Saturday, 18 May 2024
ทุเรียน

‘เจ้าของสวน’ แทบทรุด อีก 2 วันก็ตัดขายได้แล้ว  กลับถูกโจรแสบย่องตัด ‘ทุเรียน’ กว่าร้อยลูก มูลค่ากว่า 90,000 บาท

(4 เม.ย.66) วันที่ 3 เม.ย.66 ร.ต.อ. ชัชวาล เพ็ชรนอก รอง สว.(สอบสวน) สภ.บ้านค่าย ระยอง ได้รับแจ้งจาก นางจินตนา บุญประเสริฐ ผู้ใหญ่บ้านหมู่8 ต.ชากบก อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ที่พานายพยุง ธรรมชาติ อายุ 55 ปี เจ้าของสวนทุเรียน ในพื้นที่หมู8 ต.ชากบก ว่าถูกคนร้ายไม่ทราบจำนวน บุกเข้าไปขโมยตัดทุเรียนพันธุ์หมอนทอง หายไปกว่า 100 ลูก จึงประสานตำรวจชุดสืบสวนเข้าตรวจสอบในจุดเกิดเหตุเพื่อหาเบาะแสคนร้าย

เมื่อไปถึงสวนทุเรียนที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นสวนทุเรียนพันธุ์หมอนทอง บนเนืัอที่ 7 ไร่ มีต้นทุเรียนอายุกว่า 7 ปี ทั้งหมด 60 ต้น กำลังออกผลเต็มต้น ตรวจสอบพบร่องรอยกิ่งหัก และ เหลือเพียงขั้วทุเรียนที่ถูกตัดลูกหายไป โดยหนึ่งต้นถูกขโมยลูกทุเรียนหายไป 10-20ลูก ตัดเอาผลไปทุกต้น รวมกว่า100ลูก ทิ้งไว้เพียงรอยเท้าของโจร ที่พบอยู่หลายรอยคาดว่าคงมาไม่ต่ำกว่า 3 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงตรวจสอบทั่วทุ้งสวนเพื่อหาเบาะแสของคนร้ายกลุ่มนี้

นายพยุง เจ้าของสวนทุเรียน ได้ให้การว่า ทุเรียนภายในสวนของตนเองเป็นพันธุ์หมอนทองทั้งหมด ต้นทุเรียนอายุ 7 ปี ใหะผลผลิตมาแล้ว 2 ปี โดยปีนี้ให้ผลผลิตมากกว่าปีที่ผ่านมา จึงเฝ้าดูแลทะนุถนอม รดน้ำใส่ปุ๋ย จนทำให้ผลทุเรียนได้น้ำหนัก โดยเหลือเวลาอีกแค่สองวันก็จะตัดทุเรียนบางส่วนส่งขายได้แล้ว โดยตนเองไม่ได้พักในสวน จึงสร้างรั้วกั้นอย่างแน่นหนา โดยเข้ามารดน้ำครั้งสุดท้ายเมื่อ 3 วันที่ผ่านมา จนกระทั่งวันนี้ได้เข้ามารดน้ำ เมื่อเห็นต้นทุเรียนก็แทบทรุด เพราะพบว่าถูกขโมยลูกทุเรียนไป ตรวจสอบพบว่าถูกขโมยไปทุกต้น โดยคนร้ายคัดเอาแต่ลูกที่สวยไป คงจะมีความรู้เรื่องทุเรียนพอสมควร

‘ทางรถไฟจีน-ลาว’ หนุนส่งออก ‘ทุเรียนไทย’ สู่ตลาดจีน เพิ่มกำลังการขนส่งรวดเร็วยิ่งขึ้น สร้างรายได้มหาศาล

เมื่อไม่นานนี้ สำนักข่าวซินหัว, แหลมฉบัง/คุนหมิง รายงานว่า ขบวน ‘รถไฟผลไม้’ บรรทุกทุเรียนและมังคุดของไทย จำนวน 23 ตู้คอนเทนเนอร์ ได้เดินทางถึงนครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน
.
รถไฟขบวนนี้มีต้นทางจากแหลมฉบัง ท่าเรือแห่งสำคัญของไทย และวิ่งถึงจุดหมายปลายทางในจีนโดยผ่าน ‘ทางรถไฟจีน-ลาว’ ซึ่งปัจจุบันกำลังกลายเป็น ‘ทางด่วน’ ของบรรดาผู้ส่งออกชาวไทยในการเข้าถึงตลาดจีนอย่างรวดเร็ว
.
อรทัย เอื้อตระกูล วัย 67 ปี อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนำเข้าและส่งออกสินค้าพืชของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย เผยกับสำนักข่าวซินหัวว่า เมื่อก่อนทุเรียนส่วนใหญ่ถูกส่งออกสู่จีนทางถนนและทางทะเล ซึ่งเป็นเส้นทางที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ เพราะหลายปัจจัยอย่างสภาพอากาศเลวร้าย ทำให้บางครั้งใช้เวลาขนส่งนานกว่า 20 วัน
.
ทว่าปัจจุบัน ทุเรียนไทยถูกขนส่งถึงคุนหมิงภายใน 3 วัน ด้วยอานิสงส์จากการขนส่งแบบห่วงโซ่ความเย็นบนทางรถไฟจีน-ลาว ซึ่งอรทัยแสดงความหวังว่าจะช่วยให้ผู้บริโภคชาวจีนได้เพลิดเพลินกับทุเรียนสดใหม่และสุกอร่อยเหมือนกับชาวไทยเพิ่มขึ้น

ด้าน นที ชวนสนิท ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาการเศรษฐกิจการพาณิชย์ (IBERD) กล่าวว่า ปัจจุบันจีนเป็นตลาดส่งออกทุเรียนแห่งสำคัญที่สุดของไทย และหวังว่าผู้บริโภคชาวจีนจะได้ชิมทุเรียนรสชาติดียิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยขยับขยายตลาดทุเรียนไทย

อนึ่ง ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ของไทย ระบุว่า จีนเป็นตลาดส่งออกทุเรียนไทยขนาดใหญ่สุดในปี 2022 ครองสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 96 ของปริมาณการส่งออกทุเรียนทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 3.09 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 1.06 แสนล้านบาท)

บริษัท ไทยแลนด์ รอยัล ฟาร์ม กรุ๊ป จำกัด (Thailand Royal Farm Group) ได้ดำเนินธุรกิจส่งออกทุเรียนในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตทุเรียนที่มีชื่อเสียงของประเทศ เป็นเวลานานมากกว่า 16 ปีแล้ว

วีริศา วนนุรักศ์สกุล ซีอีโอของบริษัทฯ กล่าวว่า ความต้องการจากตลาดจีนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทำให้ราคาขายส่งทุเรียนพุ่งสูงไม่หยุด และรายได้จากงานบรรจุหีบห่อแบบจ้างงานชั่วคราวในช่วงฤดูส่งออกกลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญของคนท้องถิ่นจำนวนมาก

ทั้งนี้ ทางรถไฟจีน-ลาว ได้เปิดเส้นทางใหม่สำหรับการส่งออกทุเรียนไทย และบรรเทาปัญหากำลังการขนส่งไม่เพียงพอที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ รวมถึงการขนส่งทางถนนและทางทะเลที่ไม่มีความแน่นอน

กนกวรรณ สุวรรณกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการสินค้า การรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเปิดทางรถไฟจีน-ลาว ได้ส่งเสริมการพัฒนาการขนส่งสินค้าทางรางของไทย โดยปริมาณการขนส่งสินค้าจากไทยสู่ลาวเพิ่มขึ้นจาก 500-600 ทีอียู (TEU: หน่วยนับตู้คอนเทนเนอร์ยาว 20 ฟุต) ในปี 2019 เป็น 2,000 ทีอียูในปี 2022 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 3,000 ทีอียูในปี 2023

บริษัท สปีด อินเตอร์ ทรานสปอร์ต จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจส่งออกและขนส่งผลไม้มากกว่า 20 ปี ได้ตัดสินใจพัฒนาการขนส่งสินค้าทางรางอย่างจริงจัง หลังจากทดลองดำเนินงานมากว่าหนึ่งปี

พานเจียวหลิง ซีอีโอของบริษัทฯ กล่าวว่ามีการซื้อตู้คอนเทนเนอร์แบบห่วงโซ่ความเย็นสำหรับขนส่งสินค้าพร้อมติดตั้งระบบจีพีเอส (GPS) ในปีนี้ ซึ่งช่วยระบุตำแหน่งและเฝ้าติดตามอุณหภูมิแบบเรียลไทม์จากระยะไกล รวมถึงส่งข้อมูลโลจิสติกส์ให้ลูกค้าได้อย่างทันท่วงที

‘ราชานักไลฟ์ชาวจีน’ ไลฟ์ขายทุเรียนไทย วันเดียวได้ 1.6 ล้านลูก รับเต็มๆ 1,500 ล้านบาท!! ทำทุเรียนไทยในจีนขาดตลาด-ราคาพุ่ง 

(13 พ.ค. 66) เรียกว่ากำลังกลายเป็นกระแสไวรัลในโซเชียลประเทศจีนอย่างมาก สำหรับกรณี หนุ่มจีนชื่อ ‘ซิน โหย่วจือ’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ซินบา (Xinba)’ ฉายา ‘ราชานักไลฟ์’ หรือ ‘ราชานักขาย’

เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 66 ‘ซินบา (Xinba)’ ผู้ก่อตั้ง Xinxuan Group บริษัทอีคอมเมิร์ซชั้นนำด้านการถ่ายทอดสดในประเทศจีน ได้บินลัดฟ้ามาไลฟ์สดขายสินค้าที่ประเทศไทย โดยงัดของดีในไทยขึ้นชื่อมากมาย เช่น ทุเรียน มังคุด ข้าวหอมมะลิ ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว และผลิตภัณฑ์จากยางพารา

หลังจากเปิดไลฟ์สดขายสินค้าไปไม่นาน ยอดขายก็ทะลุ 100 ล้านไปอย่างง่ายดาย โดยยอดขายรวมทั้งหมดเกิน 830 ล้าน และปริมาณการสั่งซื้อรวมเกิน 6.78 ล้านออเดอร์ นับว่าเป็นเรื่องที่น่าทึ่งจริงๆ กับพลังของการซื้อสินค้าผ่านการไลฟ์ถ่ายทอดสดของจีน

สำหรับยอดขาย มังคุดไทย มีคำสั่งซื้อ 1.26 ล้านรายการต่อวินาที และทำยอดขายกว่า 100 ล้านหยวน หรือแปลงเป็นเงินไทยคือ 480 ล้านบาท

ในส่วนของ ทุเรียนหมอนทอง ที่หลายคนตั้งตารอ มียอดสั่งซื้อไปทั้งหมด 1.62 ล้านลูก น้ำหนักรวมกว่า 4,800 ตัน และมียอดขายรวมเกือบ 300 ล้านหยวน หรือเทียบเท่าประมาณ 1,500 ล้านบาท

จนกลายเป็นดรามาสนั่นติดเทรนด์ร้อนใน Baidu ที่จีน เหล่าพ่อค้า-แม่ค้าทุเรียนคนจีนด้วยกันออกมาโวยแหลก ว่าการไลฟ์สดขายสินค้าของราชานักขาย ‘ซินบา (Xinba)’ เป็นต้นเหตุให้ราคาทุเรียนในจีนพุ่งสูงขึ้น จนผู้ค้ารายย่อยไม่มีทุเรียนจะขาย ทำให้ทุเรียนไทยในจีนขาดตลาด และราคาพุ่งสูง

ที่น่าสนใจคือในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตลาดอีคอมเมิร์ซของจีนได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และ ประเทศไทยถือเป็นประเทศใหญ่ในด้านการเกษตรและการผลิต ทั้งยังเป็นหนึ่งในแหล่งทรัพยากรที่สำคัญของห่วงโซ่อุปทาน

ประเทศไทยจึงถือเป็นหมุดหมายแรก ในการขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศของบริษัท Xinxuan Group

ทั้งนี้ ซิน โหย่วจือ หรือ ‘ซินบา (Xinba)’ ผู้ก่อตั้งบริษัท Xinxuan Group เผยว่า จะนำประสบการณ์ และทรัพยากรด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของจีนมาสู่ประเทศไทย และช่วยประเทศไทยฝึกฝนผู้มีความสามารถด้านดิจิทัล

ซินบายังเสริมอีกว่า จะใช้เศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อช่วยในการเปลี่ยนแปลง และยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศต่างๆ แบ่งปันห่วงโซ่อุตสาหกรรม (Industrial Chain) และห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ไปทั่วโลก และร่วมปูทาง ‘เส้นทางสายไหมดิจิทัล’ เส้นทางการค้าที่สร้างความมั่งคั่ง

ฉงชิ่ง’ เปิดเส้นทางใหม่ นำเข้า ‘ทุเรียนไทย’ ภายใน 4 วัน

(ซินหัว) — 11 มิ.ย. เทศบาลนครฉงชิ่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ต้อนรับรถไฟขนส่งทุเรียนไทยระบบห่วงโซ่ความเย็นขบวนแรกที่เดินทางผ่านระเบียงการค้าทางบก-ทะเลระหว่างประเทศใหม่ (New International Land-Sea Trade Corridor) ก่อนถึงจุดหมายปลายทาง

ทุเรียนจากไทยจำนวน 150,000 ลูก ถูกขนส่งไปยังลาวผ่านทางถนน ก่อนลำเลียงขึ้นรถไฟเพื่อส่งไปยังจีนผ่านทางรถไฟจีน-ลาว

เติ้งฮ่าวจี๋ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของหงจิ่วฟรุ๊ต บริษัทจัดซื้อผลไม้จีน กล่าวว่าการขนส่งทั้งหมดใช้เวลาเพียง 4 วัน ลดลงจากเส้นทางขนส่งทางทะเล-ถนนก่อนหน้านี้ที่ใช้เวลาราว 8-10 วัน พร้อมเสริมว่าสำหรับผู้นำเข้าผลไม้ เวลานั้นเป็นเงินเป็นทองและทุกชั่วโมงล้วนมีค่า โดยรถไฟขนส่งทุเรียนนี้ช่วยลดต้นทุน รวมถึงลดความเสียหายระหว่างการขนส่ง

รายงานระบุว่าทุเรียนไทยเหล่านี้ส่วนใหญ่จะวางจำหน่ายที่ตลาดแห่งต่างๆ ในฉงชิ่ง ขณะทุเรียนที่เหลือบางส่วนจะถูกขนส่งด้วยรถไฟสู่มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ที่อยู่ข้างเคียง

อนึ่ง ทุเรียนจัดเป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรหลายชนิดของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน (ASEAN) ที่ถูกนำเข้าสู่ตลาดจีนเพิ่มอย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งข้ามพรมแดน

พาณิชย์-DITP’ จัดโปรโมตผลไม้ไทยในจีน ตอบรับดีเกินคาด!! ปลื้ม!! ชาวจีนแห่ซื้อ ‘ทุเรียน มังคุด ลำไย’ ขายกันมือระวิง

‘กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ’ (DITP) เผย ผลการจัดกิจกรรมโปรโมตผลไม้ไทยในจีน ที่เมืองชิงต่าว ประสบผลสำเร็จเกินคาด ทุเรียน มังคุด ลำไย ขายมือระวิงห้างขายได้ทันที 2.93 ล้านบาท ผู้นำเข้าขายส่งได้ 138 ล้านบาท และห้างยังแจ้งอีกว่าจะสั่งซื้อผลไม้ภายใน 1 ปี อีก 190 ล้านบาท

(13 มิ.ย. 66) นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมฯ ได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทำการสำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ และให้รายงานผลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับรายงานผลโครงการยกระดับการส่งออกผลไม้เข้าสู่ตลาดจีนเมืองชิงต่าว ภายใต้ธีมงาน ‘Qingdao Thai Fruits Golden Months 2023’ จากนางสาวชนิดา อินปา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว สาธารณรัฐประชาชนจีนที่ไทยได้ร่วมกับห้างสรรพสินค้า Leader Group ในเมืองชิงต่าว จัดขึ้นเป็นปีที่ 4 ระหว่างวันที่ 1-7 พฤษภาคม 2566 เพื่อประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทยและกระตุ้นให้ชาวจีนบริโภคผลไม้ไทยเพิ่มขึ้น

สำหรับรายละเอียดการจัดงาน ทูตพาณิชย์รายงานว่า ปีนี้ได้ร่วมกับห้างสรรพสินค้า Leader Group 4 สาขา ทั่วเมืองชิงต่าว มณฑลซานตง ซึ่งเป็นห้างท้องถิ่นระดับกลาง-บนที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วเมืองชิงต่าว โดยในช่วงการเปิดงาน ได้จัดให้มีการแสดงประกอบเพลง การร้องเพลงสากล การเล่นเกมชิงรางวัลผลไม้ไทยและการสาธิตการทำ ‘ข้าวเหนียวทุเรียนไทย’ และแนะนำร้านอาหารไทยที่ได้รับตรา ‘Thai SELECT’ และเชฟจากร้านอาหาร ‘Thai SELECT’ รวมทั้งแจกชิมอาหารหวานไทยที่ทำจากผลไม้ ได้แก่ พัฟทุเรียน เพื่อตอกย้ำถึงรสชาติของทุเรียนไทย และดึงดูดให้ผู้บริโภคไปใช้บริการร้านอาหาร Thai SELECT ให้มากขึ้น

นอกจากนี้ สำนักงานที่ชิงต่าว ยังได้ร่วมกับ KOL ด้านอาหารชื่อดังของเมืองชิงต่าวถึง 3 ราย ซึ่งมีผู้ติดตามใน Douyin. (TikTok) รวมเกือบ 3 ล้าน followers มาจัดทำคลิปเชิญชวนผู้บริโภคมาร่วมงาน รวมทั้งร่วมกับ KOL อีก 1 รายชื่อ Kě’àiQiúqiú (เค่ออ้ายฉิวฉิว) ซึ่งมีผู้ติดตามใน Douyin (Tiktok) มากกว่า 1.49 ล้าน followers เข้ามาร่วมไลฟ์สดบรรยากาศภายในงานตั้งแต่เริ่มต้นจนจบงาน ร่วมกับทูตพาณิชย์ โดยมีการแนะนำผลไม้ที่จำหน่ายภายในงาน และเชิญชวนผู้บริโภคชาวชิงต่าวมาซื้อผลไม้ไทยราคาพิเศษตลอด 1 สัปดาห์เต็ม

ทั้งนี้ ผลการจัดงานปรากฏว่า ผลไม้ไทยที่ขายดีที่สุด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด และลำไย โดยเฉพาะทุเรียนไทยที่ยังคงได้รับความนิยมมากที่สุด แม้ว่าจะมีการอนุญาตให้มีการจำหน่ายทุเรียนของประเทศอื่น แต่ผู้นำเข้าและห้างก็ให้ข้อมูลตรงกันว่าทุเรียนไทยยังขายดีและเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมากตั้งแต่เริ่มต้นฤดูกาล และปีนี้ทุเรียนไทยมีคุณภาพดีกว่าปีที่ผ่านๆมารวมทั้งราคาจับต้องได้และเข้าถึงผู้บริโภคได้มากกว่าปีที่ผ่านมาด้วย

ส่วนยอดขายผลไม้ในช่วงที่จัดกิจกรรมตลอด 1 สัปดาห์จากห้างสรรพสินค้า Leader Group 4 สาขาคิดเป็นมูลค่าทันที 2.93 ล้านบาท ส่วนผู้นำเข้ามียอดขายแบบค้าส่งทันที 138 ล้านบาท และห้างสรรพสินค้า Leader Group คาดการณ์ว่าภายใน 1 ปี จะมีมูลค่าการสั่งซื้อผลไม้รวมทั้งสิ้น 190 ล้านบาท

สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169

‘บุฟเฟต์ทุเรียน’ ที่ปีนัง มาเลเซีย นุ่มลิ้นเหมือนกินคัสตาร์ด มีให้เลือกหลายสายพันธุ์ อิ่มได้ไม่อั้น แค่หัวละ 700 บาท!!

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 66 เพจเฟซบุ๊ก ‘I will travel around the world’ ได้โพสต์ภาพร้อมข้อความเกี่ยว ‘บุฟเฟต์ทุเรียน MusangKing’ ที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย โดยระบุว่า…

#มาเลเซีย
ปาร์ตี้ทุเรียนบุฟเฟต์ ปีนัง ประเทศมาเลเซีย
ร้านแบบนี้ฮิตมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ทุเรียนบ้านเขาจะรอสุกหล่นจากต้นแล้วเก็บเอามาทานทุเรียนบ้าน เม็ดเล็กๆ เนื้อบางๆ ขม บ้านเขาชอบกินทุเรียนเละๆ สุกๆ ซึ่งจะแตกต่างกับบ้านเรา  

บุฟเฟต์ที่นี่ หัวประมาณ 700 บาท กินไม่อั้น มีหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งก้านยาว, D24, Musang King ร้านเปิดตั้งแต่เที่ยงวันยันเที่ยงคืน 

คนที่นี่พาลูกพาหลานมากันทั้งบ้าน ฟีลเหมือนมากินร้านไอติม

สำหรับพันธุ์ Musang King รสชาติค่อนข้างติดขมนิดๆ แต่เนื้อละเอียดเหมือนคัสตาร์ด ในร้านจะมีมังคุดให้ทานปิดท้าย

อิ่มมาก ออกจากป่ามาเจอบุฟเฟต์ทุเรียน 😆

‘กรมศุลกากร’ ยึดทุเรียนลักลอบนำเข้า  น้ำหนัก 8,420 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว

นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า อธิบดีกรมศุลกากรได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรดำเนินการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรเพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อผลผลิตภายในประเทศ และเป็นการป้องกันการสวมสิทธิผลไม้ไทยที่ส่งออกไปต่างประเทศ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกษตรกรไทยและผู้ประกอบการที่สุจริต 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566 นายศศิน ปงรังษี ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรภาคที่ 1 นายประพันธ์ จันทร์ไทยศรี นายด่านศุลกากรอรัญประเทศ ได้ให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรลงพื้นที่เฝ้าระวังการลักลอบขนส่งสินค้าเกษตรที่ไม่ผ่านพิธีการศุลกากร บริเวณถนน 317(หน้าโรงพยาบาลวังสมบูรณ์) ตำบลวังสมบูรณ์ อำเภอวังสมบูรณ์ จังหวัดสระแก้ว พบรถบรรทุก 6 ล้อ มีลักษณะน่าสงสัย จึงทำการขอตรวจค้น พบทุเรียนสด มีถิ่นกำเนิดต่างประเทศ ไม่ปรากฏเอกสารหลักฐานแสดงการผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง จำนวน 8,420 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 1,178,800 บาท

กรณีดังกล่าว ถือเป็นความผิดตามมาตรา 242 และ 246 ประกอบมาตรา 252 เจ้าหน้าที่จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 166 และ 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ยึดของดังกล่าวพร้อมนำตัวผู้ต้องหาและยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิดส่งด่านศุลกากรอรัญประเทศ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

‘นิพนธ์’ พร้อมดัน ‘สงขลา’ สู่ศูนย์กลางปลูกทุเรียนในไทย ควบคู่แลกเปลี่ยนความรู้แก่เกษตรกร ช่วยให้ผลผลิตมีคุณภาพ

เมื่อวานนี้ (17 ก.ค. 66) นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการ ‘การทำทุเรียนฉบับขั้นเทพ’ โดยมีอาจารย์ ไพโรจน์ ทางธรรม ผู้จัดการพัฒนาตลาดและผลิตภัณฑ์ นายไพบูลย์ แก้วกันหา ผู้จัดการสื่อการตลาด และเจ้าหน้าที่บริษัทเทพวัฒนา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตำบลท่าช้าง สมาชิกสหกรณ์การเกษตรบางกล่ำ และเกษตรกรชาวสวนทุเรียนเข้าร่วมประชุม ณ ศูนย์การเรียนรู้สหกรณ์การเกษตร ตำบลท่าช้าง อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา

เนื่องด้วยปัจจุบันทุเรียนเป็นพืชตัวหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนทุเรียนอย่างมากจากการจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ ในปัจจุบันมีการขยายพื้นที่การปลูกมากขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสงขลา มีการขยายตัวอย่างมาก

บริษัท เทพวัฒนา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรร่วมกับร้านตัวแทนจำหน่ายคือร้านชูพันธ์เกษตรฟาร์มและพันธมิตรได้แก่ บริษัทไฮโดรไทย (ปุ๋ยเรือใบไข่มุก) บริษัท แอดวานส์ เฟอร์ติไลเซอร์ต้องการใช้โอกาสนี้ในการให้ความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องการจัดการ การใช้ปุ๋ยใช้ยาในการปลูกทุเรียนให้ได้ผลผลิต ที่ดีมีคุณภาพจึงได้เชิญวิทยากรจากบริษัทเทพวัฒนาคือ อาจารย์ ไพโรจน์ ทางธรรม มาบรรยายให้ความรู้ ในครั้งนี้ เพื่อเกษตรกรจะได้ต้นทุเรียนที่สวยงดงาม และให้ผลผลิตแก่เกษตรกร ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ และสร้างมูลค่าให้กับเกษตรกร

นายนิพนธ์ กล่าวช่วงหนึ่งว่า วันนี้ได้เห็นกลุ่มเกษตรกรชาวสวนทุเรียนที่มีความตั้งใจที่จะหาความรู้ในเชิงวิชาการ การทำทุเรียนตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการเก็บเกี่ยวที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนทุเรีบนได้มองเห็นโอกาสร่วมกัน ซึ่งเห็นบรรยากาศแล้ว ผมเชื่อว่าการเดินหน้าให้สงขลาเป็นเมืองทุเรียนไม่ใช่เป็นเรื่องเพ้อฝัน จากความตั้งใจของพี่น้อง และความสนใจของพี่น้องเกษตรกร เชื่อว่าสงขลามีศักยภาพในการที่จะทำให้สงขลาเป็นเมืองทุเรียน เพราะสงขลาเรามีพื้นที่ค่อนข้างจะมาก ซึ่งเดิมสงขลาเราปลูกยางพารา และถือเป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศไทย

วันหนึ่งเราเห็นว่าพืชทุเรียนเป็นพืชที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทย ขณะนี้เราส่งทุเรียนไปจำหน่ายต่างประเทศ เฉพาะประเทศจีนประเทศเดียวปีที่แล้วแสนกว่าล้าน นั่นคือคนจีนยังทานทุเรียนไม่ถึง 10% ของพลเมืองประเทศจีน ประเทศจีนมีประชากรประมาณ 1400 ล้านคน ขณะที่คนทานทุเรียนยังไม่ถึง 100 ล้าน ซึ่งผมได้มีโอกาสไปพบกับผู้ใหญ่ที่ดูแลธุรกิจในประเทศไทยคือท่านธนินทร์ เจียรวานนท์ ท่านเจ้าสัวซีพี ให้ข้อมูลกับผมว่าพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่สงขลาลงไป เป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการปลูกทุเรียน

ซึ่งทุเรียนเป็นพืชที่ชอบน้ำแต่ไม่ชอบน้ำขัง แต่พืชทุเรียนขาดน้ำไม่ได้ ซึ่งธุรกิจทุเรียนถือเป็นธุกิจแสนล้านหรือสองแสนล้านได้ในอนาคต แต่จุดอ่อนของบ้านเราท่านบอกว่า ที่ผ่านมาเราไม่สามารถแก้ปัญหาในเรื่องตัวหนอนในเมล็ดทุเรียนได้ ท่านจึงส่งเจ้าหน้าที่ของซีพีมากับมูลนิธิปิดทองหลังพระ ลงมาเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดยะลา เพื่อปิดจุดอ่อนในเรื่องของปัญหาตัวหนอนในเมล็ดได้ แล้วทำให้จังหวัดยะลา เป็นฮับทุเรียน ตั้งแต่วันนั้นมาผมจึงเริ่มสนใจการปลูกทุเรียนมากขึ้น เพราะท่านเป็นผู้ชี้แนะอะไรหลายอย่าง และท่านพูดแล้วก็ไม่ต้องไปศึกษาตำราที่ไหน ผมเชื่อว่าความคิดของท่านที่บอกว่า ในประเทศนี้ธุรกิจที่น่าทำคือพลังงาน แต่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าพลังงานคือน้ำมัน นั่นคือพลังงานเครื่องจักร แต่ท่านบอกว่าคงลืมไปว่าพลังงานของคนคืออาหาร ตราบใดที่มีคนหก เจ็ดพันล้านคนในโลกนี้ตราบนั้นคนต้องกินอาหารเพื่อใช้เป็นพลังงาน จากคำพูดนั้นนั่นก็คือเป็นสิ่งที่ทำไมซีพีจึงผลิตอาหารเลี้ยงคน

ดังนั้นวันนี้อนาคตของประเทศไทยคือทุเรียน และพื้นที่ภาคใต้ก็เป็นพื้นที่ที่มีโอกาส ทำอย่างไรเราจะปิดช่องว่างจุดอ่อนของทุเรียนภาคใต้ นั่นคือการแก้ไม่ให้แมลงเข้าไปวางไข่ในทุเรียน อย่าให้มีหนอนในเมล็ดทุเรียนได้ แล้วอนาคตก็จะดี ดังนั้นการให้ความรู้จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด วันนี้การทำเกษตรบ้านเราจะทำตามยถากรรมย่อมไม่ได้ การทำการเกษตรต้องมีหลักวิชา และเชื่อว่าเราจะสร้างอาชีพใหม่ได้แน่นอน ถ้าเกษตรกรคนใดมีสองอย่างคือทั้งยางพาราและสวนทุเรียน ซึ่งยางพารานั้นเก็บรายได้ทุกวัน เก็บเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน แต่ถ้าท่านปลูกทุเรียนไปด้วยทุเรียนจะถือเป็นโบนัสประจำปี สามารถสร้างกำไรเลี้ยงครอบครัวได้ ซึ่งถ้าเรามีโอกาสดีมีทั้งสวนยางพาราและสวนทุเรียนไว้บ้าง แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้คือองค์ความรู้ ผมเชื่อว่าคงไม่มีใครรู้เรื่องของ ทุเรียนดีซะทุกอย่าง การรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนประสบการณ์ นี่คือสุดยอดวิชา ใครมีปัญหาก็พูดคุยกัน และไม่ให้ปัญหาเหล่านั้นเกิดกับคนอื่นอีก หรือไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก ซึ่งก็จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

และนี่คือสิ่งที่ทุกคนจะประสบความสำเร็จในเรื่องของการปลูกทุเรียนได้ จึงอยากเห็นเกษตรกรได้ทำสิ่งเหล่านี้ และตั้งใจในการที่จะเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ วิชาการถือเป็นสิ่งจำเป็นในการเกษตรโดยเฉพาะเกษตรแปลงใหญ่ ฉะนั้นจากทฤษฎีทั้งหลายที่เราดำเนินการอยู่นี้ ทั้งในส่วนของกระทรวงเกษตร และกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งผมได้มีโอกาสในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา เข้าไปเป็นคณะรัฐมนตรี และพรรคประชาธิปัตย์ได้เข้าไปดูแลในกระทรวงเกษตร ผมจึงมีความเข้าใจการสร้างมาตรฐาน หรือมาตรฐานต่างๆที่กระทรวงเกษตรกำหนด หรือแม้แต่ที่กระทรวงพาณิชย์ส่งสินค้าไปขาย

ต่อไปนี้ไม่ใช่ใครมีสินค้าทำอย่างไรก็ได้ การใช้ยาเคมีใช้อย่างไรให้พอดี ใช้ปุ๋ยอย่างไรใช้ให้พอดี เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นในเชิงวิชาการทั้งสิ้น และหลักวิชาการเหล่านี้จะทำให้เราประสบความสำเร็จในอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องทุเรียนเป็นพืชเกษตรตัวใหม่ของประเทศไทย และสงขลายังไม่สายเกินไปที่จะปรับขบวนการเหล่านี้ และร้อยเรียงทำอย่างไรที่จะทำให้ทุเรียนสงขลาเป็นทุเรียนที่มีคุณภาพ เราต้องช่วยกัน สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลกังวลอย่างยิ่ง และรัฐบาลจีนไม่ยอมให้เกิดขึ้นนั่นคือ การส่งทุเรียนที่ไม่ได้คุณภาพเข้าประเทศจีน ดังนั้นสิ่งนี้พวกเราต้องระลึกอยู่เสมอว่าต้องไม่ทำลายตัวเราเอง เพราะการที่เราจะทำให้ทุเรียนของเราไม่มีคุณภาพ จะเป็นการตัดราคาตัดโอกาสของเกษตรกร ดังนั้นการทำให้ทุเรียนไม่มีราคา ถ้าเราลองนั่งคำนวณดูจะเห็นว่าไม่มีผลไม้ชนิดไหนแล้วในปัจจุบัน ที่จะส่งออกได้ดีกว่าทุเรียน ดังนั้นเราต้องทำให้สินค้าทุเรียนสงขลาเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ซึ่งมันไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้

‘ซุ้มหมู’ ทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองโบราณจากบรรพบุรุษ อายุ 217 ปี สีขาวนวลเนื้อแน่น คุณภาพเน้นๆ ขึ้นแท่นรุกขมรดกของแผ่นดิน

(21 ก.ค. 66) ภายในสวนทุเรียน หมู่ 3 บ้านหัวกาหมิง ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล อิหม่ามผู้นำศาสนาอิสลามพร้อมชาวบ้าน มาร่วมสวดดุอาร์ขอพรให้กับนางสาวอรัญนาถ ฉลาดเลิศ อายุ 53 ปี เจ้าของสวนทุเรียนโบราณอายุ 217 ปี ที่ทำนูหรี ด้วยการใช้ทุเรียนโบราณอายุ 217 ปีจำนวน 50 ลูก (ซึ่งประเพณีงานบุญจัดเลี้ยงอาหารอย่างไม่เป็นทางการ) โดยทางเจ้าของสวนต้องการจะทำบุญเลี้ยงและขอบคุณบรรพบุรุษ ที่มอบต้นทุเรียนโบราณพันธุ์ ‘ซุ้มหมู’ ให้มีผลผลิตในแต่ละปีไม่น้อยกว่า 10,000 ลูก เช่นเดียวกันกับปีนี้ที่ให้ผลผลิตมากถึง 2 รุ่น

ปัจจุบันทุเรียนโบราณต้นนี้ตั้งเด่นตระหง่านเพียงต้นเดียวสูงขนาด ตึก 8 ชั้น และใหญ่มากถึง 21 คนโอบ ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั้งใกล้และไกล สั่งซื้อกันไม่ขาดสาย ด้วยสายพันธุ์ที่มีรสชาติเนื้อครีม หวานกำลังดีไม่มีกลิ่นแรงทำให้หลายคนติดใจ สั่งซื้อในราคากิโลกรัมละ 80 บาทและสั่งต้นพันธุ์ขายในราคาต้นละ 600 บาทเพื่อไปปลูก

นางสาวอรัญนาถ ฉลาดเลิศ เจ้าของสวนทุเรียนโบราณ บอกว่า ปกติทุกปีจะทำนูหรีเพื่อเลี้ยงญาติพี่น้องและทำบุญให้กับบรรพบุรุษที่มอบต้นทุเรียนโบราณนี้มาให้มีผลผลิตดีทุกปี และยืนต้นสง่า งดงามจนเป็นที่รู้จักกล่าวขานไปทั่วประเทศถึงอายุที่ยืนยาว

นางอภิวันท์ ทองแท่น เกษตรอำเภอควนกาหลง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอควนกาหลง บอกว่า ทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง ‘ซุ้มหมู’ มีสีขาวนวล แต่เนื้อแน่นหนา ไม่ขม กลิ่นไม่ฉุนแรง ทางเจ้าของสวน มีความตั้งใจจะอนุรักษ์ ดูแลทุเรียนพันธุ์ดังกล่าวเป็นอย่างดี เพื่อให้ลูกหลานและผู้คนที่หลงใหลในการลิ้มรสทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองได้ชิม

ทุเรียนบ้านโบราณพันธุ์ซุ้มหมู ความเป็นมาอดีตจุดนี้เคยเป็นสถานที่อยู่ของหมูป่า และตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นตั้งแต่ พ.ศ.2349 สมัยรัชกาลที่ 5 ราคาสูงกว่าทุเรียนบ้านทั่วไปเนื่องจากมีความพิเศษตรงที่เนื้อของทุเรียน แม้จะเป็นสีขาวนวล แต่เนื้อแน่นหนา ไม่ขม กลิ่นไม่ฉุนแรงเหมือนทุเรียนบ้านทั่วไปและกรอบนอกนุ่มใน เม็ดเล็ก ลูกมีหลายขนาด ซึ่งเจ้าของต้องรอให้สุกหล่นจากต้นเท่านั้นถึงจะเก็บมากินหรือจำหน่ายได้ เนื่องจากต้นมีความสูงใหญ่มากต้นทุเรียนบ้านโบราณ พันธุ์ซุ้มหมูนี้ยังได้รับประกาศเกียรติบัตรการันตีจากอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็นรุกขมรดกของแผ่นดินใต้ร่มพระบารมี เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2561

‘ทุเรียนไทย’ กลิ่นหอมขจรขจายทั่วนครฮาร์บิน ตอนเหนือของจีน ด้วยการขนส่งก้าวหน้า โดย ‘ขบวนด่วน’ ของทางรถไฟจีน-ลาว

เมื่อไม่นานนี้ สำนักข่าวซินหัว, ฮาร์บิน รายงานว่า ณ ตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรฮาต๋า ซึ่งเป็นศูนย์กลางจัดจำหน่ายผักผลไม้ที่พลุกพล่านที่สุด ในมณฑลเฮยหลงเจียงทางตอนเหนือสุดของจีน มีรถบรรทุกทุเรียน 1,000 กล่อง ถูกรุมล้อมด้วยพ่อค้าแม่ขายที่มารอรับสินค้า โดย ‘เสี่ยวเหิง’ เป็นพ่อค้าคนหนึ่งที่ร่วมรอรับทุเรียน เพื่อขนขึ้นรถส่วนตัวพร้อมกับผลไม้เมืองร้อนอื่นๆ อย่างฝรั่งและมะม่วง

‘เสี่ยวเหิง’ ผู้ค้าขายผลไม้มานานกว่า 10 ปี เล่าว่าเขาเริ่มต้นขายผลไม้ปี 2013 ตอนนั้นชาวฮาร์บินชอบรับประทานทุเรียนกันแล้ว แต่ยังมีของขายไม่มากและราคาไม่ถูก แถมการขนส่งที่ใช้เวลานานทำให้ทุเรียนที่ขนส่งมาถึงเปลือกแห้งและดำ ต่างจากปัจจุบันที่ล่าสุดได้ยินว่าขนส่งด้วย ‘ขบวนด่วน’ บนทางรถไฟจีน-ลาว ทั้งมีคุณภาพดีและราคาลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนๆ

ย้อนกลับเมื่อสิบกว่าปีก่อน ผลไม้เมืองร้อนจากไทยที่วางจำหน่ายในนครฮาร์บิน เมืองเอกของเฮยหลงเจียง ต้องผ่านมือเหล่าพ่อค้าคนกลางในกว่างโจว เสิ่นหยาง ปักกิ่ง และอื่นๆ เพราะไม่มีช่องทางซื้อขายโดยตรง ทำให้ราคาพุ่งสูง ขณะเดียวกันรูปลักษณ์และรสชาติของผลไม้แย่ลงเพราะใช้ระยะเวลาขนส่งยาวนาน

ทว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของจีน ช่วยลดระยะเวลาขนส่งลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้คุณภาพของผลไม้นำเข้าดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน แม้แต่เฮยหลงเจียงที่เป็นมณฑลทางเหนือสุดของจีน ยังสามารถเพลิดเพลินกับผลไม้เมืองร้อนเลิศรสที่ส่งมาจากกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไทย มาเลเซีย และลาว

หากวันนี้ลองเยี่ยมเยือนซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ในนครฮาร์บิน คุณจะได้พบทุเรียนหมอนทองสุกพร้อมรับประทานวางเรียงรายดึงดูดลูกค้ามาเลือกซื้อจำนวนมาก โดยมีราคาช่วงโปรโมชันอยู่ที่ราว 43.8 หยวน (ราว 210 บาท) ต่อกิโลกรัม ซึ่งต่ำกว่าราคาค้าปลีกในท้องตลาดอย่างมาก

พนักงานซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งนี้เผยว่า ทุเรียนมีราคาถูกเช่นนี้เพราะต้นทุนการขนส่งลดลง โดยทุเรียนจากไทยถูกขนส่งสู่นครคุนหมิง มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ก่อนจะถูกกระจายไปทั่วประเทศ ขณะเดียวกันที่นี่มีบริการปลอกเปลือกทุเรียนฟรีและตรวจดูคุณภาพทุเรียนก่อนจ่ายเงิน เพื่อรับประกับความสดใหม่ทุกลูก

อนึ่ง ทางรถไฟจีน-ลาว ถือเป็นโครงการสำคัญของการร่วมสร้าง ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ (BRI) ที่มีคุณภาพสูง และกลายเป็นช่องทางโลจิสติกส์ที่สะดวกระหว่างจีนและอาเซียน โดยทางรถไฟสายนี้ช่วยให้ขนส่งทุเรียนจากไทยถึงคุนหมิงภายใน 3 วัน ซึ่งช่วยให้ไทยสามารถส่งออกทุเรียนที่สุกมากขึ้นและรสชาติดีขึ้นได้

ปัจจุบันไทยมีทุเรียนกว่า 200 สายพันธุ์ และถือเป็นประเทศส่งออกทุเรียนสดมากที่สุดในโลก โดยข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ของไทย ระบุว่าจีนเป็นตลาดส่งออกทุเรียนไทยขนาดใหญ่ที่สุดในปี 2022 ครองส่วนแบ่งร้อยละ 96 ของทุเรียนไทยส่งออกทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 3.09 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.05 แสนล้านบาท)

ด้าน ‘ขบวนด่วน’ บนทางรถไฟจีน-ลาว ช่วยลดระยะเวลาขนส่งทุเรียนสู่จีนอย่างมาก โดยกลุ่มสื่อไทยรายงานว่า ‘รถไฟขบวนทุเรียน’ จากสถานีมาบตาพุดไปยังนครกว่างโจวของจีน ทำสถิติขนส่งผลไม้จากไทยสู่จีนเร็วที่สุดครั้งใหม่ และการเน่าเสียระหว่างการขนส่งลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

เสี่ยวเหิง เผยทิ้งท้ายว่า เขาขายทุเรียนได้หลายร้อยลูกในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา โดยเขายังมี ‘บริการหลังการขาย’ อย่างเช่น การแลกคืนทันทีหากพบทุเรียนด้อยคุณภาพ ขณะการรับประกันอุปทานและการพัฒนาโลจิสติกส์ช่วยเพิ่มความมั่นใจแก่เสี่ยวเหิง และเกื้อหนุน ‘กลิ่นหอม’ ของทุเรียนไทยขจรขจายทั่วดินแดนตอนเหนือสุดของจีน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top