Tuesday, 14 May 2024
พลังงาน

‘สนพ.’ เผยการปล่อยก๊าซ CO2 ภาคพลังงานของไทยปี 2566 น่าปลื้ม!! ลดลง 2.4% จากปีก่อน ผลจากการใช้พลังงานสะอาดทดแทน

(21 มี.ค. 67) นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการใช้พลังงาน ปี 2566 พบว่า การปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงาน อยู่ที่ระดับ 243.6 ล้านตัน CO2 ลดลงร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับปีก่อน ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน ภาคการท่องเที่ยวและบริการที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบาง อุปสงค์ในตลาดโลกมีความต้องการสินค้าลดลง ส่งผลให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกชะลอตัวทำให้การใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมลดลง ซึ่งสอดคล้องกับการใช้พลังงานของประเทศไทยที่ลดลงเล็กน้อย 

สำหรับการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงานแยกรายชนิดเชื้อเพลิงในปี 2566 พบว่า มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 243.6 ล้านตัน CO2 ลดลงร้อยละ 2.4 โดยการปล่อยก๊าซ CO2 จากน้ำมันสำเร็จรูปมีสัดส่วนการปล่อยสูงที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 43 รองลงมาคือ ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน/ลิกไนต์ มีสัดส่วนร้อยละ 33 และ 24 ตามลำดับ 

ทั้งนี้ การปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ และน้ำมันสำเร็จรูป ในปี 2566 เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 15.0 และ 1.1 ตามลำดับ ในขณะที่การปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้ก๊าซธรรมชาติ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ ในปี 2566 ที่ลดลง ในขณะที่การใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน

สำหรับการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงานแยกรายภาคเศรษฐกิจในปี 2566 พบว่า  มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 243.6 ล้านตัน CO2 ลดลงร้อยละ 2.4 โดยภาคการขนส่ง มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 81.6 ล้านตัน CO2 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.1 ภาคอุตสาหกรรม มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 95.2 ล้านตัน CO2 ลดลงร้อยละ 9.7 ภาคการผลิตไฟฟ้า มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 89.6 ล้านตัน CO2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 และภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ได้แก่ ภาคครัวเรือน เกษตรกรรม พาณิชยกรรม และกิจกรรมอื่น ๆ มาจากการใช้น้ำมันสำเร็จรูปเพียงอย่างเดียว มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 รวม 13.2 ล้านตัน CO2 ลดลงร้อยละ 3.5

“หากเปรียบเทียบการปล่อยก๊าซ CO2 ต่อการใช้พลังงานของประเทศไทยเทียบกับต่างประเทศ จากข้อมูลของ International Energy Agency (IEA) ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ในปี 2564 ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซ CO2 ต่อการใช้พลังงานเฉลี่ย อยู่ที่ 2.05 พันตัน CO2 ต่อการใช้พลังงาน 1 KTOE ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ภูมิภาคเอเชีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศจีน ซึ่งอยู่ที่ 2.27 / 2.28 / 2.13 และ 2.85 พันตัน CO2 ต่อการใช้พลังงาน 1 KTOE ตามลำดับ 

ซึ่งประเทศไทยมีนโยบายด้านพลังงานที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่าง ๆ ที่เป็นพลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงทำให้มีการปล่อย ก๊าซ CO2 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ซึ่งจะช่วยทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการลดปลดปล่อยก๊าซ CO2 ตามเป้าหมายของการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศได้” นายวีรพัฒน์ กล่าวว่า

'เอกนัฏ' สวนนักแซะงบพลังงาน ยัน!! กมธ.งบฯ ทำงานหนักใต้กรอบเวลาจำกัด โต้!! ฝ่ายค้านอย่าโบ้ยทุกปัญหาให้เหมือนเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ หรือ 'ยุคลุงตู่'

เมื่อวานนี้ (21 มี.ค. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ชี้แจงข้อสงสัยของสมาชิกในการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ วาระ 2 ในส่วนของกระทรวงพลังงานว่า การแปรญัตติของเพื่อนสมาชิกอย่าง น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ที่ขอปรับลดงบประมาณ 3% ก็ตรงกับที่กรรมาธิการฯ ขอปรับลดลงประมาณ 3% เพียงแต่ในการพิจารณาในสภาฯ วาระ 2 ไม่ได้เห็นรายละเอียดในการสงวนคำแปรญัตติ นอกจากยอดตัวเปอร์เซ็นต์คือ 3% ถ้าเราเห็นรายละเอียดเหล่านี้ก่อน การทำหน้าที่ของกรรมาธิการฯ คงจะมีประสิทธิภาพมากกว่านี้

ทั้งนี้ ในส่วนของกรรมาธิการฯ ไม่ได้มีเส้นแบ่งระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน เราทำหน้าที่ในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ประชุมกันหามรุ่งหามค่ำตั้งแต่เวลา 09.00 น. จนถึงเย็นทุกวัน มีเวลา 2 สัปดาห์ที่จะไล่สอบซักถามหน่วยงานแทนเพื่อนสมาชิก เพื่อรักษาผลประโยชน์งบประมาณของประเทศชาติ

สำหรับ ข้อสงสัยของสมาชิก ตนขอย้ำว่า กรรมาธิการฯ ไม่ได้มาทำหน้าที่แทนรัฐมนตรี หรือรัฐบาล ที่ น.ส.ศิริกัญญา ซักถามเกี่ยวกับเรื่องของแผนปฏิบัติการพลังงานในส่วนค่าจ้างที่ปรึกษา แต่เราได้รับคำชี้แจงจากหน่วยงานที่อนุกรรมาธิการเรียกหน่วยงานมาชี้แจง ได้แจ้งว่า ตัวของแผนจะประกาศใช้ ประมาณเดือนกันยายนปี 2567 ฉะนั้นในส่วนของตัวโครงการจ้างที่ปรึกษาสำหรับการประเมินติดตามก๊าซเรือนกระจก จึงมีความจำเป็นต้องอนุมัติงบประมาณแล้วก็ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อไปประกอบในแผนให้ประกาศใช้ทันภายในเดือนกันยายนปี 2567

นายเอกนัฏ ชี้แจงว่า กระทรวงพลังงานได้งบประมาณน้อยมาก หากเทียบกับกระทรวงอื่น น่าจะน้อยที่สุดด้วย เพราะไม่ใช่กระทรวงที่มีภารกิจไปจัดซื้อจัดจ้างหรือไปก่อสร้าง แต่เป็นกระทรวงที่ทำหน้าที่กำกับดูแล ต้องออกนโยบาย ตรวจดูกฎเกณฑ์ทำงานร่วมกับเอกชน ทำงานร่วมกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อที่จะรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ให้ประชาชนมีพลังงานใช้ในราคาถูก และมีคุณภาพเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ฉะนั้นข้อสังเกตจากสมาชิก ก็เป็นข้อสังเกตในลักษณะเดียวกันกับอนุกรรมาธิการฯ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสถานีชาร์จไฟฟ้า หรือนโยบายการสนับสนุนรถอีวีรถไฟฟ้า

“นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.พลังงาน ทราบดีถึงความสำคัญของการทำงานของกระทรวงพลังงาน แล้วก็ไม่ติดยึดว่า เป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณน้อยที่สุด แต่เนื่องจากภารกิจหลักเป็นการกำกับดูแล ถ้าจะสร้างผลงานสร้างความเปลี่ยนแปลง มันต้องมีการรื้อกฎเกณฑ์กติกาหรือระบบเดิม ซึ่งท่านก็ทำมาตลอดแก้กฎระเบียบ กฎกติกาให้เหมาะสมทันสมัยในการแก้ปัญหา” นายเอกนัฏ กล่าว

นายเอกนัฏ กล่าวย้ำว่า การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่การไปบอกว่าปัญหาทุกอย่างมันเกิดขึ้นจากรัฐบาลชุดนี้ หรือจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มันก็คงไม่ยุติธรรมกับทั้งรัฐบาลชุดนี้แล้วก็รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เช่น การตกลงให้สัมปทานบนพื้นที่อ่าวไทย ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นในยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ และไม่ได้เกิดขึ้นในยุคนี้

ส่วนหนึ่งก็เป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติ ที่ทำให้ประเทศไทยมีแหล่งพลังงาน แหล่งน้ำมัน แหล่งก๊าซธรรมชาติ ที่ผลิตขึ้นเองในประเทศ แต่ส่วนที่เป็นปัญหาข้อพิพาทเมื่อเกิดขึ้นในรัฐบาลยุคไหน ตนเชื่อว่าก็อยู่ในใจของนายกรัฐมนตรีทุกคน แล้วก็อยู่ในใจพวกเรา ที่จะต้องปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติให้มากที่สุด ไม่ใช่ไปดำเนินการตามองค์กรระหว่างประเทศ หรือบริษัทต่างชาติ อย่างเช่น เชฟรอน

“ผมขอยืนยันว่า ในระยะเวลาที่จำกัด กรรมาธิการฯทุกคนทำงานหนัก ได้ตัดสินใจแทนเพื่อนสมาชิกทุกคนอย่างรอบคอบ” นายเอกนัฏ กล่าว

‘กฟผ.’ ปรับโซนใหม่ ศูนย์การเรียนรู้ ‘Elextrosphere โลกใหม่ Right Carbon’ อัดแน่น ‘ความรู้-ความสนุก-สื่อทันสมัย’ จูงใจเรียนรู้เรื่องพลังงานอย่างมีส่วนร่วม

เมื่อวานนี้ (25 มี.ค. 67) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดรอบพิเศษแก่คณะสื่อมวลชน ชมนิทรรศการศูนย์การเรียนรู้ที่ปรับปรุงใหม่ ‘Elextrosphere โลกใหม่ Right Carbon’ โดยมีนางสาวรัชดาพร เสียงเสนาะ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและประชาสัมพันธ์องค์การ กฟผ. และผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้นำชม ณ ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี 

กฟผ. ปรับปรุงนิทรรศการศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง โซน ที่ 2 และ 5 ด้วยเทคโนโลยีสื่อจัดแสดงที่ทันสมัย ให้เยาวชนและผู้เยี่ยมชมได้สัมผัสประสบการณ์อันตื่นตาตื่นใจไปกับการเรียนรู้ด้านพลังงานอย่างมีส่วนร่วม ภายใต้กลยุทธ์ EGAT Carbon Neutrality ของ กฟผ. โดยจัดแสดง ผ่าน 5 สัมผัสพิเศษ 5 เทคนิคจัดแสดง ดังนี้

โซนที่ 2 Elextrosphere โลกใหม่ Right Carbon:
1. Elextrosphere โลกใหม่ Right Carbon นิทรรศพลังงานแห่งอนาคตกับการสร้างประสบการณ์ร่วมในโลกเสมือน พาทุกคนร่วมเดินทางไปสัมผัสความรู้สึกเมื่อโลกที่เราอาศัยอยู่ต้องเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง และความงดงามของโลกแห่งจินตนาการที่ทุกสรรพสิ่งอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล ในดินแดนคาร์บอนเรืองแสง ผ่านเทคนิค Interactive Immersive Experience & Theater 6D - 8K ภาพยนตร์ 6 มิติ บนจอภาพยนตร์ขนาดยักษ์ความยาวถึง 30 เมตร

โซนที่ 5 Right Carbon สร้างสมดุลคาร์บอน:
2. Carbon คือผู้ร้ายจริงหรือ แกะร่องรอยปริศนาผู้อยู่เบื้องหลังภาวะโลกเดือด จุดเริ่มต้นของปัญหาภัยพิบัติครั้งยิ่งใหญ่ ตามหา Carbon ที่อยู่รอบตัวเราผ่านเทคนิค AR Interactive

3. พลังงานขับเคลื่อนชีวิต ย้อนเวลาสู่ก้าวแรกแห่งการค้นพบพลังงานไฟฟ้าเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของ กฟผ. และสนุกกับเกมการเรียนรู้ด้านพลังงานรูปแบบ Self-learning ผ่านเทคนิค Model Interactive Projection Mapping Graphic Wall

4. Welcome to ELEXTROSPHERE ภารกิจขับเคลื่อนโลกสู่ ‘EGAT CARBON NEUTRALITY’ ภายใต้กลยุทธ์ Triple S ลด ชดเชย กักเก็บ อาทิ การปรับปรุงโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ รองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน และทางเลือกในการจัดการพลังงานแห่งอนาคต ผ่านเทคนิค Projection Mapping Interactive & AR Interactive

5. แต่งแต้มจินตนาการให้แก่โลก ELEXTROSPHERE สนุกกับกิจกรรมกักเก็บ Carbon เพื่อสร้างสมดุลพลังงานยั่งยืน คืนชีวิตแก่ ต้นไม้แสงนิรันดร์ และมีส่วนร่วมในการสร้างโลกใหม่ Right Carbon ด้วยการปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ แต่งแต้มสีสันให้กับ ELEXTROSPHERE ผ่านเทคนิค Touch Screen L&S Interactive Projection Mapping

นอกจาก 2 โซนใหม่เอี่ยมล่าสุดแล้ว ยังมีอีก 5 โซนที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น โซน 1 จุดประกาย จุดประกายแสงแรกในตัวคุณ ลงทะเบียนรับ RFID แปลงร่างเป็น AVATAR ผจญภัยในโลกพลังงานไฟฟ้า 

โซน 3 คืนสู่สมดุล สัมผัสชีวิตอนาคตที่มีความสมดุลระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติ และเทคโนโลยี 

โซน 4 สายน้ำแห่งความภูมิใจ สัมผัสภารกิจแห่งในการดูแลชุมชน ตั้งแต่ป่าต้นน้ำสู่สายน้ำเจ้าพระยาควบคู่ไปกับการผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทย 

โซน 6 โลกที่ยั่งยืน สำรวจโลกพลังงานไฟฟ้าการบริหารจัดการกับการใช้ไฟฟ้าจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก 

โซน 7 แสงนิรันดร์ ประมวลผลการเรียนรู้และรวมพลังสร้างแสงแห่งสุขนิรันดร์

ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง เปิดให้บริการทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ ตั้งแต่เวลา 09.00 - 16.00 น. สนใจสามารถเข้าชมได้ฟรี ติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊กเพจ ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง หรือ โทร. 0-2436-8953

‘พพ.’ ผนึกกำลังลงนาม MOU ‘3 สมาคมวิชาชีพ’ ยกระดับพัฒนาประสิทธิภาพ ‘พลังงาน-พลังงานทดแทน’

พพ. ผนึก 3 สมาคมวิชาชีพ สานต่อการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานและพลังงานทดแทน มุ่งสร้างมาตรฐานวิชาชีพด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนให้เข้มแข็ง เตรียมผลิตบุคลากรด้านพลังงานกว่า 1,400 คน ขับเคลื่อนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การสนับสนุนและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานและพลังงานทดแทน ระหว่างสมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย โดย นายธวัช มีชัย นายกสมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร โดย ดร.พิชญะ จันทรานุวัฒน์ นายกสมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร และสมาคมไฟฟ้าแสงสว่างแห่งประเทศไทย โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฐมทัศน์ จิระเดชะ นายกสมาคมไฟฟ้าแสงสว่างแห่งประเทศไทย ณ อาคารอนุรักษ์พลังงานเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดปทุมธานี

ทั้งนี้ นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า การลงนามดังกล่าวเป็นการสานต่อความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงาน ให้มีความต่อเนื่องจากบันทึกข้อตกลงเดิมได้สิ้นสุดลง โดยมีประเด็นสาระสำคัญในการสนับสนุนและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานและพลังงานทดแทน ในด้านมาตรฐานการปฏิบัติงาน ระบบฐานข้อมูล การสนับสนุนองค์ความรู้ การพัฒนาบุคลากร ให้กับวิศวกร สถาปนิก ผู้บริหารอาคารและโรงงาน เจ้าหน้าที่อาคารและโรงงานผู้รับผิดชอบด้านพลังงาน ผู้ตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน ผู้ตรวจสอบอาคาร ผู้ตรวจประเมินค่าอนุรักษ์พลังงาน ผู้ตรวจระบบผลิตพลังงานควบคุม และบุคคลทั่วไป เพื่อนำไปสู่การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โดยกิจกรรมแรกที่จะเกิดขึ้นจากความร่วมมือนี้ คือ หลักสูตรอบรม ‘การจัดทำแบบตรวจสอบระบบผลิตพลังงานควบคุม’ กรณีผลิตพลังงานควบคุมจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อพัฒนามาตรฐานประสิทธิภาพด้านพลังงานควบคุมเรื่องกำเนิดไฟฟ้า การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านพลังงานและแบ่งปันข้อมูลการใช้พลังงานสำหรับภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม และการพัฒนาบุคลากรจัดฝึกอบรมผู้ตรวจสอบระบบผลิตพลังงานควบคุมเพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจในหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการตรวจสอบและจัดทำรายงานแบบตรวจสอบระบบผลิตพลังงานควบคุม เพื่อให้ความเห็นในการพิจารณาออกใบอนุญาตผลิตพลังงานควบคุมจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งพัฒนามาตรฐานประสิทธิภาพการใช้พลังงานและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบก่อสร้างอาคารหรือดัดแปลงอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานให้แก่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยในปีที่ผ่านมามีผู้ผ่านการอบรมรวมจำนวน 181 คน โดย พพ.มีเป้าหมายผลิตผู้ตรวจสอบระบบผลิตพลังงานควบคุมให้ได้กว่า 1,400 คน เพื่อให้เพียงพอและทันต่อกระแสการประหยัดพลังงาน การผลิตและใช้พลังงานทดแทน อาทิ การติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป การผลิตพลังงานจากระบบก๊าซชีวภาพ ของสถานประกอบการ เป็นต้น

นายวัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า “จากความร่วมมือนี้ นับเป็นร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ กับสมาคมวิชาชีพ เพื่อร่วมกันผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจ มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างมาตรฐานวิชาชีพด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ที่มีความเข้มแข็ง ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” นายวัฒนพงษ์ กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top