Friday, 17 May 2024
ประท้วง

‘ชาวเช็ก’ นับหมื่น รวมตัวประท้วงเต็มถนน กลางกรุงปราก ต่อต้านรัฐบาลฝักใฝ่ชาติตะวันตก-บริหารเศรษฐกิจย่ำแย่

(17 ก.ย. 66) ประชาชนชาวเช็กนับหมื่นที่สนับสนุนพรรคฝ่ายค้าน ออกมารวมตัวกันบนท้องถนนในกรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก เมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อแสดงพลังประท้วงต่อต้านนโยบายของรัฐบาลกลางขวา ที่มุ่งเน้นการดำเนินการตามชาติตะวันตก และให้การสนับสนุนทางทหารต่อยูเครน นอกจากนี้ ยังวิพากษ์วิจารณ์การบริหารจัดการเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วย

การประท้วงดังกล่าวนำโดยพรรค PRO ซึ่งไม่มีตัวแทนในรัฐสภา และยึดแนวทางชาตินิยม สนับสนุนรัสเซีย และต่อต้านตะวันตก โดยนายจินดริช ไรซิล ผู้นำพรรค PRO กล่าว่า วันนี้เราก้าวไปอีกขึ้นเพื่อขับไล่รัฐบาลของนายปีเตอร์ ฟิอาลา นายกรัฐมนตรี

“พวกเขาเป็นตัวแทนของมหาอำนาจต่างชาติ เป็นแค่ผู้ทำตามคำสั่ง หุ่นเชิดธรรมดา และเราไม่ต้องการรัฐบาลหุ่นเชิดอีกต่อไป” ไรซิลกล่าว และว่า เช็กควรยับยั้งความพยายามใดๆ ก็ตามของยูเครนที่จะเข้าร่วมกับกองกำลังสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต)

รัฐบาลเช็กชุดปัจจุบันเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับยูเครน โดยได้ส่งทั้งรถถัง เครื่องยิงจรวด เฮลิคอปเตอร์ กระสุนปืนใหญ่ และยุทโธปกรณ์อื่นๆ เพื่อช่วยให้ยูเครนต่อสู้กับการรุกรานของรัสเซีย

ด้านสำนักข่าวซีทีเคประเมินว่า ผู้ออกมาร่วมประท้วงในครั้งนี้อยู่ที่ราว 10,000 คน ซึ่งน้อยกว่าเหตุประท้วงในลักษณะเดียวกันที่เกิดขึ้นเมื่อหนึ่งปีก่อนหน้า ในช่วงที่ราคาพลังงานของยุโรปพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก

‘มาครง’ สนับสนุนม็อบนับแสน แสดงจุดยืนต่อต้านลัทธิเหยียดยิว

เมื่อวานนี้ (12 พ.ย.66) ชาวฝรั่งเศษกว่า 1.8 แสนคนทั่วประเทศ นัดชุมนุมประท้วงกลุ่มเคลื่อนไหวที่ออกมาต่อต้านชาวยิว ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วงวิกฤติสงคราม ฮามาส-อิสราเอลในเขตฉนวนกาซาของชาวปาเลสไตน์ 

ทั้งนี้ เฉพาะตัวเลขผู้ชุมนุมในกรุงปารีส ก็มีผู้ชุมนุมมากกว่า 1 แสนคนแล้ว แถมยังมีผู้นำฝ่ายการเมืองคนสำคัญในฝรั่งเศส ออกมาร่วมชุมนุมอย่างคับคั่ง อาทิ เอลิซเบธ บอร์น นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนของพรรค Renaissance พรรคฝ่ายรัฐบาลของเอมานูเอล มาครง รวมทั้ง ฟรองซัวส์ โอลองด์ อดีตผู้นำฝรั่งเศส, มารีน เลอ แปง ผู้นำฝ่ายค้านขวาจัดก็มาปรากฎตัวในการชุมนุมด้วย โดยทางการฝรั่งเศสได้เตรียมทีมรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนาตลอดช่วงเวลาการชุมนุม 

ถึงแม้ เอมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสจะไม่ได้มาร่วมชุมนุมด้วย แต่เขาก็ได้ออกมากล่าวสนับสนุนการชุมนุมในวันดังกล่าว และยังเรียกร้องให้ชาวฝรั่งเศสช่วยกันออกมาแสดงจุดยืนต่อต้านกระแสเกลียดชังชาวยิว ที่มาครงใช้ความว่า ‘ฟื้นคืนชีพ’ อีกครั้งอย่างไม่อาจรับได้

ซึ่งฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีชุมชนชาวยิวเป็นจำนวนมากที่สุดในยุโรป หากนับเฉพาะคนยิวที่เป็นเชื้อสายแท้ๆ มีราวๆ 4 แสนคน แต่หากนับรวมครอบครัวชาวยิว ที่อาจบางส่วนมีเชื้อสายอื่นๆ ด้วย พบว่าในฝรั่งเศสจะมีชุมชนชาวยิวมากกว่า 6 แสนคน คิดเป็นสัดส่วน 6.87 ต่อประชากร 1,000 คนในฝรั่งเศส

การนัดชุมนุมใหญ่ในครั้งนี้ มาจากแคมเปญของ ประธานสภาบน เฌราร์ ลาร์เชอร์ ร่วมกับประธานสภาล่าง, ยาแอล โบรน-ปีแว ด้วยการออกมาเรียกร้องให้ชาวฝรั่งเศส ออกมาชุมนุมร่วมกันในกรุงปารีส และตามเมืองใหญ่ๆ ของฝรั่งเศส เช่น นีซ, ลียง และสตราสบูร์ก เพื่อต่อต้านกระแสเกลียดชังชาวยิว ที่ประธานสภากล่าวว่า เป็นสิ่งที่ขัดต่อหลักการปกครองระบอบสาธารณรัฐของฝรั่งเศส

ทว่า ก็มีนักการเมืองฝรั่งเศสจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยในการจัดกิจกรรมดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือ ฌ็อง-ลุก เมล็องชง ผู้นำพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายจัด ที่มองว่า การแสดงจุดยืนเช่นนี้ในสถานการณ์นี้ สุ่มเสี่ยงที่จะถูกตีความว่าเป็นการสนับสนุนอย่างไม่มีเงื่อนไขของรัฐบาลฝรั่งเศสต่อการสังหารหมู่ในกาซาได้

และสังเกตได้ว่า การนัดชุมนุมของกลุ่มต่อต้านการเหยียดชนชาติยิว จัดคู่ขนานกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่สนับสนุนปาเลสไตน์หลายพันคนที่ออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้มีการหยุดยิงในฉนวนกาซาเมื่อช่วงศุกร์-เสาร์ ที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน 

การชุมนุมของทั้ง 2 กลุ่ม จึงถูกมองว่ามีความพยายามที่จะดึงกระแสมวลชนที่มากกว่าเพื่อส่งสัญญาณต่อทิศทางนโยบายของรัฐบาลฝรั่งเศสต่อความขัดแย้งในฉนวนกาซา ถึงแม้ว่าแกนนำผู้ชุมนุมจะบอกว่าเป็นการแสดงออกของมวลชนที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองก็ตาม

ซึ่งหากดูจากจำนวนตัวแทนฝ่ายการเมืองที่เข้าร่วมชุมนุมเพียงกิจกรรมของฝ่ายหนึ่ง แต่ไม่มีการพูดถึงกิจกรรมของอีกฝ่าย ก็พอจะมองออกถึงจุดยืนของรัฐบาลฝรั่งเศส ต่อสถานการณ์ที่มีความละเอียดอ่อนด้านมนุษยธรรมที่สุดครั้งหนึ่งในตะวันออกกลางได้เหมือนกัน 

‘นายกฯ แคนาดา’ ถูกนักเคลื่อนไหวบุกปิดล้อมร้านอาหาร ประท้วงเรียกร้องให้หยุดยิงในกาซา ก่อนรุดหนีอย่างรวดเร็ว

มีผู้ถูกจับ 2 คน หลังพวกผู้ประท้วงฝักใฝ่ปาเลสไตน์ราว 250 คน ปิดล้อมร้านอาหารแห่งหนึ่งในแวนคูเวอร์ ที่นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด กำลังรับประทานอาหารค่ำในเย็นวันอังคาร (14 พ.ย.) พร้อมตะโกนเรียกร้องให้หยุดยิงในฉนวนกาซา

(16 พ.ย.66) โดย สตีฟ แอดดินสัน โฆษกตำรวจแวนคูเวอร์ ระบุว่า เจ้าหน้าที่ 100 นายถูกส่งเข้าไปสลายการชุมนุม ขณะเดียวกัน เข้าอารักขาพาตัว ทรูโด ออกจากร้านอาหารซึ่งไม่เปิดเผยชื่อ ในย่านไชน่าทาวน์

เจ้าหน้าที่หญิงรายหนึ่งถูกพาตัวส่งโรงพยาบาล หลังโดนผู้ประท้วงรายหนึ่งชกต่อยและเล็บมือขีดข่วนบริเวณดวงตา จากการเปิดเผยของโฆษกตำรวจแวนคูเวอร์ พร้อมเผยว่าตำรวจใช้เครื่องช็อตไฟฟ้าสยบผู้ต้องสงสัยวัย 27 ปีรายหนึ่ง ฐานพยายามก่อความวุ่นวาย ส่วนชายอีกคนถูกจับกรณีขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ โดยเวลานี้ชายคนแรกยังอยู่ภายใต้การควบคุมตัวของตำรวจ แต่คนหลังได้รับการปล่อยตัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ก่อนหน้านี้ในวันอังคาร (14 พ.ย.) ทรูโด ถูกพวกผู้ประท้วงบุกเข้าหาที่ร้านอาหารอินเดียแห่งหนึ่ง ในอีกฟากหนึ่งของเมือง ขณะที่วิดีโอที่โพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์ เป็นภาพพวกนักเคลื่อนไหวบุกไปเผชิญหน้ากับ ทรูโด ระหว่างที่เขานั่งอยู่ตรงโต๊ะ พวกเขาส่งเสียงเรียกร้องข้อตกลงหยุดยิงระหว่างอิสราเอลกับนักรบปาเลสไตน์ ‘ฮามาส’ ในฉนวนกาซา พร้อมตะโกน "คุณมันน่าอดสู" และ "จัสติน ทรูโด คุณให้เงินสนับสนุนฆ่าล้างเผ่าพันธุ์"

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีแคนาดา รุดออกจากร้านอาหารอย่างรวดเร็ว โดยไม่ได้ตอบโต้พวกนักเคลื่อนไหวใดแต่อย่างใด

ชาร์ลอตต์ เคท ซึ่งเป็นแกนนำร่วมกับกลุ่ม Samidoun Palestinian Prisoner Solidarity Network ที่เข้าร่วมกับการชุมนุมทั้ง 2 แห่ง บอกกับผู้สื่อข่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นความเคลื่อนไหวเรียกร้องให้แคนาดา ‘แสดงจุดยืนอย่างจริงจัง’ ต่อปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในฉนวนกาซา

ทรูโด กล่าวในวันอังคาร (14 พ.ย.) เรียกร้อง เบนจามิน เนทันยาฮู แสดงออกถึงความอดทนอดกลั้นขั้นสูงสุดในปฏิบัติการทิ้งบอมบ์ถล่มกาซา ซึ่งคร่าชีวิตปาเลสไตน์แล้วมากกว่า 11,000 คน หลังอิสราเอลประกาศสงครามกับฮามาส ในวันที่ 7 ตุลาคม แก้แค้นกรณีที่นักรบกลุ่มนี้บุกจู่โจมอย่างไม่คาดคิดเล่นงานอิสราเอล สังหารผู้คนไป 1,200 ราย และจับเป็นตัวประกันราว 240 คน

เนทันยาฮู ปฏิเสธเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของทรูโด ยืนยันว่ากองทัพอิสราเอลไม่ได้ตั้งใจเล็งเป้าหมายเล่นงานพลเรือน และยืนกรานว่า ฮามาสต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุเสียชีวิตทั้งหมดในกาซา

‘รัฐบาลเกาหลีใต้’ เตรียมระงับใบประกอบวิชาชีพ ‘หมอฝึกหัด’ 5 พันคน  หลัง ‘ลาออก-นัดหยุดงาน’ ประท้วงนโยบายเพิ่มโควตารับนักศึกษาแพทย์

(11 มี.ค.67) รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศว่า ได้เริ่มกระบวนการที่จะระงับใบประกอบวิชาชีพของแพทย์ฝึกหัดเกาหลีใต้ ที่เข้าร่วมขบวนการประท้วงรัฐบาลด้วยการยื่นใบลาออก และนัดหยุดงาน เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกนโยบายเพิ่มโควตาการรับนักศึกษาแพทย์ในปีนี้ และปฏิรูประบบการฝึกอบรมแพทย์ครั้งใหญ่ จนสร้างความปั่นป่วนในระบบการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลทั่วประเทศ 

จุน บยอง-วัง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ทางการเกาหลีใต้ได้ส่งจดหมายแจ้งเตือนไปยังกลุ่มแพทย์ฝึกหัดชุดแรกจำนวน 4,944 คนตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่พวกเขาเหล่านั้นต้องส่งเอกสารตอบกลับเรื่องมาตรการลงโทษนี้ให้ทันภายในวันที่ 25 มีนาคม 2567 นี้ มิฉะนั้นใบประกอบวิชาชีพของพวกเขาจะถูกระงับ

การประท้วงของกลุ่มแพทย์ฝึกหัดของเกาหลีใต้ เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อบรรดาแพทย์ฝึกหัดในโรงพยาบาลนัดกันยื่นใบลาออก หรือพากันวอล์กเอาต์ออกจากที่ทำงาน จนทำให้บุคลากรการแพทย์ในโรงพยาบาลหลายแห่งขาดแคลนอย่างกะทันหัน จนไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้ทัน บางโรงพยาบาลต้องเลื่อนกำหนดผ่าตัด หรือส่งตัวคนไข้ไปยังโรงพยาบาลอื่น 

แม้ว่ารัฐบาลเกาหลีใต้จะออกมาตำหนิให้กลุ่มแพทย์ฝึกหัดอย่างรุนแรงว่าขาดจิตสำนึกที่ทิ้งคนไข้ และขู่ว่าจะดำเนินคดี และเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพกลุ่มแกนนำในการประท้วงครั้งนี้ 

แต่การลาออกของแพทย์ฝึกหัดยังคงมีอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดเมื่อวันศุกร์ (8 มี.ค. 67) พบว่ามีแพทย์ฝึกหัดในเกาหลีใต้จำนวน 11,994 คนจาก 100 วิทยาลัยแพทย์ทั่วประเทศยื่นจดหมายลาออกเพื่อประท้วงรัฐบาล คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 93% ของจำนวนแพทย์ฝึกหัดทั้งหมดในเกาหลีใต้

เมื่อบรรดาแพทย์ฝึกหัดไม่ยอมถอย รัฐบาลเกาหลีใต้จึงต้องยกระดับการกดดันด้วยการส่งจดหมายแจ้งเตือนการระงับใบประกอบวิชาชีพชั่วคราวชุดแรกกว่า 5,000 ฉบับ เพื่อกระตุ้นเตือนให้เหล่าแพทย์ฝึกหัดที่ลางาน รีบกลับมาทำงานก่อนผลการพิจารณาตัดสินโทษจะแล้วเสร็จ อีกทั้งยังขู่ที่จะดำเนินคดีกลุ่มแพทย์ฝึกหัดแกนนำรุ่นพี่ ที่แสดงพฤติกรรมข่มขู่ คุกคาม หรือขัดขวางรุ่นน้องไม่ให้กลับเข้ามาทำงานอีกด้วย 

พร้อมทั้งย้ำถึงความจำเป็นในการเพิ่มจำนวนแพทย์เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในพื้นที่ห่างไกล หรือแพทย์เฉพาะทาง เช่น ด้านกุมารเวชศาสตร์และศัลยกรรมระบบประสาท เพื่อรองรับสังคมประชากรสูงวัยของเกาหลีใต้ในอนาคต ดังนั้นรัฐบาลเกาหลีใต้ยังไม่ยอมถอยเรื่องการเพิ่มโควตารับนักศึกษาแพทย์อีก 60% ในปีการศึกษาหน้า

แต่ทั้งนี้ โช คยูฮง รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ทางรัฐบาลยังเปิดกว้างสำหรับการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อแก้ปัญหา ที่จะนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุงสวัสดิภาพการทำงาน และพร้อมจะใช้มาตรการผ่อนปรนหากแพทย์ฝึกหัดที่ประสงค์จะกลับมาทำงานก่อนที่ขั้นตอนการระงับใบอนุญาตจะเสร็จสิ้น ในระหว่างนี้ รัฐบาลสั่งระดมแพทย์ทหารเข้ามาช่วยเสริมในโรงพยายาลพลเรือนที่ได้รับผลกระทบจากการนัดหยุดงานของกลุ่มแพทย์ฝึกหัดไปก่อน 

ซึ่งในเกาหลีใต้ มีกฎหมายระบุข้อห้ามในการนัดหยุดงานของทีมแพทย์ไว้อย่างชัดเจน แต่เมื่อมีการนัดหยุดงานของกลุ่มแพทย์ฝึกหัดเกิดขึ้น ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงต้องส่งเรื่องให้ตำรวจเข้ามาสอบสวนหาตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการนัดหยุดงาน ที่จะต้องถูกดำเนินคดีทางกฎหมายและอาจรุนแรงถึงการเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพถาวรได้ 

ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มแพทย์กับนโยบายรัฐ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมเกาหลีใต้อย่างกว้างขวาง โดยกลุ่มบุคลากรการแพทย์เคยแย้งว่าการเริ่มเพิ่มจำนวนแพทย์ โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพอาจนำไปสู่ความล้มเหลวของการให้บริการด้านสาธารณสุข แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้แย้งว่า กลุ่มแพทย์ที่คัดค้านเพียงต้องการรักษาสถานะทางสังคม และ มาตรฐานค่าตอบแทนในวิชาชีพของตนเท่านั้น เพราะหากมีจำนวนแพทย์เพิ่มมากขึ้นในตลาดแรงงาน ย่อมส่งผลต่อการเรียกร้องในการเพิ่มสวัสดิการ และค่าตอบแทนของแพทย์ในอนาคตได้ 

‘ม็อบหนุนปาเลสไตน์’ ผุดขึ้นตามมหาวิทยาลัยทั่วสหรัฐฯ ‘เจ้าหน้าที่’ ปราบดุ!! ใช้สารเคมี-ช็อตไฟฟ้า สลายการชุมนุม

เมื่อวานนี้ (25 เม.ย. 67) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เริ่มใช้มาตรการแข็งกร้าวกับผู้ชุมนุมประท้วงสนับสนุนปาเลสไตน์ที่ปักหลักชุมนุมกันตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ หลังการชุมนุมลักษณะนี้แผ่ลามไปตามสถาบันอุดมศึกษาอื่น ๆ ทั่วอเมริกามากขึ้น

รายงานข่าวระบุว่า เจ้าหน้าที่ปราบจลาจลใช้สารระคายเคืองและอุปกรณ์ช็อตไฟฟ้าเข้าควบคุมการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ในขณะที่บรรดาผู้บริหารของสถาบันการศึกษาที่ทรงเกียรติที่สุดของประเทศบางแห่งกำลังดิ้นรนขัดขวางการปักหลักชุมนุมยึดสถานที่ของผู้ประท้วง

การปักหลักชุมนุมและประท้วงอันครึกโครม ผุดขึ้นมาตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วสหรัฐฯ ด้วยที่พวกนักเคลื่อนไหวเรียกร้องข้อตกลงหยุดยิงในสงครามระหว่างอิสราเอลกับนักรบฮามาส เช่นเดียวกับเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยทั้งหลายตัดความสัมพันธ์กับอิสราเอลและบริษัทต่าง ๆ ที่พวกเขาบอกว่าโกยกำไรจากความขัดแย้งดังกล่าว

"สำหรับ 201 วัน ที่โลกเฝ้าดูอย่างเงียบ ๆ ปล่อยให้อิสราเอลฆาตกรรมชาวปาเลสไตน์ไปกว่า 30,000 คน" ข้อความหนึ่งที่โพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์โดยแกนนำการประท้วงจุดใหม่ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในลอสแอนเจลิส 

"วันนี้ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเข้าร่วมกับนักศึกษาทั่วประเทศ เรียกร้องมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของเราตัดขาดกับบริษัทต่าง ๆ ที่แสวงหาผลกำไรจากการรุกราน การแบ่งแยก และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์"

มีผู้ประท้วงมากกว่า 200 คน ถูกจับกุมในวันพุธ (24 เม.ย.) และวันพฤหัสบดี (25 เม.ย.) ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในลอสแอนเจลิส บอสตัน และในเมืองออสติน รัฐเทกซัส บริเวณที่มีผู้คนกว่า 2,000 ราย มารวมตัวกันอีกครั้งในวันพฤหัสบดี (25 เม.ย.)

ที่มหาวิทยาลัยเอโมรี ในแอตแลนตา ปรากฏภาพถ่ายกำลังใช้เครื่องช็อตไฟฟ้าระหว่างเข้าจัดการกับพวกผู้ประท้วงที่อยู่บริเวณลานหญ้า ขณะที่เว็บไซต์ข่าวของทางมหาวิทยาลัย เผยว่า พวกเจ้าหน้าที่สวมหน้ากากป้องกันแก๊สและใช้สายรัดข้อมือควบคุมตัวผู้ชุมนุม

กรมตำรวจแอตแลนตา อ้างว่าทางมหาวิทยาลัยร้องขอให้ช่วยคุ้มกันมหาวิทยาลัย "พวกเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเจอกับการใช้ความรุนแรง เราทราบมาว่าเจ้าหน้าที่กรมตำรวจแอตแลนตาใช้สารระคายเคืองระหว่างเหตุการณ์นี้ แต่กรมตำรวจแอตแลนตาไม่ได้ใช้กระสุนยาง"

สถานการณ์ที่ลุกลามบานปลายของการประท้วง เริ่มต้นขึ้นที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์ก หลังจากผ่านพ้นเส้นตายที่พวกนักศึกษาได้รับคำสั่งให้รื้อถอนค่ายชั่วคราวที่พวกเขาใช้ปักหลักชุมนุมและกลายมาเป็นศูนย์กลางของความเคลื่อนไหว

การประท้วงที่ลุกลามกลายมาเป็นความท้าทายใหญ่หลวงสำหรับบรรดาผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่พยายามรักษาสมดุลในพันธสัญญาของมหาวิทยาลัย ในเรื่องของสิทธิเสรีภาพการแสดงออกกับเสียงโวยวายต่าง ๆ เกี่ยวกับการล้ำเส้นของพวกผู้ประท้วง

พวกผู้ประท้วงสนับสนุนอิสราเอลและอื่น ๆ แสดงความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยในมหาวิทยาลัย โดยชี้ถึงเหตุการณ์ต่อต้านยิวต่าง ๆ และกล่าวหาว่ามหาวิทยาลัยทั้งหลายกำลังสนับสนุนการข่มขู่คุกคามและประทุษวาจา (hate speech)

อย่างไรก็ตาม นักศึกษาผู้ประท้วงบอกว่าพวกเขาต้องการแสดงออกถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันกับชาวปาเลสไตน์ในกาซา ดินแดนที่มีผู้ถูกสังหารไปแล้วแตะระดับ 34,305 คน โดยผู้ชุมนุมบางส่วน ในนั้นรวมถึงนักศึกษายิวเองจำนวนหนึ่ง ปฏิเสธคำกล่าวหาต่อต้านยิว และวิพากษ์วิจารณ์พวกเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติกับพวกเขาสวนทางกับฝ่ายสนับสนุนอิสราเอล

อิสราเอล พันธมิตรของสหรัฐฯ เปิดสงครามในกาซา แก้แค้นกรณีที่พวกนักรบฮามาสบุกจู่โจมเล่นงานอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม สังหารผู้คนไปราว 1,170 ราย และจับตัวประกันไปประมาณ 250 คน คาดหมายว่าเวลานี้ยังเหลือตัวประกันอยู่ในกาซาอีก 129 คน แต่ในนั้น 34 คน สันนิษฐานว่าเสียชีวิตแล้ว

ที่มหาวิทยาลัยเซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย ในลอสแอนเจลิส ซึ่งมีผู้ประท้วงถูกจับกุมฐานบุกรุก 93 รายในวันพุธ (24 เม.ย.) พวกเจ้าหน้าที่เปิดเผยว่าได้ยกเลิกกิจกรรมพิธีสำเร็จการศึกษาในวันที่ 10 พฤษภาคม

ส่วนที่มหาวิทยาลัยเอเมอร์สัน ในบอสตัน สื่อมวลชนท้องถิ่นรายงานว่าได้มีการยกเลิกการเรียนการสอนในวันพฤหัสบดี (25 เม.ย.) หลังจากตำรวจปะทะกับผู้ประท้วงเมื่อคืนที่ผ่านมา รวมถึงเข้ารื้อถอนค่ายของผู้ชุมนุมฝักใฝ่ปาเลสไตน์และจับกุมผู้ประท้วงไปราว 108 คน

ในวอชิงตัน พวกนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ และมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน จัดตั้งแคมป์ปักหลักชุมนุมเพื่อแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกัน ที่มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตันในวันพฤหัสบดี (25 เม.ย.) โดยที่บรรดานักศึกษาของมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ยังมีแผนประท้วงไม่เข้าเรียนอีกด้วย

การประท้วงและการปักหลักชุมนุมยังผุดขึ้นที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และมหาวิทยาลัยเยล แม้พบเห็นนักศึกษาหลายสิบคนถูกจับกุมไปเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ เช่นเดียวกับที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยบราวน์ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ มหาวิทยาลัยมิชิแกน และที่อื่น ๆ

เมื่อวันอาทิตย์ (21 เม.ย.) ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ประณามความเคลื่อนไหวต่อต้านยิวอย่างโจ่งแจ้ง โดยบอกสิ่งแบบนี้ไม่ควรมีที่ว่างตามมหาวิทยาลัยทั้งหลาย อย่างไรก็ตาม ทำเนียบขาวบอกเช่นกันว่าท่านประธานาธิบดีสนับสนุนเสรีภาพการแสดงออก ณ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของสหรัฐฯ

‘รัฐบาลเกาหลีใต้’ ประกาศมาตรการเล็งพึ่ง ‘หมอต่างชาติ’ หลังแพทย์ฝึกหัดลาออก-หยุดงานประท้วง ต้านแผนปฏิรูป

(10 พ.ค. 67) การลาออกและผละงานประท้วงของเหล่าแพทย์ฝึกหัดจำนวนมากในประเทศเกาหลีใต้ เนื่องจากไม่พอใจแผนการปฏิรูปของรัฐบาล โดยเฉพาะการเพิ่มโควต้ารับนักศึกษาแพทย์ในแต่ละปีเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัญหายืดเยื้อมานานหลายเดือนและยังไม่ได้ข้อยุติ ซึ่งกระทบต่อการให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนนั้น

ล่าสุด นายฮัน ด็อก-ซู นายกรัฐมนตรีของเกาหลีใต้ ประกาศในวันศุกร์ที่ 10 พ.ค.ว่า เกาหลีใต้จะเปิดรับแพทย์ต่างชาติที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแพทย์เข้ามาทำงานในโรงพยาบาลต่าง ๆ ของเกาหลีใต้ได้ ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาปัญหาติดขัดในการให้บริการทางการแพทย์ในสถานพยาบาล

นายกรัฐมนตรีฮัน ด็อก-ซู กล่าวอีกว่า รัฐบาลจะตรวจสอบให้แน่ใจว่า “มีระบบความปลอดภัยที่สมบูรณ์ถี่ถ้วนเพื่อป้องกันไม่ให้แพทย์ที่ไม่มีคุณสมบัติเหมาะ (ที่มีใบอนุญาตจากต่างประเทศ) มารักษาคนไข้ของเรา”

หลังรัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศมาตรการพึ่งหมอต่างชาติ นายลิม ฮยอน-แท็ก หัวหน้าสมาคมแพทย์เกาหลี (KMA) ก็ได้แชร์รูปประกอบรายงานข่าวเรื่องแพทย์จบใหม่ชาวโซมาเลีย พร้อมข้อความว่า “เร็ว ๆ นี้”

ก่อนที่ภาพดังกล่าวจะถูกลบทิ้งไปหลังจากถูกกระแสตีกลับในโลกออนไลน์ที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์การโพสต์ดังกล่าวอย่างหนัก ซึ่งนายคิม แจ-ฮยอน เลขาธิการขององค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่งที่สนับสนุนการรักษาพยาบาลฟรี กล่าวว่า เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมและเป็นการเหยียดเชื้อชาติอย่างชัดเจน

“โพสต์นั้นแสวงหาประโยชน์จากโรคกลัวอิสลามและทัศนคติแบบเหมารวมต่อประเทศกำลังพัฒนา” คิม แจ-ฮยอนกล่าว

ทั้งนี้ แพทย์ฝึกหัดในเกาหลีใต้จำนวนเกือบหมื่นคนได้ลาออกหรือหยุดงานประท้วงมาตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ เพื่อประท้วงแผนปฏิรูปของรัฐบาลที่มุ่งเพิ่มโควต้ารับนักศึกษาแพทย์เพิ่มขึ้นอีกปีละ 2,000 คน โดยกลุ่มผู้ประท้วงโต้แย้งว่าแผนปฏิรูปดังกล่าวจะกัดกร่อนคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์แก่คนไข้

ก่อนหน้านี้รัฐบาลเกาหลีใต้ได้พยายามหาทางไกล่เกลี่ยมาแล้วแต่ไม่เป็นผล เนื่องจากกลุ่มแพทย์ที่ประท้วงต้องการให้ยกเลิกแผนปฏิรูปดังกล่าวไปทั้งหมด โดยขณะนี้การต่อสู้ในเรื่องนี้ยังอยู่ในชั้นศาล คาดว่าศาลสูงโซลจะมีคำตัดสินออกมาในสัปดาห์หน้า

'อ.ไชยันต์' ชี้!! คนอยู่เบื้องหลังม็อบเด็กใจอำมหิต  แนะ!! อย่าแก้ 112 ที่ปลายเหตุ ต้องแก้ที่คนบิดเบือน

(15 พ.ค.67) เฟซบุ๊ก Chaiyan Chaiyaporn ของ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความระบุว่า "ผู้ที่ให้การสนับสนุน-อยู่เบื้องหลังเยาวชนที่ออกมาประท้วงด้วยอาการและอารมณ์ที่รุนแรง คือ ผู้ที่มีจิตใจอำมหิตมาก เพราะพวกเขาใช้อนาคตและชีวิตของเยาวชนเป็นเครื่องมือไปสู่สิ่งที่พวกเขาต้องการ โดยพวกเขาเท่านั้น คือ ผู้ได้ประโยชน์ที่แท้จริง"

อีกข้อความหนึ่ง ระบุว่า "แก้ ม.112 เพื่อช่วยเยาวชนผู้ต้องหาเป็นการแก้ปลายเหตุ ต้องแก้ที่ต้นเหตุ-ผู้ให้ข้อมูลบิดเบือน"


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top