เพิ่มรูปแบบบรรจุภัณฑ์ ‘อายิโนะโมะโต๊ะ ขนาด 50 กรัม’ ซึ่งซองผลิตจากกระดาษ FSC เพื่อทดแทนการใช้พลาสติก ทำให้สามารถช่วยลดการใช้พลาสติกได้ 204 กิโลกรัมต่อปี โดยบริษัทมีเป้าหมายที่จะลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารให้ได้ 50% ภายในปี พ.ศ. 2568 รวมถึงลดขยะพลาสติกเป็น 0 ภายในปี พ.ศ. 2573

ด้านกระดาษที่นำมาใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์ ‘อายิโนะโมะโต๊ะ ขนาด 50 กรัม’ เป็นกระดาษรักษ์โลก ซึ่งได้รับการรับรองจาก FSC หรือ Forest Stewardship Council เพราะมีที่มาจากป่าปลูกเชิงพาณิชย์หรือป่าที่มีการจัดการดูแลอย่างรับผิดชอบ สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ว่า ‘อายิโนะโมะโต๊ะ ขนาด 50 กรัม’ ทุกซองผลิตจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

ด้านดีไซน์ของซองกระดาษ มีการออกแบบใหม่ให้มีความสดใส เพื่อทำให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย โดยใช้ภาพลายเส้นสีแดงของ ‘AjiPanda’ (อายิแพนด้า) ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ คือมีความรักในการทำอาหาร สนุกกับการได้กินอาหารที่อร่อย ชอบใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ ชอบช่วยเหลือผู้อื่นและอยู่เคียงข้างกับทุกคน พร้อมเปิดประสบการณ์ด้วยการท่องเที่ยวและลิ้มลองอาหารใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยได้เดินทางมาแล้วหลายประเทศทั่วโลก ครั้งนี้จึงถือเป็นครั้งแรกที่ ‘AjiPanda’ เดินทางมาทำหน้าที่เป็นตัวแทนของอายิโนะโมะโต๊ะในประเทศไทย เพื่อบอกเล่าเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับ ‘รสชาติอูมามิ’ หรือที่มาของความอร่อยจากผลิตภัณฑ์ ‘อายิโนะโมะโต๊ะ’ และการร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ ‘อายิโนะโมะโต๊ะ ขนาด 50 กรัม’

ด้านโรงงานที่ใช้ผลิต ‘อายิโนะโมะโต๊ะ ขนาด 50 กรัม’ เป็นต้นแบบโรงงานสีเขียวของกลุ่มบริษัทฯ ซึ่งดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจที่มีส่วนช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต การดำเนินการเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานหมุนเวียน การจัดการของเสีย และการใช้น้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ทั้งหมดนี้ ช่วยตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของ อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) เพื่อสอดรับกับนโยบาย ‘การสร้างคุณค่าร่วมกับสังคมของอายิโนะโมะโต๊ะ’ (ASV) อันเป็นสิ่งที่กลุ่มบริษัทฯ ยึดปฏิบัติเสมอมา ซึ่งมีเป้าหมายในการส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีด้วยวิสัยทัศน์ใหม่ในฐานะ ‘ผู้นำไปสู่การสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน’ ผ่านการดำเนินการส่งเสริม ‘สุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้คน’ ควบคู่ไปกับการลด ‘ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม’ ในทุกกิจกรรมทางธุรกิจ ด้วยการใช้ศาสตร์แห่งกรดอะมิโน อันเป็นความเชี่ยวชาญหลักของ ‘อายิโนะโมะโต๊ะ’ และจะไม่หยุดพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทุกคน ‘กินดี มีสุข’ ตลอดไป

เพื่อสร้างความอร่อยและส่งเสริมสุขภาพที่ดี สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) ได้ทางสื่อออนไลน์ภายใต้กลุ่มบริษัทฯ ในทุกช่องทาง สำหรับผลิตภัณฑ์ ‘อายิโนะโมะโต๊ะ ขนาด 50 กรัม’ ในรูปแบบบรรจุภัณฑ์ใหม่ซองกระดาษ สามารถหาซื้อได้แล้ววันนี้ ที่ร้านค้าชั้นนำ​ทั่วประเทศ

Stella Terra รถไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์คันแรกของโลก ทดลองวิ่งบนระยะทางกว่า 1,000 กม. ได้สำเร็จ

เข้าใจดีว่ากระแสรถยนต์ไฟฟ้า EV คงเป็นทางเลือกใหม่ของวงการยานยนต์ในปัจจุบัน ที่ช่วยลดมลพิษ และไม่ต้องจ่ายค่าน้ำมันแพง ๆ 

แต่ปัญหาของรถยนต์ EV ก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะเรื่องของสถานีชาร์จ ที่แม้จะเริ่มมีการพัฒนาสถานีและหัวจ่ายให้ครอบคลุมขึ้น แต่ก็อาจจะยังไม่เพียงพอ

แนวคิดรถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งคู่ขนานกับรถ EV โดยไม่นานมานี้ก็มีการเปิดเผยถึงรถพลังงานแสงอาทิตย์คันแรกของโลกที่ทดลองวิ่งแล้ว โดยเดินทางจากประเทศโมร็อกโกสู่ทะเลทรายซาฮาราระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตรได้สำเร็จแบบไม่ต้องง้อสถานีชาร์จ

หลังจากทีมนักศึกษา Solar Team Eindhoven จาก Eindhoven University of Technology (TU/e) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ร่วมกันพัฒนาและเปิดตัว Stella Terra ในฐานะรถยนต์ออฟโรดพลังงานแสงอาทิตย์คันแรกของโลกไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ล่าสุดในเดือนตุลาคม Stella Terra ได้ทดลองวิ่งจากตอนเหนือของประเทศโมร็อกโกสู่ทะเลทรายซาฮารา ฝ่าภูมิประเทศหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นลำธารแห้งขอด ป่าไม้ เส้นทางภูเขาสูงชัน หรือแม้กระทั่งทะเลทราย รวมเป็นระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตร ซึ่งทั้งหมดนี้อาศัยเพียงพลังงานแสงอาทิตย์เท่านั้น

ชิ้นส่วนสำคัญของ Stella Terra คือแผงโซลาร์เซลล์ซึ่งกินพื้นที่ด้านบนของตัวรถเกือบทั้งหมด ตั้งแต่หลังคาไปจนถึงฝากระโปรง โดยแผงโซลาร์เซลล์นี้สามารถกางออกเพื่อเพิ่มสมรรถภาพการชาร์จหรือใช้เป็นที่บังแดดได้ ภายในตัวรถยังมีแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเพื่อให้รถสามารถวิ่งระยะทางใกล้ ๆ ได้แม้แดดอ่อน และเนื่องจาก Stella Terra มีความสามารถในการชาร์จไฟขณะวิ่ง จึงไม่จำเป็นต้องใช้แบตเตอรี่ขนาดใหญ่ ทำให้เป็นรถ SUV ไฟฟ้าที่มีน้ำหนักเพียง 1,200 กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งเบากว่ารถ SUV ทั่วไปที่มีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 1,500 ถึง 2,700 กิโลกรัม

ทีมงานเผยว่า Stella Terra วิ่งได้เร็วสูงสุดที่ 145 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และในกรณีที่มีแดด รถคันนี้จะสามารถวิ่งได้ระยะทางไกลสุด 710 กิโลเมตร แต่หากขับขี่บนทางวิบากอาจวิ่งได้ประมาณ 550 กิโลเมตรขึ้นอยู่กับพื้นผิวถนน นอกจากนี้ จากการทดลองยังพบว่า Stella Terra ใช้พลังงานน้อยกว่าที่คาดไว้ถึง 30% อีกด้วย

Stella Terra เป็นหนึ่งตัวอย่างของนวัตกรรมที่ช่วยปูทางให้อุตสาหกรรมยานยนต์เข้าใกล้เป้าหมายความยั่งยืนมากขึ้น และอีกไม่นานเกินรอ เราอาจสามารถเปลี่ยนจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานหมุนเวียนได้อย่างแท้จริง

‘EGCO Group’ ชูแผนขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน มุ่งเป้า ‘ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์’

(19 ธ.ค. 66) บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group ขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ ร่วมสนับสนุนการจัดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ปี 2023 (International Conference on Biodiversity: IBD 2023) พร้อมร่วมจัดบูธนิทรรศการ ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเป้าหมายการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในเวทีสัมมนา ในหัวข้อ ‘EGCO Group บนเส้นทางของความยั่งยืน สู่เป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์’ เพื่อร่วมแสดงพลังกับเครือข่ายองค์กรทั้งในและต่างประเทศในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพและการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งการประชุมวิชาการนานาชาติครั้งนี้จัดขึ้น ณ อาคารหอรัชมงคล สวนหลวง ร.9 กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมงานทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติรวมกว่า 600 คน

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO Group เปิดเผยว่า ภายใต้การดำเนินธุรกิจบนวิสัยทัศน์ “เป็นบริษัทไทยชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจพลังงานอย่างยั่งยืน ด้วยความใส่ใจที่จะธำรงไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสังคม” EGCO Group ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพในทุกพื้นที่ที่ดำเนินกิจการรวม 8 ประเทศ ทั้งในประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยความเชื่อขององค์กรที่ว่า ‘ต้นทางที่ดี จะก่อกำเนิดผลลัพธ์ปลายทางที่ดี’ โดยมุ่งเน้นการควบคุมและลดผลกระทบเชิงลบจากกิจการและเพิ่มผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ประกอบกับการตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งธุรกิจของ EGCO Group เป็นธุรกิจต้นทางที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า จึงกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจ ‘Cleaner, Smarter, and Stronger to Drive Sustainable Growth’ เพื่อสนองตอบและมีส่วนร่วมต่อเป้าหมายดังกล่าว และก้าวข้ามข้อจำกัดสู่ยุคเปลี่ยนผ่านทางพลังงานอย่างมั่นคงและยั่งยืน

นายวรพงษ์ สินสุขถาวร ผู้จัดการฝ่ายแผนงาน EGCO Group ในฐานะวิทยากรบรรยายพิเศษบนเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ด้านวิชาการภายในงานนี้ กล่าวว่า EGCO Group ได้กำหนดเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่สังคมคาร์บอนต่ำไว้ที่ 3 ระยะ ได้แก่ เป้าหมายระยะสั้น คือ การลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ (Carbon Emissions Intensity) ลง 10% และการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ภายในปี 2030 เป้าหมายระยะกลาง คือ การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2040 และเป้าหมายระยะยาว คือ การบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 

ภายใต้เป้าหมายดังกล่าวนี้ EGCO Group ได้วางโรดแมปการดำเนินกิจการจะต้องไม่ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อความหลากหลายทางชีวภาพสุทธิ (No Net Loss) และมุ่งมั่นลดผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพจากกิจกรรมตลอดทั้งวงจรชีวิตของโครงการโรงไฟฟ้า รวมทั้งไม่ประกอบกิจการโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ใกล้กับพื้นที่ที่เป็นเขตป้องกันขององค์การระหว่างประเทศเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ (The International Union for Conservation of Nature: IUCN) หรือเป็นพื้นที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก (World Heritage areas) ตลอดจนหลีกเลี่ยงการตัดไม้ทำลายป่าสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ทั้งหมด (No Gross Deforestation) และมุ่งดำเนินธุรกิจโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ป่าไม้สุทธิ (Net Zero Deforestation) โดย EGCO Group ได้ส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศไทยผ่าน ‘มูลนิธิไทยรักษ์ป่า’ องค์กรสาธารณกุศลที่ EGCO Group ก่อตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี

‘คลัง’ เตรียมปล่อยแพ็กเกจอุดหนุน ESG ลงทุนเพื่อ ‘สิ่งแวดล้อม’ ลดหย่อนภาษีได้

(9 ม.ค. 67) นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการจัดทำมาตรการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) รวมถึงการดำเนินการตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมสังคมและธรรมาภิบาล (Environment, Social, Governance: ESG) ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์การลงทุนของโลกเนื่องจากธุรกิจที่มี ESG ที่ดีจะสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการแข่งขัน และศักยภาพของการเติบโตในระยะยาว

ปัจจุบันมีมาตรการหลากหลายในการส่งเสริม และจูงใจที่จะพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนซึ่งในส่วนของกระทรวงการคลังนั้นจะพิจารณามาตรการภาษีคาร์บอนเพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนในธุรกิจสีเขียวใช้พลังงานหมุนเวียน และพลังงานสะอาดมากขึ้น

ขณะเดียวกันต้องมีมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับการชำระภาษีบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลสำหรับการสนับสนุนด้าน ESG ด้วย นอกจากนี้ยังมีมาตรการสินเชื่อธุรกิจสีเขียวดอกเบี้ยต่ำเพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจสีเขียวหรือการติดตั้งแผงโซลาร์ตามบ้านเรือนซึ่งสถาบันการเงินของรัฐได้ดำเนินการไปแล้ว

“มาตรการใดพร้อมก็จะเดินหน้าไปก่อนได้เลยไม่ต้องรอให้ออกมาเป็นแพ็กเกจเพราะหากรออาจใช้เวลาในการดำเนินการ และไม่ทันต่อสถานการณ์ได้”

ด้าน นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ในปีนี้กรมฯ มีแผนที่จะผลักดันมาตรการทางภาษีเพื่อดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อมใน 4 รายการประกอบด้วย 

1.มาตรการสนับสนุนการผลิตและใช้แบตเตอรี่ในรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) และรวมถึงแบตเตอรี่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่นโซลาร์เซลล์

2.มาตรการภาษีลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน 

3.มาตรการสนับสนุนการผลิตไบโอพลาสติก 

และ 4.มาตรการภาษีเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุโดยกรมฯ อยู่ระหว่างการศึกษา และเร่งหาข้อสรุปเพื่อเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาต่อไป

สำหรับมาตรการสนับสนุนการผลิต และใช้แบตเตอรี่ BEV จะผูกกับเงื่อนไขกับการมีระบบรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วเพื่อไม่ให้เป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต

ในปีที่ 2566 ยอดการจดทะเบียนรถ BEV สูงกว่าปีก่อนหน้าถึง 700% และคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าการใช้รถ BEV จะสูงขึ้นกว่านี้ดังนั้นจึงจำเป็นต้องวางแผนการกำจัดซากแบตเตอรี่ในอนาคตด้วย ทั้งนี้กรมฯ จะได้วางระบบ Track and Test เพื่อติดตามแบตเตอรี่ลูกนั้น ๆ ว่าปัจจุบันอยู่ที่ไหนด้วย

ทั้งนี้หลักคิดในการจัดเก็บภาษีแบตเตอรี่คือ ปัจจุบันกรมสรรพสามิตเก็บภาษีสรรพสามิตแบตเตอรี่ในอัตรา 8% แต่หากมีการรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วหรือเป็นแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพการให้พลังงานได้สูง และมีน้ำหนักเบา เป็นต้น อัตราภาษีที่กรมฯ จะคิดนั้นก็จะต่ำลงโดยอาจกำหนดอัตราภาษีเป็นหลายอัตราตามประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ เช่น 1%, 3%, 5% และ 8%

ขณะเดียวกันกรมฯ อาจต้องทบทวนเงื่อนไขการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับแบตเตอรี่ที่ผูกติดกับเงื่อนไขที่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะต้องมีแผนการรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่ขายออกไปด้วย เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่าแนวทางนี้มีความยุ่งยากเพราะเมื่อกรมฯ ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี แก่ผู้ประกอบการไปแล้วจะต้องติดตามไปตลอดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ลูกนั้นซึ่งอาจนานถึง 20 ปีหากผู้ประกอบการไม่ได้รีไซเคิลตามที่ตกลงกรมฯ จะต้องเรียกสิทธิประโยชน์ทางภาษีคืน และต้องมีค่าปรับทางภาษีด้วย ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นผู้ประกอบการรายดังกล่าวอาจเลิกกิจการไปแล้วก็ได้ การติดตามทวงภาษีคืนก็อาจทำไม่ได้

“กรมฯ จะต้องทบทวนระบบการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ผูกกับการรีไซเคิลซึ่งมีหลายรูปแบบโดยในบางประเทศใช้ระบบ Deposit Refund โดยตั้งเป็นกองทุนเพื่อการนี้ซึ่งเมื่อมีการนำซากแบตเตอรี่ มาคืนกองทุนนี้ก็จะจ่ายเงินให้จำนวนหนึ่งสำหรับแนวทางหนึ่งที่กรมฯ กำลังพิจารณาคือ การมอบให้คนกลางหรือบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านรีไซเคิลแบตเตอรี่มาทำหน้าที่รีไซเคิลแทนผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเป็นต้น”

ส่วนมาตรการภาษีคาร์บอนนั้นหลักคิดคือ นอกเหนือจากมีเป้าหมายจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในประเทศแล้วยังเพื่อรองรับการค้าระหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) แต่ต้องไม่เป็นภาระต่อประชาชนผู้ใช้สินค้า และบริการ

‘บางกอกแอร์เวย์ส’ เดินหน้าสู่ภารกิจ ‘สายการบินรักษ์โลก’ หวังลด ‘มลพิษ-ก๊าซเรือนกระจก’ ที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม

(10 ม.ค. 67) นับเป็นทั้งโอกาสสำคัญและความท้าทายของอุตสาหกรรมการบินในการเปลี่ยนผ่านสู่ ‘สายการบินรักษ์โลก’ 

โดย กัปตันพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการสายการบิน ‘บางกอกแอร์เวย์ส’ ฉายภาพว่า เส้นทางการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ ดำเนินภายใต้แนวคิดการเชื่อมโยงความสุขสานต่อถึงชุมชนและสังคมไทยอย่างยั่งยืน ‘Connect Your Happiness’ ในมิติ ESG

เริ่มด้วย ‘E - Environmental Journey’ การปูเส้นทางการบินสีเขียว ถือเป็นภารกิจใหญ่ที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันผลักดัน เนื่องจาก ‘ECO Friendly’ ได้กลายเป็นโจทย์สำคัญในการแข่งขันทางธุรกิจของทุกวันนี้ โดยเน้นกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก

“นับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมการบินรวมถึงธุรกิจท่าอากาศยานทั่วโลก ทุกภาคส่วนทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่างมีความจำเป็นที่จะต้องร่วมแรงร่วมใจกัน เพื่อรับมือกับปัญหาทางด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและวิกฤติสิ่งแวดล้อม ที่มีแนวโน้มทวีคูณความรุนแรงขึ้นจากหลายปัจจัย”

โดยตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ‘อุตสาหกรรมการบิน’ อาจถูกมองว่าเป็นผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ เนื่องจากเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนอันดับ 3 ของภาคการขนส่ง หรือ 11% ของการปล่อยก๊าซทั้งหมด จึงเป็นที่มาของการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ของรัฐบาลทั่วโลก รวมถึงกรอบนโยบายของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ ‘ไออาต้า’ (The International Air Transport Association: IATA) ที่วางแผนจะก้าวเข้าสู่เป้าหมาย ‘Net Zero Carbon Emission’ หรือคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2050

เช่นเดียวกับบางกอกแอร์เวย์สที่ให้ความตระหนักต่อการจัดการกับปัญหาทางสิ่งแวดล้อมผ่านหลายโครงการที่เป็นรูปธรรม อาทิ ‘ด้านการบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ’ (Climate Crisis Management) ประกอบด้วย โครงการการวางแผนใช้น้ำมันอากาศยานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับนานาชาติ ซึ่งปัจจุบันได้มีการวางระบบปฏิบัติการสำหรับนักบินประจำสายการบินฯ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมันอย่างคุ้มค่า

อีกทั้งยังได้วางแผนศึกษา ‘การใช้เชื้อเพลิงการบินแบบยั่งยืน’ (Sustainable Aviation Fuels: SAF) และบูรณาการเทคโนโลยีกับนวัตกรรมต่างๆ มาช่วยประหยัดพลังงาน พร้อมกันนี้ยังได้เข้าร่วมโครงการ ‘Carbon offsetting and Reduction Scheme for International Aviation’ ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนให้ภาคการบินบรรลุเกณฑ์การรักษาระดับปริมาณการปล่อยคาร์บอนสุทธิอย่างสมดุล

เพื่อตอกย้ำเป้าหมายการสร้างอุตสาหกรรมการบินสีเขียว หรือ ‘Green Aviation’ ที่มุ่งเน้นลดมลพิษและก๊าซเรือนกระจก บางกอกแอร์เวย์สได้เดินหน้าโครงการพัฒนา ‘สนามบินสีเขียว’ นำร่องด้วย 3 สนามบินภายใต้การบริหารของบริษัทฯ ได้แก่ ‘สมุย ตราด สุโขทัย’ เพื่อชูโมเดลการจัดการทรัพยากรและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการปรับปรุงและพัฒนาการออกแบบก่อสร้างอาคารผู้โดยสารให้มีลักษณะเปิดโล่งและจัดให้มีพื้นที่สีเขียวโดยรอบสนามบิน การันตีด้วยรางวัลตราสัญลักษณ์ G - Green จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ประกาศให้สนามบินสมุยและสนามบินตราดเป็นกรีนแอร์พอร์ต หรือสนามบินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในปี 2021

“นอกจากนี้ ในอนาคตยังมุ่งกำหนดแนวทางเพื่อปั้นเมกะโปรเจกต์ที่สำคัญระดับประเทศอย่างโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ให้เป็นหนึ่งในสนามบินสีเขียวที่มีผลงานโดดเด่นระดับภูมิภาคอีกด้วย”

และเพื่อเน้นย้ำเป้าหมายการลดคาร์บอนในกระบวนการทำงาน ล่าสุดบริษัทฯ ได้ริเริ่มวางแผนสำหรับโครงการ Low Carbon Skies by Bangkok Airways โดยจะเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2567 เพื่อมุ่งสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจภายใต้ความยั่งยืนในมิติต่างๆ ตามแนวทางของ IATA ที่เน้นด้านการจัดสรรการใช้เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (SAF) การกำจัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แหล่งกำเนิด การชดเชยและการดักจับคาร์บอน การศึกษาการนำเทคโนโลยีใหม่ไฟฟ้าและไฮโดรเจนเข้ามาใช้ และการปรับปรุงด้านโครงสร้างพื้นฐานและประสิทธิภาพการดำเนินงาน

กัปตันพุฒิพงศ์ เล่าถึงอีกมิติของแนวคิด ESG ว่า ‘S - Social Development’ เพราะหัวใจสำคัญของก้าวที่ยั่งยืน คือการก้าวไปพร้อมกับชุมชน ตลอด 55 ปีที่ผ่านมา บางกอกแอร์เวย์สมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนเพื่อเป็นสายการบินที่ดีที่สุดของเอเชีย! โดยคำนึงถึงการสนับสนุนชุมชนและสังคมเป็นหัวใจสำคัญ สะท้อนผ่านพันธกิจของบริษัทฯ ที่มุ่งมั่นให้การสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้กับสังคม

ไม่ว่าจะเป็นชุมชนในเส้นทางที่บริษัทฯ ทำการบินรวมกว่า 11 หมุดหมายแห่งอารยธรรมที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ตลอดจนถึงการจัดตั้งชุมชนสัมพันธ์สนามบินจำนวน 3 แห่ง ณ สมุย ตราด และสุโขทัย โดยได้เข้าไปสร้างปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชุมชน ผ่านการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน เพื่อรับรู้ถึงปัญหาและเข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือพัฒนาในด้านต่างๆ ที่จะสามารถสานพลังสร้างสรรค์ชุมชนให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน

“ผู้โดยสารสายการบินบางกอกแอร์เวย์สจะได้สัมผัสประสบการณ์ความยั่งยืนตั้งแต่ก้าวแรกที่ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นบริการเสิร์ฟอาหาร ณ บูทีคเลาจน์ ซึ่งรวบรวมผลิตผลจากชุมชนเกษตรกร สดจากสวน มารังสรรค์เป็นเมนูสุดพิเศษเสิร์ฟตามเทศกาลต่างๆ เช่น เมนูมะยงชิดลอยแก้ว ส่งตรงจากโครงการเกษตรอินทรีย์ สุโขทัย และกาละแมลำไย วัตถุดิบจากเชียงใหม่”

ด้านมิติ ‘G - Good Governance’ ธุรกิจการบินกับมิติธรรมาภิบาล โดยตั้งแต่แรกก่อตั้งสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส บริษัทฯมีเป้าหมายดำเนินงานและพัฒนาระบบการบริหารจัดการ ยึดหลักธรรมาภิบาลและการกำกับดูแลกิจการที่ดี ถ่ายทอดแนวความคิดจากรุ่นสู่รุ่น

เพื่อเป็นการการันตีถึงการดำเนินธุรกิจตามกรอบธรรมาภิบาล และการขับเคลื่อนธุรกิจที่ให้ความสำคัญทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ล่าสุดบริษัทฯ มีความภาคภูมิใจที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกเป็นหนึ่งในรายชื่อหุ้นยั่งยืน ประจำปี 2566 ‘SET ESG Ratings 2023’ ระดับ BBB ในกลุ่มธุรกิจบริการ (Services) จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และได้รับคะแนน CGR บริษัทจดทะเบียนที่มีการกำกับดูแลกิจการระดับ 5 ดาว ‘ดีเลิศ’ (Excellent CG Scoring) จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) โดยการสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดี

อีกทั้งยังได้รับการพิจารณาผ่านเกณฑ์ประเมินสำหรับรางวัลการันตี ‘ดาวแห่งความยั่งยืน’ ระดับ 5 ดาว ในโครงการ STAR : Sustainable Tourism Acceleration Rating โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวยั่งยืน และรางวัลการันตีด้านสิ่งแวดล้อมโดยได้รับประกาศนียบัตร ‘EIA Symposium and Monitoring Awards 2023’ ซึ่งสนามบินสุโขทัย - สนามบินสมุยได้รับรางวัลยอดเยี่ยม - ดีเด่น ในโครงการที่ปฏิบัติตามมาตรการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2566 เพื่อสร้างคุณค่าร่วมให้กับผู้มีส่วนได้เสียและสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจพร้อมมุ่งมั่นพัฒนาการดำเนินธุรกิจ สู่การเปลี่ยนผ่านเป็นหนึ่งใน ‘สายการบินรักษ์โลก’ อย่างเต็มขั้นต่อไปในอนาคต

‘ธ.กสิกรไทย’ จริงจัง!! เริ่มใช้ ‘รถแลกเปลี่ยนเงินตรา’ พลังงานไฟฟ้า พร้อมตั้งเป้าผลิตบัตรเครดิต-เดบิตด้วยวัสดุรีไซเคิล 20 ล้านใบใน 7 ปี

(11 ม.ค. 67) นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยตระหนักถึงความสำคัญเร่งด่วนในการแก้ปัญหาโลกร้อน จึงเดินหน้านโยบายและปรับการดำเนินงานต่าง ๆ ภายในองค์กร รวมถึงส่งเสริมให้คนไทยเข้าถึงไลฟ์สไตล์กรีนเพื่อมุ่งสู่ Net Zero Commitment ตามที่ธนาคารได้ประกาศไว้เมื่อปี 2564

โดยด้านการดำเนินงานเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กรเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการเปลี่ยนรถยนต์ของธนาคารจากรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าไปแล้วจำนวน 175 คัน และจะทยอยเปลี่ยนจนครบทั้งหมดภายในปี 2573 มีการทยอยติดตั้งแผงโซลาร์ในอาคารสำนักงานหลักและสาขา โดยตั้งเป้าติดตั้งให้ครบทุกสาขาที่มีศักยภาพในการติดตั้งจำนวน 278 แห่ง ภายใน 2 ปี การปรับเปลี่ยนไปใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปรับกระบวนการทำงานและการให้บริการของธนาคารไปสู่ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น

และให้ความสำคัญกับการจัดการขยะในอาคารสำนักงานหลักเพื่อลดปริมาณขยะที่ไปสู่หลุมฝังกลบเป็นศูนย์ รวมทั้งส่งเสริมพนักงานและบุคลากรของธนาคารให้มีความรู้และเกิดพฤติกรรมที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ธนาคารยังมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการรักษ์โลกได้ง่ายขึ้น ผ่านการใช้บริการของธนาคารที่ใส่ใจเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ล่าสุด ธนาคารกสิกรไทยได้เปิดตัวนวัตกรรมบริการที่มีเป้าหมายช่วยลดก๊าซเรือนกระจก 2 โครงการ เป็นธนาคารแรกในไทย ได้แก่ การพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หรือรถ EV Currency Exchange และการจัดทำและเปลี่ยนบัตรเครดิตและบัตรเดบิตเป็นบัตรที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล ซึ่งทั้งสองโครงการได้พัฒนาสำเร็จเป็นที่เรียบร้อย และมีการนำไปให้บริการจริงแล้ว

สำหรับรถ EV Currency Exchange เป็นรถแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% ขับเคลื่อนได้สูงสุด 120 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง และใช้แบตเตอรี่ที่ได้พลังงานจากแผงโซลาร์ที่ติดตั้งบริเวณหลังคารถสำหรับการให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราในรถได้ต่อเนื่องสูงสุด 10 ชั่วโมงโดยไม่ต้องเสียบปลั๊กไฟ ปัจจุบันนำร่องเพิ่มความสะดวกสบายในการให้บริการแลกเงินแก่นักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเริ่มที่ จ.ภูเก็ต เป็นจังหวัดแรก และมีแผนขยายจำนวนรถให้ครอบคลุมมากขึ้นในอนาคต

ด้านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตธนาคารกสิกรไทย มีการเปลี่ยนมาใช้บัตรที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล ซึ่งช่วยลดการผลิตเม็ดพลาสติกใหม่ สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ใบละ 42 กรัมคาร์บอนฯ หรือลดลง 62% จากการใช้วัสดุแบบเดิม โดยเริ่มมีการทยอยนำบัตรแบบใหม่นี้มาใช้ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2566 ให้แก่ลูกค้าที่ออกบัตรใหม่ บัตรทดแทน และบัตรต่ออายุ ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถเปลี่ยนบัตรกว่า 20 ล้านใบได้ครบทั้งหมดภายใน 7 ปี ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 770 ตันคาร์บอนฯ เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 51,333 ต้น

นายพิพิธกล่าวตอนท้ายว่า ในปี 2567 ธนาคารยังคงเดินหน้าผลักดันลูกค้าให้ร่วม GO GREEN Together อย่างต่อเนื่อง ด้วยการสนับสนุนเงินทุน องค์ความรู้ และการพัฒนา Innovation ใหม่ ๆ รวมถึงการจับมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้าง Green Ecosystem ให้เกิดขึ้นจริง และร่วมกันพาประเทศสู่ Net Zero อย่างยั่งยืนต่อไป

3 ประเด็น ESG ที่นักลงทุนต้องจับตาในปี 2567 ‘ผลิตภัณฑ์-การระดมทุน’ ไม่เข้าเกณฑ์ อยู่ยาก

(17 ม.ค. 67) ศรชัย สุเนต์ตา CFA SCB Wealth Chief Investment Officer ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย Investment Office and Product Function กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เผยถึง 3 ประเด็น ESG ที่นักลงทุนต้องจับตาในปี 2567 ผ่าน ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ระบุว่า...

สำหรับ กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็น ESG ประเด็นแรก จะเห็นว่ากฎเกณฑ์ที่ประเทศต่าง ๆ เริ่มบังคับใช้ รวมถึงประกาศว่าจะออกกฎเกณฑ์ใหม่ปีนี้และเร็ว ๆ นี้มากขึ้น โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) 

นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ได้เพิ่มความเข้มข้นเรื่องการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนด้วย เช่น สหภาพยุโรป (EU) บังคับใช้ ข้อบังคับว่าด้วยการรายงานความยั่งยืนขององค์กร (Corporate Sustainability Reporting Directive: CSRD) เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 กำหนดให้องค์กรขนาดใหญ่และบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด (ยกเว้นบริษัทจดทะเบียนขนาดเล็ก) ต้องเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงและโอกาสด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลกระทบการดำเนินธุรกิจต่อผู้มีส่วนได้เสียและสิ่งแวดล้อม หากบริษัทใดเข้าข่ายนี้ ต้องรายงานข้อมูลภายใต้มาตรฐานการรายงานความยั่งยืนของยุโรป (European Sustainability Reporting Standards : ESRS) 

ดังนั้นปี 2567 ถือเป็นปีแรกที่บริษัทต้องเริ่มเก็บข้อมูล เพื่อทำรายงานตามมาตรฐาน ESRS เผยแพร่ในปี 2568

ขณะที่ สหรัฐฯ นอกจากกฎหมาย Clean Competition Act หรือ US-CBAM มาตรการภาษีคาร์บอนที่จะเริ่มบังคับใช้ปี 2568 กับอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้มข้น ก่อนขยายไปอุตสาหกรรมอื่นในปี 2570 ยังมีการบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ. การเปิดข้อมูลสภาพภูมิอากาศของรัฐแคลิฟอร์เนีย (California’s New Climate Disclosure Rules) 2 ฉบับ คือ SB 253 กฎหมายว่าด้วยความรับผิดชอบขององค์กรต่อข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศ และ SB 261 กฎหมายว่าด้วยเรื่องก๊าซเรือนกระจก สภาพภูมิอากาศ ความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้อง แม้ พ.ร.บ. นี้ มีผลบังคับใช้ปี 2568 แต่บริษัทต้องเริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2567 แต่ก็ต้องจับตาการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปลายปี เพราะหากเปลี่ยนขั้วอำนาจ ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ ESG ได้

ทั้งนี้ มีอีกหลายประเทศเตรียมออกกฎหมายและมาตรฐานการรายงานคล้าย ๆ กัน ซึ่งการรายงานที่เข้มข้นขึ้นจะช่วยให้ผู้ลงทุนเห็นว่า หุ้นหรือตราสารหนี้ที่ลงทุนโดยตรง หรือผ่านกองทุนรวม สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างไร

ประเด็นต่อมาการจัดพอร์ตโฟลิโอคาร์บอนต่ำ เป็นอีกแนวโน้มสำคัญ ไม่ใช่แค่นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายย่อย ก็เริ่มให้ความสำคัญ มุ่งเน้นการลงทุนในสินทรัพย์หรือกิจการที่ปล่อยคาร์บอนต่ำมากขึ้น เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก เช่น การลงทุนผ่านตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม ตราสารหนี้เพื่อสังคม หรือหุ้นของบริษัทที่การปล่อยคาร์บอนต่ำ เป็นต้น สอดคล้องกับผลสำรวจ Morningstar ที่ระบุว่า เจ้าของสินทรัพย์ 67% เชื่อว่า ESG สำคัญต่อนโยบายลงทุนมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสิ่งแวดล้อมเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ประเด็นนี้จะกดดันให้บริษัทที่จะระดมทุนเพิ่ม ต้องพยายามปรับปรุงการดำเนินงานไปสู่การปล่อยคาร์บอนต่ำ มิฉะนั้น อาจระดมทุนยากขึ้น

ประเด็นสุดท้ายเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน นานาประเทศและองค์กรทั่วโลก ให้ความสำคัญประเด็น ESG โดยเฉพาะมิติสิ่งแวดล้อม สอดรับเป้าหมายที่โลกต้องเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยี เพื่อให้การลดก๊าซเรือนกระจกทำได้เร็วขึ้น โดยเทคโนโลยีที่คาดว่ายังมาแรง จะเกี่ยวกับพลังงานสะอาด เศรษฐกิจหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพในห่วงโซ่อุปทาน การดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ยานยนต์ไฟฟ้าหรือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เชื้อเพลิงที่ยั่งยืน เป็นต้น

ทั้ง 3 ประเด็นนี้ ล้วนสำคัญกับการลงทุน ที่มาพร้อมกับโอกาสและความท้าทาย ซึ่งนักลงทุนคงจะได้เห็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับ ESG และ Climate จากองค์กรต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน

‘จีน’ ชูอุตสาหกรรม ‘รีไซเคิล’ เน้นเครื่องใช้ไฟฟ้า-เฟอร์นิเจอร์เก่า หนุนสร้างต้นแบบธุรกิจรักษ์โลก กระตุ้น ปชช.คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

เมื่อไม่นานนี้ สำนักข่าวซินหัว, ปักกิ่ง รายงานว่า  รัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายบ่มเพาะการเติบโตของอุตสาหกรรมรีไซเคิลระดับชาติ ซึ่งมุ่งเน้นเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านและเฟอร์นิเจอร์เก่า หรือไม่ใช้แล้ว เพื่อกระตุ้นการบริโภคผลิตภัณฑ์ใหม่อันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการพัฒนาอันดีของภาคธุรกิจรีไซเคิล

หนังสือเวียนจาก 9 หน่วยงานรัฐบาลของจีน รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า จีนดำเนินงานเพื่อเพิ่มปริมาณการรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และเฟอร์นิเจอร์เก่าหรือไม่ใช้แล้วอีกร้อยละ 15 ภายในปี 2025 เมื่อเทียบกับปี 2023 พร้อมมุ่งเพิ่มการวางมาตรฐานของภาคธุรกิจรีไซเคิล

การปรับปรุงเครือข่ายการรีไซเคิลของประเทศ บ่มเพาะธุรกิจรีไซเคิลขนาดใหญ่ สร้างสรรค์ต้นแบบการรีไซเคิล และวางมาตรฐานของแนวปฏิบัติการรีไซเคิล จะเป็น 4 พันธกิจหลักของจีนในการส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมรีไซเคิลระดับชาติ

เมืองกลุ่มหนึ่งของจีนจะมีระบบตัวอย่างการรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และเฟอร์นิเจอร์เก่าหรือไม่ใช้แล้ว ซึ่งได้รับการยอมรับระดับชาติภายในปี 2025 พร้อมกับส่งเสริมแนวปฏิบัติอันดีทั่วประเทศ จัดตั้งกลุ่มผู้ประกอบการชั้นนำ และกำหนดข้อบังคับและมาตรฐานที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นของอุตสาหกรรมรีไซเคิล

อนึ่ง ข้อมูลจากรัฐบาลจีนระบุว่า มีการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านทั่วจีนในปี 2023 มากกว่า 3 พันล้านชิ้น โดยครัวเรือนทั่วประเทศมีเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และโทรทัศน์เป็นจำนวนมาก

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ก.พ.ผ่านมา โฆษกกระทรวงพาณิชย์แถลงข่าวว่าครัวเรือนชาวจีนเป็นตลาดขนาดใหญ่ และขับเคลื่อนการเติบโตของการซื้อขายเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ทำให้การเสริมสร้างอุตสาหกรรมรีไซเคิลมีนัยสำคัญอย่างยิ่ง ต่อการยกระดับการบริโภคของประเทศ

ความ ‘สมดุล’ ตามรอย ‘ศาสตร์แห่งพระราชา’ ‘ปลูกชีวิต’ ด้วยพลังงานธรรมชาติ ปราศจากมลพิษ

ในระหว่างที่สังคมโลกกำลังให้ความสำคัญกับการต่อสู้กับภาวะเรือนกระจกในหลายๆ บริบทของสังคมทั้งในระดับโลก ประเทศ และชุมชน เพื่อจรรโลงโลกกลมๆ แห่งนี้ให้อยู่คู่มนุษยชาติได้นานๆ นั้น

ปรากฏการณ์ของกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ ที่ต้องการสร้างสังคมสีเขียว ปลอดมลพิษ และลดการพึ่งพิงพลังงานฟอสซิล รวมถึงลดเลิกการใช้สารเคมีต่างๆ เพื่อต้านทานกับภัยคุกคามจากภาวะเรือนกระจก ก็เริ่มก่อตัวเพิ่มมากขึ้นตามเช่นกัน

‘Somdul Agroforestry Home’ หรือ ที่ใครหลายคนคุ้นเคยกับคำว่า ‘สมดุล’ เป็นหนึ่งในหน่วยเล็กๆ ทางสังคม ที่ออกแบบสิ่งแวดล้อมแสนสมดุลของตน ไว้ในหมวดธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การผูกรัดตนเองไว้กับวิถีแห่งการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ที่ อัมพวา สมุทรสงคราม

‘สมดุล’ ประกอบไปด้วยพื้นที่สีเขียว ที่แวดล้อมด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ อยู่ติดริมแม่น้ำแม่กลอง มีบรรยากาศที่ชวนให้รู้สึกผ่อนคลาย เป็นเหมือนสวนที่เปิดรับให้ทุกคนได้มาพักผ่อน แถมยังพัฒนาให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมให้ทุกคนได้เรียนรู้ พร้อมๆ ไปกับ คาเฟ่, อาหาร และเครื่องดื่ม รวมไปถึงผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่ต่อยอดขึ้นมาจากแนวคิด ‘อยู่อย่างเกื้อกูลธรรมชาติ’

เป้าหมายของ ‘สมดุล’ ที่แม้นจะฟังดูเหมือนลมๆ ลอยๆ แต่ ‘อติคุณ ทองแตง’ ผู้ร่วมก่อตั้งสวนสมดุล ก็บอกเสมอว่า “ความสุขอย่างยั่งยืน” คือนิยามที่ ‘สมดุล’ อยากส่งต่อเป็นแรงบันดาลใจไปสู่สังคมวงกว้าง

ย้อนกลับไปสักเล็กน้อย ‘อติคุณ’ เล่าว่า สวนสมดุลแห่งนี้ เกิดมาจากแรงบันดาลใจในปรัชญาของพ่อเลี่ยม บุตรจันทา ปราชญ์ชาวบ้านแห่งบ้านสวนออนซอน จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่มีส่วนสำคัญในถ่ายทอดปรัชญาแห่งความสมดุลในสวนนี้ เป็นมรดกให้เขาให้นำไปสานต่อ 

โดยสาระสำคัญของปรัชญาดังกล่าว สะท้อนไปสู่ ‘การปลูกชีวิต’ โดยเฉพาะชีวิตแห่งพืชพันธุ์ให้สามารถเกื้อกูลพึ่งพิงอาศัยซึ่งกันและกัน ด้วยองค์ประกอบ ดิน, น้ำ, ลม และ แสงแดดที่เหมาะสม จนเกิดความสมบูรณ์ตามรูปแบบของธรรมชาติ  

มาถึงตรงนี้ รู้สึกได้ว่า ปรัชญา ดังกล่าวที่สะท้อนมาสู่จุดเริ่มต้นของ ‘สมดุล’ ช่างดูคุ้นเคย...

ใช่แล้ว!! เพราะนี่คือปรัชญาเพื่อพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนตามแนวทาง ‘ศาสตร์พระราชา’

‘สมดุล’ ไม่ใช่สังคมสีเขียวที่ไร้แก่นสาร หรือแค่วาดลานแลนด์สเคปเขียวๆ ให้คนรู้สึกถึงคอนเซปต์แบบเขียวๆ ให้รู้สึกว่าอินเทรนด์ แต่ ‘สมดุล’ ถูกปัดหมุดด้วยความคิดของผู้ร่วมก่อตั้ง ที่สอดรับกับรอยต่อแห่ง ‘ศาสตร์พระราชา’ ซึ่งมิได้ปฏิเสธเทคโนโลยี เพียงแต่ไม่ยอมรับการครอบงำจากเทคโนโลยี  

นัย นี้น่าสนใจ!! เพราะ ‘สมดุล’ รู้จักการควบคุมและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ให้สอดคล้องกับเป้าประสงค์ของการเป็นเกษตรสมดุล โดยผสานองค์ความรู้จากปรัชญาของการเกษตรไทย กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยการทำให้เกิดสมดุลของดิน, น้ำ และสิ่งแวดล้อม นั่นคือ นำเอาศาสตร์แห่งดิน, ศาสตร์แห่งน้ำ และ การเคลื่อนคล้อยของลม แสงแดด และอุณหภูมิที่เหมาะสม มาสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นแนวทางใหม่ คล้ายเป็นนวัตกรรม...หากแต่เป็นนวัตกรรมจากรากเหง้าเกษตรไทย ที่อุดมด้วยองค์ความรู้อันหลากหลายอยู่แล้ว

นอกจากนี้ สวนสมดุล ยังปฏิเสธสารเคมีทุกชนิด โดยผืนดินทุกตารางนิ้ว จะถูกปรับปรุงคุณภาพให้ปลอดภัยทั้งสารพิษ สารเคมี อย่างน้ำที่ใช้ในสวน ก็จะผ่านการกรองด้วยระบบกรองตามมาตรฐานคุณภาพที่สวนฯ กำหนดขึ้น ทำให้ ต้นไม้ พันธุ์พืช และผักทุกชนิด จึงปลอดภัยจากมวลสารที่อาจเป็นพิษภัยต่อมนุษย์ สัตว์ และพืช...ทุกสิ่งล้วน ‘ออแกนิค’ (Organic)

ในแง่ของพลังงาน สวนสมดุลแห่งนี้ ได้สมดุลด้านพลังงานผ่าน ‘พลังงานสะอาด’ (Green Energy) ด้วยการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ มาเป็นพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ที่ใช้ในทุกพื้นที่ของสวน

จากข้อมูลช่วงย้อนไปราว 5 ปีก่อน อติคุณ เล่าว่า “เราเริ่มต้นด้วยการติดตั้งแผง Transparent PV Solar Cell จำนวน 208 แผงแบบ on-Grid บนหลังคาที่จอดรถหน้าสวน มีขนาดกำลังติดตั้ง 60.14 kw สามารถผลิตพลังงานสะอาดได้ปีละ 88,454 Kwh หรือ 88,454 หน่วยนั่นเอง ด้วยสมการนี้เราจะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ปีละ 391,090.50 บาท หรือตกเดือนละ 32,590.87 บาท จึงเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลงในทางหนึ่ง ขณะเดียวกันยังสามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซหลักและตัวการสำคัญที่ส่งผลต่อสภาวะโลกร้อนลงได้ปีละ 68.90 ตัน เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ที่มีอายุกว่า 10 ปี จำนวน 1,034 ต้นต่อปี หรือเทียบเท่ากับพื้นที่ป่าสีเขียวขนาด 184 ไร่ และเทียบเท่ากับการลดการเผาถ่านหินจำนวน 30,771.90 กิโลกรัมต่อปี หรือเท่ากับการขับรถเป็นระยะทาง 244,696 กิโลเมตรต่อปี”

อติคุณ เผยอีกว่า ผลพวงจากพลังงานสะอาดที่ผลิตจากแสงอาทิตย์นี้ ได้ถูกนำไปใช้ในร้านกาแฟ ‘Agro  forestry Café’ ไม่ว่าจะในส่วนของระบบแสงสว่าง เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องชงกาแฟ และอุปกรณ์ประกอบการปรุงอาหารทุกชนิด เป็นการการันตีว่า ทุกเมนูกาแฟ หรือ อาหาร รวมทั้งเครื่องดื่ม น้ำดื่มต่างๆ ที่ลูกค้าได้เข้ามาใช้บริการ 

เรียกได้ว่าทุกโสตสัมผัสในบรรยากาศแห่ง สวนสมดุล ผู้คนจะมั่นใจ และสบายใจได้ว่า สิ่งแวดล้อมที่ปรากฏรายล้อมรอบพวกเขา นอกจากจะกอปรไปด้วยวัตถุดิบที่เป็นออแกนิคแล้ว ยังปราศจากมลพิษ อย่างสิ้นเชิงอีกด้วย

“เราอยากให้สวนแห่งนี้ เป็นศูนย์การเรียนรู้ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยต้นทุนด้านการเกษตร เพื่อพัฒนาเกษตรกรไทย ให้มีความเข้มแข็ง มั่นคงในอาชีพ เกษตรกรไทยไม่ควรต้องอ่อนด้วย ต้อยต่ำ อีกต่อไป” นี่คืออีกหนึ่งฝันของ อติคุณ ที่ไม่ใช่แค่เนรมิต ‘สมดุล’ ขึ้นมาเป็นเพียงแค่ที่พักผ่อนหย่อนใจ

ในขณะที่สภาวะเรือนกระจกกำลังคุกคามโลกของเราอยู่ แค่ธุรกิจที่มองเห็นและหยิบจับวัฏจักรแห่ง Green มาไหลเวียนแค่ธุรกิจเดียว ยังสร้างผลลัพธ์ในการเซฟโลกของเราได้มากขนาดนี้ แล้ว ‘คุณ’ จะไม่ลองเริ่มหันมาสร้าง ‘สมดุล’ ให้กับโลกกันบ้างหน่อยหรือ?

‘สวนสมดุล’ Somdul Agroforestry Home
ตั้งอยู่ในตำบลบางพรม อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม
ไม่ไกลจากตลาดน้ำอัมพวา จากวัดบางพลับ มาอีกประมาณ 500 เมตร
เปิด วันจันทร์-อังคาร 09.00-17.00 น. วันพุธ-อาทิตย์ 09.00-18.00 น. (ปิดวันพฤหัสบดี)
สอบถาม โทร. 098-362-9894 หรือ facebook.com/somdulhome 

รู้จัก ‘สวนสมดุล’ แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติแห่งอัมพวา บอกทุกที่มา ‘อาหาร-พลังงาน’ ที่ผู้บริโภคมีสิทธิ์ต้องได้รู้

บรรยากาศริมน้ำแม่กลองที่ไหลเอื่อยยามสาย ช่างดูเงียบสงบงดงามเหลือเกิน เมื่อได้เมียงมองจากพื้นที่ร่มรื่นใต้เงาไม้ของ ‘สมดุล’ (Somdul Agroforestry Home) สถานที่ที่ผสมผสานทั้งความเป็นคาเฟ่ ร้านอาหาร ศูนย์เรียนรู้ และวนเกษตร ซึ่งเป็นหมุดหมายของนักเดินทางที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน 

‘สมดุล’ หรือ ‘Somdul Agroforestry Home’ เปรียบตนเองเป็นบ้านที่มีความฝันจะบาลานซ์ไลฟ์สไตล์ ระหว่างชีวิตคนเมืองกับธรรมชาติให้อยู่ตรงกลาง ผ่านการทำเกษตรกรรมเชิง ‘วนเกษตร’ แบบเกษตรอินทรีย์ โดยปลูกในสิ่งที่กิน กินในสิ่งที่ปลูก แล้วถ่ายทอดออกมาในรูปแบบการบริการ อาหาร, เครื่องดื่ม, เบเกอรี ผลิตภัณฑ์แปรรูปในโซนคาเฟ่ เปิดโอกาสให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ผ่านการศึกษาภาคปฏิบัติในกิจกรรมเวิร์กช็อปต่างๆ และถ่ายทอดวิถีชีวิตองค์ความรู้ของศาสตร์วนเกษตร เพื่อให้เห็นผลลัพธ์ที่เรียกว่า ‘ความสุขอย่างยั่งยืน’

จุดหมายปลายทางแห่งนี้ เริ่มต้นจากนักศึกษาในชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเอแบค จำนวน 6 คน ได้แก่ เอี่ยม-อติคุณ ทองแตง, เม-เมธาพร ทองแตง, อู๋-บุญชู อู๋, กันต์-กันต์ คงสินทรัพย์, ไอซ์-รังสิมันตุ์ ตันติวุฒิ และเจมส์-พงศกร โควะวินทวีวัฒน์ ซึ่งทุกคนมีความสนใจในงานด้านอนุรักษ์ และใช้พื้นที่ที่มีทำการเกษตรแบบพึ่งพาตัวเอง จนกระทั่งมาลงตัวที่ ‘วนเกษตร’ หรือ การเกษตรบนพื้นที่ป่า ก่อนจะขยายมาเป็นศูนย์การเรียนรู้อย่างที่เห็นในปัจจุบัน 

อติคุณ ทองแตง หนึ่งในผู้ก่อตั้งอธิบายว่า “ทุกการบริโภคในสมดุล ล้วนมีที่มาที่ไป ตั้งแต่กระบวนการผลิต อาหาร และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในคาเฟ่ จะถูกอธิบายว่ามาจากที่ไหนบ้าง มีความปลอดภัยอย่างไร เรามีฟาร์มเทเบิลส่วนหนึ่งที่ผลิตเอง และมีเครือข่ายเกษตรที่เรามั่นใจได้ในความปลอดภัย อาหารมีที่มาที่ไปอย่างไร อาหารส่วนหนึ่งเป็นออร์แกนิก ไม่มีสารเคมี และนี่คือสิ่งที่เราพยายามสื่อสาร เพราะเราเน้นเรื่องความจริงใจ ที่มาของอาหารที่จับต้องได้ ผู้บริโภคมีสิทธิ์ต้องรู้...

“เราเน้นใช้จาน แก้ว เพราะล้างได้ ใช้กระดาษ หลอดย่อยสลายได้ รวมถึงกระป๋อง อลูมิเนียม เพราะนำไปรีไซเคิลได้ 100% โดยมีจุดแยกขยะและเครื่องบีบอัดกระป๋อง ส่วนพลาสติกที่จำเป็นจริงๆ จากพวกแพ็คเกจ เราต้องคัดแยก ไม่ได้ไปทิ้งขยะรวมกับขยะทั่วไป โดยแยกไปรีไซเคิล เพื่อนำมาใช้ใหม่ ส่วนขยะที่รีไซเคิลยากจริงๆ เราส่งไปโครงการที่ผลิตพลาสติกเพื่อแปรรูปมาทำพลังงาน”

ไม่เพียงบทบาทในการมอบความสุขให้กับผู้มาเยี่ยมเยียน ‘สมดุล’ เท่านั้น หมวกอีกใบของ ‘สมดุล’ ยังให้ความสำคัญกับการเป็น ‘พลเมืองสีเขียว’ ที่คอยช่วยเหลือชุมชนโดยรอบผ่านองค์ความรู้ที่ได้จากคอนเนกชันของกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหลายกลุ่ม

“เราเป็นกลุ่มนักอนุรักษ์ ที่หันมาทำธุรกิจ จึงอยากทำธุรกิจบนพื้นฐานของความยั่งยืน และการอนุรักษ์ เราเปิดที่นี่ขึ้นมาเพื่อให้เห็นว่าการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนทำอย่างไร โดยมีคอนเนกชันกับกลุ่มอนุรักษ์หลายกลุ่ม ก็นำข้อมูลมาเผยแพร่ให้คนอื่นได้เรียนรู้...

“อย่างแนวคิดเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม ที่เป็นหนึ่งในแกนกลางสำคัญของการขับเคลื่อน เราก็ทำในรูปแบบวนเกษตร โดยใช้ภูมิปัญญาเกษตรแบบร่องสวน ทำปุ๋ยเอง เน้นเรื่อง Zero Waste โดยใช้อาหารที่เหลือจากคาเฟ่ ขยะเศษอาหาร จะนำไปแยกน้ำ แยกกาก เอาไปทำเป็นปุ๋ยหมัก และมีวิธีการจัดการการแยกขยะ เพราะขยะที่ขายไม่ได้เทศบาลจะนำไปฝังกลบ เราจึงมีเป้าหมายว่าขยะจะต้องนำไปถูกฝังกลบให้น้อยที่สุด ด้วยการคัดแยกขยะ
ขยะ เน้นเรื่องที่มาและที่ไป บรรจุภัณฑ์แบบไหนให้ปลอดภัยและจัดการง่าย เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง เป็นต้น” 

อีกหนึ่งในไฮไลต์ที่ อติคุณ มักจะนำเสนอต่อทุกคนที่มาเยือน ‘สมดุล’ คือ การให้ผู้มาเยือนได้มาศึกษาเรียนรู้ การเลี้ยง ‘ผึ้งชันโรง’ แมลงตัวจิ๋วที่เสมือนเป็นเครื่องมือรับรองคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม

สำหรับ ‘ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว’ (Stingless bees) เป็นแมลงผสมเกสรจำพวกผึ้งแต่ไม่มีเหล็กไน ‘ชันโรง’ ถือเป็นแมลงที่มีวิวัฒนาการสูงกว่าผึ้งป่า และยังให้น้ำผึ้งได้อีกด้วย โดยน้ำผึ้งและเกสรของชันโรงมีราคาแพงกว่าน้ำผึ้งทั่วไป เพราะมีปริมาณน้อยกว่า และหายาก เชื่อกันว่ามีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าน้ำผึ้งปกติ 

ความสำคัญที่มีต่อการเกษตรของชันโรงจะช่วยผสมเกสรพืชต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เพราะมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงสามารถบินลอยตัวอยู่ได้นานโดยไม่จับเกาะอะไร ทำให้กระพือปีกได้นานบินร่อนลงเก็บเกสร และดูดน้ำหวานเป็นไปอย่างนุ่มนวลไม่ทำให้กลีบดอกช้ำ ขณะเดียวกัน ‘ผึ้งชันโรง’ ยังเป็นแมลงที่สามารถต้านทานเคมีได้ต่ำ เมื่อมีผึ้งชนิดนี้ในพื้นที่ไหนมี ก็เป็นการการันตีเรื่องระบบนิเวศได้ว่า ไม่มีสารเคมี สอดคล้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพืชและดิน

หากใครที่อยากสัมผัสกับเสน่ห์แห่งวิถีธรรมชาติที่ปราศจากมลภาวะอย่างแท้จริง การเจียดเวลามา ‘สมดุล’ ชีวิตที่ ‘สวนสมดุล’ Somdul Agroforestry Home ก็อาจจะทำให้คุณได้แรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการพลิกตนให้ผู้พิทักษ์สังคมจากภัยคุกคามของภาวะเรือนกระจกได้ไม่มากก็น้อย ก็เป็นได้...

‘สวนสมดุล’ Somdul Agroforestry Home
ตั้งอยู่ในตำบลบางพรม อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม
ไม่ไกลจากตลาดน้ำอัมพวา จากวัดบางพลับ มาอีกประมาณ 500 เมตร
เปิด วันจันทร์-อังคาร 09.00-17.00 น. วันพุธ-อาทิตย์ 09.00-18.00 น. (ปิดวันพฤหัสบดี)
สอบถาม โทร. 098-362-9894 หรือ facebook.com/somdulhome 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top