‘ประกันสังคม’ ประกาศ!! ป่วยหยุดหายใจตอนหลับ เบิกค่า Sleep test ได้ มีผล ‘บังคับใช้’ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 67 จ่ายจริงไม่เกิน 7 พันบาท

(26 ม.ค. 67) สำนักงานประกันสังคม ออกประกาศคณะกรรมการการแพทย์ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงานโดย พล.ต.ท.ธนา ธุระเจน ประธานกรรมการการแพทย์ ประกาศ ณ.วันที่ 22 ม.ค. 67

สาระสำคัญสำหรับผู้ประกันตนที่ป่วยด้วยโรคหยุดหายใจขณะหลับ คือ…

- ค่าตรวจการนอนหลับ (polysomnography) ชนิดที่ 1 จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 7,000 บาท

- ค่าตรวจการนอนหลับ (polysomnography) ชนิดที่ 2 (การตรวจวัดเหมือนชนิดที่ 1 เว้นแต่ไม่มี
   เจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามขณะหลับ) จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 6,000 บาท

- ค่าอุปกรณ์เครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า (Continuous positive Airway Pressure - CPAP) 
   และอุปกรณ์เสริมสำหรับการรักษาในอัตราที่สำนักงานที่กำหนด

- เครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า ชุดละ 20,000 บาท

- หน้ากากครอบจมูกหรือปากที่ใช้กับเครื่องอัดอากาศขณะหายใจเข้า ชิ้นละ 4,000 บาท

ทั้งนี้ค่าอุปกรณ์เสริม แผ่นกรองอากาศ กระดาษ และแผ่นกรองอากาศฟองน้ำ ให้รวมอยู่ในค่าบริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาลที่สำนักงานกำหนดสิทธิ์ในการรับบริการทางการแพทย์สำหรับผู้ประกันตนมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป 

อย่างไรก็ตามในเรื่องดังกล่าว ทีมข่าว พีพีทีวีออนไลน์ได้สอบถามกับสำนักงานประกันสังคม ได้ข้อมูลเพิ่มเติม ว่า ผู้ประกันตน สามารถใช้สิทธิได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตามการรักษาโรคนอนกรนตามแพทย์สั่งให้ทำ Sleep test 

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการได้รับสิทธิ

- ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ มาตรา 39 จะได้รับสิทธิเมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนวันรับบริการทางการแพทย์

- ผู้ประกันตนตาม มาตรา 38 และ มาตรา 41 จะได้รับสิทธิเมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือนภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนวันรับบริการทางการแพทย์ และได้รับสิทธิคุ้มครองภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่สิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน