Friday, 4 July 2025
ปตท

ปตท. มอบน้ำแข็งแห้ง 350,000 กก. แก่กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อหนุนปฏิบัติการบินลดฝุ่น PM 2.5 ด้วยการทำฝนหลวงทั่วประเทศ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ - บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) (ปตท.) มอบน้ำแข็งแห้ง ให้แก่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 350,000 กิโลกรัม สนับสนุนปฏิบัติการบินลดฝุ่นและทำฝนหลวงทั่วประเทศ ปี 2568 ณ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออก จังหวัดระยอง 

น้ำแข็งแห้งดังกล่าว เกิดจากการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากกระบวนการแยกก๊าซธรรมชาติมาใช้ โดยมี นายสรไนย เลิศอักษร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่แยกก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นผู้มอบ และ นายราเชน ศิลปะรายะ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้รับมอบ 

ทั้งนี้ ปตท. ได้สนับสนุนน้ำแข็งแห้งเพื่อทำฝนหลวงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน มากกว่า 14,275,000 กิโลกรัม เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาภัยแล้งของภาคเกษตรกรรม การขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคของประชาชน รวมถึงช่วยบรรเทาสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน สิ่งแวดล้อม และประเทศต่อไป

ปตท. ทุ่ม 1.6 หมื่นลบ. ซื้อหุ้นคืนไม่เกิน 470 ล้านหุ้น หวังสร้างความเชื่อมั่นและความสามารถในการทำกำไร

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ขอเรียนต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ทราบว่าที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท. ครั้งที่ 3/2568 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 ได้มีมติอนุมัติโครงการซื้อหุ้น คืนเพื่อบริหารทางการเงิน (Treasury Stock) 

ภายในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 16,000 ล้านบาท และจำนวนหุ้นที่จะ ซื้อคืนไม่เกิน 470 ล้านหุ้น หรือ คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 1.65 ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ด้วยวิธีจับคู่ อัตโนมัติผ่านระบบการซื้อขายของ ตลท. (Automatic Order Matching: AOM) และมีกำหนดระยะเวลาซื้อหุ้น คืนไม่เกิน 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2568 ถึงวันที่ 23 กันยายน 2568 

ทั้งนี้ บริษัทมีประมาณการเงินสดคงเหลือประมาณ 124,194 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีประมาณการหนี้สินที่จะถึงกำหนดชำระภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่จะเริ่มซื้อหุ้นคืนประมาณ 84,325 ล้านบาท 

โดยยังไม่รวมกับกระแสเงินสดสุทธิจากการดำเนินงานและกระแสเงินสดรับจากการลงทุนที่บริษัทจะได้รับในอีก 6 เดือนข้างหน้าประมาณ 63,944 ล้านบาท ดังนั้นบริษัทจึงมีสภาพคล่องเพียงพอในการชำระหนี้ที่จะถึงกำหนดภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่จะซื้อหุ้นคืน และมีกระแสเงินสดส่วนเกินเพียงพอที่จะนำมาซื้อหุ้นคืนตามโครงการนี้

สำหรับ เหตุผลในการซื้อหุ้นคืนเพื่อเป็นการบริหารสภาพคล่องส่วนเกินของบริษัทอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับเพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) และอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) รวมถึงเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ลงทุนและผู้ถือหุ้นถึงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและความสามารถในการทำกำไรของบริษัท

‘ปตท.–GPSC-Solar PPM’ สนับสนุนการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ณ วัดสระเกศฯ ส่งเสริมการใช้พลังงานจากธรรมชาติ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของทางวัด

(23 มี.ค. 68) ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) พร้อมด้วย นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) และนายกฤษณ์ พรพิไลลักษณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซลาร์ พีพีเอ็ม จำกัด (Solar PPM) ร่วมถวายระบบ Solar Rooftop ขนาด 100 กิโลวัตต์ แด่พระเดชพระคุณพระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (วัดภูเขาทอง) เพื่อปรับปรุงระบบไฟฟ้าของวัดให้เป็นระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับใช้งานภายในอาคารบำเพ็ญกุศล 1-2 และเมรุ โดยสามารถลดค่าไฟฟ้าของวัดได้ถึงร้อยละ 50 ภายใน 1 เดือน นับเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายให้แก่วัดและเป็นการสนับสนุนเพื่อสาธารณประโยชน์ให้แก่วัดและชุมชนในพื้นที่อีกด้วย

‘ปตท.’ ยืนยัน!! แผ่นดินไหวเมียนมา ไม่กระทบพลังงานไทย ตรวจสอบพื้นที่ปฏิบัติการทั้งระบบแล้ว ยังเดินเครื่องได้ตามปกติ

(29 มี.ค. 68) ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ยืนยันเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ กลุ่ม ปตท. มั่นใจสามารถรองรับความต้องการใช้พลังงานของประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง ตอกย้ำพันธกิจสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศ

กลุ่ม ปตท. ได้ตรวจสอบพื้นที่ปฏิบัติการทั้งหมด ตั้งแต่แท่นผลิตก๊าซธรรมชาติ ระบบรับส่งก๊าซธรรมชาติในทุกพื้นที่ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานผลิตปิโตรเคมี โรงไฟฟ้า คลังน้ำมันและคลังปิโตรเลียมทั่วประเทศ ตลอดจนสถานีบริการน้ำมันและสถานีบริการ NGV โดยได้รับยืนยันว่าสามารถเดินเครื่องดำเนินงานและให้บริการได้ตามปกติ และไม่ได้รับความเสียหายที่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตและส่งจ่ายพลังงาน

ทั้งนี้ ปตท. ให้ความสำคัญในการดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัยและการบริหารความเสี่ยง มีแผนบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรักษาความเสถียรของระบบพลังงานของประเทศ ปตท. จะติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประชาชนมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้อย่างมั่นคงต่อไป

‘ทริสเรทติ้ง’ คงอันดับเครดิต ‘OR’ ระดับ AA+ แนวโน้มคงที่ 3 ปีติด สะท้อนความแข็งแกร่งบริษัทในฐานะผู้นำตลาดค้าปลีกน้ำมัน

(3 เม.ย. 68) บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ได้รับการคงอันดับเครดิตองค์กรที่ระดับ "AA+" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" จากทริสเรทติ้ง (TRIS Rating) สถาบันจัดอันดับเครดิตชั้นนำของประเทศไทย ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของบริษัทในฐานะผู้นำตลาดค้าปลีกน้ำมันของประเทศ

หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร OR เปิดเผยว่า OR ได้รับการจัดอันดับเครดิตองค์กรจาก TRIS ที่ระดับ AA+ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ต่อเนื่องเป็นปีที 3 ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจ และตอกย้ำความเป็นผู้นำของ OR ในธุรกิจค้าปลีกน้ำมันและการจำหน่ายเชิงพาณิชย์ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในประเทศไทย และเป็นหลักสำคัญในการกระจายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของกลุ่ม ปตท. ควบคู่ไปกับนโยบายบริหารการเงินที่มีความรอบคอบและมีประสิทธิภาพ

TRIS ให้ความเชื่อมั่นสูงใน OR โดยพิจารณาจากจุดแข็งหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการเป็นองค์กรที่เป็นผู้นำด้านธุรกิจค้าปลีกน้ำมันและความสามารถในการจัดหาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม รวมทั้งเครือข่ายสถานีบริการและช่องทางกระจายสินค้า รวมไปถึงความแข็งแกร่งของแบรนด์ PTT Station ที่มีสถานีบริการที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ด้วยกลยุทธ์ที่มุ่งให้ PTT Station เป็นศูนย์กลางในการเติมเต็มทุกความสุขและเติบโตไปพร้อมกับชุมชนอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและการขยายธุรกิจไลฟ์สไตล์ของ OR ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เสริมความแข็งแกร่งให้กับองค์กร ทำให้ OR สามารถรักษาตำแหน่งผู้นำอันดับหนึ่งในตลาดค้าปลีกน้ำมันและตลาดปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ส่วนใหญ่เอาไว้ได้

ในช่วงที่ผ่านมา OR ได้เพิ่มความหลากหลายของสินค้าและบริการ ขยายพื้นที่ และเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่บริษัท การจัดอันดับของ TRIS ครั้งนี้แสดงถึงความเชื่อมั่นต่อการดำเนินธุรกิจ กระแสเงินสด และสภาพคล่องที่แข็งแกร่งของ OR แม้จะเผชิญกับความท้าทายจากความผันผวนของราคาน้ำมัน และสภาวะการแข่งขันระหว่างผู้ค้าปลีกน้ำมันที่เข้มข้นยิ่งขึ้น ทั้งนี้ OR ยังคงมุ่งมั่นสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งบริหารสถานะทางการเงินให้มีความเข้มแข็งและพร้อมรับมือกับความท้าทาย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียอย่างยั่งยืน

‘สรส.-สสรท.’ 2 สมาพันธ์แรงงาน เข้าพบ ‘รองนายกฯ พีระพันธุ์’ ยื่น ตรวจสอบคุณสมบัติบอร์ด ปตท. หวั่นเอื้อกลุ่มทุนพลังงาน

สรส.-สสรท. ยื่น ตรวจสอบคุณสมบัติบอร์ด ปตท. หวั่นเอื้อกลุ่มทุนพลังงาน ‘พีระพันธุ์’ ชี้ภาครัฐมีข้อจำกัดในการควบคุมแทรกแซงแม้เห็นความเคลื่อนไหวผิดปกติ แนะผลักดันกฎหมายเพิ่มอำนาจ สคร.ปกป้องประโยชน์ชาติและประชาชน

เมื่อวันที่ (3 เม.ย.68) ที่ผ่านมา นายมานพ เกื้อรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เปิดเผยว่า สรส.ร่วมกับสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) ได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของคณะกรรมการบริษัทในกลุ่ม ปตท. โดยอ้างอิงจากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าบุคคลบางรายที่ดำรงตำแหน่งกรรมการ อาจมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และบางรายมีประวัติเกี่ยวข้องกับบริษัทด้านพลังงาน ซึ่งอาจขัดกันแห่งผลประโยชน์

นายมานพระบุว่า ในฐานะที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) มีหน้าที่ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่าการแต่งตั้งกรรมการเหล่านี้มีความโปร่งใสหรือไม่ พร้อมยืนยันว่า สรส.จะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

ขณะที่นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธาน สสรท. ให้สัมภาษณ์ภายหลังการเข้าพบนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ณ ทำเนียบรัฐบาล โดยตั้งคำถามถึงเหตุผลที่รัฐบาลไม่สามารถลดราคาไฟฟ้า น้ำมัน และก๊าซได้ ทั้งที่มีความพยายามจากกระทรวงพลังงานในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว

นายสาวิทย์เปิดเผยว่า จากการหารือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยอมรับถึงข้อจำกัดตามกฎหมายในปัจจุบัน ที่ทำให้รัฐไม่สามารถควบคุมหรือแทรกแซงการบริหารจัดการของบริษัทในเครือ ปตท. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะเห็นความเคลื่อนไหวด้านการโอนทรัพย์สินจากบริษัทแม่ไปยังบริษัทลูก แต่รัฐมนตรีก็ไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบโดยตรง

ด้วยเหตุนี้ นายพีระพันธุ์จึงแนะให้ทั้ง สรส. และ สสรท. ร่วมกันผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สามารถปกป้องผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนได้อย่างแท้จริง

OR จับมือ บางกอกแอร์เวยส์ ใช้เชื้อเพลิง SAF ผลิตในไทย ก้าวสำคัญสู่อนาคตการบินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

OR ร่วมกับ สายการบินบางกอกแอร์เวยส์ ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF) ที่ผลิตโดยผู้ผลิตในประเทศไทยมาใช้ในการบินเป็นครั้งแรก ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของทั้งสองบริษัท พร้อมก้าวสู่อนาคตการบินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

นายชัยพฤฒิ วัชรีคุปต์ ผู้จัดการฝ่ายตลาดอากาศยานและเรือขนส่ง บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) และนายเดชิศร์ เจริญวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายงานปฏิบัติการ / รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายปฏิบัติการบิน บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ สายการบินบางกอกแอร์เวยส์ ร่วมลงนามหนังสือแสดงเจตจำนง (LOI) เรื่อง การซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) โดยผู้ผลิตภายในประเทศเป็นครั้งแรกของประเทศไทย สำหรับใช้ปฏิบัติการบินในเที่ยวบินของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ณ สำนักงานใหญ่สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ถนนวิภาวดีรังสิต ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของทั้งสองบริษัท พร้อมผลักดันอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยก้าวสู่อนาคตการบินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

นายชัยพฤฒิ เปิดเผยว่า ความร่วมมือกับ บางกอกแอร์เวยส์ ครั้งนี้ เป็นการผนึกกำลังระหว่าง OR ในฐานะผู้นำการจำหน่ายน้ำมันอากาศยานของไทย และบางกอกแอร์เวยส์ ในฐานะสายการบินชั้นนำ ในการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) ที่ผลิตโดยผู้ผลิตในประเทศไทยเป็นครั้งแรก คือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ที่ได้พัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่ยั่งยืนสำหรับการผสม SAF ด้วยการนำกระบวนการ Co – Processing มาใช้ในอุตสาหกรรมการบินเป็นครั้งแรกเพื่อรองรับนโยบายการบังคับใช้ SAF ของประเทศไทยในอนาคต โดย OR มีความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือที่สำคัญนี้ และมุ่งมั่นในการสนับสนุนอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยสู่ความยั่งยืน โดยการจัดหาน้ำมัน SAF ให้กับบางกอกแอร์เวย์นับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยสู่การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังสอดคล้องกับแนวคิดการดำเนินธุรกิจของ OR เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2065 อีกด้วย

นายเดชิศร์ กล่าวว่า นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญ ของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ในความร่วมมือกับ OR เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทยสู่เส้นทางบินสีเขียว โดยการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน หรือ SAF โดยผู้ผลิตภายในประเทศเป็นครั้งแรกของประเทศไทย พร้อมเดินหน้าสานต่อแคมเปญ “Low Carbon Skies by Bangkok Airways” ที่มุ่งลดการปล่อยคาร์บอนในทุกกระบวนการดำเนินธุรกิจ การบูรณาการความร่วมมือในครั้งนี้ จะนำไปสู่การผลักดันและเตรียมความพร้อมในการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพของอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยในอนาคต ที่จะสามารถตอบสนองต่อแนวโน้มธุรกิจการบินของประเทศไทยที่มุ่งสู่ความยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับการตั้งเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA)

ความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นอีกจุดเริ่มต้นสำคัญของการพัฒนาพลังงานสะอาดในอุตสาหกรรมการบินไทย และเป็นไปตามเป้าหมายของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593  

ปตท. แข็งแกร่งครองบริษัทชั้นนำอันดับ 1 ในไทย พร้อมอันดับ 2 ในอาเซียนจาก Fortune 2 ปีซ้อน

(27 มิ.ย.68) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 1 ในไทยและอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จาก Fortune Southeast Asia 500 ซึ่งสะท้อนการดำเนินงานของ ปตท. บนหลัก “ยั่งยืนอย่างสมดุล” ภายใต้วิสัยทัศน์ “ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” หรือ “TOGETHER FOR SUSTAINABLE THAILAND, SUSTAINABLE WORLD” โดยมีพันธกิจในการ “สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทย สร้างการเติบโตควบคู่กับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) กล่าวว่า แม้ว่าจะเผชิญกับสถานการณ์พลังงานที่มีความผันผวน และเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่จากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในปีที่ผ่านมา ทำให้มั่นใจว่า ปตท. เดินกลยุทธ์ถูกทิศทาง สามารถรับมือกับปัจจัยภายนอกและความท้าทายได้เป็นอย่างดี รวมถึงได้รับการจัดอันดับให้เป็นที่ 1 ในประเทศ และเป็นอันดับที่ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จาก Fortune Southeast Asia 500

ดร.คงกระพัน ย้ำว่า ปตท. มีกลยุทธ์มุ่งเน้นธุรกิจหลัก Hydrocarbon สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศ สร้างการเติบโตควบคู่กับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ การแสวงหาแหล่งพลังงานในกับประเทศผ่านธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่งมีการเติบโตที่ดีในต่างประเทศด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มในธุรกิจ LNG ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการซื้อขาย LNG ในภูมิภาค การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ปรับพอร์ตธุรกิจ Non-Hydrocarbon โดยธุรกิจต้องมีความน่าสนใจ (Attractiveness) และ ปตท. มี Right to Play หรือมีจุดแข็ง และมี Partner ที่แข็งแรง หลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง อีกทั้งกลุ่ม ปตท. ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี 2050 โดยดำเนินการอย่างบูรณาการร่วมกันทั้งกลุ่ม ปตท. ศึกษาความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) รวมถึงพัฒนา CCS Hub Model เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ปตท. และอุตสาหกรรมในประเทศ 

รวมถึงโอกาสขยายผลสู่ระดับภูมิภาคในอนาคตต่อไป พร้อมแสวงหาโอกาสในธุรกิจไฮโดรเจนสำหรับภาคอุตสาหกรรม จัดหาไฮโดรเจนและแอมโมเนียคาร์บอนต่ำ และการประยุกต์ใช้ในภาคการผลิตไฟฟ้าเพื่อเป็นต้นแบบในการขยายผลเชิงธุรกิจ นอกจากนี้กลุ่ม ปตท. พร้อมเร่งสร้างความแข็งแรงภายใน สร้างมูลค่าเพิ่มจากความร่วมมือภายในกลุ่ม ปตท. ผ่านโครงการสำคัญต่าง ๆ ยกระดับ Operational Excellence เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มีแผนงานและเป้าหมายเป็นรูปธรรม 

ขณะเดียวกัน ยังได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI มาเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ซึ่งสามารถยกระดับผลกำไรได้ รวมทั้งเสริมความแข็งแกร่งด้วยการรักษาวินัยทางการเงินและการลงทุนอย่างเคร่งครัด ตลอดจนบริหารสภาพคล่องกระแสเงินสดภายในกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ ยึดหลักการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล (Good Governance) ดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนอย่างสมดุล สร้างผลตอบแทนที่เหมาะสม พัฒนาคุณภาพชีวิตของสังคมไทย เพื่อสร้างคุณค่าให้กับสังคมและผู้ถือหุ้นอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ นิตยสาร Fortune เป็นนิตยสารธุรกิจ เศรษฐกิจ และการเงิน ที่ได้รับความน่าเชื่อถือ และวางจำหน่ายทั่วโลก โดยได้เริ่มจัดอันดับบริษัทชั้นนำของโลก 500 อันดับ (Fortune Global 500) ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2498 สำหรับ Fortune Southeast Asia 500 เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2567 เพื่อเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จ แสดงให้เห็นถึงผลการดำเนินงาน การเติบโต แนวโน้ม และทิศทางของธุรกิจ พร้อมสร้างโอกาสในการขยายตลาดให้แก่ธุรกิจในภูมิภาคนั้น ๆ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจโลกเติบโตอย่างแข็งแกร่งมากขึ้นด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top