Sunday, 5 May 2024
ประกันสังคม

“สุชาติ” รมว.แรงงาน แจ้งข่าวดี นายจ้าง! ประกาศขยายกำหนดเวลายื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ออกไปอีก 7 วันทำการ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงแรงงานจากการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e - Payment) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอและให้ดำเนินการต่อไปได้

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนและรองรับความสะดวกในการประกอบธุรกิจของนายจ้าง และเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนให้ได้รับความคุ้มครองประกอบกับเพื่อบรรเทาและเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และส่งเสริมการคงระยะห่างทางสังคม โดยสนับสนุนให้นายจ้างทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งบัดนี้ กระทรวงแรงงานได้ออกประกาศดังกล่าว ลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2565 เป็นต้นไx

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การขยายกำหนดเวลาให้นายจ้างยื่นแบบและนำส่งเงินสมทบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ในครั้งนี้ว่า นายจ้างจะได้รับประโยชน์เป็นอย่างมาก โดยสาระสำคัญของประกาศดังกล่าว สำนักงานประกันสังคมจะขยายกำหนดเวลาในกรณีนายจ้างยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบและการนำส่งเงินสมทบตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4)พ.ศ.2558 โดยวิธีการนำส่งเงินสมทบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ออกไปอีก 7 วันทำการนับแต่วันที่พ้นกำหนดวันที่สิบห้าของเดือนถัดจากเดือนที่มีการหักเงินสมทบไว้ ซึ่งจะมีผลตั้งแต่เงินสมทบงวดเดือนมกราคม 2565 ถึงเดือนธันวาคม 2566 รวม 24 เดือน

ครม.เห็นชอบ ลดเงินสมทบประกันสังคม ม.40 อีก 6 เดือน เริ่ม 1 ก.พ.- 31 ก.ค.65

ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบขยายระยะเวลาการลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่ต้องจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม เป็นระยะเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 – 31 กรกฎาคม 2565 โดยมีอัตราส่งเงินสมทบภายหลังปรับลดทั้ง 3 ทางเลือก ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอดังนี้

ทางเลือกที่ 1 ลดเงินสมทบเหลือ 42 บาท จากเดิม 70 บาท โดยได้ประโยชน์ทดแทนใน 3 กรณี คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ และเสียชีวิต

ทางเลือกที่ 2 ลดเงินสมทบเหลือ 60 บาท จากเดิม 100 บาท โดยได้ประโยชน์ทดแทนใน 4 กรณี คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต และชราภาพ

ทางเลือกที่ 3 ลดเงินสมทบเหลือ 180 บาท จากเดิม 300 บาท โดยได้ประโยชน์ทดแทนใน 5 กรณี คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต ชราภาพ และสงเคราะห์บุตร

“สุชาติ” รมว.แรงงาน เผยข่าวดี ผู้ประกันตนมาตรา 40 เฮ!! อีกรอบ ครม.เห็นชอบของขวัญปีใหม่ 65 ลดเงินสมทบเหลือร้อยละ 60 ต่ออีก 6 เดือน (ก.พ. – ก.ค. 65)

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและพล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการ จ่ายเงินสมทบประเภทของประโยชน์ทดแทนตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... และร่างกฎกระทรวงกำหนดที่รัฐบาลอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมสำหรับผู้ประกันตน พ.ศ. ...

ซึ่งเป็นของขวัญปีใหม่ 2565 จากกระทรวงแรงงาน ที่พร้อมมอบให้กับผู้แรงงงานนอกระบบ ซึ่งประกอบอาชีพอิสระ และสมัครใจเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 และได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ให้เหลือร้อยละ 60 ของเงินสมทบ ต่ออีกเป็นระยะเวลา 6 เดือน ในงวดเดือนกุมภาพันธ์ – กรกฎาคม 2565 ให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ในอัตราใหม่ 3 ทางเลือก ดังนี้

ทางเลือกที่ 1 ให้ผู้ประกันตนซึ่งจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย จากเดิมจ่ายในอัตรา 70 บาท/เดือน จ่ายอัตราใหม่ เป็น 42 บาท/เดือน

ทางเลือกที่ 2 ให้ผู้ประกันตนซึ่งจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย และกรณีชราภาพ จากเดิมจ่ายในอัตรา 100 บาท/เดือน จ่ายอัตราใหม่เป็น 60 บาท/เดือน

ทางเลือกที่ 3 ให้ผู้ประกันตนซึ่งจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย ชราภาพ และกรณีสงเคราะห์บุตร จากจากเดิมจ่าย ในอัตรา 300 บาท/เดือน จ่ายอัตราใหม่เป็น 180 บาท/เดือน

ส่วนสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนมาตรา 40 จะได้รับทั้ง 3 เลือก ยังคงเดิม ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน สำหรับขั้นตอนของกฎกระทรวงดังกล่าว กระทรวงแรงงานโดยสำนักงานประกันสังคมจะได้เร่งดำเนินการเพื่อให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ทันภายในกำหนดต่อไป

รองโฆษกรัฐบาล แจง ประกันสังคม กำลังดำเนินการ ปรับลดการจ่ายเงินสมทบลง ร้อยละ 40 ตามมติครม.-ขอให้ผู้ประกันตน ม.40 จ่ายเงินสมทบ ก.พ.นี้ ในจำนวนเต็ม 

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีเสียงร้องเรียนจากประชาชน เรื่องการจ่ายเงินสมทบของผู้ประกันตน มาตรา 40 ซึ่งเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่พบว่ายังไม่ปรับลดการจ่ายเงินสมทบลง ร้อยละ40 ตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติให้ปรับลด ตั้งแต่เดือนก.พ.- ก.ค.2565  ว่า  ขณะนี้สำนักงานประกันสังคม(สปส.) อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อให้มีผลตามมติครม.โดยเร็วที่สุด 

ขู่ไม่ต่อสัญญา! ‘ประกันสังคม’ เอาจริง! อาจทวนต่อสัญญา ‘โรงพยาบาล’ ปัดดูแลผู้ประกันตนติดโควิค-19

น.ส.ลัดดา แซ่ลี้ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ชี้แจงกรณีผู้ประกันตนร้องเรียนผ่านสื่อมวลชน จากสาเหตุติดเชื้อโควิด-19 โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิประกันสังคมไม่ให้การรักษา เนื่องจากคิวเต็ม และเสียค่าตรวจ RT PCR ต้องซื้อยากินเองตามที่ปรากฏเป็นข่าว เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2565 

ในกรณีดังกล่าว นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน มีความห่วงใยสั่งการให้สำนักงานประกันสังคม เร่งตรวจสอบและให้การช่วยเหลือโดยด่วน ทั้งนี้สำนักงานประกันสังคมได้ประสานโรงพยาบาลตามสิทธิดังกล่าว เพื่อส่งตัวผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาใน Hospitel และจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ ตามสิทธิ์ประกันสังคม พร้อมให้โรงพยาบาลออกใบรับรองแพทย์เพื่อรับรองการหยุดงานเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้กำชับให้โรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคม ให้ความร่วมมือดูแลรักษาผู้ประกันตน ที่ตรวจพบการติดเชื้อโควิด-19 ในทันที และมีความพร้อมในการให้บริการแก่ผู้ประกันตนตั้งแต่เข้ารับการรักษา จนสิ้นสุดการรักษาอย่างเต็มศักยภาพ 
 

ก.แรงงาน ปลดล็อกเงินชราภาพประกันสังคม กู้ได้ ยืมก่อน เลือกรับบำเหน็จ - บำนาญได้เอง

กระทรวงแรงงาน เตรียมชง ครม. ปลดล็อกเงินชราภาพ ประกันสังคม สามารถกู้ได้ ยืมใช้ก่อน 20 - 30% เลือกรับบำเหน็จ - บำนาญ ได้เอง หวังบรรเทาความเดือดร้อนจากโควิด

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน เตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อแก้ไขกฎหมายให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม สามารถนำ "เงินชราภาพ" ที่เก็บสะสมไว้ออกมาใช้ก่อนครบกำหนดเกษียณอายุ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากผลกระทบในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากปัจจุบันมีเงินสะสมรวมราว 1.7-1.8 ล้านล้านบาท ขณะนี้ได้เสนอร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคม ฉบับใหม่ ให้กับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อบรรจุเป็นวาระ ครม. แล้ว 

สำหรับการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ มีชื่อเรียกว่า การจัดทำ โครงการ 3 ขอ เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณี "เงินชราภาพ" ซึ่งที่ผ่านมากำหนดสิทธิให้เพียงอย่างเดียว คือ เมื่อส่งเงินสมทบไปแล้ว 180 เดือนขึ้นไป จะได้เฉพาะเงินบำนาญ โดยการดำเนินการทั้ง 3 ขอนั้น มีรายละเอียด ดังนี้ 

ขอที่ 1 ขอเลือก เพื่อเปิดทางให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกรับเงินบำนาญชราภาพ หรือเงินบำเหน็จชราภาพได้ เมื่อผู้ประกันตนนำส่งเงินสมทบครบตามเงื่อนไขของการได้รับเงินบำนาญชราภาพแล้ว

ขอที่ 2 ขอกู้ เพื่อเปิดทางให้ผู้ประกันตนมีสิทธินำเงินกรณีชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงินได้

ขอที่ 3 ขอคืน เพื่อเปิดทางให้ผู้ประกันตนมีสิทธิขอนำเงินกรณีชราภาพที่ตนสมทบอยู่ในกองทุนประกันสังคมออกมาใช้ก่อนบางส่วนก่อนอายุครบกำหนดได้

‘รมว.เฮ้ง’ มอบ 10 นโยบายให้สปส. ดูแลผู้ประกันตน มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิต-สร้างหลักประกันที่มั่นคงยั่งยืน

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติราชการให้กับผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมประชุม โดยมี นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุม อำพล สิงหโกวินท์ ชั้น 6 อาคารอำนวยการ สำนักงานประกันสังคม

นายสุชาติ กล่าวว่า ขอขอบคุณผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคมทุกท่าน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้ทำงานหนัก ทุ่มเท เสียสละ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในเรื่องการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม โดยมีเป้าหมาย สร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ ในทุกมิติ และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน และผมมีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันนโยบายด้านแรงงานต่าง ๆ การพัฒนาระบบประกันสังคมและสิทธิประโยชน์เพื่อช่วยเหลือพี่น้องลูกจ้าง ผู้ประกันตน และผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 และภาวะทางเศรษฐกิจที่ถดถอย จนกระทั่งก้าวผ่านพ้นวิกฤตจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปได้ ซึ่งในวันนี้ ถือเป็นโอกาสอันดี ที่ตนได้มีโอกาสมาประชุมพร้อมตรวจเยี่ยม และมอบนโยบายการดำเนินงานให้กับผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคม ทุกภาคส่วนได้ใช้ความรู้ความสามารถทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

นายสุชาติ ยังกล่าวถึงแนวทางการปฏิบัติราชการแก่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม 
เพื่อขับเคลื่อนงานประกันสังคมให้มีความเข้มแข็ง เป็นที่ยอมรับของลูกจ้าง ผู้ประกันตนและสังคมโดยรวมในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

1.) พัฒนาสิทธิประโยชน์ โดยแก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 โดยเพิ่มหลักการ 3 ขอ คือให้ผู้ประกันตนสามารถ 
(1) ‘ขอเลือก’ รับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญชราภาพได้ 
(2) ‘ขอคืน’ ในกรณีเกิดเหตุการณ์อันส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของผู้ประกันตน ให้สามารถนำเงินสะสมกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อนได้
(3) ‘ขอกู้’ โดยการนำเงินสะสมกรณีชราภาพไปเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินได้และมีการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่นๆ อาทิ เพิ่มเงินสงเคราะห์เพื่อการคลอดบุตรเป็น 98 วัน (เดิม 90 วัน) และเพิ่มเงินทดแทนกรณีทุพพลภาพเป็นร้อยละ 70 (เดิม ร้อยละ 50)

2.) การเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านที่อยู่อาศัยให้ผู้ประกันตน โดยขอให้ศึกษาความเป็นไปได้และสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกันตน เพื่อกำหนดแนวทางในการสร้างที่อยู่อาศัยให้กับผู้ประกันตนที่เกษียณอายุ

3.) จัดตั้งสถาบันการแพทย์เฉพาะทางสำหรับผู้ประกันตน รวมทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงการรักษาให้กับผู้ประกันตน สำหรับโรคเฉพาะทาง โดยไม่ต้องไปรอการรักษาโรงพยาบาลตามสิทธิ โดยใช้โมเดลเดียวกันกับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์

4.) การส่งเสริมสุขภาพผู้ประกันตนเชิงรุกในสถานประกอบการ เพื่อให้การดูแลสุขภาพผู้ประกันตนเข้าถึงได้โดยง่าย โดยให้คำแนะนำและคำปรึกษาการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของกลุ่มเสี่ยง และป้องกันการเจ็บป่วยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

5.) ขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานอิสระภาคสมัครใจ สร้างการรับรู้ให้ผู้ประกันตนให้ความสำคัญในการส่งเงินสมทบอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเพิ่มช่องทางชำระเงินสมทบ

รมว.สุชาติ ลุยสงขลา เปิดประชุมวิชาการประกันสังคม เร่งยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงาน ฟื้นเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยว ภาคใต้

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการจัดงานประชุมวิชาการประกันสังคม 5 ภาค ประจำปี 2565 (ภาคใต้) Modernizing SSO 2022 : ก้าวสู่ระบบประกันสังคมที่ทันสมัย พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง 'นโยบายการพัฒนา และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงาน' โดยมี นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน และหัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดสงขลา ให้การต้อนรับ ณ โรงแรม ลากูน่า แกรนด์ แอนด์สปา สงขลา จังหวัดสงขลา 

นายสุชาติ กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจความสำคัญของงานประกันสังคมแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อรับฟังความคิดเห็นในการพัฒนางานประกันสังคมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และเพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสำนักงานประกันสังคมสามารถนำไปใช้ขยายผลได้ในอนาคต โดยรัฐบาลภายใต้การนำของ ท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศโดยเร็ว ภายหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมเป็นกลไกสำคัญของรัฐบาลในการช่วยเหลือนายจ้าง และผู้ประกันตน ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น การตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุกในสถานประกอบการ โครงการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ประกันตน โครงการ Factory Sandbox โครงการ ม.33 เรารักกัน โครงการเยียวยานายจ้าง และผู้ประกันตนในพื้นที่เข้มงวดสูงสุด โครงการเยียวยาผู้ประกันตนกิจการสถานบันเทิง ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ได้คลี่คลายลง รัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้ามาในพื้นที่จำนวนมาก โดยเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในจังหวัดสงขลา และจังหวัดฝั่งอันดามัน 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top