Sunday, 19 May 2024
รักษ์โลก

‘กสิกรไทย-อินโนพาวเวอร์’ เตรียมเปิดแพลตฟอร์ม REC  หนุนรายย่อยสร้างรายได้จากการใช้ ‘โซลาร์รูฟท็อป’

‘ธนาคารกสิกรไทย’ ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการลดก๊าซเรือนกระจก ร่วมกับ ‘อินโนพาวเวอร์’ ผู้บุกเบิกนวัตกรรมด้านพลังงาน เปิดตัวแพลตฟอร์มสนับสนุนการขึ้นทะเบียนและขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) สำหรับองค์กรและประชาชนรายย่อยครั้งแรกในประเทศไทย เตรียมเปิดแพลตฟอร์มให้บริการในไตรมาส 2 ปี 67 ช่วยให้ลูกค้ารายย่อยที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปสามารถขอและขายใบรับรอง REC ได้ง่ายขึ้น ถือเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อย และส่งเสริมให้เกิดการผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอย่างยั่งยืนในประเทศ

(11 มี.ค. 67) ดร.กรินทร์ บุญเลิศวณิชย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารมุ่งมั่นสนับสนุนภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการใช้พลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาได้ออกผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อสนับสนุนหลากหลายรูปแบบภายใต้แนวคิด Go Green Together 

โดยความร่วมมือกับ บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด ในครั้งนี้ จะเป็นการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดระบบนิเวศสีเขียวที่ยั่งยืน (Green Ecosystem) ผ่านการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดในภาคประชาชน ถือเป็นครั้งแรกที่ประชาชนที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปจะมีช่องทางการให้บริการที่ง่ายและสะดวกในการขึ้นทะเบียน REC และทำการขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนผ่านบริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด จากที่ผ่านมาจะเป็นการขึ้นทะเบียนให้กับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดค่าไฟแล้ว ยังได้ประโยชน์จากการขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนอีกด้วย 

โดยคาดว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยจุดกระแสให้ประชาชนทั่วไปหันมาผลิตและใช้พลังงานสะอาดผ่านการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มมากขึ้น เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ให้สำเร็จ

ทั้งนี้ ธนาคารได้ใช้ความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลในการพัฒนาบริการต่าง ๆ ให้กับโครงการฯ ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาใน 3 ด้าน ได้แก่ 

1.) ให้บริการยืนยันตัวตนและนำส่งข้อมูลประกอบการขึ้นทะเบียน REC
2.) ออกแบบ UX/UI และพัฒนาระบบเทคโนโลยีสาระสนเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟสมัครใช้บริการขึ้นทะเบียน REC 
3.) ให้บริการ Cash Management ซึ่งเป็นการพัฒนาโซลูชันทางการเงินที่เชื่อมต่อระหว่างธนาคาร อินโนพาวเวอร์ และลูกค้าที่ขาย REC ให้มีรูปแบบการชำระเงินที่เหมาะสม ปลอดภัย ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้ใช้รายย่อย และสร้างประสบการณ์ที่ดีในการรับ-จ่ายเงิน

นายอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า “อินโนพาวเวอร์ เป็นผู้ให้บริการจัดหาและซื้อขายใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) ครบวงจรอันดับหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ ให้บริการกับองค์กรขนาดใหญ่ แต่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่บริษัทฯ ร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทยเข้าไปช่วยรวบรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าระดับรายบุคคลและองค์กรรายย่อยที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในภาคครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีขนาดกำลังการผลิตไม่ถึง 500 กิโลวัตต์ โดยผู้ผลิตเหล่านี้มีเป็นจำนวนมากและตลาดโซลาร์รูฟท็อปมีอัตราการเติบโตสูงถึงปีละ 26% บริษัทฯ จึงได้ร่วมมือกับธนาคารพัฒนา REC Aggregator Platform ผ่านการรวบรวมและจัดเตรียมข้อมูลการขึ้นทะเบียน REC เพื่อช่วยผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยสามารถยื่นขอใบรับรอง REC ได้สะดวกขึ้น และอำนวยความสะดวกในการนำ REC ที่ออกและได้รับการรับรองไปจำหน่ายแก่ผู้รับซื้อ 

โดยนอกจากจะช่วยให้ผู้ผลิตรายย่อยสามารถขาย REC เป็นรายได้อีกช่องทางหนึ่งแล้ว แพลตฟอร์มนี้ยังช่วยกระตุ้นให้การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในตลาดเติบโตยิ่งขึ้น และยังช่วยให้องค์กรและประเทศบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) อย่างเป็นรูปธรรม

ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate : REC) คือใบรับรองสำหรับการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่สามารถซื้อขายได้ เพื่อยืนยันที่แหล่งผลิตว่ามาจากพลังงานธรรมชาติ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์, น้ำ และลม เป็นต้น การซื้อขายใบรับรองมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น โดย REC สามารถนำไปใช้ในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรได้ในกิจกรรมที่เกิดจากการใช้ไฟฟ้า (Scope 2: Indirect Emission) 

‘อุตฯ ฟอกหนังไทย’ ปรับตัวเดินตาม ‘BCG โมเดล’ ตามเทรนด์อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 16 มี.ค.67 ได้พูดคุยกับ ‘คุณสุวัชชัย วงษ์เจริญสิน’ นายกสมาคมอุตสาหกรรมฟอกหนังไทย ที่ปรึกษาและกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  ถึงสถานการณ์อุตสาหกรรมฟอกหนังของประเทศไทย ที่ถือว่าเป็นส่วนสำคัญของภาคการส่งออกและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด 

โดยคุณสุวัชชัย กล่าวว่า “ภาพรวมของเศรษฐกิจโลก การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา และยุโรป สงครามที่เกิดขึ้นนั้น มีผลกระทบต่อประเทศไทยพอสมควรในมุมมองของเศรษฐกิจ อย่างกรณียุโรปเองก็ประสบปัญหาค่าครองชีพสูงขึ้น ทำให้ปศุสัตว์มีการปรับตัวสูงขึ้น วัตถุดิบมีอัตราแพงขึ้น ซึ่งเครื่องหนังเปรียบเสมือนสินค้าฟุ่มเฟือย อัตราการใช้งานก็ลดลงทำให้มูลค่าตลาดลดลง ส่วนทางสหรัฐอเมริกาและจีนเองก็มีผลกระทบอยู่เหมือนกัน ทำให้ส่งผลกระทบทั้ง Supply Chain ในระดับโลก ต้องบอกว่าเมืองไทยเรามีการส่งออกโดยได้รับคำสั่งซื้อส่วนใหญ่จากทางยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งประเทศไทยเองก็ส่งออกในห่วงโซ่นี้ทำให้ได้รับผลกระทบจาก Supply Chain อยู่พอสมควร”

คุณสุวัชชัย กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมฟอกหนังไทยในตลาดโลกว่า “ประเทศไทยมีการส่งออก ขนมิงค์ (Mink Hair) หนังวัว ไปยังทวีปยุโรป เบาะรถยนต์ ส่งออกไปยังตะวันออกกลาง ส่วนกระเป๋าเดินทางก็ส่งออกอันดับต้น ๆ และรองเท้านำเข้ามาผลิตและประกอบเพื่อส่งออกกลับไปจำนวนมาก ส่วนจุดเด่นของเครื่องหนังไทยที่ต่างชาติยอมรับ คือ ความประณีตในการตัดเย็บ รูปแบบดีไซน์ และคุณภาพดีสม่ำเสมอ ทำให้มีคุณค่ามากขึ้น รวมถึงมีสินค้าหลากหลายรูปแบบมากกว่า เช่น หนังปลา หนังงู เป็นต้น  ซึ่งในอุตสาหกรรมฟอกหนังไทยมีการนำเข้าและส่งออก อยู่ประมาณ 20,000 ล้านบาท แต่ถ้ารวมกับกระเป๋าและเครื่องใช้ในการเดินทาง รองเท้า น่าจะอยู่ประมาณ 100,000 ล้านบาท”

คุณสุวัชชัย ระบุเพิ่มเติมว่า “ปัจจุบันทางสมาคมฟอกหนังไทยได้สร้างความร่วมมือกับทางสมาคมรองเท้า กระเป๋า เพื่อพัฒนาให้เกิด Young Designer รุ่นใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น วัตถุประสงค์เพื่อทำอย่างไรให้แบรนด์ไทยได้ครองใจทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ส่วนความต้องการของผู้ประกอบการต่อภาครัฐในปัจจุบัน คือ 

1.ต้นทุนการดำเนินงานลดน้อยลง 
2.ข้อกำหนดทางการค้าเปิดกว้างมากขึ้นเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมฟอกหนัง เช่น การขยาย FTA ให้มากขึ้น, ข้อกำหนดด้านปศุสัตว์ เป็นต้น”

คุณสุวัชชัย ยังได้กล่าวถึงเทรนด์การทำธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมว่า “ปัจจุบันสมาคมฟอกหนังไทย ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการฟอกหนังเน้นเป้าหมายผลิตสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สินค้าต้องย่อยสลายได้และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่กระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้ใช้ การผลิต ออกแบบจะต้องอยู่ในการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ซึ่งผู้ประกอบการหลายรายเริ่มพัฒนาสินค้าไปในทิศทางนี้แล้ว เช่น เมื่อผลิตสินค้าสารเคมีจะต้องไม่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม เป็นต้น”

“ปัจจุบันเราไม่ได้ใช้สารเคมีที่ก่อให้เกิดมลพิษแล้ว ในส่วนของภาครัฐเองก็ส่งเสริม BCG โมเดลและเริ่มผลักดันผู้ประกอบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น” คุณสุวัชชัย เน้นย้ำ

ส่วนเป้าหมายของอุตสาหกรรมฟอกหนังไทย ปัจจุบันเราพยายามปรับตัวเข้าสู่ชุมชนมากขึ้น เรามุ่งเน้นไปที่ทำหนังอย่างไรให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนมากที่สุด การบำบัดน้ำเสียตอนนี้มีอยู่ในเขตประกอบการของเรา ซึ่งมีบ่อหนึ่งเราปิดบ่อเลย แต่เราได้แก๊สมีเทน (Methane) และเน้นไปด้านไบโอแก๊ส (Biogas) เพื่อได้พลังงานกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเป็นที่แรกในเมืองไทย ที่สามารถเอาสิ่งปฏิกูลเหล่านี้มาเป็นพลังงานได้ 

อุตสาหกรรมฟอกหนังไทยถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายมาตลอด อยากฝากถึงประชาชนว่า ปัจจุบันนี้อุตสาหกรรมฟอกหนังเป็นหนึ่งในห่วงโซ่ธุรกิจ เราเป็นหนึ่งใน 45 อุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย เราไม่ได้มานั่งแก้ตัวว่าเป็นส่วนหนึ่งของมลพิษ แต่เราพยายามที่จะปรับตัวเข้าไปในชุมชนดูแลสิ่งแวดล้อม หรือติดตามเทรนด์ในการดำเนินธุรกิจในอนาคตที่เข้มข้นขึ้น สำหรับการจัดการกลิ่น น้ำเสีย ปัจจุบันสามารถเช็กได้ว่ามีมากหรือน้อยอย่างไร 

“การฟอกหนังใช้กระบวนการผลิตสมัยใหม่ การใช้สารเคมีที่แตกต่างจากเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมแบบใหม่ทันสมัยมากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมฟอกหนังเป็นส่วนสำคัญในการเดินหน้าสู่ BCG โมเดล เพื่อทำให้มลพิษลดลงและส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด” คุณสุวัชชัย กล่าวทิ้งท้าย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top