Wednesday, 15 May 2024
พลังงาน

5 นโยบายเร่งด่วนรัฐ เรื่องไหนกระตุ้น ศก. เรื่องไหนกระตุ้นความกังวล ‘แก้รธน.-ส่งเสริมท่องเที่ยว-แก้หนี้-ลดราคาพลังงาน-แจกเงินดิจิทัล’

คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา วันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา สรุป 5 ประเด็นสำคัญ ที่ประกาศเป็นนโยบายเร่งด่วน

1.เติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

2.แก้ปัญหาหนี้สิน เช่น พักหนี้เกษตรกร ช่วยประคองหนี้สิน ลดต้นทุนทางการเงิน

3.ลดภาระค่าใช้จ่ายราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าน้ำมัน

4.สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ตั้งเป้าอำนวยความสะดวก ปรับปรุงขั้นตอนขอ-เก็บค่าธรรมเนียมวีซ่า ปรับปรุงระบบคมนาคม

5.หารือแนวทางนำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ให้คนไทยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และไม่แก้ในหมวดพระมหากษัตริย์

จากวันที่แถลงนโยบาย มาจนถึงปัจจุบัน  นโยบายที่เห็นเป็นรูปธรรม ลำดับแรก คงเป็น นโยบายที่ 3 คือ การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน อันเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตและเศรษฐกิจ ซึ่งมีการปรับลดค่าน้ำมันเชื้อเพลิง เริ่มจากน้ำมันดีเซล ให้ต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร และ ลดน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 ลง 2.50 บาทต่อลิตร จากโครงสร้างราคาเดิม เป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่ง ครม. ก็ได้ให้ไฟเขียวในการประชุมไปเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ที่ผ่านมา รวมทั้งปรับลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.99 บาท/หน่วย มีผลตั้งแต่รอบบิลเดือนกันยายน 2566 จนถึงรอบบิลเดือนธันวาคม 2566

นอกจากนี้ รัฐบาลจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ โดยวางแผนความต้องการและสนับสนุนการจัดหาแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการผลิต และการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เร่งเจรจาการใช้พลังงานในพื้นที่อ้างสิทธิกับประเทศข้างเคียง และสำรวจแหล่งพลังงานเพิ่มเติม รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ ภายใต้กลไกตลาด เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะมีความมั่นคงทางพลังงานที่จะขับเคลื่อนประเทศต่อไป

นโยบายเร่งด่วนถัดมา ที่เริ่มดำเนินการ คือ นโยบายที่ 2 การแก้ปัญหาหนี้สินทั้งในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน รัฐบาลจะลดภาระพี่น้องเกษตรกรด้วยการพักหนี้เกษตรกรตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม รวมถึงมาตรการช่วยประคองภาระหนี้สินและต้นทุนทางการเงินสำหรับภาคประชาชนที่ครอบคลุม ถึงผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ได้มีโอกาสในการฟื้นตัวและกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง ซึ่งในส่วนการพักชำระหนี้เกษตรกร ระยะเวลา 3 ปี เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ เมื่อ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่าน BAAC Mobile ของ ธ.ก.ส. มากกว่า 2.5 แสนราย

นโยบายอีกด้านที่ลงมือดำเนินการแล้ว คือ นโยบายที่ 4 ผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น และสร้างงานให้กับประชาชน ซึ่งภาคเอกชน ร่วมกันขานรับ ทั้งมาตรการการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่า และมาตรการยกเลิกการออกวีซ่าประเทศเป้าหมายชั่วคราว ซึ่งคาดการณ์ว่าจะกระตุ้นยอดนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าพื้นที่ท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 30-40% โดยเริ่มใช้นโยบายวีซ่าฟรีกับกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน ตั้งแต่ 25 ก.ย. 2566-29 ก.พ. 2567 รวมระยะเวลา 5 เดือน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

จากนโยบาย ทั้ง 3 ที่ 'ลด แลก แถม' ในแพ็กเก็จต่างๆ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หลัง Covid-19 ให้ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง กระทบฐานะทางการคลังของประเทศไม่มากนัก และส่งเสริมให้ภาครัฐ สามารถจัดเก็บภาษีกลับคืนได้พอสมควร 

แต่ที่ประเด็นใหญ่ ที่ยังหาช่องทางดำเนินการไม่ได้ คงไม่พ้น นโยบาย 'แจก' เงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่นักเศรษฐศาสตร์ของไทยเกือบ 100 คน ลงชื่อคัดค้านไม่เห็นด้วยในการดำเนินการ เนื่องจากจะกระทบกับเสถียรภาพทางด้านการคลังเป็นอย่างมาก โดยมี 2 อดีต ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมคัดค้านในนโยบาย ที่จะ 'ได้ไม่คุ้มเสีย' ฟากรัฐบาลก็ยังไม่มีทีท่าจะยกเลิก โดยพยายามหาแนวทางในการดำเนินการ และจุดสำคัญ คือ จะจัดหาเงินงบประมาณ 560,000 ล้านบาท มาจากที่ไหน อย่างไร เพื่อมาแจกให้กับประชาชน

สำหรับอีก 1 นโยบายเร่งด่วนที่แถลงต่อรัฐสภา คือ การแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แน่นอนว่า ประเด็นนี้ ไม่ช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นเพียงการแก้ไข ที่จะเปิดช่อง กำหนดกติกาให้นักการเมืองในฝ่ายตน ได้เปรียบในการแข่งขันลงเลือกตั้ง เพื่อถืออำนาจรัฐในมือมากกว่า 

สุดท้าย นโยบายเร่งด่วน ที่รัฐบาลปัจจุบันแถลง ฐานะทางการเงินของประเทศไทย จากที่เคยมีทุนสำรองระหว่างประเทศรวม (Gross Reserves) อยู่ที่ 2.46 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาทที่ 8.17 ล้านล้านบาท ณ เดือนตุลาคม 2564 สูงเป็นลำดับที่ 12 ของโลก หลังจากนี้ไป จะเป็นอย่างไร คงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

‘พีระพันธุ์’ เตรียมข้อมูลแก้กฎหมายพลังงานทั้งระบบ สร้างความเป็นธรรม-มั่นคง-ยั่งยืน ใช้ต่อได้แม้เกิน 4 ปี

(2 ต.ค. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โพสต์รูปภาพขณะนั่งทำงาน พร้อมข้อความกำกับว่า… “เตรียมข้อมูลแก้กฎหมายพลังงานทั้งระบบครับ”

ก่อนหน้านี้ นายพีระพันธุ์ ได้ประกาศข่าวดี โดยกระทรวงพลังงานสามารถตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท และลดราคาเบนซิน 91 ลง 2.50 บาท 

ส่วนไฟฟ้าปรับลดจากราคาหน่วยละ 4.45 บาท ให้เหลือ 4.10 บาท โดยจะดำเนินการเพิ่มเติมในส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไปอีก เพื่อหาทางปรับลดราคาค่าไฟฟ้าให้เหลือไม่เกินหน่วยละ 4 บาท

และสำหรับก๊าซหุงต้มตามแนวโน้มตลาดโลกจะขึ้นทุกปลายปี เพราะเป็นช่วงฤดูหนาวจะทำให้ราคาก๊าซหุงต้มในประเทศไทยสูงตามไปด้วย แต่สัญญาว่าจะตรึงราคาไว้ที่ 423 บาท สำหรับถังขนาด 15 กิโลกรัม ราคาเดิมต่อไป

นอกจากนี้ยังได้กำหนดแผนระยะสั้น-กลาง-ยาว เพื่อดูแลราคาพลังงานให้เป็นธรรม มั่นคง ยั่งยืนเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน โดยแผนการทำงานระยะสั้นจะเป็นนโยบายพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่จะปรับลดราคาพลังงาน และเป็นสิ่งโชคดีที่ นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน มีแนวนโยบายนี้และเป็นแนวนโยบายของรัฐบาลด้วย ทำให้นโยบายระยะสั้นเป็นจริงได้คือ ‘การลดค่าไฟฟ้า ลดราคาน้ำมัน’

ส่วนระยะกลางคือ การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานของกระทรวงและทำให้โครงสร้างพลังงานมีความเป็นธรรม เหมาะสม และรองรับความมั่นคงของประเทศทุกด้าน สโคปของแผนก็คือ

1) จะรวบรวมกฎหมายเกี่ยวกับพลังงานทั้งหมดมาศึกษา หากรวมได้จะรวม ถ้าไม่จำเป็นก็ยกเลิก เพื่อลดจำนวนกฎหมายให้น้อยลง หรือหากเรื่องไหนไม่มีกฎหมายก็เขียนใหม่

2) กฎหมายพลังงานจะต้องตอบสนอง 3 เรื่อง คือ ต้องทำให้เกิดความมั่นคง เป็นธรรม และเกิดความยั่งยืน

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ตอนนี้ผมได้ตั้งคณะกรรมการปรับปรุงและแก้ไขกฎหมาย มี ท่านอธึก อัศวานันท์ ที่ปรึกษาเป็นประธาน เริ่มทำงานมา 2 นัดแล้ว และมีตัวแทนจาก สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ดูแลด้านกฎหมายมาทำ ให้รายงานทุก 30 วัน ส่วนระยะยาวต้องเตรียมการงานบริหารกระทรวง ทั้งกฎหมายที่ต้องออกมารองรับเพื่อให้นโยบายเป็นไปตามที่บอกทั้งหมด มั่นคง เป็นธรรม ยั่งยืน สามารถเดินต่อไปได้แม้ว่าจะเลยจากนี้ไป 4 ปีก็จะยังคงอยู่

‘พีระพันธุ์’ ขอบคุณทุกฝ่ายร่วมแก้ปัญหา ลั่น!! ตอนนี้ทุกปั๊มมีน้ำมันพร้อมให้บริการ

(13 พ.ย. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า จากกรณีที่สัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดปัญหาน้ำมันในสถานีบริการมีไม่เพียงพอต่อการจำหน่ายเนื่องจากประชาชนตอบรับนโยบายลดราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน ทำให้ก่อนวันลดราคาในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ประชาชนชะลอการเติม และมาเติมพร้อมกันในวันที่ 7 พฤศจิกายน ซึ่งมียอดเติมน้ำมันเบนซินทุกชนิดรวมกันสูงถึงเกือบ 70 ล้านลิตรในวันเดียว จากปกติมีการเติมเฉลี่ยวันละ 30 ล้านลิตร

โดยจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หลังทราบปัญหา จึงได้มีการสั่งการตั้งคณะทำงานตรวจสอบการจำหน่ายน้ำมันขึ้นทันที และมีการจัดประชุมในเย็นวันเดียวกันเพราะเข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งสำนักงานพลังงานจังหวัด พาณิชย์จังหวัด และเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม ก็ได้เร่งลงพื้นที่ พร้อมกำชับสถานีบริการน้ำมันที่มีน้ำมันไม่เพียงพอจำหน่ายเร่งซื้อน้ำมันเข้ามาเติมเพื่อให้ประชาชนไม่ได้รับผลกระทบ 

ทั้งนี้ ต้องขอบคุณทั้งข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ทุกฝ่าย ที่เร่งดำเนินการแก้ปัญหา รวมทั้งขอบคุณเจ้าของสถานีบริการน้ำมันและผู้ค้าน้ำมัน ที่เร่งดำเนินการ ทั้งการเพิ่มรอบส่งน้ำมัน การปรับแผนกระจายน้ำมันให้ทั่วถึง จากการตรวจสอบก็พบว่า สถานีบริการที่อยู่ในเมือง สามารถแก้ปัญหาได้ภายใน 1-2 วัน ยกเว้นสถานีบริการน้ำมันที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่จำเป็นต้องจ้างรถเอกชนเพิ่มเติม ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ใน 3-4 วัน

"ผมยังยึดมั่นคำเดิม อะไรที่ทำได้ ทำก่อน อย่างกรณีวันแรก (7 พ.ย.66) ทันทีที่มีการแชร์ข้อมูลเรื่องสถานีบริการมีน้ำมันไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย ผมได้สั่งการให้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบการจำหน่ายน้ำมันขึ้นทันที ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการลงพื้นที่ตรวจสอบสถานีบริการน้ำมัน และส่งข้อมูลเข้าส่วนกลาง เพื่อแจ้งไปยังกรมธุรกิจพลังงานให้เร่งประสานผู้ค้าน้ำมันในการเพิ่มรอบการส่ง กระจายปริมาณน้ำมันจากคลังให้เพียงพอและทั่วถึง ซึ่งบางสถานีบริการอยู่ในพื้นที่ห่างไกล จึงอาจเกิดความล่าช้าในการขนส่ง และบางสถานีระบบสั่งจ่ายน้ำมันก็เกิดเหตุขัดข้อง ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัย ผมขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกันแก้ไขปัญหาและสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ถึงแม้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติแล้ว กระทรวงพลังงานจะยังคงติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง หากประชาชนพบว่าปัญหาเรื่องการจำหน่ายน้ำมัน สามารถแจ้งเรื่องได้ที่ศูนย์บริการร่วมกระทรวงพลังงาน โทร 02-140-7000” นายพีระพันธุ์กล่าว

‘ครม.’ เคาะงบฯ 5.37 ล้านเหรียญฯ พัฒนาพลังงาน ‘ไทย-มาเลย์ฯ’ หวังสร้างความมั่นคง-เสถียรภาพด้านพลังงาน-เศรษฐกิจให้ประเทศ

(14 พ.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณ จำนวน 5,375,000 เหรียญสหรัฐ และแผนการดำเนินงานประจำปี 2567 ขององค์กรร่วมไทย - มาเลเซีย

แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน จำนวน 5,250,900 เหรียญสหรัฐ และค่าใช้จ่ายที่เป็นทุน จำนวน 124,100 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 375,000 เหรียญสหรัฐ

-ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) เพิ่มขึ้น 8.6% เทียบเท่า 414,800 เหรียญสหรัฐ
-ค่าใช้จ่ายที่เป็นทุน (CAPEX) ลดลง 24.3% เทียบเท่า 39,800 เหรียญสหรัฐ

นางรัดเกล้ากล่าวว่า โดยแผนการดำเนินงานในปี 2567 ประกอบด้วย ด้านการสำรวจและการประเมินผล ด้านการพัฒนาปิโตรเลียม และด้านการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย - มาเลเซีย เช่น เจาะหลุมพัฒนา จำนวน 8 หลุม รักษาระดับการผลิตก๊าซธรรมชาติที่เรียกรับสูงสุดในอัตรา 869 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ดำเนินการเจาะหลุมพัฒนาตามแผนพัฒนาแหล่งในระยะที่ 6 จำนวน 17 หลุม รักษาระดับอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติที่เรียกรับสูงสุดในอัตรา 308 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซ่อมแซมหลุมผลิตเดิมและเจาะผนังหลุมเพิ่ม เพื่อรักษาอัตราการผลิตของหลุม

นางรัดเกล้ากล่าวว่า ทั้งนี้ให้รับความเห็นของกระทรวงการคลังที่ให้คำนึงถึงประเด็นความคุ้มค่า ต้นทุนและผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม

ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย และความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ให้กระทรวงพลังงานเร่งรัดการเสนองบประมาณและแผนการดำเนินงานประจำปีขององค์กรร่วมไทย - มาเลเซีย ต่อคณะรัฐมนตรีตามกรอบระยะเวลา ข้อ 3 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2536) ออกตามความในพระราชบัญญัติองค์กรร่วมไทย - มาเลเซีย พ.ศ. 2533 กำหนด ไปดำเนินการอย่างเคร่งครัดต่อไปด้วย

‘พีระพันธุ์’ เอาจริง!! คุมค่าไฟฟ้า-ตรึงราคาน้ำมัน 10 วัน พร้อมลดสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ 5 กับทุกห้างที่ร่วม

(22 ธ.ค.66) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาของขวัญปีใหม่เพิ่มเติมให้แก่ประชาชน หลังจากที่ได้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว โดยมีทั้งราคาค่าไฟงวดใหม่ (ม.ค. - เม.ย.67) สำหรับกลุ่มเปราะบางหรือครัวเรือนที่ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน ไว้ที่ 3.99 บาท/หน่วย และครัวเรือนทั่วไป ไม่เกิน 4.20 บาท/หน่วย, การตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร และตรึงราคาก๊าซหุงต้มไม่เกิน 423 บาท/ถัง 15 กก.

นอกจากนี้ ในช่วงของการเดินทางกลับภูมิลำเนา และเดินทางท่องเที่ยว บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) จะไม่ปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันทุกชนิด ตลอด 10 วัน ในช่วงระหว่างวันที่ 24 ธ.ค.66 - 3 ม.ค.67 หากราคาตลาดโลกลดลง จะปรับราคาในประเทศลงด้วย

ขณะเดียวกันประชาชนสามารถนำรถยนต์เข้าตรวจสภาพโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายก่อนการเดินทางในช่วงปีใหม่ที่สถานีบริการ FIT Auto จำนวน 35 รายการ พร้อมให้บริการเติมลมยางไนโตรเจนและปะยางฟรี อีกทั้งยังจัดส่วนลดสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าติดฉลากเบอร์ 5 ใหม่ ได้ส่วนลด 200 - 1,000 บาท (ขึ้นอยู่กับราคาสินค้า) รวม 15,000 สิทธิ ณ ห้างสรรพสินค้าที่ร่วมรายการ

“เป็นความตั้งใจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่อยากจะมีของขวัญปีใหม่ให้มากที่สุด เพื่อมอบให้กับประชาชน เพื่อเป็นการลดรายจ่าย และซื้อสินค้าได้ในราคาถูกและเป็นสินค้าคุณภาพ” รัดเกล้า กล่าว

‘พีระพันธุ์’ พร้อม!! ตรึงดีเซลไม่เกิน 30 บาท 3 เดือน ลั่น!! จะดูแลราคาพลังงานให้อยู่ในระดับนี้ตลอดปี

ข่าวดี!! ‘พีระพันธุ์’ ลั่น!! ตรึงดีเซลไม่เกิน 30 บาท ทั้งปี 67 ด้านค่าไฟเริ่มเห็นสัญญาณต้นทุนทรงตัวจากปริมาณก๊าซในแหล่งอ่าวไทยเพิ่มขึ้น พร้อมลุย!! ‘รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง’ เต็มรูปแบบควบคู่การดูแลราคาพลังงาน

(12 ม.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ปี 2567 จะดูแลราคาพลังงานให้อยู่ในระดับนี้ต่อไป โดยตลอดปีนี้ ทั้งค่าไฟ ที่เริ่มเห็นสัญญาณต้นทุนทรงตัว เพราะจะมีปริมาณก๊าซในแหล่งอ่าวไทยเพิ่มขึ้น รวมถึงน้ำมันโดยเฉพาะน้ำมันดีเซลต้องอยู่ระดับไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรต่อไป ขณะที่ ราคาแอลพีจี (LPG) และเอ็นจีวี (NGV) จะดูแลให้อยู่ระดับนี้ต่อไปด้วยเช่นกัน ซึ่งทั้งหมดต้องอาศัยความร่วมมือจากรัฐบาล ทุกหน่วยงานรัฐ

นอกจากนี้ จะเดินหน้า ‘รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง’ เต็มรูปแบบควบคู่การดูแลราคาพลังงาน โดยคาดว่ากฎหมายหลายฉบับที่ปรับแก้ รื้อ หรือยกร่างใหม่จะชัดเจนทั้งหมด อาทิ ประเด็นโครงสร้างราคาน้ำมัน ปัจจุบันประกอบด้วย ราคาหน้าโรงกลั่นของฝั่งเอกชน บวกฝั่งรัฐคือ ภาษีต่าง ๆ บวกส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือกองทุนฯ อุดหนุน ซึ่งฝั่งรัฐกลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเกือบ 100%

ดังนั้น สิ่งที่ทำได้ทันทีคือ การหารือกับกระทรวงการคลัง (นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง) และกระทรวงมหาดไทย (นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย) โดยเป็นการหารือระดับรัฐมนตรี เพื่อเป็นนโยบายรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชนอย่างถาวร เพราะโครงสร้างจากรัฐมีมานานตั้งแต่ตั้งกระทรวง ไม่มีการปรับแก้ 

ส่วนต้นทุนหน้าโรงกลั่นเมื่อแก้กฎหมายแล้ว กระทรวงพลังงานจะมีอำนาจเรียกดูข้อมูลที่เอกชนอ้างเป็นความลับทางการค้า ทั้งหมดนี้ราคาน้ำมันของไทยจะลดลงด้วยโครงสร้างที่เป็นธรรมอย่างแท้จริง

ด้านกรณีการตรึงราคาดีเซล 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค. 67) ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยไม่มีการช่วยเหลือทางภาษีจากกระทรวงการคลังนั้น คาดว่าวันที่ 16 มกราคมนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอคือ ลดภาษีดีเซลเพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยรายละเอียดอยู่ที่กระทรวงการคลังในการพิจารณาอัตรา และช่วงเวลาการสนับสนุน

นายพีระพันธุ์ กล่าวอีกว่า ผลงานสำคัญของกระทรวงพลังงานปีที่ผ่านมาคือ การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งค่าไฟฟ้า ล่าสุดงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 67 อยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย และกลุ่มเปราะบาง 3.99 บาทต่อหน่วย

ขณะที่น้ำมัน กลุ่มเบนซินไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ลดกลุ่มเบนซิน โดยเฉพาะน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ราคาลดลง 2.50 บาทต่อลิตร นอกจากนี้ยังตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) และก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (เอ็นจีวี) ด้วย

"ประเด็นค่าไฟได้มีการปรับโครงสร้างก๊าซธรรมชาติ ด้วยการบริหารให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติใช้ก๊าซในราคาพูลก๊าซ คือ ราคาเฉลี่ยจากทุกแหล่งที่มา ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้ ถือเป็นความสำเร็จหนึ่งในการปรับโครงสร้างพลังงานประเทศที่ผมประกาศไว้" นายพีระพันธุ์ ทิ้งท้าย

'พลังงาน' เปิดเกมรุก!! จับมือ 5 หน่วยงาน  ส่งเสริมปั๊มฯ ลุย EV Charging Station 

(15 ม.ค.67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยถึงแผนการรองรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ว่าในปี 2567 กรมธุรกิจพลังงาน มีแผนจัดทำมาตรฐานติดตั้งทางไฟฟ้าและกำหนดกรอบการให้บริการติดตั้ง EV Charging Station รวมถึงการลงนาม MOU ระหว่าง 5 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมธุรกิจพลังงาน, สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน, การไฟฟ้านครหลวง, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

ขณะเดียวกัน ยังได้เตรียมแผนลดชนิดหัวจ่ายน้ำมันกลุ่มดีเซล ให้เหลือน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเกรดพื้นฐานชนิดเดียว (บี 7) เนื่องจากเป็นน้ำมันที่สามารถใช้กับรถยนต์มาตรฐานยูโร 5 ได้ทุกรุ่นทุกยี่ห้อ และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 (น้ำมันทางเลือก) เริ่ม 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป 

นอกจากนี้ ยังได้มีการพัฒนาระบบ e-Service เพื่อยกระดับการให้บริการประชาชน มีการพัฒนาระบบ Stockpile และ e-Fuelcard และปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ e-Safety e-Trade และ e-License และระบบสำรองข้อมูลเพื่อรองรับการดำเนินงานในรูปแบบ e-Service รวมทั้ง มีแผนส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจใหม่ (New Business) ของผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่มุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2566 และแผนการดำเนินงานในปี 2567 โดยภาพรวมได้ดำเนินการปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นมาตรฐานยูโร 5 (กำมะถัน ไม่เกิน 10 ppm) เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป พร้อมทั้งมีการส่งเสริมการติดตั้ง EV Charging Station ภายในสถานีบริการน้ำมันอีกด้วย

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวเสริมว่า "สำหรับการส่งเสริมการติดตั้ง EV Charging Station ภายในสถานีบริการน้ำมันนั้น หนึ่งในยุทธศาสตร์ที่เราจะใช้ คือ การทำให้กระบวนการอนุมัติอนุญาต มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น จากการร่วมปรับกระบวนการของแต่ละหน่วยงานให้มีช่วงเวลาที่สอดคล้องกันรวมถึงปรับข้อกำหนดมาตรฐานไฟฟ้าให้สอดคล้องกันทั้ง กรมธุรกิจพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และ ทั้ง 3 หน่วยงานการไฟฟ้าในประเทศไทย ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง และ PEA หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค"

‘ก.พลังงาน’ เล็งใช้สิทธิทางภาษีจูงใจ ‘ภาคเอกชน’ หันมาใช้เครื่องจักรคุณภาพสูง เพื่อลดการใช้พลังงาน

(23 ม.ค.67) นายชำนาญ กายประสิทธิ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนา ‘การส่งเสริมการผลิต การใช้และการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร วัสดุ และอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง ด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี’ ภายใต้โครงการพัฒนาและติดตามผล มาตรการทางภาษีเพื่อการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ว่า การดำเนินงานโครงการนั้นเป็นการศึกษาแนวทางการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อส่งเสริมการลงทุนและการปรับมาใช้เครื่องจักร วัสดุ และอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพพลังงาน โดยใช้กลไกทางการเงินเพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนและการปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักร วัสดุ และอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศ

ด้าน นายสมชาติ ตั้งลิขสิทธิ์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กล่าวว่า พพ. ได้ดำเนินการศึกษาโครงสร้างภาษี ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อม รวมถึงรูปแบบสิทธิประโยชน์ทางภาษี เครื่องจักร อุปกรณ์และกิจกรรมที่ให้สิทธิประโยชน์ ผู้รับสิทธิประโยชน์ และอัตราภาษีที่ได้รับสิทธิประโยชน์ ที่ได้ดำเนินการในประเทศไทย และในต่างประเทศ

พร้อมกันนี้ ยังได้จัดประชุมหารือและรับฟังความคิดสำหรับ (ร่าง) แนวทางและหลักเกณฑ์การส่งเสริมการผลิตการใช้ และการปรับเปลี่ยนเครื่องจักร วัสดุ และอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงด้วยสิทธิประโยชน์ทางภาษี กับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน

อย่างไรก็ดี ได้มีผลการศึกษาแนวทางในการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เหมาะสมต่อประเทศไทย คือ รูปแบบการยกเว้นภาษีเงินได้ โดยหักเป็นค่าใช้จ่ายก่อนการคำนวณภาษี และสนับสนุนอุปกรณ์ที่ติดฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง, อุปกรณ์ที่ติดฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพพลังงาน เพื่อผลักดันให้มีการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงมากยิ่งขึ้น และยังช่วยลดการใช้พลังงานในภาพรวมของประเทศ ภายใต้เงื่อนไขอัตราภาษีที่จะนำไปคำนวณสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมนั้น จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ด้านพลังงานที่จะได้รับ

อย่างไรก็ตาม แนวทางที่ได้จากการศึกษาจำเป็นต้องมีการนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาก่อนดำเนินการต่อไป

‘รมว.ปุ้ย’ เร่งศึกษากม. ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม-น้ำ ในครัวเรือน เตรียมชงเข้า ครม. พร้อม ‘โซลาร์รูฟท็อปเสรี’ หวังลดค่าไฟ ปชช.

(25 ม.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันกำลังเร่งดำเนินการศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม และน้ำภาคครัวเรือน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนเป็นหลักเกี่ยวกับเรื่องของการลดค่าใช้จ่ายให้กับครัวเรือน และไม่ให้มีปัญหาเรื่องของไฟฟ้า เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาพร้อมกับนโยบายโซลาร์รูฟท็อป (Solar rooftop) เสรีในส่วนครัวเรือนของพรรคครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)

ขณะที่ความคืบหน้านโยบายโซลาร์รูฟท็อปเสรีในส่วนครัวเรือนนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการเรื่องดังกล่าวเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน โดยปัจจุบันได้ปลดล็อกเรื่องการขอใบอนุญาตแล้วทั้งระบบ 

"กระทรวงฯ อำนวยความสะดวกให้แล้ว ด้วยการปลดล็อกการขอใบอนุญาต รง.4 ได้สบายมากขึ้น ไม่ต้องมาขอ ในภาคครัวเรือนด้วยเช่นเดียวกัน"

อย่างไรก็ดี ต้องเรียนว่าการติดตั้งโซลาร์ของครัวเรือนส่วนใหญ่จะมีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าไม่เกิน 10 เมกกะวัตต์ จะไม่ต้องขอใบอนุญาต รง.4 อยู่แล้ว 

ดังนั้น การดำเนินการดังกล่าวจึงเปรียบเสมือนเป็นการปลดล็อกทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่ และขนาดเล็กในครั้งเดียว

‘กกพ.’ เปิด 3 แนวทางค่าไฟงวดใหม่ สูงสุด 5.44 ต่ำสุดตรึงไว้ที่ 4.18 เท่าเดิม

(8 มี.ค. 67) นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกพ. มีมติรับทราบภาระต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจริงประจำรอบเดือน ก.ย. - ธ.ค. 2566 และเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีสำหรับงวดเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 พร้อมให้สำนักงาน กกพ. นำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ไปรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่าง ๆ ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 8 - 22 มีนาคม 2567 ประกอบด้วย

กรณีที่ 1 จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างทั้งหมดในงวดเดียว แบ่งเป็น ค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 จำนวน 19.21 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 99,689 ล้านบาท ในงวดเดียวหรือ 146.03 สตางค์ต่อหน่วย รวมเป็นค่าเอฟทีเรียกเก็บ 165.24 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพิ่มขึ้นเป็น >> 5.4357 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 2 จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 4 งวด แบ่งเป็นค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 จำนวน 19.21 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 99,689 ล้านบาท ภายใน 4 งวดๆ ละ จำนวน 24,922 ล้านบาท หรือ 36.51 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟทีเรียกเก็บที่ 55.72 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วยแล้วทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น >> 4.3405 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 3 ตรึงค่าเอฟทีเท่ากับงวดปัจจุบันตามที่ กฟผ. เสนอ หรือจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างประมาณ 7 งวด แบ่งเป็นค่าเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 จำนวน 19.21 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชำระภาระต้นทุนคงค้าง กฟผ. จำนวน 99,689 ล้านบาท ประมาณ 7 งวดๆ ละ จำนวน 14,000 ล้านบาท หรือ 20.51 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าเอฟทีเรียกเก็บคงเดิมที่ 39.72 สตางค์ต่อหน่วยสำหรับเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567 เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วย แล้วทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ยไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น >> 4.1805 บาทต่อหน่วย เท่ากับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในงวดปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ทั้ง 3 กรณีดังกล่าวข้างต้น ยังไม่รวมเงินภาระคงค้างค่าก๊าซที่เกิดจากนโยบายที่ให้รัฐวิสาหกิจที่นำเข้าก๊าซเรียกเก็บราคาค่าก๊าซเดือน ก.ย. - ธ.ค. 2566 คงที่ตามมติ กพช. จึงมีส่วนต่างราคาก๊าซที่เกิดขึ้นจริงและราคาก๊าซที่เรียกเก็บ (AF Gas) โดยภาระดังกล่าวยังคงค้างที่ ปตท. (เฉพาะในส่วนของการผลิตไฟฟ้าเพื่อขายเข้าระบบ) เป็นจำนวนเงิน 12,076 ล้านบาท และยังคงค้างที่ กฟผ. เป็นจำนวนเงิน 3,800 ล้านบาท

นายคมกฤช กล่าวอีกว่า ผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ทั้ง 3 กรณีที่กล่าวข้างต้นนั้น เป็นไปตามการประมาณการต้นทุนเชื้อเพลิงโดย ปตท. และ กฟผ. นำค่าประมาณการดังกล่าวมาคำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้า ซึ่งสำนักงาน กกพ. ได้จัดทำสรุปสมมุติฐานที่ใช้ในการประมาณการค่าเอฟทีรอบคำนวณเดือน ม.ค. - เม.ย. 2567 เทียบกับการคำนวณในปีฐาน พ.ค. - ส.ค.2558 และรอบประมาณการค่าเอฟทีเดือน พ.ค. - ส.ค. 2567

สำหรับปัจจัยหลักที่ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้ารอบ พ.ค - ส.ค.2567 ลดลงมีสาเหตุหลักมาจากต้นทุนราคา LNG ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องและส่งผลทำให้ราคาประมาณการ Pool Gas ลดลงจาก 333 ล้านบาทต่อล้านบีทียู เป็น 300 ล้านบาทต่อล้านบีทียู

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าแหล่งเอราวัณจะมีแผนทยอยปรับเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติจาก 400 เป็น 800 ล้านลูกบากฟุตต่อวันในเดือน เม.ย.2567 แต่ประมาณการปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ได้จากอ่าวไทยเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้ายังคงอยู่ในระดับเดิมหรือลดลงเล็กน้อย

อีกทั้งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเมียนมายังมีแนวโน้มที่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นต้องนำเข้า LNG เพื่อเสริมปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ขาดหายและเสริมความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นจากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นในปัจจุบันและในช่วงฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึง

“กกพ. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 8 - 22 มีนาคม 2567 ก่อนที่จะมีการสรุปและประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป” นายคมกฤช กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top