Sunday, 19 May 2024
ทุเรียนไทย

‘ทุเรียนไทย’ เสี่ยงไม่ได้ 'ยืนหนึ่ง' ตลาดจีน หลังหลายชาติทยอยรุกส่งออกกันไม่แผ่ว

(3 พ.ค.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ด่านโหย่วอี้กวนหรือด่านมิตรภาพบนพรมแดนจีน - เวียดนาม ณ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน ได้รับรองการนำเข้าทุเรียนสดในไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม) ของปีนี้รวม 48,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.85 พันล้านหยวน (ราว 9.25 พันล้านบาท)

ปริมาณการนำเข้าทุเรียนสดข้างต้นแบ่งเป็นนำเข้าจากเวียดนาม 35,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.1 เมื่อเทียบปีต่อปี คิดเป็นมูลค่า 1.28 พันล้านหยวน (ราว 6.4 พันล้านบาท) และนำเข้าจากไทย 13,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 570 ล้านหยวน (ราว 2.85 พันล้านบาท) ซึ่งลดลงร้อยละ 59.5 และร้อยละ 63.5 เมื่อเทียบปีต่อปี

อนึ่ง ด่านโหย่วอี้กวนของกว่างซีจัดเป็นด่านบกขนาดใหญ่ที่สุดในการนำเข้าทุเรียนและจุดสังเกตกระแสการบริโภคทุเรียนของตลาดจีน โดยศุลกากรนครหนานหนิงระบุว่า มูลค่าการนำเข้าทุเรียนสดผ่านด่านแห่งนี้ในปี 2023 รวมอยู่ที่ 2.25 หมื่นล้านหยวน (ราว 1.12 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 353 เมื่อเทียบปีต่อปี

ด้านสำนักงานศุลกากรทั่วไปของจีนระบุว่า จีนนำเข้าทุเรียนสดในปี 2023 ราว 1.42 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 6.71 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.47 แสนล้านบาท) โดยปริมาณทุเรียนที่นำเข้าผ่านด่านโหย่วอี้กวนคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณทุเรียนนำเข้าทั้งหมดของจีน

บรรดาคนวงในอุตสาหกรรมมองว่าปริมาณทุเรียนสดนำเข้าจากไทยผ่านด่านโหย่วอี้กวนที่ลดลงในไตรมาสแรกของปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากทุเรียนไทยเข้าสู่ตลาดจีนล่าช้ากว่าปกติ กอปรกับสภาพภูมิอากาศในท้องถิ่นไทยส่งผลกระทบต่อผลผลิตทุเรียน

ทั้งนี้ ข้อมูลการบริโภคทุเรียนของตลาดจีนชี้ว่าสถานะ ‘ผู้นำ’ ของทุเรียนไทยในตลาดจีนกำลังสั่นคลอน เนื่องด้วยผลกระทบจากการส่งออกทุเรียนสู่จีนของแหล่งผลิตทุเรียนที่พัฒนามาทีหลังอย่างเวียดนามและฟิลิปปินส์ ทำให้ทุเรียนไทยในตลาดจีนต้องเผชิญกับการแข่งขันอันดุเดือดยิ่งขึ้น

ช่ายเจิ้นอวี่ ผู้จัดการของบริษัท กว่างซี โอวเหิง อินเตอร์เนชันแนล โลจิสติกส์ จำกัด เผยว่า ช่วงก่อนปี 2023 บริษัทฯ นำเข้าทุเรียนจากไทยเท่านั้น แต่พอปี 2023 ทุเรียนที่นำเข้ามากกว่า 2,000 ตู้คอนเทนเนอร์ แบ่งเป็นทุเรียนไทยและทุเรียนเวียดนามอย่างละครึ่ง โดยบริษัทฯ เลือกแหล่งผลิตตามความต้องการของผู้บริโภคทั่วจีน

ช่ายกล่าวว่า การปลูกทุเรียนในไทยมักปลูกโดยครัวเรือนทั่วไปหรือกลุ่มหมู่บ้าน แต่การปลูกทุเรียนของเวียดนามมุ่งเน้นการเพาะปลูกขนานใหญ่ รวมถึงใช้ข้อได้เปรียบจากระยะทางขนส่งสั้น ความเป็นอุตสาหกรรมระดับสูง และต้นทุนต่ำกว่า ทำให้ทุเรียนเวียดนามมีโอกาสรุกเข้าท้าชิงส่วนแบ่งตลาดจีน

คนวงในอุตสาหกรรมเผยว่าช่วงไม่กี่ปีมานี้ หลายประเทศอาเซียนได้รับอนุญาตส่งออกทุเรียนสดสู่จีน ทำให้โครงสร้างตลาดทุเรียนของจีนเปลี่ยนแปลงไป โดยก่อนหน้านี้ทุเรียนไทยครองส่วนแบ่งตลาดจีนมากที่สุดเสมอจนกระทั่งเวียดนามสามารถส่งออกทุเรียนสดสู่จีนในเดือนกันยายน 2022 ทำให้ทุเรียนไทยครองส่วนแบ่งตลาดจีนลดลง

สำนักงานศุลกากรทั่วไปของจีนระบุว่าปี 2022 จีนนำเข้าทุเรียน 825,000 ตัน ซึ่งเป็นทุเรียนไทยมากกว่า 780,000 ตัน หรือคิดเป็นเกือบร้อยละ 95 ต่อมาปี 2023 จีนนำเข้าทุเรียน 1.42 ล้านตัน ซึ่งเป็นทุเรียนไทย 929,000 ตัน และทุเรียนเวียดนาม 493,000 ตัน ทำให้ทุเรียนเวียดนามครองส่วนแบ่งตลาดจีนเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 ภายในหนึ่งปีและยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันแม้ปริมาณทุเรียนสดส่งออกจากฟิลิปปินส์สู่จีนไม่ได้สูงมากแต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยศุลกากรนครหนานหนิงระบุว่าปริมาณการขนส่งทุเรียนด่วนผ่านท่าอากาศยานนานาชาติหนานหนิง อู๋ซวี ในไตรมาสแรกของปีนี้รวมอยู่ที่ 1,201 ตัน ซึ่งมาจากไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยการนำเข้าทุเรียนฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบปีต่อปี

สวี่เฉียง รองผู้จัดการบริษัทที่ให้บริการขนส่งทุเรียนทางอากาศ เผยว่า มีการนำเข้าทุเรียนจากฟิลิปปินส์ทางอากาศทุกวัน คิดเฉลี่ยราว 4 ตันต่อเที่ยวบิน โดยต้นทุนการขนส่งไม่สูงเพราะเป็นเที่ยวบินขากลับ และการขนส่งทางอากาศช่วยการันตีรสชาติสดใหม่ด้วย

นอกจากเวียดนามและฟิลิปปินส์แล้ว ทุเรียนมาเลเซียกำลังบุกตลาดจีนเช่นกัน โดยมาเลเซียส่งออกผลิตภัณฑ์ทุเรียนแช่แข็งสู่จีนตั้งแต่ปี 2011 และส่งออกทุเรียนแช่แข็งทั้งลูกสู่จีนในปี 2019

ข้อมูลจากหอการค้าแห่งประเทศจีนเพื่อการนำเข้าและส่งออกอาหาร ผลผลิตพื้นเมือง ผลผลิตพลอยได้จากสัตว์ ระบุว่าปริมาณการส่งออกทุเรียนมาเลเซียแช่แข็งสู่จีนในปี 2023 อยู่ที่ 25,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 47 เมื่อเทียบปีต่อปี คิดเป็นมูลค่า 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.96 พันล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 เมื่อเทียบปีต่อปี

ฟาทิล อิสมาอิล กงสุลใหญ่มาเลเซียประจำนครหนานหนิง กล่าวว่าจีนกลายเป็นตลาดแห่งสำคัญของทุเรียนมาเลเซียหลังจากพัฒนามานานหลายปี โดยปัจจุบันมาเลเซียและจีนกำลังทำงานร่วมกันเพื่อการส่งออกทุเรียนสดจากมาเลเซียสู่จีน

คนวงในอุตสาหกรรมทิ้งท้ายว่าตลาดผู้บริโภคทุเรียนของจีนมีขนาดใหญ่และความต้องการทุเรียนไทยจะยังคงเพิ่มขึ้น แต่ทุเรียนไทยกำลังเผชิญการแข่งขันกับอีกหลายประเทศ ทำให้ไทยต้องเร่งรักษาข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน โดยนอกจากควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวด ต้องเพิ่มประสิทธิภาพของระบบขนส่งและโลจิสติกส์ ทุกภาคส่วนต้องทำงานร่วมกันเพื่อลดผลกระทบต่อสถานะ ‘ผู้นำ’ ในตลาดจีน

‘นักวิชาการ’ ห่วง!! ‘ทุเรียนไทย’ เสี่ยงแย่ ในอีก 5 ปีข้างหน้า ชี้!! 'ภัยแล้ง-คู่แข่ง-ต้นทุนขนส่ง' รุมเร้า แนะ!! รัฐรีบจัดการ

(13 พ.ค.67) นายอัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่ปรึกษาบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด เปิดเผยถึงผลวิเคราะห์ ดัชนีความเสี่ยงทุเรียนไทย ปี 2567 และประเมินทุเรียนไทยใน 5 ปีข้างหน้า ว่า ทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจหนึ่งเดียวที่ทำรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างมาก ในปี 2566 ทุเรียนมีมูลค่าส่งออก 1.4 แสนล้านบาท แซงหน้ามูลค่าการส่งออกยางพารา และมันสำปะหลัง

แต่ยังเป็นรองมูลค่าการส่งออกข้าว โดยมูลค่าการส่งออกทุเรียนคิดเป็นสัดส่วน 25% ของมูลการค้าส่งออกรวมของพืชส่งออกหลัก 4 ชนิด คือ ข้าว ทุเรียน ยางพารา และมันสำปะหลัง ส่วนมูลค่าการส่งออกทุเรียนในปี 2567 นั้น ต้องลุ้นว่ายังสามารถรักษาระดับการส่งออกเหมือนในปี 2566 หรือไม่ เพราะมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน

ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ดัชนี DURI หรือ ดัชนีความเสี่ยงทุเรียนไทย ปี 2567 และ 5 ปี พบว่า ดัชนีความเสี่ยงทุเรียนไทย ปี 2567 อยู่ที่ 57 ซึ่งเป็นระดับที่ มีความเสี่ยงสูง เพราะเกิน 50 และค่าดัชนี DURI ใน 5 ปีข้างหน้ายังมีค่าเกิน 50 อย่างต่อเนื่องเช่นกัน เพราะมีความเสี่ยงจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ ปัญหาภัยแล้งของเกษตรกร การส่งออกทุเรียนเวียดนามที่เพิ่มสูงขึ้น และต้นทุนการขนส่งไปประเทศจีนที่เพิ่มสูงขึ้น

นายอัทธ์ กล่าวว่า ช่วง 12 ปีผ่านมา ผลผลิตทุเรียนไทยเพิ่ม 180% เพิ่มจาก 5 แสนตัน เป็น 1.4 ล้านตัน จากการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศกว่า 80% แต่ปัญหาภัยแล้งจะทำให้ ผลผลิตทุเรียนลดลง 50% ใน 5 ปีข้างหน้า หากรัฐไม่ปัญหาภัยแล้งอย่างเป็นรูปธรรม คาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ผลผลิตทุเรียนไทยจะลดลง 53% หรือหายไป 6.4 แสนตัน โดยปีนี้ ภัยแล้งจะทำให้ผลผลิตทุเรียนลดลง 42% หรือลดลง 5.4 แสนตัน

ขณะที่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตทุเรียนเวียดนามเพิ่ม 200% ปี 2566 มีผลผลิตทุเรียน 8 แสนตัน เพิ่มจาก 2.7 แสนตัน ในปี 2557 มีพื้นที่ปลูกเกือบ 7 แสนไร่ และในปี 2567 เวียดนามส่งออกไปจีนเพิ่ม 30% โดยไตรมาสที่ 1/2567 ส่งออกทุเรียนไปจีนเพิ่มขึ้น 105% อยู่ที่ 36,800 ตัน ขณะที่ไทยส่งออกได้เพียง 17,900 ตัน คาดว่าทั้งปี 2567 เวียดนามสามารถส่งออกทุเรียนไปจีนอยู่ที่ 5 แสนตัน ในขณะที่ไทยส่งออกอยู่ที่ 8 แสนตัน ลดลงเกือบ 2 แสนตัน

รวมทั้งต้นทุนการผลิตทุเรียนไทยก็สูงกว่าเวียดนาม 2 เท่า ปี 2566 ต้นทุนเวียดนามอยู่ที่ 15 บาท/กก เพิ่มขึ้นเป็น 19 บาท/กก.ในปี 2567 ระหว่างปี 2565 -2567 ล้งจีนเพิ่มขึ้น 665 ราย ในขณะที่ล้งไทยปิดตัวจาก 25 ราย เหลือ 10 ราย และในอนาคตคาดว่า ล้งไทยจะปิดตัวเพิ่มขึ้น เหลือไม่ เกิน 5 ราย

ดังนั้นวาระแห่งชาติ เร่งด่วนที่สุดของรัฐบาลคือ ต้องเร่งแก้ปัญหาภัยแล้งให้กับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อ รายได้ของเกษตรกร และราคาสินค้าที่แพงขึ้น รวมทั้งเน้นการผลิตแบบคุณภาพ เพราะอีก 3 ปีข้างหน้า ทุเรียนเวียดนามจะผลิตได้คุณภาพใกล้เคียงกับทุเรียนไทย

อย่างไรก็ตาม ปี 2567 พบว่ามีการใช้จ่ายเงินที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทุเรียนไทยราว 9.8 แสนล้าน เพิ่มขึ้นจากปี 66 เท่ากับ 1.4 แสนล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 16.2% เมื่อเทียบกับปี 66 โดยภาคตะวันออกมีเงินสะพัดมากที่สุด รองลงมาคือภาคใต้ และภาคเหนือ ตามลำดับ ธุรกิจที่มีเงินสะพัดมากที่สุดคือ ธุรกิจล้ง จำนวน 280 แสนล้านบาท

การเดินทางของ ‘ทุเรียนไทย’ สดใหม่ สู่ ‘ตลาดจีน’ ในไม่กี่วัน หลังรับอานิสงส์หลายด้าน ‘พิธีการศุลกากร-เก็บรักษา-วิธีขนส่ง’

เมื่อวานนี้ (14 พ.ค. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ภาพคนงานปีนต้นทุเรียนใช้มีดตัดผลผลิตบนยอดสูงชะลูด ก่อนโยนให้เพื่อนคนงานที่รอรับใต้ต้นอย่างชำนิชำนาญด้วยถุงกระสอบ ส่งสัญญาณการเริ่มต้นฤดูเก็บเกี่ยวทุเรียนในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งถือเป็นแหล่งเพาะปลูกทุเรียนแห่งสำคัญของไทย

ศศิธร เจ้าของสวนทุเรียนมากกว่า 2,000 ต้น ผู้ทำธุรกิจซื้อขายทุเรียนมานานกว่า 10 ปี เล่าว่าเธอจ้างคนงานตัดผลผลิตทุกวันมากกว่า 40 คนในฤดูเก็บเกี่ยวทุเรียนปีนี้ โดยผลผลิตของปีนี้ลดลงเพราะภัยแล้ง สวนทางกับความต้องการทุเรียนของตลาดจีนที่ยังคงสูง

"เราส่งออกทุเรียนหลายสายพันธุ์ ทั้งพันธุ์กระดุมที่สุกพร้อมเก็บเกี่ยวก่อนหน้านี้และพันธุ์หมอนทองที่ชาวจีนนิยม" ศศิธรกล่าว โดยทุเรียนจากสวนของศศิธรถูกขนส่งสู่โรงงานแปรรูปใกล้เคียงอย่างรวดเร็ว เพื่อคัดเลือก ชั่งน้ำหนัก บรรจุหีบห่อ และเคลื่อนย้ายสู่สายส่ง

วีระชัย ผู้จัดการโรงงานแปรรูปทุเรียน บอกกับสำนักข่าวซินหัวว่า จีนเป็นตลาดสำคัญมาก โดยปีนี้ส่งออกทุเรียน 23 ตู้คอนเทนเนอร์แล้ว ส่วนใหญ่ส่งออก 3 ทาง แบ่งเป็นทางอากาศร้อยละ 20 ทางทะเลร้อยละ 40 และทางบกร้อยละ 40

อนึ่ง ไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกทุเรียนรายใหญ่ของโลก โดยข้อมูลจากสำนักบริหารศุลกากรทั่วไปของจีนระบุว่า จีนนำเข้าทุเรียนสดในปี 2023 รวม 1.426 ล้านตัน ซึ่งเป็นทุเรียนสดจากไทย 929,000 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 65.15 การนำเข้าทุเรียนสดทั้งหมดของจีน

ก่อนหน้านี้ผลไม้เมืองร้อนที่ผลิตในกลุ่มประเทศอาเซียนมักเข้าสู่ตลาดจีนได้ยาก เนื่องจากมีอายุการเก็บรักษาที่สั้น กอปรกับข้อจำกัดด้านการขนส่งและคลังสินค้า ทว่าปัจจุบันทุเรียนและผลไม้อื่น ๆ จากอาเซียนสามารถถูกขนส่งสู่ตลาดจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกข้างต้นเป็นผลจากการเสริมสร้างเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน การบังคับใช้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ตลอดจนโครงการเชื่อมต่อจำนวนมาก เช่น ระเบียงการค้าทางบก-ทางทะเลใหม่ (สายตะวันตก) และการพัฒนาอันรวดเร็วของระบบโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็นและอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดน

ขณะด่านโหย่วอี้หรือด่านมิตรภาพในเมืองผิงเสียง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน ซึ่งมีพรมแดนติดกับเวียดนาม ได้รับรองการนำเข้าทุเรียนไทยในปี 2023 รวม 282,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 162.4 เมื่อเทียบปีต่อปี และรับรองการนำเข้าทุเรียนสดในไตรมาสแรก (มกราคม-มีนาคม) ของปีนี้ ราว 48,000 ตัน ซึ่งเป็นทุเรียนสดจากไทย 13,000 ตัน

การนำเข้าและส่งออกที่เฟื่องฟูนี้เป็นผลประโยชน์จากนโยบายปลอดภาษีศุลกากรและการเพิ่มประสิทธิภาพพิธีการศุลกากร โดยหวงเฟยเฟย เจ้าหน้าที่ศุลกากรด่านโหย่วอี้ เผยว่ามีการอัปเกรดจุดกำกับดูแลอัจฉริยะอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการสร้างช่องทางพิเศษสำหรับทุเรียนนำเข้า และดำเนินมาตรการเกื้อหนุนพิธีการศุลกากร เช่น ช่องทางด่วนสำหรับผลไม้นำเข้า ส่วนตลาดไห่จี๋ซิงในนครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งผลไม้ขนาดใหญ่ที่สุดในกว่างซี ได้รับรองการนำเข้าทุเรียนสดจากไทยเช่นกัน โดยโม่เจียหมิง พ่อค้าคนหนึ่ง นำเข้าทุเรียนจากไทยราว 50 ตันทุกวัน และจัดจำหน่ายสู่ตลาดในประเทศผ่านหลายช่องทาง เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ ร้านค้าปลีก และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ

โม่เล่าว่าปีนี้นำเข้าทุเรียนราว 1,800 ตันแล้ว โดยทุเรียนจากไทยถูกขนส่งมาป้อนตลาดจีนได้เร็วขึ้นภายใน 3-5 วัน เนื่องด้วยอานิสงส์จากการอำนวยความสะดวกด้านพิธีการศุลกากรและเทคโนโลยีการเก็บรักษาแบบห่วงโซ่ความเย็น รวมถึงมีวิธีการขนส่งให้เลือกเพิ่มขึ้น ทั้งทางบก ทางทะเล ทางอากาศ และทางราง

ทั้งนี้ โม่ที่ทำธุรกิจนำเข้าทุเรียนมานาน 6 ปีแล้ว เชื่อว่าตลาดทุเรียนของจีนยังคงมีศักยภาพมหาศาล โดยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าจีน-อาเซียนที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น บวกกับนโยบายและมาตรการเกื้อหนุนต่าง ๆ จะช่วยฟื้นฟูและพัฒนาตลาดผู้บริโภค ทำให้ทุเรียนและผลไม้อื่น ๆ จากอาเซียนคว้าโอกาสจากตลาดจีนเพิ่มขึ้นในอนาคต


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top