Saturday, 11 May 2024
ทักษิณ_ชินวัตร

'จตุพร' สวนไอโอหน้าโง่ งัดรูปร่วมโต๊ะ 'เทพเทือก' ปมยัดเยียดใส่ร้ายรับงานถล่ม ‘ทักษิณ’

(31 ม.ค. 66) นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์ ประเทศไทยต้องมาก่อน ตอน 'ความคับแค้น แปรเปลี่ยนเป็นพลัง' มี อรุโณทัย ศิริบุตร ดำเนินรายการ โดยตอบโต้ขบวนการไอโอปกป้องเพื่อไทย นำรูปถ่ายกับสุเทพ เทือกสุบรรณ มายัดเยียดใส่ร้ายว่า รับงานวิพากษ์วิจารณ์ถล่มทักษิณ ชินวัตร

นายจตุพร ประเมินถึงวิกฤตในอนาคตว่า ว่า จะเกิดขึ้นจาก 2 เรื่องสำคัญคือ กรณีตะวัน-แบม และคำประกาศกลับบ้านของทักษิณ ชินวัตร โดยวิธีพิเศษ ในส่วนการอดอาหารของตะวัน-แบมนั้น เมื่อสถานการณ์เดินมาถึงจุดตรึงเครียดยิ่งขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีส่วนสำคัญในการสร้างปัญหาให้ ม.112 ขยายตัวมากขึ้น จึงต้องเป็นผู้ดึงฟืนออกจากไฟ เนื่องจากปฏิเสธไม่ได้ว่า พระราชประสงค์ของ ร.10 ไม่ต้องการดำเนินคดีกับใคร ด้วยเหตุนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จึงเป็นคนสร้างความเดือดร้อนให้ ร.10

ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะประมุขฝ่ายบริหารกับประมุขฝ่ายตุลาการต้องหารือหาทางออกร่วมกัน เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้นโดยไม่คาดคิด จะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ซึ่งเป็นความรู้สึกและอารมณ์ที่ไม่ต้องการอธิบายด้วยเหตุผลจากฝ่ายใด ๆ สถานการณ์แบบนี้ยากที่ใครจะควบคุมอยู่ได้ 

"ตะวัน-แบม อดอาหารเดิมพันชีวิตอย่างเอาจริง ฝ่ายรัฐจะประเมินด้วยเหตุการณ์อดอาหารแบบเดิม ๆ ไม่ได้ และเรื่องนี้จะอาศัยความสะใจหรืออคติหรือความเป็นการเมืองไม่ได้เลย แต่แก้ไขได้อย่างเดียวคือให้คุณค่าความเป็นมนุษย์ที่จะดึงไฟออกจากฟืนก่อนที่จะเกิดวิกฤตรุนแรง จนลุกลามเป็นไฟลามทุ่งอย่างที่คาดไม่ถึง"

กรณีการประกาศกลับบ้านของทักษิณนั้น นายจตุพร กล่าวว่า ใครอาจจะคิดว่าไม่มีอะไร เนื่องจากประกาศมาหลายครั้งก็ไม่ได้กลับและไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ครั้งนี้ประกาศในช่วงเวลาที่กำลังจะได้เสียทางการเมือง และยิ่งมาประกาศไม่ใช้กฎหมาย ไม่พึ่งเพื่อไทยหรือรอมชอมกับพลังประชารัฐ (พปชร.) นั้น ในทางกฎหมาย คดีที่มีโทษจำคุกเป็นที่สุดแล้ว ทักษิณต้องเข้าเรือนจำอย่างเดียวเท่านั้น

ดังนั้น ใครจะไปดีลโดยไม่สมควรดีล ซึ่งได้เริ่มต้นดีลแล้วยิ่งจะทำให้กลายเป็นชนวนใหญ่ เท่ากับปลุกผี พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นมาหลอกหลอนสังคมไทย จนกลายเป็นชนวนเผชิญหน้าของฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์และฝ่ายทักษิณ อีกครั้งหนึ่งอย่างไม่จำเป็นเลย

"เมื่อเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง และทักษิณกลับบ้านจะกลายเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งแตกแยก แล้วนำไปสู่การล้มกระดานทั้งปวง ดังนั้นพวกเราจึงตอกย้ำเตือนให้ยึดประเทศไทยต้องมาก่อน เพราะความแตกแยกรุนแรงท่ามกลางการเลือกตั้ง ยิ่งทำให้ประชาชนไม่ได้ประโยชน์จากการปกครอง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายทหารหรือนักการเมืองก็ตาม"

นายจตุพร กล่าวถึงการแตกหักกับทักษิณ และถูกขบวนการไอโอระบาดทำลายมากขึ้นว่า ที่ผ่านมาตนเจอปฏิบัติการไอโอจากทั้งฝ่ายเสมอ ขณะนี้ฝ่ายทักษิณได้แพร่รูปตนกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ นั่งร่วมโต๊ะอาหารในงานเลี้ยงแต่งงานลูกของชาดา ไทยเศรษฐ์ นักการเมืองคนสำคัญขณะสังกัดพรรคชาติไทย โดยมีเจตนาทำให้เข้าใจผิดแล้วหวังทำลายตน

ก่อนจะชี้แจงรูปนั่งร่วมโต๊ะอาหารกับนายสุเทพ นายจตุพร กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างทักษิณกับสุเทพว่า ข้อเท็จจริงแรก สุเทพเป็นเพื่อนทักษิณ ในช่วง 4 ปีแรกที่ทักษิณเป็นนายกฯ แต่สุเทพนั่งเลขา ปชป. เป็นฝ่ายค้าน และไม่เคยอภิปรายทักษิณสักครั้งเดียว สามารถตรวจค้นความจริงกันได้ทั่วไป

สองทักษิณ เคยไปร่วมรับประทานอาหารที่บ้านสุเทพถึง อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี และเครือข่ายยังซื้อหุ้นสหกรณ์โคออฟร่วมลงทุนกับสุเทพด้วย นอกจากนี้ลูกน้องมือทำงานคนสำคัญของสุเทพ ปัจจุบันเป็นกรรมการบริหารระดับรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อีกทั้งถึงการเลือกตั้งปี 2548 สุเทพเริ่มมีปัญหาขัดแย้งกับทักษิณ แล้วนัดเจรจากันที่บ้านพิษณุโลก ตอนนั้นตนอยู่ในทีมโฆษกพรรคได้ แถลงข่าวเสนอให้ทักษิณเลิกคบกับสุเทพ

อีกอย่างในบทบาททางการเมือง ตนกับสุเทพต่างทำหน้าที่อยู่กับคนละฝายกันทั้งในการอภิปรายฟาดฟันในสภา และต่อสู้กันยิบตาบนท้องถนน ไม่มีอะไรลดราวาศอกกันเช่นเดิม กระทั่งได้มาคุยกันตัวต่อตัวในวันเจรจาก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จะยึดอำนาจปี 2557 ซึ่งเป็นการคุยกันครั้งสุดท้ายและไม่ได้คุยกันอีกเลย

ส่วนกรณีรูปภาพถ่ายกับนายสุเทพนั้น นายจตุพร กล่าวว่า ชาดา เป็นนักการเมืองใจนักเลง มีมิตรอยู่แทบทุกพรรค ซึ่งตนชอบนักเลงการเมืองมากกว่านักธุรกิจการเมือง เพราะพูดคำไหนคำนั้น ไม่ว่าอยู่ซีกไหน ไม่มีอะไรซับซ้อน จึงได้คบค้าสมาคมกัน แต่นักธุรกิจการเมืองพูดวันนี้ พรุ่งนี้เป็นอีกอย่าง

จากนั้น ชาดา ชวนไปงานแต่งงานลูกในเดือนมกราคม ปี 2559 ตนก็ไปและเจอสุเทพ ก็เดินดิ่งเข้าไปนั่งร่วมโต๊ะ จึงมีภาพถ่ายปรากฎ สิ่งสำคัญ เมื่อเป็นงานแต่งงานก็ต้องมีมารยาทกันตามประเพณีต้องให้เกียรติเจ้าภาพ จะฟาดฟันกันยับเยินได้อย่างไร อีกอย่างถ้าตนหลบหนีสุเทพไปนั่งโต๊ะอื่น ก็จะถูกอีกฝ่ายด่าอยู่ดี พวกไอโอจะให้ตนไปรบกันในงานแต่งงานหรือ?

นอกจากนี้ ในงานแต่งบางงานของอดีต ส.ส.เพื่อไทย สุเทพก็ไปเช่นกัน เพราะเขามีเพื่อนมากทุกพรรค เมื่อครั้งงานแต่งของณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย ซึ่งจัดทั้งที่บ้านเจ้าบ่าวและเจ้าสาว กรณีงานจัดที่บ้านเจ้าสาวนั้น สุเทพเป็นประธานจัดงาน เพราะสนิทกับพ่อเจ้าสาว ช่วงนั้นเสื้อแดงสู้กันเต็มบ้านเมือง ตนจึงไม่ได้ไป แต่เมื่อจัดบ้านณัฐวุฒิ มีจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นประธาน ตนก็ไป เมื่อสุเทพไปงานแต่งงานณัฐวุฒิได้ ก็ไม่เห็นขบวนการไอโอทั้งสองฝ่ายรุมถล่มว่าอะไร

นายจตุพร กล่าวว่า แต่อยู่ดีๆ ตนไปนั่งร่วมโต๊ะกินช้าวกับสุเทพในงานแต่งเมื่อปี 59 ผ่านมา 7 ปีแล้ว ขบวนการไอโอก็เอามาปั่นกระแส โยงถึงการถล่มทักษิณก็ว่ากันไป แต่ตนถล่มทักษิณเพราะมาดูถูกกันเมื่อเร็วๆ นี้เอง จะให้รอจนกว่าเลือกตั้งเสร็จแล้วจะตอบโต้หรืออย่างไรกัน

'เศรษฐา' ขอบคุณ 'ทักษิณ' ชมเป็นนายกฯได้ ด้าน 'ชลน่าน' ออกตัวยังไม่เคาะชื่อแคนดิเดตฯ

‘เศรษฐา’ เผย รู้สึกเป็นเกียรติ ‘ทักษิณ’ ชม ชี้ ยังมีข้อต่างอีกเยอะ ลั่น หากเป็นนายกฯ จะไม่ตั้งคณะกรรมการซ้อนกรรมการ แก้ปัญหาปชช. ชู หลักคิดเร็ว ทำเร็ว ด้าน ‘ชลน่าน’ บอก เรื่องแคนดิเดตเป็นแค่ความเห็นของ ‘อดีตนายกฯ’

(22 มี.ค. 66) ที่จ.นนทบุรี นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการปราศรัยในเวทีแรก หลังนายกฯประกาศยุบสภาฯ ว่า จัดเต็มทุกเวที ไม่มีข้อยกเว้น เราเสนอนโยบายตามความเป็นจริงทุกอย่าง ทั้งนี้ สำหรับเวทีที่นนทบุรี เราจะเน้นหลายประเด็น ซึ่งเหมือนทุกจังหวัดที่เน้นเรื่องความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ความล้มเหลว ขณะนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีของกระบวนการคืนอำนาจสู่ประชาชน และขอให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันเยอะๆ

เมื่อถามว่า มองประเด็นที่เมื่อคืนนี้ (21 มี.ค.) นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เปรียบเทียบนายเศรษฐา เหมือนตอนที่นายทักษิณเข้ามาทำงานการเมืองแรกๆว่าอย่างไร นายเศรษฐา กล่าวว่า เราก็มีความเหมือนกันได้ แต่เมื่อมีความเหมือนก็มีความแตกต่างในตัวของมันเอง ถือเป็นเกียรติเพราะท่านก็เป็นนายกรัฐมนตรีที่ประสบความสำเร็จ และได้รับความนิยมชมชอบมาตลอดกาล ส่วนในความแตกต่างที่ตนพูดถึงนั้นมีหลายอย่าง ท่านเองเป็นคนที่ก่อร่างสร้างตัวมา ตนมาช่วยเติมเต็ม ท่านวางรากฐานมาไว้ดีอยู่แล้ว และเรามีบุคคลที่มีคุณภาพในพรรค

เมื่อถามว่า การที่นายทักษิณ ชมนายเศรษฐาเช่นนั้นอนาคตจะชูเป็นแคนดิเดตใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ขอให้เป็นขั้นเป็นตอนไป คณะกรรมการบริหารก็จะประชุมกันในเร็ววันนี้ ขอให้อดใจรออีกนิด เพราะมีคนที่มีคุณภาพอยู่หลายคน ขอเวลาเล็กน้อย ให้เป็นไปตามขั้นตอนดีกว่า

เมื่อถามว่า หากเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกจะทำได้ดีเหมือนนายทักษิณหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า เมื่อย้อนหลังไป 20 ปี ที่ผ่านมา ตนมองว่าธุรกิจที่ท่านทำประสบความสำเร็จมากกว่าตนเยอะ ท่านก่อร่างสร้างตัวจากตรงนั้นก็เป็นอะไรที่น่าชื่นชม และเป็นอะไรที่เปรียบเทียบกับตนยังไม่ได้

เมื่อถามต่อว่า ทั้งนายทักษิณและนายเศรษฐามาจากภาคธุรกิจเช่นกัน ในทางการเมืองจะนำวิธีการทำงานอะไรของนายทักษิณมาปรับใช้หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนคิดว่าเป็นหลักการคิดเร็ว ทำเร็ว และต้องมีการวิเคราะห์ถึงความเสี่ยง เปรียบเทียบกับความเร่งด่วนว่าจะมีการบริหารจัดการอย่างไร ไม่ใช่การตั้งคณะกรรมการซ้อนกรรมการ ถ้าทำแบบนั้นปากท้องแห้งพอดี

เมื่อถามว่า มองอย่างไรที่กองเชียร์พรรคเพื่อไทย ออกปากเชียร์ทั้งนายเศรษฐา และน.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เป็นแคนดิเดตนายกฯ นายเศรษฐา กล่าวว่า ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่กองเชียร์ไม่ได้เอ่ยชื่อ เพียงแต่ตนอาจจะได้การสนับสนุน หรือออกสื่อมากหน่อย อาจจะเป็นเพราะตัวสูงมองเห็นง่าย แต่ตนก็รู้สึกว่ายังต้องเจียมตัว เพราะผู้ใหญ่ในพรรคหลายคนล้วนมีความสุดยอดทั้งนั้น

26 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 วันเกิด ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของไทย

วันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย โดยเจ้าตัวถือเป็นนักธุรกิจที่มีชื่อเสียง ที่ผันตัวมาทำงานด้านการเมือง ก่อนจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในที่สุด

‘ทักษิณ ชินวิตร’ เกิดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 ปัจจุบันอายุ 74 ปี โดยเจ้าตัวถือเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย ดำรงตำแหน่งในช่วงปี พ.ศ. 2544-2549

ก่อนหน้าที่จะเข้ามาทำงานการเมือง ทักษิณเป็นที่รู้จักในนามของนักธุรกิจเจ้าของธุรกิจโทรคมนาคม และเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กระทั่งในปี พ.ศ. 2537 เจ้าตัวเข้าสู่แวดวงการเมืองภายใต้สังกัดพรรคพลังธรรม และต่อมาได้ก่อตั้งพรรคการเมืองของตัวเองในชื่อ ‘พรรคไทยรักไทย’ ในช่วงปี พ.ศ. 2541

และหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในปี พ.ศ. 2544 พรรคไทยรักไทยได้รับเสียงข้างมากในสภา จึงส่งผลให้ทักษิณ ในฐานะหัวหน้าพรรค ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก ก่อนที่อีก 4 ปีต่อมา พรรคไทยรักไทยยังสามารถกุมฐานเสียงในการเลือกตั้งเอาไว้ได้อีกครั้ง ทำให้ทักษิณ ชินวัตร ก้าวสู่การเป็นนายกฯ ของประเทศไทยเป็นสมัยที่สองติดต่อกัน

ต่อมา รัฐบาลภายใต้การบริหารงานของทักษิณ ถูกกล่าวหาทั้งในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน การฉ้อราษฎร์บังหลวง รวมทั้งเจ้าตัวยังถูกเพ่งเล็งในเรื่องการหลบเลี่ยงภาษี จนเป็นที่มาของเหตุการประท้วง 

กระทั่งเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร ในช่วงที่เจ้าตัวเดินทางไปยังต่างประเทศ ส่งผลให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในเวลาต่อมา เจ้าตัวเดินทางกลับเมืองไทยเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 

แต่หลังจากที่ศาลพิพากษาคดีทุจริตที่ดินย่านรัชดาฯ ซึ่งเจ้าตัวมีความผิด ต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 2 ปี ทักษิณก็เดินทางออกนอกประเทศอีกครั้ง และไม่ยอมเดินทางกลับนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ปัจจุบัน ทักษิณ ชินวัตรใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดน และยังปรากฎตัว วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล ตลอดจนแสดงทัศนะ เรื่องราวกระแสสังคมต่าง ๆ ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียเป็นประจำ และมีชื่อฉายาใหม่ที่ถูกเรียกขานเพิ่มเติมว่า ‘Tony Woodsome’

วันนี้เป็นวันเกิดครบรอบ 74 ปีของอดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นบทบาทใด ปฏิเสธไม่ได้ว่า เจ้าตัวยังคงสร้างความสนใจต่อสังคมไทยได้อยู่เสมอ

รัฐประหารรัฐบาล ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ฝีมือ ‘พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน’ นำทีมยึดอำนาจ

ครบรอบ 17 ปี คณะทหารในนาม ‘คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ (คปค.) ซึ่งมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้า ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งกำลังปฏิบัติภารกิจอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

โดยในการรัฐประหารครั้งนี้ คปค. ได้ให้เหตุผลที่ต้องยึดอำนาจว่าการปกครองภายใต้รัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ก่อให้เกิดความขัดแย้งแบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติ ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังเอาชนะ ด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ และมีแนวโน้มนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

โดยประชาชนส่วนใหญ่เคลือบแคลงสงสัยว่า การบริหารราชการแผ่นดิน ส่อไปในทางทุจริต ประพฤติมิชอบ อย่างกว้างขวาง หน่วยงานอิสระ ถูกการเมืองครอบงำ ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เกิดปัญหา และอุปสรรคหลายประการ ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นที่เคารพ เทิดทูน ของปวงชนชาวไทย อยู่บ่อยครั้ง แม้ว่าหลายภาคส่วนของสังคมจะได้พยายามประนีประนอม คลี่คลายสถานการณ์ มาโดยต่อเนื่องแล้ว ก็ไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้

โดยทางทหารได้เตรียมการยึดอำนาจเริ่มตั้งแต่ตอนสาย ถึงตอนบ่ายกำลังทหารจากต่างจังหวัดก็เคลื่อนกำลังเข้าประจำการในกรุงเทพฯ ในตอนค่ำกำลังพลติดอาวุธพร้อมรถถัง ฮัมวี่ และบีเอ็มซีก็บุกเข้ายึดสถานีวิทยุโทรทัศน์และตรึงกำลังอยู่ตามสถานที่สำคัญ ๆ ทั่วกรุงเทพฯ ในเวลา 22.00 น. พ.ต.ท.ทักษิณได้ชิงออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขต กทม. สั่งปลด พล.อ.สนธิ แต่ยังประกาศไม่ทันจบ ทหารก็บุกเข้ามาตัดสัญญาณและออกประกาศการเข้ายึดอำนาจ จากนั้นก็ได้ออกประกาศ คปค. ฉบับต่าง ๆ ออกมา อาทิ...

ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวโดยให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้น คปค. ก็ถอยไปอยู่ในฐานะ ‘คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ’ (คมช.) คอยดูแลรัฐบาลชั่วคราวบริหารประเทศและเร่งกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี จากนั้นจะเลือกตั้งใหม่ภายในปี 2550

รัฐประหารครั้งนี้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายคือฝ่ายที่เห็นว่าประเทศชาติถึงจุดวิกฤติแล้ว รัฐประหารคือทางออกเดียวที่เหลืออยู่ ขณะที่อีกฝ่ายมองว่ารัฐประหารครั้งนี้เป็นการตัดตอนกระบวนการประชาธิปไตยไทย เป็นการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับที่ได้ชื่อว่าเป็นของประชาชนมากที่สุด และนับเป็นการสูญเสียประชาธิปไตยอีกครั้งในรอบ 15 ปี หลังจากรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เมื่อปี 2535 ซึ่งการรัฐประหารครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 10 ของไทย โดยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว และไร้การสูญเสียเลือดเนื้อ

ชินวัตรว้าวุ่น!! พ่อลุ้นพักโทษไม่เกิน ก.พ.67 ฟากลูกสาวทุ่มหมดหน้าตักจัดซอฟต์พาวเวอร์

22 ก.ย.นี้ จะครบรอบ 30 วัน ที่ ทักษิณ ชินวัตร นักโทษเด็ดขาดชาย ถูกคุมขังอยู่ที่ห้องสูท ชั้น 14  รพ.ตำรวจ และมีแนวโน้มสูงยิ่งว่าจะได้รับการพิจารณาอนุมัติให้นอนรักษาตัวต่อที่เดิม เหตุเพราะเมื่อวันสองวันก่อน อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวและคุณหมอใหญ่ของ รพ.ตำรวจ ออกมาบอกตรงกันว่า...ทักษิณเพิ่งฟื้นฟูจากการผ่าตัด

ส่วนจะเป็นการผ่าตัดเล็ก ผ่าตัดใหญ่ หรือ ผ่าตัดสิว ผ่าตัดเล็บคุด ก็เกินที่จะคาดเดา เพราะไม่มีการแถลง...

วันที่ 24 ก.ย.นี้ กลุ่ม คปท.หรือ เครือข่ายนักศึกษาประชาชนเพื่อการปฏิรูป ของ 'ทนายนกเขา' จะสวมรองเท้าผ้าใบพร้อมปากกาแห่กันไปลงนามเยี่ยมไข้ทักษิณกันให้อึกทึกครึกโครม...โทษฐานที่ดูเหมือนว่าหน่วยงานของรัฐจะเลือกปฏิบัติกันแบบเห็นๆ ไม่นำพาความรู้สึกประชาชน...

มีบรรดาแฟนนานุแฟนถามไถ่ 'เล็ก เลียบด่วน' ว่าเอาเข้าจริง...ทักษิณ ชินวัตร ที่ได้รับพระมหากรุณาพระราชทานอภัยลดโทษจาก 8 ปี เหลือ 1 ปี  จะได้ออกจากคุกไม่ว่าเป็นการพักโทษหรืออภัยโทษเมื่อไหร่กันแน่...

ก็ต้องอธิบาย ข้อกฎหมาย-ระเบียบ อันเป็นกฏกติกามารยาทว่า...

#กรณีพักโทษ...ซึ่งมีสองกรณีคือ กรณีปกติ กับ กรณีพิเศษ ทักษิณก็คงใช้กรณีพิเศษ คือ อายุมากกว่า 70 ปี อย่างไรก็ตามตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ระบุว่า จะต้องติดคุกมาไม่น้อยกว่า 6 เดือนขึ้นไปหรือ 1 ใน 3 แล้ว…แต่อย่างไหนมากกว่ากัน กรณีทักษิณติดคุกมาตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค. ครบ 1 ใน 3 คือเดือน ธ.ค.แต่ไม่ถึง 6 เดือน…โดยกรณีทักษิณจะครบ 6 เดือน วันที่ 22 ก.พ.2567

#กรณีพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปในวาระต่างๆ กำหนดว่าต้องติดคุกมาแล้ว 1 ใน3  กรณีทักษิณหากมีพระราชทานอภัยโทษทั่วไปในวันที่ 5 ธ.ค. ทักษิณก็ไม่เข้าข่ายติดคุกมาแล้ว 1 ใน 3 อยู่ดี...ไม่ได้สิทธิ์!!

สรุปว่า ถ้าเดินตามสองกรณีนี้เป๊ะ...อย่างเก่งเดือนก.พ.ทักษิณ จึงจะออกจากคุก ได้รับอิสรภาพจริงๆ

แต่ก็นั่นแหละ...เชื่อกันว่า ยังมีกฎข้อระเบียบให้คนอย่างทักษิณรอดออกมาได้เร็วกว่า ก.พ.2567 อย่างแน่นอน...โดยเฉพาะการคุมตัวให้อยู่ที่บ้าน

กฎกติกาพวกนี้...กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ควรจะได้แจกแจงเรื่องพวกนี้ให้สังคมกระจ่างแจ้ง

'เล็ก เลียบด่วน' แว่วมาว่าวันจันทร์ที่ 25 ก.ย.กรรมาธิการสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ที่มี สว.สมชาย แสวงการ เป็นประธานจะเชิญกรมกองต่างๆ รวมทั้งรพ.ตำรวจแบบชุดใหญ่ไฟกระพริบไปชี้แจงซักถาม...

ก็เลยขอชูจั๊กกะแร้เชียร์ มา ณ โอกาสนี้

จบจากเรื่องคุณพ่อ ก็ต้องไปที่เรื่องคุณลูกสาว...อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ... 'เล็ก เลียบด่วน' ไม่กล้าฟันธงว่าเธอจะรับบทหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนต่อไปหรือไม่?

แต่ฟันธงได้อย่างเดียว ว่าเธอจะทุ่มหมดหน้าตักกับภารกิจในฐานะรองประธานคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งจะมีการประชุมใหญ่ครั้งแรกวันที่ 3 ต.ค. และในวันดังกล่าว เธอก็น่าจะผงาดนั่งเก้าอี้ประธานบอร์ดบริหาร...ที่จะตั้งขึ้นมา

นโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ของพรรคเพื่อไทย คือ หัวใจของ 'อุ๊งอิ๊ง' โดยพรรคเพื่อไทยเตรียมทำกฎหมายรองรับองค์กรซอฟต์พาวเวอร์นี้ ใหญ่และมั่นคงกว่าองค์การมหาชน แต่ไม่ใช่หน่วยงานหรือกรมกองของกระทรวง...

ใหญ่ไม่ใหญ่แค่ไหนไม่มีใครรู้...รู้แต่ว่า...จะเป็นหน่วยงาน ที่จะสร้างหนึ่งในผลงานชิ้นโบว์แดงที่เป็นกระดานหกส่งให้ 'อุ๊งอิ๊ง' เป็นนายกรัฐมนตรีได้เลยทีเดียว

แต่ทั้งนี้มีข้อแม้ว่าเลือกตั้งรอบหน้า จะต้องไม่แพ้พรรคก้าวไกล...ที่วันสองวันนี้พวกเขากำลังยกเครื่องใหญ่...ปิดฉากยุคลิเก ยุคนายกฯ แห่...เข้าสู่โหมดชิงบ้านชิงเมืองกันจริงๆ...

อุ๊งอิ๊ง...สู้ๆ !!
สวัสดี !!

‘รพ.ตำรวจ’ ยัน!! ไม่เปิดเผยอาการป่วย 'ทักษิณ' โยนราชทัณฑ์แจง หากใครอยากส่องสถานะชั้น 14

(14 ธ.ค. 66) ที่โรงพยาบาลตำรวจ (รพ.ตร.) พ.ต.อ.หญิงศิริกุล ศรีสง่า โฆษก รพ.ตร. กล่าวถึงอาการของ น.ช.ทักษิณ ชินวัตร ที่พักรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ตำรวจใกล้ครบ 120 วัน ว่า ในส่วนของอาการคนไข้เป็นสิทธิส่วนบุคคลไม่สามารถเปิดเผยหรือให้ข้อมูลกับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ญาติคนในครอบครัวหรือเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ 

ส่วนกรณีกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย หรือ คปท.บุกยื่นหนังสือถึงแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจเรียกร้องให้รักษาจรรยาบรรณแพทย์ และความยุติธรรมโดยการทำความเห็นอย่างตรงไปมากับทางราชทัณฑ์เรื่องอาการป่วยนายทักษิณ หลังบุตรสาวของ น.ช.ทักษิณ ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า น.ช.ทักษิณ อยู่ในช่วงพักฟื้นตัวเท่านั้น และกลุ่ม คปท.เห็นว่าแพทย์ควรทำความเห็นและส่งตัว น.ช.ทักษิณ ไปพักฟื้นที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เพราะมีอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือครบนั้น ที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานมายื่นหนังสือ ซึ่งทางโรงพยาบาลตำรวจ ก็รับไว้และทำรายงานให้ผู้บังคับบัญชาตามขั้นตอน แต่การให้ข้อมูลคนไข้ ย้ำว่าไม่สามารถเปิดเผยได้

“ส่วนคนไข้หรือญาติจะมอบหมายใครให้ข้อมูลก็เป็นสิทธิ์ พร้อมยืนยันว่าคนไข้ที่ทางราชทัณฑ์ส่งมาโรงพยาบาลตำรวจ มีระบบรักษาตามมาตรฐานอยู่แล้วในการดูแลผู้ป่วยทุกคนอย่างเท่าเทียม ส่วนการทำความเห็นเรื่องอาการคนไข้ให้ราชทัณฑ์ก็มีช่วงระยะเวลาอยู่ และจะมีเจ้าหน้าที่ของราชทัณฑ์มาคอยดูแลที่โรงพยาบาล โดยทั่วไปหากคนไข้หายดีหรือสามารถกลับไปเรือนจำได้ ทางแพทย์และเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็จะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบไม่ใช่แค่กรณีใดกรณีหนึ่ง” โฆษก รพ.ตร. กล่าว

พ.ต.อ.หญิงศิริกุล กล่าวถึงกรณีกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ จะไปตรวจสอบที่ชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา สถานที่รักษาตัวของ น.ช.ทักษิณ นั้น ว่า หากมีการแจ้งมาทางโรงพยาบาลตำรวจ ก็จะต้องประสานไปยังกรมราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นเรื่องเพื่อให้พิจารณาและดำเนินการตามระเบียบ ส่วนจะอนุญาตหรือไม่ยังไม่สามารถตอบได้

หวนสู่แผ่นดินเกิด ‘ทักษิณ ชินวัตร’ กลับไทยในรอบ 17 ปี

เป็นเวลาเกือบ 2 ทศวรรษที่สื่อไทยหลายสำนัก กล่าวขานชื่อ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ หรือ ‘โทนี่ วู้ดซัม’ พร้อมด้วยคำขยายว่า ‘ผู้ลี้ภัยทางการเมือง’ และบ่อยครั้งที่มีชื่อนี้ปรากฏในหน้าสื่อ มักจะมาพร้อมกับคำวิพากษ์วิจารณ์ถึง ‘พฤติกรรม’ ในอดีต เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทย ที่ส่อไปในทางไม่ดี และเป็นภัยต่อประเทศไทย

เหตุของผลลัพธ์ที่กินเวลากว่า 17 ปีนี้ เกิดจาก ‘พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน’ ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการเมื่อช่วงค่ำของวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ขณะทำภารกิจให้ประเทศไทยในการเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

สาเหตุของการทำรัฐประหารในครั้งนี้มีหลายประการด้วยกัน ดังนี้

1.ทักษิณ (พรรคไทยรักไทย) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบวาระ 4 ปี (เลือกตั้ง 6 มกราคม พ.ศ. 2544) โดยไม่มีเหตุขัดข้องทางการเมือง (ลาออก ยุบสภา หรือถูกรัฐประหาร) และครบวาระเมื่อ 5 มกราคม 2548

2.ในการเลือกตั้ง 2548 พรรคไทยรักไทย ได้เก้าอี้ สส. รวม 377 ที่นั่ง ทำให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้

3.เนื่องจากเป็นรัฐบาลพรรคเดียว และมีปัญหาในการบริหารประเทศอยู่บ่อยครั้ง แต่ฝ่ายค้านไม่สามารถถอดถอน นายกฯ และ ครม. ชุดนี้ได้ เพราะเสียงโหวตไม่เพียงพอ

4.ด้วยความมั่นอกมั่นใจในฝีมือและฐานเสียงที่หนุนหลัง ทำให้การดำเนินงานหลายอย่างสุ่มเสี่ยง เข้าข่ายผิดกฎหมาย และขัดต่อความรู้สึกของสังคม

5.การขายหุ้นชินคอร์ปอเรชั่น 49.595% ให้กับกองทุนเทมาเส็ก ประเทศสิงคโปร์ (ปี 2549) ซึ่งขัดต่อสถานะนายกรัฐมนตรีหลายประการ รวมถึงไม่มีการเสียภาษี จนทำให้คนไทยบางกลุ่มไม่พอใจ

ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลนี้ เมื่อผสมรวมกันแล้วก็เกิดเป็นมวลความเกลียดชังขึ้นในสังคม มีการออกมาเรียกร้องให้จ่ายภาษีตามกฎหมาย ลามไปจนถึงการตั้งกลุ่ม ‘พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย’ หรือม็อบเสื้อเหลือง เพื่อออกมาขับไล่ ต่อต้าน ‘ทักษิณ ชินวัตร’

เรื่องราวต่าง ๆ บานปลายจนถึงขั้นมีการทำรัฐประหาร และหลังจากนั้น นายทักษิณก็เดินทางกลับมาประเทศไทย (28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551) และได้สร้างภาพจำจารึกไว้ให้คนไทยด้วยการ ‘ก้มกราบแผ่นดิน’ แต่หลังจากนั้นเพียง 5 เดือนก็ขออนุญาตศาลฯ เดินทางออกนอกประเทศ และไม่กลับมายังประเทศไทยอีกเลย 

นายทักษิณใช้ชีวิตอยู่ในหลายประเทศ และเคยออกมาประกาศว่าจะกลับบ้านกว่า 20 ครั้ง ทว่าก็ไม่เคยมีครั้งไหนเกิดขึ้นจริง 

แต่เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2566 นายทักษิณ ได้ปรากฏตัวครั้งแรกในรอบ 17 ปี ที่สนามบินดอนเมือง และสร้างภาพประวัติศาสตร์อีกครั้งด้วยการเข้าถวายบังคมที่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 ก่อนจะออกมาโบกมือทักทายคนเสื้อแดงที่มารอต้อนรับ ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำตัวไปยังศาลฎีกา และเข้าสู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ตามกระบวนการทางกฎหมาย

การกลับมาในครั้งนี้ เหมือนจะมี ‘นัยสำคัญ’ บางอย่างที่ไม่มีใครล่วงรู้ นอกเสียจากคนใกล้ชิดเท่านั้น เพราะ ‘บังเอิญ’ ตรงกับวันที่ ‘นายเศรษฐา ทวีสิน’ ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของไทยพอดิบพอดี จนหลายคนเชื่อว่ามี ‘ดีลลับ’ เกิดขึ้นแน่นอน

จะอย่างไรก็ตาม จนถึง ณ ตอนนี้ ‘การเมืองไทย’ และ ‘คนไทย’ ก็ยังก้าวไม่พ้นชื่อ ‘ทักษิณ ชินวัตร’

#เหตุการณ์ที่ต้องจำ

‘วัชระ’ จี้ ‘พีระพันธุ์’ สอบปม ‘ทักษิณ’ จำคุกจริงหรือไม่? กร้าว!! ให้เวลา 7 วัน หากเรื่องไม่คืบเตรียมร้อง ป.ป.ช.

(4 ม.ค. 67) นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ เดินทางไปที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือต่อ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี ผ่าน นายสมพาส นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน 10 ประเด็น กรณี นช.ทักษิณ ชินวัตร โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า

เรื่อง ขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณี นช.ทักษิณ ชินวัตร ต้องคำพิพากษาให้จำคุก 1 ปี แต่ไม่ได้จำคุกจริงในเรือนจำแม้แต่วันเดียวจริงหรือไม่ มีอาการป่วยเป็นเท็จหรือไม่ และอยู่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจตลอดเวลาหรือไม่ และขอสำเนาเอกสารตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540

เรียน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี

อ้างถึง คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 381/2566 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2566

สิ่งที่ส่งมาด้วย 1. คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา จำคุก นช. ทักษิณ ชินวัตร จำนวน 3 คดี คือ คดีหมายเลขแดง ที่ อม. 4/2551 ความผิดต่อหน้าที่ราชการ กำหนดโทษจำคุก 3 ปี , คดีหมายเลขแดง ที่ อม. 10/2552 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ กำหนดโทษจำคุก 2 ปี ซึ่งคดีที่ 1 กับคดีที่ 2 นับโทษซ้อนกันรวมกำหนดโทษจำคุก 3 ปี, คดีหมายเลขแดง ที่ อม. 5/2551 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมกำหนดโทษจำคุก 5 ปี จำนวน 1 ชุด

2. ราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 1 กันยายน 2566 จำนวน 1 ชุด

3. สำเนาข่าวผู้จัดการออนไลน์ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2566 สื่อนอกตีข่าว 'ทักษิณ' ป่วยทันทีหลังกลับไทย ถูกส่งตัวจากเรือนจำเข้าโรงพยาบาลเมื่อคืนนี้ จำนวน 1 ชุด 

4. หนังสือนายวัชระ เพชรทอง ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2566 เรื่องขอให้ระงับยับยั้งการที่จะส่งตัว นช.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษไปคุมขังนอกเรือนจำและขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนลงโทษข้าราชการกรมราชทัณฑ์ เรียน พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จำนวน 1 ชุด 

5. หนังสือนายวัชระ เพชรทอง ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2566 เรื่องขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณี นช.ทักษิณ ชินวัตร ต้องคำพิพากษาให้จำคุก 1 ปี แต่ไม่ได้จำคุกจริงในเรือนจำแม้แต่วันเดียว และขอให้บังคับโทษตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งโทษอาญาและแพ่งให้ นช.ทักษิณชำระเงินให้แก่รัฐคดีทุจริตปล่อยกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงค์) จำนวนเงิน 189,125,644.55 บาท พร้อมดอกเบี้ย กราบเรียนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จำนวน 1 ชุด 

6. หนังสือสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่ นร 0105.5/47874 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2566 ถึงนายวัชระ เพชรทอง จำนวน 1 ชุด ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่อ้างถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มอบหมายและมอบอำนาจให้ รองนายกรัฐมนตรี (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) ในฐานะปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบกระทรวงยุติธรรม (ยกเว้นกรมสอบสวนคดีพิเศษ) นั้น 

ข้าพเจ้านายวัชระ เพชรทอง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนกรณีเคลือบแคลงสงสัยว่า นช.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จำนวน 3 คดี รวมกำหนดโทษจำคุก 8 ปี (สิ่งที่ส่งมาด้วย 1) และประกาศราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 1 กันยายน 2566 มีการประกาศให้โทษจำคุกเหลือ 1 ปี (สิ่งที่ส่งมาด้วย 2) และข่าว นช. ทักษิณฯ ถูกส่งตัวจากเรือนจำเข้าโรงพยาบาลคืนวันที่ 23 สิงหาคม 2566 (สิ่งที่ส่งมาด้วย 3) แต่ไม่ได้มีการจำคุกจริงตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 (ไม่เท่าเทียมนักโทษทั่วไป) 

ต่อมาข้าพเจ้ามีหนังสือร้องเรียนกรณีดังกล่าวถึง พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (สิ่งที่ส่งมาด้วย 4) และนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (สิ่งที่ส่งมาด้วย 5) เนื่องจากมีการเอื้อประโยชน์เพื่อช่วยเหลือ นช.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นบิดาของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร (อุ๊งอิ๊ง) หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ซึ่งเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนของบุคคลในรัฐบาลนี้

ในการนี้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือถึงข้าพเจ้าว่าได้ส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังและกระทรวงยุติธรรมซึ่งมีหน้าที่และอำนาจเพื่อพิจารณา (สิ่งที่ส่งมาด้วย 6) ซึ่งหมายถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยังละเว้นไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตามที่ข้าพเจ้าได้ร้องเรียนตามหนังสือลงวันที่ 26 ธันวาคม 2566 (สิ่งที่ส่งมาด้วย 5) 

บัดนี้ท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบกระทรวงยุติธรรม โปรดดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรณี นช.ทักษิณ ชินวัตร ต้องคำพิพากษาให้จำคุก 1 ปี แต่ไม่ได้จำคุกจริงในเรือนจำแม้แต่วันเดียวจริงหรือไม่ ดังนี้

1. ปรากฏข้อเท็จจริงว่าวันที่ 22 สิงหาคม 2566 กรมราชทัณฑ์มีการดำเนินการตามขั้นตอนเมื่อรับ นช.ทักษิณ ชินวัตร เข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หรือไม่ มีการกรอกทะเบียนประวัตินักโทษ (ร.ท.101) ครบทุกข้อจำนวน 4 หน้าหรือไม่ ถ่ายรูปในชุดนักโทษและตัดผมทรงนักโทษหรือไม่ เข้าห้องขังหรือไม่ มีข้าราชการการเมืองสั่งการให้ข้าราชการกรมราชทัณฑ์กระทำการขัดต่อระเบียบ กฎ กฎหมายของกรมราชทัณฑ์หรือไม่ และขอให้ท่านมีข้อสั่งการให้กรมราชทัณฑ์ส่งคลิปกล้องวงจรปิดของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 

ในวันที่ 22-23 สิงหาคม 2566 ในจุดที่ นช.ทักษิณ เดินเข้าและออกจากเรือนจำแก่คณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร และให้เปิดเผยต่อสาธารณชนด้วย 

2. กรณีแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ส่งตัว นช.ทักษิณ ชินวัตร ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจมีอาการเจ็บป่วยจริงหรือไม่ ออกใบรับรองเท็จหรือไม่ และขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนแพทย์และพยาบาลทุกคนที่เกี่ยวข้อง โดยขอให้กันข้าราชการที่ให้การเป็นประโยชน์ไว้เป็นพยานด้วย

3. นช.ทักษิณ ชินวัตร อยู่พักรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจตลอดเวลาหรือไม่ ป่วยจริงหรือไม่ มีแพทย์และพยาบาลดำเนินการรักษาจริงทุกวันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2566 จนถึงปัจจุบันหรือไม่ มีเวชระเบียนการรักษาทุกวันหรือไม่ ขอให้เปิดเผยรายชื่อเจ้าพนักงานเรือนจำที่ควบคุม นช.ทักษิณไปโรงพยาบาลตำรวจทุกนาย และขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเจ้าพนักงานเรือนจำที่ควบคุม นช.ทักษิณ ทุกนายและผู้ตรวจเวรที่ไปเฝ้า นช.ทักษิณทุกวันว่าได้พบ นช.ทักษิณหรือไม่ มีการบันทึกภาพหรือไม่ และมีอาการเจ็บป่วยหรือไม่ โดยขอให้กันข้าราชการที่ให้การเป็นประโยชน์ไว้เป็นพยานด้วย

4. การออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2566 นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้เร่งรัดบังคับให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการออกระเบียบให้ทันบังคับใช้ในปี 2566 หรือไม่ ขอให้ท่านมีข้อสั่งการให้กรมราชทัณฑ์ส่งสำเนาการประชุมการร่างออกระเบียบดังกล่าวทุกครั้งแก่คณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร และส่งสำเนาให้ข้าพเจ้าด้วยจำนวน 1 ชุด

5. ขอให้ตั้งกรรมการสอบสวนกรณีกล้องวงจรปิดโรงพยาบาลตำรวจเสียทุกตัวทุกชั้นและขอให้ประสานงานสั่งการให้ติดตั้งกล้องวงจรปิดที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจภายใน 7 วันเพราะ นช.ทักษิณ ชินวัตร มีสภาพเป็นนักโทษเด็ดขาดอยู่ภายใต้กฎหมายของกรมราชทัณฑ์

6. ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2566 มีอำนาจเหนือคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา จำนวน 3 คดี (สิ่งที่ส่งมาด้วย 1) หรือไม่ และมีอำนาจเหนือราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 1 กันยายน 2566 (สิ่งที่ส่งมาด้วย 2) หรือไม่ การเร่งรัดออกระเบียบฯ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้นช.ทักษิณเป็นการละเมิดพระราชอำนาจตามพระบรมราชโองการที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 1 กันยายน 2566 หรือไม่ ท่านจะดำเนินการอย่างไร

7. ขอให้บังคับโทษทางแพ่ง นช.ทักษิณ ชินวัตร ชำระเงินให้แก่รัฐคดีทุจริตปล่อยกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงค์) จำนวนเงิน 189,125,644.55 บาท พร้อมดอกเบี้ย คดีหมายเลขแดง ที่ อม. 4/2551 มีการบังคับคดีแล้วหรือยัง เมื่อไร ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ถ้ายังไม่ดำเนินการท่านจะสั่งการตามอำนาจหน้าที่อย่างไร

8. นช.ทักษิณ ชินวัตร พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจเกินกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวัน ตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ข้อ 7 (3) ที่ต้องรายงานต่อรัฐมนตรีทราบนั้นขอให้เปิดเผยรายงานต่อพี่น้องประชาชนทั้งประเทศภายใน 7 วัน

9. ขอให้ท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เดินทางไปโรงพยาบาลตำรวจชั้น 14 ภายใน 7 วัน เพื่อตรวจสอบว่า นช.ทักษิณ ชินวัตร ป่วยจริงหรือไม่ และอยู่โรงพยาบาลตลอดเวลาหรือไม่

10. มีข่าวว่าจะมีการทำบัญชีโยกย้ายข้าราชกรมราชทัณฑ์ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของฝ่ายการเมืองในกรณีนี้หลายตำแหน่ง ท่านจะให้ความยุติธรรมเบื้องต้นแก่ข้าราชการอย่างไร การกระทำของข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำตามข้อ 1 - ข้อ 8 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่างกรรมต่างวาระ ผิดประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรงจึงขอให้ท่านตั้งคณะกรรมการสอบสวนภายใน 7 วันเพื่อผดุงไว้ซึ่งหลักนิติรัฐและนิติธรรม

ดังนั้นจึงขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทุกประเด็นในเรื่องนี้ เพื่อมาตรฐานความยุติธรรมที่เท่าเทียมกับนักโทษ 280,000 รายทั่วประเทศ รวมทั้งขอให้บังคับโทษทางอาญา นช.ทักษิณ ชินวัตร อย่างเคร่งครัด หากท่านไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามที่พี่น้องประชาชนร้องเรียนข้าพเจ้ามานี้ภายใน 7 วัน ข้าพเจ้าจำเป็นต้องยื่นร้องเรียนกล่าวโทษบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีลงมาเพื่อให้ ป.ป.ช.สอบสวนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกมาตราและสอบจริยธรรมร้ายแรงต่อไป และข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าท่านรักษาและปฏิบัติตามกฎหมาย ด้วยหลักนิติรัฐ นิติธรรม และจริยธรรมทรงการเมืองอย่างเคร่งครัด จึงได้ส่งหนังสือร้องเรียนมายังท่าน

อนึ่งขอให้กันข้าราชการกรมราชทัณฑ์ แพทย์ พยาบาลโรงพยาบาลราชทัณฑ์และโรงพยาบาลตำรวจที่ให้การตามความจริงและเป็นประโยชน์แก่ทางราชการทุกคนไว้เป็นพยานทุกราย และเอกสารทุกข้อ ข้าพเจ้ามีความประสงค์ที่จะขอตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ขอให้จัดส่งแก่ข้าพเจ้าภายใน 30 วัน พร้อมลงลายมือชื่อรับรองเอกสารทุกแผ่น

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และกฎหมายโดยเร่งด่วน หากผลเป็นประการใดโปรดแจ้งให้ข้าพเจ้าและพี่น้องประชาชนทราบโดยเร็วที่สุดด้วย จักขอบคุณ

จับตา!! ‘คปท.’ ปักหลักชุมนุม 12-14 ม.ค.นี้ ไล่ล่าความยุติธรรม-หยุดระบอบทักษิณภาค 2

ในที่สุด ก็ต้องลงท้องถนนจนได้ ส่วนเมื่อลงแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป ชวนให้ติดตามเป็นอย่างยิ่ง...

ครับ ‘เล็ก เลียบด่วน’ กำลังหมายถึงการลงถนนชุมนุม กรณีนักโทษเทวดา ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ของเครือข่ายประชาชนเพื่อการปฏิรูป (คปท.) ซึ่งนึกถึง คปท. นาทีนี้ใบหน้าของสามหนุ่มก็ผุดลอยขึ้นมา ได้แก่ ทนายนกเขา นิติธร ล้ำเหลือ ดาราหน้าจอคู่กับจตุพร พรหมพันธ์ แห่งคณะหลอมรวม, ตั้ม พิชิต ไชยมงคล อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) 2546 และเคยเป็น ‘เพื่อนเอก (ธนาธร)’ และ น้านัส นัสเซอร์ ยี่หมะ คนสงขลา อดีตหัวหน้าการ์ดคปท. ที่ผ่านคุกผ่านตะรางคดีพันธมิตรฯ มาแล้ว

วันก่อนเห็นภาพพิชิต-นัสเซอร์ ไปวัดพื้นที่ตั้งเวทีชุมนุมเชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ์ แถว ๆ ทำเนียบรัฐบาลแล้วได้แต่บอกตัวเองว่า…ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย…จะเข้ากฎอทิปปัจจยตาหรือเปล่าก็มิอาจวิสัชชนาได้..

ก่อนตั้งเวทีชุมนุม 12-14 ม.ค.นี้ ดูเหมือนว่าคปท.ได้เดินสายทำเอ็มโอยู หาพันธมิตรการชุมนุมหลายกลุ่ม วันก่อนโน้นไปพบ ‘นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม’ แห่งพรรคไทยภักดี วันอังคารที่ 9 ม.ค. กินเข้าแถลงข่าวกับ ‘นิพิษฏ์ อินทรสมบัติ’ อดีตสส.หลายสมัย และวันพุธที่ 10 ม.ค. นัดแถลงข่าวตอนบ่ายโมง เชิญใครต่อใครที่ไปร่วมแถลงรวมทั้ง ‘เดอะแจ๊ค’ วัชระ เพชรทอง อดีต สส. 2 สมัยที่วันนี้เล่นบทนักร้อง (เรียน) ที่สู้ไม่ถอย..

อ่านกันไม่ยาก เหตุที่ คปท. เลือกเอาวันที่ 12 ม.ค. เป็นวันแรกของการชุมนุมแบบ ‘ปักหลักพักค้าง’ ก็เพราะวันที่ 12 ม.ค. เป็นวันเดียวกับที่คณะกรรมาธิการการตำรวจ ของสภาฯ ที่มีชัยชนะ เดชเดโช เป็นประธานกมธ. ประกาศว่าจะนำทีมไปตรวจรพ.ตำรวจชั้น 14 เพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนช.ทักษิณว่าเป็นนักโทษเทวดา ตามที่เขากล่าวหากันจริงหรือไม่…

งานนี้ สส.แทนชัยชนะ มีเดิมพันติดปลายนวมสูง...ถูกจับตามองว่าทำจริงหรือทำเล่น ถ้าทำเล่นคนเมืองคอน (นครศรีฯ) คงไม่ให้อภัยและเสื่อมเสียถึงพรรคปชป.ที่พระแม่ธรณีกำลังร่ำไห้อยู่ในเพลานี้...แน่นอน

ประสาเหยี่ยวชราอย่าง ‘เล็ก เลียบด่วน’ ก็ต้องวิเคราะห์ว่า การชุมนุมของ คปท. หนนี้ค่อนข้างถูกที่ถูกเวลาอยู่พอสมควร แต่ถ้าจะให้บอกว่าเงื่อนไขสุกงอมหรือยังต้องบอกว่า ‘ยัง’ แกนนำ คปท. ก็คงรู้ แต่ก็นั่นแหละการจะนั่งรอให้เงื่อนไขสุกงอม ก็อาจต้องรอจนถึงวันทักษิณพักโทษไปนอนตีพุงอยู่ที่บ้านแล้วก็เป็นได้…

สรุปว่า..อย่างน้อย ๆ การชุมนุมโดยสันติ เป็นไปตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2560 หนนี้น่าจะทำให้ความจริงอันชั่วร้ายหลายอย่างถูกเปิดเผย ซึ่งเป็นไปได้ว่าข้อเท็จจริงเหล่านั้นจะยิ่งทำให้ทั้งคนที่เคยขับไล่ระบอบทักษิณและคนที่เคยเป็นองครักษ์พิทักษ์ทักษิณเจ็บปวดรวดร้าว…

‘เล็ก เลียบด่วน’ เลาะเลียบไปตามสภากาแฟวันนี้…ได้ยินเสียงซุบซิบสนทนาของบางโต๊ะว่า...ที่สุดของที่สุดใช่หรือไม่ว่า...บ้านนี้เมืองนี้ระบอบทักษิณกำลังกลับจะกินรวบอีกครั้ง…ทั้งเหลืองทั้งแดงที่หวังบ้านเมืองสมานฉันท์ล้างไพ่มาปรองดองกันใหม่ถึงขั้นนิรโทษกรรมดูท่าจะถูกต้มอีกรอบ…

เหตุผลหลักเพราะวันนี้ ‘แม้วถึงฝั่งแล้ว’
ข้ามขั้ว-ปรองดองทั้งที ทั้งทักษิณกินคนเดียว…

ซึ่งประเด็นนี้อาจจะเพิ่มจุดเดือดให้กับการชุมนุม!!??

‘คำผกา’ แนะนักโทษคนไหนไม่ได้สิทธิแบบ ‘ทักษิณ’ ลิสต์รายชื่อมาให้ราชทัณฑ์ตรวจสอบ พร้อม 5 ข้อแนะ

(12 ม.ค. 67) น.ส.ลักขณา ปันวิชัย หรือ แขก คำผกา พิธีกรชื่อดัง โพสต์ทวิตเตอร์ X ‘Kam Phaka’ ระบุว่า…

อาการทักษิณโฟเบียกำเริบ 

คำแนะนำ
1. ถ้าคิดว่านักโทษคนไหนไม่ได้รับสิทธิเหมือนทักษิณทั้ง ๆ ที่เข้าเกณฑ์เหมือนกันตามกฎหมาย ก็ลิสต์รายชื่อมาให้กรมราชทัณฑ์ตรวจสอบ
2. ถ้าคิดว่ากฎหมายนี้ไม่ดี -> ไปแก้กฎหมายตามกระบวนการ
3. มีตรงไหนที่ส่อให้เห็นว่าการมีอยู่ของทักษิณส่งผลต่อการทำงานของรบ.? จนต้องเอามาตั้งกระทู้ในสภาฯ?
4. ถ้าคิดว่าพิธาไม่ได้เป็นนายกฯ กก. ไม่ได้เป็นรบ. เพราะ พท. ไปรวมกับ ขั้วรบ. เดิม ตั้งรบ. จงกลับไปถามตัวเองว่า เพื่อไทยยกมือให้ 141 เสียงแล้วทั้ง 2 ครั้ง
5. ทักษิณเลือกเวลากลับมาเข้าสู่กระบวนยุติธรรมตอนเพื่อไทยเป็นรัฐบาล -> ใช่ค่ะ -> จะให้เขากลับมาตอนประยุทธ์เป็นนายกฯ หรือประวิตรเป็นนายกฯ เหรอ?


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top