Tuesday, 14 May 2024
พลังงาน

'ทีมศก.ปชป.' ประกาศยกระดับนโยบายด้านพลังงาน ลั่น!! ดันเป็นวาระเร่งด่วนแห่งชาติสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

'มิสเตอร์เอทานอล' ลุยเต็มสูบตั้งเป้าลดรายจ่ายครัวเรือนเพิ่มรายได้ชุมชน หนุนยานยนต์ไฟฟ้าเดินหน้าพลังงานไฮโดรเจน-เอทานอล-ไบโอดีเซล ปูพรมโรงผลิตก๊าซชีวภาพทุกหมู่บ้านพลังงานแสงอาทิตย์ทุกครัวเรือนโซล่าฟาร์มทุกแปลงเกษตร ดันกัญชงเข้าอุตสาหกรรมยานยนต์และก่อสร้าง เล็งพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานส่งออกสร้างเงินเข้าประเทศ

(19 เม.ย.66) ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าว วาระประเทศไทย ครั้งที่ 2 'ปชป. ชูรื้อโครงสร้างราคาพลังงาน ลดรายจ่ายคนไทย' นำโดย ดร.พิสิฐ  ลี้อาธรรม อดีตรมช.กระทรวงการคลัง และประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ นายเกียรติ สิทธีอมร อดีตประธานผู้แทนการค้าไทยประธานคณะกรรมการต่างประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ผู้เชี่ยวชาญด้านคมนาคมขนส่งโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการขนาดใหญ่ และนายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ ณ ห้องประชุมชั้น 3 พรรคประชาธิปัตย์ อาคาร ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ อดีตรมช.พาณิชย์ อดีตรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน และอดีตรมต.เงาพลังงาน เจ้าของฉายา 'มิสเตอร์เอทานอล' ในฐานะทีมเศรษฐกิจแถลงนโยบายพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานของพรรคประชาธิปัตย์ ชูแนวทาง 'ก้าวสู่พลังงานสีเขียวพลังงานสะอาดสู่สังคมคาร์บอนต่ำ' (Go Green Go Clean Go Low Carbon) โดยกล่าวว่า...

วิสัยทัศน์เชิงรุกพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความสำคัญสูงสุดสำหรับนโยบายพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานโดยยกระดับเป็นเป็นวาระแห่งชาติเร่งด่วน (National Urgent Agenda) เพื่อ...

1.ลดค่าใช้จ่ายพลังงานในภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาครัฐ
2.ลดภาระต้นทุนของประเทศโดยชะลอการลงทุนด้านการจัดหาพลังงานของประเทศ
3.ยืนบนขาตัวเองตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
4.เพิ่มโอกาสส่งออกพลังงานทดแทนและเทคโนโลยีนวัตกรรมอนุรักษ์พลังงาน 

เหล่านี้ เป็นการแปรวิกฤติพลังงานเป็นโอกาสสามารถสร้างเงินสร้างคนสร้างชาติโดยมีเป้าหมายยกระดับประเทศไทยเป็นผู้นำพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานในภูมิภาคเอเชียภายในปี 2030 ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่และแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ยังได้ตัวอย่างนโยบายสำคัญ ๆ เป็นไฮไลท์ เช่น นโยบายส่งเสริมการวิจัยพัฒนานวัตกรรมโครงการ พลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen Energy ) โครงการ เอทานอล100 (E100) ไบโอดีเซล (B 100), โครงการ โซลาร์รูฟ ทุกบ้าน ทุกอาคาร ด้วยระบบหักกลบไฟฟ้าที่ผลิตได้เองกับที่ใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและนครหลวง (Net Metering) และ การส่งเสริมอุปกรณ์เก็บพลังงานไฟฟ้าหรือแบตเตอรี่ไฟฟ้า (Energy storage), โครงการโซล่าฟาร์มและเกษตรอัจฉริยะประหยัดพลังงานสำหรับฟาร์มพืช ประมงและปศุสัตว์

นายอลงกรณ์ยังแถลงต่อไปว่า นโยบายอนุรักษ์พลังงานของประชาธิปัตย์เป็นนโยบายปฏิรูปเชิงโครงสร้างพลังงานทดแทน เช่น นโยบายโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 โรงแก๊สชีวภาพ 1 โรงปุ๋ยชีวภาพชุมชน, โครงการ 1 ตำบล 1 โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน, โครงการ 1 อำเภอ 1 ศูนย์ยานยนต์เครื่องจักรกลไฟฟ้าและการปรับเปลี่ยนยานยนต์เครื่องจักรกลเก่าเป็นระบบไฟฟ้า (Ev Conversion Center) (รถเก่ากว่า 40 ล้านคัน), โครงการ 1 จังหวัด 1 โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน

‘อรรถวิชช์’ ฝาก รบ.ใหม่ควบคุมค่าการกลั่น เก็บภาษีลาภลอย ชี้!! ดีเซลต้องไม่ขึ้น 5 บาท เหตุน้ำมันดิบราคาลดลง

(30 พ.ค. 66) ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวถึงมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ที่กำลังจะสิ้นสุดวันที่ 20 ก.ค.2566 นี้ ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันดีเซลขึ้นจาก 32 เป็น 37 บาทต่อลิตร ว่า เป็นเรื่องน่าแปลก เพราะจริงๆ แล้วราคาน้ำมันต้องกลับมาลดลง เนื่องจากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกลดลงต่อเนื่อง เดือน พ.ค.ปีที่แล้ว ราคา 113.87 เหรียญต่อบาร์เรล แต่ปัจจุบันเหลือ 76.94 เหรียญต่อบาร์เรล ลดลงมาถึงร้อยละ 32.43 (https://www.opec.org/opec_web/en/data_graphs/40.htm) ขณะที่โรงกลั่นหลายโรงโกยกำไรไม่หยุดตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงไตรมาสหนึ่งปีนี้ (Q1/2566) เป็นหมื่นล้านบาท บางส่วนก็มีการนำกำไรไปขยายธุรกิจอื่นเพิ่มแล้ว

ดร.อรรถวิชช์ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐเลือกใช้วิธีแก้ปัญหาปลายเหตุเพื่ออุ้มราคาน้ำมันโดยลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน รายได้ภาษีหายไป 158,000 ล้านบาท ขณะที่กองทุนน้ำมัน แม้จะมีการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องไปแล้ว 1.1 แสนล้าน แต่สถานะยังคงติดลบอยู่ถึง 72,731 ล้านบาท นั่นหมายความว่า รัฐบาลชุดใหม่ต้องไม่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุเหมือนที่ผ่านมา

“ผมขอให้กล้าตัดสินใจ ควบคุมค่าการกลั่น ที่เป็นราคาสมมติให้เหมาะสม หรือออกกฎหมายเก็บภาษีลาภลอย ขึ้นอัตราภาษีนิติบุคคลเฉพาะธุรกิจโรงกลั่น แล้วนำภาษีส่วนนั้นเก็บกลับไปใช้หนี้กองทุนน้ำมัน ลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชนผู้ใช้น้ำมัน เหมือนที่หลายประเทศเขาทำกัน” ดร.อรรถวิชช์ กล่าว

ดร.อรรถวิชช์ กล่าวอีกว่า เหลือเวลาอีกไม่ถึงสองเดือนแล้วที่มาตรการอุ้มราคาดีเซลจะสิ้นสุดลง ผมมีความหวังที่จะเห็นรัฐบาลใหม่ได้เจรจากับโรงกลั่น เตรียมกฎหมายรื้อโครงสร้างราคาพลังงานให้เป็นธรรม

PTTEP ผนึก 5 พันธมิตรเดินเครื่องผลิตกรีนไฮโดรเจนในโอมาน  ตั้งเป้าแหล่งพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่ คาด!! เริ่มผลิตปี 73

(22 มิ.ย. 66) บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. ร่วมมือกับ 5 บริษัทชั้นนำของโลก ผลักดันโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนขนาดใหญ่ในรัฐสุลต่านโอมาน เพื่อเป็นแหล่งพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายการเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำและการเติบโตอย่างยั่งยืนตามแผนกลยุทธ์ ตั้งเป้าเริ่มการผลิตกรีนไฮโดรเจนในปี 2573

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTTEP เปิดเผยว่า ปตท.สผ. โดยบริษัท ฟิวเจอร์เทค เอนเนอร์ยี่ เวนเจอร์ส จำกัด (FTEV) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย พร้อมด้วย 5 บริษัทพันธมิตรชั้นนำจากประเทศเกาหลีใต้ และประเทศฝรั่งเศส ได้ชนะการประมูลแปลงสัมปทานและลงนามสัญญาพัฒนาโครงการ (Project Development Agreement) และสัญญาเช่าแปลงสัมปทาน (Sub-usufruct Agreement) กับบริษัท ไฮโดรเจน โอมาน หรือ Hydrom ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลโอมาน เพื่อเข้ารับสิทธิในการพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจน ในแปลงสัมปทาน Z1-02 เป็นระยะเวลา 47 ปี

แปลงสัมปทาน Z1-02 ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 340 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในจังหวัดดูคุม ประเทศโอมาน

การเข้าร่วมในการพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนขนาดใหญ่ครั้งนี้ นับเป็นความสำเร็จของ ปตท.สผ. ที่มุ่งขยายธุรกิจไปสู่พลังงานสะอาด โดยตั้งเป้าหมายกำลังการผลิตกรีนไฮโดรเจนประมาณ 2.2 แสนตันต่อปี

หลังจากนี้ กลุ่มผู้ร่วมทุนจะทำการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility study) และการศึกษาเชิงเทคนิค (Technical study) ของโครงการดังกล่าว และจะประเมินมูลค่าการลงทุนต่อไป

โดยกลุ่มผู้ร่วมทุนประกอบด้วย FTEV, กลุ่มบริษัทจากประเทศเกาหลีใต้ ประกอบด้วยบริษัท POSCO Holdings บริษัท Samsung Engineering Co., Ltd. บริษัท Korea East-West Power Co., Ltd และบริษัท Korea Southern Power Co., Ltd และบริษัท MESCAT Middle East DMCC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ENGIE จากประเทศฝรั่งเศส ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนชั้นนำของโลก

โครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนในประเทศโอมานครั้งนี้ ครอบคลุมกระบวนการผลิตไฮโดรเจนแบบครบวงจร (Hydrogen Value Chain) ตั้งแต่การพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ซึ่งเป็นพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) กำลังการผลิตรวมประมาณ 5 กิกะวัตต์ (GW), การพัฒนาโรงงานผลิตกรีนไฮโดรเจนโดยใช้พลังงานไฟฟ้าดังกล่าวในกระบวนการผลิต ซึ่งทั้ง 2 ส่วนจะตั้งอยู่ในแปลงสัมปทาน Z1-02 และการพัฒนาโรงงานที่เปลี่ยนสถานะไฮโดรเจนให้เป็นกรีนแอมโมเนียซึ่งเป็นของเหลว เพื่อสะดวกในการขนส่ง จะตั้งอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่จังหวัดดูคุม โดยคาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างในปี 2570 และเริ่มการผลิต (Commercial Operations Date) กรีนแอมโมเนียได้ในปี 2573 ในอัตราประมาณ 1.2 ล้านตันต่อปี โดยจะส่งออกกรีนแอมโมเนียไปยังประเทศเกาหลีใต้ซึ่งเป็นผู้ซื้อ ส่วนกรีนไฮโดรเจนส่วนที่เหลือ จะใช้ภายในประเทศโอมาน

“ประเทศโอมานเป็นหนึ่งในประเทศอันดับต้น ๆ ของโลก ที่มีศักยภาพด้านพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม และมีความคืบหน้าในการผลักดันให้มีการพัฒนาโครงการไฮโดรเจนอย่างเป็นรูปธรรม การที่ ปตท.สผ. และบริษัทพันธมิตรได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้พัฒนาโครงการกรีนไฮโดรเจนขนาดใหญ่ครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จและเป็นก้าวที่สำคัญในการขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาดในพื้นที่ที่มีศักยภาพของโลก ซึ่ง ปตท.สผ. จะนำประสบการณ์และความเข้าใจในการดำเนินธุรกิจในประเทศโอมานที่มีมากว่า 20 ปี มาช่วยเสริมให้การพัฒนาโครงการกรีนไฮโดรเจนครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาแหล่งพลังงานรูปแบบใหม่ต่าง ๆ ที่จะเป็นพลังงานแห่งอนาคตต่อไป รวมทั้ง ยังเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเป้าหมายองค์กรคาร์บอนต่ำ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วย” นายมนตรี กล่าว

ปัจจุบัน ปตท.สผ. มีการลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศโอมาน ทั้งธุรกิจขั้นต้น (Upstream) และธุรกิจขั้นกลาง (Midstream) ได้แก่ โครงการโอมาน แปลง 61 ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติบนบกขนาดใหญ่ของประเทศ โครงการพีดีโอ (แปลง 6) โครงการมุคไคซนา (แปลง 53) ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันดิบบนบกขนาดใหญ่ โครงการโอมาน ออนชอร์ แปลง 12 และโครงการโอมาน แอลเอ็นจี ซึ่งเป็นโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวแห่งเดียวในโอมาน

เดินเครื่องเต็มตัว ‘ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์’ ดวงแรกของไทย ไขความลับพลังงานสะอาด ต่อยอดวิทยาศาสตร์แห่งโลกอนาคต

เมื่อไม่นานนี้ ‘เตาปฏิกรณ์แบบโทคาแมค’ (Tokamak) หรือ ‘ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์’ รุ่นทดลองตัวแรกของไทย ได้เปิดทำงานอย่างเป็นทางการ ภายใต้ความร่วมมือกับจีน เตาปฏิกรณ์ฯ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันฟิสิกส์พลาสมา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (Institute of Plasma Physics of Chinese Academy of sciences : ASIPP) และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) ของไทย

เครื่องโทคาแมคเครื่องแรกของไทย มีชื่อว่า ‘Thailand Tokamak I’ หรือ ‘TT-1’ ถือเป็นเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชันเครื่องแรกของไทย โดย สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ได้ทําการพัฒนาเครื่องโทคาแมค ชิ้นส่วนของเครื่องโทคาแมค HT-6M ที่ได้รับมอบจากสถาบันฟิสิกส์พลาสมา ประเทศจีน ตามข้อตกลงความร่วมมือที่ลงนามเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 โดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดําเนินไปเป็นองค์ประธานการรับมอบชิ้นส่วนดังกล่าว เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2561 เพื่อใช้ศึกษาวิจัยพลาสมาอุณหภูมิสูงในการเรียนรู้เทคโนโลยีอวกาศและฟิวชัน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดสําหรับผลิตกระแสไฟฟ้าในอนาคต และนวัตกรรมที่ได้สามารถนําไปประยุกต์ใช้ในด้านอุตสาหกรรม การเกษตร และด้านการแพทย์ ซึ่งจากการพัฒนาเครื่องโทคาแมคนี้จะทําให้ประเทศมีองค์ความรู้ และสามารถสนับสนุนงานด้านวิศวกรรมระบบรางของไทยในอนาคตได้อีกด้วย

พลังงานฟิวชัน นอกจากจะเป็นพลังงานที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังไม่ก่อให้เกิดฝุ่นควันและมลพิษที่เป็นอันตรายต่อผู้คน รวมถึงไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน อีกทั้งยังเป็นขุมพลังงานที่ยั่งยืน มีความปลอดภัยสูง ไม่ก่อให้เกิดสารกัมมันตภาพรังสีที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศ จึงนับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติพลังงานและภาวะโลกร้อนในอนาคต ขณะที่เครื่องโทคาแมค เป็นเครื่องควบคุมการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากปฏิกิริยาฟิวชัน เลียนแบบการทำงานของดวงอาทิตย์ เป็นอุปกรณ์กักเก็บพลาสมาพลังงานสูงโดยใช้สนามแม่เหล็ก ซึ่งปลอดภัยและเป็นมิตรกับโลก โดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยต่างๆ ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมแก้ปัญหาพลังงานขาดแคลนที่กำลังจะเกิดขึ้น และเพื่ออนาคตของคนไทย

สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ได้เริ่มติดตั้งเครื่องโทคาแมคเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จตามแผน และได้ทดลองเดินเครื่องได้สำเร็จเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2566 นับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญ ก่อนจะมีการเดินเครื่องอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2566 โดยภายใน 10 ปี จะมีการออกแบบและสร้างเครื่องโทคาแมคเครื่องใหม่ขึ้นมาเอง ตั้งเป้าหมายขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีฟิวชันและกำลังคนระดับสูงด้านเทคโนโลยีฟิวชันของอาเซียน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวถึงความสำเร็จครั้งนี้ว่า “ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ดี คนไทยโดยทั่วไปไม่ค่อยตระหนักว่าประเทศไทยพัฒนาตนเองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เป็นลำดับ ระยะหลังๆ พัฒนาได้เร็วขึ้นๆ เรามีเครื่องฉายแสงซินโครตรอน ที่มีอยู่แห่งเดียวในอาเซียน สิงคโปร์ก็ไม่มี เราเป็นชาติไม่กี่ชาติในเอเชียที่มีเครื่องฉายแสงซินโครตรอน ทำหน้าที่สร้างปฏิกิริยาฟิวชัน เป็นกระบวนการที่สร้างพลังงานมากมายมหาศาลแต่ว่าไม่มีกัมมันตรังสีที่เป็นพิษ หรืออาจจะมีก็น้อยมากๆ ไม่ได้อยู่ในระดับที่เราจะต้องกังวล เป็นปฏิกิริยาที่เกิดบนดวงอาทิตย์ทุกวันทุกคืนตลอดเวลา ดวงอาทิตย์ให้ความร้อนแก่โลกแก่จักรวาลก็เพราะปฏิกิริยาฟิวชันที่เกิดบนดวงอาทิตย์ แต่นั่นเป็นปฏิกิริยาธรรมชาติ มนุษย์พยายามที่จะทำเทคโนโลยีฟิวชัน และสามารถทำได้สำเร็จ ในอนาคตเราสามารถต่อสู้กับ Carbon Footprint ได้เพราะมีแหล่งพลังงานสะอาด ในโลกนี้มีประมาณ 40 กว่าประเทศที่ทำปฏิกิริยาฟิวชันได้ ในเอเชียมีจีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี อิหร่าน ประเทศไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ทำฟิวชันได้”

สำหรับเครื่อง Thailand Tokamak I หรือ TT-1 เมื่อเดินเครื่องคาดว่าอุณหภูมิของพลาสมาในระยะแรกจะอยู่ที่ประมาณ 100,000 องศาเซลเซียส สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ มีแผนพัฒนาระบบให้ความร้อนเสริมแก่พลาสมาด้วยวิธีการให้ความร้อนด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อยกระดับอุณหภูมิของพลาสมาไปสู่ระดับ 1,000,000 องศาเซลเซียส และในอนาคตเมื่อเราสามารถออกแบบและสร้างเครื่องโทคาแมคเครื่องใหม่ขึ้นมาเองโดย จะใช้เทคโนโลยี Superconducting magnet เพื่อสร้างสนามแม่เหล็กที่มีความเข้มสูงขึ้นสำหรับกักพลาสมาและการให้ความร้อนเสริมด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้าง พลาสมาที่มีอุณหภูมิสูงในระดับ 10,000,000 องศาเซลเซียสได้ เพื่อใช้เป็นพลังงานสะอาดในการผลิตกระแสไฟฟ้าในอนาคต และการนำพลาสมาไปใช้ในด้านอุตสาหกรรม การเกษตร การแพทย์ ฯลฯ นอกจากนี้ การพัฒนาเครื่องโทคาแมค-1 จะทำให้ประเทศมีองค์ความรู้และสามารถสนับสนุนงานด้านวิศวกรรมระบบรางของไทยได้ในอนาคตอีกด้วย

‘เอ็กโก’ โชว์กำไร Q2/66 แตะ 2.6 พันล้านบาท ชูกลยุทธ์ ‘4S’ เสริมแกร่ง-ต่อยอดธุรกิจโตอย่างยั่งยืน

บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 มีรายได้รวม 15,593 ล้านบาท และกำไรจากการดำเนินงาน 2,652 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพาจู อีเอส ในเกาหลีใต้ ตอกย้ำความมั่นใจการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าหยุนหลินในไต้หวัน มีความคืบหน้าและเป็นไปตามแผน พร้อมงัดกลยุทธ์ ‘4S’ สร้างรายได้ เสริมแกร่งธุรกิจ ต่อยอดการเติบโตอย่างยั่งยืน

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินงานในครึ่งปีแรกของปี 2566 เอ็กโก กรุ๊ป ยังคงสามารถบริหารจัดการพอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้าและต้นทุนเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าทุกแห่งอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้สามารถสร้างรายได้จากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งความสามารถในการบริหารจัดการโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนงาน ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการเอเพ็กซ์ ในสหรัฐอเมริกา ที่สามารถก่อสร้างพร้อมกันได้ถึง 5 โครงการ ได้แก่ โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ลม และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Storage) ซึ่งมีจำนวนรวม 657 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าเอ็กโก โคเจนเนอเรชั่น (ส่วนขยาย) ที่มีความก้าวหน้ากว่า 78% และโครงการโรงไฟฟ้าหยุนหลิน ในไต้หวัน ที่มีความคืบหน้าในการก่อสร้างได้ตามแผนงาน ในขณะที่ธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ดังเช่นโครงการทีพีเอ็น ก็มีความพร้อมที่จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้

สำหรับผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 เอ็กโก กรุ๊ป มีรายได้รวมทั้งสิ้น 15,593 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน 2,652 ล้านบาท ลดลง 18% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 3 แห่งใน สปป.ลาว ได้แก่ น้ำเทิน 1 น้ำเทิน 2 และไซยะบุรี มีปริมาณการขายไฟฟ้าลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำลดลงและมีการซ่อมบำรุง รวมทั้งโรงไฟฟ้าขนอมมีรายได้ค่าความพร้อมจ่าย (AP) ลดลง อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกจากรายได้ค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าพาจู อีเอส ในเกาหลีใต้ ในขณะที่มีกำไรสุทธิ 1,460 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 288% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ด้านความคืบหน้าทางธุรกิจจนถึงปัจจุบัน เอ็กโก กรุ๊ป มีกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้น 115 เมกะวัตต์ จากโครงการพลังงานหมุนเวียนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างของเอเพ็กซ์ ในสหรัฐอเมริกา จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ 2 โครงการ โครงการพลังงานลม 1 โครงการ และโครงการระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ 2 โครงการ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์เอง 2 ใน 3 ส่วน และจำหน่ายโครงการออกไป 1 ใน 3 ส่วน ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ของเอ็กโก กรุ๊ป ในรูปแบบไฮบริด 

สำหรับความคืบหน้าของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งหยุนหลิน ในไต้หวัน มีกังหันลมที่ติดตั้งแล้วเสร็จและจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน จำนวนทั้งสิ้น 20 ชุด โดยมีกำลังผลิตรวม 144 เมกะวัตต์ และสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบสะสมแล้วมากกว่า 620 กิกะวัตต์ชั่วโมง ปัจจุบันการก่อสร้างมีความคืบหน้ามากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ประกอบกับโครงการอยู่ระหว่างการหารือกับหน่วยงานด้านพลังงานของภาครัฐไต้หวัน (Taiwanese Bureau of Energy) เพื่อขอเลื่อนกำหนดแล้วเสร็จของโครงการตามที่ระบุไว้ในสัญญาบริหารจัดการให้สามารถเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ทั้งหมดให้ได้ภายในปี 2567 ซึ่งการหารือมีความคืบหน้าเป็นลำดับ ทั้งนี้ โครงการอยู่ระหว่างเจรจาปรับโครงสร้างการลงทุน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จตามแผนภายในปีนี้

“ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีความท้าทายมากขึ้นในปัจจุบัน เอ็กโก กรุ๊ป ยังคงเดินหน้าต่อยอดธุรกิจไฟฟ้าและพลังงานอย่างยั่งยืน ด้วยการบริหารธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ ‘4S’ เพื่อสร้างรายได้ให้บริษัทอย่างรวดเร็วและเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 

1) Strengthen financial performance เสริมความแข็งแกร่งในการแข่งขันด้านการเงิน 
2) Select high quality project ให้ความสำคัญกับการลงทุนในรูปแบบ M&A ทั้งโรงไฟฟ้า Conventional และ Renewable ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อรับรู้รายได้ทันที 
3) Speed up projects under construction เร่งรัดบริหารโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามแผนงาน 
4) Streamline portfolio and improve operation บริหารพอร์ตโฟลิโอ โรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน 36 แห่ง และธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่องให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งกลยุทธ์ ‘4S’ สอดคล้องกับหนึ่งในพันธกิจหลักของบริษัทที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างมูลค่าให้แก่ผู้ถือหุ้นอย่างยั่งยืน” นายเทพรัตน์ กล่าวสรุป

'เศรษฐา' ลั่น!! ประชุม ครม.นัดแรกประกาศลดราคาพลังงานแน่ แย้ม!! 'สุพัฒนพงษ์' เน้นส่งไม้ต่อให้ด้วยความราบรื่น

(30 ส.ค.66) ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ให้การต้อนรับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ ม.ล.ชโยทิต กฤดากร หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เพื่อหารือถึงการส่งไม้ต่อในการทำงานด้านเศรษฐกิจ รวมถึงการจัดทำร่างนโยบายของรัฐบาลเพื่อแถลงต่อรัฐสภา

เวลา 12.50 น. นายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์ว่า ได้มีการหารือเรื่องของราคาพลังงาน รวมถึงประเด็นอื่นๆ ซึ่งนายสุพัฒนพงษ์ก็ได้ฝากฝังไว้หลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือขั้นตอนในการลดราคาค่าไฟกับค่าน้ำมันดีเซล โดยจะมีประกาศหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกแน่นอน 

เมื่อถามว่าหลังการประชุมครม. นัดแรกจะสามารถลดได้ทันทีแน่นอนใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า “ทันทีครับทันที ประกาศทันทีและขอดูขั้นตอนนิดหนึ่ง” ก่อนจะย้ำว่าทำงานไม่หยุด เพราะต้องดูนโยบายอื่นๆ ด้วย และถือว่านายสุพัฒนพงษ์ให้ความกรุณาและยินดีส่งไม้ต่อให้ด้วยความราบรื่น

ด้านนายสุพัฒนพงษ์ ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องการลดราคาพลังงานว่า เป็นเรื่องที่ต้องคุยกับหัวหน้าพรรค เมื่อถามถึงนโยบายหลักที่เสนอต่อ พท. ที่จะนำไปเป็นนโยบายร่วมของรัฐบาล นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันมากกว่า ส่วนการพูดคุยอย่างเป็นทางการต้องให้ หัวหน้าพรรค รทสช.มาพูดคุยกันอีกครั้ง วันนี้เป็นการมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่า มีอะไรจะส่งไม้ต่อไปถึงรัฐบาลใหม่ได้ การมาหารือวันนี้ เป็นโอกาสที่ดีของรัฐบาลรักษาการ จะมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่ามีอะไรจะส่งมอบ หรือส่งต่อความคิดเห็นใดๆ ไปถึงรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะเรื่องของเศรษฐกิจที่รัฐบาลใหม่ได้ขอรับทราบสิ่งที่รัฐบาลรักษาการ หรือรัฐบาลที่ผ่านมาได้ทำอะไรไว้บ้าง ส่วนจะสานต่อเรื่องอะไร จะดัดแปลง หรือทำให้ดีขึ้นก็เป็นนโยบายของรัฐบาลใหม่ ว่าจะพิจารณา และในการหารือ นายเศรษฐาก็รับทราบสิ่งต่างๆ ของรัฐบาลที่ทำมาแล้ว ถือเป็นการให้ข้อมูลระหว่างกัน เพื่อให้รัฐบาลใหม่สามารถพิจารณานโยบายเดิมที่ทำอยู่แล้วไปพิจารณาต่อได้โดยไม่ต้องไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ โดยข้อคิดเห็นต่างๆ มีการคุยกันครั้งนี้ก็คงจะมีการไปพิจารณาในรายละเอียดอีกที

เมื่อถามว่ามีการหารือเกี่ยวกับการจัดทำนโยบาย ร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อแถลงต่อรัฐสภาหรือไม่ นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ไม่ได้คุยอะไรเป็นพิเศษในลักษณะของการหารือด้านนโยบาย เพราะคงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่นำข้อมูลต่าง ๆ ไปพิจารณา

‘จีน’ เดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดในประเทศ หนุนเพิ่มการผลิต ‘ภาคอุปกรณ์ด้านพลังงาน’ เต็มประสิทธิภาพ

เมื่อไม่นานนี้ สำนักข่าวซินหัว, ปักกิ่ง รายงานว่า ‘ไชน่า ซีเคียวริตีส์ นิวส์’ (China Securities News) ซึ่งบริหารโดยสำนักข่าวซินหัว รายงานว่า ภาคอุปกรณ์พลังงานสะอาดของจีนส่งสัญญาณมีอนาคตที่สดใส โดยมีการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ในประเทศอย่างรวดเร็ว

ความต้องการอุปกรณ์พลังงานสะอาดของจีนนั้น คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 ล้านล้านหยวน (ราว 9.74 ล้านล้านบาท) เมื่อนับถึงช่วงสิ้นสุดระยะเวลาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (2021-2025) โดยได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิตติดตั้งพลังงานสะอาด

คาดว่าภายในปี 2025 กำลังการผลิตพลังงานสะอาดที่ติดตั้งใหม่ในจีนนั้นจะทะลุ 700 ล้านกิโลวัตต์ ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมดของประเทศอยู่ที่ 3.02 พันล้านกิโลวัตต์เอกสารว่า ด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมอุปกรณ์พลังงานสะอาดระดับโลก ระบุว่าการจัดเก็บพลังงาน การแปลงข้อมูลเป็นดิจิทัลในภาคพลังงาน การพัฒนาพลังงานสะอาดอย่างชาญฉลาด และภาคส่วนพลังงานไฮโดรเจน มีศักยภาพในการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอีก 5 ปีข้างหน้า

‘ซูอิ๋นเปียว’ ประธานคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานสาขาอิเล็กทรอเทคนิกส์ (IEC) กล่าวว่าเมื่อนับถึงสิ้นปี 2022 กำลังการผลิตติดตั้งพลังงานสะอาดโดยรวมของจีน คิดเป็นร้อยละ 50 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งทั้งหมดซึ่งอยู่ที่ 2.56 พันล้านกิโลวัตต์ ส่วนการลงทุนของจีนในโครงการพลังงานใหม่คิดเป็นร้อยละ 30 ของการลงทุนทั้งหมดทั่วโลก

'เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า' กระหึ่มอาเซียน ปลื้ม หม้อแปลงไทย ลดพลังงาน - ลดคาร์บอน กระทรวงพลังงานอาเซียน ยอมรับ มอบรางวัลนวัตกรรม หม้อแปลงเทคโนโลยี ล้ำสมัย ASEAN Energy Awards (Energy Efficiency Building)

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2566 บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด โดย คุณประจักษ์ กิตติรัตนวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ นำหม้อแปลงไทย ลดพลังงาน - ลดคาร์บอน ได้รับรางวัลด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ระดับภูมิภาคอาเซียน ASEAN Energy Awards 2023 ณ Bali Nusa Dua Convention Center เกาะบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดย บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวด ประเภท Cutting Edge Technology (เทคโนโลยีล้ำสมัย) จากผลงาน "หม้อแปลง Low Carbon" ด้านการอนุรักษ์พลังงานและการประหยัดพลังงาน พร้อมกันนี้ได้รับเกียรติจาก คุณกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย คุณประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ร่วมแสดงความยินดี

ดร. ประเสริฐ กล่าว ความสำเสร็จเหล่านี้เกิดจากทุกหน่วยงาน ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการลดใช้พลังงานและนี่ คือต้นทางแห่งความสำเร็จของหน่วยงานที่จะเป็นตัวอย่างในการขับเคลื่อน ผลักดัน และสานต่อนโยบานด้านพลังงานเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero)

คุณประจักษ์ กิตติรัตนวิวัฒน์  กล่าว ขอขอบพระคุณ ทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)  โดยหม้อแปลงดังกล่าว ตอบโจทย์ การประหยัดพลังงาน ของภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการอาคารสถานที่ ที่สามารถลดการใช้พลังงานได้ถึง 11.5% และลดคาร์บอนมากกว่า 100 ล้านตันคาร์บอน คืนทุนภายใน 2-5 ปี เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการแก้ปัญหาด้านการประหยัดพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนสร้างความมั่นคงและความยืดหยุ่นด้านพลังงาน เพื่อผลัดดันการเปลี่ยนผ่านไป สู่พลังงานสะอาด ความยั่งยืนนี้จะส่งเสริมการเติบโตสีเขียวในภูมิภาค ทั้งนี้สถานการณ์ดังกล่าวทำให้รัฐบาลต้องประกาศนโยบายการลดคาร์บอน โดยประกาศเป้าหมายความเป็นกลางของแผนลดก๊าซคาร์บอนในปี 2575 จะเห็นภาพการใช้พลังงานทั้งด้านอุตสาหกรรมและภาคประชาชน ซึ่งจะต้องให้ความสำคัญกับการ ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ดังนั้น หม้อแปลงที่กล่าวข้างต้นจึงตอบโจทย์ทุกหน่วยงาน ภาครัฐ และเอกชน ด้านการประหยัดพลังงานและลดคาร์บอน (คืนทุน 2-5 ปี) 

หม้อแปลง Low Carbon เป็นหม้อแปลงบริหารระบบจัดการพลังงาน ที่บริหารจัดการสิ้นเปลืองให้เกิดประสิทธิภาพและมีความเสถียรภาพกับการใช้พลังงานไฟฟ้าที่มั่นคงและยั่งยืน ทำให้โรงงานอุตสาหกรรม ,อาคาร สถานประกอบการ ลดค่าไฟฟ้า 5-20% (Energy Saving) ลดคาร์บอน 5-20% (Low Carbon) มากกว่า 100 ล้านตัน ลดมลพิษ (Low Emission) ทำให้อุปกรณ์อายุการใช้งานยาวนานขึ้น (Long Life Equipment) เพื่อเป็นการตอบโจทย์ให้กับ ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม สถานประกอบการ เจ้าของอาคาร ตามนโยบายของรัฐบาล ในการลดก๊าซเรือนกระจก ลดโลกร้อน”

‘ปตท.’ จับมือ ‘RINA’ พัฒนาเชื้อเพลิงไฮโดรเจนภาคเศรษฐกิจ สร้างโอกาสทางธุรกิจ รองรับการเติบโตของพลังงานแห่งอนาคต

เมื่อไม่นานนี้ ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ร่วมแสดงความยินดีในพิธีลงนามความร่วมมือพัฒนาเชื้อเพลิงไฮโดรเจนในภาคเศรษฐกิจระหว่าง ปตท. โดย นายคมกฤช โล่ห์เพ็ชร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่วางแผน ปตท., นายยุทธนา สุวรรณโชติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สถาบันนวัตกรรม ปตท. และ ‘RINA’ โดย Mr. Andrea Bombardi, Executive Vice President, Carbon Reduction Excellence, RINA Mr. Enrico Beccaceci, Senior Technical Manager, ASEAN Engineering Integration, RINA เพื่อความร่วมมือในโครงการนำร่องการทดสอบการผสมก๊าซไฮโดรเจนในก๊าซธรรมชาติ ซึ่งครอบคลุมถึงการประเมินประสิทธิภาพการใช้งาน รองรับการพัฒนาการใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงในอนาคต

นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจ ในการพัฒนาห้องปฏิบัติการของสถาบันนวัตกรรม ปตท. ให้เป็นศูนย์ปฏิบัติการการให้บริการเชิงเทคนิค ในการใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงของประเทศไทยด้วย ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการเติบโตในธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต และเป้าหมาย Net Zero Emissions ของกลุ่ม ปตท. และประเทศไทยต่อไป


 

‘เน็กซ์’ เดินหน้าส่งมอบยานยนต์หัวลากอีวี-รถบรรทุกอีวี หนุนผู้ประกอบการฝ่าวิกฤตน้ำมันแพง-ลดต้นทุนการขนส่ง

(28 ก.ย. 66) นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ‘เน็กซ์’ ผู้นำนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ของเมืองไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทได้ทำการส่งมอบยานยนต์หัวลากพลังงานไฟฟ้า 423.93 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ให้กับ บริษัท มนต์ทรานสปอร์ต จำกัด ซึ่งผู้นำด้านบริการขนส่งทั้งในประเทศและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อนำไปใช้ในการขนส่งสินค้า ทดแทนรถบรรทุกเดิมที่ใช้พลังงานน้ำมัน ที่ปัจจุบันต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนพลังงานน้ำมันในตลาดโลกที่ราคาพุ่งแรงอย่างมาก จึงเห็นว่ายานยนต์พลังงานไฟฟ้าสามารถช่วยลดต้นทุนพลังงานลงได้ และยังมีค่าใช้จ่ายในด้านการบำรุงรักษาระยะยาวที่ถูกกว่ายานยนต์ที่ใช้พลังงานน้ำมันอีกด้วย

“เรามั่นใจว่าความร่วมมือระหว่างเน็กซ์ และมนต์ทรานสปอร์ต จะเป็นตัวจุดประกายให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เพราะนอกจากจะช่วยประหยัดต้นทุนพลังงานน้ำมันแล้ว ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา และที่สำคัญยังช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” นายคณิสสร์กล่าว

นายคณิสสร์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ บริษัทยังได้ส่งมอบรถบรรทุกไฟฟ้า 6 ล้อ 15 ตัน ให้กับ บริษัท ซีว่า ลอจีสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการโซลูชันโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ระดับแนวหน้าในเครือ CMA CGM Group เพื่อนำไปใช้ในการให้บริการด้านการขนส่งและจัดเก็บสินค้าให้กับลูกค้า ซึ่งความร่วมมือระหว่าง NEX กับ CEVA Logistics ในครั้งนี้ ถือเป็นการตอบโจทย์ Green Logistics Sustainability ซึ่งนอกเหนือจากการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดภาวะโลกร้อน ยังช่วยประหยัดพลังงานและลดต้นทุนในการขนส่งสินค้า เพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันในอนาคต

อย่างไรก็ตาม เน็กซ์มีความพร้อมเดินหน้าให้บริการอย่างเต็มกำลัง โดยโรงงานผลิตและประกอบยานยนต์ไฟฟ้ามีกำลังการผลิตสูงสุดถึง 9,000 คันต่อปี และอยู่ระหว่างการพิจารณาขยายกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการใช้รถอีวี โดยคาดว่าในปีนี้จะสามารถส่งมอบรถไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ทุกประเภท ทั้งรถบัสไฟฟ้า รถบรรทุกไฟฟ้า รถตู้ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถโดยสารไฟฟ้า รวมไปถึงรถหัวลากไฟฟ้า ให้กับผู้ประกอบการได้ตามความต้องการ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ เน็กซ์มีรายได้รวมเติบโตแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ได้

ด้าน น.ส.ธีรินทร์ อู่ทรัพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายดูแลลูกค้า บริษัท มนต์ทรานสปอร์ต จำกัด กล่าวว่า มั่นใจว่าการจับมือกับเน็กซ์ จะมีส่วนสำคัญในการช่วยลดต้นทุน และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษารถบรรทุกให้กับบริษัทตอบโจทย์ Green Logistics เพื่อลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างดี ทั้งนี้ บริษัท มนต์ทรานสปอร์ต จำกัด ผู้นำด้านบริการขนส่งทั้งในประเทศและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2539 ด้วยทุนจดทะเบียน 250 ล้านบาท ปัจจุบันมีรายได้กว่า 2,000 ล้านบาท ผ่านการดำเนินธุรกิจด้านการขนส่งด้วยรถบรรทุกจำนวนมากกว่า 1,000 คัน ตลอดจนการริเริ่มขยายการให้บริการในด้านบริหารจัดการคลังสินค้า

ขณะที่ นายสุตนัย เหมศรีชาติ ผู้อำนวยการขนส่งทางบก บริษัท ซีว่า ลอจีสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการโซลูชั่นโลจิสติกส์ และซัพพลายเชน ระดับแนวหน้าในเครือ CMA CGM Group กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวสอดคล้องกับแผนการดำเนินงานของบริษัทที่มีความมุ่งสู่ Green Logistics Sustainability เพื่อการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและมีความยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยวางเป้าให้บริการรถบรรทุกไฟฟ้าขนส่งสินค้า ทั้งหมด 1,450 คัน ในปี 2568 ทั่วโลก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top