Thursday, 3 July 2025
ทรัมป์

‘ทรัมป์ – ปูติน’ เตรียมพบกัน ในวันจันทร์นี้ เทียบได้กับการเจรจา!! ในช่วงสงครามเย็น

(18 พ.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Jaroensook Limbanchongkit Pone’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ...

การพบกันระหว่างทรัมป์และปูตินในวันจันทร์นี้คือฝันร้ายที่สุดของยูเครน

หนังสือพิมพ์ The Telegraph รายงานว่าทรัมป์ได้ทรยศต่ออุดมคติของประชาธิปไตยระดับโลกอีกครั้ง และ “ปูตินผู้เจ้าเล่ห์จะดึงดูดความสนใจของทรัมป์ทั้งหมด” ในการประชุมโดยไม่ต้องมีคนกลาง

The Telegraph บ่นอุบอิบว่าบรรดาผู้นำยุโรปต่างหวังว่าการที่ประธานาธิบดีรัสเซียไม่เข้าร่วมการเจรจาสันติภาพกับยูเครนในอิสตันบูลจะทำให้ทรัมป์หมดความอดทน แต่แทนที่จะเข้าข้างยุโรปและใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กลับตัดสินใจ "ตอบแทน" ประธานาธิบดีรัสเซียด้วยการพบปะเป็นการส่วนตัว

The Telegraph ระบุว่า จากมุมมองของปูติน การเจรจาโดยตรงกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะช่วยเสริมสร้างสถานะของรัสเซียในฐานะมหาอำนาจ และการพบปะดังกล่าวจะเทียบได้กับการเจรจาระหว่างมหาอำนาจในช่วงสงครามเย็น

The Telegraph ระบุหลายครั้งในบทความว่าสำหรับชาวยูเครน การพบปะกันแบบนี้ถือเป็นฝันร้ายที่สุด เนื่องจากปูตินจะดึงดูดความสนใจของทรัมป์ได้อย่างเบ็ดเสร็จ และจะไม่มีคนกลางที่สามารถปกป้องผลประโยชน์ของเคียฟได้

‘ทรัมป์’ ชม ‘กาตาร์’ เจตนาดีให้ฟรี Boeing 747-8 เปรียบเหมือน ‘เทพีเสรีภาพ’ ไม่จำเป็นต้องตอบแทน

(19 พ.ค. 68) สตีฟ วิทคอฟฟ์ ผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา เปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ว่า การที่สหรัฐฯ รับมอบเครื่องบิน Boeing 747-8 มูลค่า 400 ล้านดอลลาร์ (ราว 14,400 ล้านบาท) จากประเทศกาตาร์ เป็นการทำธุรกรรมระหว่างรัฐที่ชอบด้วยกฎหมาย และผ่านการตรวจสอบจากที่ปรึกษาทำเนียบขาว กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานกฎหมายแล้ว

ขณะที่ สก็อตต์ เบสเซนต์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลทรัมป์ กล่าวปกป้องการตัดสินใจดังกล่าว โดยเปรียบเปรยว่า “ฝรั่งเศสเคยมอบเทพีเสรีภาพให้เรา และอังกฤษเคยมอบโต๊ะทำงานให้เรา ผมไม่แน่ใจว่าพวกเขาเรียกร้องอะไรล่วงหน้าหรือไม่” พร้อมชี้ว่ากาตาร์มีคำสั่งซื้อเครื่องบินจาก Boeing มูลค่าสูงถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นคำสั่งซื้อที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของบริษัท

ด้านทรัมป์กล่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า เขาคง ‘โง่มาก’ หากปฏิเสธ ‘เครื่องบินฟรี’ ลำนี้ โดยตามรายงานของสื่อสหรัฐฯ เครื่องบินลำนี้ได้เดินทางมาถึงรัฐเท็กซัสแล้วนานกว่าหนึ่งเดือน

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ปัจจุบันของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า อาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีและใช้งบประมาณมหาศาลในการปรับแต่งเครื่องบินลำดังกล่าวให้ผ่านมาตรฐานด้านความปลอดภัยระดับผู้นำประเทศ โดยเฉพาะหากมีการใช้งานในภารกิจของประธานาธิบดีในอนาคต

‘ทรัมป์’ เปิดคลิปฟาดใส่ผู้นำแอฟริกาใต้ กล่าวหา “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนขาว” กลางวงหารือ

(22 พ.ค. 68) เกิดเหตุเผชิญหน้าสุดตึงเครียดในห้องรูปไข่ของทำเนียบขาว เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดวิดีโอที่อ้างว่าแสดงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนผิวขาวในแอฟริกาใต้ต่อหน้าประธานาธิบดีซีริล รามาโฟซา ที่เดินทางเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา สร้างความงุนงงและอึดอัดให้กับผู้นำแอฟริกันอย่างเห็นได้ชัด

วิดีโอที่ฉายแสดงภาพไม้กางเขนสีขาว และคำพูดปลุกระดมจากนักการเมืองฝ่ายค้านในแอฟริกาใต้ ซึ่งทรัมป์กล่าวว่าคือหลักฐานของความรุนแรงที่รัฐเพิกเฉย พร้อมระบุว่าคนกลุ่มนี้ควรถูกจับกุม โดยการกระทำครั้งนี้ซ้ำรอยการหักหน้าผู้นำยูเครนเมื่อต้นปี สะท้อนถึงพฤติกรรมที่สร้างความลำบากใจให้ผู้นำต่างชาติที่มาเยือน

รามาโฟซาตอบโต้ด้วยความสุภาพ แต่ชัดเจน โดยปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด และย้ำว่าไม่เคยเห็นคลิปนี้มาก่อน พร้อมชี้ว่า หากมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จริง นักกอล์ฟและนักธุรกิจชาวแอฟริกาใต้ผิวขาวที่ร่วมเดินทางมากับเขาคงไม่ได้มายืนอยู่ตรงนี้ ท่าทีดังกล่าวกลับยิ่งกระตุ้นให้ทรัมป์โต้กลับอย่างเผ็ดร้อน พร้อมโชว์เอกสารบทความสนับสนุนคำกล่าวอ้างของตน

นอกจากนี้ รามาโฟซายังระบุว่า ปัญหาอาชญากรรมในแอฟริกาใต้มีอยู่จริง แต่เหยื่อส่วนใหญ่กลับเป็นประชาชนผิวดำ ไม่ใช่เฉพาะชาวไร่ผิวขาวดังที่ทรัมป์กล่าว ขณะที่บรรยากาศการประชุมกลับตึงเครียดยิ่งขึ้น เมื่อทรัมป์แทรกขึ้นว่า “ชาวนาไม่ใช่คนผิวดำ” ก่อนที่ผู้นำแอฟริกาจะตอบกลับอย่างใจเย็นว่า “เรายินดีจะพูดคุยกับคุณในเรื่องนี้”

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เหตุการณ์นี้อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้นำชาติอื่น ๆ ที่กำลังพิจารณารับคำเชิญเยือนสหรัฐฯ ในสมัยทรัมป์ เนื่องจากเสี่ยงต่อการถูก “ทำให้อับอาย” ต่อหน้าสาธารณะและสื่อมวลชน ขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับแอฟริกาใต้ก็ดูจะห่างเหินยิ่งขึ้น

‘ทรัมป์’ สั่งห้าม ‘ฮาร์วาร์ด’ รับนักศึกษาต่างชาติ บังคับผู้เรียนปัจจุบัน!..ต้องโอนย้ายมหาวิทยาลัย

(23 พ.ค. 68) รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิ์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในการรับนักศึกษาต่างชาติ โดยกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐฯ ระบุว่าฮาร์วาร์ดล้มเหลวในการปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของรัฐบาล ทั้งในเรื่องความรุนแรงบนมหาวิทยาลัย การแสดงความเห็นต่อต้านชาวยิว และความเกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน

คริสตี โนม รัฐมนตรีความมั่นคงฯ ระบุผ่านโซเชียลมีเดียว่า “การรับนักศึกษาต่างชาติเป็นสิทธิพิเศษ ไม่ใช่สิทธิที่มหาวิทยาลัยจะได้รับโดยอัตโนมัติ” โดยยืนยันว่าได้เพิกถอนการรับรองในโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาต่างชาติ ซึ่งหมายความว่าฮาร์วาร์ดจะไม่สามารถรับนักศึกษาต่างชาติใหม่ได้ และนักศึกษาต่างชาติที่กำลังศึกษาอยู่ต้องหามหาวิทยาลัยใหม่

ฮาร์วาร์ดตอบโต้ว่า มาตรการของรัฐบาล 'ผิดกฎหมาย' และเป็นการ 'แก้แค้นทางการเมือง' พร้อมยืนยันจะต่อสู้เพื่อสิทธิของนักศึกษานานาชาติที่มีบทบาทสำคัญในชุมชนมหาวิทยาลัย โดยฮาร์วาร์ดกำลังดำเนินการฟ้องร้องรัฐบาลกลางในข้อหาใช้อำนาจเกินขอบเขตและละเมิดรัฐธรรมนูญ

การยกระดับมาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลทรัมป์กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในสหรัฐฯ ที่ถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนแนวคิดต่อต้านอิสราเอลและรัฐบาลทรัมป์ โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ตัดงบประมาณสนับสนุนสถาบันการศึกษาไปแล้วกว่า 2.6 พันล้านดอลลาร์ และอาจส่งผลกระทบทางการเงินอย่างรุนแรงต่อฮาร์วาร์ดในอนาคตอันใกล้

สหรัฐฯ เล็งถอนทหาร 4,500 นายจากเกาหลีใต้ เตรียมย้ายกำลังพลรับมือจีนในอินโด-แปซิฟิก แทน

(23 พ.ค. 68) รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังพิจารณาแผนถอนทหารสหรัฐฯ ราว 4,500 นาย จากกองกำลังสหรัฐฯ ประจำเกาหลีใต้ (USFK) ซึ่งมีจำนวนรวมประมาณ 28,500 นาย โดยมีแนวโน้มย้ายไปประจำการในพื้นที่อื่นของอินโด-แปซิฟิก เช่น เกาะกวม ตามรายงานของ The Wall Street Journal อ้างแหล่งข่าวในกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ

แผนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการทบทวนนโยบายไม่เป็นทางการในการรับมือกับเกาหลีเหนือ แต่มีแนวโน้มสะท้อนยุทธศาสตร์ 'America First' ของทรัมป์ ซึ่งมุ่งลดภาระทางทหารในต่างประเทศและเพิ่มการแบ่งภาระจากพันธมิตร โดยเฉพาะการรับมือกับภัยคุกคามจากจีน

อย่างไรก็ตาม ผู้บัญชาการกองบัญชาการอินโด-แปซิฟิก และผู้บัญชาการ USFK แสดงความกังวลในวุฒิสภาว่า การถอนทหารจะเพิ่มความเสี่ยงที่เกาหลีเหนือจะรุกราน และบั่นทอนบทบาทสำคัญของสหรัฐฯ ในการคานอำนาจรัสเซียและจีนในภูมิภาค

ขณะที่กระทรวงกลาโหมยังไม่ได้ประกาศนโยบายอย่างเป็นทางการ ซึ่งการเคลื่อนไหวนี้อาจสร้างความกังวลในเกาหลีใต้ที่เป็นพันธมิตรหลักของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในช่วงที่เกาหลีเหนือมีพัฒนาการด้านขีปนาวุธและนิวเคลียร์ท่ามกลางความร่วมมือทางทหารที่ใกล้ชิดกับรัสเซียมากขึ้น

คาด!! ‘ทรัมป์’ จะอนุมัติการซื้อกิจการ US Steel ของ Nippon Steel ซึ่งถือเป็นข่าวดีสำหรับ ‘นายกฯญี่ปุ่น อิชิบะ’ ที่ล็อบบี้ให้มีการอนุมัติ

(24 พ.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Jaroensook Limbanchongkit Pone’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า …

อิชิบะพูดคุยทางโทรศัพท์กับทรัมป์ โดยเน้นย้ำข้อเท็จจริงที่ว่าการลงทุนของญี่ปุ่นในสหรัฐฯ จะสร้างงาน

ทรัมป์เผยในโซเชียล

“ข้าพเจ้าภูมิใจที่จะประกาศว่าหลังจากการพิจารณาและเจรจากันอย่างถี่ถ้วนแล้ว US Steel จะยังคงอยู่ในอเมริกา และยังคงตั้งสำนักงานใหญ่ในเมืองพิตต์สเบิร์กที่ยิ่งใหญ่ 

เป็นเวลาหลายปีที่ชื่อ "United States Steel" เป็นชื่อที่สื่อถึงความยิ่งใหญ่ และตอนนี้ก็จะเป็นอีกครั้ง 

นี่คือความร่วมมือที่วางแผนไว้ระหว่าง United States Steel และ Nippon Steel ซึ่งจะสร้างงานได้อย่างน้อย 70,000 ตำแหน่ง และเพิ่มมูลค่า 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐให้กับเศรษฐกิจของสหรัฐฯ 

การลงทุนส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นภายใน 14 เดือนข้างหน้า นับเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเครือรัฐเพนซิลเวเนีย 

นโยบายภาษีศุลกากรของข้าพเจ้าจะทำให้มั่นใจได้ว่าเหล็กจะกลับมาผลิตในอเมริกาอีกครั้ง ตั้งแต่เพนซิลเวเนียไปจนถึงอาร์คันซอ และตั้งแต่มินนิโซตาไปจนถึงอินเดียนา 

AMERICAN MADE กลับมาแล้ว ข้าพเจ้าจะพบกับพวกคุณทุกคนในงาน US Steel ที่พิตต์สเบิร์กในวันศุกร์ที่ 30 พฤษภาคมนี้ เพื่อร่วมการชุมนุมครั้งใหญ่ ขอแสดงความยินดีกับทุกคน”

ว่าที่สมเด็จพระราชินีแห่งเบลเยียม ต้องกลายเป็นผู้ประสบภัยทางการศึกษา จากนโยบายของทรัมป์ ที่ออกคำสั่งห้าม!! ‘ฮาร์วาร์ด’ รับนักศึกษาต่างชาติ

(24 พ.ค. 68) หนึ่งในผู้ประสบภัยคำสั่งห้ามฮาร์วาร์ดรับนักศึกษาต่างชาติของ โดนัลด์ ทรัมป์ คือ เจ้าหญิง เอลีซาแบ็ต เตแรซ มารี เอแลน ดัชเชสแห่งบราบันต์ รัชทายาทลำดับที่หนึ่งในการสืบราชบัลลังก์เบลเยียม

เจ้าหญิง เอลีซาแบ็ต กำลังศึกษาในหลักสูตรระดับปริญญาโทด้านนโยบายสาธารณะ ที่ฮาร์วาร์ด และกำลังจะขึ้นปีที่ 2 เพื่อจบหลักสูตร ก่อนหน้านี้พระองค์สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์ และ รัฐศาสตร์มาแล้วจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ของอังกฤษ 

แต่จากคำสั่งของรัฐบาลทรัมป์ ที่เพิกถอนสิทธิ์การรับนักศึกษาต่างชาติของฮาร์วาร์ด ที่จะทำให้นักศึกษาต่างชาติทุกคนต้องย้ายไปเรียนที่สถาบันอื่น มิฉะนั้นจะถูกเพิกถอนวีซ่า ไม่เว้นแม้แต่ว่าที่สมเด็จพระราชินีแห่งเบลเยียม ที่ต้องกลายเป็นผู้ประสบภัยทางการศึกษาของทรัมป์

‘ผู้พิพากษาสหรัฐฯ’ ขวาง!! รัฐบาลทรัมป์ กรณีเพิกถอนสถานะทางกฎหมาย ‘นศ.ต่างชาติ’

(24 พ.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ‘Jaroensook Limbanchongkit Pone’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า …

เจฟฟรีย์ ไวท์ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ได้ออกคำสั่งห้ามรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพิกถอนสถานะทางกฎหมายของนักศึกษาชาวต่างชาติที่ศึกษาและทำงานอยู่ในสหรัฐฯ โดยปราศจากการพิจารณารายบุคคล รวมถึงห้ามจับกุมหรือกักขังนักศึกษาที่เกิดในต่างประเทศโดยอ้างอิงสถานะผู้อพยพเพียงอย่างเดียว

รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ยุติการบันทึกข้อมูลชาวต่างชาติหลายพันคนในฐานข้อมูล "ระบบข้อมูลนักศึกษาและผู้เข้าร่วมการแลกเปลี่ยน" (SEVIS) ของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิเมื่อเดือนเมษายนด้วยข้ออ้างปราบปรามนักศึกษาชาวต่างชาติที่มีประวัติอาชญากรรม ทำให้นักศึกษาชาวต่างชาติสูญเสียสถานะทางกฎหมายในสหรัฐฯ ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกจับกุม กักขัง หรือเนรเทศ

คำสั่งห้ามของวันพฤหัสบดี (22 พ.ค.) ยังห้ามรัฐบาลสหรัฐฯ โอนย้ายโจทก์ในคดีที่อยู่ระหว่างพิจารณาไปยังเขตอำนาจศาลนอกถิ่นพำนักอาศัย ซึ่งทั้งหมดถือเป็นการบรรเทาความวิตกกังวลครั้งแรกแก่นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบ โดยไวท์ระบุว่ารัฐบาลภายใต้การนำของทรัมป์ "สร้างหายนะ" แก่ชีวิตความเป็นอยู่ของโจทก์ รวมถึงนักศึกษาชาวต่างชาติคนอื่นๆ

ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์ได้เพิกถอนการรับรองมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดภายใต้โครงการนักศึกษาและผู้เข้าร่วมการแลกเปลี่ยนเมื่อวันพฤหัสบดี (22 พ.ค.) ซึ่งส่งผลให้มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดไม่สามารถรับสมัครนักศึกษาชาวต่างชาติใหม่เข้าเรียนได้

ด้านมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดยื่นฟ้องร้องในวันศุกร์ (23 พ.ค.) ซึ่งผู้พิพากษาในรัฐแมสซาชูเซตส์ได้อนุมัติคำสั่งยับยั้งการเพิกถอนดังกล่าวเป็นการชั่วคราว เพื่ออนุญาตนักศึกษาชาวต่างชาติสามารถลงทะเบียนเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดต่อไปได้

จีนแอบอมยิ้ม ทรัมป์จะกร่างไปได้อีกสักกี่น้ำ หลังศาลสหรัฐฯ สั่งเบรกเก็บภาษีบูลลี่คนอื่น

(29 พ.ค. 68) รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Aksornsri Phanishsarn ว่า จีนแอบอมยิ้ม ทรัมป์จะกร่างไปได้อีกสักกี่น้ำ ! ศาลสหรัฐฯ สั่งเบรกทรัมป์เก็บภาษีบูลลี่คนอื่น + อิลอน มัสก์ ก็เทใจจากทรัมป์ ขอบายแล้ววว

‘คาร์โรล นาวร็อคกี’ ผู้นำชาตินิยม ชนะเลือกตั้งโปแลนด์ ชูจุดยืนแข็งกร้าว!!..ต้านยูเครน ใกล้ชิดสหรัฐฯ ชนอียู

(2 มิ.ย. 68) คาร์โรล นาวร็อคกี (Karol Nawrocki) ผู้นำสายอนุรักษ์นิยม คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีโปแลนด์ด้วยคะแนน 50.89% เฉือนชนะราฟาล ทรัสคอฟสกี นายกเทศมนตรีวอร์ซอผู้แทนสายเสรีนิยม ซึ่งได้ 49.11% ท่ามกลางการขับเคี่ยวอย่างสูสีจนถึงโค้งสุดท้าย โดยก่อนหน้าการเลือกตั้ง ทรัสคอฟสกีมีคะแนนนำเล็กน้อยในโพลเกือบทุกสำนัก

นาวร็อคกี เป็นที่รู้จักจากจุดยืนชาตินิยมแข็งกร้าว และได้รับการสนับสนุนจากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะช่วยยกระดับความร่วมมือทางทหารระหว่างโปแลนด์กับสหรัฐฯ แต่ในขณะเดียวกันก็อาจสร้างความตึงเครียดกับสหภาพยุโรปที่ต้องการให้โปแลนด์เดินหน้าไปในทิศทางประชาธิปไตยเสรีนิยม

อย่างไรก็ตาม เส้นทางการเมืองของนาวร็อคกีอาจไม่ราบรื่นนัก เนื่องจากนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน โดนัลด์ ทัสก์ (Donald Franciszek Tusk) เป็นนักการเมืองสายเสรีนิยมที่มีบทบาทสูงในรัฐบาล ประกอบกับสมาชิกในรัฐสภาโปแลนด์ ยังเป็นพวกฝ่ายซ้ายอีกด้วย ซึ่งอาจทำให้นโยบายของนาวร็อคกีอาจถูกต่อต้านได้

ในเวทีระหว่างประเทศ นาวร็อคกีแสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่สนับสนุนการที่ยูเครนเข้าเป็นสมาชิก NATO และวิจารณ์รัฐบาลเซเลนสกีอย่างรุนแรง พร้อมประกาศลดบทบาทโปแลนด์ในความช่วยเหลือทางทหารต่อยูเครน แม้จะยังคงยืนกรานท่าทีต่อต้านรัสเซียก็ตาม โดยเขาจะเข้ารับตำแหน่งต่อจากอันเดรจ ดูดา ในวันที่ 6 สิงหาคม 2025 นี้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top