Saturday, 18 May 2024
ทุเรียน

'ทุเรียนไทย' เนื้อหอม!! เฉิดฉายในงานแสดงสินค้าจีน-เอเชียใต้ ครั้งที่ 7 เบิกทางผู้ประกอบการไทย พาสินค้าสยามสู่ชาวจีนตอนใต้มากขึ้น

(22 ส.ค.66) สำนักข่าวซินหัว เผยว่า 'ทุเรียน' ถือเป็นหนึ่งในผลไม้ที่ได้รับความนิยมชมชอบจากประชาชนในฤดูกาลนี้ โดยเฉพาะกับ 'ทุเรียนไทย' ที่สามารถดึงดูดความสนใจจากชาวจีน และรวมถึงฝูงชนที่เข้าร่วมงานแสดงสินค้าจีน-เอเชียใต้ ครั้งที่ 7 ในนครคุนหมิง มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน

เฉินเจี๋ย ผู้จัดแสดงสินค้าทุเรียนอบแห้งจากไทย กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าสู่จีนในปัจจุบันนั้นปลอดภาษี ซึ่งช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของการทำธุรกิจในตลาดจีนอย่างมาก ขณะกลุ่มประเทศหุ้นส่วนในภูมิภาคอาเซียนยังช่วยมอบโอกาสทางธุรกิจอันดี

ผลิตภัณฑ์ของเฉินสามารถเข้าสู่ตลาดจีนอย่างรวดเร็วผ่านทางรถไฟจีน-ลาว ซึ่งตอนนี้ขยับขยายเส้นทางการเดินรถถึงจังหวัดจันทบุรี ไม่ไกลจากสวนทุเรียนที่เขาร่วมมืออยู่ด้วย ทำให้ขนส่งผลิตภัณฑ์สดใหม่สู่ผู้บริโภคชาวจีนได้อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ 'ทุเรียน' เปรียบเป็นนามบัตรใบสำคัญของไทย ท่ามกลางการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เฟื่องฟูยิ่งขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มบริษัททุเรียนไทยคาดหวังส่งออกผลิตภัณฑ์สู่จีนเพิ่มขึ้น

งานแสดงสินค้าจีน-เอเชียใต้ ครั้งที่ 7 ในนครคุนหมิง จึงเป็นโอกาสใหม่แก่จีนและกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังเช่น บริษัท จันทบุรี ฟรุ๊ต โปรดักส์ จำกัด ที่ปีนี้ส่งออกผลไม้แปรรูปสู่จีน 12 ตู้คอนเทนเนอร์แล้ว ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ในแง่ปริมาณ และร้อยละ 30 ในแง่มูลค่า เมื่อเทียบปีต่อปี

"งานแสดงสินค้าฯ ในคุนหมิงถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์แก่ผู้บริโภคชาวจีนตอนใต้" วิชญะ พฤกษากิจ ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทฯ กล่าวทิ้งท้าย

‘อลงกรณ์’ ลุยตรวจตลาดจีน เร่งแก้ปัญหาหนอนเจาะทุเรียน ปลื้ม!! ยอดส่งออกผลไม้ไทยพุ่ง สะท้อนความเชื่อมั่นในคุณภาพ

(31 ส.ค. 66) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้แห่งชาติ (ฟรุ้ทบอร์ด) พร้อมด้วย นายเมฆินทร์ เอี่ยมสะอาด และนายณฐกร สุวรรณธาดา คณะทำงานที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ รวมทั้งนายปรัตถกร แท่นมณี กงสุล (ฝ่ายเกษตร) ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว ลงพื้นที่ตรวจทุเรียนที่ตลาดเชียงหนานในเมืองกว่างโจว

กรณีเกิดปัญหาหนอนเจาะทุเรียน กระทบการส่งออกทุเรียนไทย จากนั้นได้ร่วมประชุมหารือกับผู้ประกอบการค้าของจีนและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ เปิดเผยภายหลังการตรวจตลาดเชียงหนานและพบหารือประเมินสถานการณ์ การแก้ไขปัญหาหนอนเจาะทุเรียนกับผู้ประกอบการจีนว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ในฐานะประธานฟรุ้ทบอร์ด ได้สั่งการเร่งแก้ไขปัญหาทันทีที่เริ่มมีรายงานการตรวจพบหนอนเจาะทุเรียน ที่ด่านตรวจโรงพืชเช่นด่านโหยวอี้กวนที่พรมแดนเวียดนาม-จีน และด่านโมฮ่านที่พรมแดนลาว-จีน เป็นต้น รวมทั้งมีผู้ประกอบการค้าทุเรียนของจีน ได้รับการร้องเรียนจากลูกค้าตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมุ่งการจัดการปัญหาที่สวน และผู้ประกอบการค้าส่งออก โดยเน้นนโยบายคุณภาพและมาตรฐาน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ในระดับพื้นที่ เช่น ทุเรียนในจังหวัดยะลา

ทั้งนี้ มีกลไกระดับจังหวัดคือคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหา อันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) เป็นแกนหลักบริหารจัดการมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน โดยการสนับสนุนของกรมวิชาการและกรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะฝ่ายเลขานุการของฟรุ้ทบอร์ด ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังมอบหมายกงสุล (ฝ่ายเกษตร) ประจําสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจวสื่อสารสร้างความเข้าใจ และสร้างความมั่นใจกับผู้ประกอบการและผู้บริโภคชาวจีน ถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาหนอนเจาะทุเรียน เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของทุเรียนไทยที่ครองใจ ครองตลาดจีนอันดับ 1 มาอย่างยาวนาน โดยผู้ประกอบการจีนที่ตลาดเชียงหนาน ซึ่งเป็นตลาดผลไม้ใหญ่ที่สุดในมณฑลกว่างตุ้งและภาคตะวันออกของจีน แสดงความชื่นชมต่อการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วของทางการไทย

นายอลงกรณ์ยังแสดงความพอใจ ต่อรายงานการส่งออกผลไม้และทุเรียนผลสด ที่ยังครองแชมป์ในตลาดจีน โดยกล่าวว่า ภาพรวมการส่งออกผลไม้สดจากไทยไปจีนครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้น คิดเป็นปริมาณรวมกว่า 1.1 ล้านตัน มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท

สำหรับการส่งออกทุเรียนไปจีนครึ่งปีแรก มีปริมาณกว่า 6 แสนตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านบาท

การค้า ‘ทุเรียน’ จีน-อาเซียน เติบโตฉลุย ยอดส่งออกไทยเกือบ 100% อยู่ที่นี่

(21 ก.ย. 66) สำนักงานซินหัว เผย ประมวลภาพห่วงโซ่อุตสาหกรรมการค้าขายราชาแห่งผลไม้อย่าง ‘ทุเรียน’ ระหว่างจีน, ไทย และเวียดนาม ตั้งแต่เก็บเกี่ยวผลผลิตจากสวน บรรจุหีบห่อและขนส่ง จนถึงผ่านการตรวจสอบทางศุลกากร และวางจำหน่ายแก่ผู้บริโภคชาวจีน

ปัจจุบัน ทุเรียนกลายเป็นสัญลักษณ์โดดเด่นของความร่วมมือจีน-อาเซียน และศักยภาพตลาดขนาดมหึมาของจีน โดยทุเรียนที่จำหน่ายในจีนส่วนใหญ่ นำเข้าจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ของไทย ระบุว่า จีนเป็นตลาดส่งออกทุเรียนไทยขนาดใหญ่ที่สุดในปี 2022 ครองสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 96 ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด

รายงานระบุว่า การหมุนเวียนของสินค้าในตลาดระดับภูมิภาคนี้ ได้รับประโยชน์อย่างต่อเนื่อง จากนโยบายปลอดภาษีศุลกากรและการเข้าถึงตลาด ภายใต้กรอบการทำงานของเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)

ตัวอย่างเช่น เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน นำเข้าผลไม้จากกลุ่มประเทศอาเซียน ช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคมปีนี้ สูงถึง 3.66 พันล้านหยวน (ราว 1.84 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 194 เมื่อเทียบปีต่อปี โดยการนำเข้าทุเรียนเพิ่มขึ้นโดดเด่นที่สุดถึงร้อยละ 516 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

‘เวียดนาม’ ยิ้ม!! ‘ทุเรียน’ ผงาด 9 เดือนแรก ปี 66 แหล่งรายได้ใหญ่สุดในหมู่ ‘ผัก-ผลไม้’ ส่งออก

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, ฮานอย เผยว่า สำนักข่าวท้องถิ่นของเวียดนามรายงานว่า มูลค่าการส่งออกทุเรียนของเวียดนาม ในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ของปี 2023 ทะลุ 1.63 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 5.89 หมื่นล้านบาท) ส่งผลให้ทุเรียนกลายเป็นแหล่งรายได้เงินตราต่างประเทศขนาดใหญ่ที่สุด ในอุตสาหกรรมผักและผลไม้ของเวียดนาม

สำนักงานศุลกากรเวียดนามระบุว่า ตัวเลขข้างต้นสูงกว่าตัวเลขจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 14 เท่า

รายงานระบุว่า ยอดส่งออกทุเรียนแซงหน้าขนุน, แก้วมังกร, แตงโม, กล้วย และลิ้นจี่ จนขึ้นแท่นเป็นอันดับหนึ่ง ครองสัดส่วนร้อยละ 38.7 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของอุตสาหกรรมดังกล่าว

ปัจจุบัน ‘จีน’ ยังคงเป็นตลาดส่งออกทุเรียนที่สำคัญของเวียดนาม โดยเวียดนามมีพื้นที่เพาะปลูกทุเรียน 422 แห่ง และโรงบรรจุหีบห่อทุเรียน 153 แห่งที่ได้รับสิทธิส่งออกทุเรียนสู่จีน

อนึ่ง มูลค่าการส่งออกผักและผลไม้ของเวียดนาม ช่วงเดือนมกราคม-กันยายน สูงถึง 4.21 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.52 แสนล้านบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 72.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ยอดนำเข้า ‘ทุเรียนเวียดนาม’ สู่ ‘จีน’ พุ่งทะยานต่อเนื่อง หลังศุลกากรเปิดช่องทางพิเศษ หนุนการค้าทวิภาคีเติบโต

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, หนานหนิง รายงานข่าว ‘ด่านโหย่วอี้กวน’ ซึ่งเป็นด่านนำเข้าทุเรียนขนาดใหญ่ที่สุดของจีนในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ และคุ้นเคยกับการนำเข้าทุเรียนจาก ‘ไทย’ เป็นหลัก ได้รับรองการนำเข้าทุเรียนจาก ‘เวียดนาม’ นับตั้งแต่มีการอนุญาตทุเรียนเวียดนามเข้าถึงตลาดจีนเมื่อปีก่อน

‘หนงหลี่ชิง’ ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทนำเข้าและส่งออกแห่งหนึ่งในเมืองผิงเสียงของกว่างซี ซึ่งเป็นที่ตั้งของด่านบกโหย่วอี้กวน สามารถประสานงานขนส่งทุเรียนสดใหม่ถึงมือลูกค้าในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ที่อยู่ใกล้เคียง และมณฑลเจ้อเจียงทางตะวันออกของจีนอย่างรวดเร็ว

“ปีนี้เรานำเข้าทุเรียนมากกว่า 1,600 ตู้คอนเทนเนอร์แล้วเมื่อนับถึงเดือนธันวาคม โดยนอกจากไทย เราได้เริ่มนำเข้าทุเรียนจากเวียดนามด้วย” หนงกล่าว พร้อมเสริมว่าปัจจุบันมีการนำเข้าทุเรียนหลายสิบตู้คอนเทนเนอร์ในแต่ละวัน

อนึ่ง จีนนำเข้าทุเรียนในปี 2022 รวม 825,000 ตัน โดยข้อมูลศุลกากรระบุว่าการนำเข้าทุเรียนครองอันดับหนึ่งในหมู่ผลไม้นำเข้าของจีน คิดเป็นมูลค่า 4.03 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.43 แสนล้านบาท)

สำหรับทุเรียนเวียดนาม ซึ่งเป็นที่รู้จักว่ามีฤดูเก็บเกี่ยวยาวนานกว่าและราคาถูกกว่า ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงตลาดจีน ภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ในปี 2022 โดยปัจจุบันจีนกลายเป็นตลาดส่งออกทุเรียนแห่งหลักของเวียดนาม

“สักสิบกว่าปีก่อน ผลไม้จากประเทศอาเซียนอย่างทุเรียน มังคุด และมะพร้าว ถือเป็นของหายากในจีน แต่ตอนนี้พบเจอได้ตามแผงขายผลไม้ในแทบทุกเมืองใหญ่และมีราคาย่อมเยามากขึ้น” หวังเจิ้งโป๋ ประธานบริษัทผลไม้ในกว่างซี กล่าว

บริษัทของหวังก้าวเข้าแวดวงการนำเข้าทุเรียนเวียดนาม และลงนามสัญญากับสวนทุเรียนหลายแห่งในเวียดนาม ซึ่งมีพื้นที่รวมเกือบ 3,000 เฮกตาร์ (ราว 18,750 ไร่) เมื่อปีก่อน โดยหวังเผยว่าปีนี้มีแผนนำเข้าทุเรียนเวียดนามมากกว่า 3,000 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือ 60,000 ตัน เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดจีน

‘ด่ง กวาง หาย’ นักธุรกิจชาวเวียดนามที่ทำธุรกิจเพาะปลูกทุเรียนในเวียดนามมานานนับสิบปี กล่าวว่าทุเรียนเป็นหนึ่งในผลไม้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในจีน มีความต้องการจากผู้บริโภคและศักยภาพทางการตลาดสูงมาก

ปัจจุบันด่านโหยวอี้กวนกลายเป็นด่านบกสำหรับการแลกเปลี่ยนทางพรมแดน ระหว่างจีนและเวียดนามที่คึกคักและสะดวกมากที่สุด โดยสถานีตรวจสอบชายแดนขาเข้า-ขาออกที่ด่านโหยวอี้กวนได้รับรองยานพาหนะเข้าและออกในปีนี้ 400,000 คัน เมื่อนับถึงวันอังคารที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 122 เมื่อเทียบปีต่อปี

‘ถังซาน’ หัวหน้าศุลกากรด่านโหยวอี้กวน ระบุว่า ด่านโหยวอี้กวนเป็นด่านบกขนาดใหญ่ที่สุดสำหรับส่งออกผลไม้เวียดนามสู่จีน มีรถบรรทุกขนส่งทุเรียน แก้วมังกร ขนุน และผลไม้อื่นๆ ของเวียดนามเข้าทำพิธีศุลกากรช่วงในฤดูกาลวันละเกือบ 300 คัน และมีการขนส่งทุเรียนเวียดนามช่วงนอกฤดูกาลวันละมากกว่า 30 ตู้คอนเทนเนอร์

“เราเริ่มนำเข้าทุเรียนจากเวียดนามเมื่อปีก่อน ทุเรียนเป็นหนึ่งในสินค้าผลไม้นำเข้าที่ขายดีที่สุด มีการจัดจำหน่ายทางออฟไลน์และออนไลน์ทั่วประเทศ” ‘ฟางช่วงเฉวียน’ ผู้ค้าผลไม้ในเมืองผิงเสียงกล่าว

โดยข้อมูลจากศุลกากรหนานหนิง ระบุว่า มูลค่าสินค้านำเข้าจากเวียดนามผ่านด่านโหยวอี้กวน ช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคมของปีนี้ รวมอยู่ที่ 9.14 หมื่นล้านหยวน (ราว 4.47 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 271.8 เมื่อเทียบปีต่อปี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการนำเข้าผลไม้เวียดนาม 1.17 หมื่นล้านหยวน (ราว 5.73 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 637.9 โดยมูลค่าการนำเข้าทุเรียนรวมอยู่ที่ 1.11 หมื่นล้านหยวน (ราว 5.43 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3,084.2

การค้าทวิภาคีด้านผลิตภัณฑ์การเกษตรบนพรมแดนจีน-เวียดนาม ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยอานิสงส์จากการอนุมัตินำเข้าผลิตภัณฑ์การเกษตรหลายรายการจากเวียดนามสู่จีน กอปรกับการส่งออกผักผลไม้ที่มีคุณภาพจากกว่างซีสู่ตลาดเวียดนาม

นอกจากด่านโหยวอี้กวนแล้ว ด่านเหอโข่วในมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ยังกลายเป็นด่านนำเข้าทุเรียนยอดนิยมของจีน นับตั้งแต่มีการอนุมัตินำเข้าทุเรียนผ่านด่านเหอโข่วเมื่อเดือนเมษายนปีนี้

‘ฟู่จิง’ ผู้ค้าผลไม้จากมณฑลกุ้ยโจวทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งคลุกคลีอยู่ในแวดวงการค้าผลไม้นำเข้ามานานมากกว่า 10 ปี ได้เริ่มนำเข้าทุเรียนจากเวียดนามเมื่อไม่นานนี้เช่นกัน โดยฝูบอกว่าขั้นตอนพิธีการศุลกากรที่สะดวกรวดเร็วของด่านเหอโข่วเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เราเลือกนำเข้าทุเรียนเวียดนาม

‘เหยาฉี’ ตำรวจหญิงประจำสถานีตรวจสอบชายแดนขาเข้า-ขาออกเหอโข่ว เผยว่า การนำเข้าทุเรียนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากดึงดูดผู้คนมายังด่านเหอโข่วเพิ่มขึ้น มีบริษัทจำนวนมากเข้ามาตั้งสาขา หรือสำนักงานในอำเภออันเป็นที่ตั้งของด่านเหอโข่ว

ปัจจุบันด่านเหอโข่วรับรองยานพาหนะเข้าและออกเฉลี่ยวันละราว 700 คัน และจัดตั้งช่องทางด่วนสำหรับการทำพิธีการศุลกากร ของผลิตภัณฑ์การเกษตรและผลิตภัณฑ์ปลีกย่อย รวมถึงปรับปรุงประสิทธิภาพของขั้นตอนพิธีการศุลกากรอย่างต่อเนื่อง

‘ศูนย์วิจัยกสิกร’ เผย 3 ปัจจัยทุเรียนไทยครองใจคนจีน คาด!! ปี 2567 สดใส ส่งออกทุเรียนไปจีน โต +10%

(19 ก.พ. 67) ศูนย์วิจัยกสิกร เปิดเผยว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา ทุเรียนไทยกลายเป็นดาวเด่นบนเวทีการส่งออกสินค้าไทยไปจีน โดยมีบทบาทสำคัญต่อภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยทั้งหมด คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 18.2% ท่ามกลางสถานการณ์การส่งออกสินค้าไทยโดยรวมที่หดตัวเล็กน้อย -0.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า หากมองเฉพาะกลุ่มสินค้าอื่น ๆ ที่ไม่รวมผลไม้ สถิติการส่งออกไปจีนจะหดตัวลงถึง -5.3%

ขณะที่ทุเรียนสดถือเป็นผลไม้ที่มีสัดส่วนการส่งออกสูงสุด โดยมีสัดส่วนการส่งออก เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยหลักมาจาก

1.ความต้องการบริโภคทุเรียนในตลาดจีนมีมากขึ้นตามความนิยม
2.ปริมาณผลผลิตทุเรียนในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามพื้นที่เพาะปลูก
3.ปัจจัยสนับสนุนอื่น ๆ ได้แก่ การขยายช่องทางการขาย อาทิ ช่องทางออนไลน์ และการเพิ่มช่องทางขนส่งทางรางผ่านรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว ช่วยลดระยะเวลาและเพิ่มความสะดวกในการขนส่งได้มากขึ้น ซึ่งในปี 2566 เริ่มมีการส่งทุเรียนผ่านเส้นทางนี้มากขึ้น โดยคิดเป็น 5.7% ของการส่งออกทุเรียนทั้งหมดไปจีน

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ในปี 2567 การส่งออกทุเรียนสดไทยไปจีนมีแนวโน้มแตะ 4,500 ล้านดอลลาร์ เติบโต +12% เมื่อเทียบกับปี 2566 ซึ่งการเติบโตจะชะลอลงจากปีก่อนหน้า ซึ่งคาดว่าปริมาณการส่งออกจะเพิ่มขึ้น +10% เมื่อเทียบกับปี 2566 แต่การเติบโตจะชะลอลงเนื่องจากผลผลิตบางพื้นที่อาจได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวน

ในส่วนของราคาส่งออกคาดว่าจะขยับขึ้นเล็กน้อย +2% เมื่อเทียบกับปี 2566 แม้ความต้องการทุเรียนไทยในจีนจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ทุเรียนจากคู่แข่งก็มีจำนวนมากขึ้นเช่นกัน

‘สรรเพชญ’ แนะรัฐบาลแก้ไขปัญหา ‘ทุเรียน’ อย่างเร่งด่วน ย้ำ!! ต้องให้ความสำคัญตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพื่อความยั่งยืน

(21 เม.ย.67) นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้ความเห็นกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ผ่านร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรสำหรับหลักปฏิบัติในการตรวจสอบและรับผลทุเรียน สำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ซึ่งร่างกฎกระทรวงนี้จะเป็นมาตรฐานบังคับในการรองรับการแข่งขันและปกป้องการส่งออก “ทุเรียน” ให้มีคุณภาพ 

โดยเนื้อหาสาระดังกล่าว เป็นการกำหนดมาตรการในการตรวจสอบคุณภาพของทุเรียน เช่น ความแก่ การคัดแยกทุเรียนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ การห้ามนำเข้าหรือจำหน่าย อีกทั้งมีการตรวจวิเคราะห์น้ำหนักเนื้อแห้งของทุเรียนที่จะต้องผ่านเกณฑ์ตามที่กำหนด รวมไปถึงการมีผู้ที่มีหน้าที่ในการตรวจวิเคราะห์หรือควบคุมการเก็บเกี่ยว จะต้องมีความรู้ความชำนาญและมีหลักฐานที่แสดงว่าได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี นายสรรเพชญกล่าวว่า การออกกฎกระทรวงในลักษณะนี้ถือเป็นสิ่งที่ดีที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการตรวจสอบคุณภาพของทุเรียนก่อนถึงมือผู้บริโภค

นายสรรเพชญได้กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับเรื่องของคุณภาพทุเรียนมากกว่านี้ เนื่องจากทุเรียนเป็นสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกหลายแสนล้านบาท นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มาเที่ยวในประเทศไทยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนก็มักจะสั่งทุเรียนกลับไปที่ประเทศของตนเองครั้งละหลายหมื่นถึงหลายแสนบาท ซึ่งแสดงให้เห็นถึงคุณภาพของทุเรียนไทย ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี การพัฒนาสายพันธุ์ทุเรียนต่าง ๆ ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายของรัฐบาลที่จะรักษาคุณภาพมาตรฐานไว้ให้ได้ ตนจึงรู้สึกว่ารัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับทุเรียนเท่าที่ควร เพราะรัฐบาลมุ่งแต่จะทำเรื่องกลางน้ำ และละเลยต้นน้ำ คือการให้ความสำคัญกับการเตรียมดิน เตรียมปุ๋ย เตรียมพื้นที่ของเกษตรกร ที่อาจจะถูกละเลยไป ดังนั้นรัฐบาลจะต้องมีการให้ความสำคัญกับการดูแลคุณภาพทุเรียน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ คือ พ่อค้า การขนส่ง ปลายน้ำ คือ ผู้บริโภคทั้งภายในและนอกประเทศ เพื่อให้ทุเรียนไทยมีความยั่งยืนทั้งระบบครบวงจร สามารถรักษามาตรฐานของประเทศไว้ได้

ทั้งนี้ นายสรรเพชญกล่าวว่า เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 ตนได้ยื่นญัตติเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาการส่งเสริม พัฒนา แก้ไขปัญหาทุเรียนอย่างยั่งยืนทั้งระบบ และยกร่างกฎหมายว่าด้วยทุเรียน ซึ่งขณะนี้ได้บรรจุในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว คาดว่าเมื่อเปิดสมัยการประชุมจะได้รับการพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาทุเรียนและให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนมีหลักประกันผ่านกองทุนทุเรียนไทยต่อไป 

‘ทุเรียนไทย’ เสี่ยงไม่ได้ 'ยืนหนึ่ง' ตลาดจีน หลังหลายชาติทยอยรุกส่งออกกันไม่แผ่ว

(3 พ.ค.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ด่านโหย่วอี้กวนหรือด่านมิตรภาพบนพรมแดนจีน - เวียดนาม ณ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน ได้รับรองการนำเข้าทุเรียนสดในไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม) ของปีนี้รวม 48,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.85 พันล้านหยวน (ราว 9.25 พันล้านบาท)

ปริมาณการนำเข้าทุเรียนสดข้างต้นแบ่งเป็นนำเข้าจากเวียดนาม 35,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.1 เมื่อเทียบปีต่อปี คิดเป็นมูลค่า 1.28 พันล้านหยวน (ราว 6.4 พันล้านบาท) และนำเข้าจากไทย 13,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 570 ล้านหยวน (ราว 2.85 พันล้านบาท) ซึ่งลดลงร้อยละ 59.5 และร้อยละ 63.5 เมื่อเทียบปีต่อปี

อนึ่ง ด่านโหย่วอี้กวนของกว่างซีจัดเป็นด่านบกขนาดใหญ่ที่สุดในการนำเข้าทุเรียนและจุดสังเกตกระแสการบริโภคทุเรียนของตลาดจีน โดยศุลกากรนครหนานหนิงระบุว่า มูลค่าการนำเข้าทุเรียนสดผ่านด่านแห่งนี้ในปี 2023 รวมอยู่ที่ 2.25 หมื่นล้านหยวน (ราว 1.12 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 353 เมื่อเทียบปีต่อปี

ด้านสำนักงานศุลกากรทั่วไปของจีนระบุว่า จีนนำเข้าทุเรียนสดในปี 2023 ราว 1.42 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 6.71 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.47 แสนล้านบาท) โดยปริมาณทุเรียนที่นำเข้าผ่านด่านโหย่วอี้กวนคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณทุเรียนนำเข้าทั้งหมดของจีน

บรรดาคนวงในอุตสาหกรรมมองว่าปริมาณทุเรียนสดนำเข้าจากไทยผ่านด่านโหย่วอี้กวนที่ลดลงในไตรมาสแรกของปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากทุเรียนไทยเข้าสู่ตลาดจีนล่าช้ากว่าปกติ กอปรกับสภาพภูมิอากาศในท้องถิ่นไทยส่งผลกระทบต่อผลผลิตทุเรียน

ทั้งนี้ ข้อมูลการบริโภคทุเรียนของตลาดจีนชี้ว่าสถานะ ‘ผู้นำ’ ของทุเรียนไทยในตลาดจีนกำลังสั่นคลอน เนื่องด้วยผลกระทบจากการส่งออกทุเรียนสู่จีนของแหล่งผลิตทุเรียนที่พัฒนามาทีหลังอย่างเวียดนามและฟิลิปปินส์ ทำให้ทุเรียนไทยในตลาดจีนต้องเผชิญกับการแข่งขันอันดุเดือดยิ่งขึ้น

ช่ายเจิ้นอวี่ ผู้จัดการของบริษัท กว่างซี โอวเหิง อินเตอร์เนชันแนล โลจิสติกส์ จำกัด เผยว่า ช่วงก่อนปี 2023 บริษัทฯ นำเข้าทุเรียนจากไทยเท่านั้น แต่พอปี 2023 ทุเรียนที่นำเข้ามากกว่า 2,000 ตู้คอนเทนเนอร์ แบ่งเป็นทุเรียนไทยและทุเรียนเวียดนามอย่างละครึ่ง โดยบริษัทฯ เลือกแหล่งผลิตตามความต้องการของผู้บริโภคทั่วจีน

ช่ายกล่าวว่า การปลูกทุเรียนในไทยมักปลูกโดยครัวเรือนทั่วไปหรือกลุ่มหมู่บ้าน แต่การปลูกทุเรียนของเวียดนามมุ่งเน้นการเพาะปลูกขนานใหญ่ รวมถึงใช้ข้อได้เปรียบจากระยะทางขนส่งสั้น ความเป็นอุตสาหกรรมระดับสูง และต้นทุนต่ำกว่า ทำให้ทุเรียนเวียดนามมีโอกาสรุกเข้าท้าชิงส่วนแบ่งตลาดจีน

คนวงในอุตสาหกรรมเผยว่าช่วงไม่กี่ปีมานี้ หลายประเทศอาเซียนได้รับอนุญาตส่งออกทุเรียนสดสู่จีน ทำให้โครงสร้างตลาดทุเรียนของจีนเปลี่ยนแปลงไป โดยก่อนหน้านี้ทุเรียนไทยครองส่วนแบ่งตลาดจีนมากที่สุดเสมอจนกระทั่งเวียดนามสามารถส่งออกทุเรียนสดสู่จีนในเดือนกันยายน 2022 ทำให้ทุเรียนไทยครองส่วนแบ่งตลาดจีนลดลง

สำนักงานศุลกากรทั่วไปของจีนระบุว่าปี 2022 จีนนำเข้าทุเรียน 825,000 ตัน ซึ่งเป็นทุเรียนไทยมากกว่า 780,000 ตัน หรือคิดเป็นเกือบร้อยละ 95 ต่อมาปี 2023 จีนนำเข้าทุเรียน 1.42 ล้านตัน ซึ่งเป็นทุเรียนไทย 929,000 ตัน และทุเรียนเวียดนาม 493,000 ตัน ทำให้ทุเรียนเวียดนามครองส่วนแบ่งตลาดจีนเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 ภายในหนึ่งปีและยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันแม้ปริมาณทุเรียนสดส่งออกจากฟิลิปปินส์สู่จีนไม่ได้สูงมากแต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยศุลกากรนครหนานหนิงระบุว่าปริมาณการขนส่งทุเรียนด่วนผ่านท่าอากาศยานนานาชาติหนานหนิง อู๋ซวี ในไตรมาสแรกของปีนี้รวมอยู่ที่ 1,201 ตัน ซึ่งมาจากไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยการนำเข้าทุเรียนฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบปีต่อปี

สวี่เฉียง รองผู้จัดการบริษัทที่ให้บริการขนส่งทุเรียนทางอากาศ เผยว่า มีการนำเข้าทุเรียนจากฟิลิปปินส์ทางอากาศทุกวัน คิดเฉลี่ยราว 4 ตันต่อเที่ยวบิน โดยต้นทุนการขนส่งไม่สูงเพราะเป็นเที่ยวบินขากลับ และการขนส่งทางอากาศช่วยการันตีรสชาติสดใหม่ด้วย

นอกจากเวียดนามและฟิลิปปินส์แล้ว ทุเรียนมาเลเซียกำลังบุกตลาดจีนเช่นกัน โดยมาเลเซียส่งออกผลิตภัณฑ์ทุเรียนแช่แข็งสู่จีนตั้งแต่ปี 2011 และส่งออกทุเรียนแช่แข็งทั้งลูกสู่จีนในปี 2019

ข้อมูลจากหอการค้าแห่งประเทศจีนเพื่อการนำเข้าและส่งออกอาหาร ผลผลิตพื้นเมือง ผลผลิตพลอยได้จากสัตว์ ระบุว่าปริมาณการส่งออกทุเรียนมาเลเซียแช่แข็งสู่จีนในปี 2023 อยู่ที่ 25,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 47 เมื่อเทียบปีต่อปี คิดเป็นมูลค่า 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.96 พันล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 เมื่อเทียบปีต่อปี

ฟาทิล อิสมาอิล กงสุลใหญ่มาเลเซียประจำนครหนานหนิง กล่าวว่าจีนกลายเป็นตลาดแห่งสำคัญของทุเรียนมาเลเซียหลังจากพัฒนามานานหลายปี โดยปัจจุบันมาเลเซียและจีนกำลังทำงานร่วมกันเพื่อการส่งออกทุเรียนสดจากมาเลเซียสู่จีน

คนวงในอุตสาหกรรมทิ้งท้ายว่าตลาดผู้บริโภคทุเรียนของจีนมีขนาดใหญ่และความต้องการทุเรียนไทยจะยังคงเพิ่มขึ้น แต่ทุเรียนไทยกำลังเผชิญการแข่งขันกับอีกหลายประเทศ ทำให้ไทยต้องเร่งรักษาข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน โดยนอกจากควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวด ต้องเพิ่มประสิทธิภาพของระบบขนส่งและโลจิสติกส์ ทุกภาคส่วนต้องทำงานร่วมกันเพื่อลดผลกระทบต่อสถานะ ‘ผู้นำ’ ในตลาดจีน

‘นักวิชาการ’ ห่วง!! ‘ทุเรียนไทย’ เสี่ยงแย่ ในอีก 5 ปีข้างหน้า ชี้!! 'ภัยแล้ง-คู่แข่ง-ต้นทุนขนส่ง' รุมเร้า แนะ!! รัฐรีบจัดการ

(13 พ.ค.67) นายอัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่ปรึกษาบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด เปิดเผยถึงผลวิเคราะห์ ดัชนีความเสี่ยงทุเรียนไทย ปี 2567 และประเมินทุเรียนไทยใน 5 ปีข้างหน้า ว่า ทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจหนึ่งเดียวที่ทำรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างมาก ในปี 2566 ทุเรียนมีมูลค่าส่งออก 1.4 แสนล้านบาท แซงหน้ามูลค่าการส่งออกยางพารา และมันสำปะหลัง

แต่ยังเป็นรองมูลค่าการส่งออกข้าว โดยมูลค่าการส่งออกทุเรียนคิดเป็นสัดส่วน 25% ของมูลการค้าส่งออกรวมของพืชส่งออกหลัก 4 ชนิด คือ ข้าว ทุเรียน ยางพารา และมันสำปะหลัง ส่วนมูลค่าการส่งออกทุเรียนในปี 2567 นั้น ต้องลุ้นว่ายังสามารถรักษาระดับการส่งออกเหมือนในปี 2566 หรือไม่ เพราะมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน

ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ดัชนี DURI หรือ ดัชนีความเสี่ยงทุเรียนไทย ปี 2567 และ 5 ปี พบว่า ดัชนีความเสี่ยงทุเรียนไทย ปี 2567 อยู่ที่ 57 ซึ่งเป็นระดับที่ มีความเสี่ยงสูง เพราะเกิน 50 และค่าดัชนี DURI ใน 5 ปีข้างหน้ายังมีค่าเกิน 50 อย่างต่อเนื่องเช่นกัน เพราะมีความเสี่ยงจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ ปัญหาภัยแล้งของเกษตรกร การส่งออกทุเรียนเวียดนามที่เพิ่มสูงขึ้น และต้นทุนการขนส่งไปประเทศจีนที่เพิ่มสูงขึ้น

นายอัทธ์ กล่าวว่า ช่วง 12 ปีผ่านมา ผลผลิตทุเรียนไทยเพิ่ม 180% เพิ่มจาก 5 แสนตัน เป็น 1.4 ล้านตัน จากการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศกว่า 80% แต่ปัญหาภัยแล้งจะทำให้ ผลผลิตทุเรียนลดลง 50% ใน 5 ปีข้างหน้า หากรัฐไม่ปัญหาภัยแล้งอย่างเป็นรูปธรรม คาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ผลผลิตทุเรียนไทยจะลดลง 53% หรือหายไป 6.4 แสนตัน โดยปีนี้ ภัยแล้งจะทำให้ผลผลิตทุเรียนลดลง 42% หรือลดลง 5.4 แสนตัน

ขณะที่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตทุเรียนเวียดนามเพิ่ม 200% ปี 2566 มีผลผลิตทุเรียน 8 แสนตัน เพิ่มจาก 2.7 แสนตัน ในปี 2557 มีพื้นที่ปลูกเกือบ 7 แสนไร่ และในปี 2567 เวียดนามส่งออกไปจีนเพิ่ม 30% โดยไตรมาสที่ 1/2567 ส่งออกทุเรียนไปจีนเพิ่มขึ้น 105% อยู่ที่ 36,800 ตัน ขณะที่ไทยส่งออกได้เพียง 17,900 ตัน คาดว่าทั้งปี 2567 เวียดนามสามารถส่งออกทุเรียนไปจีนอยู่ที่ 5 แสนตัน ในขณะที่ไทยส่งออกอยู่ที่ 8 แสนตัน ลดลงเกือบ 2 แสนตัน

รวมทั้งต้นทุนการผลิตทุเรียนไทยก็สูงกว่าเวียดนาม 2 เท่า ปี 2566 ต้นทุนเวียดนามอยู่ที่ 15 บาท/กก เพิ่มขึ้นเป็น 19 บาท/กก.ในปี 2567 ระหว่างปี 2565 -2567 ล้งจีนเพิ่มขึ้น 665 ราย ในขณะที่ล้งไทยปิดตัวจาก 25 ราย เหลือ 10 ราย และในอนาคตคาดว่า ล้งไทยจะปิดตัวเพิ่มขึ้น เหลือไม่ เกิน 5 ราย

ดังนั้นวาระแห่งชาติ เร่งด่วนที่สุดของรัฐบาลคือ ต้องเร่งแก้ปัญหาภัยแล้งให้กับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อ รายได้ของเกษตรกร และราคาสินค้าที่แพงขึ้น รวมทั้งเน้นการผลิตแบบคุณภาพ เพราะอีก 3 ปีข้างหน้า ทุเรียนเวียดนามจะผลิตได้คุณภาพใกล้เคียงกับทุเรียนไทย

อย่างไรก็ตาม ปี 2567 พบว่ามีการใช้จ่ายเงินที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทุเรียนไทยราว 9.8 แสนล้าน เพิ่มขึ้นจากปี 66 เท่ากับ 1.4 แสนล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 16.2% เมื่อเทียบกับปี 66 โดยภาคตะวันออกมีเงินสะพัดมากที่สุด รองลงมาคือภาคใต้ และภาคเหนือ ตามลำดับ ธุรกิจที่มีเงินสะพัดมากที่สุดคือ ธุรกิจล้ง จำนวน 280 แสนล้านบาท


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top