Monday, 6 May 2024
ทุเรียนไทย

‘Ana Nuria คนรักทุเรียน’ ร้านเด็ดเมืองนราฯ ตรงปก ไม่จกตา!! คัดเนื้อพิเศษ เกรดพรีเมียม การันตีคุณภาพ เปิดขายมากว่า 40 ปี

(29 ส.ค. 66) ใครที่ไปเที่ยวจังหวัดนราธิวาส แล้วยังมองหาร้านทุเรียนในจังหวัดนราธิวาสยังไม่เจอ มาทางนี้ เราจะพาไปกินทุเรียนอร่อยๆ แบบเน้นๆ แบบเนื้อๆ ที่เลือกทานได้และไม่ต้องไปหาไกลหรือสั่งทางไลน์จากต่างจังหวัด ซึ่งเมื่อเวลาสั่งเรายังไม่รู้เลยว่าจะตรงปกหรือเปล่า

ขอแนะนำร้านนี้เลย ‘ร้าน Ana Nuria คนรักทุเรียน’ เป็นร้านที่เปิดขายที่สืบทอดมาจากพ่อแม่กว่า 35 ปี น้องเรียนจบปริญญาก็รับช่วงต่อ เพราะเป็นความผูกพันช่วยพ่อแม่ขายตั้งแต่เด็กๆ และช่วยเหลือครอบครัวเพราะน้องเขามีพี่น้องร่วม 10 คน และอาชีพนี้ก็เป็นอาชีพหลักของครอบครัว หลังจากที่พ่อเสียไปจึงฝากให้คนในครอบครัวได้สืบทอดการขายต่อ จึงการันตีได้ว่า ร้านนี้เป็นร้านคนที่รู้จักความอร่อยเรื่องทุเรียนได้จริงๆ

‘นูรียา เจะสนิ’ เจ้าของร้าน ‘Ana Nuria คนรักทุเรียน’ ถ่ายทอดไอเดียว่า…

“เริ่มแรกจากการขายทุเรียนจากพ่อกับแม่ก่อนและก็มาสู่รุ่นลูก คือตั้งแต่พ่อกับแม่แต่งงานมาประมาณ 30 กว่าปีมาแล้ว พ่อกับแม่เป็นพ่อค้า แม่ค้า ขายผลไม้โดยทั่วไปและทุเรียนด้วย เฉพาะในฤดูกาล และก็ตอนนี้จะเป็นรุ่นหนูจะเปิดประมาณ 7-8 ปี ตั้งแต่ปี 2559 จนตอนนี้เป็น ปี 2566 ของเราจะขายตลอดทั้งปี ตั้งแต่ทุเรียน จันทบุรี ชุมพร ยะลาและก็มานราธิวาสด้วย ขายทุเรียนทุกสายพันธุ์ หมอนทอง ชะนี พวงมณี ก้านยาว และมูซังคิง จากอำเภอเบตง จะมีแบบขายเป็นลูก และแบบแกะเนื้อและก็จะมีแบบเสริม ข้าวเหนียวทุเรียนแต่ก่อนจะเป็นข้าวเหนียวทุเรียนแบบธรรมดา แต่ตอนนี้ จะเป็นทุเรียนแบบยัดไส้ และแกะเนื้อ ถ้าใครที่ผ่านมา อยากกินทุเรียนอร่อยๆ คัดเกรด เราคัดเนื้อพิเศษๆ อร่อยสวยทุกลูก”

พิกัดร้านสาขา 2 เยื้องโรงพยาบาลราษฎ์บำรุงนราธิวาส ทางไปตันหยงมัส และสาขา 1 อยู่เต๊นซ้ายมือฝั่งเดียวกันกับแขวงการทางหลวงนราธิวาส โทร. 085-8726172 เฟซบุ๊ก ‘Ana Nuria คนรักทุเรียน’ เปิดร้านเวลา 10.00-22.00 น. ขายทุกวัน สำหรับคนในพื้นที่เทศบาลเมืองนราธิวาส เรามีบริการสั่งทางเพจ บริการส่งถึงที่

‘ปชป.’ จี้สภาฯ ตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาทุเรียนไทยทั้งระบบ ออกกฎหมายควบคุมคุณภาพให้มีมาตรฐานและยั่งยืน

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 66 ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และคณะ ร่วมกันแถลงข่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้ยื่นญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาในญัตติเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาการส่งเสริม พัฒนา แก้ไขปัญหาทุเรียนอย่างยั่งยืนทั้งระบบ และยกร่างกฎหมายว่าด้วยทุเรียน โดยมี สส.จากทุกพรรคการเมืองร่วมลงนามเสนอญัตติดังกล่าว จำนวน 20 คน

ด้วยปัจจุบันประเทศไทยส่งออกทุเรียนนำรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งในปี 2565 มูลค่าส่งออกจำนวน 125,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5 เท่า เมื่อเทียบกับระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จัดเป็นพืชผลการเกษตรที่ส่งออกทำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับสาม รองจากยางพารา และมันสำปะหลัง ทำให้เกษตรกรทั้งภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคอื่น ๆ รวม 43 จังหวัด ขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนอย่างรวดเร็ว 

ในปี 2566 มีพื้นที่ปลูกทุเรียนกว่า 1,340,000 ไร่ มีทั้งที่ปลูกโดยเกษตรกรรายย่อย และที่ปลูกโดยนักลงทุนเป็นเกษตรอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ การขยายพื้นที่ปลูกทุเรียน ทำให้ต้องใช้ที่ดิน แหล่งน้ำ พลังงานจากน้ำมันและไฟฟ้าเพื่อการเกษตร แรงงานภาคเกษตร การขนส่งผลผลิตทุเรียน อุตสาหกรรมแปรรูปทุเรียน ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช รวมทั้งปัจจัยการผลิตอื่น ๆ ในปริมาณที่สูงขึ้น 

หากไม่มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบครบวงจร ถ้าผลผลิตทุเรียนล้นตลาด และคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ราคาอาจจะตกต่ำ หากใช้สารเคมีไม่ถูกต้อง อาจจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ปัจจุบันภาครัฐมีข้อจำกัดในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมคุณภาพทุเรียน จึงใช้การขอความร่วมมือ การออกระเบียบหรือคำสั่งในระดับจังหวัด โดยอิงมาตรฐานทางวิชาการ ยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับทุเรียนระดับ พ.ร.บ. มาบังคับใช้โดยเฉพาะ ต้องอาศัยกฎหมายทั่วไป เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 271 และกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคมาตรา 47 ทำให้มีข้อจำกัดในการลงโทษผู้นำทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด หากมีกฎหมายเกี่ยวกับทุเรียนเป็นการเฉพาะ จะทำให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐสามารถบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมคุณภาพทุเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และภาครัฐไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับทุเรียนโดยเฉพาะมาบังคับใช้เพื่อการส่งเสริม การพัฒนา การแก้ปัญหาทุเรียนอย่างยั่งยืน ทั้งระบบ ครบวงจรเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 

เนื่องจากเป็นอาชีพที่ทำรายได้ให้ประเทศเป็นอันดับต้น ๆ และประเทศไทยมีจุดแข็งหลายอย่าง เหนือประเทศคู่แข่ง แต่ปัจจุบันจึงยังไม่มีกองทุนทุเรียนไทยที่สามารถหักเงินจากการส่งออกทุเรียนเข้ากองทุน เหมือนยางพาราที่มีกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียน มีเงินทุนมาศึกษาวิจัย พัฒนา เกี่ยวกับทุเรียนให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 นี้ จะให้การสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน ให้มีความมั่นคงต่อไป 

‘นายกสมาพันธ์ฯ’ เตือน!! ‘ชาวสวน’ อย่านิ่งนอนใจ ชี้ ควรเร่งปรับตัว หลัง ‘เวียดนาม’ จี้ติด!! ส่ง 'ทุเรียน' ไปจีน เกือบครึ่งหนึ่งของไทยแล้ว

(9 ม.ค. 67) นายชลธี นุ่มหนู นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลการสำรวจราคาค้าส่งทุเรียนไทยและทุเรียนเวียดนาม ที่ตลาดเจียซิง มณฑลเจ้อเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 1-31ธ.ค.2566 โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ว่า ราคาทุเรียนหมอนทองของไทย เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2566 ที่ผ่านมาอยู่ประมาณ 1,000-1,200 หยวนต่อกล่องบรรจุ 6 ลูก 

ส่วนราคาทุเรียนหมอนทองของประเทศเวียดนาม 1 กล่อง 6 ลูกอยู่ที่ 900-1,000 หยวน (1 หยวนประมาณ 5 บาท) ขณะที่ทุเรียนก้านยาวเวียดนาม 1 กล่อง 3 ลูก ราคา 400 หยวน

และเมื่อเปรียบเทียบปริมาณการส่งออกทุเรียนไปตลาดเจียซิง มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา พบว่า จำนวนการส่งออกทุเรียนไปตลาดดังกล่าวที่มีประมาณ 49 ตู้ต่อครั้ง เป็นทุเรียนไทยจำนวน 27 ตู้ ส่วนทุเรียนเวียดนาม จำนวน 22 ตู้

ส่วนการเปรียบเทียบการส่งออกทุเรียนจากไทยไปตลาดดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.66 ที่ผ่านมา พบว่าราคาส่งออกทุเรียนหมอนทองไทย 1 กล่อง กล่องละ 6 ลูก ลดลงเหลือเพียง 950-1,100 หยวน เช่นเดียวกับทุเรียนหมอนทองเวียดนาม 1 กล่องละ 6 ลูก ราคา 500-520 หยวน ส่วนก้านยาวเวียดนาม 1 กล่อง 3 ลูก ราคา 380-400 หยวน

โดยปริมาณการส่งทุเรียนไปตลาดเจียซิง มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน ในวันดังกล่าวที่มีจำนวนรวม 39 ตู้ เป็นทุเรียนไทยจำนวน 25 ตู้ ส่วนทุเรียนเวียดนาม 14 ตู้

นายชลธี เผยว่า หากพิจารณาข้อมูลการส่งออกทุเรียนของเวียดนามไปตลาดจีน จะเห็นว่าสัดส่วนการส่งออกเติบโตเกือบถึงครึ่งหนึ่งของการส่งออกทุเรียนไทยไปจีนแล้ว จึงแสดงให้เห็นว่า เวียดนามมีการพัฒนาคุณภาพทุเรียนส่งออกที่ได้มาตรฐานมากขึ้น

ขณะที่ภาครัฐของเวียดนามเอาใจใส่กับผลผลิตทางการเกษตร และยังเร่งส่งเสริมให้ความรู้กับเกษตรกร สอดรับกับข้อได้เปรียบของเวียดนามที่มีชายแดนติดกับประเทศจีน จึงทำให้เกษตรกรสามารถตัดทุเรียนคุณภาพ (แก่) เพื่อส่งออกได้ทันที

“สิ่งที่เกษตรกรไทยต้องเร่งปรับตัว คือ ทำทุเรียนคุณภาพตั้งแต่ขั้นตอนการตัด คัด ส่งออก ซึ่งในทุกขั้นตอนต้องสัมพันธ์กันทั้งหมด และหากเกษตรกรยังไม่คำนึงถึงคุณภาพทุเรียนส่งออก สุดท้ายจะทำให้ตลาดปลายทางเสียหาย และผลกระทบจะย้อนกลับมาที่ตัวเกษตรกรเอง”

นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก อดีตมือปราบทุเรียนอ่อน ยังบอกอีกว่าที่ผ่านมาได้มีความพยายามในการรณรงค์ให้เกษตรกรทำทุเรียนคุณภาพ และไม่ตัดทุเรียนก่อนกำหนดอย่างต่อเนื่อง

เพราะหากต้นฤดูมีทุเรียนไม่ได้คุณภาพออกสู่ตลาด จะทำให้ทุเรียนทั้งภาคตะวันออก และทั่วประเทศ ตลอดไปจนถึงหน้าทุเรียนในพื้นที่ภาคใต้มีคำสั่งซื้อน้อยลง

ส่วนการจัดทำโครงการหมู่บ้านปลอดทุเรียนอ่อน นำร่องในพื้นที่ จ.ตราด เป็นพื้นที่แรกนั้น นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยภาคตะวันออก บอกว่า เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ชาวสวนทุเรียนไทยต้องหันมามองเรื่องการสร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นที่ยอมรับของตลาด และกระบวนการผลิตจะต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงที่มาของแหล่งผลิตนั้น

“วันนี้ยังคงยืนยันได้ว่าทุเรียนไทยยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดมาก ซึ่งหากเกษตรกรสามารถทำผลผลิตได้ตามคุณภาพตามที่ตลาดปลายทางต้องการจะทำให้ตลาดทุเรียนไทยเติบโตแบบยั่งยืน ขณะเดียวกัน ภาครัฐของไทยต้องเข้มงวดในเรื่องกระบวนการตรวจสอบคุณภาพก่อนส่งออกไปต่างประเทศด้วยเช่นกัน” นายชลธี กล่าว

‘สื่อฮ่องกง’ ชี้ ‘ทุเรียนไทย’ กำลังเสียแชมป์เจ้าตลาดในแดนมังกร หลัง ‘เวียดนาม-ฟิลิปปินส์’ แข่งส่งออก ซ้ำ!! ‘จีน’ หันมาผลิตเอง

เมื่อวานนี้ (21 ม.ค. 67) หนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์รายงานว่า ภายในแค่ 3 ปี จีนประสบความสำเร็จสามารถปลูกทุเรียนได้เองเพิ่มกำลังการผลิตจาก 50 ตัน มาอยู่ที่ 500 ตัน ภายในปีหน้า

"การบริโภคทุเรียนภายในประเทศคาดจะสามารถเพิ่มการผลิต 250 ตันปีนี้ แต่ภายในปีหน้าจะสามารถมีกำลังการผลิตมหาศาลโดยกำลังการผลิตสามารถแตะ 500 ตัน” เฟง ซูจี (Feng Xuejie) ผู้อำนวยการสถาบันผลไม้เขตอากาศร้อนชื้น (Institute of Tropical Fruit Trees) ประจำสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรไห่หนาน (Hainan Academy of Agricultural Sciences)

ปีที่ผ่านมา มณฑลไห่หนานประสบความสำเร็จสามารถผลิตทุเรียนได้ถึง 50 ตัน ซึ่งเฟงมองว่ายังไม่เพียงพอต่อความต้องการทุเรียนอย่างสูงของผู้บริโภคชาวจีน

“สำหรับราคาและรสชาติของทุเรียนภายในประเทศในอนาคตนั้นขอให้เฝ้ารอ” เฟง กล่าวเสริม

ซึ่งกลายเป็นที่ฮือฮาไปทั่วเมื่อ ‘ปักกิ่ง’ ปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จสามารถออกผลผลิตทุเรียนปลูกเองภายในประเทศที่มณฑลไห่หนานได้

หนังสือพิมพ์ฮ่องกงรายงานว่า ผู้บริโภคทุเรียนในจีนมองทุเรียนโดยเฉพาะคนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อต่างมองผลไม้เปลือกแข็งหนามแหลมและมีรสชาติที่หอมหวานไม่เหมือนใครว่าเป็นเสมือนรางวัล ซึ่งทุเรียนนั้นขึ้นชื่อว่าเป็น ‘ราชาผลไม้’

หนังสือพิมพ์ฮ่องกงชี้ต่อว่า การนำเข้าทุเรียนปีที่แล้วสูงลิ่ว แต่ทว่าปักกิ่งซึ่งเป็นผู้ซื้อรายใหญ่เริ่มกระจายการซื้อทุเรียนไปยังหลายแหล่งเพื่อให้ตรงตามความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคชาวจีนภายในประเทศ ซึ่งจากแต่เดิมเคยนำเข้าทุเรียนจาก ‘ไทย’ เพียงเจ้าเดียว โดยปักกิ่งได้นำเข้าทุเรียนจาก ‘เวียดนาม’ และ ‘ฟิลิปปินส์’ ส่งผลทำให้ไทยกำลังสูญเสียความเป็นเจ้าตลาดทุเรียนในจีนไปอย่างช่วยไม่ได้

อ้างอิงข้อมูลจากตัวเลขทางการของสำนักงานศุลกากรจีนพบว่า จีนนำเข้าทุเรียนทั้งหมด 1.4 ล้านตันภายใน 12 เดือนแรกของปี 2023 สูง 69% จากปีก่อนหน้า

ขณะที่ไทยซึ่งอดีตเคยเป็นเจ้าการตลาดการส่งออกทุเรียนไปจีน มียอดการส่งออกตกจากเกือบ 100% ในปี 2021 มาอยู่ที่ 95.36 ในปี 2022 และเหลือแค่ 67.98% มาจนถึงเดือนธันวาคมปี 2023

อ้างอิงข้อมูลวันที่ 11 เม.ย ปี 2566 จากกรมการส่งออก การผลิตทุเรียนไทยต่อปีที่ 1,480,000 ตัน และสายพันธุ์ที่ปลูกและส่งออกคือ ชะนีหมอนทอง ก้านยาว กระดุมพวงมณี

กรมการส่งออกพบว่า ‘ทุเรียนฟิลิปปินส์’ ที่ส่งออกไปจีนเป็นพันธุ์ปูยัต (Puyat) มีลักษณะเนื้อสีทอง กลิ่นหอมแรงและรสชาติเข้มข้น

สมาคมอุตสาหกรรมทุเรียนดาเวา (DIADC) ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน มณฑล/เขต ที่ปลูกทุเรียนของฟิลิปปินส์มีจำนวน 47 แห่ง พื้นที่ปลูกทุเรียนรวมประมาณ 160 ตารางกิโลเมตร ผลผลิต 100,000 ตันต่อปี สายพันธุ์ทุเรียนที่สามารถปลูกได้ในฟิลิปปินส์คือ ชะนี, หมอนทอง, alcon fancy, arancillo และ puyat

ส่วน ‘ทุเรียนเวียดนาม’ ที่ส่งเข้าไปตีตลาดจีนและแซงหน้าไทยได้นั้นเป็น ‘พันธุ์หมอนทอง’ (Ri6 หมอนทอง 6) จากจ.ดักลัก ซึ่งก็เป็นสายพันธุ์เดียวกันกับทุเรียนไทยที่ส่งออกมายังตลาดจีน

ตามรายงานของกรมการส่งออกระบุว่า จุดแข็งของทุเรียนเวียดนามคือ ระยะทางที่สั้นและเวลาการขนส่งน้อยแค่ 2 ชม. ถึงด่านจีน ทำให้ทุเรียนเวียดนามยังคงรักษาคุณภาพได้เป็นอย่างดี

เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์รายงานว่า บรรดาผู้ส่งออกทุเรียนเวียดนามไปจีนนั้นเริ่มตั้งแต่เกือบ 0% ไปอยู่ที่ 4.63% ที่ 188.1 ล้านดอลลาร์ในปี 2022, และเพิ่มไปอยู่ที่ 31.82 % ใน 11 เดือนแรกของปี 2023 มีมูลค่าอยู่ที่ 2.1 พันล้านดอลลาร์ เบียดการส่งออกทุเรียนจากไทย

ขณะที่บรรดาผู้ส่งออกทุเรียนในมาเลเซียต่างพยายามผลักดันข้อตกลงในปีนี้เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีของความสัมพันธ์จีน-มาเลเซีย ไซมอน ชิน (Simon Chin) ผู้ก่อตั้งบริษัทส่งออก DKing กล่าว

ปัจจุบันมาเลเซียได้รับอนุญาตให้ส่งออกทุเรียนแช่แข็งไปจีนเท่านั้น

ชินแสดงความเห็นกับสื่อฮ่องกงว่า “ปัจจุบันพวกเรากำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับจีนเพื่อหาลู่ทางการส่งออกผลไม้สด เช่นเดียวกับที่ไทยและเหมือนเช่นที่ฝ่ายไทยทำ”

อย่างไรก็ตามในแง่รายได้ การส่งออกทุเรียนไทยมาจีนนั้นยังคงเพิ่มในปีที่ผ่านมาเนื่องมาจากความต้องการสูงของตลาดผู้บริโภคจีนในเมืองระดับการที่เริ่มจะมีมากขึ้น แซม ซิน (Sam Sin) ผู้อำนวยการพัฒนาประจำ S&F Produce Group ที่มีฐานอยู่ในฮ่องกงชี้

ทุเรียนไทย VS ทุเรียนมาเลเซีย ตัดสินโดย ติ๊กต็อกสาวชาวเกาหลี

(6 ก.พ.67) ทุเรียนถือได้ว่าเป็นราชาแห่งผลไม้ และก็มีถิ่นกำเนิดอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทุเรียนก็มีอยู่หลากหลายพันธุ์ทั่วทั้งภูมิภาค แต่ตอนนี้ทุเรียนที่กำลังเป็นที่ต้องการ และโด่งดังมากที่สุด คือ ‘ทุเรียนมูซานคิง’ ของมาเลเซีย

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแค่มาเลเซียเท่านั้น หากแต่ทุเรียนก็ยังถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยด้วย ส่วนจะมีรสชาติที่ดีและถูกปากใครมากน้อยแค่ไหน อันนี้ก็แล้วแต่รสนิยม...

เพียงแต่ไม่นานมานี้ ก็มีคนมาลองตัดสินรสชาติของทุเรียนทั้ง 2 ประเทศให้แล้ว โดยติ๊กต็อกเกอร์สาวชาวเกาหลี ที่ใช้ชื่อว่า ‘Tara Choi’ ซึ่งอาศัยอยู่ในมาเลเซีย ได้ถ่ายคลิปการลองชิมทุเรียนไทยระหว่างที่ได้มาเที่ยวกรุงเทพฯ โดยเธอได้แชร์คลิปวีดีโอดังกล่าว และได้เปรียบเทียบระหว่างทุเรียนที่ซื้อในตลาดที่กรุงเทพฯ กับทุเรียนมาเลเซียที่เธอเคยกินมาหลายครั้งแล้ว 

ทั้งนี้ หลังจากที่ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอดังกล่าวก็กลายเป็นกระแสไวรัลขึ้นมาทันที โดยมียอดคนดูมากกว่า 708,800 ครั้ง และยอดไลก์ 36,200 ครั้ง ในเวลาเพียงแค่ 2 วัน ซึ่งภายในคลิปวิดีโอดังกล่าว สาว Tara กำลังยืนเลือกทุเรียนอยู่ และสุดท้ายเธอก็ได้ทุเรียนหมอนทองกลับมา แต่เธอถึงกับผงะทันทีเมื่อเห็นพนักงานที่ร้าน ได้ทำการตัดทุเรียนด้วยวิธีแปลกๆ

อย่างไรก็ตาม เธอก็ได้ซื้อมันกลับมายังห้องพักที่โรงแรมในกรุงเทพฯ เพื่อลองเอามากินดู เธอสังเกตเห็นว่าทุเรียนมีกลิ่นอ่อนกว่าและก็แห้งกว่าที่มาเลเซียเป็นอย่างมาก เธอยังอ้างอีกว่า "คนมาเลเซียหลายคนเคยบอกกับเธอว่า ทุเรียนไทยไม่อร่อยเลย" และหลังจากที่เธอได้ลองกัดไปคำหนึ่ง เธอก็ถึงกับพยักหน้า และบอกด้วยว่า “ตอนนี้ฉันเข้าใจในสิ่งที่ชาวมาเลเซียพูดเกี่ยวกับทุเรียนไทยแล้ว” และบอกอีกว่า “ทุเรียนไทยไม่อร่อย กลิ่นสี อ่อนกว่า อาจจะผลใหญ่กว่าแต่รสชาติสู้ของมาเลเซียไม่ได้” ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้ใจชาวเน็ตมาเลเซียไปเต็มๆ พร้อมทั้งมีสื่อมาเลเซียให้การแพร่สะพัดข่าวนี้จนเป็นเรื่องใหญ่

ทั้งนี้หากสำรวจถึงความเห็นชาวเน็ตมาเลเซียจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันในการชื่นชมทุเรียนมาเลเซียเป็นทิศทางเดียวกัน อาทิ…

“ทุเรียน ‘มูซานคิง’ ของมาเลเซีย คือทุเรียนดีที่สุด” 
“ทุเรียนไทยชอบเคลมว่าตัวเองดีที่สุด” 
“อย่าเสียเวลาไปลองชิมทุเรียนไทย มันไม่อร่อยหรอก” 
“ทุเรียนมาเลเซีย คือ ที่สุดแล้ว” 
“ทุเรียนของไทยชนะแค่ขนาดเท่านั้น” 
“ยอมรับว่าชอบทุกอย่างที่เกี่ยวกับประเทศไทยเลย แต่กับทุเรียนขอยกให้มาเลเซีย”
“คนไทยชอบตัดทุเรียนตั้งแต่ยังไม่สุก แล้วมันจะไปอร่อยได้อย่างไร”
“ถึงทุเรียนไทยจะสู้ไม่ได้ แต่อื่นๆ ในประเทศนี้ทั้งการท่องเที่ยว อาหาร วัฒนธรรมคือที่สุด”
“หากใครที่คุ้นเคยกับทุเรียนแบบมาเลเซีย ก็คงไม่แปลกที่จะไม่ชอบแบบของไทย”
“ส่วนตัวแล้วทุเรียนไทย ไม่อร่อยจริงๆ แถมยังแพงด้วย”

เหล่านี้ก็คือเสียงสะท้อนของชาวเน็ตจากฝั่งมาเลเซีย ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่ว่ากัน เพราะถือเป็นรสนิยมในเรื่องของรสชาติที่ขอไม่ก้าวก่ายกัน…

‘ศูนย์วิจัยกสิกร’ เผย 3 ปัจจัยทุเรียนไทยครองใจคนจีน คาด!! ปี 2567 สดใส ส่งออกทุเรียนไปจีน โต +10%

(19 ก.พ. 67) ศูนย์วิจัยกสิกร เปิดเผยว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา ทุเรียนไทยกลายเป็นดาวเด่นบนเวทีการส่งออกสินค้าไทยไปจีน โดยมีบทบาทสำคัญต่อภาพรวมการส่งออกสินค้าไทยทั้งหมด คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 18.2% ท่ามกลางสถานการณ์การส่งออกสินค้าไทยโดยรวมที่หดตัวเล็กน้อย -0.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า หากมองเฉพาะกลุ่มสินค้าอื่น ๆ ที่ไม่รวมผลไม้ สถิติการส่งออกไปจีนจะหดตัวลงถึง -5.3%

ขณะที่ทุเรียนสดถือเป็นผลไม้ที่มีสัดส่วนการส่งออกสูงสุด โดยมีสัดส่วนการส่งออก เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยหลักมาจาก

1.ความต้องการบริโภคทุเรียนในตลาดจีนมีมากขึ้นตามความนิยม
2.ปริมาณผลผลิตทุเรียนในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามพื้นที่เพาะปลูก
3.ปัจจัยสนับสนุนอื่น ๆ ได้แก่ การขยายช่องทางการขาย อาทิ ช่องทางออนไลน์ และการเพิ่มช่องทางขนส่งทางรางผ่านรถไฟความเร็วสูงจีน-สปป.ลาว ช่วยลดระยะเวลาและเพิ่มความสะดวกในการขนส่งได้มากขึ้น ซึ่งในปี 2566 เริ่มมีการส่งทุเรียนผ่านเส้นทางนี้มากขึ้น โดยคิดเป็น 5.7% ของการส่งออกทุเรียนทั้งหมดไปจีน

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ในปี 2567 การส่งออกทุเรียนสดไทยไปจีนมีแนวโน้มแตะ 4,500 ล้านดอลลาร์ เติบโต +12% เมื่อเทียบกับปี 2566 ซึ่งการเติบโตจะชะลอลงจากปีก่อนหน้า ซึ่งคาดว่าปริมาณการส่งออกจะเพิ่มขึ้น +10% เมื่อเทียบกับปี 2566 แต่การเติบโตจะชะลอลงเนื่องจากผลผลิตบางพื้นที่อาจได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวน

ในส่วนของราคาส่งออกคาดว่าจะขยับขึ้นเล็กน้อย +2% เมื่อเทียบกับปี 2566 แม้ความต้องการทุเรียนไทยในจีนจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ทุเรียนจากคู่แข่งก็มีจำนวนมากขึ้นเช่นกัน

‘ทุเรียนเวียดนาม’ มาแรง!! คว้าส่วนแบ่ง 31.8% ‘ตลาดจีน’ เตรียมพุ่งสูง เป้าหมาย หลังรองจาก ‘ไทย’ 68% เท่านั้น

(4 เม.ย.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทของเวียดนาม รายงานว่า ทุเรียนเวียดนามครองส่วนแบ่งตลาดในจีนสูงถึงร้อยละ 31.8 ซึ่งเป็นรองจากทุเรียนไทย ร้อยละ 68 เท่านั้น

โดย กระทรวงฯ ระบุว่า ทุเรียนเวียดนามสามารถเพิ่มส่วนแบ่งดังกล่าวจนแซงหน้าทุเรียนไทยและครองตลาดจีน หากเวียดนามพยายามใช้โอกาสและข้อได้เปรียบให้ดี รวมถึงจัดเตรียมการผลิตอย่างมืออาชีพ

ปัจจุบันเวียดนามมีสวนทุเรียน 708 แห่ง และโรงงานบรรจุหีบห่อทุเรียน 168 แห่ง ซึ่งดำเนินการส่งออกทุเรียนสู่ตลาดจีนภายใต้การอนุมัติจากสำนักบริหารศุลกากรทั่วไปของจีน

ทั้งนี้ สวนทุเรียนทั้งหมดของเวียดนามครอบคลุมพื้นที่ 112,000 เฮกตาร์ (ราว 7 แสนไร่) และสร้างผลผลิตรายปีสูงถึง 863,000 ตัน

เวียดนามส่งออกทุเรียนสู่จีนเป็นหลัก โดยปริมาณการส่งออกสู่จีนในปี 2023 สูงถึง 595,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 98.6 ของการส่งออกทุเรียนทั้งหมด

‘ผู้บริโภคจีน’ เปิดหลากปัจจัยทำไม 'ทุเรียนไทย' ครองใจในตลาดจีน เหตุ ‘คุณภาพเยี่ยม-ห่วงโซ่อุปทานได้เปรียบ-ความสัมพันธ์ฉันท์มิตรสองประเทศ’

เมื่อไม่นานมานี้ สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ยามฤดูเก็บเกี่ยวและจำหน่าย ‘ราชาแห่งผลไม้’ อย่างทุเรียนเวียนมาถึง ทุเรียนจากกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะทยอยเข้าสู่ตลาดจีนอย่างต่อเนื่อง โดยรสชาติที่อร่อยและกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ทุเรียนเป็นที่รู้จักและชื่นชอบของผู้บริโภคชาวจีนเพิ่มขึ้น กลายเป็นหนึ่งในผลไม้ตัวเลือกของหลายครอบครัวชาวจีน

‘ไทย’ ถือเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตและส่งออกทุเรียนแห่งสำคัญของโลก แต่ละปีส่งออกทุเรียนสู่จีนเป็นปริมาณมาก โดยปริมาณการส่งออกทุเรียนของไทยสู่จีนในปี 2023 เพิ่มขึ้นร้อยละ 81.7 เมื่อเทียบปีต่อปี และทุเรียนที่ส่งออกสู่จีนคิดเป็นร้อยละ 70 ของการส่งออกทุเรียนทั้งหมดของไทย ขณะความนิยมทุเรียนในจีนเพิ่มขึ้นไม่หยุดและความต้องการของตลาดยังคงแข็งแกร่งในปี 2024

"ทุเรียนไทยอร่อยและมีกลิ่นหอมมาก แต่ละปีครอบครัวต้องซื้อทุเรียนหมอนทองของไทยมารับประทานกัน โดยตอนนี้นอกจากทุเรียนไทยแล้วยังมีทุเรียนเวียดนามให้เลือกซื้อ นี่เป็นเหมือนโบนัสของคนรักทุเรียน" หวังอวิ๋นเจวียน ผู้บริโภคในนครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีนกล่าว

ยามเดินเข้าตลาดค้าส่งผลไม้ไห่จี๋ซิงในนครหนานหนิงจะพบพ่อค้าแม่ค้ามากมายที่จำหน่าย ‘ทุเรียนไทย’ โดยกวนฉ่ายเสีย ผู้ดูแลร้านผลไม้แห่งหนึ่ง บอกว่าทุเรียนหมอนทองของไทยมักวางตลาดช่วงปลายเดือนเมษายนหรือต้นเดือนพฤษภาคม และเป็นทุเรียนที่มีฐาน ‘แฟนคลับ’ ในจีน ถึงขั้นที่ผู้บริโภคบางส่วนมาสั่งจองล่วงหน้ากันแล้ว

ด้านคนวงในอุตสาหกรรมวิเคราะห์ว่า ผู้บริโภคชาวจีนสนใจวัฒนธรรมและสินค้าพื้นเมืองของไทย ด้วยอานิสงส์จากการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการค้าระหว่างจีนและไทยที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทำให้ยอดจำหน่ายทุเรียนไทยในตลาดจีนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะเดียวกันตลาดจีนมีทุเรียนเวียดนามเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยจุดเด่นด้านราคา คุณภาพ และการขนส่ง
ด้วยเหตุนี้ คนวงในอุตสาหกรรมมองว่าทุเรียนไทยอาจเผชิญการแข่งขันในอนาคต แม้ความต้องการทุเรียนไทยในตลาดจีนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง

หูเชา อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี เผยว่า หลายปีที่ผ่านมา จีนนำเข้าทุเรียนจากไทยเป็นสัดส่วนสูงสุด แต่เวียดนามกำลังชิงส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยทุเรียนไทยและทุเรียนเวียดนามต่างแข่งขันและเกื้อกูลกัน ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกชนิดพันธุ์และราคาเพิ่มขึ้น ส่วนสายพันธุ์ที่ต่างกันของสองประเทศได้แก้ปัญหาขาดแคลนสินค้าเมื่อสิ้นฤดู 

การเข้าสู่ตลาดของทุเรียนไทยและทุเรียนเวียดนามในเวลาที่แตกต่างกันไป  ช่วยให้ผู้บริโภคจีนสามารถซื้อทุเรียนสดได้ในระยะเวลาที่ยาวนานมากขึ้น ขณะความชอบทุเรียนสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนกันอาจทำให้ทุเรียนบางสายพันธุ์ขาดตลาดในระยะสั้น ซึ่งจุดนี้ทุเรียนอีกสายพันธุ์จะเข้ามาทดแทนเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด โดย หูเชา ชี้ว่าตราบเท่าที่คุณภาพดี ราคาดี และรสชาติดี ย่อมเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคชาวจีน

ปัจจุบันการพัฒนาอันรวดเร็วของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและระบบโลจิสติกส์ได้สนับสนุนความนิยมทุเรียนในตลาดจีนอย่างมาก ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อทุเรียนจากกลุ่มประเทศอาเซียนผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่างสะดวกสบาย โดยเผิงเสวี่ยเยี่ยน ผู้จัดการบริษัทจำหน่ายสินค้าต่างประเทศแห่งหนึ่ง เผยว่า ทุเรียนเป็นของขวัญชั้นดีและเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคชาวจีนเสมอ
บริษัทของเผิงได้ติดต่อสื่อสารและร่วมมือกับผู้ประกอบการไทยอย่างแข็งขัน เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ทุเรียนที่มีคุณภาพสูงเข้าสู่ตลาดจีนเพิ่มขึ้น โดยการพัฒนาและยกระดับทางเทคโนโลยีโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทุเรียนไทยสามารถรักษาความสดใหม่ได้ดีขึ้นระหว่างการขนส่ง ซึ่งช่วยรับประกันคุณภาพและรสชาติ

หลิวหมินคุน รองคณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกว่างซี เสริมว่า ความนิยมทุเรียนไทยในตลาดจีนเป็นผลจากหลายปัจจัย ทั้งคุณภาพยอดเยี่ยม ข้อได้เปรียบด้านห่วงโซ่อุปทาน ความสัมพันธ์ฉันท์มิตรระหว่างสองประเทศ และการพัฒนาอันรวดเร็วของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและระบบโลจิสติกส์

ช่วงไม่กี่ปีมานี้ การค้าจีน-อาเซียนเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องด้วยโอกาสที่เกิดจากระเบียงการค้าทางบก-ทางทะเลระหว่างประเทศใหม่และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) กอปรกับระบบโลจิสติกส์ข้ามพรมแดนที่พัฒนาดีขึ้น ช่องทางการขนส่งทุเรียนอาเซียนสู่ตลาดจีนจึงมีประสิทธิภาพและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

ทัพ ‘ทุเรียนไทย’ เร่งบุก ‘ตลาดจีน’ ผ่านร้านค้า-ซูเปอร์มาร์เก็ต คาด!! ยอดจำหน่ายแตะระดับสูงสุดภายในเดือนพฤษภาคม

(24 เม.ย. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า คำบอกเล่าจาก หวงหรงเซิง ชาวเมืองชินโจว เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน ผู้สั่งซื้อทุเรียนทางออนไลน์เป็นครั้งที่ 3 ในฤดูทุเรียนปีนี้ ได้ระบุว่า “กดเปิดแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนแล้วเลือกทุเรียนพันธุ์ที่ถูกใจ รออยู่ที่บ้านไม่เกินหนึ่งชั่วโมงก็ได้ทุเรียนอร่อย ๆ มาแล้ว…ทุเรียนไทยพูสวยและรสชาติหวานมันกลมกล่อม”

พร้อมกล่าวเสริมว่า คนขายบางส่วนให้บริการสั่งทางออนไลน์และจัดส่งถึงที่หรือไปรับที่หน้าร้าน ทั้งยังมีการรับประกันการชดเชยหรือเปลี่ยนสินค้าที่เสียหายเพื่อควบคุมคุณภาพ ทำให้เลือกซื้อได้อย่างสบายอกสบายใจ

ซึ่งบ้านของหวงนั้น อยู่ไม่ไกลจากซูเปอร์มาร์เก็ตโลตัส มาร์เก็ต (Lotus Market) ที่ซึ่งเมื่อไม่นานนี้ได้เปิดบูธวางจำหน่ายทุเรียนหลายพันธุ์นำเข้าจากไทยภายใต้แบรนด์ซีพี เฟรช (CP Fresh) ทั้งพันธุ์หมอนทอง พันธุ์พวงมณี และพันธุ์มูซังคิง โดยกลิ่นหอมเตะจมูกและรูปลักษณ์เตะตาดึงดูดผู้คนเดินเข้าดูและเลือกซื้อ

โดยพนักงานประจำแผนกผลไม้ของซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งนี้เผยว่า ตอนนี้ทุเรียนสดจากไทยทยอยเข้ามาตลาดจีนแล้ว แม้มีปริมาณจำกัดและราคาสูง แต่ยังคงเป็นที่นิยมชมชอบของเหล่าผู้บริโภคเหมือนเดิม โดยทุเรียนหมอนทองได้รับความนิยมมากที่สุด และมักจำหน่ายทางออนไลน์จนหมดตั้งแต่ช่วงเย็น

ทั้งนี้ ทุเรียนในภาคตะวันออกของไทยจะเริ่มถูกเก็บเกี่ยวขนานใหญ่ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน ก่อนทยอยขนส่งสู่ตลาดจีนทางถนน รถไฟ เรือ และเครื่องบินแบบแบ่งล็อตตั้งแต่กลางเดือนเมษายน โดยได้รับอานิสงส์เชิงบวกจากแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)

ไทยถือเป็นผู้ส่งออกทุเรียนสดสู่จีนเจ้าแรกและเจ้าใหญ่ที่สุด โดยความนิยมมาเนิ่นนานและความต้องการที่เพิ่มขึ้นของตลาดจีนช่วยอัดฉีดแรงกระตุ้นความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างสองประเทศ นำพาโอกาสทางธุรกิจมาสู่เกษตรกรและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง

ด้าน โม่เจียหมิง ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทเทคโนโลยีการเกษตรแห่งหนึ่งของกว่างซี กล่าวว่าตั้งแต่เข้าเดือนเมษายน บริษัทของเขานำเข้าทุเรียน 50 ตู้คอนเทนเนอร์แล้ว ตอนแรกมีแค่พันธุ์กระดุมทองก่อนจะเพิ่มพันธุ์หมอนทองเป็นหลัก และมองว่าทุเรียนไทยจะยังคงเป็นที่นิยมของตลาดจีนต่อไปในปีนี้

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โม่เพิ่งเดินทางเยือนจังหวัดจันทบุรีเพื่อสั่งซื้อทุเรียน โดยบริษัทของเขาทำธุรกิจนำเข้าผลไม้ปริมาณมากจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนจนก่อเกิดห่วงโซ่อุปทานทุเรียน มะพร้าว และผลไม้อื่น ๆ ในช่วงหลายปีมานี้ ขณะเดียวกันยังจัดจำหน่ายทุเรียนไทยผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและซูเปอร์มาร์เก็ต นอกเหนือจากการขายส่ง

ยอดจำหน่ายทุเรียนที่เฟื่องฟูช่วยเพิ่มความมั่นใจของผู้ประกอบการในการวางแผนจัดจำหน่ายในปี 2024 ดังเช่นไล่ผิงเซิง ประธานบริษัทผลิตภัณฑ์อาหารและการเกษตรในกว่างซี สังกัดซีพี กรุ๊ป (CP Group) เผยแผนการนำเข้าทุเรียนไทย 3,000 ตู้ โดยส่วนหนึ่งจะถูกจัดจำหน่ายในกว่างซีราว 324 ตัน ผ่านซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าเป้าหมาย 600 แห่ง

โม่เสริมว่า ตอนนี้กำลังซื้อของผู้บริโภคชาวจีนเพิ่มขึ้นไม่หยุดเช่นเดียวกับความต้องการบริโภคทุเรียนของชาวจีนที่ขยับขยายต่อเนื่อง ส่วนทุเรียนไทยจะยังคงเป็นดาวเด่นในตลาดจีนต่อไป และคาดว่ายอดจำหน่ายทุเรียนไทยในตลาดจีนจะแตะระดับสูงสุดภายในเดือนพฤษภาคมนี้

‘เพจตี๋น้อย’ แชร์ภาพ ‘ทุเรียนหมอนทอง’ ในตลาดสดจีน ชี้!! ราคาแรง กก.ละ 325 บ. แต่ครองตลาดถึง 99%

เมื่อวานนี้ (2 พ.ค. 67) เพจเฟซบุ๊ก ‘ตี๋น้อย’ ได้โพสต์ข้อความถึงความนิยมทุเรียนไทยในประเทศจีน โดยเฉพาะทุเรียนหมอนทอง ระบุว่า…

“โพสต์นี้เอาภาพมาฝากกันครับ ทุเรียนหมอนทอง ที่นี่ขาย กก.ละ 65 หยวน (ประมาณ 325 บาท) ราคาถือว่าแพงเอาเรื่องเลยครับ นี่ขนาดในตลาดสดนะ ไม่ใช่ในห้าง

ที่นี่ซินเจียงจะขายทุเรียนหมอนทองเป็นส่วนใหญ่ ประมาณ 99% ที่เหลือจะเป็นพวงมณี หรือทุเรียน มูซางคิง จากมาเลเซียครับ

榴莲 liú lián แปลว่า ทุเรียน
金枕头 jīn zhěn tóu แปลว่าหมอนทอง”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top