Stella Terra รถไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์คันแรกของโลก ทดลองวิ่งบนระยะทางกว่า 1,000 กม. ได้สำเร็จ

เข้าใจดีว่ากระแสรถยนต์ไฟฟ้า EV คงเป็นทางเลือกใหม่ของวงการยานยนต์ในปัจจุบัน ที่ช่วยลดมลพิษ และไม่ต้องจ่ายค่าน้ำมันแพง ๆ 

แต่ปัญหาของรถยนต์ EV ก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะเรื่องของสถานีชาร์จ ที่แม้จะเริ่มมีการพัฒนาสถานีและหัวจ่ายให้ครอบคลุมขึ้น แต่ก็อาจจะยังไม่เพียงพอ

แนวคิดรถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งคู่ขนานกับรถ EV โดยไม่นานมานี้ก็มีการเปิดเผยถึงรถพลังงานแสงอาทิตย์คันแรกของโลกที่ทดลองวิ่งแล้ว โดยเดินทางจากประเทศโมร็อกโกสู่ทะเลทรายซาฮาราระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตรได้สำเร็จแบบไม่ต้องง้อสถานีชาร์จ

หลังจากทีมนักศึกษา Solar Team Eindhoven จาก Eindhoven University of Technology (TU/e) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ร่วมกันพัฒนาและเปิดตัว Stella Terra ในฐานะรถยนต์ออฟโรดพลังงานแสงอาทิตย์คันแรกของโลกไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ล่าสุดในเดือนตุลาคม Stella Terra ได้ทดลองวิ่งจากตอนเหนือของประเทศโมร็อกโกสู่ทะเลทรายซาฮารา ฝ่าภูมิประเทศหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นลำธารแห้งขอด ป่าไม้ เส้นทางภูเขาสูงชัน หรือแม้กระทั่งทะเลทราย รวมเป็นระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตร ซึ่งทั้งหมดนี้อาศัยเพียงพลังงานแสงอาทิตย์เท่านั้น

ชิ้นส่วนสำคัญของ Stella Terra คือแผงโซลาร์เซลล์ซึ่งกินพื้นที่ด้านบนของตัวรถเกือบทั้งหมด ตั้งแต่หลังคาไปจนถึงฝากระโปรง โดยแผงโซลาร์เซลล์นี้สามารถกางออกเพื่อเพิ่มสมรรถภาพการชาร์จหรือใช้เป็นที่บังแดดได้ ภายในตัวรถยังมีแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเพื่อให้รถสามารถวิ่งระยะทางใกล้ ๆ ได้แม้แดดอ่อน และเนื่องจาก Stella Terra มีความสามารถในการชาร์จไฟขณะวิ่ง จึงไม่จำเป็นต้องใช้แบตเตอรี่ขนาดใหญ่ ทำให้เป็นรถ SUV ไฟฟ้าที่มีน้ำหนักเพียง 1,200 กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งเบากว่ารถ SUV ทั่วไปที่มีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 1,500 ถึง 2,700 กิโลกรัม

ทีมงานเผยว่า Stella Terra วิ่งได้เร็วสูงสุดที่ 145 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และในกรณีที่มีแดด รถคันนี้จะสามารถวิ่งได้ระยะทางไกลสุด 710 กิโลเมตร แต่หากขับขี่บนทางวิบากอาจวิ่งได้ประมาณ 550 กิโลเมตรขึ้นอยู่กับพื้นผิวถนน นอกจากนี้ จากการทดลองยังพบว่า Stella Terra ใช้พลังงานน้อยกว่าที่คาดไว้ถึง 30% อีกด้วย

Stella Terra เป็นหนึ่งตัวอย่างของนวัตกรรมที่ช่วยปูทางให้อุตสาหกรรมยานยนต์เข้าใกล้เป้าหมายความยั่งยืนมากขึ้น และอีกไม่นานเกินรอ เราอาจสามารถเปลี่ยนจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานหมุนเวียนได้อย่างแท้จริง