Sunday, 5 May 2024
ประกันสังคม

รมว.สุชาติ ส่ง ผู้ช่วยฯ เปิดประชุมวิชาการประกันสังคม เร่งขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานทุกมิติ ฟื้นเศรษฐกิจ - ท่องเที่ยว ภาคเหนือ

วันที่ 1 ธันวาคม 2565 เวลา 09.00 น. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการจัดงานประชุมวิชาการประกันสังคม 5 ภาค ประจำปี 2565 (ภาคเหนือ) Modernizing SSO 2022 : ก้าวสู่ระบบประกันสังคมที่ทันสมัย พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นโยบายการพัฒนา และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงาน” โดยมี นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ ให้การต้อนรับ ณ โรงแรม คุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่
          
นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และท่านรองนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับให้กระทรวงแรงงานช่วยดูแลพี่น้องแรงงาน ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 รวมทั้งนายจ้าง ผู้ประกอบการให้เหมือนคนในครอบครัว พร้อมทั้งสั่งการให้กระทรวงแรงงานช่วยเหลือพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความเท่าเทียมกัน ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมเป็นกลไกสำคัญของรัฐบาลในการช่วยเหลือนายจ้าง และผู้ประกันตน ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น การตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุกในสถานประกอบการ โครงการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ประกันตน โครงการ Factory Sandbox โครงการ ม.33 เรารักกัน โครงการเยียวยานายจ้าง และผู้ประกันตนในพื้นที่เข้มงวดสูงสุด 29 จังหวัด

รมว.สุชาติ มอบ 'เลขาสุเทพ' เปิดประชุมวิชาการประกันสังคม 5 ภาค ครั้งที่ 4 ที่จังหวัดอุดรธานี มอบนโยบายมุ่งพัฒนาและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงาน

(15 ธันวาคม 2565) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการจัดงานประชุมวิชาการประกันสังคม 5 ภาค ประจำปี 2565 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) Modernizing SSO 2022 : ก้าวสู่ระบบประกันสังคมที่ทันสมัย พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง 'นโยบายการพัฒนา และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ ของผู้ใช้แรงงาน' โดยมี นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน นายนิติพัฒน์ ลีลาเลิศแล้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดอุดรธานี ให้การต้อนรับ ณ โรงแรม เซ็นทาราแอนด์คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ จังหวัดอุดรธานี 

นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจ จนเห็นผล ถึงแม้มีวิกฤตต่าง ๆ เพราะขณะนี้สัญญาณเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะในภูมิภาค สะท้อนถึงประสิทธิภาพของมาตรการของรัฐบาลที่แก้ไขปัญหา ได้ตรงจุดและครอบคลุม ประกอบกับรัฐบาล ได้ดำเนินมาตรการส่งเสริมการจ้างงาน ส่งผลดีให้พื้นที่เศรษฐกิจ และการมีงานทำของกำลังแรงงานในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้น ท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญในการมุ่งดูแลแรงงานในระบบประกันสังคมทุกคนให้ได้รับความคุ้มครองและการประกันสังคม ที่เท่าเทียมกัน พร้อมยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์แก่แรงงาน ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เช่นที่ผ่านมา กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมเป็นกลไกสำคัญของรัฐบาลในการช่วยเหลือนายจ้าง และผู้ประกันตน ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น การตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุก ในสถานประกอบการ โครงการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ประกันตน โครงการ Factory Sandbox โครงการ ม.33 เรารักกัน โครงการเยียวยานายจ้าง และผู้ประกันตนในพื้นที่เข้มงวดสูงสุด 29 จังหวัด โครงการเยียวยาผู้ประกันตน กิจการสถานบันเทิง โดยสถานการณ์ปัจจุบันโควิด-19 ได้คลี่คลายลง รัฐบาลมีนโยบายผ่อนคลายมาตรการ และเปิดประเทศ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เดินทางคึกคักเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น มาตรการภาครัฐช่วยพยุงการใช้จ่ายและการจ้างงานให้อยู่ในเกณฑ์ดี โดยทิศทางของธุรกิจท่องเที่ยว และบริการร้านค้า ร้านอาหาร ที่พัก ในจังหวัดอุดรธานี และทุกจังหวัดแรงงานในภาคอีสาน ขณะที่ความต้องการแรงงานในพื้นที่ก็เพิ่มขึ้นด้วย ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าตลาดแรงงานต้องการแรงงานอย่างต่อเนื่องและพื้นที่เศรษฐกิจอื่นๆ ด้วย ในวันนี้ ผมได้มีโอกาสเป็นประธานการประชุมวิชาการประกันสังคม ครั้งที่ 4 เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจความสำคัญของงานประกันสังคมแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในการพัฒนางานประกันสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องนำไปสู่การขยายผลด้านสิทธิประโยชน์ ให้มีความยั่งยืน เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ประกันตนให้ได้รับประโยชน์สูงสุดต่อไป 

'รมว.เฮ้ง' ห่วงลูกจ้างบาดเจ็บ เหตุตึกทรุด ย่านพระราม 9 สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาสาเหตุ-เร่งช่วยเหลือตามสิทธิ

(13 ก.พ. 66) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ห่วงเหตุอาคารก่อสร้างทรุดตัว ย่านพระราม 9 ทำให้มีลูกจ้างบาดเจ็บ 5 ราย สั่งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม หาสาเหตุและเร่งช่วยเหลือตามสิทธิ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า "กรณีสื่อมวลชนนำเสนอข่าว เกิดเหตุอาคารก่อสร้างที่พักอาศัยถล่มทับลูกจ้างบาดเจ็บ 5 ราย เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 16.00 น. ในเบื้องต้น ผมได้รับรายงานจากพนักงานตรวจความปลอดภัย สนง.สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 เหตุเกิดในพื้นที่ใกล้เคียงกับอาคารโชว์ดีซี ถนนพระราม 9 แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร โดยเป็นพื้นที่โครงการก่อสร้างบ้านพักอาศัย ขณะเกิดเหตุมีลูกจ้างทำงานอยู่ภายในอาคารประมาณ 130 คน มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 5 ราย สัญชาติกัมพูชา นำส่งโรงพยาบาลเพชรเวชแล้ว จำนวน 3 ราย และไม่ประสงค์ให้นำส่งโรงพยาบาลจำนวน 2 ราย

ผมจึงสั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม ลงพื้นที่หาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้ พร้อมจะเดินทางไปเยี่ยมลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บที่โรงพยาบาลเพชรเวช และจะเร่งดำเนินการให้ได้ลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายต่อไป"

ด้านนายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า พนักงานตรวจความปลอดภัย สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 5 (สรพ.5) จะเชิญนายจ้างและผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อตรวจสอบว่านายจ้างได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หรือ พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

‘ก.คลัง’ แนะหั่นเบี้ยคนสูงวัยที่ร่ำรวย พุ่งเป้าช่วยคนรายได้น้อย-ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น

เมื่อไม่นานมานี้ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดว่า กระทรวงการคลังได้จัดเตรียม ‘แผนการปฏิรูปภาษี’ ให้กับรัฐบาลใหม่พิจารณา ประมาณ 20 รายการ เพื่อลดรายจ่าย เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาวมากขึ้น

พร้อมกับเพิ่มรายได้ให้รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอต่อการจัดทำมาตรการที่เหมาะสม เนื่องจากตัวรายได้จัดเก็บภาษีของรัฐบาล ปัจจุบันคิดเป็นเพียง 14% ของจีดีพี เท่านั้น ซึ่งมาตรฐานที่ควรจะเป็นอยู่ที่ 15-16% ด้วยการให้สิทธิพิเศษ การดูแลเป็นวงกว้างมากเกินไป

หนึ่งในแนวทางที่มีการพูดถึง คือ การตัดงบผู้สูงอายุ ของกลุ่มที่ร่ำรวยอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็น ปรับไปใช้นโยบายที่พุ่งเป้าช่วยกลุ่มผู้มีรายได้น้อย จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจริงๆ ให้ถูกฝาถูกตัวไม่เหวี่ยงแห ซึ่งจะช่วยลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป แต่แนวทางนี้อาจไม่เป็นที่ยอมรับจากรัฐบาลต่างๆ เนื่องจากกระทบคะแนนเสียงของพรรคการเมือง

สำหรับงบประมาณที่ต้องใช้กับเบี้ยผู้สูงอายุเป็นรายเดือนนั้น ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามจำนวนผู้สูงอายุในปัจจุบันใช้งบสูงถึง 90,000 ล้านบาทต่อปี จากเดิมเพียง 50,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งหากตัดการจ่ายให้ผู้สูงอายุที่ร่ำรวยออกไป คาดว่าสามารถลดรายจ่ายงบประมาณได้มากถึงครึ่งหนึ่ง

‘รมว.สุชาติ’ สั่ง ‘สปส.’ มอบเงินเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต กรณีลูกจ้างถูกแผ่นเหล็กสะพานข้ามแยกบางกะปิร่วงทับ

(19 ส.ค. 66) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งการให้สำนักงานประกันสังคมมอบเงินประโยชน์ทดแทนกรณีเสียชีวิต ให้กับทายาทของนายอานันต์ ลองศรี จากเหตุการณ์แผ่นเหล็กยาว 10 เมตร ใต้ท้องสะพานยกระดับข้ามแยกบางกะปิ ถนนเสรีไทย เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ หล่นลงมาทับคนงานด้านล่างระหว่างรื้อถอน จนเป็นเหตุให้ลูกจ้างเสียชีวิต เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยและแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้ ได้กำชับให้สำนักงานประกันสังคม เร่งให้ความช่วยเหลือแก่ทายาทของผู้เสียชีวิตโดยด่วน ผมจึงได้มอบหมายให้นางกำไร บุ้งจันทร์ ประกันสังคมจังหวัดอุดรธานี พร้อมด้วยนางสาวรัชดา อุดมมงคลกิจ หัวหน้าสำนักงานประกันสังคมจังหวัดอุดรธานี สาขากุมภวาปี และเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่มอบเงินกรณีเสียชีวิต ให้แก่ทายาทของนายอานันต์ ลองศรี ซึ่งเป็นลูกจ้างของ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฟองวิน เอ็นจิเนียริ่ง

โดยในวันเกิดเหตุแผ่นเหล็กคานสะพานยาว 10 เมตร ที่อยู่ใต้ท้องสะพานยกระดับแยกบางกะปิ ที่อยู่ระหว่างซ่อมแซม ได้ร่วงลงมาทับร่างคนงาน ขณะนำรถเครน 2 คัน ขึ้นผูกแผ่นเหล็กใต้ท้องสะพานข้ามแยกดังกล่าว ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 2 ราย และเสียชีวิต 1 ราย

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทั้ง 2 รายปัจจุบันกลับไปพักรักษาตัวที่บ้านแล้ว ส่วนผู้ที่เสียชีวิต 1 ราย คือ นายอานันต์ ลองศรี ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้ เป็นการประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง ทายาทของผู้เสียชีวิตจะได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทน เป็นค่าทำศพ 50,000 บาท ค่าทดแทนกรณีเสียชีวิตร้อยละ 70 ของค่าจ้าง เป็นระยะเวลา 10 ปี เป็นเงิน 1,512,000 บาท เงินบำเหน็จชราภาพ 54,394.66 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,616,394.23 บาท โดยมอบให้กับนายบุญหลาย ลองศรี บิดา และครอบครัว ณ บ้านพักอาศัย ตำบลโพธิ์สำราญ อำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี

ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคม พร้อมดูแลลูกจ้าง ผู้ประกันตน รวมถึงทายาทของผู้เสียชีวิตที่ประสบเหตุ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างครบถ้วน และเข้าถึงผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างทันท่วงที นายบุญสงค์ กล่าวในตอนท้าย

‘รัฐบาล’ ตั้งเป้า ปี 67 เป็นปีแห่งการขับเคลื่อน ‘งานประกันสังคม’ เพิ่มประสิทธิภาพการบริการ ตอกย้ำความเชื่อมั่นแก่ผู้ประกันตน

(6 ต.ค. 66) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานภายใต้แนวคิด ‘ทักษะดี มีงานทำ หลักประกันทางสังคมเด่น เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ’ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เป็นปีแห่งการขับเคลื่อนงานประกันสังคมให้เข้มแข็ง ให้เป็นที่ยอมรับ เชื่อมั่น และไว้วางใจจากลูกจ้าง ผู้ประกันตนและสังคมโดยรวม

นายคารม กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงาน เดินหน้าปฏิบัติภารกิจของสำนักงานประกันสังคม เพื่อความคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของลูกจ้าง ผู้ประกันตน ดังนี้

1.) ‘Micro Finance’ ลดหนี้ เติมทุน สร้างสุข เพื่อพัฒนาและยกระดับให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

2.) กองทุนมั่นคง แรงงานมั่งคั่ง ประกันสังคมยั่งยืน โดยต้องบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และมีความยั่งยืน

3.) ‘Best e-Service’ ประกันสังคมยุคใหม่ สร้างความมั่นคง เพิ่มความมั่นใจ ยกระดับการให้บริการของสำนักงานประกันสังคม ผ่าน e-Service โดยการนำระบบ e-Claim มาใช้ในการให้บริการเบิก-จ่ายเงิน และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกันตน

4.) สร้างรากฐานเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการคุ้มครองแรงงาน ปรับปรุงและพัฒนากฎหมายให้มีความเหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล

5.) การเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการทางการแพทย์ ยกระดับการให้บริการทางการแพทย์และการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค แก่ลูกจ้าง ผู้ประกันตนโดยผู้ประกันตนต้องได้รับการบริการทางด้านสุขภาพอนามัย การรักษาพยาบาลที่ดีขึ้นกว่าเดิม

6.) จัดทำสิทธิประโยชน์ Package Premium สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 เช่น เพิ่มสิทธิกรณีเจ็บป่วย ชดเชยรายได้ตามค่าแรงขั้นต่ำ ค่าตอบแทนกรณีนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยอาจยกระดับให้เท่ากับผู้ประกันตนมาตรา 39 รวมทั้งการจูงใจให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 ส่งเงินสมทบอย่างต่อเนื่อง

“รัฐบาลมุ่งยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของพี่น้องผู้ใช้แรงงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมเดินหน้าผลักดันนโยบายให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว ผ่านการทำงานอย่างบูรณาการเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติ เพื่อผลักดันนโยบายรัฐบาลและนโยบายกระทรวงแรงงานให้เป็นเกิดผลสำเร็จ โดยยึดประโยชน์สูงสุดของลูกจ้างผู้ประกันตนเป็นหลัก” นายคารม กล่าว

รมว.'พิพัฒน์' ห่วงใย ลงพื้นที่สงขลา รุดเยี่ยมให้กำลังใจ มอบสิ่งของช่วยผู้ประกันตนทุพพลภาพ

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม คณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ได้ลงพื้นที่เยี่ยม เพื่อพูดคุยให้กำลังใจรวมถึงนำสิ่งของเครื่องอุปโภคและบริโภค ตลอดจนสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่จำเป็นมามอบให้กับผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสงขลา จำนวน 2 ราย รายแรกคือ นายบุญตา ศรีสุชาติ อายุ 62 ปี เป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ทุพพลภาพจากอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ เดือนละ 2,400 บาท รายที่ 2 คือ นางวันดี จันทศิริ อายุ 56 ปี เป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ทุพพลภาพจากอาการจอประสาทตาเสื่อม เป็นเหตุให้ตาทั้งสองข้างมองเห็นไม่ชัดเจน ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ เดือนละ 2,400 บาท   

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม พร้อมดูแลผู้ประกันตนทุกคนให้มีหลักประกันความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะผู้ประกันตนทุกคนคือครอบครัวประกันสังคม

‘ประกันสังคม’ คุ้มครองการรักษา ‘โรคมะเร็ง’ แก่ ‘ม.33-39’ ยัน!! หากตรวจพบสามารถใช้สิทธิรักษา ‘ฟรี’ 20 ชนิด

(9 พ.ย. 66) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ให้การคุ้มครองด้านการรักษาโรคมะเร็งแก่ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 โดยไม่มีค่าใช้จ่ายจนสิ้นสุดการรักษา หากเข้ารับการรักษาตามแนวทางที่กำหนด (Protocol) แต่ในกรณีที่ไม่สามารถรักษาตามแนวทางที่กำหนด (Protocol) และมีความจำเป็นที่ต้องให้การรักษาด้วยยารักษาโรคมะเร็ง เคมีบำบัด รังสีรักษา ให้สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อรายต่อปี

นายคารม กล่าวว่า สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 39 ที่ตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็ง สามารถเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งได้ 20 ชนิด ประกอบด้วย…

1.โรคมะเร็งเต้านม 
2.โรคมะเร็งปากมดลูก 
3.โรคมะเร็งรังไข่  
4.โรคมะเร็งมดลูก 
5.โรคมะเร็งโพรงหลังจมูก 
6.โรคมะเร็งปอด 
7.โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ใหญ่ตรง 
8.โรคมะเร็งหลอดอาหาร 
9.โรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี 
10.โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ 
11.โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก 
12.โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร 
13.โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันแบบลิมฟอยด์ในผู้ใหญ่ 
14.โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในผู้ใหญ่
15.โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันชนิดมัยอีลอยด์ในผู้ใหญ่ 
16.โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันในผู้ใหญ่แบบ Acute Promyelocytic leukemia (APL) 
17.โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดมัยอีลอยด์ในผู้ใหญ่ 
18. โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมัยอีโลมาในผู้ใหญ่ 
19.โรคมะเร็งกระดูกชนิด Osteosarcoma ในผู้ใหญ่
20.โรคมะเร็งเด็ก

นายคารม กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตผู้ประกันตน มุ่งยกระดับมาตรฐานการให้บริการครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อให้ผู้ประกันได้คลายความกังวลเมื่อเจ็บป่วยสามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลได้อย่างสะดวก และรวดเร็ว เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานประกันสังคม หากมีข้อสงสัยต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ จังหวัด สาขาทุกแห่ง หรือ สายด่วน 1506

‘ประกันสังคม’ ประกาศ!! ป่วยหยุดหายใจตอนหลับ เบิกค่า Sleep test ได้ มีผล ‘บังคับใช้’ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 67 จ่ายจริงไม่เกิน 7 พันบาท

(26 ม.ค. 67) สำนักงานประกันสังคม ออกประกาศคณะกรรมการการแพทย์ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงานโดย พล.ต.ท.ธนา ธุระเจน ประธานกรรมการการแพทย์ ประกาศ ณ.วันที่ 22 ม.ค. 67

สาระสำคัญสำหรับผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคหยุดหายใจขณะหลับ คือ…

- ค่าตรวจการนอนหลับ (polysomnography) ชนิดที่ 1 จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 7,000 บาท

- ค่าตรวจการนอนหลับ (polysomnography) ชนิดที่ 2 (การตรวจวัดเหมือนชนิดที่ 1 เว้นแต่ไม่มี
   เจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามขณะหลับ) จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 6,000 บาท

- ค่าอุปกรณ์เครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า (Continuous positive Airway Pressure - CPAP) 
   และอุปกรณ์เสริมสำหรับการรักษาในอัตราที่สำนักงานที่กำหนด

- เครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า ชุดละ 20,000 บาท

- หน้ากากครอบจมูกหรือปากที่ใช้กับเครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า ชิ้นละ 4,000 บาท

ทั้งนี้ค่าอุปกรณ์เสริม แผ่นกรองอากาศ กระดาษ และแผ่นกรองอากาศฟองน้ำ ให้รวมอยู่ในค่าบริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาลที่สำนักงานกำหนดสิทธิ์ในการรับบริการทางการแพทย์สำหรับผู้ประกันตนมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป 

อย่างไรก็ตามในเรื่องดังกล่าว ทีมข่าว พีพีทีวีออนไลน์ได้สอบถามกับสำนักงานประกันสังคม ได้ข้อมูลเพิ่มเติม ว่า ผู้ประกันตน สามารถใช้สิทธิได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตามการรักษาโรคนอนกรนตามแพทย์สั่งให้ทำ Sleep test 

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการได้รับสิทธิ

- ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ มาตรา 39 จะได้รับสิทธิเมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนวันรับบริการทางการแพทย์

- ผู้ประกันตนตาม มาตรา 38 และ มาตรา 41 จะได้รับสิทธิเมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือนภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนวันรับบริการทางการแพทย์ และได้รับสิทธิคุ้มครองภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน

รมว.'พิพัฒน์' ดูแลแรงงานอิสระ รับจ้าง เกษตรกร กว่า 1.8 แสนคน จ.พัทลุง สร้างหลักประกัน ม.40 ประกันสังคม เจ็บป่วยนอนพัก ได้เงินทดแทนขาดรายได้

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 10.00 น. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดโครงการประกันสังคมทั่วไทย สู่แรงงานภาคอิสระ รุ่นที่ 1 โดยมี นางนิศากร วิศิษฎ์สรอรรถ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม หัวหน้าส่วนราชการกระทรวงแรงงานจังหวัดพัทุลง ผู้ประกันตน เครือข่าย ผู้เข้าร่วมโครงการฯ พร้อมประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับ ณ โรงแรมร้อยทองรีสอร์ท จังหวัดพัทลุง 

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการสร้างหลักประกันทางสังคมให้กับผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ เพราะแรงงานถือเป็นฟันเฟืองที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของชาติ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบหรือนอกระบบควรได้รับการคุ้มครอง และมีหลักประกันในการดำรงชีวิตที่ดี อีกทั้งมีความพร้อมในการประกอบอาชีพเพื่อพัฒนาประเทศ ตามนโยบายของกระทรวงแรงงาน “การสร้างรากฐานเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการคุ้มครองแรงงาน” โดยในวันนี้ ผมได้รับเกียรติเป็นประธานเปิดโครงการประกันสังคมทั่วไทย สู่แรงงานภาคอิสระ รุ่นที่ 1 ที่จังหวัดพัทลุง ซึ่งพัทลุงถือเป็นเมืองที่มีธรรมชาติที่สวยงาม มีความสำคัญด้านศิลปะ วัฒนธรรม เป็นต้น    

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า พัทลุงยังเป็นถิ่นกำเนิดของศิลปะการแสดงที่ขึ้นชื่ออย่างมโนราห์ และหนังตะลุงซึ่งตกทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของภาคใต้ อีกทั้ง พัทลุงมีผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวนทั้งสิ้น 53,566 คน ที่ประกอบด้วย ผู้ประกอบอาชีพอิสระกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มผู้รับจ้างทั่วไป กลุ่มเกษตรกร กลุ่มแปรรูปอาหาร ที่ยังขาดการคุ้มครองตามหลักประกันสังคมมาตรา 40 อีกเป็นจำนวนมาก และเป็นจังหวัดที่มีผู้ประกันตนส่งเงินสมทบต่อเนื่องมากเป็นลำดับที่ 1 ของภาคใต้ และเป็นลำดับที่ 6 ของประเทศ ทั้งนี้ โครงการประกันสังคมทั่วไทย สู่แรงงานภาคอิสระ จัดขึ้นเพื่อเป็นการรณรงค์เชิญชวนกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ ให้เข้าถึงหลักประกัน โดยประกันสังคมมาตรา 40 ได้ให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประกันตนทั้งสิ้น 5 กรณี ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองกรณีเงินทดแทนการขาดรายได้จากการเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีชราภาพ และกรณีสงเคราะห์บุตร ในปัจจุบันทั่วประเทศมีผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จำนวน 10,958,136 คน ตัวแทนเครือข่ายประกันสังคม จำนวน 24,645 คน เครือข่าย “บวร” กลุ่มสมาชิกบ้าน วัด โรงเรียน และโรงงาน จำนวน 265,214 คน   

ด้าน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การจัดโครงการประกันสังคมทั่วไทย สู่แรงงานภาคอิสระ รุ่นที่ 1 ประจำปี 2567 ณ จังหวัดพัทลุง เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นต่อเนื่องจากปี 2566 โดยโครงการทั้ง 6 รุ่นในปีที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากพี่น้องประชาชนผู้ประกอบอาชีพอิสระในพื้นที่ต่างๆ เป็นอย่างมาก แสดงให้เห็นว่าในปัจจุบัน พี่น้องกลุ่มแรงงานนอกระบบให้ความสำคัญกับการสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิต รวมถึงมีความต้องการสร้างคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ในการนี้ ขอให้ทุกท่านมั่นใจได้ว่า สำนักงานประกันสังคมจะดำเนินงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ประกันตนเป็นสำคัญ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top