Thursday, 2 May 2024
ปตท

ปตท. ร่วมพัฒนาโรงเรียนแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติ มอบอาคารเรียน 2 ชั้น ‘โรงเรียนวัดเปร็งราษฎร์บำรุง’

เมื่อไม่นานมานี้ นายวุฒิกร สติฐิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในพิธีเปิดอาคารเรียนโรงเรียนวัดเปร็งราษฎร์บำรุง ร่วมด้วย นายกรกฏ บุญญามิ่ง นายอำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ และ นางกฤติยา โพธิ์เสนา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสมุทรปราการ เขต 2 พร้อมด้วยผู้บริหาร ปตท. และหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดสมุทรปราการ ร่วมเป็นสักขีพยาน

ปตท. ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และการส่งเสริมด้านการศึกษาของเยาวชนในพื้นที่แนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติ โดยอาคารเรียนดังกล่าว เป็นอาคารเรียนสองชั้น ได้ดำเนินการก่อสร้างโดย ปตท. ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาพื้นที่และสร้างสภาพแวดล้อมของโรงเรียนให้เหมาะสมต่อการจัดการเรียนการสอน ซึ่งพร้อมส่งมอบให้โรงเรียนเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป

‘ปตท.’ ผนึก ‘GISTDA’ มุ่งต่อยอดธุรกิจดาวเทียม เดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 66 ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) พร้อมด้วย ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ. หรือ GISTDA) ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านธุรกิจใหม่จากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เพื่อแสวงหาโอกาสในด้านธุรกิจอวกาศทั้งห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ (Upstream) อาทิ ระบบและบริการออกแบบและผลิตดาวเทียม การขนส่งวัตถุขึ้นสู่อวกาศ การสำรวจและวิจัยในอวกาศ การประยุกต์ใช้วัสดุคาร์บอนขั้นสูง (Advanced Carbon Material) จากกลุ่ม ปตท. เพื่อเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งก่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดไปยังธุรกิจปลายน้ำ (Downstream) ที่ครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐานทางอวกาศ รวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวเนื่องกับข้อมูลดาวเทียม 

ตลอดจนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิ การประเมินคาร์บอนในพื้นที่สีเขียว เพื่อนำไปสู่การแสวงหาโอกาสทางธุรกิจในอุตสาหกรรมดาวเทียมเพื่อเทคโนโลยีพลังงานใหม่ สอดรับกับวิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond ของ ปตท.

‘ปตท.’ รับโล่เชิดชูเกียรติ ‘ANTI-CORRUPTION AWARDS 2023’ สะท้อนองค์กรยึดหลักธรรมาภิบาล ปฏิบัติงาน ‘โปร่งใส ซื่อสัตย์ สุจริต’

เมื่อไม่นานมานี้ นางสาวศรีศุกร์ บุญเพ็ชร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาศักยภาพองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เป็นผู้แทน ปตท. รับโล่เชิดชูเกียรติ ‘ANTI-CORRUPTION AWARDS 2023’ รางวัลส่งเสริมธรรมาภิบาล ประจำปี 2566 ประเภทองค์กร จากสมาคมผู้สื่อข่าวต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โดยได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบรางวัลฯ เพื่อยกย่องเชิดชูองค์กร หน่วยงาน และสื่อมวลชน รวมถึงบุคลากรที่ยึดหลักธรรมาภิบาลและปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใส ซื่อสัตย์ สุจริต สอดคล้องการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญและส่งเสริมการดำเนินงานอย่างมีธรรมาภิบาล มีการกำกับกิจการที่ดี ตลอดจนปลูกฝังวัฒนธรรมต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ อันเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติต่อต้านการคอร์รัปชัน และพัฒนาสังคมไทยอย่างยั่งยืน

'ปตท.' แจง!! หลังโซเชียลแชร์ปม ลูกค้าเติมน้ำมันได้ไม่เต็ม 5 ลิตร ยัน!! อยู่ในเกณฑ์คู่มือการตรวจสอบฯ ปริมาตรน้ำมันเชื้อเพลิง

จากกรณีผู้ใช้ติ๊กต็อกรายหนึ่งได้เผยคลิป เข้าไปเติมน้ำมันดีเซลที่สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี โดยลูกค้าสังเกตว่าเกจ์วัดน้ำมันไม่ได้ขึ้นตามที่ต้องการ จนทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์บนโลกโซเชียล

ล่าสุด พีพีที สเตชั่น ได้ออกหนังสือชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าว โดยระบุข้อความว่า ตามที่มีการเผยแพร่คลิปทางโซเชียลมีเดีย เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ระบุว่ามีลูกค้ามาเติมน้ำมันดีเซล จำนวน 1,000 บาท ที่สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น และรู้สึกว่าเกจ์วัดน้ำมันรถขึ้นไม่เป็นปกติ จึงแจ้งขอให้ทางสถานีบริการตรวจสอบนั้น จากการตรวจสอบพบว่า

สถานีบริการที่เกิดเหตุคือ สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น สระบุรี โดยลูกค้าได้เข้ามาเติม น้ำมันเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา และรู้สึกว่าเกจ์น้ำมันขึ้นไม่เป็นปกติ จึงขอให้ทางสถานีบริการดำเนินการตรวจสอบตามคลิปที่ปรากฏในโซเชียลมีเดีย โดยเมื่อบีบมือจ่าย 5 ลิตร 2 ครั้ง ได้ปริมาตรน้ำมันขาดไปประมาณ 25-30 มิลลิลิตร (หรือ 0.025 - 0.030 ลิตรต่อปริมาณน้ำมันที่ทดสอบ 5 ลิตร) ซึ่งพนักงานหน้าลานได้ชี้แจงว่ายังเป็นไปตามเกณฑ์ ใน ‘คู่มือการตรวจสอบและให้คำรับรองมาตรวัดปริมาตรน้ำมันเชื้อเพลิง’ ของสำนักงานชั่งตวงวัด ที่กำหนดให้มี ‘อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด’ หรือค่าความคลาดเคลื่อนที่ยอมให้ได้สูงสุดของมาตรวัดนั้น ๆ ในการตรวจสอบระหว่างใช้งานสำหรับเชื้อเพลิงปริมาณ 5 ลิตรให้มีความคลาดเคลื่อนบวกลบได้ไม่เกิน 50 มิลลิลิตร (หรือ 0.050 ลิตรต่อน้ำมันที่ทดสอบ 5 ลิตร)

พีทีที สเตชั่น ใครขอชี้แจงว่า มาตรวัดปริมาตรน้ำมันเชื้อเพลิงที่สถานีบริการน้ำมันทุกแห่งต้องผ่านการตรวจสอบและได้รับการรับรองจากสำนักงานชั่งตวงวัด กระทรวงพาณิชย์ โดยที่ผู้ค้าน้ำมันไม่สามารถปรับแต่งมาตรวัดเองได้ และสถานีบริการน้ำมันจะต้องดำเนินการตรวจวัดปริมาตรน้ำมัน และนำส่งสำนักงานกลางชั่งตวงวัดเป็นประจำทุกเดือน โดยผลการตรวจวัดปริมาตรน้ำมันของ สถานีบริการ พีทีที สเตชั่น สระบุรี ล่าสุด ยังคงเป็นไปตามเกณฑ์ที่สำนักงานชั่งตวงวัดกำหนด ทั้งนี้ พีทีที สเตชั่น ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเรื่องดังกล่าว

โดยในวันพรุ่งนี้ (22 ธ.ค. 66) จะประสานงานให้สำนักงานชั่งตวงวัดเข้ามาตรวจสอบและยืนยันว่ามาตรวัดของ พีทีที สเตชั่น เป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับผู้บริโภคต่อไป พีทีที สเตชั่น ขอยืนยันว่า เรามุ่งมั่นที่จะส่งมอบสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ และได้มาตรฐานให้แก่ผู้บริโภครวมถึงยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส เป็นธรรม และเป็นไปตามหลักกำกับดูแลกิจการที่ดี ตามนโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน ของ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)

‘ปตท.’ ตรึงราคา NGV รถแท็กซี่-รถโดยสารสาธารณะ  ราคา 14.62 บาท/กก. ต่ออีก 6 เดือน เป็นของขวัญปีใหม่

ปตท. เตรียมความพร้อมด้านพลังงานอย่างเต็มที่ มั่นใจประเทศมีพลังงานเพียงพอใช้ตลอดช่วงเทศกาล พร้อมมอบของขวัญปีใหม่ ช่วยลดค่าใช้จ่ายเดินทางให้แก่ประชาชน ตามพันธกิจสร้างความมั่นคงทางพลังงาน รวมมูลค่าการช่วยเหลือ NGV ในช่วงวิกฤตราคาพลังงานผันผวน 2 ปีที่ผ่านมาแล้วกว่า 17,000 ล้านบาท (ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 ถึง 30 พฤศจิกายน 2566)  

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท. เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 มีมติเห็นชอบแผนช่วยเหลือราคา NGV ในระยะ 2 ปี โดยช่วงแรก (มกราคม ถึง มิถุนายน 2567) ปตท. ลดราคา NGV ให้กับกลุ่มรถแท็กซี่และกลุ่มรถโดยสารสาธารณะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ถือบัตรสิทธิประโยชน์ฯ ที่ 14.62 บาท/กิโลกรัม มีผลตั้งแต่ มกราคม 2567 และกุมภาพันธ์ 2567 ตามลำดับ 

ทั้งนี้ สำหรับผู้สมัครใหม่เริ่มมีผลกุมภาพันธ์ 2567 พร้อมกำหนดราคาขายปลีก NGV กลุ่มผู้ใช้รถทั่วไป ไม่เกิน 19.59 บาท/กิโลกรัม เป็นระยะเวลา 6 เดือน (ตั้งแต่มกราคม ถึง มิถุนายน 2567) 

ทั้งนี้ ปตท. จะเปิดรับสมัครผู้ถือบัตรสิทธิประโยชน์ฯ เพิ่มเติมในกลุ่มรถแท็กซี่ และรถโดยสารสาธารณะเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม ถึง 29 กุมภาพันธ์ 2567 ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Line OA : PTT NGV

สำหรับผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศช่วงปีใหม่ ปตท. ขอให้ทุกท่านเดินทางปลอดภัยในทุกเส้นทาง พร้อมเชิญเที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและร่วมกิจกรรมต่าง ๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (ปิดทำการวันที่ 1 มกราคม 2567) ได้แก่ ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี จ.ประจวบคีรีขันธ์  สำหรับผู้เดินทางท่องเที่ยวใน จ.ระยอง สามารถเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ สำหรับผู้ที่ฉลองเทศกาลในกรุงเทพมหานคร สามารถเข้าชมศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุง ได้อีกด้วย 

ติดต่อสอบถามข้อมูลการเข้าชมได้ที่
- ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี : https://www.facebook.com/mangrovepranburi
- ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ : https://www.facebook.com/Wangchanforest
- ศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุง : https://www.facebook.com/pttmetroforest

‘ปตท. - กองทัพเรือ’ ชูนวัตกรรมโซลาร์ลอยน้ำ ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด มุ่งสู่ความยั่งยืน 

เมื่อไม่นานมานี้ พลเรือเอก จิรพล ว่องวิทย์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ และประธานกรรมการบริหารเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของกองทัพเรือ และดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือการพัฒนานวัตกรรมพลังงาน และระบบการบริหารจัดการน้ำ ระหว่าง กองทัพเรือ และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อศึกษาและพัฒนานวัตกรรมพลังงานทดแทน การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำ ระบบกักเก็บพลังงาน รวมถึงระบบบริหารจัดการแหล่งน้ำและการใช้น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกของกองทัพเรือ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้า ยังเป็นการส่งเสริมนวัตกรรมพลังงาน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทรัพยากร ตลอดจนสนับสนุนภารกิจของกองทัพเรือด้านการสร้างความมั่นคงของประเทศและการช่วยเหลือดูแลประชาชนอีกด้วย

สะพัด!! ‘พีระพันธุ์’ สั่ง ‘กกพ.’ สอบ ‘ปตท.’ ย้อนหลัง  ปมสัญญาซื้อขายก๊าซ หวั่น!! เอาเปรียบประชาชน

‘รมว.พลังงาน’ สั่ง กกพ.สอบ ‘ปตท.’ ย้อนหลังปมสัญญาซื้อขายก๊าซ หาเงินอุ้มค่าไฟ ระบุเป็นการกระทำที่เอาเปรียบประชาชน เหตุทำให้การส่งผ่านราคาก๊าซฯ ที่สูงขึ้น ส่งผลต่อการคำนวณค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

(27 ธ.ค. 66) แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ได้ส่งหนังสือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ขอให้ตรวจสอบการจัดหาราคาก๊าซธรรมชาติของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ว่า มีช่วงเวลาใดอีกที่ไม่สามารถส่งมอบก๊าซได้ตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ หรือ ชอร์ตฟอล นอกเหนือจากช่วง ต.ค. 63 - ธ.ค. 65 ที่มีมูลค่ารวมกว่า 4,300 ล้านบาทอีกหรือไม่

ทั้งนี้ เนื่องจากหากมีการกระทำดังกล่าว จะถือเป็นการเอาเปรียบประชาชน เพราะทำให้การส่งผ่านราคาก๊าซฯ ที่สูงขึ้น ส่งผลต่อการคำนวณค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น กระทบต่อภาคประชาชน และภาคเอกชน  ซึ่งบอร์ด กกพ.ได้นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมในวันที่ 26 ธ.ค. โดยสั่งการให้สำนักงาน กกพ.เข้าไปตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวแล้ว 

แหล่งข่าวจาก กกพ. กล่าวว่า ที่ประชุม กกพ.ได้รับหนังสือจากกระทรวงพลังงาน และหารือในที่ประชุมบอร์ดแล้ว โดยจะเร่งเข้าไปตรวจสอบอย่างรอบคอบ ซึ่งหากตรวจสอบเรียบร้อยจะส่งไปยังกระทรวงพลังงานต่อไป 

อย่างไรก็ดี บอร์ดยังได้พิจารณามติสำนักงาน กกพ. รายงานความคืบหน้าการบังคับใช้มาตรการทางปกครอง หลังจาก กกพ. ใช้อำนาจ ตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 127 ออกคำสั่งที่ 44/2566 เรื่อง การส่งผ่านราคาก๊าซธรรมชาติ กรณีที่ผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบก๊าซได้ตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ ซึ่งปตท. ต้องนำมูลค่าก๊าซฯ ที่มีการปรับลดลงจากผู้ผลิตประมาณ 4,300 ล้านบาท มาสะท้อนในราคารับซื้อเฉลี่ยหรือพูล ก๊าซ ในเดือนม.ค. 67 จะลดต้นทุนค่าไฟฟ้างวดเดือนม.ค. - เม.ย. 67 แต่ปตท. ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง ต่อมาการประชุม กกพ. วันที่ 20 ธ.ค. 66 มีมติให้ยกคำอุทธรณ์ของ ปตท. และมอบหมายให้สำนักงาน กกพ. ดำเนินการบังคับใช้มาตรการทางปกครองตามมาตรา 128 ที่กำหนดให้ กกพ. ต้องมีหนังสือเตือนอีกครั้ง หากยังฝ่าฝืนจะมีคำสั่งปรับวันละไม่เกิน 5 แสนบาท ก่อนนำไปสู่การออกคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตต่อไป

อย่างไรก็ตาม กกพ. ยืนยันว่า ได้ปฏิบัติตามขั้นตอน โดยดำเนินการมาตรการทางปกครอง ก่อนจะใช้มาตรการทางอาญาในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 132 ที่บัญญัติว่า ผู้ใดให้ข้อมูลอันเป็นเท็จหรือบิดเบือนแก่ กกพ. และการกระทำนั้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใช้พลังงาน ต้องระวางโทษจำคุก 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ระหว่างปี 65 สำนักงาน กกพ. ได้ตรวจสอบการคำนวณราคาพูล ก๊าซ พบข้อมูลชอร์ตฟอล ซึ่งเป็นตัวเลขปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ผู้ผลิตก๊าซต้องส่งให้กับ ปตท. ระหว่างเดือนต.ค. 63 - ธ.ค. 65 โดยสัญญาซื้อขายก๊าซฯ กำหนดว่า หากผู้ผลิตก๊าซส่งก๊าซธรรมชาติไม่ครบได้ตามปริมาณในสัญญาต้องคิดราคาก๊าซฯ งวดต่อไปตามจำนวนที่ขาดส่งในราคาประมาณ 75% จากราคาปกติ เป็นผลให้ ปตท. ซื้อก๊าซฯ ในส่วนดังกล่าวถูกกว่าราคารับซื้อปกติ มีมูลค่าประมาณ 4,300 ล้านบาท

แต่ ปตท. กลับนำก๊าซฯ ในส่วนดังกล่าวตามราคาเต็ม 100% มาคำนวณในราคา พูล ก๊าซ ซึ่งส่วนใหญ่จะสะท้อนไปยังต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนในช่วงเวลาดังกล่าว

‘มทส.-ปตท.-สุรเทค’ ผสานกำลังเดินหน้าพัฒนาพื้นรองเท้า AI ช่วยประเมินความเสี่ยงต่อการล้มของผู้สูงวัย ให้รพ.เกษมราษฎร์

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท สุรเทค จำกัด เดินหน้าขยายผลนวัตกรรมทางการแพทย์ พื้นรองเท้า AI วิเคราะห์ความเสี่ยงต่อการล้มของผู้สูงอายุ ส่งมอบโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล รัตนาธิเบศร์

(10 ม.ค.67) รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เปิดเผยว่า แพลตฟอร์มบ่มเพาะและเร่งสร้างเติบโตนวัตกรรมเชิงลึก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (SUT Horizon) ได้สนับสนุนและเป็นพี่เลี้ยงด้านธุรกิจและทรัพย์สินทางปัญญาให้กับ บริษัท สุรเทค จำกัด โดยได้รับความร่วมมือจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์พื้นรองเท้า AI (Surasole) สำหรับวิเคราะห์การทรงตัวและประเมินความเสี่ยงต่อการล้มของผู้สูงอายุโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเครื่องสแกนแรงกดใต้ฝ่าเท้า (Surapodo) ในการกระจายแรงกดใต้ฝ่าเท้าสำหรับออกแบบรองเท้าที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับใต้ฝ่าเท้าของผู้ป่วย

นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงของการเกิดแผลกดทับใต้ฝ่าเท้าของผู้ป่วยเบาหวาน รวมถึงช่วยในการออกแบบรองเท้าสุขภาพสำหรับผู้ป่วยเบาหวานซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงในการถูกตัดเท้าเนื่องจากการเกิดแผลใต้ฝ่าเท้า

การส่งมอบ Surasole และ Surapodo ให้กับ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล รัตนาธิเบศร์ ครั้งนี้ จึงนับเป็นโอกาสสำคัญที่จะนำนวัตกรรมทางการแพทย์ที่เกิดจากการวิจัยพัฒนาของนักวิจัยไทยมาขยายผลและนำมาใช้ได้จริง ทดแทนการนำเข้าจากต่างชาติและทำให้เกิด ‘ไทยทำ ไทยใช้ ไทยแบรนด์’

ทั้งนี้ งานวิจัยได้รับเงินทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารงานและจัดการทุนด้วยการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ให้คำปรึกษาเรื่องการยื่นจด IP การทำ Licensing Agreement, การทำสัญญาซื้อขาย รวมถึงให้คำแนะนำในการดำเนินงานนวัตกรรมทางธุรกิจ ส่งผลให้งานวิจัยในห้องปฏิบัติการ พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สู่งานนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ได้ นอกจากนั้นยังได้รับการสนับสนุนเงินทุนวิจัยจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการพัฒนาเซ็นเซอร์วัดแรงกดจากท่อนาโนคาร์บอน (Carbon nanotubes: CNTs) ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง พร้อมส่งออกจำหน่ายในต่างประเทศทั่วโลก

รองศาสตราจารย์ ดร. สุดเขตต์ พจน์ประไพ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเซรามิก สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และหัวหน้าโครงการวิจัยผู้คิดค้นนวัตกรรม กล่าวว่า Surasole และ Surapodo เป็นผลงานการคิดค้นและพัฒนาโดยคณะนักวิจัย ภาควิชาวิศวกรรมเซรามิก ภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม วิศวกรรมพอลิเมอร์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ภายใต้ความร่วมมือของคณะวิจัยทดสอบภาคสนาม และคณะห้องปฏิบัติการงานวิจัยจาก โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สำนักวิชาแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ฝ่ายเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชและพยาบาล

โดยชุดวิเคราะห์แรงกดใต้ฝ่าเท้าและวิเคราะห์การเคลื่อนไหว มีอุปกรณ์หลัก ประกอบด้วย 1. แผ่นพื้นรองเท้าอิเล็กทรอนิกส์ Surasole เป็นแผ่นพื้นรองเท้า หรือ insole ที่ฝังเซ็นเซอร์วัดแรงกดและวงจรอิเล็กทรอนิกส์ไว้ภายใน สามารถที่จะประเมินรูปแบบการเดิน (gait pattern) การทรงท่า (balance) และประเมินความเสี่ยงในการหกล้มในผู้สูงอายุ (fall risk) นอกจากนั้นยังสามารถใช้วิเคราะห์และฝึกการเดิน การทรงตัว ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) พากินสัน (Parkinson) และผู้ป่วยหลังการผ่าตัดสะโพกหรือข้อเข่า 2.เครื่องสแกนฝ่าเท้าแบบดิจิตอล Surapodo มีเซ็นเซอร์วัดแรงกดจำนวน 2,500 จุด สำหรับตรวจวัดแรงกดใต้ฝ่าเท้าแบบละเอียดและใช้ในการวิเคราะห์ลักษณะของฝ่าเท้า ประเมินความเสี่ยงแผลกดทับใต้ฝ่าเท้าของผู้ป่วยเบาหวาน และใช้ในการออกแบบแผ่นรองเท้าสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล การวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดจะทำในรูปแบบ cloud computing และแสดงผลได้แบบ real time ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้กับระบบการเฝ้าติดตามสุขภาพระยะไกลได้ (tele-health monitoring)

คุณสรไนย เลิศอักษร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่แยกก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้สนับสนุนทุนวิจัยและร่วมมือทำงานกับคณะวิจัยของ มทส. และ พัฒนาเซ็นเซอร์วัดแรงกดแบบฟิล์มหนา (Thick Film) อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 2 ปี โดยใช้ส่วนผสมของท่อนาโนคาร์บอน (Carbon nanotubes: CNTs) ซึ่งเป็นผลพลอยได้และการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการในอุตสาหกรรมก๊าซและน้ำมันของบริษัท มาใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญของ Surasole นวัตกรรมนี้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาเทคโนโลยีเซ็นเซอร์และ AI สำหรับการแพทย์

ด้านคุณกล้า จิระสานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สุรเทค จำกัด เปิดเผยว่า Surasole และ Surapodo เป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ได้รับการพัฒนาและถ่ายทอดสิทธิบัตรจากงานวิจัยของ มทส. พร้อมทั้งยังได้การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา หัวใจของเทคโนโลยีของนวัตกรรมนี้คือ การวิเคราะห์ข้อมูลจากการเดิน การทรงตัวและแรงกดใต้ฝ่าเท้าจาก Surasole และ Surapodo ที่ถูกประมวลผลด้วยเทคโนโลยี AI และแสดงผลในรูปแบบรายงานเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจของบุคลากรทางการแพทย์

คุณกันตพร หาญพาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาดบริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล รัตนาธิเบศร์ กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนโรงพยาบาล เป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้รับมอบนวัตกรรม ‘ชุดวิเคราะห์แรงกดใต้ฝ่าเท้าและวิเคราะห์การเคลื่อนไหว’ Surasole และ Surapodo ซึ่งมีเทคโนโลยีและอุปกรณ์ตรวจวัดที่ทันสมัยและเป็นนวัตกรรมของนักวิจัยไทย ทางโรงพยาบาลยินดีที่จะทำงานร่วมกับ มทส. บริษัท สุรเทค และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการเป็นจุดเริ่มต้นที่นำนวัตกรรมทางการแพทย์มาใช้ได้จริงและทำให้เกิด ‘ไทยทำ ไทยใช้ ไทยแบรนด์’ ตามที่ท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้กล่าวไว้

‘ปตท.สผ.’ ชวนเยาวชนร่วมอนุรักษ์ ‘ทะเลไทย’ ผ่านโครงการ ‘PTTEP Teenergy ปีที่ 9’ 

(15 ม.ค.67) สุศมา ปิตากุลดิลก รักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนและบริหารผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ปตท.สผ. กล่าวว่า นอกจากภารกิจหลักของ ปตท.สผ. ในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศแล้ว บริษัทยังให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการร่วมดูแล รักษาและปกป้องท้องทะเลไทย

โดยผสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนชุมชนในการทำโครงการเพื่อสังคมผ่านกลยุทธ์ ‘ทะเลเพื่อชีวิต’ (Ocean for Life)

โครงการ PTTEP Teenergy ถือเป็นหนึ่งในโครงการเพื่อสังคมของ ปตท.สผ. ที่จะมุ่งเน้นการส่งเสริมให้เยาวชนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน

“ทั้งนั้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลไทย และสร้างโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจให้กับชุมชนรอบชายฝั่ง ปตท.สผ. จึงจัดการประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ครั้งที่ 3 ภายใต้แนวคิดทะเลเพื่อชีวิต (Ocean for Life) ด้วยการเชิญชวนนิสิต นักศึกษา ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. ถึงระดับปริญญาตรีมาร่วมสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์กับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล

ซึ่งเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากจะได้รับความรู้และประสบการณ์ที่ไม่สามารถหาได้จากในห้องเรียน รวมถึงยังเป็นการปลูกฝังการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลผ่านการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อช่วยสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับทะเลไทย และสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนและสังคมต่อไป”

สำหรับผลงานจากการประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลก่อนหน้านี้ ถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์จริงในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล โดย ‘อัครพันธ์ ทวีศักดิ์’ หรือ ‘น้องไอซ์’ บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตัวแทนทีม Green Grove รองชนะเลิศอันดับ 1 หัวข้อ ‘Preserve’ ในการประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลครั้งที่ 1 ปี 2564 จากผลงาน IMPOT ชุดปลูกโกงกางอัจฉริยะเพื่อฟื้นฟูป่าชายเลนอย่างมีระบบ

‘อัครพันธ์’ เล่าถึงไอเดียเล็ก ๆ ใน Proposal ที่ตอนนี้ได้รับการพัฒนาเพื่อต่อยอดทำให้ทุกคนได้เห็นคุณค่า และเข้าใจในเรื่องการปลูกป่าชายเลนมากยิ่งขึ้น ว่าตัดสินใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในโครงการ โดยได้แนวคิดมาจากถุงเพาะกล้าไม้พลาสติก ที่ส่วนใหญ่ถูกทิ้งไว้หลังจากปลูกป่าชายเลนเสร็จแล้ว

จึงเป็นจุดเริ่มต้นของไอเดียที่อยากจะช่วยแก้ไขปัญหานี้ ด้วยการให้คนที่ปลูกป่าชายเลนเห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากร ที่ทุกคนสามารถช่วยทำให้เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ เพียงเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาผลิตเป็นกระถางสำหรับบรรจุต้นไม้พร้อมปลูก เพื่อนำไปใช้แทนถุงพลาสติกแบบเดิม

ขณะที่ ‘อพินญา คงคาเพชร’ หรือ ‘น้องตาล’ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตัวแทนทีม Scraber ผู้ชนะเลิศ หัวข้อ Provide ในการประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลครั้งที่ 1 ปี 2564 จากผลงาน The Automatic Warning of Crab Molting Detection by Application

เล่าด้วยความภาคภูมิใจถึงจุดเริ่มต้นที่กลายเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ชุมชน และเพิ่มมูลค่าให้กับสัตว์น้ำในเชิงเศรษฐกิจว่าความคิดแรกเริ่มคือต้องการช่วยเหลือธุรกิจของครอบครัวเพื่อนซึ่งทำฟาร์มปูนิ่มเท่านั้น

“แต่เมื่อส่งผลงานเข้าประกวด และได้รับรางวัลชนะเลิศ ทำให้ได้รับโอกาสที่ดีจาก ปตท.สผ. ในการต่อยอดผลงาน เนื่องจากปูนิ่มเป็นหนึ่งในสัตว์น้ำเศรษฐกิจของชุมชนในจังหวัดสตูล สำหรับ Application ระบบการแจ้งเตือนการตรวจจับการลอกคราบปูที่คิดค้นขึ้นนั้น สามารถนำไปช่วยเหลือในการดูและจับการลอกคราบของปูด้วยตาเปล่าในช่วงกลางคืน

ซึ่งเครื่องมือนี้จะช่วยชุมชนประหยัดเวลา กำลังคน และสามารถบริหารจัดการฟาร์มได้สะดวกยิ่งขึ้น อีกทั้งในอนาคตยังสามารถต่อยอดนำไปใช้กับปูชนิดอื่น ๆ เพื่อขยายตลาดและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในท้องถิ่นได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย”

สำหรับ ‘กวินธิดา ปิ่นทอง’ หรือ ‘น้องฟอร์แทรน’ นิสิตจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตัวแทนทีม Sea the Future ผู้ชนะเลิศหัวข้อ Provide ในการประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลครั้งที่ 2 ปี 2565 จากผลงาน Fisherman’s Friend Application เชื่อมโยงเครือข่ายชาวประมงชายฝั่ง ให้มุมมองในฐานะที่ตนเองเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ PTTEP Teenergy และได้ประสบการณ์ที่คุ้มค่ามาก

“อยากจะเชิญชวนทุกคนส่งผลงานเข้ามาประกวดกันเยอะ ๆ ถึงแม้จะไม่ได้รับรางวัล แต่มั่นใจได้เลยว่าทุกคนจะได้รับประสบการณ์ที่ดี ได้รับความรู้ คำแนะนำ จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมากมาย ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดไอเดีย เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลได้ หรือหากเป็นทีมที่ได้รับรางวัลในการต่อยอดแบบพวกเรา ก็เป็นโอกาสที่ผลงานจะได้รับการพัฒนา และนำมาใช้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล หรืออาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปช่วยชุมชนของเราได้อีกด้วย”

กล่าวกันว่า การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกคน เพื่อช่วยกันดูแลให้ทรัพยากรทางทะเลได้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป

ดังนั้น ผู้สนใจสามารถสมัครและส่งผลงานเข้าร่วมประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ครั้งที่ 3 ภายใต้โครงการ ‘PTTEP Teenergy ปีที่ 9’ ได้ตั้งแต่วันนี้ - 31 มกราคม 2567 หรือที่ https://www.eventsonlinecenter.com/pttep_teenergy/ รวมถึงสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และติดตามข่าวสารที่ www.facebook.com/pttepcsr 

‘บอร์ด ปตท.’ แต่งตั้ง ‘คงกระพัน อินทรแจ้ง’ นั่งเก้าอี้ ‘CEO ปตท.’ คนที่ 11 มีผล พ.ค. 67

เมื่อวานนี้ (25 ม.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก ปตท. ระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ บมจ.ปตท. วานนี้ (25 ม.ค.) ได้พิจารณาวาระการสรรหาประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) คนใหม่ต่อจาก นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ที่ครบวาระ 4 ปีในเดือนพฤษภาคม 2567 โดยที่ประชุมมีมติเลือก นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ขึ้นมาดำรงตำแหน่ง CEO ปตท.คนที่ 11 จากผู้สมัครทั้ง 5 รายที่เป็นผู้บริหาร ปตท.

ปัจจุบัน นายคงกระพัน อินทรแจ้ง อายุ 55 ปี จบการศึกษาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมเคมี) (เกียรตินิยมอันดับสอง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศึกษาต่อจนจบ Doctor of Philosophy (Ph.D.) in Chemical Engineering, University of Houston, U.S.A.

มีประสบการณ์มากกว่า 25 ปีในการบริหารบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และการกลั่นปิโตรเลียมแบบครบวงจร รวมถึงมีความเชี่ยวชาญในด้านการกำหนดกลยุทธ์องค์กร การพัฒนาธุรกิจ การเงินและนักลงทุนสัมพันธ์ การวิจัยและพัฒนา (R&D) การพัฒนาโครงการลงทุนที่สำคัญ การควบรวมกิจการระหว่างประเทศ และการบริหารจัดการกิจการร่วมค้า

มีประสบการณ์ที่หลากหลายในการบริหารจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ และเคยดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของ Emery Oleochemicals Group และกรรมการของบริษัทย่อยในต่างประเทศ ได้แก่ Emery Oleochemicals Group ในประเทศมาเลเซีย Vencorex Holding ในประเทศฝรั่งเศส และ NatureWorks LLC ในสหรัฐอเมริกา

ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดำรงตำแหน่งประธานร่วม France-Thailand Business Forum โดยมีบทบาทหน้าที่ในการเป็นผู้นำและส่งเสริมในเรื่องเศรษฐกิจความร่วมมือกัน (Economic Collaboration) รวมทั้งการลงทุนและการค้าทั้งสองทาง (Two-way trade and investment) ระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส

ดำรงตำแหน่งสมาชิกของ United Nations Global Compact (UNGC) และสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (WBCSD) รวมทั้งกรรมการขององค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD)

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน)
*กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการ กรรมการบริหารความเสี่ยง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

*รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประจำประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

*กรรมการ และกรรมการบริหารความเสี่ยง บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top